ThaiPublica > คอลัมน์ > ร่วมสู้สงครามโควิด-19 ในสมรภูมิครั้งที่สอง

ร่วมสู้สงครามโควิด-19 ในสมรภูมิครั้งที่สอง

4 มกราคม 2021


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังถูกทดสอบจากปัญหาโควิด-19 อีกครั้ง หลังจากที่เราได้เอาชนะไปได้แล้วในสมรภูมิครั้งที่หนึ่ง โดยการใช้มาตรการที่เข้มงวด ทั้งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดโรงเรียน ปิดห้างสรรพสินค้า ปิดร้านอาหาร ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในบางเวลา และการปิดพรมแดนอย่างเข้มงวด

มาตรการส่วนใหญ่เริ่มหลังการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ก่อนจะเริ่มผ่อนปรนในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง และทยอยผ่อนปรนอย่างต่อเนื่อง จนอนุญาตให้ทุกธุรกิจกลับมาเปิดได้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2563 (ในขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง) นั่นหมายถึงการปิดเมืองอย่างเข้มงวดมากกว่าหนึ่งเดือน และมาตรการคงอยู่ทั้งสิ้นเกือบสามเดือน

ชัยชนะนั้นได้มาด้วยต้นทุนที่สูงมหาศาล เศรษฐกิจในไตรมาสสองติดลบไปกว่าร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถ้าหักเอาสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่นับเป็นประมาณร้อยละ 9 ของ GDP ในไตรมาส 2/2563 ที่หายไปทั้งหมด ก็พอจะอนุมานได้ว่าผลของการล็อกดาวน์ที่กินเวลาเกือบทั้งไตรมาสสอง มีผลอย่างน้อยๆ ร้อยละสามของ GDP ในไตรมาสที่สอง

และสังเกตได้ว่าการระบาดรอบแรกมีค่อนข้างมากในจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามาก เช่น กทม. เชียงใหม่ ภูเก็ต สงขลา เมื่อเราใช้มาตรการปิดพรมแดน ต้นเหตุของปัญหาก็ลดลง และเราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว

หลังจากนั้นเราแทบจะไม่พบการติดเชื้อในประเทศอีกเลย แม้ว่าอาจจะพอคาดได้ว่ามีการติดเชื้ออยู่ในประเทศ (เพราะมีการพบคนติดเชื้ออยู่บ้าง) แต่การเฝ้าระวังและวินัยด้านสาธารณสุขของประชาชน (เช่น การเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากาก ล้างมือ ฯลฯ) น่าจะช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อ (ค่า R) ให้อยู่ในระดับที่ไม่ทำให้เกิดการระบาดในวงกว้างในประเทศ และหลายคนเชื่อว่าเราไม่น่าจะมีการระบาดในประเทศอีกแล้ว และเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นกลับขึ้นมา

แต่แล้วเราก็เจอสิ่งที่ไม่ควรจะเจอ เมื่อรัฐบาลที่พร่ำบอกให้ประชาชนว่าการ์ดอย่าตก กลับเป็นผู้ทำการ์ดหล่นคามือ เราเห็นหลายต่อหลายกรณีของย่อหย่อนในการควบคุมสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการนำเชื้อเข้ามาในประเทศ หรือทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมาย ที่นำการติดเชื้อเข้ามาในประเทศ (เช่น กรณี 1G1 ที่ท่าขี้เหล็ก) กรณีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศ (เช่น สมุทรสาคร) กรณีบ่อนการพนันผิดกฎหมายในจังหวัดต่างๆ

ในแต่ละกรณี เราแทบไม่พบว่ามีการแสดงความรับผิดชอบ (หรือแม้แต่คำขอโทษ) จนไม่แน่ใจว่าปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขแล้วหรือไม่

และการย่อหย่อนของการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้กำลังสร้างต้นทุนมหาศาลให้กับประเทศ เมื่อการติดเชื้อเริ่มเกิดแพร่กระจายไปในหลายกลุ่ม จนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศแต่ละวัน (แม้จะเอาผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างชาติ ที่น่าจะควบคุมได้ออกไปแล้ว) สูงกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงที่สุดในการระบาดรอบแรกไปเรียบร้อยแล้ว

จนเริ่มมีการพูดถึงการปิดเมืองกันอีกครั้ง แม้เราเคยทำสำเร็จมาในสมรภูมิครั้งที่หนึ่ง แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ มาตรการเหล่านี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในรอบนี้หรือไม่

ต้องยอมรับว่า ภาวะโรคติดต่อกำลังเล่นงานมวลมนุษยชาติโดยการโจมตีจุดอ่อนที่สุดของมนุษย์ นั่นคือการติดต่อระหว่างบุคคล

การลดความเสี่ยงในการติดต่อที่ดีที่สุดคือการลดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ต้องลดลงไปด้วย

