ThaiPublica > เกาะกระแส > 2 ปี กสศ. เจาะข้อมูลเชิงลึก “iSEE” ความจริงการศึกษาไทยที่ต้องอ่าน

2 ปี กสศ. เจาะข้อมูลเชิงลึก “iSEE” ความจริงการศึกษาไทยที่ต้องอ่าน

19 พฤษภาคม 2020


ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในวาระครบ 2 ปี กสศ. และเปิดตัวโครงการสู้วิกฤติให้น้องอิ่ม เมื่อวันจันทร์ ที่ 18 พฤษภาคม 2563 ณ สำนักงาน กสศ.

ดร.ประสารกล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบการจัดตั้ง กสศ. ตลอด 2 ปีเต็มที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหาร กสศ. และสำนักงานได้มีโอกาสเรียนรู้และทำงานร่วมกับหลากหลายหน่วยงาน เพื่อร่วมกันสนับสนุนการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่เด็ก เยาวชน และกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานที่มีผู้แทนอยู่ในคณะกรรมการบริหาร กสศ. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานที่ช่วยสนับสนุนทรัพยากรให้กับเรา เช่น สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง

เมื่อ 2 ปีก่อน คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้ประเมินว่ากลุ่มเป้าหมายของ กสศ. ในประเทศไทยมีจำนวนรวมอยู่ประมาณ 4.3 ล้านคน และจะต้องใช้งบประมาณมากกว่าร้อยละ 5 ของงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศเพื่อให้เพียงพอต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ในแต่ละปี เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี

แม้ว่า 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมา กสศ. จะได้รับการจัดสรรงบประมาณราว 1 ใน 10 ของขนาดทรัพยากรที่ กอปศ. ประเมินเอาไว้ (ปีงบประมาณ 2562 ประมาณ 2,500 ล้านบาท) และราว 1 ใน 5 (ปีงบประมาณ 2563 ประมาณ 5,400 ล้านบาท)

“แต่ด้วยความร่วมมือที่ กสศ. ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงประชาชนที่ร่วมกันบริจาคเงินให้แก่ กสศ. เมื่อปีที่ผ่านมาราว 7 ล้านบาท ทำให้ผมมีความยินดีที่จะเรียนให้ทุกท่านทราบว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้เริ่มช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมพัฒนากลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมถึงครู ผู้พิการ และประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส จำนวนรวมกันแล้วมากกว่า 1,147,754 คน ใน 27,731 โรงเรียน ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยแล้ว (1 ใน 4 ของเป้าหมายที่ กอปศ. เคยประเมินเอาไว้) ซึ่งต้องขอขอบพระคุณการสนับสนุนจากคุณครูสังกัด สพฐ., ตชด. และ อปท. กว่า 400,000 คน ทั่วประเทศ ที่ช่วยให้ กสศ. เข้าถึงและได้มีโอกาสช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ที่ยากจนและด้อยโอกาสที่สุดในประเทศได้มากกว่า 1 ล้านคนภายในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น”

หลายๆ คนอาจคิดว่าการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะวัดความสำเร็จในการบรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินการด้วย “จำนวนหัว” ของกลุ่มเป้าหมายที่เราโอนเงินให้เสร็จเพียงเท่านั้น แต่ที่ กสศ. พวกเราคิดว่าการทำงานของเรากับน้องๆ มากกว่า 1 ล้านชีวิตนี้เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

ที่ กสศ. เรามีระบบสารสนเทศที่ชื่อว่า iSEE ที่จะช่วยให้เราติดตามทำงานสนับสนุนน้องๆ ทุกคนได้เป็นรายบุคคล ตั้งแต่วันแรกที่เขาเริ่มรับการสนับสนุนจาก กสศ. เมื่อชั้นอนุบาล 1 ไปจนเขาสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือสูงกว่า ทั้งในและนอกระบบการศึกษาตามศักยภาพและความถนัดของเขา เพื่อให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถหยุดความยากจนไม่ให้ข้ามไปสู่รุ่นลูกหลานของเขาให้ได้สำเร็จ

ด้วยวิธีการทำงานที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยมาตรการที่เจาะจงไปที่ต้นตอของปัญหาเป็นรายบุคคลด้วยข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเช่นนี้ เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา รายงานพิเศษ “Beyond Commitments” ของ UNESCO Global Education Monitoring Report (GEM) ซึ่งได้สรุปผลงานเด่นจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่แสดงถึงความก้าวหน้าและนวัตกรรมการทำงานด้านเสมอภาคทางการศึกษาในรอบ 5 ปีแรกของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) ได้เลือกนำเสนอผลงานของประเทศไทย ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้นเพื่อเป็นกลไกการทำงานรูปแบบใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กเยาวชนเป็นรายบุคคลอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับประเทศไทย และทุกภาคส่วนที่ช่วยสนับสนุนให้เกิด กสศ. ขึ้น

ด้วยขนาดของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่เดิมในสังคมไทย สถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมานี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของประเทศไทยที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันป้องกันมิให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำใหม่เกิดขึ้น และปัญหาความเหลื่อมล้ำเดิมยังคงได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดในแต่ละปี และแนวโน้มความตึงตัวของงบประมาณและการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐในอนาคตอันใกล้นี้ ถือเป็นความท้าทายที่ กสศ. และหน่วยงานภาคีจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าภารกิจเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาต่อไปให้ทันต่อสถานการณ์ และไม่ย่อท้อต่อข้อจำกัดด้านทรัพยากรและสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเหล่านี้

เราพบว่าการระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ จะช่วยให้เราไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น การดำเนินงานตลอด 2 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นนโยบายสาธารณะที่อยู่เหนือประเด็นขัดแย้งทางการเมือง หรือ “beyond politics” ทุกภาคส่วนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น สถานการณ์ล่าสุดที่เด็กๆ ของเรากำลังขาดแคลนอาหารจากการปิดเทอมที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเลื่อนไปถึง 46 วัน ก็ได้รับความห่วงใย ช่วยเหลือ จากหลายฝ่าย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชน

ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอให้คืนงบประมาณให้ กสศ. 200 ล้านบาท เพื่อนำไปรวมกับงบฉุกเฉินเดิมอีก 300 ล้านบาท รวมเป็น 500 ล้านบาท ไปจัดสรรช่วยเหลือเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารเพิ่มเติมให้กับนักเรียนยากจนพิเศษใน 3 สังกัด (สพฐ., ตชด. และ อปท.) ที่ กสศ. ดูแลทั้งหมด ตั้งแต่ชั้นประถม 1 ถึง ม. 3 ทั่วประเทศ และระดับอนุบาล 10 จังหวัด จำนวน 753,997 คน โดยช่วยเหลือเด็กคนละ 600 บาท สำหรับเป็นค่าข้าวสารอาหารแห้งเบื้องต้น 30 วัน

ปัจจุบัน กสศ. ได้ทยอยโอนเงินมากกว่า 300 ล้านบาทสำหรับนักเรียน ป.1 ถึง ป.5 ไปถึงบัญชีโรงเรียนทั้งสิ้น 25,408 โรงเรียนแล้ว คาดว่าจะโอนส่วนที่เหลือได้ครบ 500 ล้านบาทภายในสัปดาห์นี้

นอกจากนั้น กสศ. ยังได้ริเริ่มโครงการรณรงค์ “สู้วิกฤติให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” เพื่อเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมสมทบเติมเต็มมื้ออาหารอีก 15 วันที่ยังขาดแคลนให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้ เพื่อก้าวผ่านวิกฤติและมีโอกาสกลับมาเรียนอีกครั้งเมื่อการเปิดเทอมใหม่มาถึง โดยเงินบริจาคจะถูกนำไปจัดสรรให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุดก่อน เช่น เด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการ หรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ด้วยการประมวลผลจากระบบ iSEE เครื่องมือของ กสศ. ที่สามารถชี้เป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

ท้ายที่สุดนี้ จากการใช้กระบวนการ crowdsourcing ในการรวบรวมข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ กสศ. มากกว่า 12,000 คน เพื่อประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พบว่า COVID-19 ได้สร้างผลกระทบต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทยแล้วในหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ และการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ด้วยข้อเท็จจริงที่หลายฝ่ายประเมินว่าสถานการณ์ COVID-19 นี้จะอยู่กับพวกเราไปอีกนาน และแม้วัฏจักรในรอบนี้จะสิ้นสุดลง ก็ยังมีโอกาสที่จะย้อนกลับมาได้อีกในอนาคต ดังนั้น การแก้ปัญหาด้วยการเยียวยา ด้วยงบประมาณฉุกเฉิน หรือการระดมเงินบริจาค แม้จะเป็นเรื่อง “จำเป็น” ในช่วงแรกของสถานการณ์ แต่มาตรการเหล่านี้ย่อม “ไม่เพียงพอ” ที่จะพาประเทศชาติผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างยั่งยืน

