ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ปัดยื้อแก้ รธน. ย้ำไม่ก้าวล่วงรัฐสภา–มติ ครม.ปรับระเบียบรับ-จ่ายเงินหลวง หลัง KTB พ้น “รัฐวิสาหกิจ”

นายกฯ ปัดยื้อแก้ รธน. ย้ำไม่ก้าวล่วงรัฐสภา–มติ ครม.ปรับระเบียบรับ-จ่ายเงินหลวง หลัง KTB พ้น “รัฐวิสาหกิจ”

10 พฤศจิกายน 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯ ปัดยื้อเวลาแก้ รธน. ย้ำไม่ก้าวล่วงกระบวนการรัฐสภา ชี้เปิดสนามกอล์ฟกักตัวนักท่องเที่ยว วอนอย่ามองเอื้อการเมือง–มติ ครม. ปรับระเบียบรับ-จ่ายเงินหลวง หลังกรุงไทยพ้น “รัฐวิสาหกิจ” – ขยายระยะเวลาพักหนี้ช่วยชาวไร่อ้อยเพิ่ม 2 ปี

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

เชื่อมั่นไทยสำคัญในสายตาต่างชาติ – ชี้เวทีโลกไม่เคยปฏิเสธตน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 37 และการประชุมย่อยอื่นๆ โดยเฉพาะการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ว่า วันนี้เป็นการพูดคุยกันผ่าน video conference หลายอย่างกว่าจะตกลงกันได้ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร ตอนนี้เราเอาเข้า ครม. เพื่อให้ครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอนของกฎหมาย

“ในการประชุมครั้งนี้เราน่าจะคาดหวังว่าอาร์เซ็ปจะผ่านไปได้ เพราะเราได้เริ่มดำเนินการสมัยเราเป็นประธานมาก้าวหน้าไปจนมีความเห็นชอบในหลายประเด็นไปแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการประชุมในช่วงระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายนนี้คงจะเรียบร้อยในหลายๆด้านด้วยกัน ซึ่งมีทั้งการประชุมของอาเซียน การประชุมของอาเซียนกับคู่เจรจา การประชุมของอาเซียนกับทวิภาคีซึ่งเป็นประเทศหลักๆไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ออสเตรเลีย เป็นต้น ฉะนั้นก็เป็นการประชุมที่ยิ่งใหญ่พอสมควร”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลเราทั้งก่อนหน้าและรัฐบาลนี้ได้มีการหารือในการประชุมหลายการประชุมด้วยกัน ก่อนมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ตนก็ได้เข้าร่วมประชุมเอเปค และอีกหลายการประชุมไม่เคยถูกปฏิเสธแต่อย่างใด

“การประชุมหลายๆ อย่างผมก็ได้เข้าร่วม ซึ่งไม่มีใครไม่เชิญผม ไม่เชิญประเทศไทย เพราะประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีความสำคัญและมีศักยภาพในการที่จะพัฒนาร่วมกัน”

ชี้เปิดสนามกอล์ฟกักตัวนักท่องเที่ยว วอนอย่ามองเอื้อการเมือง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการเปิดสนามกอล์ฟเป็นสถานที่กักตัวทางเลือกของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีผลประโยชน์ซ้อนทับเนื่องจากมีสนามกอล์ฟบางแห่งเชื่อมโยงกับรัฐมนตรีและนักการเมืองของรัฐบาล ว่าเรื่องดังกล่าว ตนเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นสนามกอล์ฟไหนก็ตามเป็นเรื่องของผู้ที่จะมาเป็นผู้เลือกเอง ไม่ว่าจะไปยังจุดไหนรัฐบาลก็ต้องไปพิจารณาจุดนั้นว่ามีพื้นที่ที่จะรองรับการกักตัวหรือไม่

“ไม่ว่าเขา (นักท่องเที่ยว) จะไปที่ไหนเราก็ไปตรงนั้นที่เราพิจารณาร่วมกันแล้วเห็นว่ามีโรงแรมด้วยมีสนามกอล์ฟด้วย ซึ่งเขา (โรงแรม/สนามกอล์ฟ) ก็คงหามาตรการที่จะรองรับในเรื่องเหล่านี้ ถ้าไม่ทำอะไรเลยมันก็อยู่นิ่งๆเหมือนเดิมธุรกิจก็เสียไปทั้งหมด อย่าเพิ่งไปมองตรงนั้นเลยซึ่งอันนี้ต้องมีการเข้าพิจารณาใน ศบค.อีกครั้งหนึ่งซึ่งน่าสนใจเหมือนกันในเรื่องนี้”

