ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ย้ำจุดยืนรัฐบาลไม่มีนโยบาย แก้ ม.112-มติ ครม. จัดงบฯ 3,625 ล้าน หนุนผลิต “ChulaCov19-ใบยา”

นายกฯ ย้ำจุดยืนรัฐบาลไม่มีนโยบาย แก้ ม.112-มติ ครม. จัดงบฯ 3,625 ล้าน หนุนผลิต “ChulaCov19-ใบยา”

4 พฤศจิกายน 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ ย้ำจุดยืนรัฐบาลไม่มีนโยบายแก้ไข ม.112 — เผยเปิดประเทศ 3 วัน พบผู้เดินทางเข้าไทย 7,124 คน ติดโควิดฯ 6 คน — เดินหน้าตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร — มติ ครม. จัดงบฯ 3,625 ล้าน หนุนผลิตวัคซีน “ChulaCov19-ใบยา” — เพิ่ม “ค้าสื่อลามก-หนีภาษี-เก็บ ดบ.โหด” เป็นความผิดตาม กม.ฟอกเงิน — ไฟเขียวตั้งผู้ว่าฯ 8 จังหวัด

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเลื่อนมาจากกำหนดการเดิมในวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ดร.รัชดา ธนาดิเรก และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี

ย้ำจุดยืนรัฐบาล ไม่มีนโยบายแก้ ม.112

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงจุดยืนของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ว่า ในนามของนายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาล “ไม่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112” โดยจะบริหารประเทศบนหลักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

แจง รมต. ไม่ไปตอบกระทู้สดในสภาฯ เหตุติดประชุม ครม.

ดร.รัชดายังชี้แจงกรณีที่รัฐมนตรีบางรายไม่ได้เข้าไปตอบกระทู้สดในการประชุมสภาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงกับนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาไว้แล้วว่า การประชุมสภาตรงกับวันประชุม ครม. เป็นกรณีพิเศษ ทำให้รัฐมนตรีไม่สามารถตอบกระทู้สดได้ เนื่องจากมีวาระการประชุมเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประเทศ เปิดโรงเรียนและสถานการณ์เศรษฐกิจ พืชผลการเกษตร โดยขอให้สมาชิกฝ่ายค้านเข้าใจความจำเป็น และอย่าตีความว่ารัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับการตอบกระทู้สด

เผยเปิดประเทศ 3 วัน พบเดินทางเข้าไทย 7,124 คน ติดโควิดฯ 6 คน

ดร.รัชดากล่าวต่อว่า ในการประชุม ครม. วันนี้ ศบค. ได้รายงานตัวเลขภายหลังการเปิดประเทศว่าข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมด 7,124 คนจากทุกช่องทาง ทั้งประเทศความเสี่ยงต่ำ, ระบบแซนด์บ็อกซ์ และระบบกักกันตัว โดยจำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 6 คนเท่านั้น

ดร.รัชดาชี้แจงประเด็น Thailand Pass ว่า แม้ระบบจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน แต่จะสามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบในวันที่ 8 พฤศจิกายน โดยระหว่างนี้ถือเป็นระยะเปลี่ยนผ่าน นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะอยู่ภายใต้ระบบ Certificate of Entry หรือ COE จนกว่าจะถึงวันที่ระบบเปิดให้ใช้บริการ

ส่วนเรื่องการเปิดเทอม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้รายงานให้ ครม. ทราบถึงการฉีดวัคซีนให้บุคลากรการศึกษาว่า ข้อมูลถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน ได้ดำเนินการฉีดให้ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข็มที่ 1 ประมาณ 800,000 คน เข็มที่ 2 ประมาณ 550,000 คน โดยมีกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดอีกประมาณ 87,000 คน และมีนักเรียนอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่ได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์อยู่ที่ 3 ล้านคน คิดเป็น 78% จากยอดแจ้งประสงค์ 3.84 ล้านคน (ข้อมูลวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564)

รอ พปชร. เสนอชื่อวิปรัฐบาลคนใหม่

ดร.รัชดากล่าวถึงประเด็นการแต่งตั้งวิปฝ่ายรัฐบาลคนใหม่ว่า “ทางพรรคพลังประชารัฐกำลังเสนอชื่อคนที่มีความเหมาะสมให้นายกรัฐมนตรี จากนั้นจะลงนามแต่งตั้ง โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้”

เปิดกว้าง พร้อมรับคนรุ่นใหม่เข้าทำงาน

ส่วนคำถามที่ว่า “หนึ่งปีครึ่งของพลเอก ประยุทธ์ จะปรับวิธีการทำงานและรับแรงเสียดนามจากภายนอกและภายในได้อย่างไร” น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบว่า “นายกรัฐมนตรียังคงมุ่งมั่นในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคความเดือดร้อนจากทุกเรื่อง เป็นนายกฯ ก็ต้องอดทนเพื่อให้เกิดผลสำเร็จ บางเรื่องผลสำเร็จไม่ได้เห็นผลทันที แต่ในอนาคตเกิดแน่นอน ดีต่อประเทศชาติและประชาชน”

ถามว่าถ้าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จะปรับภาพการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่อย่างไร และเพื่อให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น น.ส.ไตรศุลี ตอบว่า นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีปัญหาการทำงานกับคนรุ่นใหม่ เพราะได้พูดคุยกับคนได้ทุกรุ่นทุกวัย ทุกเรื่องเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ นายกฯ ก็พร้อมรับฟัง ปรับตัว และรับคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน

สั่งดำเนินคดี ขรก. มีเอี่ยวขบวนการลักลอบขนแรงงานเถื่อน

น.ส.ไตรศุลีกล่าวต่อว่า นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการอย่างเด็ดขาด กรณีแรงงานลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยสั่งตรวจสอบทั้งกระบวนการและผู้มีส่วนร่วม ไม่ว่าข้าราชการ ตำรวจ ทหาร หากพบว่ามีความผิดจริงต้องดำเนินคดีอย่างเร็วที่สุด

เดินหน้าตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร

ท้ายที่สุด น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีรับปากว่าจะดูแล ราคาน้ำมันอย่างเต็มความสามารถ โดยปัจจุบันรัฐบาลพยายามดึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก-น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

จัดงบฯ 3,625 ล้าน หนุนผลิตวัคซีน “ChulaCov19-ใบยา”

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. อนุมัติโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด19 ChulaCov19 mRNA เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีน เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน กรอบวงเงิน 2,316 ล้านบาท และเห็นชอบในหลักการโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (Baiya) กรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม (อว.) โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินเพิ่มเติมฯ พ.ศ.2564 มีรายละเอียดดังนี้

    1. โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 “ChulaCov19 mRNA” กรอบวงเงิน 2,316 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการทดสอบวิจัยในอาสาสมัครระยะที่ 3 เพื่อใช้ในการขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์ที่องค์การอาหารและยา (อย.) กำหนด และเพื่อการผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบระยะที่ 3 และเตรียมการผลิตสำหรับขึ้นทะเบียนรับรองจาก อย. ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตวัคซีนชนิด mRNA อย่างครบวงจร ทำให้ไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ใช้ได้เอง และสามารถต่อยอดเทคโนโลยีนี้สู่การผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคอื่นๆ รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการกำหนดกลไกการกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
    2. โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (Baiya ผลิตจากใบยา) กรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในส่วนของการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 อาสาสมัครอย่างน้อย 10,000 คน ตามหลักเกณฑ์ของ อย. ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ตั้งแต่ต้นน้ำด้วยตัวเอง และสามารถฉีดกระตุ้นภูมิให้ประชาชนคนไทยได้อย่างน้อย 60 ล้านโดสต่อปี โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในไทย และผ่านการทดสอบในระยะต่างๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ส่งผลให้ไทยมีข้อมูลการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศที่น่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่งจัดทำรายงานผลการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ของวัคซีนใบยา เสนอสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาอนุมัติงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

เพิ่ม “ค้าสื่อลามก-หนีภาษี-เก็บ ดบ.โหด” เป็นความผิดตาม กม.ฟอกเงิน

ดร.รัชดากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยปรับปรุงมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้สอดคล้องมาตรฐานสากลด้านการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism หรือ AML/CFTX) ซึ่งเป็นไปตามข้อแนะนำของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (The Financial Action Task Force หรือ FATF) เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เกิดความเป็นธรรมและการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังช่วยให้ไทยสามารถเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFTX ได้ทันตามรอบการประเมิน ซึ่งจะผลักดันให้ไทยเข้าเป็นสมาชิก FATF ภายในปี 2566 สำหรับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญ เช่น

    1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม “ความผิดมูลฐาน” ให้ครอบคลุมความผิดในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การค้าสื่อลามกอนาจารเด็ก การหลีกเลี่ยงหรือลักลอบหนีศุลกากร การปลอมเอกสารสิทธิ/เอกสารราชการ การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล การสมยอมในการเสนอราคา การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และเพิ่มบทนิยาม “ผู้ประกอบอาชีพ” ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับผู้ประกอบธุรกิจในไทย
    2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับแจ้ง การรวบรวม และจัดส่งข้อมูลของพนักงานศุลกากรให้สำนักงาน ปปง. ครอบคลุมตราสารเปลี่ยนมือข้ามแดน (จากเดิมกำหนดเฉพาะเงินตราหรือเงินตราต่างประเทศ) รวมทั้งกำหนดให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจยึดเงินตรา เงินตราต่างประเทศ และตราสารเปลี่ยนมือข้ามแดนดังกล่าวได้
    3. กำหนดหน้าที่สมาคม มูลนิธิ และองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน การสนับสนุน ทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯ เช่น การจัดทำงบการเงินประจำปี ที่ระบุแหล่งที่มาของรายได้ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้บริหารหรือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ และหากมีเหตุอันควรสงสัย สำนักงาน ปปง. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สั่งระงับการทำธุรกรรมเป็นการชั่วคราวได้
    4. กำหนดหลักเกณฑ์การเก็บรักษารายละเอียดของข้อมูล หรือเอกสารเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า
    5. เพิ่มบทบัญญัติความผิด กรณีใช้/ยอมให้บุคคลอื่นใช้ข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐาน หรือเป็นตัวกลางในการจัดหาข้อมูล เอกสารหรือหลักฐานของบุคคลอื่น เพื่อประโยชน์ในการปกปิดตัวตนในการทำธุรกรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ เพื่อให้การปรับปรุงกฎหมายมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ที่ประชุมให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นำร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเป็นความผิดมูลฐาน) รวมเป็นฉบับเดียวกันกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ รวมถึงให้พิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานของค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปัน (NGOs) ให้มีความสดคล้องกันด้วย เพื่อไม่ให้มีการออกกฎหมายหลายฉบับที่มีหลักการซ้ำซ้อนกันหรือขัดแย้งกัน

ดร.รัชดากล่าวต่อว่า เมื่อร่างพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง ในการเป็นเครื่องมือทางกฎหมายของภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ เกิดความเป็นธรรม และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน รวมทั้งการมีกฎหมายที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในเวทีระหว่างประเทศ

รับทราบความคืบหน้าแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานผลการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) ประจำปี 2563 ประกอบด้วย 7 มาตรการหลัก 17 มาตรการย่อย และแผนงานสนับสนุน 65 แผนงาน โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 29 แผนงาน อยู่ระหว่างดำเนินการ 32 แผนงาน ล่าช้ากว่ากำหนด 3 แผนงาน และไม่เป็นไปตามแผน 1 แผนงาน

สำหรับมาตรการหลัก 7 แผนงานประกอบด้วย

    1. การเป็นแหล่งทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) วิสาหกิจเริ่มต้น (สตาร์ทอัป) และนวัตกรรม มุ่งเน้นการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัป เข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยการสนับสนุนนวัตกรรม ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แผนงาน ได้แก่ การระดมทุนของกิจการจากบุคคลจำนวนมากด้วยการเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบคราวด์ฟันดิง ด้วยระบบสินเชื่อออนไลน์ระหว่างบุคคล และเตรียมการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรองรับการซื้อขายสำหรับนักลงทุนประเภทพิเศษ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 2 แผนงาน
    2. การเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ดำเนินการแล้วเสร็จ 1 แผนงาน คือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1 แผนงาน และล่าช้ากว่ากำหนด 1 แผนงาน คือ การพิจารณาหลักเกณฑ์ทางภาษีของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
    3. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย มี 33 แผนงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 19 แผนงาน เช่น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อยู่ระหว่างดำเนินการ 12 แผนงาน ล่าช้ากว่ากำหนด 1 แผนงาน และไม่เป็นไปตามแผน 1 แผนงาน
    4. การพัฒนาให้ตลาดทุนไทยเป็นจุดเชื่อมโยงของภูมิภาค มี 7 แผนงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แผนงาน เช่น การอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการนำเงินไปลงทุนในกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม และอยู่ระหว่างดำเนินการ 5 แผนงาน
    5. การมีแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุมี 8 แผนงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แผนงาน คือ การศึกษาเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเป็นแหล่งเงินออมสำคัญในการรองรับการเกษียณอายุ และการจัดให้มีกฎหมายเพื่อรองรับธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ อยู่ระหว่างดำเนินการ 5 แผนงาน และล่าช้ากว่ากำหนด 1 แผนงาน คือการพัฒนาทักษะทางการเงินของคนไทย
    6. การพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล มี 3 แผนงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 1 แผนงาน คือ การพัฒนาการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน และอยู่ระหว่างดำเนินการ 2 แผนงาน
    7. การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนมี 7 แผนงาน ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 แผนงาน คือ การพัฒนาศูนย์รวมข้อมูลสำหรับหลักทรัพย์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้และกองทุนรวม และอีกแผนงานคือ การออกพันธบัตรสีเขียว พันธบัตรเพื่อสังคม และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม และอยู่ระหว่างดำเนินการ 5 แผนงาน

เห็นชอบผลประชุม JC ไทย-ลาว ครั้งที่ 22

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างบันทึกการประชุมและร่างแถลงข่าวร่วมของการประชุม JC ไทย-ลาว ครั้งที่ 22 เพื่อให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมรับรองร่างบันทึกการประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของลาวในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 และกระทรวงการต่างประเทศเผยแพร่แถลงข่าวร่วมฯ ต่อสาธารณชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม หากมีการแก้ไขร่างบันทึกการประชุมและร่างแถลงข่าวร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม. อีก

สำหรับการประชุม JC ไทย-ลาว ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 3-4 พฤศจิกายน 2564 จะช่วยกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาว เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ร่างบันทึกการประชุมและแถลงข่าวร่วมฯ จะแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ร่วมของรัฐบาลทั้งสองประเทศที่จะส่งเสริมความร่วมมืออย่างรอบด้านทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี รวมทั้งการพบปะแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันของเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ ทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่น เพื่อมุ่งเน้นและผลักดัน ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย-ลาว ให้ก้าวไปสู่ความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้มีผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง

ส่วนเนื้อหาของร่างบันทึกการประชุมและแถลงข่าวร่วมฯ ทั้งไทยและลาวจะร่วมกันผลักดันความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากกโควิด-19 เช่น การรักษาความเรียบร้อยตามแนวชายแดน, การส่งเสริมความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและด้านมาตรการและกฎระเบียบต่างๆ, การส่งเสริมการค้าชายแดนและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และการส่งเสริมการพัฒนาประเทศ ด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น

เพิ่มวันหยุดปี ’65 อีก 4 วัน กระตุ้นท่องเที่ยว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบภาพรวมวันหยุดราชการประจำปี 2565 จำนวน 19 วัน และให้ความเห็นชอบการกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษประจำปี 2565 จำนวน 4 วัน ได้แก่ วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2565 ทำให้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 5 วัน, วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม 2565 ทำให้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 4 วัน, วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2565 ทำให้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 4 วัน และวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2565 ทำให้มีวันหยุดติดต่อกัน 4 วัน เพื่อให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่องกันในแต่ละช่วงเชื่อมโยงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางและส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการประกาศเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศด้วย

ทั้งนี้ในกรณีที่หน่วยงานใดมีภารกิจในการให้บริการประชาชน หรือมีความจำเป็นหรือมีราชการสำคัญในวันหยุดราชการดังกล่าว ที่ได้กำหนดหรือนัดหมายไว้ก่อน หากยกเลิกหรือเลื่อนไปจะเกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร โดยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและกระทบต่อการให้บริการประชาชน สำหรับในส่วนของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงแรงงาน พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดเป็นวันหยุดให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณีต่อไป

สำหรับวันหยุดราชการประจำปี 2565 จำนวน 19 วันมีดังนี้ วันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม, วันหยุดชดเชยวันขึ้นปีใหม่ 3 มกราคม, วันมาฆบูชา 16 กุมภาพันธ์, วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ 6 เมษายน, วันสงกรานต์ 13-15 เมษายน รวม 3 วัน, วันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม, วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เดือนพฤษภาคม ซึ่งทางสำนักพระราชวังจะประกาศว่าเป็นวันไหนเป็นปีๆไป, วันวิสาขบูชา 15 พฤษภาคม, วันหยุดชดเชยวันวิสาขบูชา 16 พฤษภาคม, วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน, วันอาสาฬหบูชา 13 กรกฎาคม, วันเข้าพรรษา 14 กรกฎาคม, วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม, วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงและวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม, วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม, วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม, วันหยุดชดเชยวันปิยมหาราช 24 ตุลาคม, วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม, วันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม, วันหยุดชดเชยวันรัฐธรรมนูญ 12 ธันวาคมและวันสิ้นปี 31 ธันวาคม

สำหรับวันหยุดประจำภาค ในปี 2564 ที่ ครม. เคยกำหนดให้หยุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวนั้น ในปี 2565 ยังไม่ได้กำหนดเป็นวันหยุดประจำภาค ซึ่งในปี 2565 จะมีการการประเมินสถานการณ์และประกาศกำหนดล่วงหน้าเมื่อมีจังหวะที่สมควร

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบกำหนดให้วันอังคารที่ 28 ธันวาคม 2564 เป็นวันหยุดราชการประจำภาคตะวันออก ซึ่งเป็นวันพระเจ้าตากสินมหาราช

เวนคืนที่ดินทำถนนเชื่อม “สุขาภิบาล 5 -นิมิตใหม่” 4,216 ล้าน

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่าง ถนนสุขาภิบาล 5 (ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช) กับถนนนิมิตใหม่ ซึ่งการเวนคืนครั้งนี้จะอยู่ในท้องที่แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน แขวงคลองถนน แขวงออเงิน เขตสายไหม และแขวงสามวาตะวันตก แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการของ กทม. เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขต กทม. และปริมณฑล บรรเทาภาระการจราจรบนถนนสายหลัก และเพิ่มพื้นที่ถนนในเขตชานเมือง รวมทั้งเพิ่มโครงข่ายการจราจรในพื้นที่ กทม. ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ช่วยให้ประชาชนเดินทางสู่ถนนสายหลักที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ ถนนพหลโยธิน ถนนรามอินทรา ถนนสุวินทวงศ์ ทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษหมายเลข 9 ได้สะดวก

สำหรับลักษณะของโครงการเป็นการก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 8 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร กว้างประมาณ 60-80 เมตร ซึ่งทางสำนักงบประมาณแจ้งว่า กทม.มีแผนการจัดกรรมสิทธิ์และการเบิกจ่ายค่าทดแทน ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2564 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2569 ประมาณการค่าจัดกรรมสิทธิ์จำนวน 4,216 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณของ กทม. ทั้งจำนวน ทั้งนี้การดำเนินการจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน

เพิกถอนที่ป่าสงวนลำโดมใหญ่ ต.สีวิเชียร อ.น้ำยืน จ.อุบลฯ 502 ไร่

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่บางส่วน ในท้องที่ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว รวมพื้นที่ 502 ไร่ 3งาน 74.25 ตารางวา ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในพื้นที่ที่มีการออกใบจองไว้แล้ว ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวทับซ้อนกับพื้นที่ของโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่น้ำยืน ซึ่งคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติพิจารณาอนุมัติให้จังหวัดอุบลราชธานีดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อจัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้แก่ราษฎร

เพิ่มงบฯเยียวยาผลกระทบเสียงจากการสร้างรันเวย์ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์การชดเชยผู้ได้รับผลกระทบด้านเสียงจากการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากเดิมที่ชดเชยเฉพาะอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2549 เป็นชดเชยเฉพาะอาคารที่ก่อสร้างอยู่ก่อนจนถึงวันที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง (Environmental and Health Impact Assessment หรือ EHIA) โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 และ 4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติวันที่ 20กรกฎาคม 2563

นอกจากนี้ ครม. ยังได้อนุมัติการขยายกรอบวงเงินลงทุนโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในส่วนของงบประมาณสำหรับดำเนินการชดเชยผลกระทบด้านเสียงเนื่องจากการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 เพิ่มขึ้น 6,254.94 ล้านบาท ทำให้วงเงินชดเชยผลกระทบด้านเสียงเพิ่มขึ้นเป็น 12,564.10 ล้านบาท และส่งผลให้โครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 มีวงเงินลงทุนเพิ่มขึ้นจาก 21,795.94 ล้านบาท เพิ่มเป็น 28,050.88 ล้านบาท

ตั้ง “บัณฑิต เอื้ออาภรณ์” ประธาน สพฐ.- “ทัศนีย์ เปาอินทร์” นั่งอธิบดีกรมบังคับคดี

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า วันนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ และเห็นชอบเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ มีรายละเอียดดังนี้

1. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอแต่งตั้ง นางสาววันทนา แจ้งประจักษ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งรองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอแต่งตั้ง นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

3. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงยุติธรรม)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 4 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

    1. นางสาวรวิวรรณ์ ศรีวนาภิรมย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    2. นางสาวนันทรัศมิ์ เทพดลไชย รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    3. นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    4. นางทัศนีย์ เปาอินทร์ รองอธิบดีกรมบังคับคดี ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมบังคับคดี

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

4. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอแต่งตั้ง นายเทพสุ บวรโชติดารา ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

5. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียม

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้งบุคคล 5 คน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการปิโตรเลียมสำหรับวาระต่อไป ดังนี้

    1) นางสาวนารี ตัณฑเสถียร อธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย สำนักอัยการสูงสุด
    2) นายพล ธีรคุปต์ อาจารย์พิเศษ ตำแหน่งศาสตราภิชาน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (นักวิเคราะห์นโยบาย และแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพากร
    3) นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
    4) นายจิรวัฒน์ ชีวรุ่งโรจน์ อาจารย์ประจำ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    5) นายพงศา พรชัยวิเศษกุล อาจารย์ประจำ ตำแหน่งรองศาสตราจารย์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี ทั้งนี้ นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

6. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวม 17 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสี่ปี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 ดังนี้

    1. ศาสตราจารย์บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการ
    2. นายวิสิทธิ์ ใจเถิง กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชน
    3. นายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ์ กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    4. นายปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรวิชาชีพ
    5. นางชลิดา อนันตรัมพร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านธุรกิจและการบริการ)
    6. นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการประถมศึกษา/ด้านการงบประมาณ)
    7. นายบุญรักษ์ ยอดเพชร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการอาชีวศึกษา/ด้านการบริหารการศึกษา)
    8. นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ)
    9. นายปราโมทย์ แก้วสุข กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการมัธยมศึกษา)
    10. นางพรรณพิมล วิปุลากร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส)
    11. นายวิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย)
    12. นางศรินธร วิทยะสิรินันท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษาเพื่อคนพิการ)
    13. รองศาสตราจารย์ศิริเดช สุชีวะ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการบริหารการศึกษา)
    14. นายสนิท แย้มเกสร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการบริหารงานบุคคล/ด้านการกีฬา)
    15. นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านอุตสาหกรรม)
    16. นายอำนาจ วิชยานุวัติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย/ด้านการศึกษาเอกชน/ด้านการศึกษาปฐมวัย)
    17. พระพรหมบัณฑิต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

ไฟเขียวตั้งผู้ว่าฯ 8 จังหวัด

7. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง กระทรวงมหาดไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 19 ราย ดังนี้

    1. นายโสภณ สุวรรณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    2. นางสาวปาณี นาคะนาท รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    3. นายสุพจน์ ยศสิงห์คำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    4. นายสันติธร ยิ้มละมัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    5. ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    6. นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    7. นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    8. นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    9. ร้อยโท ทศพล ไชยโกมินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    10. นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    11. นายพิจิตร บุญทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
    12. นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร
    13. นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
    14. นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
    15. นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน
    16. นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ รองอธิบดีกรมการปกครอง ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา
    17. นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
    18. นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน
    19. นายขจร ศรีชวโนทัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 เพิ่มเติม