ThaiPublica > คอลัมน์ > ยุทธการเปิดเมือง

ยุทธการเปิดเมือง

14 เมษายน 2020


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/03/Makkasan_Interchange_at_night

หลังจากการระบาดของ COVID-19 กลายเป็นปัญหาใหญ่ไปทั่วโลก และหลายประเทศต้องงัดมาตรการปิดเมือง และ social distancing มาใช้เพื่อลดความเสี่ยงด้านการสาธารณสุข

แต่ปัญหาคือ มาตรการเหล่านี้ “ไม่ฟรี” และมีต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล และกำลังทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรง และรวดเร็วที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก

แม้อัตราการติดเชื้อยังมีอยู่ แต่เราอาจจะควรเริ่มคุยกันเรื่องแผนที่จะเริ่มค่อยๆ เปิดเมืองอย่างปลอดภัยได้อย่างไร ควรมีเครื่องชี้วัดอะไรที่เราจะเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้เศรษฐกิจอยู่ได้ และไม่ทำให้ความเสี่ยงด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นมากจนเกินไป

และควรสื่อสารกับประชาชน เพื่อให้ประชาชน และธุรกิจมีความเข้าใจ และความคาดหวังที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และความมีเหตุผล เพื่อวางแผนกับชีวิตได้อย่างถูกต้อง เพราะอาจจะเป็นการง่ายเกินไปที่จะคาดว่าทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า

แล้วจะจบอย่างไร

ตอนจบของการระบาดรอบนี้อาจจะไม่เหมือนกับ SARS หรือ MERS เมื่อหลายปีก่อน ที่เมื่อเราคุมการแพร่ระบาดในประเทศหนึ่งได้ เชื้อไวรัสก็แทบจะหายไปจากโลก แต่ครั้งนี้เนื่องจากเชื้อไวรัสได้กระจายไปทั่วโลกแล้ว และความร้ายกาจของเชื้อนี้ คือ สามารถซ่อนอาการได้ถึง 14 วันหรือมากกว่า จนทำให้การควบคุม คัดกรอง และตรวจหาเชื้อ ทำได้ค่อนข้างยากมาก

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Social_distancing#/media/

หากรีบเปิดจนเกินไป หากยังมีเชื้อหลงเหลืออยู่ อาจจะทำให้การระบาดของเชื้อกลับมาอีกครั้ง และทำให้การแพร่กระจายกลับมาอีกครั้ง และต้นทุนทางเศรษฐกิจอาจเพิ่มสูงขึ้นอีก

แปลว่า โลกและประเทศส่วนใหญ่อาจจะกลับไปเหมือนเดิมไม่ได้ จนกว่าเราจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดูจากการพัฒนาวัคซีนในอดีต กว่ามีวัคซีนพร้อมใช้ อาจจะใช้เวลามากกว่า 12-18 เดือน และกว่าจะผลิตวัคซีนให้คนส่วนใหญ่ของโลกได้ อาจจะใช้เวลามากกว่านั้น

แผนเปิดเมือง

ถ้าดูแผนที่เสนอโดย American Enterprise Institute ก่อนที่เราจะขยับจาก “เฟสหนึ่ง” ที่เราอยู่ในปัจจุบัน ที่มีการปิดเมือง ลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้คนอยู่บ้าน เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อให้มากที่สุด ไปสู่ “เฟสสอง” ที่เริ่มมีการเปิดเมืองเป็นรายพื้นที่ได้ ต้องมีเงื่อนไข 4 ข้อคือ

    1. มีการลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 14 วัน โดยเราอาจจะมีเป้าที่อยากเห็นเป็นรายพื้นที่ (เช่น รายจังหวัด)

    2. โรงพยาบาลในท้องถิ่นมีพื้นที่และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอในรักษาคนไข้

    3. ในพื้นที่นั้นสามารถตรวจหาเชื้อให้กับทุกคนที่มีอาการได้

    4. สามารถสอบสวนโรคหาความเชื่อมโยงแต่ละกรณีผู้ติดเชื้อ และตามหาผู้อาจมีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ และแยกคนกลุ่มนั้นออกให้ได้มากที่สุด

และเมื่อขยับไป “เฟสสอง” เราอาจจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการ social distancing ลงได้บ้าง แต่อาจต้องขอความร่วมมือจากประชาชนหลีกเลี่ยงไม่อยู่ใกล้กันเกินไป สนับสนุนให้มีการทำงานจากบ้านอยู่ ห้ามหรือหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกันมากๆ มีการช่วยเหลือพิเศษกับผู้มีความเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ฯลฯ

บางธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำอาจจะเริ่มเปิดได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกัน และคัดกรองที่เข้มงวด เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร อาจจะเริ่มเปิดได้ แต่อาจต้องหามาตรการไม่ให้ลูกค้าใกล้กันเกินไป มีมาตรการสำหรับลูกค้าและพนักงานในการปฏิบัติ เพื่อลดโอกาสในการแพร่กระจายและติดเชื้อ เช่น สนับสนุนการใส่หน้ากาก มีระเบียบในการทำความสะอาดพื้นที่ และคัดกรองผู้อาจมีความเสี่ยง การเดินทางและท่องเที่ยวในประเทศ อาจจะเริ่มทำได้ ถ้าแต่ละพื้นที่สามารถควบคุมการคัดกรองได้

แต่บางธุรกิจที่มีคนเข้าไปมากๆ เช่น สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ อาจจะยังเปิดได้ลำบาก และถ้าสถานการณ์ในต่างประเทศ ยังมีความน่าเป็นห่วงเราอาจจะไม่สามารถเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้ จนกว่าเราจะมีชุดตรวจราคาถูกที่รู้ผลได้เร็วไว้ คอยกรองนักท่องเที่ยวและมีมาตรการแยกตัวผู้ติดเชื้อที่ทำได้จริง

ถ้ามั่นใจมากๆ เราอาจจะสามารถเริ่มเปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยกลับมาได้ โดยมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด

อย่างไรก็ตาม ในเฟสนี้ยังต้องมีการตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างเต็มที่ และพยายามกันกลุ่มเสี่ยงที่มีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อให้หยุดอยู่บ้านสังเกตอาการให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

และแผนควรจะต้องยืดหยุ่น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ หากเมื่อมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ก็อาจจะต้องกลับไปเฟสหนึ่ง ที่มีการใช้ social distancing ที่เข้มงวดขึ้นอีก

ชาวอู่ฮั่น 11 ล้านคนได้รับอนุญาตให้ออกนอกเมือง
ที่มาภาพ : www.thetimes.co.uk/

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออื่นๆที่น่าสนใจ เช่น มีข้อเสนอว่าแม้จำนวนผู้ป่วยใหม่ยังไม่ลดลงจนเป็นที่น่าพอใจ อาจจะเริ่มให้คนอายุ 20-30 ปีที่สุขภาพแข็งแรง มีความเสี่ยงน้อยที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิต และไม่ได้อาศัยกับอยู่กับผู้สูงอายุ เริ่มกลับไปทำงานก่อนเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ หรือ ให้เร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อแล้ว ให้คนเหล่านี้เริ่มกลับกลับไปทำงานและให้บริการทางสังคมก่อน

แต่แนวคิดทั้งสองอันนี้ยังต้องรอการยืนยันจากงานวิจัยทางการแพทย์ว่าปลอดภัย และคุ้มกับความเสี่ยงจริงๆ

เพราะเรากำลังเผชิญ trade off ระหว่าง ผลกระทบทางเศรษฐกิจกับความเสี่ยงของการติดเชื้อเพิ่ม ในเฟสนี้เราจึงต้องหาแนวทาง ให้คนสามารถกลับไปทำงานได้มากขึ้น และในขณะเดียวกันไม่ทำให้ความเสี่ยงของการติดเชื้อเพิ่มมากจนกลับไปเป็นปัญหาอีก

อย่างไรก็ตามระยะฟักตัว 14 วันหรือมากกว่า และสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ในระหว่างนั้น เป็นความท้าทายสำคัญของการออกมาตรการ เพราะเราอาจรอดูความสำเร็จหรือความล้มเหลวของสิ่งที่เราทำไปอีกกว่าสองสัปดาห์

หากดูประสบการณ์ในต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการติดเชื้อ พบว่า การตรวจโรคอย่างเต็มที่ การสอบสวนโรค การแยกผู้ป่วยและผู้สัมผัสกับผู้ป่วยออกจากสังคม เป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อความสำเร็จ และยังเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องในทุกเฟส

ธุรกิจและประชาชนควรจะต้องเริ่มวางแผนการปรับตัวที่จะอยู่กับ “new normal” ที่เรากำลังจะเจอไปอีกสักระยะอย่างมีเหตุผล และติดตามพัฒนาการของการผลิตยารักษา และวัคซีน ที่อาจจะช่วยร่นเวลาที่เราจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

และควรติดตามประเทศอื่นที่เริ่มเปิดประเทศอื่นๆที่เริ่มเปิดประเทศอย่างจีน ว่าจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นได้หรือไม่อย่างไร

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊กฝ่าไข้ วันที่ 14 เมษายน 2563