ปัดยื้อเวลาแก้ รธน. ย้ำไม่ก้าวล่วงกระบวนการรัฐสภา

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกระแสวิพากษ์วิจารณณ์เรื่องยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่ไปก้าวล่วงในกระบวนการ ซึ่งเป็นเรื่องของดุลยพินิจของสมาชิกรัฐสภาทั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทุกคนมีความคิดเป็นปัจเจกบุคคลทุกคนมีความรู้มีประสบการณ์ก็เป็นเรื่องของวิธีการทางการเมืองก็เหมือนกัน ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเคารพในกระบวนการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายภาคหน้า

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามกรณี ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และส.ว. บางส่วนเข้าชื่อเตรียมเสนอญัตติให้รัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาตนได้อ่านญัตติแล้วพบว่า เรื่องนี้เป็นการยื่นต่อรัฐสภาเพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่การยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากรัฐสภาไม่เห็นชอบก็ไม่ต้องส่ง หากเห็นชอบก็ส่งตามข้อบังคับสภาฯ ข้อที่ 31 ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรตนไม่ทราบ

“เขาอ้างในญัตติว่า จะไม่ทำให้ล่าช้า เพราะทุกอย่างเดินคู่ขนานกันไป ซึ่งในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน จะต้องเริ่มต้นด้วยการโหวต หากโหวตรับหลักการไม่ว่าจะกี่ร่างก็ต้องแยกญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนรัฐสภาก็ตั้งกรรมาธิการดำเนินการในวาระ
2 วาระ 3 ต่อ และคงจะไปบรรจบเจอกันตรงไหนสักที่เพื่อไม่ให้เสียเวลา”

ต่อคำถามหากมีการโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินภายหลังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายจะเป็นอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า หากไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เดินต่อไปไม่ได้ แต่ก็ดีกว่าไม่มีใครทำอะไร แล้ววันหนึ่งมีอีกคนไปส่งอยู่ดี จะลำบากยิ่งกว่านี้

เมื่อถามว่า ทำให้สะเด็ดน้ำตั้งแต่ต้นดีกว่าใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เขาอ้างว่าอย่างนั้น และอ้างว่าก็ไม่ได้เป็นการเสียเวลา เพียงแต่แยกกันเดินคนละทางแต่ก็ไปบรรจบกันอยู่ดี ดังนั้น วิธีนี้ไม่เสียเวลา แต่ถ้าให้รัฐสภาหยุดพิจารณาแบบนั้นเสียเวลา แม้แต่วันเดียวกันเสียเวลา

“วันที่ 17-18 พฤศจิกายน ลงมติเลย พอรับหลักการวาระที่ 1 ก็ต้องตั้งกรรมาธิการอยู่ดี ใช้เวลานานเท่าไหร่หรือจะเป็นเดือน ระหว่างนั้นก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญไปพลาง ภายใน 1 เดือนศาลก็คงจะเสร็จ และถ้าศาลบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร ในชั้นกรรมาธิการก็เดินต่อไปได้เพื่อเข้าวาระ 3 แต่ถ้าศาลบอกว่ามีปัญหาก็จะได้หยุดตรงนั้นดีกว่าที่จะไปผ่านประชามติเสียเงิน 3,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการเสนอญัตติให้รัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ”

“วิษณุ” ชี้ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ประชามติ-ค้านในสภาได้

นายวิษณุ ตอบคำถามกรณีฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. (พ.ร.บ.ประชามติ) เพราะไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรณรงค์ โดยจะยื่นร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับฝ่ายค้านประกบ ว่า เขามีสิทธิ์ แต่ถ้าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเกี่ยวกับการเงิน จะต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับรอง เพราะตามรัฐธรรมนูญ ร่าง พ.ร.บ.อะไรที่ ส.ส.เสนอ หากเกี่ยวกับการเงินต้องให้นายกฯ รับรองเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ต้องใช้เงิน ซึ่งตนไม่รู้ว่าเกี่ยวหรือไม่ ส่วนเนื้อหาที่ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยนั้น ตนมองว่าไม่เป็นปัญหา เนื่องจากถ้าเข้าไปในสภาฯแล้ว ที่ประชุมสามารถแก้ไขได้ จะเสนอประกบก็ได้

ส่วนที่ฝ่ายค้านมองว่าร่างนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้น ตนไม่รู้ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ร่าง อีกทั้งถ้าไม่ชอบใจ สามารถแปรญัตติได้อยู่แล้ว แก้ไขได้ทุกมาตรา นอกจากนี้ การให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาในคราวเดียวถือเป็นการเร่งเวลาพิจารณา เพราะหากไม่ให้ ส.ว.มาพิจารณาพร้อมกันก็ต้องเข้าสภาผู้แทนราษฎรก่อน และค่อยส่งไปที่วุฒิสภา หากเขาแก้เพียงตัวเดียวก็ต้องเสนอกลับเข้ามาสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง รวมทั้งร่างกฎหมายใดที่เกี่ยวกับการปฏิรูปต้องเสนอสองสภา วิธีการนี้จึงเป็นการพิจารณาม้วนเดียวจบ และจะเร็วขึ้นประมาณ 3 เดือน

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านมองว่าเป็นการยืมมือ ส.ว.เพื่อทำให้กฎหมายตกไปตั้งแต่ต้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่จริง จะตกไม่ได้ ร่างกฎหมายใดที่เป็นของรัฐบาลหากตกไป รัฐบาลต้องลาออกหรือยุบสภาแม้รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนไว้ แต่เป็นประเพณีปฏิบัติ

เมื่อถามถึงแนวคิด พ.ร.ก.ประชามติ ตั้งคำถามพ่วงไปกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่มีการเสนอก่อนหน้านี้ ยังมีอยู่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เลิกพูดกันไปแล้ว เพราะคำถามต้องเกิดจากคณะกรรมการสมานฉันท์ เมื่อคณะกรรมการฯ ยังไม่เกิดก็เดินไปไม่ได้ และกรอบเวลาขณะนี้ดูแล้วก็ไม่ทันแล้ว

สั่ง ขส.ทบ.แจงปมทุจริตซื้อรถบัสปรับอากาศ 112 คัน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีผู้ร้องเรียนปัญหาการจัดซื้อรถบัสปรับอากาศ ของกรมการขนส่งทางบก (ขส.ทบ.) จำนวน 2 โครงการ รวม 112 คัน ที่มีความไม่โปร่งใสในหลายขั้นตอนว่า เรื่องนี้ก็เป็นการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ซึ่งเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย หากพบข้อสงสัยก็ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงในรายละเอียด ซึ่งตนได้สั่งการไปแล้ว

ติงม็อบทำร้ายต่างชาติ – ยันไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามเรื่องการชุมนุมที่ฝ่ายผู้สนับสนุน ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงประกาศว่าพร้อม “ชน” กับผู้ชุมนุมที่เห็นต่าง ในขณะที่แกนนำผู้ชุมนุมอีกฝ่ายออกมาโพสต์ในท่าทีที่อ่อนลงโดยระบุว่าเห็นด้วยกับทางออกสังคมด้วยการประนีประนอมว่า “การประกาศว่าพร้อมชนตนไม่รู้ว่า “ชน” คืออะไร แต่ถ้าชนแล้วหมายถึงการเผชิญหน้าและพร้อมกระทบกระทั่งกันผมก็คิดว่ามันไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาต่างคนต่างก็แสดงความคิดเห็นได้ในส่วนที่เป็นประโยชน์โดยไม่ไปละเมิดกฎหมายจะเห็นว่ารัฐบาลไม่เข้าข้างใครแม้ทำผิดกฎหมายรัฐบาลก็ยังต้องดูแลเพราะไม่ต้องการให้ผู้คนนั้นเกิดผลกระทบซึ่งกันและกันไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงขึ้น”

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดต้องมองในอีกแง่หนึ่งด้วย การที่ชาวต่างชาติถูกทำร้ายร่างกาย ตนเห็นว่าเป็นสิ่งไม่สมควร ถึงจะเป็นคนไทยด้วยกันก็ตาม พร้อมกันนี้ได้ขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วย ที่ปฏิบัติหน้าที่เหน็ดเหนื่อย และมีความเครียดเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดก็ทำเพื่อประชาชน หากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ก็มีความผิด

