ThaiPublica > เกาะกระแส > กองทุนหมู่บ้านฯจัดข้าวหอมมะลิหนองคาย แลกอาหารทะเลเมืองเพชร-ชุมพร

กองทุนหมู่บ้านฯจัดข้าวหอมมะลิหนองคาย แลกอาหารทะเลเมืองเพชร-ชุมพร

15 พฤษภาคม 2020


เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) และนายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ร่วมกันเป็นประธานเปิดงาน “โครงการความร่วมมือเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน” ณ ห้องประชุมชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี

สทบ.เดินหน้านโยบายซื้อ-ขาย สินค้าระหว่างกองทุนหมู่บ้าน จัดข้าวหอมมะลิหนองคาย แลกอาหารทะเลเพชรบุรี-ชุมพร ชูสถาบันการเงินชุมชนบ้านหาดเจ้าสำราญ ต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวว่า สำหรับโครงการความร่วมมือเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้รับนโยบายจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ที่เน้นส่งเสริมรายราย ลดรายจ่ายให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในชนบท และในวันนี้ เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจังหวัดหนองคาย ได้รวบรวมเงินซื้อข้าวหอมมะลิจากเกษตรกรในพื้นที่มาบรรจุใส่ถุง ถุงละ 5 กิโลกรัม รวม 1,300 ถุง นำมาแลกเปลี่ยนสินค้ากับกองทุนหมู่บ้านหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี และเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นอาหารทะเล อาทิ กะปิ ปลาทูเค็ม และปลาหมึกตากแห้ง โดยเจรจาตกลงราคากันเองด้วยความสมัครใจ

“กรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่ง นอกจาก สทบ.จะสนับสนุนให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองทั่วประเทศ 79,595 แห่ง ซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากันเองภายในหมู่บ้านแล้ว ยังสนับสนุนให้เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านคัดเลือกสินค้าคุณภาพดี นำมาซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยนกันเอง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เม็ดเงินรายได้ทั้งหมดไหลกลับเข้าสู่ชุมชนโดยตรง นับจากนี้ไป สทบ.จะพยายามผลักดันให้มีกิจกรรมการค้าระหว่างเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านเกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งในระดับตำบล จังหวัด และระดับภาค เพื่อเสริมสร้างรายได้ และลดรายจ่ายให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน แนวทางดังกล่าวนี้ ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง” นายรักษ์พงษ์ กล่าว

จากนั้นนายรักษ์พงษ์ ได้นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจการกองทุนหมู่บ้านหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งยกระดับจากกองทุนหมู่บ้านขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชน โดยนายณัฎฐนันท์ สุภาอรรถวิชญ์ ประธานกองทุนหมู่บ้านหาดเจ้าสำราญ กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านหาดเจ้าสำราญจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2544 หลังจากได้รับทุนประเด็นจากรัฐบาลมาแล้ว เราก็ได้มีการบริหารจัดการเงินเป็นอย่างดีจนกิจการมีความเจริญก้าวหน้า ไม่มีหนี้ค้างชำระ และไม่มีเรื่องร้องเรียน ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 กองทุนหมู่บ้านหาดเจ้าสำราญ ยกระดับขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชน บ้านหาดเจ้าสำราญนอก ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 95 คน ออมเงินกับกองทุนฯในรูปแบบของทุนเรือนหุ้น 101,300 บาท เงินออมสัจจะอีก 1,365,683 บาท รวมเงินออมทั้งสิ้น 1,466,983 บาท ด้านสินเชื่อ เราได้รับการสนับสนุนเงินทุนและเทคโนโลยีต่าง ๆ จากธนาคารออมสิน ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ปล่อยสินเชื่อให้กับชาวบ้านและกลุ่มออมทรัพย์ในพื้นที่ 4,589 ราย มียอดสินเชื่อคงค้างกว่า 196 ล้านบาท โดยที่ไม่มีหนี้ค้างชำระ และไม่มีเรื่องร้องเรียนใด ๆ ตรงนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของเรา ปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมด 15 คน เปิดทำการ 7 วัน ไม่มีวันหยุด โดยพนักงานของกองทุนฯจะสลับสับเปลี่ยนกันออกไปพบปะชาวบ้าน หรือ ลูกค้า เพื่อรับฝาก ถอนเงิน และชำระหนี้เงินกู้ ตั้งแต่ 8.00 – 16.00 น. เก็บเงินได้เฉลี่ยวันละ 500,000 บาท

“ลูกค้าสินเชื่อของเรา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง และมีรายได้ดีพอสมควร แต่มีบางรายขาดวินัยการเงินไปกู้ยืมเงินนอกระบบ ต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน ทั้งนี้ เพื่อนำเงินไปซื้ออุปกรณ์ทำประมง ซึ่งเป็นสินค้าสิ้นเปลือง ใช้ไปแล้วขาด หรือ เปื่อย ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับชาวบ้าน เราจึงไปติดต่อขอซื้ออุปกรณ์ทำประมงราคาพิเศษจากผู้ผลิตโดยตรง นำมาขายให้กับชาวประมง คิดกำไรไม่เกิน 3 บาทต่อชิ้น สำหรับชาวบ้านที่ไม่มีเงิน กองทุนฯอนุญาตให้เบิกสินค้าไปใช้จับปลาก่อนได้ แต่คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ชาวประมงแถวนี้จึงเปลี่ยนมากู้เงินกับกองทุนฯแทนที่จะไปกู้นายทุนนอกระบบ เพราะเสียดอกเบี้ยถูกกว่ามาก และที่น่าสนใจมีเด็กหนุ่มอายุ 24 ปี มากู้เงินจากกองทุนฯไป 1 ล้านบาท นำไปลงทุนขายปลาหมึกย่างที่สวนจตุจักร ปรากฏว่ารายนี้ชำระหนี้ได้ก่อนกำหนด เพราะขายปลาหมึกย่างได้กำไรสัปดาห์ละ 100,000 บาท”นายณัฎฐนันท์ กล่าว

  • กองทุนหมู่บ้านฯปั้นแบรนด์ “ข้าว เท่ เท่ จาก กทบ.” เพิ่มรายได้เศรษฐกิจฐานราก