ThaiPublica > เกาะกระแส > ซีไอเอ็มบีไทย ชี้ “RCEP” เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้า 6 กลุ่มอุตสาหกรรม

ซีไอเอ็มบีไทย ชี้ “RCEP” เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้า 6 กลุ่มอุตสาหกรรม

19 พฤศจิกายน 2020


ภาพต้นแบบจาก https://vnexplorer.net/rcep-a-key-priority-in-vietnams-trade-integration-strategy-a2020124767.html

อาร์เซ็ปประกาศความสำเร็จของการเจรจา หลังทุ่มเทความพยายามมา 8 ปี

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 63 ที่ผ่านมา ที่ประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership)หรืออาร์เซ็ป ผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งเวียดนามเป็นเจ้าภาพ ได้ประกาศความสำเร็จของการเจรจาความตกลงอาร์เซ็ป หลังจากทุ่มเทความพยายาม 8 ปี แสดงถึงความมุ่งมั่นของสมาชิกที่จะสนับสนุนการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้าง ครอบคลุม เป็นไปตามกฎกติกาของโลก และสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค โดยความตกลงอาร์เซ็ปจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 และทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี ความตกลงอาร์เซ็ปจะมีผลใช้บังคับเมื่อรัฐสภาของ 6 ประเทศในอาเซียนและ 3 ประเทศที่ไม่ใช่อาเซียนให้สัตยาบัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นครึ่งหลังปี 2564

ไทยได้ลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือที่เรียกย่อๆ ว่า RCEP แล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศในเอเชียแปซิฟิกอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทำให้เป็นเขตทางการค้าที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ดูตารางประกอบ) นอกจากนี้ หลายประเทศที่ได้ลงนามอาร์เซ็ปต่างคาดหวังว่าข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมารวดเร็วขึ้นหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ความตกลง RCEP จะครอบคลุมความตกลง FTA ทั้งหมดของอาเซียนและความตกลงการค้ากับประเทศคู่ค้าภายนอก ทำให้อาเซียนสามารถขจัดปัญหาความซับซ้อนของข้อตกลง หรือ “Spaghetti Bowl Effect” และทำให้ภาคธุรกิจอาเซียนได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคนี้ ความตกลง RCEP จึงเป็นการต่อยอดหรือพัฒนาการมาจาก ASEAN+3 / ASEAN+6 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของ AEC Blueprint ที่ต้องการรักษาบทบาทในการเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค นอกจากนี้ ยังเป็นการรวมความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อาเซียนมีอยู่แล้ว 5 ฉบับกับ 6 ประเทศ คือ อาเซียน-จีน, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี, อาเซียน-อินเดีย (อินเดียยังไม่เข้าร่วมอาร์เซ็ป ไทยจึงต้องใช้กรอบอาเซียน-อินเดียต่อไป), และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Global Supply Chain) ดังนั้น อาร์เซ็ปจึงเป็นความร่วมมือในเชิงลึกและกว้างขึ้นโดยจะครอบคลุมทุกมิติทั้งในด้านการเข้าถึงตลาด โดยตั้งเป้าที่จะลดภาษีระหว่างกันให้ได้มากที่สุด รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้าสินค้า บริการและการลงทุน และเปิดกว้างประเด็นใหม่ๆที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ในส่วนของการค้านั้น ในเบื้องต้นสมาชิก RCEP ตกลงจะเปิดเสรีสินค้าในสัดส่วน 80% ของสินค้าที่ตกลงกันว่าจะลดภาษีนำเข้า โดยในจำนวนนี้สัดส่วน 65% จะลดภาษีเป็น 0% ทันที ส่วนอีก 15% จะลดเป็น 0% ใน 10-15 ปี สำหรับ 20% ที่เหลือเป็นสินค้าอ่อนไหวและอ่อนไหวสูง แม้หลายประเทศยังมีกำแพงภาษีสูง แต่ประเทศสมาชิก RCEP ก็จะต้องทยอยลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าให้เป็นศูนย์หรือน้อยที่สุด ข้อตกลง RCEP อาจมีรายละเอียดที่ลึกลงไปต่างกัน อาทิ ข้อตกลงจะยกเลิกภาษีการนำเข้าให้กับการนำเข้า 65% จากสมาชิกอาเซียน 61% จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และจะยกเลิกภาษีการนำเข้าให้กับการนำเข้า 56% จากจีนและ 49% ของการนำเข้าจากเกาหลีใต้ สำหรับญี่ปุ่น ข้อตกลง RCEP จะลดภาษีของจีนสำหรับหอยเชลล์บางชนิดในปีที่ 11 หลังจากมีผลบังคับใช้ ลดภาษีขนมของเกาหลีใต้ในปีที่ 10 และลดภาษีที่เรียกเก็บจากเนื้อวัวบางส่วนของอินโดนีเซียทันทีหลังจากมีผลบังคับใช้ ส่วนการเก็บภาษีเหล้าสาเกและสุราของญี่ปุ่นจะถูกยกเลิกเช่นกัน แต่ญี่ปุ่นจะคงภาษีนำเข้าสินค้าที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง 5 ประเภท ได้แก่ ข้าว ข้าวสาลี เนื้อวัว และเนื้อหมู นมและน้ำตาล แต่ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรและประมง 82% ให้แก่ชาติสมาชิกเช่นเดียวกับ CPTPP

