ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. เห็นชอบมาตรการดึง SMEs เข้าระบบ คาดได้ภาษีเพิ่ม 5 พันล้าน – “ประยุทธ์” เผยภัยแล้งดีขึ้น มีน้ำใช้ถึงฤดูฝน 2559

ครม. เห็นชอบมาตรการดึง SMEs เข้าระบบ คาดได้ภาษีเพิ่ม 5 พันล้าน – “ประยุทธ์” เผยภัยแล้งดีขึ้น มีน้ำใช้ถึงฤดูฝน 2559

30 ธันวาคม 2015


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งสุดท้ายประจำปี 2558 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

นายกฯ เผยเตรียมแผนรองรับกรณี รธน. ไม่ผ่านประชามติไว้แล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เหตุที่การประชุมวันนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะตนได้ถ่ายทอดนโยบายกับสิ่งที่ต้องการจะทำในปี 2559-2560 เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลชุดต่อไป หากจะมีการเลือกตั้งในปี 2560 ตามโรดแมป โดยกำหนดกิจกรรมที่จะต้องทำในการปฏิรูปประเทศตามข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แต่จะเลือกมาเฉพาะบางข้อเสนอ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ สำหรับนโยบายที่ตนสั่งการไว้กับ ครม. มีทั้งด้านการศึกษา พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคง กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ

ในการประชุมยังมีการทบทวนถึงความคืบหน้าในการพิจารณากฎหมายสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ที่ไม่ว่าจะผ่านการทำประชามติหรือไม่ ตนก็มีแนวทางในการแก้ปัญหาอยู่แล้ว แต่จะแก้ปัญหาอย่างไรเป็นเรื่องของตน แต่อย่ามาเรียกร้องให้ตนรับผิดชอบ เพราะสิ่งที่ตนรับผิดชอบคือการบริหารราชการแผ่นดิน

เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติยังจะมีเลือกตั้งในปี 2560 อยู่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ทำไมถึงได้ใจร้อนนัก หากถามตอนนี้ ก็ตีกันตอนนี้ เอาไว้ถึงเวลาเดี๋ยวก็รู้เอง ทุกอย่างอยู่ในหัวหมดแล้ว”

ยันพม่าไม่กดดันคดีเกาะเต่า – บัตรทองดีอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้ดีขึ้น

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวต่างชาติบนเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ของศาลจังหวัดเกาะสมุย ​ที่ให้ประหารชีวิตจำเลยชาวพม่าทั้ง 2 คนว่า จุดยืนของรัฐบาลคือ ทุกคดีต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อย่าทำให้เกิดผลกระทบ ทางรัฐบาลพม่าก็ไม่ได้จี้อะไรเพียงแต่ขอให้ช่วยดูแลเท่านั้น อย่าทำให้เกิดการปลุกระดมจนคนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน นอกจากนี้ แม้ศาลจะเคยตัดสินให้ประหารชีวิต แต่ถามว่าที่ผ่านมาเคยมีการประหารชีวิตจริงหรือไม่ เพราะที่สุดศาลก็ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต และมักมีการลดโทษในโอกาสสำคัญ จนที่สุดจำคุกอยู่ไม่กี่ปีก็ได้ออกมาแล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงแนวคิดในการปรับปรุงระบบสาธารณสุขของไทย โดยเฉพาะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ว่า ระบบสาธารณสุขปัจจุบันใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เป็นภาระที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ตนไม่ได้บอกว่าระบบนี้จะไม่ดี ดีอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ดีขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ยังต้องนำงบประมาณไปใช้ในการดูแลผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

ไม่ปรับ ครม. หลังกลาโหมเปิดผลสอบ “ราชภักดิ์” – ยังไม่ได้ชื่อ ขรก. เอี่ยวทุจริตลอตใหม่

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการตรวจสอบการทุจริตในโครงการต่างๆ ว่า การตรวจสอบข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำแตกต่างกัน ในส่วนของข้าราชการประจำ ต้องมีการตรวจสอบภายในก่อน ถึงจะให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาตรวจสอบได้ หากโครงการใดที่ ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ สตง. ทักท้วงแล้วว่าอาจมีการทุจริต ก็ต้องหยุดแล้วแก้ไข แต่ถ้าทักท้วงแล้วยังดำเนินการต่อ ก็อาจจะถูกเล่นงาน

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 สั่งพักงานข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตลอตใหม่อีกกว่า 50 คน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายชื่อ อยู่ระหว่างส่งกลับไปให้แต่ละกระทรวงคัดกรองและตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งก่อน อันไหนที่แต่ละกระทรวงลงโทษได้เองก็ดำเนินการได้เลย เช่น ปรับย้าย ปลดออก ไล่ออก ฯลฯ ถ้ายังไม่พอก็อาจจะส่งให้ ป.ป.ช. ป.ป.ท. หรือ สตง. ดำเนินการต่อได้อีก

เมื่อถามว่า โครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่จะมีการแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 นี้ จะนำไปสู่การปรับ ครม. ช่วงหลังเทศกาลปีใหม่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “ปีใหม่ก็ให้เวลาพักผ่อน ยังไม่ปรับ ผมยังไม่ได้บอกเลยว่าจะปรับ ส่วนผลสอบ ถ้าไม่จบแค่นั้น ก็ไป ป.ป.ช. หรือ สตง.”

สถานการณ์ภัยแล้งดีขึ้น มีน้ำใช้อย่างน้อยถึงเดือน ก.ค. 2559

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงมาตรการเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559 ว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลมาให้ดู พบว่ายังมีปริมาณน้ำบริหารจัดการได้อย่างน้อยจนถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ทั้งสำหรับการอุปโภคบริโภค ผลักดันน้ำเค็ม และการเกษตร แต่ถ้าใช้น้ำกับอะไรมากเกินไปก็จะทำให้เกิดปัญหาในภาพรวม แต่คงจะไปห้ามเกษตรกรทำนาไม่ได้ ทำได้เพียงขอความร่วมมือ ซึ่งตนก็ให้แนวใหม่โดยการนำตัวแทนเกษตรกรไปดูพื้นที่ต้นน้ำว่ามีปริมาณน้ำมากน้อยแค่ไหน หลายคนที่ได้ดูก็เข้าใจและจะไปช่วยกันหาทางว่าจะประหยัดน้ำได้อย่างไร ใช้น้ำอย่างมีวินัยได้อย่างไร

“ปริมาณน้ำของไทยยังพอมี เรื่องสำคัญคือวินัยในการใช้น้ำ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่า จะมีมาตรการประหยัดน้ำอะไรออกมาหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า จะไปมีมาตรการอะไร ปิดก๊อกน้ำ อย่าทำให้รั่วซึม ใช้น้ำอย่างประหยัด เข้าห้องน้ำอย่าเพิ่งกดชักโครก วันหนึ่งกดทีเดียว ถามว่าได้ไหม ไม่ได้หรอก ทุกคนต้องนึกอยู่เสมอว่าจะประหยัดน้ำอย่างไร ไม่ว่าจะทำอะไรให้นึกถึงเกษตรกรที่จะนำน้ำไปปลูกข้าว ทุกคนต้องมีส่วนร่วมและคิดไปถึงต้นทาง นอกจากนี้ ยังต้องหาวิธีที่ทำให้ปริมาณน้ำที่มีสามารถไปถึงคนที่ต้องการใช้น้ำได้ โดยการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะใช้งบประจำเป็นหลัก ส่วนเงินกู้จะใช้ต่อเมื่อจำเป็นเท่านั้น