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พวกเราต้องร่วมกัน re-imagine ระบบการคุ้มครองทางสังคมกันใหม่อย่างเป็นระบบ และใช้โอกาสนี้ในการลงทุนปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้สังคมไทยมีความพร้อมในการสู้กับวิกฤติได้ทั้งในวันนี้ และวันหน้าอย่างยั่งยืน

จากประสบการณ์การทำงาน 2 ปี และข้อมูลเชิงลึกจากระบบ iSEE ของ กสศ. เราจึงมีข้อเสนอในการสร้าง “ระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา” (social protection in education system) ใน 5 มิติดังนี้

    1) ความมั่นคงทางอาหาร (food security) ให้แก่เด็กเยาวชนทุกคนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค ปัจจุบันเราสนับสนุนอาหารกลางวันเพียง 200 วันต่อปีให้แก่เด็กอนุบาลถึง ป.6 เท่านั้น ยังมีเด็ก ม.ต้นถึง ม.ปลายอีกหลายล้านคนที่ยังไม่มีอาหารกลางวันทานที่โรงเรียน และยังมีอีก 165 วันที่เด็กเยาวชนด้อยโอกาสหลายล้านคนยังไม่มีความมั่นคงทางอาหารในชีวิตของตนและครอบครัว เรื่องนี้ท่านอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ น่าจะช่วยให้ข้อเสนอแนะแก่พวกเราในรายละเอียดให้ขับเคลื่อนงานกันต่อได้อีกมาก

    2)ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว (family security) ปัจจุบันครอบครัวที่มีรายได้น้อยมากกว่าร้อยละ 40 เป็นครอบครัวแหว่งกลาง พ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เด็กเยาวชนราว 1 ล้านคนกำลังเติบโตขึ้นมาโดยขาดความมั่นคงในสถาบันครอบครัว

    3) ความพร้อมและความปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียนของนักเรียน (travel security) ปัจจุบันเด็กเยาวชนเกือบ 2 ล้านคนไม่มีค่าใช้จ่ายและพาหนะที่ปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียน ทำให้มีเด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา และประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางไปโรงเรียน ดังที่เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นระยะๆ

    4) ความพร้อมและความปลอดภัยของสถานศึกษาและครู (school security) ในการจัดการศึกษาทั้งในเชิงกายภาพ และความพร้อมของผู้บริหารและครูในการจัดการศึกษาตามมาตรฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรวมไปถึงการจัดการศึกษาแก่ผู้พิการด้อยโอกาสประเภทต่างๆ การป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน รวมทั้งการจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์อย่าง COVID-19

    5) ความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น (community security) บทเรียนสำคัญจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้พวกเรายิ่งเห็นความสำคัญภูมิปัญญาของชาวแอฟริกาที่ว่า It takes a village to raise a child ความเข้มแข็งและความร่วมมือร่วมใจของชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสนับสนุนสถาบันครอบครัวและสถานศึกษา ในการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมในระบบการศึกษาทุกด้าน “ตู้ปันสุข” เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนครับ

ระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษาทั้ง 5 มิตินี้ หากเกิดขึ้นได้จริง ย่อมจะเป็นเสาหลักที่สำคัญของระบบการศึกษาในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และคุณภาพการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกระบบการศึกษา ทั้งในวัยเรียนและในวัยแรงงาน กสศ. จะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งที่มีผู้แทนอยู่ในบอร์ดของเราและหน่วยงานภายนอกอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษาทั้ง 5 ด้านในอนาคตอันใกล้นี้

เมื่อประชาชนกลุ่มเป้าหมายหลาย 10 ล้านคนและครัวเรือนเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองทางสังคมแล้ว ความจำเป็นในการพึ่งพามาตรการกู้วิกฤติในภาวะฉุกเฉินอย่างที่ผ่านมาก็จะลดลง ระยะเวลาที่ใช้ในการกลับสู่ภาวะปกติก็จะลดลง เพราะสังคมไทยจะมี “ภูมิคุ้มกัน” เพื่อสู้วิกฤติทั้งในรอบนี้และรอบหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป