ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ แจงสภางบปี ’64 ตั้งขาดดุลอีก 623,000 ล้านบาท – คาดเศรษฐกิจปีหน้าฟื้นตัว 4-5%

นายกฯ แจงสภางบปี ’64 ตั้งขาดดุลอีก 623,000 ล้านบาท – คาดเศรษฐกิจปีหน้าฟื้นตัว 4-5%

1 กรกฎาคม 2020


เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 10.00 น. โดยมีรายละเอียดดังนี้

ในวันนี้คณะรัฐมนตรีขอเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีเหตุผลและหลักการดังนี้ หลักการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 เป็นจำนวนไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับหน่วยงานรับงบประมาณจำนวน 3.3 ล้านล้านบาท เหตุผลเพื่อให้หน่วยรับงบประมาณได้มีกรอบวงเงินงบประมาณรอบใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2564

ร่าง พ.ร.บ. ที่รัฐบาลนำเสนอ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2563 โดยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการด้านต่างๆ เพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนสภาพัฒน์ฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาล สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการให้สอดคล้องกันทั้งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในประเทศและผลกระทบจากภายนอก รวมทั้งผลกระทบจากโควิด-19 ที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ

คาดเศรษฐกิจไทย 64 ฟื้นตัว 4-5%

สำหรับภาวะเศรษฐโดยทั่วไปนั้น เศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวลดลงในช่วง 5-6% โดยมีสาเหตุหลักมาจากสงครามทางการค้าและผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางของประเทศต่างๆ ทำให้เศรษฐโลก ปริมาณการค้าโลก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับตัวลดลงรุนแรง ซึ่งส่งผลให้แรงขับเคลื่อนทั้งจากอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลดลงของระดับความรุนแรงของการระบาดภายในประเทศคาดว่าจะทำให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ได้ถึงระดับใกล้เคียงภาวะปกติภายในไตรมาสที่ 2 และการลดลงของความรุนแรงของการระบาดในต่างประเทศจะทำให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ สามารถผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จนถึงระดับใกล้เคียงกับภาวะปกติในไตรมาสที่ 3 ในขณะที่มาตรการควบคุมด้านการท่องเที่ยวจะผ่อนคลายในไตรมาสที่ 4

ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกและการเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของการท่องเที่ยว แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐและปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตและส่งออกสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า และการระบาดของโควิด-19

เศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในระดับ 4-5% โดยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานการขยายตัวที่ต่ำกว่าปกติในปี 2563 และแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้นของอุปสงค์ภาคต่างประเทศภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 ผ่อนคลายลง รวมไปถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ การเริ่มฟื้นตัวของฐานรายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว การผลิตภาคการเกษตร และแรงขับเคลื่อนภาครัฐภายใต้กรอบการเบิกจ่ายประจำปี งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และการเบิกจ่ายภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้หากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังมีความยืดเยื้อและมาตรการควบคุมของประเทศต่างๆ ขยายระยะเวลาออกไป หรือปัญหาในภาคการผลิตลุกลามไปสู่วิกฤติการณ์ทางการเงินการคลังในประเทศ รวมทั้งในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะเดียวกันมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในกรณีที่การระบาดของโควิด-19 สามารถยุติลงได้อย่างสิ้นเชิงภายในไตรมาสแรกของปี 2564

นโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง ภายใต้สภาวการณ์เศรษฐกิจดังกล่าว ในปี 2564 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ รัฐพาณิชย์ และรายได้อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 2.798 ล้านล้านบาท ลดลงมา 2.2% จากปีก่อนหน้า และหากการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 121,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่นำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาลจำนวน 2.677 ล้านล้านบาท หรือ 15.9% ของจีดีพี

ตั้งงบขาดดุลอีก 623,000 ล้านบาท

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีวงเงินงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินการภารกิจตามนโยบายของรัฐบาล และตามหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเหมาะสมเพียงพอ และไม่ส่งผลต่อหนี้สาธารณะ จึงกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายแบบขาดดุล โดยมีรายได้สุทธิ 2.677 ล้านล้านบาท และกู้ชดเชยการขาดดุลเงินประมาณ 623,000 ล้านบาท

ฐานะทางการคลังสำหรับหนี้สาธารณะคงค้างมีจำนวน 7.018 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.7% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ที่ 60% โดยหนี้สาธารณะที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลที่เกิดจากกู้เงินโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 6.517 ล้านล้านบาท ฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 512,955.1 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ฐานะการเงินประเทศยังเข้มแข็ง

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับฐานะและนโยบายการเงิน การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมามีการผ่อนคลายมากขึ้น เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จากการระบาดของโควิด-19 เป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบตามราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ระบบการเงินมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ลดลง

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จึงมีมติให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และพฤษภาคม 2563 สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ สนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้และผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังเร่งดำเนินมาตรการทางการเงินอื่นๆ ควบคู่กับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น การปรับลดอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินชั่วคราวจาก 0.46% เป็น 0.23% เพื่อให้สถาบันการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมได้ทันที มาตรการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจ ทั้งการเลื่อนชำระหนี้และการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อลดภาระหนี้และเสริมสภาพคล่องให้ผู้ได้รับผลกระทบผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้ รวมถึงมาตรการสนับสนุนตลาดการเงินไทย โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดเงินมีเสถียรภาพและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาวะที่นักลงทุนกังวลกับการระบาด

สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 อยู่ที่ 235,708.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 3.8 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ส่วนนโยบายในการจัดทำงบประมาณ มีเป้าหมายเพื่อให้การพัฒนาประเทศก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง โดยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ของประชาชน เพื่อกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง

5 แนวทางจัดงบฯ เน้นสอดคล้องแผนยุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับการจัดทำงบประมาณ สามารถกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนว่ากระทรวงและหน่วยรับงบประมาณต่างๆ จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนสภาพัฒน์ฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 และนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาและจัดสรรทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ความเป็นธรรมของสังคม เสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง ความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และผลสัมฤทธิ์ในการจัดการภาครัฐ

โดยกำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายที่สำคัญดังนี้
1) นำยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนสภาพัฒน์ฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งการดำเนินการในทุกมิติทั้งมิติกระทรวง หน่วยงาน และมิติบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์และเชิงพื้นที่ เพื่อเป็นกรอบแนวคิดในการขับเคลื่อนแผนงานโครงการให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และไม่ซ้ำซ้อน

2) ให้ความสำคัญกับการดำเนินการภารกิจที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลโดยเฉพาะการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาของประชาชน และวางรากฐานการพัฒนาประเทศสู่อนาคต รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้จัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้

3) ให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพทางการคลังร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการถ่ายโอนภารกิจ การจัดบริการสาธารณะระดับท้องถิ่น ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางการคลังระหว่างท้องถิ่น รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่าย

4) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณที่มีแหล่งเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือพิจารณานำเงินดังกล่าวมาให้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก ควบคู่ไปกับการทบทวน ชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินการโครงการที่หมดความจำเป็นหรือสำคัญในระดับต่ำ เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาสนับสนุนโครงการสำคัญเร่งด่วนที่พร้อมจะดำเนินการสูง หรือมีความจำเป็นเร่งด่วนที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง

5) ดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

แจง 6 ยุทธศาสตร์งบ ’64 – งบกลาง 614,616 ล้านบาท

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่าย 2564 ประกอบด้วยงบรายจ่ายประจำ 2.526 ล้านล้านบาท คิดเป็น 76.5% ของวงเงินรวม รายจ่ายลงทุน 674,868.2 ล้านบาท คิดเป็น 20.5% ของวงเงินรวม และรายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 99,000 ล้านบาท คิดเป็น 3% ของวงเงินรวม ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง

จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่ายได้ดังนี้ งบกลาง 614.616.2 ล้านบาท คิดเป็น 18.6% ของวงเงินรวม, งบรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1.135 ล้านล้านบาท คิดเป็น 34.4% ของวงเงินรวม, งบบูรณาการ 257,877.9 ล้านบาท คิดเป็น 7.8%, งบบุคลากร 776,887.7 ล้านบาท คิดเป็น 23.6% ของวงเงินรวม, งบกองทุนหมุนเวียน 221,981.9 ล้านบาท คิดเป็น 6.7% ของวงเงินรวม และงบรายจ่ายชำระหนี้ภาครัฐ 293,454.3 ล้านบาท คิดเป็น 8.9% ของวงเงินรวม

ถ้าจำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ จะมีรายละเอียดดังนี้

1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายไว้ 416,003.9 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนมีความสุข ประเทศชาติมีความมั่นคงในทุกมิติ และทุกระดับมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยมุ่งเน้นการปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์, ป้องกันและรักษาความสงบภายในประเทศ, เตรียมความพร้อมของประเทศเผชิญกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่, บูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนและนานาชาติ, พัฒนากลไกการบริหารจัดการแบบองค์รวม

2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 402,310.9 ล้านบาท เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าด้านการเกษตร พัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต พัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ พัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ พัฒนาพื้นที่ระดับภาค พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาด้านความมั่นคงทางพลังงาน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 577,755.2 ล้านบาท เพื่อเตรียมคนในสังคมไทยสำหรับการดำรงชีวิตในโลกศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต โดยเน้นการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวอบอุ่น เข้มแข็ง พัฒนาคุณภาพคนในทุกช่วงวัย การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ โดยเน้นการพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาส่งเสริมพหุปัญญา ตลอดจนการเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี และพัฒนาศักยภาพการกีฬา

4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 795,806.1 ล้านบาทเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนต่างๆ ให้มีส่วนร่วมเพื่อเป็นพลังทางสังคมในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สร้างสภาพแวดล้อมและกลไกส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้เกิดความพออยู่ พอกิน สามารถพึ่งพาตนเองได้ และสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับคนไทยทุกคน สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณะ เตรียมความพร้อมที่จะรองรับสังคมสูงวัยในทุกมิติ สนับสนุนความคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐานของประชาชน และส่งเสริมมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนอย่างทั่วถึง ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่นในด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 118,315.3 ล้านบาท เพื่อสร้างความสมดุลและยั่งยืนของฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจภาคทะเล สังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ การจัดการมลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสารเคมีในภาคเกษตร การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งการจัดการเชิงลุ่มน้ำ การเพิ่มผลิตภาพของน้ำ และการอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติ

6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 556,528.7 ล้านบาท เพื่อให้ระบบการบริหารราชการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบริการประชาชนและการพัฒนาประสิทธิภาพภาครัฐ ได้แก่ การบูรณาการเชื่อมโยงภาครัฐและการบริหารจัดการการเงินการคลัง การปรับสมดุลภาครัฐ การพัฒนาระบบบริหารงานภาครัฐ การสร้างและพัฒนาบุคลากรภาครัฐ รวมทั้งการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้มีรายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 433,279.9 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายสำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

  • ธนาคารโลกชี้คนชั้นกลางจนลง คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นอีก 2 ปี

  • กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย 0.5% คาดเศรษฐกิจหดตัว 8.1% ต่ำกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง

  • วิจัยกรุงศรี ประเมินอุตสาหกรรม “ฟุบยาว” คาดฟื้นแบบ “U-shape” ปี ’65

  • Krungthai COMPASS ชี้ G-D-H 3 ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุค New Normal

  • SCB EIC คาดเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบ U-Shape อีก 2 ปีกลับมาที่เดิม