และความน่ากลัวของโควิด-19 คือ มันสามารถแพร่กระจายเชื้อได้แม้ผู้ป่วยจะยังไม่แสดงอาการออกมา ทำให้การตรวจวัดอุณหภูมิที่ทำกันอยู่ทั่วไปเป็นเพียงพิธีกรรมที่อาจจะไม่สามารถคัดกรองผู้ติดเชื้อได้เลย และมาตรการที่เราทำทุกอย่างในวันนี้ อาจจะไม่เห็นผลจนกระทั่งอีก 7–14 วันข้างหน้า เมื่อผู้ติดเชื้อเริ่มแสดงอาการ

เมื่อภาวะการติดเชื้อมีสูงขึ้น (ที่เชื่อได้ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงเวลาสองสัปดาห์ข้างหน้าหลังเทศกาลปีใหม่) จะทำให้เกิดภาวะต้องเลือกหรือ tradeoff ระหว่างความเสี่ยงด้านสาธารณสุข และต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่การปิดเมืองทั่วประเทศแบบที่เราเคยทำ เหมือนการบังคับให้คนกลั้นหายใจ ซึ่งหมายถึงธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กที่มีสายป่านสั้น และขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอาจจะต้องล้มละลาย เพราะขนาดรายได้และสภาพคล่องไม่เพียงพอ ครัวเรือนที่สมาชิกในครอบครัวอาจจะต้องตกงาน ขาดรายได้ ผิดนัดชำระหนี้ ถูกยึดหลักประกัน จนลามไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่และเสถียรภาพของภาคธนาคารและภาคการเงิน

ฉะนั้น โจทย์สำคัญสุดวันนี้อาจจะไม่ใช่การหยุดยั้งการแพร่กระจายเพียงอย่างเดียว เพราะนั่นจะก่อให้เกิดต้นทุนมหาศาล แต่เราจะทำอย่างไรให้การแพร่กระจายอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยทำให้เกิดผลต่อเศรษฐกิจให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

โชคดีที่เรามีเวลาเตรียมตัวและทำความเข้าใจกับโรคนี้ดีกว่าการระบาดครั้งแรก เรามีศักยภาพในการตรวจเชื้อ การสืบค้นและติดตามผู้มีความเสี่ยง และรักษาผู้ป่วยดีกว่าตอนที่เราเผชิญปัญหารอบแรกมาก แต่ต้องยอมรับว่าศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยของเรายังไงก็ไม่พอแน่ๆถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่เห็นในต่างประเทศ

การออกแบบมาตรการที่อยู่บนพื้นฐานของการบริหารความเสี่ยง เทียบต้นทุนและประโยชน์ของมาตรการอย่างรอบคอบ มีความยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับความเสี่ยงในแต่ละประเภทธุรกิจและพื้นที่ สื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาเพื่อสร้างความตระหนักโดยไม่ตระหนก และสร้างความเชื่อใจกับประชาชน

ทุกธุรกิจคงต้องมีการบังคับมาตรการควบคุมด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด และเริ่มมีปรับตัวโดยหาโมเดลในการทำธุรกิจที่เหมาะสมกับสถานการณ์

ภาคสาธารณสุขเองต้องมีการตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างกว้างขวางและโปร่งใส สืบประวัติผู้ป่วยอย่างเข้มข้นเพื่อกันคนเหล่านี้และผู้มีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องออกจากมวลชน และสร้างศักยภาพในการรักษาผู้ป่วย เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องปิดเมืองกันทั้งเมือง

แต่ถ้าความเสี่ยงสูงขึ้นมากต้องปิดธุรกิจจริงๆ ก็คงต้องปิด แต่รัฐต้องคิดอย่างจริงจังว่า จะใช้เวลาระหว่างนี้ให้คุ้มค่าได้อย่างไร เพราะทุกวันที่ปิดไปต้นทุนคงมหาศาล นอกจากนี้รัฐบาล ธนาคารกลาง และผู้กำหนดนโยบายคงจะต้องเริ่มคิดแล้วว่า เราจะมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร

ประชาชนเองก็ต้องช่วยกันลดความเสี่ยง ดูแลตัวเอง และปฏิบัติตัวเสมือนว่าเรามีเชื้อแล้ว ถ้าจะออกไปข้างนอก เราจะไม่ทำให้เชื้อแพร่กระจายอย่างไร

แม้ว่ารอบนี้ เราจะพอสบายใจได้ว่ามนุษย์ได้ค้นพบวัคซีนแล้ว และเราอาจจะได้รับวัคซีนมาฉีดภายในปีนี้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอีกหลายเรื่อง กว่าเราจะมีฉีดวัคซีนกัน จนหยุดการระบาดได้จริงๆ ชีวิตของผู้คน ธุรกิจการจ้างงาน เศรษฐกิจไทย จะยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงไปอีกสักระยะหนึ่ง

จนถึงเวลานั้น เราคงต้องช่วยกันคิดหนักๆ ว่าจะควบคุมการติดเชื้อ โดยทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและผู้คนให้น้อยที่สุดได้อย่างไร ด้วยความร่วมมืออย่างเต็มกำลังอย่างไม่ย่อหย่อน เราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน