พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
บทความนี้มาจากการบรรยายในงานสัมมนา “การเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน: Energy Transition and COVID-19” จัดโดย บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563
วันนี้ เราได้เดินทางมาสู่ช่วงท้ายของปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่โลกต้องจดจำมากที่สุดปีหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของมวลมนุษยชาติ นั่นคือวิกฤติระบาด COVID-19 ที่มาอย่างไม่ทันให้ใครได้ตั้งตัว
จนถึงวันนี้ ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไปแล้วกว่า 50 ล้านคน เสียชีวิตไปมากกว่าหนึ่งล้านคน และยังมีผู้ติดเชื้อใหม่วันละมากกว่าห้าแสนคน และหลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาการติดเชื้อรอบสองหรือรอบสาม หลังจากที่ได้พยายามใช้มาตรการปิดเมือง และผ่อนคลายมาตรการมาแล้วหลายครั้ง
วันนี้ของปีที่แล้ว ผมคิดว่า คงไม่มีใครคาดว่า ปัญหาโรคระบาดจะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการวางแผนธุรกิจแน่ๆ แต่วิกฤติทางสาธารณสุขครั้งนี้ได้สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจที่หนักที่สุดครั้งหนึ่งของโลก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง/รวดเร็ว/และเป็นวงกว้างมากที่สุด ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่า เศรษฐกิจโลกน่าจะหดตัวในปีนี้ มากกว่าร้อยละ 4 ซึ่งเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ the great depression ในช่วงปี 1930s คิดเป็นต้นทุนต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่า 28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในอีกห้าปีข้างหน้า และเศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่ (และออกจาก) ภาวะถดถอยอย่างรวดเร็วที่สุดที่เคยเห็นมา และส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก ต่อทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคการบริการ ภาคการผลิตอุตสาหกรรม การค้า และการเกษตร รวมไปถึงภาคการเงิน
มาตรการภาครัฐในการควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งการปรับตัวของผู้คน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนทั่วโลก และทั้งหมดสร้างความท้าทายต่อการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้ ยังเป็นเรื่องที่ประเมินได้ยากมาก ว่าจะอยู่กับเราอีกนานเท่าไหร่ จะจบเมื่อไร และจบอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ยังมีความไม่แน่นอน
แม้ล่าสุดจะมีข่าวดี จากผลการศึกษาเบื้องต้น ของการทดลองวัคซีนจากบริษัท Pfizer ที่พัฒนาวัคซีนร่วมกับบริษัท BioNTech ออกมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่า วัคซีนนี้ สุดท้ายจะมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคแค่ไหน มีผลข้างเคียงอย่างไร ภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้ยาวนานขนาดไหน และจะสามารถผลิตและกระจายไปให้ใช้ได้อย่างแพร่หลายทั่วโลกได้เมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มความหวังได้ว่า เราน่าจะมีวัคซีนใช้ตามที่ได้คาดกันไว้
ผมจะขอให้มุมมองเพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา และความท้าทายระยะยาวที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่
ผลกระทบของ COVID-19
แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดภายในประเทศ ซึ่งต้องขอแสดงความขอบคุณและชื่นชมกับบุคลากรทางสาธารณสุขของประเทศ ที่ช่วยกันทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศเกือบจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่เราถูกบังคับให้ยังต้องจำกัดการเข้าออกของคนต่างชาติ เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาด ส่งผลให้ประเทศไทยต้องขาดรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญ ที่ผลักดันเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา และคิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 12 ของเศรษฐกิจไทยในปี 2019 ซึ่งเปรียบเสมือนหลุมที่ใหญ่มากของเศรษฐกิจไทย
นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงทำให้การส่งออกไทยได้รับผลกระทบ การลงทุนจากทั้งนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนไทยหยุดชะงัก และผลจากการขาดรายได้ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง ซึ่งทั้งหมดสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รายได้ การจ้างงาน และกระแสเงินสดของธุรกิจอย่างรุนแรง
และคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจจะจะหดตัวถึงเกือบร้อยละ 9 ซึ่งเป็นการหดตัวที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 และเศรษฐกิจไทยอาจจะหดตัวรุนแรงมากที่สุดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียน และมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา COVID เกือบสามล้านคน
ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะได้ผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดไปแล้วในไตรมาสที่สอง แต่เศรษฐกิจไทยอาจจะเติบโตแบบต่ำกว่าระดับศักยภาพไปอีกสักระยะ จากการหายไปของอุปสงค์โดยรวม ปัญหากระแสเงินสดในหลายกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและบริการ จะยังคงมีความเสี่ยงต่อความอยู่รอดของธุรกิจ การจ้างงาน และความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของธุรกิจและครัวเรือน
แม้เราจะได้ยินข่าวดีของการพัฒนาวัคซีน แต่กว่าที่เราจะมีวัคซีนที่ใช้ได้ดีและปลอดภัย และสามารถกระจายวัคซีนไปได้อย่างกว้างขวาง จนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นได้ คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในช่วงกลางหรือครึ่งหลังของปีหน้า นั่นหมายถึง สถานการณ์ COVID-19 น่าจะยังคงสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจไทยต่อไปอีกอย่างน้อย 2-3 ไตรมาส และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคงเป็นได้อย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และอาจจะใช้เวลาถึง 2-3 ปี กว่าที่ระดับของ GDP จะกลับไปสู่ระดับก่อน COVID
กองทุนการเงินระหว่างประเทศยังได้ให้มุมมองไว้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจครั้งนี้คงจะ ยาวนาน (long) มีการฟื้นตัวแบบไม่เท่ากันในแต่ละธุรกิจและภูมิภาค (uneven) และมีความไม่แน่นอนสูง (uncertain)
จะเห็นได้ว่า แม้ว่าปัญหาจากวิกฤติ COVID จะเป็น “ปัญหาชั่วคราว” ที่เชื่อได้ว่าน่าจะค่อยๆ กลับสู่สภาพปกติได้เมื่อปัญหาโรคระบาดได้รับการควบคุม แต่ปัญหาชั่วคราวนี้กำลังสร้างรอยแผลเป็นที่รุนแรงให้กับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย และวิกฤติ COVID-19 ได้สะท้อนให้เราเห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยหลายเรื่อง
ประการแรก วิกฤติ COVID-19 สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางโครงสร้างเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของไทยในหลายมิติ จากการขาดการกระจายตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา การพึ่งพาการเติบโตจากภายนอก อันได้แก่ภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก ขาดแรงขับเคลื่อนจากภายใน เช่น การบริโภคและลงทุนภาคเอกชน ที่แข็งแกร่งพอที่จะสร้างแรงขับเคลื่อนทดแทนกันได้ เศรษฐกิจไทยจึงได้รับผลกระทบอย่างหนักเมื่อเจอกับวิกฤติที่ทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงักและการค้าระหว่างประเทศหดตัวลงอย่างรุนแรง
ประการที่สอง ปัญหา COVID สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันด้านเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้วทั้งในระดับครัวเรือนและระดับธุรกิจ รวมถึงความไม่เท่าเทียมกัน ด้านการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา การทำงาน และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
วิกฤติครั้งนี้ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ทวีความรุนแรงขึ้น มาตรการการควบคุมการระบาด ทั้งมาตรการปิดเมือง มาตรการรักษาระยะห่าง และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซายาวนานของไทย ส่งผลกระทบหนักต่อกลุ่มคนที่เปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานทักษะต่ำและมีรายได้น้อย ขาดเงินออม มีภาระหนี้สูง และไม่มีความพร้อมในด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงวิธีการรับมือกับวิกฤติ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ประการที่สาม COVID กำลังสร้างปัญหาหนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้วให้สูงขึ้นไปอีก ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจเอกชน และหนี้ภาครัฐ จากการหยุดชะงักของกระแสเงินสด ซึ่งอาจทำให้ความสามารถในการรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจของครัวเรือนและธุรกิจในอนาคตลดลง ความเสี่ยงที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้มีสูงขึ้น จนสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพและการทำหน้าที่ของระบบการเงิน
อย่างไรก็ตาม วิกฤติในครั้งนี้ ก็ได้สร้างโอกาสใหม่ๆ จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น การเร่งเปลี่ยนผ่านและเพิ่มการใช้เทคโนโลยี เร่งให้เกิดธุรกิจแบบแพลตฟอร์มและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ แนวโน้มการทำงานจากบ้านทำให้ความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และการปรับปรุงที่อยู่อาศัยมีมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็อาจจะทำให้บางธุรกิจ เช่น พื้นที่สำนักงาน พื้นที่ให้เช่าเพื่อการพาณิชย์ ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ปัญหาเชิงโครงสร้าง
นอกจากผลกระทบระยะสั้นจากสถานการณ์ COVID แล้ว ประเทศไทยยังกำลังเจอกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ที่อาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยได้ใช้ “บุญเก่า” ไปค่อนข้างมากกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา และเรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญที่จะตัดสินอนาคตของเศรษฐกิจไทย ปัญหาเหล่านี้เริ่มแสดงอาการตั้งแต่ก่อนจะมีปัญหา COVID และวิกฤติที่เรา กำลังเผชิญอยู่กำลังตอกย้ำว่า หากเราไม่จัดการกับปัญหาเหล่านี้ เราอาจจะเจอกับปัญหาที่ใหญ่กว่าในอนาคต
ประการที่หนึ่ง ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาโครงสร้างประชากรที่รุนแรงที่สุดในภูมิภาค นอกจากจำนวนผู้สูงอายุกำลังจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว จำนวนประชากรวัยทำงานก็ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และกำลังค่อยๆ ลดลง ซึ่งหมายถึงจำนวนแรงงานกำลังจะมีน้อยลงเรื่อยๆ ในอนาคต และขนาดของเศรษฐกิจคงจะค่อยๆ โตช้าลง ถ้ายังคงเราดำเนินธุรกิจและใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเดิมๆ โดยไม่เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของแรงงาน
ประการที่สอง ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาความสามารถในการแข่งขันที่รุนแรง ในขณะที่ค่าแรงงานเราสูงขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันกับการผลิตที่ใช้แรงงานราคาถูกได้แล้ว โลกมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วจนเกิดกระแส disruption ต่างๆ มากมาย แต่ประเทศไทยยังขาดความพร้อมเรื่องทักษะแรงงาน และความสามารถในการรับมือกับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป
ที่ผ่านมาแม้ว่าประเทศไทยจะมีรายได้จากการส่งออกค่อนข้างมาก แต่การส่งออกสินค้าหลายชนิดเป็นการ “รับจ้างผลิต” จากเงินลงทุนจากต่างชาติ ในขณะที่เรากำลังสูญเสียเสน่ห์และความน่าสนใจในการเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการลงทุน สังเกตได้จากที่เราเคยมีสัดส่วนของเงินลงทุนจากต่างประเทศในอาเซียนสูงถึง 44% ในช่วงปี 2001-2005 สัดส่วนนี้ลดลงเหลือเพียง 14% ในปี 2016-2018 และเราเริ่มเห็นการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างประเทศไปประเทศอื่นเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากต้นทุนค่าแรงงานที่สูงขึ้น ในขณะที่เรายังไม่สามารถสร้างความน่าสนใจในการเป็นฐานการผลิตของสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นและมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นได้ การขาดการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีทำให้เรายิ่งเสียเปรียบในเรื่องความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ ภูมิทัศน์ด้านการค้าระหว่างประเทศกำลังทำให้ประเด็นเรื่องเขตการค้าเสรีเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้น เมื่อประเทศคู่แข่งสำคัญของเรา อย่างเวียดนาม มีข้อตกลงทางการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้าสำคัญเกือบหมดแล้ว แต่ ประเทศไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้ากับประเทศคู่ค้าใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป จนอาจส่งผลความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออก และการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติได้
ประเทศไทยอาจต้องเริ่มกระบวนเจรจาอย่างจริงจัง รวบรวมผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ เพื่อหาทิศทางและกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสถานะประเทศ และหากระบวนการชดเชยและลดผลกระทบต่อภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ
และประการที่สาม ประเทศไทยมีการพึ่งพาพลังงานนำเข้าในระดับสูง และพลังงานจากก๊าซธรรมชาติจากแหล่งภายในประเทศ ที่ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ด้วยต้นทุนพลังงานที่ต่ำ ในช่วงที่ผ่านมา กำลังมีแนวโน้มจะลดลงในอนาคต ซึ่งจะทำให้ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานมากขึ้น
การพูดคุยเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านพลังงาน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จัดให้มีขึ้น จึงเป็นหัวข้อที่สำคัญและควรได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยตอบโจทย์ภาวะโลกร้อน ที่จะเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ต่อทั้งเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการใช้ชีวิตของผู้คนในอนาคต
นอกจากนี้ แนวโน้มเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานของไทยในการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ต้องเปลี่ยนไปอย่างรุนแรงจนเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างมหาศาล
แล้วเราควรทำอย่างไร?
Rudiger Dornbusch นักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่ง เคยกล่าวไว้ว่า
“Things take longer to happen than you think they will, and then they happen faster than you thought they could”
…กว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น มักใช้เวลานานกว่าที่เราคิด แต่เมื่อมันเกิดแล้ว ขึ้นมันมักเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคิดว่าจะเป็นไปได้
วิกฤติ COVID-19 เป็นสัญญาณเตือนภัยที่ชี้ให้เราเห็นว่าเราต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และในขณะที่เรากำลังเตรียมการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ผลกระทบรุนแรงในระยะสั้น เพื่อ “เอาตัวรอด” เราไม่สามารถลืมภาพใหญ่และประเด็นเชิงโครงสร้างที่กำลังเกิดขึ้นได้ และทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายในระยะยาวที่กำลังเกิดขึ้น และสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างจริงจัง
ผมเชื่อว่า ประเทศไทยยังมีจุดแข็งในหลายเรื่อง เช่น ความพร้อมด้านการเกษตร จุดแข็งด้านการบริการ การท่องเที่ยว และการแพทย์ และความพร้อมของห่วงโซ่อุปทานในหลายๆ อุตสาหกรรม เราจำเป็นต้องแน่ใจได้ว่าเรายังรักษาจุดแข็งเหล่านี้ท่ามกลางความท้าทายระยะยาวที่กำลังเกิดขึ้น
ประเด็นสำคัญที่เราควรต้องคิดกัน คือ ท่ามกลางข้อจำกัดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เราจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศอย่างไร เราจะเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อแข่งขัน และใช้ประโยชน์จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ได้อย่างไร และเราทุกคนจะเพิ่มมูลค่าเพิ่มและผลิตภาพของธุรกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาส และลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดและความท้าทายต่อเศรษฐกิจและธุรกิจได้อย่างไร
รัฐเองก็มีบทบาทในการสนับสนุนภาคเอกชนให้สามารถแข่งขันได้อย่างเต็มที่ ทั้งการปฏิรูปการศึกษาให้แรงงานมีความพร้อมในการเข้าสู่แรงงาน และมีทักษะที่เป็นที่ต้องการของภาคเอกชน ปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันให้น้อยที่สุด ปฏิรูปภาครัฐให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดขนาดและหน้าที่ที่ไม่จำเป็น เพิ่มคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ลดความไม่แน่นอนด้านนโยบาย สร้างแรงจูงใจในการลงทุนของภาคเอกชน สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต และยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
ท้ายสุดนี้ ผมเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน บททดสอบครั้งนี้จะทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างมากขึ้น สั่งสมประสบการณ์ และที่สำคัญ คือ ทำให้เราตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท การบริหารความเสี่ยง การเตรียมความพร้อม การวางแผนและปรับตัวเพื่อรับมือสำหรับสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด และก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงท่ามกลางความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังรอเราอยู่