ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ไม่ขัดแก้ รธน. พร้อมหางบฯทำประชามติ – มติ ครม.เบิกงบฯ 63 ไปพลางก่อน ยันงบฯ 64 ช้าไม่เกินเดือน

นายกฯ ไม่ขัดแก้ รธน. พร้อมหางบฯทำประชามติ – มติ ครม.เบิกงบฯ 63 ไปพลางก่อน ยันงบฯ 64 ช้าไม่เกินเดือน

15 กันยายน 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ ไม่ขัดแก้ รธน. พร้อมหางบฯทำประชามติ วอน ปชช.มั่นใจรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยันกักตัว 14 วันทุกคน – มติ ครม.เบิกงบฯ 63 ไปพลางก่อน ยันงบฯ 64 ล่าช้าไม่เกินเดือน – เข็น STV ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ไทย 9 เดือน

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ไม่ขัดแก้ รธน. พร้อมหางบฯทำประชามติ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เพิ่มขึ้นมา ทั้งการแก้ไขระบบเลือกตั้ง การเลือกนายกรัฐมนตรี การตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) รวมถึงการยกเลิกมาตราที่รับรองประกาศคำสั่ง คสช. ว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่างๆ นี้เป็นเรื่องของกระบวนการในสภาฯ ตนไม่ได้มีข้อขัดข้องแต่ประการใด ที่ผ่านมาก็มีการหารือ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษารายละเอียดกันแล้ว ประกอบด้วยพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านเยอะแยะไปหมด ซึ่งรัฐบาลก็ติดตามอยู่ในเรื่องนี้ หวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“เรื่องการจ่ายงบประมาณมีเหตุผลที่สำคัญก็คือ ต้องใช้ในเรื่องที่จำเป็นจะต้องใช้ ถ้าจำเป็นจะต้องทำประชามติก็ต้องทำ ต้องหางบประมาณมาดำเนินการ ซึ่งก็ทราบดีว่าเรากำลังมีปัญหาในเรื่องงบประมาณอยู่ ครับ ผมก็ไม่ขัดข้อง ก็แล้วแต่ท่าน”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงกรณีการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการล่าช้า ว่า ทุกคนทราบดีแล้วถึงเหตุผล ซึ่งได้มีการชี้แจงไปหลายครั้งแล้วว่าเป็นเหตุขัดข้องจากระบบการจ่าย และเรื่องทะเบียนต่างๆ วันนี้รัฐบาลกำลังเร่งรัดดำเนินการให้เร็วที่สุด จากเดิมที่เขากำหนดให้ไว้ในวันที่ 22 กันยายน 2563 ก็จะพยายามหาทางจ่ายให้ทันภายในกำหนด

“จากข้อเรียกร้องของประชาชนไม่ว่าการใช้จ่ายหรือการเบิกจ่ายต่างๆ เราพยายามจะแก้ไขในทุกมิติ อย่างไรก็ตาม กราบเรียนว่าเนื่องจากสถานการณ์ไม่ใช่สถานการณ์ปกติในเวลา นี้เรื่องต่างๆ อาจมีข้อติดขัดอยู่บ้างในวิธีการหรือกลไกใหม่ๆ ที่ออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพราะรัฐบาลมุ่งหวังที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ ให้ดีที่สุด”

เมื่อถามว่า การที่กระทรวงการคลังเปลี่ยนช้างตัวใหม่ คิดว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหารัฐบาลตูดขาดได้หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ หันมาชี้หน้าพร้อมกล่าวด้วยน้ำเสียงโกรธว่า “ใครบอกรัฐบาลตูดขาด ชี้แจงมาแล้ว 5 ครั้ง คุณไปอยู่ที่ไหนมา ทำไมไม่ฟัง”

เตือนเช็คก่อนแชร์เอกสารปลอม

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงแนวทางของรัฐบาลต่อการชุมนุมในวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ว่า รัฐบาลหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หรือที่เหตุที่นำไปสู่ความรุนแรงอยู่แล้ว ทั้งฝ่ายความมั่นคง เจ้าหน้าที่ทั้งพลเรือนทหารต่างหลีกเลี่ยง เพราะฉะนั้นใครไม่เหล็กเลี่ยงก็ต้องไปหากันมา รัฐบาลก็ยืนยันในเรื่องความปลอดภัยของผู้ชุมนุมเป็นหลักและทำให้บริหารงานราชการในช่วงนี้ผ่านไปได้ด้วยดีเพื่อให้สอดคล้องกับวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในเวลานี้

“ก็พยายามที่จะทำอย่างไรให้ประเทศความสงบสุขมากที่สุด รัฐบาลมีเสถียรภาพในการทำงานในช่วงนี้ ขอร้องกันทุกฝ่ายทั้งแกนน ำผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ในทุกๆ ฝ่าย ต้องร่วมมือกันสังเกต สอดส่อง เป็นหูเป็นตา และดูแลลูกหลานของเราให้ปลอดภัย อย่าให้ตกไปเป็นเครื่องไม้เครื่องมือของใครก็แล้วแต่ ถ้าเป็นการชุมนุมโดยบริสุทธิ์ ผมก็เคยไม่เคยมีปัญหากับใครทั้งสิ้น ส่วนการชุมนุมนี้จะบริสุทธิ์หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ต้องสืบหากันต่อไป ซึ่งพอจะมีข้อมูลอยู่บ้าง”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนเป็นห่วงในเรื่องของการชุมนุม วันนี้ก็มีหลายอย่างที่มันแพร่อยู่ในสื่อตามโซเชียลต่างๆ ซึ่งทุกคนจะต้องเช็คก่อนแชร์ ก่อนที่จะส่งต่อไปยังที่อื่นจะไปขยายความ ซึ่งบางทีก็มีคนไม่หวังดีไปใช้ตรงนั้นในการที่จะปลุกระดมปลุกปั่นขึ้นมา

“แล้วผมถามว่าบ้านเมืองไม่สงบแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ตัวผมเองไม่ได้ห่วงอยู่แล้วว่าจะอยู่หรือจะไป แต่เป็นห่วงว่ารัฐบาลจะอยู่ตรงไหน หลายๆ อย่างที่เป็นกลไกที่จะต้องไปแก้ปัญหาไม่ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญใดๆ ก็แล้วแต่ใครจะทำก็ไปดูตรงโน้น เพราะฉะนั้นอย่ากดดันในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ผมคิดว่าสังคมประชาชนส่วนใหญ่ทราบดี ฉะนั้นก็ขอแสดงความห่วงกังวลเพราะท่านก็รักลูกของท่าน ผมก็รักลูกของผม แต่ผมจำเป็นต้องรักลูกของท่านไปด้วยเพราะผมเป็นนายกรัฐมนตรี นั่นคือสิ่งที่ผมต้องดูแล ฉะนั้นขอให้ทุกคนนั้นช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีมีเอกสารปลอมทางราชการออกมาโจมตีรัฐบาล กองทัพ ถึงการเตรียมกำลังปราบการชุมนุมในวันที่ 19-20 กันยายน นี้ว่า ท่านก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นเอกสารปลอม และหน่วยงานก็ได้ออกมาชี้แจ้งแล้วว่าเป็นเอกสารปลอม

“วันนี้มันปลอมกันได้ทุกอย่าง ท่านก็ทราบดีว่ามันมีการเจริญเติบโตทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นทุกอย่างพร้อมได้หมด แค่ปากพูดก็พูดได้หมดดัดแปลงเสียง แปลงคำพูด ลอกแบบลายเซ็น มีทุกอย่าง ดังนั้นขอให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันตรวจสอบก่อนแชร์ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาในเรื่องของการดำเนินคดีต่อไปในอนาคต ผมก็ไม่อยากให้มันวุ่นวายในเรื่องเหล่านี้”

นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า ตนจะทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดในเรื่องของการดูแลเจ้าหน้าที่ดูแลเด็ก ลูกหลานของท่าน และท่านก็ต้องดูแลตัวเองของท่านไปด้วย ดังนั้นมาตรการใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบอาวุธในเรื่องของการแพร่ระบาดต่างๆ ก็ต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการดูแลเขา เพราะลูกหลานของท่านก็เหมือนลูกหลานของเราเหมือนกัน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้คือ รัฐบาลมีโครงการจ้างงานซึ่งกระทรวงแรงงานได้เตรียมการไปแล้วที่จะจ้างงานนักศึกษาถึงประมาณ 260,000 คนในช่วงนี้ เพื่อจะให้ผู้ที่ตกงานหรือผู้ที่ยังไม่มีงานทำ โดยยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการชุมนุมแต่อย่างใด เป็นเรื่องที่รัฐบาลได้วางแผนไว้อยู่แล้วว่าจะดูแลในส่วนนี้

“ยังมีเหลืออีกตั้งเท่าไรรวมกันแล้วประมาณล้านคน ผมถามว่าถ้ามันวุ่นวายมีปัญหามากๆ บริหารราชการไม่ได้ บริหารงบประมาณไม่ได้ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้นคนที่เสียประโยชน์ก็คือคนอีก 60 กว่าล้านคน จะทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบตรงนี้ ก็ฝากไว้ด้วยแล้วกันช่วยกันคิดช่วยกันทำช่วยกันแก้ปัญหา”

วอน ปชช.มั่นใจรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยันกักตัว 14 วันทุกคน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการณีการออกวีซ่านักท่องเที่ยวแบบใหม่ หรือ special tourist visa ว่า กรณีดังกล่าวยังคงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดตนยืนยันว่าจะต้องมีการกักตัว 14 วันทุกคน ซึ่งจะเป็นกลุ่มคนที่มาอยู่ยาวไม่ว่าจะเป็นเรื่องของท่องเที่ยวหรือสุขภาพ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเลือกกักตัวในจุดที่ตนเลือกได้ หรืออยู่ ณ โรงพยาบาลที่เลือก ในรูปแบบ hospital quarantine

“ขอให้ช่วยประชาสัมพันธ์ในสังคม ควรเป็นเพื่อให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือระบบการสาธารณสุขของเรานั้นถือว่าดีที่สุดในโลกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นจึงต้องมั่นใจตรงนี้ มีอย่างเดียวเท่านั้นคือความร่วมมือในการตรวจสอบติดตามการตรวจแยกคัดกรอง ข้อสำคัญคือการ์ดอย่าตก ซึ่งจะอันตราย ฉะนั้นเมื่อท่านไม่สามารถทำตามกำหนดมาตรการต่างๆ เหล่านั้นได้ก็อย่าโทษรัฐบาล เพราะเป็นกรอบที่วางไว้อยู่แล้ว”

เบรกวันหยุดพิเศษ ชี้ทำได้ต้องประกาศล่วงหน้า

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการกำหนดวันหยุดเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ตนดำริไว้เฉยๆ แต่จะทำได้หรือไม่เมื่อไหร่อย่างไรก็ต้องรอเวลา

“อย่าเพิ่งลือกันไปมากมาย ถ้าจะมีวันหยุดพิเศษขึ้นมาก็ต้องมีการประกาศล่วงหน้าจะได้มีแผนการท่องเที่ยว หากประกาศกระชั้นก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ตอนนี้ก็ขอให้ไปดูในเดือนตุลคาคมซึ่งมีวันหยุดวันธรรมดาและวันหยุดนักขัตฤกษ์อยู่แล้ว ให้ไปดูตรงนั้นมาก่อนอย่ามาบอกว่ารัฐบาลไม่บอกก่อนเพราะไม่ใช่พิเศษอะไรถ้าหากพิเศษจะบอกล่วงหน้า”

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

อนุมัติเงินกู้ 1.4 หมื่นล้าน ยกระดับเกษตรแปลงใหญ่

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบและอนุมัติตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ในคราวประชุมครั้งที่ 19/2563 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 ตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ โดยที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติอนุมัติโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กรอบวงเงินรวม 13,904 ล้านบาท โครงการนี้จะเป็นโครงการที่ให้การสนับสนุนสมาชิกจัดหาปัจจัยการผลิต วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทางการเกษตร และทั้งในด้านการผลิต การพัฒนาคุณภาพและการตลาด ซึ่งสมาธิกสามารถจัดหาได้ด้วยตนเองตามความจำเป็น และความต้องการของกลุ่ม เพื่อพัฒนาต่อยอดกิจกรรม ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

“กิจกรรมที่ 2 ของโครงการนี้ คือ การสนับสนุนให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติงาน, แผนการใช้จ่ายเงิน, การจัดเก็บข้อมูล, บันทึกผลการดำเนินการ และติดตามประเมินผล แต่ทั้งนี้ ครม. ได้มีข้อสังเกตุ และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งพิจารณาอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้มาจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ประเภทนิติบุคคลตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการตามรูปแบบที่ได้กำหนดไว้ และเห็นควรมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโครงการนี้” นายอนุชา กล่าว

เพิ่มวันหยุดพักร้อน “ขรก._รสก.” อีก 2 วัน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้อนุมัติให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปรับปรุงรายละเอียดโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถลาพักร้อนในวันธรรมดาเพิ่มได้อีก 2 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในวันธรรมดา เพิ่มความถี่การพักค้าง และกระตุ้นการใช้จ่ายกลุ่มศักยภาพ ดึงกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ เช่น ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ ให้ออกเดินทางท่องเที่ยวตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) นำเสนอ

เบิกงบฯ 63 ไปพลางก่อน ยันงบฯ 64 ล่าช้าไม่เกินเดือน

นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน สืบเนื่องจากรัฐบาลมีการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติทำให้กระบวนการจัดทำงบประมาณล่าช้าไปประมาณ 1-2 สัปดาห์ จึงคาดว่าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะประกาศใช้บังคับไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 อันเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งในกรณีดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 141 บัญญัติให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

    1. ให้สำนักงบประมาณมีอำนาจจัดสรรงบประมาณให้หน่วยรับงบประมาณได้ไม่เกิน 1 ใน 4 ของแผนงานต่างๆ รายการงบกลาง และงบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียนที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
    2. กรณีมีความจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเกินกว่าหรือนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ ให้สำนักงบประมาณมีอำนาจจัดสรรงบประมาณได้ตามความจำเป็น แต่ไม่เกินวงเงินงบประมาณแต่ละแผนงานรายการตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เฉพาะกรณีดังนี้

    • รายจ่ายตามข้อผูกพันสัญญา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
    • ต้องดำเนินการตามข้อตกลงที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ
    • มีความจำเป็นเร่งด่วนซึ่งหากไม่ดำเนินการจะเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน
    3. ให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เมื่อได้รับอนุมัติเงินจัดสรรจากสำนักงบประมาณแล้ว โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งต้องหักออกเมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีประมาณ พ.ศ. 2564 ประกาศใช้บังคับแล้วสำนักงบประมาณได้มีหนังสือเวียนแจ้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อนและวิธีปฏิบัติฯ แล้ว ตามหนังสือสำนักงบประมาณ ที่ นร 0702/ ว 114 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ทั้งนี้ การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน เป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

“ที่ผ่านมาได้มีแนวทางปฏิบัติในการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว เช่น ในปีงบประมาณ 2550 ใช้งบประมาณ 2549 ไปพลางก่อนไม่เกิน 3 ใน 4 (มีเลือกตั้งทั่วไป 15 ตุลาคม 2549), ปีงบประมาณ 2555 ใช้งบประมาณ 2554 ไปพลางก่อน ไม่เกินกึ่งหนึ่ง, ปีงบประมาณ 2557 ใช้งบประมาณ 2556 ไปพลางก่อน ไม่เกินกึ่งหนึ่ง (ทำแผน 6 เดือน), ปีงบประมาณ 2563 ใช้งบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน ไม่เกินกึ่งหนึ่ง (ใช้จริง 5 เดือน) สำหรับงบประมาณปี 2564 คาดว่าจะล่าช้าไม่เกิน 1 เดือนนายอนุชากล่าว

จ้างที่ปรึกษา 68 ล้าน ทำแผนฯเชื่อมอ่าวไทย–อันดามัน

นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณดำเนินการจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (business development model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2566 ในวงเงิน 68 ล้านบาท

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการศึกษาทบทวนยุทธศาสตร์การค้าและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของการขนส่งสินค้าที่เชื่อมโยงสองฝั่งทะเล (อ่าวไทย-อันดามัน) การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน เป็นการศึกษาปริมาณการค้าโลก และสำรวจความต้องการขนส่งสินค้าในระดับมหภาคที่พาดผ่านพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย การศึกษาความเหมาะสมเพื่อพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน จะมีการวิเคราะห์จัดทำรูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (business development model) การออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง และการจัดทำรายงานการให้เอกชนร่วมลงทุน (public private partnership: PPP) ร่วมทั้งการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (environmental impact assessment: EIA) ตลอดจนการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งนี้ คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ระยะเวลาดำเนินการ 30 เดือน กำหนดแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2566 โดยมีแผนการใช้จ่ายเงิน วงเงินรวม 68 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ได้ คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้จะได้รับการพัฒนาเพิ่มศักยภาพเพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน โดยมีรูปแบบโมเดลการพัฒนาและการลงทุนที่เหมาะสมกับการพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน

ขยายเยียวยากลุ่มเปราะบาง 3,000 บาท ถึง ก.ย. นี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ประชุม ครม. อนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินการโครงการจ่ายเงินเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รายละ 3,000 บาท จากเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2563 จากข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวให้กับกลุ่มเปราะบาง จำนวน 6,650,214 ราย วงเงินรวม 19,950.64 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 1) เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2) ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ และ 3) คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ยังคงเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่สามารถจ่ายเงินได้สำเร็จ จำนวน 22,771 ราย เนื่องจากผู้ได้รับสิทธิเสียชีวิตในระหว่างการจ่ายเงิน (แต่ทายาทสามารถแจ้งขอรับสิทธิแทนได้) และเกิดปัญหาเกี่ยวกับเลขบัญชีธนาคารไม่ถูกต้อง ไม่มีบัญชีธนาคาร เป็นต้น ทำให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่สามารถดำเนินการโอนเงินให้กลุ่มเป้าหมายได้ทันตามกำหนดเวลาเดิม

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประสานกับกรมบัญชีกลางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเลขบัญชีธนาคารของกลุ่มเป้าหมาย โดยการโอนผ่านระบบพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขบัตรประชาชนแทน ส่วนเรื่องรายละเอียดว่าผู้มีสิทธิกลุ่มนี้ต้องดำเนินการอย่างไร ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ผ่านแผนพัฒนาหนองหารกว่า 7.4 พันล้าน

นางสาวรัชดากล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จังหวัดสกลนคร รวม 5 ด้าน มีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (พ.ศ. 2563-2572) รวมจำนวน 62 โครงการ วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 7,445 ล้านบาท เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน และการใช้ทรัพยากรในพื้นที่หนองหารอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

สำหรับแผนหลักการพัฒนาหนองหาร จังหวัดสกลนคร เป็นแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณบึงหนองหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำและเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความจุ 163 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ในปัจจุบันบึงหนองหารกำลังประสบปัญหา เช่น ปัญหาน้ำทิ้งจากชุมชม น้ำท่วม การขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริการโภคและใช้ทางการเกษตร เป็นต้น ตลอดจนการบุกรุกเข้าถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดทำแผนหลักการพัฒนาหนองหาร ซึ่งประกอบด้วย 5 ด้าน รวม 62 โครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

    1. แผนด้านการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค งบประมาณรวม 293 ล้านบาท เพื่อจัดหาแหล่งน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชนครบทุกหมู่บ้าน และการจัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เศรษฐกิจ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ การประปาส่วนภูมิภาค
    2. แผนด้านการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต งบประมาณรวม 1,064 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ประโยชน์ของปริมาณน้ำที่สามารถสนับสนุนได้ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กรมชลประทาน
    3. แผนด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย งบประมาณรวม 1,591 ล้านบาท เพื่อเป็นการบรรเทาอุทกภัยทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงท้ายน้ำ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบคือ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมประมง
    4. แผนด้านการจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ งบประมาณรวม 4,328 ล้านบาท เพื่อบำบัดน้ำเสียที่ไหลลงบึงหนองหาร และการควบคุมวัชพืชไม่ให้กระทบต่อคุณภาพน้ำ โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก เช่น สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร กรมประมง เป็นต้น
    5. แผนด้านการบริหารจัดการ งบประมาณรวม 167 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลหนองหาร โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น สำนักงานที่ดินจังหวัดสกลนคร สำนักงาน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสกลนคร เป็นต้น

ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับจากแผนหลักการพัฒนาหนองหาร คือ 1) บรรเทาปัญหาอุทกภัยโดยสามารถชะลอน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากเพิ่มขึ้นเป็น 88 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิม 43 ล้านลูกบาศก์เมตร 2) มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 25,000 ไร่ 3) เพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียสามารถรองรับได้ทั้งเทศบาลนครสกลนครและเทศบาลตำบลท่าแร่ 4) กำจัดวัชพืชลอยน้ำได้ประมาณ 620,000 ตัน และ 5) ขุดลอกตะกอนดินได้ปริมาณ 5.8 ล้านลูกบาศก์เมตร

อนุมัติงบกลาง 6 พันล้าน แก้น้ำท่วม-ภัยแล้ง

นางสาวรัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลางปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินวงเงินรวม 6,177 ล้านบาท เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

    1. โครงการเพื่อเตรียมการรับมือ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมและเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในฤดูฝน ปี 2563 จำนวน 5,082 ล้านบาท ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการประกอบด้วย 3 กระทรวง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย โครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำและปรับปรุงแหล่งน้ำ 142 แห่ง โครงการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำชลประทาน 63 แห่ง และโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน 65 แห่ง เป็นต้น
    2. โครงการจัดหาเครื่องสูบน้ำที่มีศักยภาพในการสูบน้ำไม่น้อยกว่า 35,000 ลิตร/นาที และส่งน้ำระยะไกลไม่น้อยกว่า 10 กิโลเมตร พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 18 คัน คันละ 45 ล้านบาท รวมวงเงิน 810 ล้านบาท ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เพื่อติดตั้งประจำ ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จำนวน 18 ศูนย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้อนุมัติจัดหาไปแล้ว 18 คัน
    3. โครงการจัดหาเครื่องจักรกลเพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาและบรรเทาอุทกภัย จำนวน 284 ล้านบาท ของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ รถปั้นจั่นล้อยาง และเรือขุดแบคโฮ เพื่อทดแทนเครื่องจักรกลเดิมซึ่งมีสภาพเก่า

เห็นชอบร่างท่าทีไทย 9 ด้านเสนอที่ประชุม UN

นางสาวรัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 75 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีการจัดประชุมระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2563 โดยมีคณะผู้แทนไทยถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยเข้าร่วมการประชุม

ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ท่าทีไทยของประเทศไทยแบ่งเป็น 9 หมวด คือ

    หมวด A การส่งเสริมการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนตามข้อมติของ UNGA ไทยให้ความสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศ การสนับสนุนแหล่งพลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน การจัดการภัยพิบัติ และการรับมือกับการระบาดของโควิด-19
    หมวด B การรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ไทยเน้นย้ำบทบาทการปฏิบัติการการรักษาสันติภาพทั้งสถานการณ์ในตะวันออกกลางและปาเลสไตน์
    หมวด C การพัฒนาทวีปแอฟริกา เน้นการส่งเสริมพัฒนาในสาขาที่ไทยมีศักยภาพและมีวิทยาการที่เหมาะสม
    หมวด D สิทธิมนุษชน ไทยให้ความสำคัญกับรายงานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่ง UN การคุ้มครองสิทธิเด็ก สตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ การขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก
    หมวด E การประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไทยสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเป็นกรณีพิเศษ โดยแสดงความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการประสานงานให้ความช่วยเหลือในภูมิภาค
    หมวด F การส่งเสริมความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ ไทยให้ความสำคัญกับเรื่องมหาสมุทรและกฎหมายทะเล การประมงอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย รวมถึงการส่งเสริมหลักนิติธรรมและขอบเขตการบังคับใช้หลักเขตอำนาจสากล
    หมวด G การลดอาวุธ ไทยสนับสนุนประเด็นการลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์
    หมวด H การควบคุมสารเสพติด การป้องกันอาชญากรรม และการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา และมาตรการขจัดการก่อการร้ายสากล
    และหมวดการบริหารจัดการอื่นๆ ไทยเน้นบทบาทด้านสาธารณสุข เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ผ่านร่าง กม.จราจรฯ เพิ่มน้ำหนักบรรทุกเป็น 2.2 ตัน

นางสาวรัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติร่างพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เนื่องจากพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายที่บังคับใช้มาเป็นเวลานาน ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ยกร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้น โดยเป็นการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ 2522 บางประการที่ไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน ทั้งในเรื่องการใช้ช่องเดินรถ ลักษณะความผิดในการขับรถ การตรวจสอบหรือทดสอบผู้ขับขี่ หน้าที่การใช้เข็มขัดนิรภัย การป้องกันการแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต และการควบคุมการใช้รถที่มีสภาพไม่ถูกต้อง รวมทั้งปรับปรุงบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงในการใช้รถใช้ถนนในปัจจุบัน ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและป้องกันการกระทำความผิดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น

    1. กำหนดให้รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร และรถจักรยานยนต์ สามารถใช้ช่องเดินรถด้านขวาได้ในกรณีจำเป็น และแก้ไขเพิ่มเติมน้ำหนักของรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่ไม่ต้องใช้ช่องเดินรถด้านซ้ายสุด จาก 1,600 กิโลกรัม เป็น 2,200 กิโลกรัม
    2. กำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจ ขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ผู้ขับขี่หรือบุคคลที่อาจเป็นผู้ขับขี่ ในกรณีที่อยู่ในภาวะหมดสติจนไม่อาจให้ความยินยอมในการตรวจสารเสพติดหรือตรวจระดับความเมาสุราได้ โดยให้ทำได้เท่าที่จำเป็นและต้องไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลนั้น
    3. ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรัดเข็มขัดนิรภัย เช่น 1) กำหนดหน้าที่ของผู้ขับขี่และคนโดยสารต้องรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาในขณะโดยสารรถ 2) ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี นั่งแถวหน้า ยกเว้นมีที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กและมีวิธีป้องกันอันตรายไว้แล้ว และ 3) ห้ามไม่ให้มีผู้โดยสารนั่งตอนหน้าเกินว่า 2 คน ในขณะขับขี่ เป็นต้น
    4. ปรับปรุงมาตรการป้องกันการแข่งรถในทาง เช่น 1) กำหนดให้ผู้ที่รวมกลุ่มกันในทางพร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป โดยมีการนัดหมายแข่งรถ หรือมีพฤติการณ์ที่แสดงถึงจะมีการแข่งรถ ให้ถือว่าเป็นผู้พยายามแข่งรถในทาง เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าเป็นอย่างอื่น 2) กำหนดให้ผู้ที่รับการปรับแต่งรถเพื่อแข่งรถในทาง ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการแข่งรถในทาง เป็นต้น
    5. ปรับปรุงบทกำหนดโทษ เช่น เพิ่มบทกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานขับรถในขณะถูกพักใช้อนุญาตขับขี่ตามมาตรการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ในลำดับต่อไป จะส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ไฟเขียวกฎกระทรวง 12 ฉบับ ดูแลสิทธิ-ความเป็นธรรมผู้ต้องขัง

นางสาวนรัชดากล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 จำนวน 12 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้ ร่างกฎกระทรวงหลักผ่านความเห็นชอบจาก ครม. แล้ว ก็รอลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็จะมีผลบังคับใช้ทันที โดยร่างกฎกระทรวงทั้ง 12 ฉบับ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

    1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภท ชนิด และขนาดของเครื่องพันธนาการที่ใช้แก่ผู้ต้องขัง ซึ่งมีจำนวน 7 ประเภท ได้แก่ สายรัดข้อมือ เสื้อพันธนาการ กุญแจมือ กุญแจเท้า ชุดกุญแจมือและกุญแจเท้า ตรวน และโซ่ล่าม
    2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือชนิดของอาวุธอื่น นอกจากอาวุธปืนที่เจ้าพนักงานเรือนจำจะพึงมีไว้ในครอบครอง หรือใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีจำนวน 3 ประเภท ได้แก่ ตะบองไม้กลม ตะบองโลหะชนิดยืดหดได้ และตะบองพลาสติกหรือไฟเบอร์หรือทำจากวัสดุสังเคราะห์อื่นที่คล้ายกัน
    3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดสถานที่คุมขัง เช่น สถานที่คุมขังต้องเป็นสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำซึ่งเป็นสถานที่ของทางราชการ หรือ เอกชนที่เจ้าของหรือผู้ปกครองดูแลรักษาสถานที่อนุญาตหรือยินยอมเป็นหนังสือให้ใช้ประโยชน์ในการควบคุมผู้ต้องขัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปฏิบัติตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขัง การดำเนินการตามระบบพัฒนาพฤตินิสัย การรักษาพยาบาลหรือการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย
    4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดระบบการจำแนกลักษณะของผู้ต้องขัง การควบคุมและการแยกคุมขัง และการย้ายผู้ต้องขัง เช่น การจำแนกลักษณะของผู้ต้องขัง มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ขั้นพื้นฐาน 2) ขั้นแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาพฤตินิสัย และ 3) ขั้นเตรียมความพร้อมก่อนไป พร้อมกำหนดแนวทางการควบคุม การแยกคุมขังผู้ต้องขัง และการย้ายผู้ต้องขัง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้กับเรือนจำ
    5. ร่างกฎกระทรวงการร้องทุกข์ การยื่นเรื่องราวใดๆ หรือการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของผู้ต้องขัง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการร้องทุกข์ การยื่นเรื่องราวใดๆ หรือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของผู้ต้องขัง ต่อเจ้าพนักงานเรือนจำ ผู้บัญชาการเรือนจำ อธิบดี รัฐมนตรี หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์
    6. ร่างกฎกระทรวงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าพนักงานเรือนจำและการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศและตั้งครรภ์
    7. ร่างกฎกระทรวงการคำนวณรายได้เป็นราคาเงินและการจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ต้องขัง ซึ่งการงานที่ได้ทำนั้นก่อให้เกิดรายได้ซึ่งคำนวณเป็นราคาเงินได้ เช่น การคำนวณต้นทุน ค่าใช้จ่าย กำไร รวมตลอดถึงสัดส่วนการจ่ายเงินรางวัลที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้ต้องขัง
    8. ร่างกฎกระทรวงการรับเงินทำขวัญของผู้ต้องขัง ซึ่งได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือตาย เนื่องจากการทำงาน เช่น กรณีบาดเจ็บจนเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
    9. ร่างกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เช่น ผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วย มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือ เป็นโรคติดต่อออกไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำ
    10. ร่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินของผู้ต้องขังเป็นสิ่งของที่อนุญาต หรือไม่อนุญาต ให้เก็บรักษาไว้ในเรือนจำ
    11. ร่างกฎกระทรวงการดำเนินการทางวินัยผู้ต้องขัง เช่น ขั้นตอนการพิจารณาการลงโทษทางวินัย การออกคำสั่งลงโทษ การเพิกถอนคำสั่งลงโทษ การเปลี่ยนแปลง การงด หรือการรอการลงโทษ การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยของผู้ต้องขัง และการเยียวยาผู้ต้องขังภายหลังเพิกถอนคำสั่งลงโทษ
    12. ร่างกฎกระทรวงการดำเนินการกับสิ่งของต้องห้ามตามมาตรา 73 ในกรณีที่ไม่มีการดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย

เข็น STV ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ไทย 9 เดือน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติในหลัการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist VISA (STV) เพื่อต้องการนำนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  1. เป็นบุคคลต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาว (long stay) ภายในประเทศไทย
  2. ยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประกาศใช้ภายในประเทศไทย และตกลงยินยอมกักตัวในห้องพักจำนวน 14 วัน (ALSQ)
  3. มีหลักฐานสถานที่พักอาศัยระยะยาวภายในประเทศไทย ได้แก่หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก หรือโรงพยาบาลที่พัก (AHQ) ภายในประเทศไทย และหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือหลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก ที่จะใช้เป็นที่พักหลังจากออกจากโรงแรมที่พักที่เป็นสถานที่กักตัว หรือโรงพยาบาลที่พัก ตามระยะเวลาที่ ประสงค์จะพำนักระยะยาว ภายในประเทศไทย หรือ หลักฐานสำเนาโฉนดห้องชุดของที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียม ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลต่างด้าวหรือบุคคลในครอบครัวของบุคคลต่างด้าว หลักฐานการเช่าที่พักประเภทคอนโดมิเนียมหรือบ้านพัก หลักฐานการชำระเงินดาวน์ของบุคคลต่างด้าวในการซื้อหรือเช่า ที่พักอาศัยประเภทคอนโดมิเนียมที่บุคคลต่างด้าวสามารถซื้อได้ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจะต้องแสดงความจำนงผ่านบริษัทตัวแทน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะแจ้งให้บริษัทท่องเที่ยวประสารงานให้นักท่องเที่ยวเตรียมเอกสารตามที่กำหนด เพื่อส่งเอกสารให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณา เมื่ออนุมัติ จะมีการแจ้งไปยังสถานทูตไทย ณ ประเทศต้นทางให้นักท่องเที่ยวไปรับเอกสารที่สถานทูตพร้อมเอกสารยืนยันก่อนเดินทาง และเมื่อเดินทางมาถึงจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองตามเกณฑ์ฯ

นอกจากเกณฑ์ข้างต้น นักท่องเที่ยวต่างชาติยังต้องผ่านการดำเนินการตามการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด จึงจะมีสิทธิขอรับการตรวจ ลงตราประเภทนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ หรือ STV โดยเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ครั้งละ 2,000 บาทได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 90 วัน และภายหลังจากที่ครบกำหนดเวลาอนุญาต 90วันแล้ว สามารถขออนุญาตอยู่ต่อไปได้อีก 2 ครั้งๆ ละ 90 วัน โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องยื่นคำขอตามแบบ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด

และเนื่องจากประเทศไทย สามารถบริหารจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับ 1 ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดียิ่ง ทำให้คนต่างด้าวที่เรียกว่ากลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและมีศักยภาพจากทุกประเทศทั่วโลกมีความต้องการเดินทางเข้ามาพร้อม ครอบครัวเพื่อมาพำนักระยะยาวภายในประเทศไทย