“ถึงจะกระทบกันด้วยวาจากันบ้างแต่ไม่ใช่การเข้าไปทำร้ายเขามันทำให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศไทยเราเคยพูดไปแล้วว่าความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างนั้นเป็นเรื่องปกติวิถีทางประชาธิปไตยต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ ไม่รู้สิเราต้องอยู่ตรงกลางกันให้ได้รัฐบาล ฝ่ายกฎหมาย เราก็พยายามอดทนอดกลั้นในหลายๆเรื่องมาแล้ว”

“ขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วยเขาก็เหนื่อยเขาก็เครียดเหมือนกันเขาอดกลั้นสักเท่าไร เขาทำเพื่อใครเขาทำเพื่อประชาชนส่วนใหญ่หรือเปล่า ขอให้ดูตรงนั้นด้วย ถ้าไม่ปฏิบัติก็เป็นความผิดเจ้าหน้าที่ที่ทำงานก็มีความผิดหลายอย่างก็อยู่ในกระบวนการของรัฐสภาหลายอย่างอยู่ในกระบวนการกลไกแก้ปัญหาถ้าทุกคนไม่รับอะไรกันเลยเราจะไปตรงไหนก็ไม่รู้”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนไม่สามารถห้ามการเสนอข่าวของสื่อได้อยู่แล้วแต่จะทำอย่างไรก็ตามไม่ให้สังคมวุ่นวายมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องของความรับผิดชอบของพวกท่าน ของตนด้วย ของคนไทยทั้งประเทศ ตนขอยืนยันว่าอย่าให้เกิดการกระทบกระทั่งกันโดยเด็ดขาดและพยายามอย่าฝ่าฝืนกฎหมายกันจนเกินเลยเลยเถิดไป

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. ถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” แด่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ด้วยน้อมสำนักถึงพระกรุณาธิคุณถึงศิลปะร่วมสมัย ประจักษ์ถึงพระปรีชาสามารถในการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยหลากหลายสาขา ทั้งงานทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดนตรี และงานออกแบบ โดยทรงใช้พระอัจฉริยะภาพในมิติศิลปะส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนำไปสมทบทุนมูลนิธิในพระราชดำริ เช่นมูลนิธิจุฬาภรณ์ มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ และมูลนิธิทิพย์พิมานเพื่อสัตว์ป่วยและสัตว์ไร้ที่พึ่งอุปถัมภ์

ทั้งนี้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงพระอนุญาตให้กระทรวงวัฒนธรรมทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” ซึ่งมีความหมายว่าทรงสร้างสรรค์งานศิลปะได้หลากหลายแขนง

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมเตรียมจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสที่ทรงพระราชทานพระอนุญาตให้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาหลังจากพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยจะจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ อาทิ การจัดพิมพ์หนังสือเฉลิมพระเกียรติฯ และการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ จังหวัดนครราชสีมา ในเดือนมิถุนายน 2564 ช่วงเดียวกับการจัดงานเทศกาลศิลปะนานาชาติ ครั้งที่ 2 Thailand Biennale, Korat 2021

ขยายระยะเวลาพักหนี้ช่วยชาวไร่อ้อยเพิ่ม 2 ปี

นายอนุชา กล่าวว่า ครม. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการขยายเวลาพักชำระหนี้เงินกู้โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปีพ.ศ. 2562 -2564 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบิรหารจัดการน้ำในไร่อ้อย ปรับพื้นที่จากเดิมที่มีกำหนดไม่เกิน 4 ปี เป็นชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี แต่ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2570 และเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรขยายชำระเงินเสร็จสิ้นไม่เกิน 8 ปี จากเดิมชำระคืนเสร็จิส้นไม่เกิน 6 ปี แต่ไม่เกินวันที่ 30 กันยายน 2572 รวมทั้งเห็นชอบการพักชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยสำหรับโครงการปีพ.ศ. 2559 – 2561 และโครงการปีพ.ศ.2562 – 2564 เป็นระยะเวลา 1 ปี

นายอนุชา กล่าวอีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานต่อ ครม. ว่าคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีมติเห็นชอบแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย อย่างไรก็ตามการพักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยสำหรับโครงการฯ ปี 59-61 มีงบประมาณที่ได้รับอนุมัติมีเพียงพอ แต่โครงการฯ ปี 62-64 จำเป็นต้องขอจัดสรรกรอบวงเงินเพิ่มเติมอีก 185.05 ล้านบาท

เคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้าย 2 ปี กองทุนฯ จ่ายชดเชย 2.2 หมื่นล้าน

นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลแทนการผลิตและจัดจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. สำหรับฤดูการผลิตปี 2560/2561 ในอัตรา 790.62 บาทต่อตันอ้อย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 338.84 บาทต่อตันอ้อย ส่วนฤดูการผลิต ปี 2561/2562 ในอัตราตันอ้อยละ 680.77 แลผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายเท่ากับ 291.76 บาทต่อตันอ้อย

นายอนุชา กล่าวว่า ทั้งสองฤดูการผลิต (60/61 และ 61/62) มีต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องจ่ายชดเชยให้กับโรงงานในฤดูการผลิต 60/61 จำนวน 19,730.74 ล้านบาท และฤดูกาลผลิตปี 61/62 จำนวน 3,068.47 ล้านบาท รวม 22,799.21 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รายได้จากโรงงานนำส่งเงินเข้ากองทุน ฯ รวม 2 ฤดูการผลิต อยู่ที่ 4,649.46 ล้านบาท

เห็นชอบมาตรการเร่งเบิกจ่ายงบฯปี 64

นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อเร่งรัดสนับสนุนให้มีเม็ดเงินจากระบบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมาตรการการคลังด้านการใช้จ่ายภาครัฐ ดังนี้

  • การกำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยให้หน่วยรับงบประมาณเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน กำหนดให้มีเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณเป็นรายไตรมาส แบ่งเป็นรายไตรมาส ได้แก่
    • ไตรมาสที่ 1 ภาพรวม ร้อยละ 32 ของงบประมาณรายจ่าย
    • ไตรมาสที่ 2 ภาพรวม ร้อยละ 54 ของงบประมาณรายจ่าย
    • ไตรมาสที่ 3 ภาพรวม ร้อยละ 77 ของงบประมาณรายจ่าย
    • ไตรมาสที่ 4 ภาพรวม ร้อยละ 100 ของงบประมาณรายจ่าย
  • การเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านฝึกอบรม ประชุม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (Front Load) กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2563 ให้เร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม ประชุม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2564 ให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของวงเงินประมาณที่ได้รับจัดสรร โดยสนับสนุนโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กในเมืองท่องเที่ยวภายในประเทศโดยเฉพาะเมืองรองเป็นลำดับแรก

ทั้งนี้ ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ ติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ เช่น โครงการใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นต้น

ปรับระเบียบรับ-จ่ายเงินหลวง หลังกรุงไทยพ้น “รัฐวิสาหกิจ”

นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่าง ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. ….โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้หน่วยงานผู้เบิกเปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ หรือธนาคารที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง สำหรับเงินงบประมาณหนึ่งบัญชีและเงินนอกงบประมาณหนึ่งบัญชี

กระทรวงการคลังจึงได้เสนอปรับปรุงระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 ซึ่งจะทำให้ธนาคารกรุงไทยฯ ยังสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและผลักดันโครงการสำคัญของภาครัฐและให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้เบิกจ่ายต่อไปได้

ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐยังคงมีบัญชีเงินฝากอยู่กับธนาคารกรุงไทยฯ ต่อไปได้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 เนื่องจากธนาคารกรุงไทยยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ผ่านการถือหุ้นของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (ร้อยละ 55.07)

ผ่านร่างกฎกระทรวง ฯต่ออายุแท็กซี่เป็น 12 ปี

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพขับรถรับจ้างในระบบประมาณ 8 หมื่นคนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยผู้ประกอบการกว่า 7 หมื่นคนอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

สาระสำคัญคือให้ ‘ขยายอายุ’ การใช้งานของรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนจาก 9 ปี เป็น 12 ปี ซึ่งรถรับจ้างที่มีอายุมากกว่า 9 ปี จะต้องเข้ารับการตรวจสภาพปีละ 4 ครั้ง เพื่อป้องกันและแก้ปัญหามลพิษจากรถรับจ้าง

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวอีกว่าในลำดับต่อไปจะให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับแก้ไขร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป็นไปตามมติ ครม.

ขยายเวลาแรงงาน “กัมพูชา-ลาว-เมียนมา” อยู่ไทยต่ออีก 2 ปี

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบแนวทางการดำเนินการเพื่อให้คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงาน (Agreement) ที่วาระการจ้างงานครบ 4 ปี อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ต่อไป ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ปัจจุบันแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) มีประมาณ 1.3 แสนคน โดยปัญหาที่พบคือแรงงาน 3 สัญชาติบางส่วนเดินทางกลับประเทศแล้วไม่สามารถเดินทางกลับเข้าไทยได้

ดังนั้น MOU จึงอนุญาตให้แรงงาน 3 สัญชาติที่มีวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงานได้อีกไม่เกิน 2 ปี ซึ่งเป็นการอยู่เพื่อทำงานต่อได้ไม่เกิน 1 ปี และหากประสงค์อยู่ต่อให้ขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรได้อีกไม่เกิน 1 ปี โดยจะได้รับการยกเว้นเปรียบเทียบปรับการอยู่ในราชอาณาจักรเกินกำหนดแก่คนต่างด้าวที่ระยะเวลาการอนุญาตสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 1–30 พฤศจิกายน 2563

ทั้งนี้ แรงงานต้างด้าวจะต้องทำตามระเบียบดังนี้ 1) ตรวจสุขภาพ เพื่อนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นขอใบอนุญาตฯ 2) ยื่นขออนุญาตทำงานต่อนายทะเบียน 3) ขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ค่าธรรมเนียมคำขอ จำนวน 1,900 บาท และ 4) จัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

เห็นชอบลงนามเอกสารการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบเอกสารที่จะมีการลงนามหรือรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 ประชุมระหว่างวันที่ 12- 15 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ โดยเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมครั้งนี้ครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น

  1. การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025
  2. การวางแนวทางการฟื้นตัวและสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาวให้แก่อาเซียนหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  3. การเสริมสร้างขีดความสามารถและความยืดหยุ่นของระบบสาธารณสุข การศึกษา และ SMEs
  4. การอำนวยความสะดวกการเดินทางด้านธุรกิจที่จำเป็นในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสาธารณสุข
  5. การส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำสหรัฐฯ ในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ เป็นต้น
  6. การรับรองโคลอมเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าร่วมเป็นอัครภาคีอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวอีกว่ายังมีการประชุมคู่ขนานกับการประชุมอาเซียนครั้งที่ 37 คือการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุมน้ำโขง-เกาหลี ครั้งที่ 2 และการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563

สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วม “การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุมน้ำโขง-เกาหลี ครั้งที่ 2” อยู่ภายใต้ 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาชน ความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ รวมถึงองค์ความรู้เช่น วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพย์มนุษย์ การเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิสก์และอาชีวศึกษาข้อมูลเทคโนโลยี และความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

ส่วนถ้อยแถลง “การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12” มีสาระสำคัญคือ ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 เช่น การสนับสนุนเงินจำนวน 1 พันล้านเยนของญี่ปุ่น สำหรับโครงการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ในระดับฐานรากในปี ค.ศ.2020 และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เช่น การเร่งรัดเพื่อบรรลุแผนแม่บท ACMECS (ค.ศ.2019-2030)

นอกจากนี้ ยังมีการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 31 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ผ่านการประชุมทางไกล โดยประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ และจะมีการรับรองร่างเอกสาร รวม 3 ฉบับ ได้แก่

  1. ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 31 เป็นการสรุปความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรฐกิจภายหลังโควิด-19 เช่น ส่งเสริมการค้าและการลงทุนเสรีเปิดกว้าง รักษาการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จำเป็น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
  2. ร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 (ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ ค.ศ.2020) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งมีสมาชิก 21 ประเทศ เพื่อรับมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 เช่น การบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 การกำหนดกรอบดำเนินงานตามปฏิญญาผู้นำว่าด้วยวิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี ค.ศ.2020 การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจผ่านเสรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี
  3. ร่างปฏิญญาผู้นำว่าด้วยวิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี ค.ศ.2020 เป็นเอกสารกำหนดวิสัยทัศน์และกรอบการดำเนินงานใน 20 ปีข้างหน้า มุ่งเน้นประเด็นการค้าและการลงทุนเสรีและนวัตกรรมและกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวอีกว่า ประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันให้มีการบรรจุอยู่ในร่างปฏิญญาฯ คือการส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSME) และแนวทางการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ

“ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ มีบทบาทที่โดดเด่น และในทุกๆ วาระที่มีการประชุมระดับภูมิภาคหรือระหว่างประเทศภาคี ประเทศไทยก็จะมีข้อเสนอที่ได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกในทุกๆ ครั้ง” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

โพลสำนักสถิติฯ ชี้ปชช.พอใจ “บัตรคนจน” มากที่สุด

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาลในปี 2563 ครบ 1 ปี โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศจำนวน 6,970 คน ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคมที่ผ่านมา

จากผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 78.6 ติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล แหล่งที่ติดตามมากที่สุดคือจากโทรทัศน์ร้อยละ 93.7 รองลงมาคือ อินเทอร์เน็ต เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ร้อยละ 50.1 ซึ่งประชาชนมีความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาลอยู่ในระดับมาก-มากที่สุดร้อยละ 33.4 ในระดับปานกลางร้อยละ 48

โดยนโยบายที่ประชาชนพึงพอใจมาก-มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การแก้ไขปัญหาโควิด-19 โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน วิกฤตมีสิทธิ์ทุกที่ (UCEP) และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

นางสาวไตรศุลี กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่ประชาชนมองว่าเป็นความเดือดร้อนในชุมชนและหมู่บ้านได้แก่ คนในชุมชนว่างงานหรือไม่มีอาชีพที่มั่นคงร้อยละ 29.9 สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 18.7 สินค้าเกษตรราคาตกต่ำร้อยละ18 ภัยธรรมชาติร้อยละ 16.7 และปัญหายาเสพติดร้อยละ 7.3 ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเรียงลำดับดังนี้ ปัญหาการว่างงานร้อยละ 41.2 ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพงร้อยละ 20.4 ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำร้อยละ 19.1 จัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรร้อยละ 11.5 และจัดสวัสดิการของรัฐให้เพียงพอและครอบคลุมทุกพื้นที่ร้อยละ 8.5

“ในด้านความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศในระดับมาก-มากที่สุดร้อยละ 29.8 เชื่อมั่นปานกลางร้อยละ 48.7 และเชื่อมั่นน้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 18.4 ไม่เชื่อมั่นเลยร้อยละ 3.1 อย่างไรก็ตามสำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้คือ ควรให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนตกงานหรือว่างงาน เช่น การจ้างงานชั่วคราว การหาตลาดรองรับสินค้าของชุมชน การจัดอบรมวิชาชีพ และควรให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านค่าครองชีพ เช่นการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และการลดค่าสาธารณูปโภค รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในการประกอบอาชีพ เช่น แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การหาตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ การพยุงราคาสินค้าเกษตร และการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรสมัยใหม่”

สำนักงานสถิติฯแนะเร่งบูรณาการฐานข้อมูลรัฐ ช่วยลูกจ้าง-อาชีพอิสระ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. รับทราบ ผลการสำรวจสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (โควิดฯ) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 46,600 คน ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 17 มิถุนายน-7 กรกฎาคม 2563 พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจในชีวิตระดับมาก-มากที่สุดร้อยละ 72.5 พึงพอใจปานกลางร้อยละ 25.3 พึงพอใจน้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 2.1 และไม่พึงพอใจเลยร้อยละ 0.1 โดยประชาชนพอใจในด้านชีวิตครอบครัวมากที่สุด 7.5734 คะแนน และให้คะแนนความพึงพอใจในด้านการเงินน้อยที่สุด 6.3892 คะแนน มีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 7.1786 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

สำหรับความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ พบว่า ประชาชนมีความวิตกกังวลอยู่ในระดับมาก-มากที่สุดร้อยละ 53 มีความวิตกกังวลปานกลางร้อยละ 32.4 มีความกังวลน้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 12 และไม่มีความวิตกกังวลเลยร้อยละ 2.6 โดยประชาชนในชายแดนภาคใต้มีความกังวลอยู่ในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆคิดเป็นร้อยละ 69.6

ส่วนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบว่าประชาชนร้อยละ 90 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต สูญเสียรายได้และโอกาสในการประกอบอาชีพ รวมไปถึงผลกระทบต่อจิตใจและอารมณ์ ประชาชนร้อยละ 46.3 มีรายได้ของครัวเรือนลดลง และร้อยละ 44.1 มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19นั้น ประชาชนมีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดร้อยละ 71.7 เชื่อมั่นปานกลางร้อยละ 24.5 เชื่อมั่นน้อย-น้อยที่สุดร้อยละ 3.5 และไม่เชื่อมั่นเลยร้อยละ 0.3 มีคะแนนความเชื่อมั่นเฉลี่ย 7.1621 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

“สำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนไม่ให้ตื่นตระหนก และสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาด และควรมีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดฯ อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะไม่รุนแรง เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดและป้องกันการกลับมาระบาดซ้ำ และควรมีการบูรณาการฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว และผู้ประกอบอาชีพอิสระได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดวิกฤตการณ์”

รายงานผล “ชิมช้อปใช้” ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 0.1-0.3%

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. รับทราบสรุปผลการดำเนินงานมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้ โดยสรุปในภาพรวมของการดำเนินงาน มาตรการชิมช้อปใช้ ได้ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีการกระจายตัวของการใช้จ่ายครอบคลุมทั่วประเทศ และลงไปถึงร้านค้ารายย่อย รวมทั้งได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนให้มีความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การผลักดันให้ประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด และการสร้างฐานช้อมูลขนาดใหญ่เพื่อใช้ในการวิเคราะห์เชิงลึกต่อไป

สำหรับผลการดำเนินมาตรการในช่วงระหว่างวันที่ 27 กันยายน 2562-31มกราคม 2563 มีผู้ได้รับสิทธิ์จำนวน 14,354,159 คน มีผู้ใช้สิทธิ์จำนวน 11,802,073 คน มีร้านค้าที่มีผู้ไปใช้สิทธิ์จำนวน 103,053 ร้าน มียอดการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) รวม 28,819 ล้านบาท แยกเป็น ช่องที่ 1จำนวน 11,671 ล้านบาท และช่องที่ 2 จำนวน 17,148 ล้านบาท กระทรวงการคลังจ่ายเงินชดเชยรวม 12,930 ล้านบาท

ส่วนผลประเมินความคุ้มค่าและความพึงพอใจพบว่า ยอดการใช้จ่ายของร้าน ชิม ช้อป ใช้ รวมกันมีมูลค่ามากกว่าร้านค้าทั่วไป 7.8 เท่า และการใช้จ่ายส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับร้านโอทอป และ ร้านธงฟ้าประชารัฐ แสดงให้เห็นว่าร้านค้ารายย่อยได้รับรายได้จากมาตรการมากกว่าร้านค้ารายใหญ่ และมาตรการนี้ยังมีผลบวกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 0.1-0.3 ขณะที่ความพึงพอใจของประชาชนนั้น จากการสำรวจพบว่า มีความพึงพอใจต่อเงินสนับสนุน 1,000 บาท ร้อยละ 74.6 พึงพอใจต่อความปลอดภัยในการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง ร้อยละ 74.2 และมีความพึงพอใจต่อความสะดวกในการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ร้อยละ 73.9

เว้นค่าทางด่วน 18-23 พ.ย. และ 9–14 ธ.ค.นี้

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร–บ้านฉาง ตอนกรุงเทพมหานคร–เมืองพัทยา รวมทางแยกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (บางวัว) ทางแยกเข้าชลบุรี ทางแยกเข้าท่าเรือแหลมฉบังและทางแยกเข้าพัทยา และเห็นชอบยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางพิเศษ 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนพระประแดง–บางแค ช่วงพระประแดง–ต่างระดับบางขุนเทียน และตอนบางปะอิน–บางพลี ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษ

ทั้งนี้ ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 และตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันที่ 14 ธันวาคม 2563

ตั้ง “ธนพร ศรีวิราช-จุ๊บจิ๊บ” เป็น ขรก.การเมือง

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหลายตำแหน่งที่น่าสนใจดังนี้

  • ครม. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง นางสาวธนพร ศรีวิราช เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป
  • ครม. เห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายเชวง ไทยยิ่ง เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล แทน นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
  • ครม. มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
    1. นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมชลประทาน
    2. นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมการข้าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563เพิ่มเติม