ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กป้อม”ท้า “สุดารัตน์” เปิดคลิป พปชร.จ้าง ส.ส.เพื่อไทยย้ายพรรค – มติ ครม.เห็นชอบแผนบริหารหนี้ปี’63 กู้เพิ่ม 8.9 แสนล้าน

“บิ๊กป้อม”ท้า “สุดารัตน์” เปิดคลิป พปชร.จ้าง ส.ส.เพื่อไทยย้ายพรรค – มติ ครม.เห็นชอบแผนบริหารหนี้ปี’63 กู้เพิ่ม 8.9 แสนล้าน

24 กันยายน 2019


พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

“บิ๊กป้อม” ท้า “สุดารัตน์” เปิดคลิป พปชร.จ้าง ส.ส.เพื่อไทยย้ายพรรค – มติ ครม.เห็นชอบแผนบริหารหนี้ปี 63 กู้เพิ่ม 8.9 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดภารกิจอยู่ระหว่างเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ (United Nations General Assembly หรือ UNGA) ครั้งที่ 74 และเข้าร่วมการประชุมสำคัญที่เกี่ยวเนื่อง ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

สั่งมหาดไทยโอนเงินช่วยน้ำท่วม 5 พันบาท/ครอบครัวสิ้นเดือนนี้

พล.อ. ประวิตร ตอบคำถามถึงหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ประสบภัยใน 29 จังหวัดจะได้รับเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 5,000 บาท และจะได้รับเงินช่วยเหลือในส่วนการซ่อมบ้านอีกต่างหาก โดยจะใช้งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น โดยได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการให้รวดเร็ว

“ก็เป็นมาตรการระยะสั้น และจะมีมาตรการระยะยาวต่อเนื่องกัน ตอนนี้ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้กลับเข้าบ้านโดยเร็วที่สุด เพื่อที่เขาจะได้มีกำลังใจ ซึ่งรัฐบาลจะทำให้เร็วที่สุด ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนเรื่องการทุจริตและความโปร่งใส ได้กำชับไว้เรียบร้อย รัฐบาลจะไม่ทำให้เกิดความคลุมเครือ จะทำให้เกิดความโปร่งใสที่สุดเท่าที่ทำได้ และให้เงินถึงมือประชาชนโดยเร็วที่สุด” พล.อ. ประวิตร กล่าว

เมื่อถามว่า เงินจำนวนดังกล่าวจะถึงมือประชาชนเมื่อไหร่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า เงินจะโอนถึงมือประชาชนทุกครัวเรือนภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ พร้อมยืนยันจะทำให้เร็ว ซึ่งตนได้กำชับกับกระทรวงมหาดไทยไปแล้ว

เมื่อถามว่า ต้องมีการประเมินก่อนจ่ายเงินหรือไม่ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ไม่ต้องแล้ว และขณะนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดกำลังสำรวจ

ด้าน พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวยาดังกล่าว ทางกระทรวงมหาดไทยโดยท้องถิ่นจะต้องรายงานข้อมูลเข้ามาโดยไม่ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีก ตอนนี้ขออนุญาตไม่บอกตัวเลขครัวเรือนที่จะต้องเยียวยาว่ามีจำนวนเท่าใด ยืนยันว่ารัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวตามความเป็นจริง จะเกินจะขาดและมั่วไม่ได้ ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

“เงินครัวเรือนละ 5,000 บาทยังไม่รวมถึงการจ่ายเงินให้บ้านเรือนที่เสียหายและต้องได้รับการซ่อมแซม ตรงนั้นต้องมีการสำรวจอีกครั้ง รวมถึงความเสียหายทางด้านการเกษตร โดยสรุปพื้นฐานจะช่วยเท่าไหร่และจะช่วยพิเศษอีกเท่าไหร่ ตรงนี้จะต้องทำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.อีกครั้ง เพื่อช่วยตามเกณฑ์” พล.อ. อนุพงษ์ กล่าว

สำหรับการซ่อมแซมบ้านเรือน ถ้าเป็นเงินเล็กน้อยเงินช่วยเหลือจะมาจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ถ้าบ้านเรือนเสียหายมากหรือพังทั้งหลัง ต้องใช้เงินของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และถ้าไม่พออีก ก็ต้องใช้เงินที่ได้รับจากการบริจาคเข้าไปเพิ่มเติม โดยการซ่อมแซมบ้านเรือนต้องทำให้เร็วที่สุด

ท้า “สุดารัตน์” เปิดคลิป พปชร.จ้าง ส.ส.เพื่อไทย ย้ายพรรค

พล.อ. ประวิตร ตอบคำถามถึงกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ยืนยันมีคลิปเสียงความพยายามของแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอให้อามิสสินจ้างให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย ย้ายอยู่พรรคพลังประชารัฐว่า “ถ้ามีก็เอาออกมาดิ ไม่มีหรอก หรือไม่ ก็ไปถามเขาดูถ้ามี”

ยังไม่มีข้อมูล “มือระเบิดป่วนกทม.” โยงกลุ่มการเมือง

พล.อ. ประวิตร ตอบคำถามถึงความคืบหน้าการติดตามมือป่วนลอบวางระเบิดกรุงเทพมหานครเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามตัว และได้มีการออกหมายจับไปทั้งหมดแล้ว

ซึ่งตนได้รับรายงานแล้วว่า ผู้ต้องหาได้หลบหนีไปต่างประเทศทางมาเลเซีย ยืนยันว่ายังไม่มีข้อมูลเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองใดๆ เนื่องจากเรายังไม่เจอตัวบุคคลเหล่านั้น แต่ถ้าได้เจอตัวบุคคลและนำมาสอบสวนก็อาจจะมีการเชื่อมโยงก็ได้ ยังไม่รู้

มติ ครม.มีดังนี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขาว) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

“บิ๊กป้อม” กำชับดูแล ปชช.ร่วมรับเสด็จ “ขบวนพยุหยาตราชลมารค”

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกฯ ได้กำชับต่อ ครม.ให้บูรณาการการทำงานเพื่ออำนวยความสะดวก และให้ความปลอดภัยกับพี่น้องประชาชนที่จะเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 24 ตุลาคม 2562 นี้

โดยหน้าที่ของทุกส่วนราชการคือต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ จะจัดให้มีจุดตรวจสุขภาพในบริเวณจุดตรวจทางเข้าต่างๆ มีจิตอาสาคอยดูแล มีรถวีลแชร์คอยบริการแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการ สำหรับการอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทางนั้น ได้มีการเตรียมจุดจอดรถ และรถรับส่งจากสถานที่จอดรถไปยังพื้นที่เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ ส่วนเรื่องการเตรียมความพร้อมพระราชพิธีครั้งนี้ ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน คาดว่าทุกอย่างจะดำเนินการไปได้ด้วยดี

อนุมัติงบกลาง 7,642 ล้าน ช่วยน้ำท่วม 29 จังหวัด

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัย) ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ จำนวน 7,642.40 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าดำรงชีพเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้ประสบภัยใน 29 จังหวัด เป็นกรณีพิเศษ ครัวเรือนละ 5,000 บาท

โดยผู้ประสบภัยจะต้องเข้าหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 กรณีนี้ ได้แก่ 1) กรณีน้ำท่วมถึงบ้านพักอาศัยโดยฉับพลันและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย 2) กรณีบ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย และ 3) กรณีบ้านพักอาศัยได้รับความเสียหายจากอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนโถล่ม

ทั้งนี้ ทั้ง 3 กรณีต้องเป็นบ้านพักที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ได้รับประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย หรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่อำเภอออกให้ และต้องมีการประชาคมในหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย

“กรณีที่มีผู้ประสบภัยซ้ำซ้อนทั้ง  3 กรณี จะได้รับความช่วยเหลือเพียงกรณีเดียว เช่นกันกับกรณีที่ผู้ประสบภัยจากพายุโพดุล และพายุดีเปรสชันคาจิกิ ก็ให้ได้รับความช่วยเหลือเพียงเหตุการณ์เดียว โดยให้จังหวัดที่ประสบภัยเร่งดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของหลักเกณฑ์และช่วยเหลือให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ตั้งแต่ได้รับจัดสรรงบประมาณ” นางสาวไตรศุลี กล่าว

อนึ่ง มีรายงานเบื้องต้นถึงผลสำรวจครัวเรือนผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยว่ามีทั้งสิ้น 418,549 ครัวเรือน คิดเป็นวงเงิน 2,092.40 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสถานการณ์ในอีกพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด และศีรสะเกษ ที่ยังคงมีครัวเรือนตกค้างอยู่ระหว่างการเร่งสำรวจจากเจ้าหน้าที่อยู่ ซึ่งหากผลสำรวจครบวงเงิน 7,642.40 ล้านบาท จะถูกจัดสรรเพื่อช่วยเหลือประชาชนครัวเรือนละ 5,000 บาทก่อนจนครบถ้วน และวงเงินที่เหลือจะจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยรับและดำเนินการต่อไป

“วันนี้มีการหารือกันถึงอัตราเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยกรณีต่างๆ โดยเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับพายุอีกลูกที่จะเข้าสู่ภาคใต้ของไทยในเดือนหน้านี้ด้วย ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ ได้ให้ความเห็นต่อที่ประชุมถึงเงินช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับระทบพายุโพดุลเตรียมช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,113 บาท นั้นเป็นจำนวนที่น้อยเกินไป แค่เพียงต้นทนการผลิตก็ไม่เพียงพอแล้ว กรณีดังกล่าวกระทรวงการคลังจึงนำกลับไปพิจารณา ทบทวนความเป็นไปได้ถึงวงเงินช่วยเหลือชาวนาฯ ต่อไป” นางสาวไตรศุลี กล่าว

กฟน.แจงแผนงานสายไฟลงดิน 37 ปี รวม 215 ก.ม. ทำเสร็จแค่ 46 ก.ม.

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประจำไตรมาส 1/2562 โดย กฟน.มีแผนดำเนินการโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าฯ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมระยะทาง 215.6 กิโลเมตร ตั้งแต่ปี 2527-2564 ดำเนินการแล้วเสร็จ 46.6 กิโลเมตร

ทั้งนี้มีแผนงานอยู่ระหว่างดำเนินการ 3 แผนงาน กรอบงบประมาณลงทุนรวม 66,705 ล้านบาท ได้แก่

  • แผนงานฯ ปี 2556-2556 (ฉบับปรับปรุง) ใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการนนทรี ระยะทาง 8.3 กิโลเมตร วงเงิน 2,900 ล้านบาท และโครงการพระราม 3 ระยะทาง 10.9 กิโลเมตร วงเงิน 5,635 ล้านบาท
  • แผนงานฯ รัชดาภิเษก ใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรัชดาภิเษก-อโศก ระยะทาง 8.2 กิโลเมตร วงเงิน 4,554 ล้านบาท (อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตเข้าพื้นที่ กทม.) และ รัชดาภิเษก-พระราม 9 ระยะทาง 14.3 กิโลเมตร วงเงิน 4,344 ล้านบาท (จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน)
  • แผนงานฯ รองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการพื้นที่เมืองชั้นใน ถนนวิทยุ ถนนอังรีดูนังต์ ชิดลม หลังสวน สารสิน พระราม 4 และสาธรร ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร วงเงิน 9,516 ล้านบาท โครงการในพื้นที่เชื่อมโยงระบบขนส่งระหว่างสถานีไฟฟ้าต้นทาง ถนนเจริญราษฎร์ เพชรบุรี และดินแดง ระยะทาง 7.4 กิโลเมตร วงเงิน 4,572 ล้านบาท และโครงการในพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับหน่วยสาธารณูปโภคอื่น (ตามแนวรถไฟฟ้า 8 สาย, พื้นที่ร่วม กทม. และพื้นที่ร่วม กปน.) ระยะทาง 107.3 กิโลเมตร วงเงิน 32,741 ล้านบาท

อนึ่งโรงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จแล้วได้แก่ โครงการถนนสีลม ปทุมวัน จิตรลดา ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร วงเงิน 787 ล้านบาท โครงการพหลโยธิน พญาไท สุขุมวิท ระยะทาง 24.4 กิโลเมตร วงเงิน 1,740 ล้านบาท และโครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) ระยะทาง 6 กิโลเมตร วงเงิน 553 ล้านบาท

ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แก้ไขจากฉบับ พ.ศ. 2542 เนื่องจากฉบับ พ.ศ. 2542 ขาดความยืดหยุ่นในบางมาตรา ส่งผลให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไม่สามารถรับภาระชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของเกษตรกรที่ไม่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ ประกอบกับวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร รวมถึงการกำหนดที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และสาขาของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่กำหนดในกฎหมายยังไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ จึงเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับ พ.ศ. 2542 มีสาระดังนี้

    1. แก้ไขเพิ่มเติมให้กองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรรับภาระชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของเกษตรกรที่มีบุคคลค้ำประกันได้ จากเดิมให้เฉพาะที่มีทรัพย์สินค้ำประกัน

    2. แก้ไขเพิ่มเติมวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกรและกรณีการพ้นจากตำแหน่งตามวาระให้กรรมการนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ รวมทั้งกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีความต่อเนื่องยิ่งขึ้น และประหยัดงบประมาณในการได้มาซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนเกษตรกร

    3. แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรมีอำนาจในการพิจารณากำหนดที่ตั้งสำนักงานใหญ่และสาขาของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ จากเดิมกำหนดให้ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ เท่านั้น ซึ่งที่ดินมีราคาสูงมาก

ขยายเวลาลงทะเบียนอุดหนุนเด็กแรกเกิด ชี้ตกค้างเกือบ 6 แสนคน

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการอุดหนุนเด็กแรกเกิดออกไปจนถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนกันยายน 2562 รวมวงเงินกว่า 1,800 ล้านบาท ภายหลังจากพบว่ามีเด็กที่มีสิทธิที่ยังไม่ได้มาลงทะเบียนอีก 579,693 คน โดยเด็กที่เข้าข่ายได้รับการอุดหนุนดังกล่าวจะต้องเกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 จะได้รับอุดหนุนเดือนละ 600 บาทต่อคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี และครอบครัวมีรายได้ต่ำกว่า 36,000 บาทต่อคนต่อปี

“เรื่องนี้อยากจะฝากประชาสัมพันธ์ไปยังครอบครัวของเด็กแรกเกิดทั้งหลายที่เข้าข่ายให้มาลงทะเบียนเพื่อรับการอุดหนุนดังกล่าว โดยการลงทะเบียนจะไม่ได้จ่ายเงินอุดหนุนย้อนหลัง คือลงทะเบียนเดือนไหนจะได้เงินของเดือนนั้นจนถึงอายุ 6 ปีเท่านั้น จึงอยากให้มาลงทะเบียน” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

เห็นชอบแผนบริหารหนี้ปี 63 กู้เพิ่ม 8.9 แสนล้าน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 แบ่งเป็นการก่อหนี้เพิ่ม วงเงิน 894,005.65 ล้านบาท, แผนการบริหารหนี้เดิม การปรับโครงสร้างหนี้และบริหารความเสี่ยง วงเงิน 831,150.32 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ วงเงิน 398,372.55 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดการก่อหนี้ใหม่ดังนี้

การก่อนหนี้ใหม่ของรัฐบาล 748,879.11 ล้านบาท ได้แก่

  • การกู้เพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง 90,000 ล้านบาท ให้เพียงพอรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นครั้งคราว รวมถึงรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้มาตรการกระตุ้นเศณษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลในช่วงไตรมาสแรกและสองของปีงบประมาณ 2563 ผ่านตั๋วเงินคลังระยะเวลา 120 วัน
  • รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรง วงเงิน 573,522 ล้านบาท แบ่งเป็นกู้ภายในประเทศ 570,022 ล้านบาท เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี 2563 วงเงิน 469,000 ล้านบาท และเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี 2562 ที่ขยายเวลาเงินกู้ออกไปภายหลังหมดปีงบประมาณ วงเงิน 101,022 ล้านบาท และเป็นการกู้ต่างประเทศ 3,500 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและโครงการพื้นฐาน (DPL) วงเงิน 800 ล้านบาท และโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (Thai KOSEN) วงเงิน 2,700 ล้านบาท
  • รัฐบาลกู้มาให้กู้ต่อ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 85,357.11 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการของการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟม.) 5 โครงการ วงเงิน 20,131.49 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงตะวันออก และโครงการของการรถไฟแห่งปะรเทศไทย (รฟท.) 9 โครงการ วงเงิน 65,225.62 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการรถไฟไทยจีนช่วงที่ 1 นครราชสีมา-กทม.

การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสหากิจ 145,126.54 ล้านบาท โดยรัฐบาลค้ำประกันเพียง 33,619.51 ล้านบาท ประกอบด้วยรัฐวิสหากิจ 13 แห่ง แบ่งเป็นการลงทุนในโครงการพัฒนา 56,356.42 ล้านบาท เป็นการดำเนินโครงการและกิจการทั่วไป 98,770.12 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่ก่อหนี้ใหม่สูงสุดคือบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก่อหนี้เพิ่ม 56,800 ล้านบาท รองลงมาคือรฟท.ที่ 14,443.14 ล้านบาท, การไฟฟ้านครหลวงและส่วนภูมิภาค 12,000 ล้านบาท และ 20,000 ล้านบาท ตามลำดับ และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ 11,076.37 ล้านบาท

ขณะที่การบริหารหนี้ที่มีอยู่เดิม 831,150 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่ครบกำหนด (rollover) วงเงิน 461,416.65 ล้านบาท และปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 9 แห่ง วงเงิน 171,146.03 ล้านบาท ส่วนการชำระหนี้ 309,118.39 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการชำระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม วงเงิน 263,763.87 ล้านบาท

“นอกจากนี้ ครม.ยังได้รับทราบสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ เดือนกรกฎาคม 2562 ตามที่พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะได้บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ต้องรายงานสถานะของหนี้สาธารณะต่อ ครม.เพื่อทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ ครม.แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่ามีจำนวน 6.9 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.45 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา50 ที่กำหนดกรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ ให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

นอกจากนั้น พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ยังได้มีข้อกำหนดอื่นอีก 3 เรื่องด้วยกันคือ สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ไม่เกินร้อยละ 35 (ณ 31 มี.ค. 2572 ร้อยละ 27.16) สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ไม่เกินร้อยละ 10 (ณ 31 มี.ค. 2562 ร้อยละ 3.59) และสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ไม่เกินร้อยละ 5 (ณ 31 มี.ค. 2562 ร้อยละ 0.21) ซึ่งสถานะปัจจุบันและจากการประมาณการในระยะปานกลาง 5 ปี (2563-2567) พบว่า สัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ มากไปกว่านั้น จากการกำหนดของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เพดานสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณที่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 เพื่อวัดความสามารถในการชำระหนี้ (debt affordability) และใช้เป็นแนวทางการพิจารณาประกอบการวางแผนและกำหนดกลยุทธ์หนี้สาธารณะ สถานะปัจจุบันรวมถึงการประมาณการในระยะ 5 ปี ยังอยู่ภายใต้เพดานที่กำหนดไว้ (ร้อยละ6 โดยประมาณ)

คาดงบฯ 63 ผ่านสภาปลาย ม.ค.ปีหน้า

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบการรับฟังความคิดเห็นของ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ซึ่งสำนักงบประมาณได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นและเปิดเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป โดยในภาพรวมมักจะมีความห่วงใยในการทำงานแบบบูรณาการของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งสำนักงบประมาณได้ตอบกลับข้อกังวลต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถส่งเข้าให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และคาดว่าจะผ่านวาระ 2 และ 3 ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 และทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ต่อไป

ไฟเขียว “กัลฟ์-พีทีทีแทงค์” ลงทุนมาบตาพุด เฟส 3

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบต่อผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอมา บริษัทผู้ที่ได้รับการคัดเลือกคือ กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีทีแทงค์ โดย กนอ.จะชำระเงินร่วมลงทุนของรัฐ จำนวน 1,010 ล้านบาทต่อปี และได้รับค่าให้สิทธิการร่วมลงทุนจากเอกชนกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีทีแทงค์ จำนวน 300 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นจำนวนเงินร่วมลงทุนของรัฐสุทธิ จำนวน 710 ล้านบาททต่อปี เป็นระยะเวลา 30 ปี

“สภาพัฒน์”รายงานสถานการณ์ประเทศไทยเชื่อมโยงหลายมติ เฟส 2-3

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.รับทราบรายงานความก้าวหน้าในการจัดทำรายงานการทบทวนสถานการณ์ประเทศไทย เชื่อมโยงหลายมิติระยะที่ 2 และ 3 เสนอโดยสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ในระยะที่ 1 ซึ่งเริ่มจัดทำกลางปี 2560 ได้มีการจัดทำรายงานประเมินสถานการณ์ประเทศไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมืองและการปกครอง และทาง สศช.ได้รายงานต่อครม.แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561

โดยมีประเด็นสำคัญคือ การประเมินสถานการณ์ควรวิเคราะห์ปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก จีน และประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ ในส่วนการวิเคราะห์การคาดการณ์และประมาณการเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทย ควรวิเคราะห์การเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคการเกษตร และวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณและแผนการใช้จ่ายในอนาคต

สำหรับระยะที่ 2 (เม.ย. 2561) รายงานทบทวนสถานการณ์ประเทศไทยฯ ประกอบด้วย 3 ประเด็น คือ

1. แนวทางและโอกาสการเจริญเติบโตรูปแบบใหม่: การปลดข้อจำกัดและยกระดับศักยภาพของภูมิภาค ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ การพัฒนากระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ ในขณะที่เมืองที่อยู่โดยรอบถูกดึงทรัพยากรเข้ามาใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมในเมืองใหญ่แต่กลับได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเมืองใหญ่ค่อนข้างน้อย การแก้ปัญหาจึงต้อง

  • ใช้นโยบายบูรณาการระดับภูมิภาค เชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองหลัก-เมืองรอง
  • สร้างระบบการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและแรงงานนอกระบบ
  • เพิ่มบทบาทสถาบันการศึกษาในพื้นที่ในการสร้างผู้ประกอบการท้องถิ่น ใช้ศูนย์ความเป็นเลิศที่มีในพื้นที่ต่างๆ เพื่อการยกระดับนวัตกรรมและสร้างแรงดึงดูดให้กับภูมิภาค พื้นที่ และท้องถิ่น

2. โอกาสและรูปแบบในการปรับปรุงระบบบริหารจัดการน้ำและความเสี่ยงจากภัยพิบัติ มีข้อเสนอ 3 ประเด็น คือ

  • การสร้างความตระหนักถึงความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำแห่งชาติและสร้างความเข้าใจถึงเรื่องความมั่นคงด้านน้ำที่ตรงกัน
  • การพัฒนากลไกระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมผ่านการหารือเชิงนโยบายร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง
  • การส่งเสริมให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์และสังคมอย่างจริงจัง

3. การบูรณาการภาครัฐเพื่อการพัฒนา ระบบการบริหารงานภาครัฐต้องมีการกระจายอำนาจมากขึ้น และไปเน้นเรื่องการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น การให้อำนาจ อปท.ในการดูแลผู้สูงอายุ การยกระดับศักยภาพในการบริหารเชิงพื้นที่ของ อปท. จะช่วยให้เมืองและจังหวัดสามารถเติบโตอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ ระยะที่ 3 (ก.ย. 2561) ประกอบด้วย 2 ประเด็น

3.1 การพัฒนาศักยภาพในภาคเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีระดับการพัฒนาที่ล่าช้าและมีความเหลื่อมล้ำสูง บางพื้นที่มีการพัฒนาภาคการผลิต โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว แต่ในบางพื้นที่ยังคงพึ่งพากิจกรรมในชนบทที่มีผลิตภาพต่ำ แนวทางในการพัฒนาภูมิภาคคือ