“ส่วนการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกพืช อาจใช้วิธีส่งเสริมคนที่ปลูกพืชใช้น้ำน้อยอยู่แล้ว เพื่อให้เป็นตัวอย่างสำคัญคนในหมู่บ้าน ให้มีทางเลือกหลายๆ อย่างที่ทำให้มีรายได้สูงขึ้น เพราะถ้าเขาไม่เห็นด้วยตา พูดให้ตายเขาก็ไม่ทำ เพราะเขาทำนามาตั้งแต่ปู่ยาตายาย และเป็นอาชีพที่เขาภูมิใจ ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ จะให้ไปเปลี่ยนเขาเร็วๆ ก็คงยาก เขารู้แหละว่าต้องเปลี่ยน แต่ต้องเปลี่ยนด้วยการเรียนรู้ ต้องมีเวลาเปลี่ยนผ่าน” นายกฯ กล่าว

มาตรการดึง SMEs เข้าระบบ – คาดได้ภาษีเพิ่ม 5 พันล้าน

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นๆ ที่สำคัญ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมกันแถลงถึงมาตรการปฏิรูปภาษี ในโครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ระบบภาษี โดยจะมีการออกกฎหมายมารองรับ

นายวิษณุกล่าวว่า เคยมีการหารือใน ครม. หลายครั้งว่าจะทำอย่างไรให้นิติบุคคลที่เป็น SMEs อาทิ ห้างหุ้นส่วน ฯลฯ เข้ามาอยู่ในระบบภาษีได้ทั้งหมด เพื่อให้มีการจัดทำบัญชีอย่างถูกต้อง ที่ประชุมวันนี้จึงมีมติเห็นชอบในหลักการที่จะออกกฎหมายมารองรับการดึง SMEs เข้าสู่ระบบภาษี ซึ่งถือเป็นการปฏิรูประบบภาษีครั้งใหญ่ โดยในอนาคตจะยึดถือบัญชีที่ SMEs ยื่นกับกรมสรรพากรเป็นเอกสารประกอบในการขออนุมัติสินเชื่อและขอลดหย่อนภาษี อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการนิรโทษกรรทางภาษีให้กับ SMEs

ด้านนายอภิศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา SMEs ลงบัญชีไม่ถูกต้องเป็นจำนวนมาก หากการปฏิรูปภาษีครั้งนี้สำเร็จ จะช่วยจัดเก็บภาษีจาก SMEs เข้าสู่ระบบได้เพิ่มเติมอีกกว่า 5,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มดำเนินการหลังจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องออกมาบังคับใช้ โดยจะให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ทั้งนี้ SMEs ที่จะเข้าสู่ระบบได้จะต้องมีรายได้ต่ำกว่า 500 ล้านบาท/ปี โดยจะต้องลงทะเบียนกับกรมสรรพากร ซึ่งเป็นไปตามหลักสมัครใจ

“SMEs ที่เข้าระบบจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือ โดย SMEs ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท/ปี จะได้รับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยปีแรกไม่ต้องเสียภาษี และปีที่ 2 เสียภาษีเพียง 10%”

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า การดึง SMEs เข้าสู่ระบบภาษีที่ผ่านมามีปัญหาใหญ่ๆ อยู่ 2 ประการ 1. ฝ่าย SMEs กังวลว่าเมื่อเข้าสู่ระบบจะต้องเสียภาษีย้อนหลัง และ 2. ฝ่าย SMEs กลัวจะเสียเปรียบคู่แข่งทางธุรกิจที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบ

ต้องขอชี้แจงว่า ร่างกฎหมายที่กำลังจะออกจะกำหนดข้อยกเว้นว่า จะไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังกับ SMEs บนเงื่อนไขว่าต้องไม่มีการหลบเลี่ยงภาษีในอนาคต หากพบว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น ข้อยกเว้นดังกล่าวก็จะหมดไป นอกจากนี้ ยังจะมีการกำหนดว่าในปี 2562 ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายจะต้องใช้บัญชีที่ SMEs ยื่นต่อกรมสรรพากรเป็นเอกสารประกอบในการขออนุมัติสินเชื่อ ดังนั้น SMEs ทั้งหลายจึงควรเข้าสู่ระบบภาษี เพราะกรมสรรพการได้จัดเตรียมโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปรวมถึงคอยหาผู้สอนการทำบัญชีไว้คอยอำนวยความสะดวกให้กับ SMEs แล้ว

“เชื่อว่ามาตรการดึง SMEs เข้าสู่ระบบภาษี กับมาตรการ e-payment ซึ่ง ครม. อนุมัติไปเมื่อสัปดาห์ก่อน น่าจะช่วยแก้ปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษี และทำให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ตลาดเกิดการแข่งขันมากขึ้น และยังช่วยให้ฐานภาษีของประเทศเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราภาษี”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังกล่าวว่า วันเดียวกัน ที่ประชุมเห็นชอบเป้าหมายนโยบายการเงินประจำปี 2559 โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ 2.5±1.5%

อนุมัติงบ 215 ล้าน ซื้อเรือไปทำปะการัง แก้ปัญหา IUU

ด้าน พล.ต.ต. ไกรบุญ ทรวดทรง เลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. คณะที่ 1 กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ใน 2 ประเด็น

  1. อนุมัติงบ 215 ล้านบาท สำหรับการนำเรือประมงบางส่วนออกจากระบบ เนื่องจากขณะนี้มีจำนวนเรือเกินศักยภาพการผลิตของทรัพยากรทางทะเล โดยจะซื้อเรือมาจัดทำเป็นปะการังเทียม สำหรับเรือที่มีใบอนุญาตจากกรมประมงถูกต้องและมีอาชญาบัตรสำหรับทำประมง จะจัดซื้อในอัตรา 50% ของราคากลาง ส่วนเรือนที่ไม่มีอาชญาบัตรรวมถึงใบอนุญาตจะจัดซื้อในอัตรา 25% ของราคากลาง
  2. เปลี่ยนวิธีตรวจสอบข้อมูลการทำประมงเพื่อขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสิน (1) ผู้ที่ต้องการกู้เงินไปปรับขนาดเรือให้ใหญ่ขึ้นหรือให้เหมาะสมกับเครื่องมือทำประมง จะให้กรมเจ้าท่าจังหวัดมาเป็นผู้รับรองราคาและค่าใช้จ่าย ส่วน (2) ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องมือทำประมง ให้กรมประมงหรือประมงจังหวัดมาเป็นผู้รับรอง จากเดิมที่ต้องให้สมาคมประมงแห่งประเทศไทยรับรองเท่านั้น ซึ่งมีชาวประมงจำนวนไม่น้อยไม่ได้อยู่ในสมาคมประมงฯ ทำให้มีผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ทั่วถึง

พล.ต.ต. ไกรบุญ ยังกล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าในการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวประมง ซึ่ง ครม. เคยมีมติอนุมัติงบไปกว่า 200 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้มารับเงินแล้ว 1 พันราย จากทั้งหมด 4 พันราย โดยมีผู้ที่เอกสารไม่ครบและขออุทธรณ์ 1.8 พันราย และล่าสุด ศูนย์แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ยังได้อนุมัติเพิ่มเติมอีกกว่า 900 ราย โดยผู้ที่มีรายชื่อสามารถยื่นขอรับเงินช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ port-in port-out ของแต่ละจังหวัด

มีน้ำในระบบ 2.1 หมื่นล้าน ลบ.ม. พอใช้ถึงฤดูฝนปีหน้า

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ กรมชลประทาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้รายงานถึงสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2559 รวมถึงปริมาณน้ำที่มีอยู่ของไทย โดยพบว่าปริมาณน้ำของไทยในภาพรวม ทั้งที่อยู่ในเขื่อน อ่างเก็บน้ำ น้ำใต้ดิน ฯลฯ มีอยู่ราว 2.1 หมื่นล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณการใช้น้ำทั้งประเทศจนถึงเดือน ส.ค. 2559 จะอยู่ที่ราว 1.8-1.9 หมื่นล้าน ลบ.ม. ถือว่ามีน้ำพอใช้จนถึงฤดูฝนของปี 2559 อย่างไรก็ตาม ยังต้องระมัดระวังการใช้น้ำในภาคการเกษตรเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะแม้การทำนาปรังจะลดลงเหลือ 1.5 ล้านไร่ แต่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการไว้ ทั้งนี้ นอกจากรัฐบาลจะเดินหน้าชี้แจงกับเกษตรกรต่อไปว่า ยิ่งทำนามา ราคาข้าวยิ่งลดลง และจะมีการเชิญตัวแทนเกษตรกรมาดูพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อให้เห็นว่ามีปริมาณน้ำเหลือมากน้อยขนาดไหน จะได้กลับไปทำความเข้าใจในหมู่เกษตรกรด้วยกัน

“เมื่อดูปริมาณน้ำที่มีอยู่ รัฐบาลก็สบายใจขึ้นนิดหนึ่ง เพราะแน่ใจว่าจะมีน้ำใช้พอจนถึงฤดูฝนปีหน้า” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

สั่งหน่วยงานมั่นคงช่วยดูความปลอดภัย ปชช. ช่วงปีใหม่

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านความมั่นคงทำงานอย่างเต็มที่ สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้บรรยากาศการท่องเที่ยวเป็นไปด้วยดี สำหรับการรักษาความปลอดภัย พล.อ. ประยุทธ์ มองว่า อุบัติเหตุหลายๆ ครั้งในช่วงที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการรถยนต์โดยสารของเอกชน ซึ่งนอกจากมาตรการที่ใช้อยู่เดิม เช่น การตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถ ยังสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องไปดูว่าจะใช้มาตรการอื่นๆ เข้ามาเสริม เช่น พักการใช้ใบอนุญาตของผู้ประกอบการนั้นๆ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้หรือไม่ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความมั่นใจในการเดินทางต่อไป

ขยายเวลากองทุนหมู่บ้านฯ – เพิ่มเงินชดเชยดอกเบี้ยดึงข้าวออกจากตลาด

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอกู้เงินสำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มีวงเงินทั้งสิ้น 60,000 ล้านบาท ที่เดิมกำหนดไว้ว่าให้ยื่นคำขอไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ไปเป็นวันที่ 31 มีนาคม 2558 เนื่องจากขณะนี้มีกองทุนหมู่บ้านฯ เกรด C และ D ที่พัฒนาจนได้รับการจัดอันดับเป็นเกรด A และ B ซึ่งอยู่ในข่ายที่จะสามารถยื่นคำร้องขอกู้เงินได้ จึงมีการขยายระยะเวลาในการยื่นคำขอไปอีก 3 เดือน โดยจะให้สิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2559 หรือจนกว่าจะครบวงเงิน 60,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันเหลือวงเงินให้กองทุนหมู่บ้านฯ ยื่นคำขอกู้เงินได้ ตามมาตรการนี้ 16,763 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบเพิ่มวงเงินในโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้ายในการเก็บสต็อกข้าวปีการผลิต 2558/2559 อีก 204 ล้านบาท จากที่ปัจจุบันเหลือเงินในโครงการอยู่ราว 503 ล้านบาท เพื่อดึงข้าวฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาด 1.6 ล้านตัน (คิดเป็น 35% ของข้าวที่จะออกทั้งหมด 4.6 ล้านตัน) ออกจากตลาด เพื่อพยุงราคาขายข้าวให้อยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท/ตัน

เพิ่มประสิทธิภาพเบิกจ่ายงบปี 59

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (สงป.) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณของปี 2559 ใน 4 กรณี

  • กรณีโครงการลงทุนขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่ใช้งบกลางของปี 2558 วงเงิน 24,000 ล้านบาท ที่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายได้ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เห็นสมควรให้ยกเลิกโครงการไป รวมเป็นเงิน 3,031 ล้านบาท
  • กรณีโครงการลงทุนขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่ใช้งบประมาณของปี 2559 วงเงิน 16,000 ล้านบาท ให้ก่อหนี้ผูกพันก่อนวันที่ 31 มกราคม 2559 และเบิกจ่ายแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 หากดำเนินการไม่ทันให้ยกเลิกโครงการ
  • กรณีโครงการลงทุนที่มีวงเงินตั้งแต่ 2-500 ล้านบาท ที่ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ภายในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2559 (ภายในเดือนธันวาคม 2558) ให้ขยายระยะเวลาก่อหนี้ได้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2558 หากดำเนินการไม่ทันให้ยกเลิกและปรับแผนไปดำเนินการตามนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาล
  • กรณีโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ให้ขยายระยะเวลาการทำสัญญาจากวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2559

“สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณของปี 2559 ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2558 สามารถเบิกจ่ายได้ 7.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 29.1% สูงกว่าเป้าหมาย 1.3%” นายสมศักดิ์กล่าว

เทียบรายละเอียดโครงการ “รถไฟ-น้ำ” 2 รัฐบาล

นายสมศักดิ์ยังกล่าวว่า สงป. ได้เปรียบเทียบข้อแตกต่างของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท) กับของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 วงเงินลงทุน 1.79 ล้านล้านบาท ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ตามข้อสั่งการของนายกฯ โดยพบว่า โครงการของรัฐบาลทั้ง 2 ชุด มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ทั้ง ถนน สถานีขนส่งสินค้า ด่านศุลกากร ท่าเรือ มอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ฯลฯ โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง ที่ในสมัยรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ มี 4 สาย วงเงิน 7.8 แสนล้านบาท ส่วนรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ มี 3 สาย วงเงิน 6.9 แสนล้านบาท แต่เพิ่มรถไฟความเร็วปานกลางอีก 1 สาย วงเงิน 3.6 แสนล้านบาท

“การดำเนินการของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งใช้งบประมาณปกติเป็นหลัก จะทำให้เกิดความคล่องตัวแทนที่จะไปกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังทำให้ประหยัดดอกเบี้ยได้บางส่วน อาทิ การก่อสร้างมอเตอร์เวย์ที่ทำให้รัฐประหยัดดอกเบี้ยได้ถึง 1.6 หมื่นล้านบาท”

นายสมศักดิ์กล่าวอีกว่า สงป. ยังเปรียบเทียบข้อแตกต่างโครงการบริหารจัดการน้ำ ระหว่างรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งพบว่ามีรายละเอียดที่แตกต่างกันเช่นกัน โดยโครงการของรัฐบาลชุดที่แล้วจะเน้นเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เฉพาะปัญหาน้ำท่วม ตั้งวงเงินไว้ 3 แสนล้านบาท โดยจะมาจากการกู้ทั้งหมด ส่วนโครงการของรัฐบาลชุดนี้ จะเน้นกระจายครอบคลุมทั่วประเทศ แก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพชีวิต แต่ยังไม่ได้ตั้งวงเงิน

ด้าน พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า เหตุที่นายกฯ ได้สั่งการให้เปรียบเทียบโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานกับโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลทั้ง 2 ชุด ไม่ได้ต้องการชี้ว่าใครถูกหรือผิด แต่ต้องการเปรียบเทียบให้เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ทำงานอย่างรัดกุม ส่วนใดสามารถใช้งบประมาณได้ก็จะไม่กู้เงิน เหตุที่ราคาของโครงการต่างๆ ของรัฐบาลชุดนี้ดูสูง เพราะเป็นการคำนวณตัวเลขมาอย่างชัดเจนแล้ว ต่างกับรัฐบาลชุดก่อน ที่เป็นเพียงวงเงินหลวมๆ ที่ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้อีก