อาร์เซ็ป เพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทย การเปิดตลาด RCEP ช่วยให้ไทยได้รับผลกระทบบวกใน 6 สาขาอุตสาหกรรม คือ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อาทิ อาหารแปรรูป ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม(ศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม) แต่ผลกระทบบวกอาจมากน้อยแตกต่างกันไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ RCEP เป็นกรอบ FTA ภายในอาเซียนซ้อนกับ FTA ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ทำให้ประเทศสมาชิกใน RCEP หลายๆ ประเทศ อาทิ จีน มาเลเซีย และเวียดนามเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งในตลาดโลกของไทย ความได้เปรียบทางด้านภาษีที่เกิดขึ้นก็จะเกิดกับคู่แข่งของไทยด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังรวมถึงภาคบริการที่ไทยได้รับเชิงบวกโดยเฉพาะก่อสร้าง และธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงเรื่องภาพยนตร์บันเทิง แอนิเมชัน และการทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับภาคบริการ ขณะที่บางสาขาของภาคบริการ เช่น สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาการท่องเที่ยว และสาขาโลจิสติกส์ ได้เปิดให้นักลงทุนอาเซียนด้วยกันไปแล้ว

  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ผลกระทบด้านบวกจากการส่งออกชุดมอเตอร์ไปยังภูมิภาค RCEP เพราะชิ้นส่วนดังกล่าวยังมีการเก็บภาษีนำเข้าค่อนข้างสูง
  • อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เมื่อมี RCEP จะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปตลาดนอกอาเซียนมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนและมีซัพพลายเชนแข็งแกร่ง
  • กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป ไม่ว่าจะเป็น พืชผลทางการเกษตร มันสำปะหลัง แป้งมัน ยางพารา สินค้าประมง ตลอดจนกลุ่มอาหารซึ่งช่วยสนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการผลักดันอาหารไทยเป็นครัวโลก และก้าวสู่เป็นผู้นำการส่งออกอาหารอันดับต้นๆของโลก จากปัจจุบันที่อยู่อันดับ 11 ของโลก ซึ่งไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่สุดของโลกในหลายผลิตภัณฑ์ มีซัพพลายเชนที่ครบวงจรภายในประเทศ โดยเกาหลีใต้ลดภาษีให้กับสินค้าเกษตรหลักของไทย คือ ไก่ กุ้ง ทูน่า และสับปะรดกระป๋อง ญี่ปุ่นจะลดภาษีทูน่าแปรรูป และสับปะรดกระป๋อง และจีนจะลดภาษีสับปะรดกระป๋อง เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ จะทำให้ผู้ผลิตเครื่องประดับของไทยนำเข้าสินค้าขั้นต้นและกลางที่มีต้นทุนต่ำจาก RCEP ได้มากขึ้น
  • อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี อาทิ พลาสติกและเคมีภัณฑ์ มีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบการมีความสามารถแข่งขันซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้ไทยสามารถใช้ตลาด RCEP เพิ่มการส่งออก
  • อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม แม้ไทยไม่ได้ประโยชน์มากนักเนื่องจากผู้ประกอบการไทยย้ายฐานผลิตไปแล้ว แต่ก็จะทำให้โอกาสทางการค้าเปิดกว้างขึ้นและทำให้อุตสาหกรรมโดยรวมลดการพึ่งพาตลาดเดิม ขณะที่ผู้ประกอบการไทยอาจปรับปรุงการผลิตหนีจีนได้
  • อุตสาหกรรมเหล็ก คาดว่าจีนจะส่งสินค้ามาไทยเพิ่มขึ้น ความท้าทายอยู่ที่การป้องกันการทุ่มตลาด เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาจีนมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้าจีน ซึ่งจำเป็นต้องปรับตัวหรือมีกองทุนช่วยเหลือ
  • ด้านบริการ คาดว่าไทยจะได้รับผลประโยชน์เชิงบวกจากจุดแข็งที่ไทยมีอยู่ เช่น การท่องเที่ยว สปา ร้านอาหาร ค้าปลีก การก่อสร้าง สุขภาพ ขณะที่ความตกลงอาร์เซ็ปยังคงสงวนภาคบริการการเงิน การโทรคมนาคมและบริการวิชาชีพไว้ในภาคผนวก

