ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯไม่ขัด “บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะ พปชร.-ปรับ ครม. ขอดูเอง – มติ ครม. ผ่านร่าง กม.เก็บ VAT แพลตฟอร์มต่างชาติ

นายกฯไม่ขัด “บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะ พปชร.-ปรับ ครม. ขอดูเอง – มติ ครม. ผ่านร่าง กม.เก็บ VAT แพลตฟอร์มต่างชาติ

9 มิถุนายน 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ ไม่ขัด “บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะ พปชร. แต่ปรับ ครม.ขอพิจารณาเอง แจงเงินกู้ 4 แสนล้าน ใช้กระตุ้นการบริโภค-ท่องเที่ยว เริ่ม ก.ค.นี้ เล็งเปิดประเทศ หนุนท่องเที่ยวเชิงสาธารณสุข-มติ ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.เก็บ VAT “แพลตฟอร์ม” ต่างชาติ เปิดบริการในไทย

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

แจงเงินกู้ 4 แสนล้าน ใช้กระตุ้นการบริโภค-ท่องเที่ยว เริ่ม ก.ค.นี้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการพิจารณาใช้กรอบการใช้เงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 จำนวน 4 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบันมีหน่วยงานยื่นขอมาเป็นจำนวนรวมกว่า 6 แสนล้านบาท ว่า วันนี้เราได้ทำในทุกมิติแล้ว ในส่วนแรกก็คือ การใช้มาตรการทางการเงินการคลังการลดภาษีการลดค่าใช้จ่ายหรือยืดระยะเวลาต่างๆ ขณะนี้เป็นเรื่องของการใช้งบประมาณในการจะลงไปสู่ประชาชนทุกกลุ่ม การใช้งบประมาณในส่วนนี้เป็นเรื่องที่หลายคนห่วงกังวล และทุกคนจับตาดูอยู่ โดยตนในฐานะหัวหน้ารัฐบาลยืนยันว่าจะดำเนินการให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้

โดยตนได้กับชับกับ ครม. แล้วว่า งบประมาณจำนวนนี้เป็นงบประมาณที่มีความสำคัญในการที่จะสานต่อเศรษฐกิจของเราในไตรมาส 4 (กรกฎาคม-กันยายน) เพื่อจะส่งต่อไปยังไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2564 ซึ่งเรากำลังจะนำเข้าพิจารณาในสภาเป็นลำดับต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนกรกฎาคม 2563

“ในจำนวนนี้จะมีการเร่งรัดให้หน่วยงานใดดำเนินการโดยจะตั้งกรอบวงเงินว่าจะต้องใช้ในกิจการอะไรบ้าง มีขั้นมีตอนในการดำเนินการอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องตรงความต้องการของประชาชนและกลุ่มผู้เดือดร้อน มากบ้างน้อยบ้างก็ตามเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งเราคาดว่าจะดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป”

พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ช่วงนี้เป็นช่วงของการเตรียมการหลักการสำคัญคือไม่นำเงินดังกล่าวมาใช้จ่ายในโครงการปกติ ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวและอยู่ภายในแผนงานงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว แต่เน้นการกระตุ้นการบริโภคเน้นการท่องเที่ยว เพื่อให้กลไกตลาดสามารถกลับมาเดินได้ตามปกติ การช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อให้มีสภาพคล่องในการเดินหน้าธุรกิจ ช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากเศรษฐกิจชุมชน การรักษาระดับการจ้างงาน และช่วยเหลือบัณฑิตจบใหม่ให้มีงานทำ

“จะต้องไปดูอีกทีเพราะขณะนี้คณะกรรมการกำลังพิจารณากันอยู่ว่ากรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาทจะต้องไปพิจารณาอะไรบ้าง และผมก็ได้ให้แนวทางไปแล้ว การใช้งบฟื้นฟูดังกล่าวนั้นไม่ควรจะนำไปใช้ในการลงทุนหรือการพัฒนาภายใต้งบปกติ เนื่องจากเงินในส่วนนี้เป็นเงินที่ได้มาโดยความยากลำบาก คือต้องไปกู้เขามา เป็นงบที่จะทำให้เกิดสภาพคล่อง ทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อน ไม่ให้กิจการต้องล้มละลายหรือล้มเลิกไป ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการจ้างงานมาอีก”

ดึง ปชช.ร่วมเสนอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงการเสนอโครงการว่า ต้องผ่านคณะกรรมการบริหารจังหวัดขึ้นมา เป็นกลไกที่มีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะผ่านมาจากกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน มาถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าคณะทำงานของจังหวัด จนเข้าสู่คณะทำงานคัดกรองของส่วนกลาง ซึ่งในคณะกรรมการคัดกรองก็มีคณะอนุกรรมการอยู่ภายในก่อนชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะถึงคณะกรรมการและเข้าสู่ ครม.

“ในการพิจารณาอนุมัติงบประมาณมันมีหลายขั้นตอนขึ้นมา เพราะฉะนั้นวันนี้ก็มีระบบการให้ข้อมูลว่าโครงการที่ว่านั้นมีการใช้งบประมาณไปยังจุดไหนบ้าง ทุกคนสามารถเข้ามาเปิดดูได้ว่าทำได้จริงหรือเปล่าทำดีหรือเปล่า ถ้าไม่ดีก็ต้องหามาตรการลงโทษ ทุกอย่างจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างได้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่กรกฎาคม มีเวลาอยู่ 1 เดือนก็อย่าให้มันยืดไปเรื่อยๆ มันจะไม่ทันเวลา ตั้งไว้ว่าต้นเดือนกรกฎาคมต้องทยอยเสนองวดที่ 1 ของแต่ละกิจกรรมเข้ามา ทุกคนต้องปฏิบัติตามนี้”

พร้อมกล่าวย้ำว่า ขอให้มั่นใจในกรอบของหัวหน้ารัฐบาล มีการป้องกันการทุจริตโดยเด็ดขาด เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถมีการตรวจสอบได้ทันที ทุกคนต้องให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ไม่ให้กลับมาที่เก่า ข้อสำคัญคือประชาชนต้องมีส่วนร่วม คือให้ประชาชนเสนอความต้องการขึ้นมา แล้วส่วนราชการไปพิจารณาตามความต้องการของเขา จึงจะตรงความต้องการของประชาชน ไม่เช่นนั้นทำแล้วไม่ตรงความต้องการก็ทำให้ตรวจสอบยาก

เล็งเปิดประเทศ หนุนท่องเที่ยวเชิงสาธารณสุข

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 และมาตรการการเปิดระเบียงท่องเที่ยว (travel bubble) ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ ว่า วันนี้เป็นที่น่ายินดีที่เป็นวันที่ 14 แล้วที่ไม่มีการตรวจพบเชื้อนอก state quarantine ซึ่งต้องขอบคุณทุกภาคส่วนในการดูแลและแก้ไขปัญหาได้อย่างดียิ่ง โดยหลายจังหวัดได้มีการเปิดธุรกิจหลายอย่างตามมาตราการผ่อนปรนระยะที่ 3 ซึ่งหากดำเนินการตามมาตรฐานก็จะนำไปสู่การผ่อนคลายระยะที่ 4 ต่อไป

“ถ้าทำ 3 ดี ก็จะไป 4 ได้หาก 3 ไม่ดีก็ไป 4 ไม่ได้ ผมเห็นใจในการเดือดร้อน แต่ต้องเข้าใจในด้านสถานการณ์ด้านสุขภาพด้วย หลายคนอาจจะบอกว่าไม่มีการแพร่ระบาดแล้วเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ไหม ท่านต้องเข้าใจว่าต้องมีกฎหมายสัก 1 ตัวที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ทุกคนก็เห็นแล้วว่าผลเกิดขึ้นอะไรมาบ้างผมไม่ได้ไปปิดกั้นประชาชน มันไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น”

สำหรับเรื่องการท่องเที่ยว วันนี้ก็ได้ให้เตรียมการไว้ในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงด้านสาธารณสุข พรุ่งนี้ก็จะมีการพิจารณาหามาตรการที่จะสอดรับกับการท่องเที่ยว การนำคนเข้าประเทศต่างๆ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องโควิด และเปิดรับในเฉพาะพื้นที่ที่สามารถดูแลได้

ในเรื่องของการเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามารับบริการด้านสุขภาพ การรักษาพยาบาลต่างๆ ซึ่งเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของประเทศ ปัจจุบันหลังจากมีการแพร่ระบาดของโควิด ไม่มีการเข้ามาใช้บริการในประเทศไทยในด้านนี้ ซึ่งต้องดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มีปัญหาทับซ้อนกับเรื่องของโควิด ต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ

ไม่ขัด “บิ๊กป้อม” นั่งหัวโต๊ะ พปชร. แต่ปรับ ครม.ขอดูเอง

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี จะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รวมถึงกระแสข่าวการปรับ ครม. ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของพรรค ตนไม่ได้เกี่ยว ซึ่งพรรคการเมืองก็เป็นแบบนี้ทุกพรรค เพียงแต่ว่าจะออกสื่อหรือไม่ออกสื่อเท่านั้นเอง วันนี้ก็เป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์กันอยู่

โดยยืนยันว่าตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ เป็นเรื่องของทางพรรคที่จะดำเนินการไป ส่วนเรื่องของการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีต่างๆ นั้นเป็นเรื่องของตน ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะพิจารณาได้เมื่อไหร่ แต่คงไม่ได้ตอนนี้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องเสนอตัวกันมาเยอะแยะในขณะนี้ หากจะปรับ ครม .เมื่อไรตนจะบอกเอง ซึ่งมีสัดส่วนของแต่ละพรรคการเมืองอยู่แล้ว

“ผมก็เพียงขอร้องว่าอย่าพูดกันอะไรกัน คนตัดสินใจเรื่อง ครม. ก็คือผม ไม่ใช่หัวหน้าพรรคการเมือง พรรคของท่านก็ไปเตรียมคนของท่านเอาไว้ พรรคร่วมก็เป็นเรื่องของพรรคร่วม ซึ่งพรรคร่วมมีหลายพรรคใครจะเป็นหรือใครจะไม่เป็นยังไม่ได้คิด วันนี้ขอทำงานไปก่อน เพราะฉะนั้นกรุณาเลิกงดเสนอข่าวพวกนี้ได้แล้ว มันเหมือนดราม่าเหมือนละคร ก็ต้องย้อนมาดูตัวเหมือนกัน แล้วอย่าเพิ่งไปตรงโน้นเลย อย่าเพิ่งมาถามว่าจะปรับครม.หรือยัง ถ้าจะปรับเมื่อไหร่เดี๋ยวผมจะบอกเอง บางทีก็ไม่ต้องบอกเดี๋ยวผมจะปรับเองมันเป็นการตัดสินใจของนายกฯ แต่เพียงผู้เดียวในการปรับ ครม.”

เมื่อถามว่า หาก พล.อ. ประวิตร รับตำแหน่งหัวหน้าพรรค พปชร. แล้วนายกฯ จะต้องหาคนช่วยงานเพิ่มหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ทำไมต้องช่วย มันเป็นเรื่องของท่าน ท่านก็บริหารของท่านให้ได้ ตนมีหน้าที่ในการทำงานร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี ท่านก็ต้องทำทั้ง 2 งานให้ได้ หากไปเป็นตรงนู้น ท่านก็ต้องทำงานตรงนี้ให้ได้เหมือนเดิม งานไม่หนักหรอกทุกคนทำงานได้หลายอย่าง

โดย พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่า เรื่องกระบวนการภายในของพรรคการเมือง กับการปรับ ครม. ไม่ได้เชื่อมโยงกัน เพราะการปรับ ครม.นั้นมีสัดส่วนของพรรคการเมืองวางไว้อยู่แล้ว

ต่อคำถามกรณีความเชื่อมั่นในตัวรัฐมนตรีบางคนลดลง เพราะมีกระแสข่าวถูกปรับออกจาก ครม.นั้น พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ตนยังไม่เห็นมีใครหลุดไม่หลุดเลย ใครจะหลุดใครจะเข้า ตนเอางานวันนี้ให้ได้ก่อน คนที่อยู่ในตำแหน่ง วันนี้ทำให้ดีที่สุดก่อนก็แล้วกัน

ห่วงสารเคมีตกค้างถึงน้ำบาดาล

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงการรับมือภัยแล้งในฤดูการเพาะปลูกใหม่ว่า ตนได้มีการเร่งรัดให้แก้ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากในฤดูการเพาะปลูกใหม่ อาจทำได้ไม่มาก เพราะปริมาณน้ำมีน้อย และจากการที่ตนได้สั่งการให้ไปทบทวนดูว่าในสิ่งต่างๆ ที่ทำมาพบว่าปัญหาคือ แม้จะมีการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำมากกว่าเดิม แต่ไม่มีปริมาณน้ำให้กักเก็บเพราะฝนไม่ตก

“จากนี้ก็ไปเร่งรัดในเรื่องของการขุดเจาะน้ำบาดาล ซึ่งได้รับรายงานมาว่าระดับน้ำบาดาลเริ่มลึกขึ้น หมายถึงว่าระดับน้ำในชั้นดินนั้นต่ำลงไปเรื่อยๆ บางพื้นที่ขุดถึง 100-130 เมตร ลงไปจากเดิมที่ขุดเพียง 30 เมตร ก็เจอน้ำแล้ว นี่คือการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโลก ซึ่งต้องระมัดระวังในการใช้สารเคมีที่จะซึมซับลงสู่พื้นดิน ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับระบบน้ำใต้ดิน ดังนั้นทุกอย่างต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง”

รับช่วยเหลือครอบครัว “วันเฉลิม” ขอให้บอกอยู่ไหน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวไทย ที่ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศกัมพูชา แล้วถูกอุ้มหายตัวไปว่า ตนยังไม่รู้จักเขาเลย แต่อะไรที่สามารถร่วมมือได้ก็ร่วมมือไป เบื้องต้นได้มีการสอบถามไปทางฝ่ายความมั่นคงว่าบุคคลนี้อยู่ที่ไหน เป็นอย่างไร

