ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เลือกตั้ง 2562 สภาเก่าในพรรคใหม่! ส.ส.หน้าเดิม 36% จากปี 2554 “พลังประชารัฐ” กวาดร่วมพรรค 21%

เลือกตั้ง 2562 สภาเก่าในพรรคใหม่! ส.ส.หน้าเดิม 36% จากปี 2554 “พลังประชารัฐ” กวาดร่วมพรรค 21%

27 พฤษภาคม 2019


รอกันมาถึง 2 เดือนภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 กว่าจะได้เห็นหน้าตาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. และเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีของประเทศไทยที่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย นับตั้งแต่การยุบสภาฯในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปลายปี 2556

ด้วยวาทกรรมที่ว่าประเทศไทยมักจะติดอยู่กับนักการเมืองหน้าเก่าๆ ที่ผ่านมาแม้มีการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่จะได้รัฐบาลหน้าเดิมๆวนเวียนกันไปมา สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าสำรวจหน้าตาของส.ส.ในสภาฯปี 2562 ว่าแตกต่างจากหน้าตาของส.ส.ในสภาฯปี 2554 มากน้อยเพียงใด และจะติดหล่มกับวาทกรรม “สภาเก่าในขวดใหม่” หรือไม่?

จากข้อมูลส.ส.ในสภาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 จำนวน 498 คน เทียบกับส.ส.ในปี 2554 จำนวนทั้งสิ้น 527 คน (เนื่องจากรวมส.ส.บางส่วนที่รับตำแหน่งระหว่างสมัยประชุมสภาฯแทนส.ส.บางส่วนที่ออกจากตำแหน่ง เช่นไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีและเหตุผลอื่นๆ) มีจำนวน 180 คนที่เป็นส.ส.เดิมในปี 2554 และได้รับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2562 หรือเป็น “ส.ส.หน้าเก่า” ซึ่งคิดเป็น 36% ของจำนวนส.ส.ทั้งหมด ที่เหลืออีก 318 คน เป็นส.ส.หน้าใหม่ที่ไม่เคยเป็นส.ส.มาก่อน อย่างไรก็ตามมีนักการเมืองบางส่วนที่ไม่ได้ลงสมัครในปี 2554 หรือถูกระงับสิทธิในช่วงเวลาดังกล่าว

ในจำนวนนี้หากแยกตามรายพรรคพบว่าพรรคเพื่อไทย 51% เป็นส.ส.หน้าเก่า, รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ 21%, พรรคพลังประชารัฐ 14%, พรรคภูมิใจไทย 10% และพรรคอื่นๆ 7% ขณะที่ส.ส.หน้าใหม่จำนวน 318 คน มาจาก พรรคพลังประชารัฐ 28%, รองลงมาคือพรรคอนาคตใหม่ 25%, พรรคเพื่อไทย 14%, พรรคภูมิใจไทย 10% และพรรคประชาธิปัตย์ 4% จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่พรรคเก่าอย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์มีส.ส.หน้าเก่าเป็นสัดส่วนค่อนข้างมาก

ขณะที่ในบรรดาส.ส.หน้าเก่าของแต่ละพรรคกลับพบส.ส.หน้าเก่าที่ย้ายพรรค หรือเป็น “ส.ส.พลังดูด” จำนวน 38 คน แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งเป็นพรรคใหม่ แต่กลับมีส.ส.หน้าเก่า 25 คน หรือคิดเป็น 21% ของส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด 115 คน ซึ่งก็คือเป็นพลังดูดที่ย้ายมาจากพรรคต่างๆ โดยในสัดส่วนนี้ 64% ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทย, รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ 20% พรรคพลังชล 8% เป็นต้น เทียบกับพรรคอื่นๆที่มีการดูดส.ส.เก่าจากพรรคอื่นๆมาค่อนข้างน้อย เช่น พรรคภูมิใจไทย มีส.ส.เก่าจากพรรคอื่น 6 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน, พรรคเพื่อไทย 2 คน เป็นต้น

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนกลยุทธ์ “พลังดูด” ของพรรคที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ว่าประสบความสำเร็จเพียงใด โดยหากย้อนกลับไปดูจำนวนผู้สมัครส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐก่อนหน้านี้พบว่า 25% ของผู้สมัครส.ส. เคยเป็นผู้สมัครส.ส.ในปี 2554 มาก่อน โดยจากผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขต 460 คนของพรรค มีถึง 115 คนที่เคยเป็นผู้สมัครในปี 2554 มาก่อนและเป็นผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคเพื่อไทยมากที่สุด

อย่างไรก็ตามแม้ “สภาผู้แทนราษฎร” มีส.ส.หน้าใหม่กว่า 64% ของสภา แต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2562 บรรยากาศ “ป่วน” ยังปรากฏให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับชม ซึ่งสะท้อนความไม่ลงตัวของ “ผลประโยชน์” แม้จะไม่มีหลักฐาน แต่การกระทำและปรากฏการณ์เป็นเครื่องบ่งชี้การเมืองไทยที่ยังวนอยู่ในวงจรการเมืองแบบเดิมๆ

  • เลือกตั้ง 2562 : สำรวจข้อมูลผู้สมัคร ส.ส. 81 พรรค “เหล้าใหม่” หรือ “เหล้าเก่า” ในขวดใหม่ !!
  • “ชวน” นั่งเก้าอี้ ปธ.สภาฯ ชนะ สมพงษ์ 258 ต่อ 235 เสียง พร้อมสั่งเลื่อนโหวตเลือกรองประธาน