    กล่าวโดยสรุป ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยังดำรงอยู่ กระแสการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรง ภาวะตลาดการเงินโลกมีความผันผวนมากขึ้น อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกจากเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่จำเป็นต้องปรับตัว ความตกลงอาร์เซ็ปจะทำให้ชาติอาเซียนมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าโลก และผลักดันให้อาเซียนมีบทบาทนำในเวทีโลกได้ อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัย มีความเห็นว่า

    1) ความตกลงอาร์เซ็ปจะทำให้เกิดการค้า 2 ทิศทาง กล่าวคือ ไทยได้ประโยชน์จากการเข้าถึงตลาดของประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP มากขึ้น อาร์เซ็ปช่วยเพิ่มโอกาสการส่งออกโดยเฉพาะผลเชิงบวกใน 6 สาขาอุตสาหกรรม คือ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป อาทิ อาหารแปรรูป ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขณะเดียวกันชาติสมาชิกก็สามารถส่งสินค้ามาไทยเพิ่มขึ้นด้วย อาทิ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน จากการลดภาษีระหว่างกันลงให้ได้มากที่สุด รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้าสินค้า บริการและการลงทุน

    2) จากการที่ประเทศไทยมีพรมแดนและการคมนาคมเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV ที่กำลังเติบโต ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนของไทยไปยังกลุ่ม RCEP ให้มากขึ้น

    3) ไทยเป็นจุดศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ จึงเป็นโอกาสสำคัญเมื่อเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่มุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเพิ่มสูงต่อเศรษฐกิจ (New S-curve) ซึ่งจะช่วยให้สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น

    4) เมื่อเกิดเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มีขนาดใหญ่อย่าง RCEP ย่อมนำมาซึ่งโอกาสและการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งด้านฝีมือแรงงานและสินค้าที่มีราคาถูกจะทะลักเข้ามาทั้งในช่องทางการค้าปกติและจากการค้า E-Commerce ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs และเกษตรกรไทยได้

    มองไปข้างหน้า ไทยจะได้ผลทางตรงจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าระหว่างไทยกับชาติสมาชิก ขณะที่ผลทางอ้อมจะมาจากการที่ประเทศนอกอาเซียนจะลดกำแพงภาษีระหว่างกัน ทำให้ไทยยังเป็นฐานการผลิตสำคัญ และมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิม

    บทวิเคราะห์ โดย ประธาน จิวจินดา หัวหน้าส่วนวิจัยนโยบายรัฐและปัจจัยทางธุรกิจ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย