ThaiPublica > เกาะกระแส > ASEAN Roundup สภาแห่งชาติลาวผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2020 อินโดนีเซียให้เด็กเลี้ยงไก่แก้ปัญหาติดมือถือ

ASEAN Roundup สภาแห่งชาติลาวผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2020 อินโดนีเซียให้เด็กเลี้ยงไก่แก้ปัญหาติดมือถือ

24 พฤศจิกายน 2019


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 17-23 พฤศจิกายน 2562

  • สภาแห่งชาติลาวผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2020
  • อินโดนีเซียให้เด็กเลี้ยงไก่แก้ปัญหาติดมือถือ
  • ธนาคารกลางลาวดูแลอัตราแลกเปลี่ยน
  • เมียนมาเปิดเสรีเต็มรูปแบบในธุรกิจเหมืองขนาดใหญ่

     

    สภาแห่งชาติลาวผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2020

    เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ประชุมครั้งที่ 8 ของสภาแห่งชาติลาว ได้ลงมติด้วยคะแนน 111 เสียงจากสมาชิกสภาที่เข้าร่วมทั้งหมด 114 คนให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2020 ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถใช้มาตรการในการเสริมสร้างภาคการผลิตให้เข้มแข็ง

    ในแผนพัฒนาฉบับนี้ รัฐบาลจะใช้มาตรการส่งเสริมให้บริษัทของลาวผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคในประเทศ เพื่อการส่งออก และเพื่อลดการนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็น

    มาตรการเหล่านี้มีความสำคัญและเป็นมาตรการเร่งด่วนที่จะหนุนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศให้สูงขึ้นและรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะปานกลางถึงระยะยาว

    สำหรับการส่งเสริมการผลิต รัฐบาลมีแผนที่จะกำหนดธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป้าหมาย ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมกับได้รับข้อมูลพร้อมเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ

    สำหรับการสนับสนุนทางการเงิน รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 2,000 ล้านกีบและ 100 ล้านดอลลาร์จากการช่วยเหลือของจีนในการส่งเสริมและพัฒนา SME ภายใต้แผนพัฒนาฉบับนี้

    รัฐบาลจะใช้มาตรการในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตของลาว ที่ใช้ทรัพยากรในประเทศ เป็นวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มมูลค้าให้กับสินค้า

    แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2020 นี้ยังมีเป้าหมายยกระดับคุณภาพการศึกษาและสาธารณสุข ด้วยการจัดให้มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการทำงาน ห้องทดลอง การฝึกอบรมและอุปกรณ์การเรียนการสอน รวมทั้งจะมีการอบรมครูและแพทย์เพื่อให้ทำหน้าที่ดีได้ดีกว่าเดิม

    นอกจากนี้การขจัดความยากจนและการพัฒนาพื้นที่ชนบทเป็นเป้าหมายสำคัญลำดับต้นๆ ของรัฐบาล โดยจะส่งเสริมการลงทุนในยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจหลักๆ เพื่อเปลี่ยนโฉมลาวจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลเป็นประเทศที่มีการเชื่อมโยงกับประเทศอื่นหรือ จาก landlocked เป็น landlinked

    ส่วนเป้าหมายด้านเศรษฐกิจมหภาคภายใต้แผนพัฒนาฉบับนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายจะระดมทุน 46,500 พันล้านกีบจากประชาชนทั่วไป เอกชน และพันธมิตรด้านการพัฒนา รวมทั้งแหล่งอื่นๆ เพื่อรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไว้ที่ 6.5% ในปีหน้า

    ปี 2019 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 6.4% ลดลงจาก 6.7% ที่ประมาณการไว้ครั้งก่อน เป็นผลจากความไม่แน่อนนอนทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งรวมไปถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น

    ภายใต้แผนฉบับนี้รัฐบาลคาดว่า จะขาดดุลงงบประมาณ 6,696 พันล้านกีบ หรือ 3.76 ของ GDP และคาดว่าจะจัดเก็บรายได้ได้ราว 28,997 พันล้านกีบ และมีรายจ่าย 35,693 พันล้านกีบ

    แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2020 เป็นแนวทางที่สำคัญของประเทศ ในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 5 ปี คือ 2020-2025

    นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด กล่าวว่า แม้จะประสบกับความท้าทาย แต่ลาวมีศักยภาพที่จะเจริญรุ่งเรือง เพราะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่อยู่ในระหว่างเตรียมการและจะส่งผลอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

    ธนาคารกลางลาวดูแลอัตราแลกเปลี่ยน

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/laos-central-bank-set-focus-currency-inflation-management
    ธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะจัดการกับความท้าทายเพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินกีบ และป้องกันไม่ไห้อ่อนค่าลงไปอีกเมื่อเทียบกับเงินบาทของไทย รวมทั้งจะควบคุมเงินเฟ้อให้ต่ำกว่า 5%

    นายสอนไซ สิดพะไซ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติที่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการบริการอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมาว่า ธนาคารกลางจะยังคงประสบกับความท้าทายในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากมีการนำเข้ามีฐานะสุทธิ

    “ลาวพึ่งพาสินค้านำเข้าอย่างมาก ราว 80-90% ของสินค้ามาจากประเทศอื่น โดยหลักๆ มาจากไทย เมื่อเงินบาทแข็งค่า เราก็มีความเสี่ยงที่จะขาดดุลการค้าจากการชำระเงินค่าสินค้า” นายสอนไซกล่าว

    ในช่วงปี 2008-2018 ลาวขาดดุลการค้ามูลค่า 854 ล้านดอลลาร์ต่อปี และการนำเข้าสินค้าแต่ละปีมีมูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์ ส่งผลต่อความต้องการสินเชื่อจากธนาคารและอีกส่วนหนึ่งจากผู้ฝากเงินปี

    “นับตั้งแต่ต้นปี 2019 ความผันผวนของเงินบาทไทยและเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้กลายเป็นปัญหาสำหรับลาว เพราะเรานำเข้าสินค้าราว 490 ล้านดอลลาร์ทุกเดือน โดยที่สินค้านำเข้ามูลค่า 312 ล้านดอลลาร์มาจากประเทศไทย” นายสอนไซกล่าวและว่า จึงมีความต้องการเงินตราต่างประเทศจำนวนมากเพื่อชำระเงินค่าสินค้า

    ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ลาวประสบกับอุทกภัยและภัยแล้งที่ยืดเยื้อ สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน พื้นที่เกษตรกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน

    ปีนี้ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever — ASF) และโรคระบาดอื่นได้ซ้ำเติมสถานการณ์ และท้าทายความสามารถในการรับมือของรัฐบาลและธนาคารกลาง และยิ่งทำให้ความมั่นคงทางอาหารมีความสำคัญมากขึ้น

    ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนและการอ่อนค่าของเงินกีบเมื่อเทียบกับเงินบาทและเงินดอลลาร์สหรัฐก็ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น

    “ต้นปี เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.5% แต่ได้เพิ่มขึ้น 5.3% ในเดือนตุลาคม และช่วง 10 เดือนนี้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.7% เราคาดว่าทั้งปีจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3%”

    นายสอนไซให้ความมั่นใจว่า ธนาคารกลางจะยังคงใช้นโยบายที่มีในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน และจะดูแลให้อัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ

    อินโดนีเซียให้เด็กเลี้ยงไก่แก้ปัญหาติดอินเทอร์เน็ต


    เมืองบันดุง ในชวาตะวันตก ได้ริเริ่มโครงการนำร่องที่มีเป้าหมายให้เด็กออกห่างจากจอ ด้วยการให้ลูกไก่ไปเลี้ยงดูและให้เม็ดพริกไปปลูก ด้วยหวังว่าเด็กจะใช้เวลากับอุปกรณ์ไอที อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสมาร์ททีวี น้อยลง และหันไปใส่ใจกับลูกไก่และการปลูกพืชผักมากขึ้น

    องค์การบริหารเมืองบันดุงระบุว่า ได้จัดมอบลูกไก่จำนวน 2,000 ตัวและเม็ดพริก 1,500 เม็ดให้กับโรงเรียนชั้นประถมศึกษา 10 แห่ง และโรงเรียนมัธยมศึกษาอีก 2 แห่งในเมืองบันดุง ซึ่งห่างจากเมืองหลวงออกไป 150 กิโลเมตร

    นายกเทศมนตรี โอเด็ด เอ็ม. แดเนียล ได้ทำพิธีส่งมอบไปในสัปดาห์ที่ผ่านมาและกล่าวว่า เขาหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้เด็กใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์น้อยลง แต่ก็ต้องใช้เวลาประเมินผลของโครงการ

    รายงาน Global Digital Report 2019 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอินโดนีเซียใช้เวลาออนไลน์เฉลี่ย 8 ชั่วโมง 36 นาทีต่อวัน หรือสูงกว่าระดับเฉลี่ยของโลกราว 2 ชั่วโมง

    พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากในบันดุงให้การสนับสนุนโครงการนี้ซึ่งมีชื่อว่า “โครงการเลี้ยงลูกไก่” โดยเอลิส ปูริ ผู้ปกครองรายหนึ่งกล่าวว่า เป็นโครงการที่ดีเพราะจะสร้างวินัยให้กับเด็ก การดูแลต้นไม้ดีกว่าเล่นโทรศัพท์มือถือ ขณะที่เด็กส่วนหนึ่งบอกว่า มีแผนหลายอย่างสำหรับลูกไก่ที่ได้มา บางคนบอกว่าจะเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์ แต่อีกคนบอว่าจะเลี้ยงให้โตแล้วจะจับมากิน

    เมียนมาเปิดเสรีเต็มรูปแบบในธุรกิจเหมืองแร่

    ที่มาภาพ: http://www.thaibizmyanmar.com/en/news/detail.php?ID=2770
    คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมียนมา (Myanmar Investment Commission — MIC) ประกาศเปิดเสรีเต็มรูปแบบให้กับนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจเหมืองแร่ขนาดใหญ่ แต่จะจำกัดการอนุญาตในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับผู้ประกอบการเมียนมาเท่านั้น

    นักลงทุนต้องจัดทำวัตถุประสงค์ของธุรกิจเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้พิจารณา ส่วนรายละเอียดของการเปิดเสรีสามารถหาได้ในเว็บไซต์ของฝ่ายบริหารธุรกิจและการลงทุน

    นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนตุลาคมปีนี้ บ่อแร่ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวน 1,251 บ่อได้รับการอนุมัติในหลายภูมิภาคและหลายรัฐทั่วประเทศโดยอยู่ในรัฐกะฉิ่น 112 บ่อ รัฐกะยา 18 บ่อ รัฐกะเหรี่ยง 46 บ่อ รัฐชิน 3 บ่อ เขตสะกาย 229 บ่อ เขตตะนาวศรี 88 บ่อ เมืองเนปิดอว์ 3 บ่อ เมืองพะโค 7 บ่อ เมืองมาเกว 54 บ่อ เขตมัณฑะเลย์ 333 บ่อ รัฐมอญ 24 บ่อ รัฐยะไข่ 1 บ่อ ในรัฐฉานทางตอนเหนือของรัฐฉาน 95 บ่อ ตะวันออก 92 บ่อ และเขตอิรวดี 3 บ่อ

    สำหรับผู้ประกอบการเมียนมา ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ต้องการขออนุญาต หน่วยงานระดับเขตและรัฐสามารถพิจารณาอนุญาตได้หากอยู่ในพื้นที่ที่กำหนด

    ในการประชุมครั้งที่ 18/2019 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน คณะกรรมการ MIC ได้อนุมัติการลงทุนใหม่อีก 8 รายในภาคการผลิต ปศุสัตว์ ประมง บริการอื่น และที่อยู่อาศัย โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 165.853 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะสร้างงานได้ 1,739 ตำแหน่ง

    คณะกรรมการ MIC ตั้งเป้าที่จะดึงการลงทุนโดยตรงของต่างชาติรวมมูลค่า 220 พันล้านดอลลาร์ในอีก 20 ปีข้างหน้าและเน้นไปที่การลงทุนอย่างรับผิดชอบ

    ในรอบ 30 ปีตั้งแต่ปีงบประมาณ 1988-89 จนถึงปีงบประมาณ 2018-19 การลงทุนในเมียนมาจาก 50 ประเทศมีมูลค่ามากกว่า 81 พันล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานไฟฟ้า