“เพื่อการบริหารจัดการอย่างปลอดภัยได้มีการกำหนดโควตาผู้เดินทางนำร่อง เที่ยวบินแรกจำนวน 100 คน สัปดาห์ละ 1-3 เที่ยวบิน และรับเฉพาะผู้ที่ตอบรับมาตรการ AHQ และ ALSQ เท่านั้น โดยประมาณการว่าหากนักท่องเที่ยวเดินทางด้วย STV จำนวน 1,200 คนต่อเดือน จะทำรายได้ให้ประเทศไทยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 12,000 ล้านบาทต่อปี”

แนะแนวทางป้องกันทุจริตโครงการใช้จ่ายเงินกู้ ตามพ.ร.ก. 3 ฉบับ

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(คณะกรรมการ ป.ป.ช.) กรณีศึกษาการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยประกอบด้วย 3 ส่วนดังนี้คือ

  • พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ) ป.ป.ช. เสนอแนะว่า ควรกำหนดมาตรการเสริมในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เช่น ในหมวด 2 ซึ่งเป็นหมวดเกี่ยวกับการเสนอ การพิจารณากลั่นกรอง และการอนุมัติโครงการ ควรกำหนดให้หน่วยของรัฐที่จัดทำโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้จะต้องมีการวางกระบวนการหรือกิจกรรม รวมทั้งการประเมิน เพื่อลดความเสี่ยงและแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นไว้ในโครงการที่จะเสนอด้วย โดยนำข้อกำหนดตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายมาปรับประยุกต์ใช้ และหากโครงการไม่มีกระบวนการข้างต้น ผู้มีอำนาจพิจารณาอาจมีความเห็นให้ทบทวนหรือไม่อนุมัติโครงการได้ โดยคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ (คกง.) ควรวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการทุจริตก่อนพิจารณาอนุมัติโครงการ

นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังเสนอแนะว่า ควรขยายระยะเวลาในการพิจารณาโครงการ เพื่อให้การดำเนินโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้เกิดความคุ้มค่าและสามารถแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างแท้จริง และควรกำหนดบทลงโทษ กรณีหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการกลั่นกรองและอนุมัติโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้จากคกง.แล้ว แต่ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงไปดำเนินโครงการอย่างอื่นโดยที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจาก คกง. ให้ถือว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ขณะเดียวกัน คกง. ควรกำหนดให้หน่วยงานของรัฐเสนอโครงการในรูปแบบไฟล์ Microsoft Excel และนำระบบการวิเคราะห์ข้อมูลมาประยุกต์ใช้เพื่อพิจารณากลั่นกรองโครงการ โดยควรมีคณะตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงของโครงการซึ่งเป็นผู้แทนจากภาคเอกชนร่วมด้วย และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ควรจัดทำเว็บไซต์เฉพาะ สำหรับการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหากมีการจัดซื้อจัดจ้าง ควรเปิดเผยวิธีการจัดซื้อจัดจ้างและรายชื่อบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับรัฐแบบ real-time online ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ป.ป.ช. ยังเสนอแนะว่า ควรแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้แทนจากภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักวิชาการที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ร่วมเป็น คกง. ด้วย เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจโครงการ

ป.ป.ช. ยังระบุด้วยว่า ควรกำหนดให้ทุกหน่วยงานที่ดำเนินโครงการตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ทุกโครงการควรมีการลงนามในข้อตกลงคุณธรรมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตหรือคณะอนุกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตกำหนด และในกรณีโครงการขนาดใหญ่ควรเข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ

  • พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรเปิดเผยรายชื่อบริษัทที่ได้รับการช่วยเหลือ โดยคำนึงถึงกฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการและอาจเปิดเผยผ่านช่องทางเว็บไซต์ของ ธปท. หรือเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด(มหาชน)
  • พระราชกำหนดให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ธปท. ควรกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณา โดยให้สถาบันการเงินประเมินแผนงานของผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ขอกู้เงิน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และ ธปท. ควรเปิดเผยรายชื่อผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับการช่วยเหลือทางการเงินบนเว็บไซต์ของ ธปท. แบบ real time และควรส่งรายชื่อให้บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ซึ่งในส่วนนี้ธปท.ได้ตอบความเห็นว่า ธปท.ได้เปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจบนเว็บไซต์ธปท.ให้ทันสมัยแบบ real time อยู่แล้ว โดยไม่ได้เปิดเผยรายชื่อผู้ประกอบการวิสาหกิจที่ได้รับความช่วยเหลือเพราะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล และเป็นความลับทางการค้าของสถาบันการเงิน

ขยายอายุการใช้งานแท็กซี่เป็น 12 ปี

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน (แท็กซี่) ปี 2560 โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเรื่องของอุปกรณ์ ระบบ หรือเทคโนโลยีติดตามรถที่สามารถนำมาใช้แทนเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ เช่นโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน และขยายอายุการใช้งานของรถแท็กซี่จาก 9 ปีเป็น 12 ปีนับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านบริการ และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่เจ้าของรถและผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19

“อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมมีข้อเสนอแนะถึงความกังวลต่อการปล่อย PM 2.5 จึงขอให้ประกาศใช้เพียง 3 ปี ก่อน”

ผ่านร่าง กม.ปฏิรูปตำรวจ – ชู “คดีบอส” เป็นกรณีศึกษา

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ ซึ่งเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 และมีประเด็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจและการพิจารณาบำเหน็จความชอบมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ในหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม

โดย มีการแก้ไขในประเด็นสำคัญ 3 ประการ คือ

  1. การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ มีการแบ่งสายงานเพื่อให้ข้าราชการตำรวจในแต่ละสายงานให้สามารถเจริญเติบโตตามสายงานด้วยความรู้ความชำนาญในสายงานของตนให้ชัดเจน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มสายงาน คือ กลุ่มสายงานบริหาร กลุ่มสายงานอำนวยการและสนับสนุน กลุ่มสายงานสอบสวน กลุ่มสายงานป้องกันและปราบปราม และกลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะ (ซึ่งเดิมไม่มีการกำหนด) ทั้งนี้ ให้กำหนดกระบวนการในการแต่งตั้งและการเลื่อนตำแหน่งให้ชัดเจน โดยคำนึงถึง “อาวุโส” ความรู้ความสามารถ และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจน เพื่อเป็นการลดการใช้ดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการแต่งตั้ง และการเลื่อนตำแหน่งของสายงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ (จากเดิมไม่มีการกำหนด)
  2. ปรับปรุงระบบคณะกรรมการ (คกก.) โดยยกเลิก คกก. นโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) โดยให้มีเพียง คกก. ข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ทำหน้าที่ทั้งในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารราชการตำรวจ และกำกับดูแล ตช. ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย ยุทธศาสตร์ชาติ มติ ครม. และระเบียบแบบแผน รวมทั้งกำหนดนโยบายและมาตรฐานการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจและจัดระบบราชการตำรวจ กำกับดูแลการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ตลอดจนกำกับดูแลการจัดสรรงบประมาณให้แก่ส่วนราชการในหน่วยปฏิบัติให้เพียงพอ

ให้มี คกก. พิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย อุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งการกำหนดระบบคุณธรรมเพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการ ตำรวจในการปลดเปลื้องทุกข์ของข้าราชการต้ารวจที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา ให้มี คกก. พิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เพื่อเป็นกลไกสำหรับประชาชน ในการร้องเรียนการปฏิบัติที่ไม่ชอบของข้าราชการตำรวจอันเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ ของประชาชน

  1. การเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน ปรับปรุงการจัดระเบียบราชการใน ตช. ใหม่ โดยแบ่งส่วนราชการออกเป็น ระดับกองบังคับการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรจังหวัด และสถานีตำรวจ (จากเดิม แบ่งเป็น สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการ) เพื่อเป็นหน่วยงานที่ให้บริการประชาชนและใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด จะช่วยให้การบริการ ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น กำหนดให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ โดยการให้เงินอุดหนุนแก่ สถานีตำรวจเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจนั้น ที่จะได้ร่วมกับท้องถิ่นในการจัดทำแผนหรือมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่น หรือชุมชน จัดตั้ง “กองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน การป้องกันและปราบปราม การกระทำความผิดทางอาญา” เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ ของข้าราชการตำรวจ

“นอกจากนี้ในอนาคตจะมีกรปฏิรูปการสอบสวนคดีอาญา ให้ประชาชนสามารถเข้าแจ้งความร้องทุกข์ได้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการเชื่อมโยงข้อมูลกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งการพิจารณาวาระนี้ใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง โดย พล.อ. ประยุทธ์ ระบุตอนหนึ่งว่า ดี จะทำให้ประชาชนยอมรับตำรวจมากยิ่งขึ้น และได้รับความไว้วางใจยิ่งขึ้น ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการอธิบายเรื่องดังกล่าว ยังให้นำคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส มาเป็นหลักในการพิจารณา ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย นอกจากนี้ นายวิษณุได้ระบุอีกว่า แม้ก่อนหน้านี้ ตช. จะทักท้วงและไม่เห็นด้วยในบางหลักการ แต่พอได้มีการพูดคุยและประชุมกันในหลายครั้งจนตกผลึกก็ยอมรับและเห็นด้วย”

จัดงบฯข้ามปี 1,479 ล้าน สร้างมอเตอร์เวย์ “บางใหญ่-กาญจนบุรี”

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. รับทราบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ช่วงกิโลเมตรที่4 ถึงกิโลเมตรที่ 9 หรือเป็นช่วงที่ 3 ระยะทาง 4.9 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้าง 1,479 ล้านบาท ระยะเวลา 930 วัน โดยก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559-2566

สำหรับการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรีช่วงที่ 3 นี้ ครม. เคยมีมติรับทราบไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 แต่กรมทางหลวงได้ยกเลิกการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเกิดความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) จึงต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ซึ่งกรมทางหลวงได้ดำเนินการประกวดราคาจ้างเหมาอีกครั้งด้วยวิธี e-bidding และอธิบดีกรมทางหลวงได้ให้ความเห็นชอบราคาจ้างเหมาเป็นเงิน 1,479.75 ล้านบาท และเสนอให้ ครม. รับทราบอีกครั้ง

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมยังได้รายงานด้วยว่า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีทีมีการยกเลิกการประกวดราคาดังกล่าว ซึ่งกระบวนการสอบสวนทางวินัยใช้ระยะเวลาค่อนข้างมาก จึงส่งผลให้การดำเนินการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ช่วงที่3 ต้องล่าช้าออกไปจากเดิมระยะเวลาโครงการช่วงปีงบประมาณ 2559-2565 ต้องขยายไปเป็นปีงบประมาณ 2559-2566 ซึ่งส่วนของการขยายเวลานี้ ครม. ได้อนุมัติให้ขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562

โยก “พิเชษฐ์” คุมกรมวิชาการเกษตร – ตั้ง “ณัฐพล” นั่งเลขาฯ สมช.

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง 8 ราย ดังนี้

    1. นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ พ้นจากเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นรองปลัดกระทรวง

    2. นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง

    3. นายประยูร อินสกุล พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการเป็นรองปลัดกระทรวง

    4. นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ พ้นจากตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน กรมชลประทาน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง

    5. นายพิศาล พงศาพิชณ์ พ้นจากตำแหน่งรองปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

    6. นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

    7. นายปราโมทย์ ยาใจ พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมหม่อนไหม

    8. นายฉันทานนท์ วรรณเขจร พ้นจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง นางสาวพรรณประภา ยงค์ตระกูล ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2563 เป็นต้นไป และเห็นชอบตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอแต่งตั้ง พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก สังกัด กองทัพบก กระทรวงกลาโหม ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 15 กันยายน 2563เพิ่มเติม