“ผมไม่เคยรู้จักชื่อเขามาก่อนด้วยซ้ำ ไปทราบว่าเขาหนีไปอยู่ต่างประเทศ ก็ให้ติดตามว่าหนีไปด้วยเรื่องอะไรไปอยู่ที่ไหน ถามมาได้ความว่าหนีแต่ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน เขาไปทำอะไรเราก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราก็คงไม่ไปก้าวล่วงในอำนาจของประเทศอื่นๆ เขา เขาก็มีกลไกตรวจสอบของเขาเพียงแต่ว่าเมื่อสอบถามความร่วมมือเราก็ให้ความร่วมมือเขาไป เราไม่ได้ไปเกี่ยวข้องขอให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่เขาด้วย”

ส่วนจะการต่อสาย พล.อ. เตีย บันห์ รองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เพื่อขอความช่วยเหลือในเรื่องนี้หรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีระบุว่า ยังไม่มีการพูดคุยกัน แต่ทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศ สถานฑูตไทยในกัมพูชา ได้หารือในเรื่องนี้แล้ว อะไรที่เป็นหน้าที่ของใครก็ทำไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองทำเพียงในระดับนโยบาย แต่ก็ยินดีให้ความร่วมมือในทุกประการ

ต่อคำถามรัฐบาลจะช่วยเหลือครอบครัวของนายวันเฉลิมหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า จะดำเนินการให้ เพียงแต่ครอบครัวจะต้องบอกว่าเขาไปอยู่ที่ไหนที่ผ่านมา แล้วทำไมจึงหนีไปที่นู่น ซึ่งต้องให้เขาสอบสวนก็ติดตามอยู่ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นคนไทย แต่ไปอยู่ต่างประเทศ

ปรับแผนฟื้นฟู ขสมก. รื้อเส้นทางเดินรถ-เก็บค่าโดยสารราคาเดียว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการทำงานของรัฐบาลครบรอบ 1 ปี ว่า ถือว่าพอใจ อยู่ในเกณฑ์ที่พอใจ เพราะหลายอย่างที่ขับเคลื่อนมาก่อนหน้านั้นก็ได้รับการขับเคลื่อนต่ออะไรที่มีปัญหาก็แก้ไข เช่น เรื่องรัฐวิสาหกิจต่างๆ ต้องใช้เวลาในการแก้ไขหลายอย่างบางกรณีมันมีความสุขงอมถึงทำได้ เพราะติดขัดด้วยข้อกฎหมายหลายประการด้วยกัน

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) ว่า วันนี้ได้มีการรายงานความคืบหน้าก็เป็นไปได้ด้วยดี อยู่ในขั้นตอนที่สามารถดำเนินการได้

พร้อมกล่าวต่อไปถึง การปรับแผนฟื้นฟูองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจที่ดูแลประชาชน จึงมีการขาดทุนสะสมอยู่มากพอสมควร ซึ่งภายในแผนฟื้นฟูนั้น ตนคิดว่าประชาชนคงพอใจ เพราะต่อไปจะมีการปรับรถเมล์ที่เป็นรถปรับอากาศทั้งหมดทั้งของเอกชนและ ขสมก.

และจะมีการซ่อม มีการเช่าต่างๆ ที่ไม่เป็นภาระจนมากเกินไป จะมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางให้เป็นเส้นทางยาว และมี feeder เป็นเส้นทางวงกลม ที่จะเป็นเส้นทางที่ปรับใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความสะดวกและคิดค่าโดยสารตลอดสายราคาเดียว โดยแผนดังกล่าวจะเร่งนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ให้เร็วที่สุด เพื่อให้เดินหน้าได้โดยเร็วสมกับที่ประชาชนรอคอย

“ในการแก้ปัญหาต้องทำอย่างไรให้องค์กรอยู่ได้ ทำอย่างไรพนักงานลูกจ้างจึงจะพึงพอใจหลายอย่างเกี่ยวข้องกันหมด ไม่ใช่ว่าเอาปัญหามาแล้วแก้ปัญหาสั่งปุบปับ มันไม่ได้อย่างนั้น ผู้เกี่ยวข้องมีหลายภาคส่วนด้วยกันซึ่งขึ้นอยู่กับคนไทยทั้งประเทศด้วย”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า ทุกอย่างที่รัฐบาลทำมาในช่วงระยะเวลา 1 ปี ยืนยันว่ายึดประชาชนเป็นหลักทั้งหมด จะได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับกลไกหลายส่วนด้วยกันที่เกี่ยวข้อง รัฐก็ต้องปรับตัว ประชาชนก็ต้องปรับตัวเพื่อเดินหน้าไปตามสิ่งที่รัฐจะสามารถอำนวยความสะดวกได้ตามกฎหมายที่มีอยู่ ทุกคนต้องหาตรงกลางกันให้เจอและเดินไปด้วยกัน ไม่เช่นนั้นทำไม่ได้ในทุกๆ เรื่อง

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯสั่งหน่วยงานรัฐจัดงบฯ 15-30% ซื้อสินค้า SMEs

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรที่ล่าช้านั้น เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ควรจะมีปรับปรุงรูปแบบการดำเนินการให้รัดกุมและเป็นระบบ เพื่อที่จะสามารถทำให้จ่ายเงินฯ ได้รวดเร็วขึ้น และขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการทำงาน กำกับการปฎิบัติหน้าที่ตามสายการบังคับบัญชา เพื่อให้การดำเนินงานช่วยเหลือประชาชนมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องรับฟังปัญหาจากประชาชนด้วย ทั้งนี้ ข้าราชการและนักการเมืองต้องทำงานร่วมกันเพื่อประชาชน และเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ

ส่วนการจัดที่ทำกินให้ประชาชนเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อต้องการให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน แต่ปัญหาคือที่ดินที่มีการจัดสรรไปนั้นไม่เหมาะต่อการเกษตร ขอให้พิจารณาว่า ในทางกฎหมาย สามารถให้ประชาชนสามารถทำกิจการอื่นได้หรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษขอให้เน้นการจ้างแรงงานไทย ส่วนเรื่องเกษตร BCG ขอให้กำหนดแผนปฎิบัติการให้ชัดเจน เน้นการจ้างคนจบใหม่ สร้างสตาร์ทอัปให้กับคนรุ่นใหม่

“อีกอันที่รับฟังมาจากภาคเอกชนคือแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี ก็เคยกล่าวในสัปดาห์ที่แล้ว ว่าจุดที่หนุนแรงซื้อของเอสเอ็มอี คืองบฯจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล ขอให้ซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอีไทยให้มากขึ้น ในครั้งนี้ท่านนายกฯ ได้ระบุว่า ขอให้ใช้ 15-30% ของงบจัดซื้อจัดจ้าง”

ปรับกฎกระทรวงกำกับดูแลธุรกิจท่อส่งก๊าซ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. …. โดยให้กระทรวงพลังงานปรับปรุงกฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ พ.ศ. 2556 เพิ่มเติมรายละเอียดและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับการประกอบกิจการระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ให้ครอบคลุมการประกอบกิจการทั้งท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก และท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล รวมถึงท่อส่งก๊าซธรรมชาติเหลว เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อให้เหมาะสมกับสภาพการประกอบกิจการปัจจุบันและสอดคล้องตามมาตรฐานสากล  ซึ่งร่างกฎกระทรวงระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ใหม่นี้จะช่วยให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน และการบังคับใช้ไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น เพิ่มความรัดกุมในการควบคุมความปลอดภัยในการประกอบกิจการระบบการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่ออีกด้วย

คทช.เผย 4 ปี ช่วย 4.4 หมื่นราย มีที่ดินทำกินกว่า 6 แสนไร่

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ  (คทช.) ครั้งที่ 1/2563 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563

“คทช. รายงานผลดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ปีงบประมาณ 2558- 2562  โดยได้ออกหนังสืออนุญาตแล้ว 219 ฉบับ พื้นที่ 665,199 ไร่ จากพื้นที่เป้าหมายที่กำหนดไว้ 1,402,381 ไร่ ครอบคลุมประเภทที่ดินทั้งป่าสงวนแห่งชาติ  ป่าชายเลน ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินสงวนเพื่อกิจการนิคมในนิคมสร้างตนเอง สามารถจัดคนเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินกว่า 44,582  รายใน 55,786 แปลง”

สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563  คทช. ยังกำหนดเป้าหมายในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน 59 พื้นที่ 36 จังหวัด เนื้อที่ประมาณ 230,381ไร่  จัดคนเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ จำนวน 16,000 ราย และพัฒนาอาชีพกว่า  12,000 ราย

นอกจากนี้ ยังเน้นแนวทางการทำงาน ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ จัดทำแผนบูรณาการพัฒนาอาชีพที่สะท้อนถึงความต้องการของชุมชนได้อย่างเป็นระบบครบวงจร ให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ควรสนับสนุนกลไกขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง และกลไกการเงินระดับชุมชนที่มีการดำเนินงานประสบความสำเร็จแล้ว รวมทั้งจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ อีกด้วย

ยกเว้นค่าธรรมเนียมโรงแรม 40 บาทต่อห้อง

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่าท ครม. อนุมัติยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมปีละ 40 บาทต่อห้องพัก ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2564 ตามร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ….ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ลดค่าใช้จ่ายในการประกอบการช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

“สืบเนื่องจากการประกาศพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ตามปกติ เนื่องจากไม่มีผู้เข้าพักภายในโรงแรม”

ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยจึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. …. โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมปีละ 40 บาทต่อห้องพัก ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรมในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยหวังให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ยังคงสามารถประกอบธุรกิจต่อไป ทั้งนี้ ได้มีการประเมินรัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 31,354,200 บาทต่อปี จากจำนวนห้องพักของโรงแรม783,855 ห้อง ในปี 2562 นี้

ตั้งนายกฯ นั่งประธานดูแลเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. เห็นชอบให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2556 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2558 และปรับปรุงขึ้นใหม่โดยกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน พื้นที่ระเบียบเศรษฐกิจพิเศษและให้มีคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่หน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายแนวทางการดำเนินงานและการบริหารการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นใหม่ เพื่อเป็นกลไกในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ในการบริหารจัดการ กำกับติดตาม และสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยนิยาม “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ในร่างระเบียบฯ ใหม่หมายถึงพื้นที่ ดังนี้

พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรี เชียงราย ตาก ตราด นครพนม นราธิวาส มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว และหนองคาย พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง-ภาคตะวันตก และบริเวณพื้นที่อื่นที่กำหนดเพิ่มเติมโดยคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีด้วย

แจงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูการบินไทย

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานให้ ครม. ทราบเกี่ยวกับผลการดำเนินการฟื้นฟูการบินไทยว่ามีกิจกรรมสำคัญที่ต้องดำเนินการก่อนไปไต่สวนคำร้องหลังจากศาลรับคำร้องเมื่อ 26 พฤษภาคม 2563 โดยศาลกำหนดให้ไต่สวน 17 สิงหาคม 63 ประกอบไปด้วย 7 กลุ่มย่อย ได้แก่

การดำเนินการกับเจ้าหนี้ คู่ค้า และการชำระหนี้, การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับศาลต่างประเทศ, การดำเนินการทางด้านทรัพยากรบุคคล, การติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก, การบริหารจัดการข้อมูลและเอกสารที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการ, การสนับสนุนการจัดเตรียมสำเนาเอกสารเพื่อแจ้งเจ้าหนี้ และการดำเนินการเรื่องงบประมาณและประมาณการผลการดำเนินงาน  ทั้งนี้ ซึ่งจะต้องได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนเชิงนโยบายจากภาครัฐเพื่อบรรลุผลการการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป

“เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น ระหว่างนี้ต้องเจรจากับเจ้าหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้คัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยและที่ปรึกษากฎหมายกำหนดดำเนินการอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างแบ่งกลุ่มประเทศที่จะยื่นรับรองการฟื้นฟูกิจการในต่างประเทศ เพื่อไม่ให้ถูกยึดทรัพย์ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน เงินฝาก หรือทรัพย์สินอื่นๆ โดยปัจจุบันได้ยื่นเรื่องไปที่สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น และอยู่ระหว่างการยื่นต่อศาลสหรัฐ”

อุดหนุนชาวไร่อ้อยตันละ 85-92 บาท วงเงิน 10,000 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. รับทราบอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรไร่อ้อย ตามโครงการช่วยเหลือเกษตรชาวไร่อ้อย เพื่อซื้อปัจจัยการผลิต ฤดูกาลผลิต 2562/63 โดยแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือให้แก่เกษตรกรที่ส่งอ้อยเข้าโรงงานทุกราย ตันละ 85 บาท รายละไม่เกิน 5,000 ตัน วงเงินรวม 6,500 ล้านบาท ส่วนที่สองให้เฉพาะเกษตรกรที่ตัดอ้อยสดเข้าโรงงานทุกตันอ้อย อัตราตันละ 92 บาท รวมเป็นวงเงิน 3,500 ล้านบาท เพื่อจูงใจไม่ให้เกษตกรเผาอ้อย

“ส่วนของโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ซื้อปัจจัยการผลิจ ครม. ได้อนุมัติไปตั้งแต่ 21 เมษายน 2563 แต่ให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปทำรายละเอียดอัตราการจ่ายเงินอีกครั้งหนึ่ง ขอย้ำอีกทีว่าโครงการนี้สืบเนื่องจากภัยแล้งที่รุนแรงเป็นอย่างมาก จากที่เคยคาดการณ์ผลผลิตไว้ว่า 100 ล้านตัน กลับเหลือเพียง 74.89 ล้านตันเท่านั้น นอกจากผลผลิตที่ลดลง ต้นทุนการผลิตทำไร่อ้อยสูงขึ้นจาก 1,110 บาทต่อตัน ได้เพิ่มไปถึง 1,419 ต่อตัน รัฐบาลจึงต้องช่วยเหลือ”

ธ.ก.ส.จ่ายประกันราคามันสำปะหลังแล้ว 4,842 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. รับทราบโครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง โดยปัจจุบันธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาจากโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 62/63 จนถึง 23 พฤษภาคม 2563 ไปแล้ว 4,842 ล้านบาท คิดเป็น 51% ของวงเงินทั้งหมด มีเกษตรกรได้รับเงิน 398,704 ครัวเรือน และเหลืองบประมาณที่ต้องจ่ายอีก 5,047 ล้านบาท

“ในภาพรวมเกษตรกรและผู้ประกอบการมีพึงพอใจในการประกันรายได้ แต่ปัญหาเรื่องจ่ายเงินล่าช้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินแก้ไข นอกจากนี้ ท่านนายกฯได้เน้นย้ำการป้องกันไม่ให้ลักลอบนำพืชผลเกษตรกรเข้ามาในประเทศไทยด้วย”

ผ่านร่างกม.เก็บ VAT แพลตฟอร์มต่างชาติ

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. e-service ของผู้ให้บริการในต่างประเทศ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศแก่ผู้ใช้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนในประเทศ และมีการใช้บริการดังกล่าวในประเทศ และมีรายได้จากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขายโดยไม่หักภาษีซื้อ

ในขั้นตอนต่อไปต้องเข้าสู่ขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นและการตรวจแก้ไขจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และกรมสรรพากรจะจัดทำคู่มือที่เกี่ยวข้องโดยละเอียดต่อไป อนึ่ง คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะสร้างรายได้แก่รัฐได้ 3,000 ล้านบาท

“กฎหมายนี้เคยมีข่าวแล้วที่เรียกว่าการจัดเก็บภาษี e-business แต่ในชั้น ครม. ได้ปรับชื่อใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการในต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ให้บริการในรูปแบบต่างๆจำนวนมาก เช่นภาพยนต์ เพลง เกม หรือการจองโรงแรม ทั้งนี้ ธุรกิจแบบนี้ปัจจุบันยังไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในไทย แต่ขณะเดียวกันถ้าเป็นการให้บริการและจดทะเบียนในไทยยังต้องเสียภาษีอยู่ จึงมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น และจำเป็นต้องออกกฎหมายนี้ โดยปัจจุบันมีหลายประเทศที่ดำเนินการลักษณะนี้เช่นออสเตรเลีย เกาหลีใต้”

ตั้งศูนย์ NTEC คาด 5 ปี สร้างรายได้ 10,000 ล้าน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (NTEC) ที่จะบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน โดยมีหน้าที่เป็นหน่วยงานเฉพาะทางในสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมีกรอบการวิจัยและพัฒนา 5 ประเด็น ในระยะเวลา 5 ปีตั้งแต่ 2563-2567 ได้แก่

พลังงานหมุนเวียน, ระบบเก็บกักพลังงานหรือแบตเตอรี่, พัฒนาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล, การจัดการระบบพลังงานและโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก และเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานทั้งทางไฟฟ้าและความร้อน รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากข้อเสียหรือผลพลอยได้จากอุตสาหกรรพลังงาน

“สืบเนื่องจากความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน และสร้างนวัตกรรมการผลิตพลังงานที่ประสิทธิภาพสูง ปัจจุบันความท้าทายของประเทศคือการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต และลดการนำเข้าพลังงาน ซึ่งปัจจุบันนำเข้าคิดเป็น 60% ของพลังงานที่ใช้ในประเทศ ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าวจะมีอัตรากำลังจะไม่มีภาระงบประมาณเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นบุคลากรเพิ่มที่ปฏิบัติงานของสวทช.อยู่แล้ว”

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีแรกจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มาก 10,000 ล้านบาท จากหลายองค์ประกอบ เช่น การลดค่าใช้จ่ายจาการนำเข้าเทคโนโลยีต่างประเทศ ลดต้นทุนการผลิต การสร้างรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ ยังสามารถเทคโนโลยีให้ธุรกิจพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 10 ราย สร้างเครือข่ายทางด้านพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 60 พันธมิตร มีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ฯ ไม่น้อยกว่า 120 ราย และแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศโดยใช้เทคโนโลยีเชิงลึกได้

อาเซียนประกาศความร่วมมือสวัสดิการสังคมฯ ดูแลกลุ่มเปราะบาง

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ต่อกลุ่มเปราะบางในอาเซียน (Joint Statement of the ASEAN Ministerial Meeting on Social Welfare and Development on Mitigating Impacts of COVID-19 on Vulnerable Groups in ASEAN) ตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ซึ่งจะมีการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video conference) ในวันพุธที่ 10 มิถุนายน 2563

มีสาระสำคัญคือ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมของรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ในการตระหนักถึงความร้ายแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิตความเป็นของเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สุงอายุ ผู้ยากไร้ กลุ่มคนชายขอบในสังคม รวมถึงความจำเป็นในการปกป้องคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนเหล่านี้อย่างเร่งด่วน

โดยให้คำมั่นว่าจะดำเนินการและผลักดันในประเด็นต่อไปนี้

  1. สร้างหลักประกันการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคมในเวลาที่เหมาะสม ด้วยการจัดสรรงบประมาณภาครัฐที่เพียงพอสำหรับการช่วยเหลือสังคม
  2. ปกป้องสิทธิ ความปลอดภัย และศักดิ์ศรี
  3. สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและความปลอดภัยให้นักสังคมสงเคราะห์
  4. เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับชาติและความร่วมมือระหว่างสาขาในระดับอาเซียน
  5. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการฟื้นฟูเยียวยาภายหลังการสิ้นสุดของการแพร่ระบาดแบบบูรณาการและครอบคลุม
  6. ยึดมั่นที่จะพัฒนาแผนงานและมาตรการต่อเนื่องที่ผนวกรวมประเด็นคนพิการ คำนึงถึงมิติชายหญิง ตระหนักถึงมิติด้านอายุ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของของเด็ก

หนุน ขรก. ใส่ผ้าไทย สัปดาห์ละ 2 วัน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ และสวมใส่ผ้าไทยที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่าอยากส่งเสริมให้ข้าราชการและประชาชนแต่งกายด้วยผ้าไทยตามความเหมาะสมของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน

ซึ่งมีกรมพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรการดังกล่าว รวมทั้งให้ทุกกระทรวงพิจารณาจัดทำมาตรการ และส่งเสริมสนับสนุนการใช้ และสวมใส่ผ้าไทยไม่ว่าจะเป็นการสร้างความรับรู้ให้ประชาชนผ่านกิจกรรม สื่อ การประชุม แผ่นพับ สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หรือการจัดนิทรรศการผ้าไหม

“นายกฯ ได้เน้นเรื่องการส่งเสริมชุมชนในท้องถิ่น เนื่องจากชาวบ้านจะใช้เวลาว่างจากการทำนามาปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้า ซึ่งกว่าจะได้ผ้า 1 ผืนใช้เวลานานเกือบเดือน ทำให้มีราคาสูง หากเราช่วยกันสนับสนุนเงินก็จะไปถึงฐานชุมชนได้อย่างแท้จริง”

ผ่านร่าง พ.ร.ฎ.ปฏิรูปกองทัพ ลดยศ-ตำแหน่งทหาร

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ระเบียบข้าราชการพลเรือนกลาโหม ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่ง การบรรจุ การแต่งตั้ง การปรับตำแหน่ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การบังคับบัญชา วินัย การออกจากราชการ ซึ่งรวมทุกด้านเกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนกลาโหม สอดคล้องกับการปฏิรูปกองทัพที่จะมีการลดยศ และตำแหน่งของทหารลง เพื่อเปลี่ยนมาเป็นข้าราชการพลเรือนกลาโหมมากขึ้น

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าควรออกหลักเกณฑ์ต่างๆ ออกมาให้ครอบคลุม เพื่อให้มีข้าราชการกลาโหมได้เร็วมากขึ้น

ดึง “พสิษฐ์” กลับเข้ารับราชการกระทรวงยุติธรรม

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม​ ครม. มีมติอนุมัติ แต่งตั้ง นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ผู้ไปปฏิบัติงานตามมติ​ ครม. กลับเข้ารับราชการให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาเฉพาะด้านกฎหมายมหาชน (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ตามที่​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอ

สำหรับในส่วนของเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือน ให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

โดยก่อนหน้านี้กระทรวงยุติธรรมได้มีคำสั่งให้ นายพสิษฐ์ ลาออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานตามมติ ครม. (ซึ่งคำสั่งดังกล่าวออกตามความในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการ ซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการ พ.ศ. 2550) โดยปฏิบัติหน้าที่ที่สถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ซึ่งจะครบกำหนด 4 ปี ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 โดยนายพสิษฐ์ ได้ยื่นแบบขอกลับเข้ารับราชการ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เนื่องจากครบกำหนด 4 ปี

พร้อมกันนี้ ครม. ได้มีมติเห็นชอบ แต่งตั้งนายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ดำรงตำแหน่งเลขานุการ รมว.อุตสาหกรรม ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

ตั้ง “บวรศักดิ์” นั่งหัวโต๊ะคกก.ปฎิบัติราชการทางปกครอง

นางสาวไตรศุลี กล่าวต่อไปว่า ครม. มีมติอนุมัติ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง รวม 10 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระ 3 ปี ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ดังนี้

  1. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการ​
  2. นายนันทวัฒน์ บรมานันท์
  3. นายนิพนธ์ ฮะกีมี
  4. นายบุญอนันต์ วรรณพานิชย์
  5. นายประสงค์ วินัยแพทย์
  6. นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง
  7. นายฤทัย หงส์สิริ
  8. นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์
  9. นายอธิคม อินทุภูติ
  10. นายเอกบุญ วงศ์สวัสดิ์กุล

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2563เพิ่มเติม