  • การกำหนดนวัตกรรมท้องถิ่น มหาวิทยาลัยในพื้นที่เข้ามามีบทบาทในการสร้างนวัตกรรมและให้ความรู้ผู้ประกอบการ
  • มีการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาให้สู่การปฏิบัติได้จริง
  • ให้ อปท.จัดเก็บรายได้เองมากขึ้น โดยเฉพาะภาษีโรงเรือนและที่ดิน ยกระดับการจัดการการคลังท้องถิ่น

3.2 การยกระดับการบริหารจัดการความมั่นคงด้านทรัพยการน้ำในภาคเหนือ โดยให้ความสำคัญกับลุ่มน้ำปิง ครอบคลุม 3 ประเด็น

  • การกำหนดบทบาทความรับผิดชอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ชัดเจนและเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น จะได้ลดความซ้ำซ้อนและแก้ปัญหาได้ตรงจุด
  • การจัดลำดับความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำในภูมิภาค
  • การสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม โดยต้องมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นและเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ทั้งนี้ยังรวมถึงการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและประสบการณ์ของคนในพื้นที่เข้ามาแก้ปัญหา

แจงความคืบหน้าแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ 5 ประเด็น

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.รับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนสิงหาคม 2562 ของ สศช.หรือสภาพัฒน์ ประกอบด้วย 5 ประเด็นด้วยกัน คือ

1) ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ได้เตรียมการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติครั้งที่ 2/2562 คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ เรื่องพิจารณาที่สำคัญคือ

  • การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเพิ่มเติม
  • การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ 2562 รวมถึงกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ
  • การมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบแผนแม่บท 23 ประเด็น และเป้าหมายของแผนแม่บท 37 เป้าหมาย เป้าหมายย่อยของแผนแม่บท 140 เป้าหมาย ซึ่งครอบคลุมในทุกมิติ

2) ในส่วนของความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ (ที่ผ่านมามีการรายงานต่อรัฐสภาแล้ว 3 ครั้ง) การรายงานครั้งหน้าจะเป็นการรายงานสถานการดำเนินงานช่วงเมษายน-มิถุนายน 2562 ซึ่งประกอบด้วยความคืบหน้าของกิจกรรมทั้งหมด 1,229 กิจกรรม และสถานะของกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ รวม 221 ฉบับ

3) การติดตามและการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ทางสศช. ได้เปิดระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (Electronic Monitoring and Evaluation System of National Strategy and Country Reform หรือ eMENSCR) และเตรียมรูปแบบแสดงผลการประมวล เป้าหมาย ตัวชี้วัด เพื่อแสดงผลสัมฤทธิ์และจัดทำรายงานประจำปีต่อไป

4) การสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ สศช. อยู่ระหว่างการจัดทำสื่อสาธารณะต่างๆ เพื่อแสดงผลการดำเนินงานก่อนและหลังการมียุทธศาสตร์ชาติ ประชาชนจะได้เข้าใจถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ

5) การดำเนินงานต่อไป คือการทำความเข้าใจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศ มีการประชุมเพื่อขับเคลื่อนแผนแม่บทกับส่วนราชการระดับกระทรวง กรม รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน องค์กรอิสระ เพื่อให้หน่วยงานได้จัดทำแผนงานโครงการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และไม่ซ้ำซ้อน และจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติร่วมกับภาคีระหว่างประเทศ โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ องค์กรสหประชาชาติ สหภาพยุโรป กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย ทั้งนี้นอกจากเพื่อให้ต่างชาติได้เข้าใจถึงยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกันกับส่วนราชการของประเทศไทยด้วย

เห็นชอบกรอบการประชุมการค้า “ไทย-ภูฏาน” ครั้งที่ 3

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 3 ซึ่งกระทรวงเศรษฐกิจของภูฏานจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 26-27 กันยายน 2562 ณ กรุงทิมพู ราชอาณาจักรภูฏาน โดยการประชุมดังกล่าวเป็นเวทีการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีการค้าเพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับภูฏาน และจัดทำแนวทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกันหรือเอื้อประโยชน์ต่อกัน เช่น การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การเกษตร การพัฒนาสินค้าหัตถกรรม การแปรรูปอาหาร การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการรักษาพยาบาล

ขยายเวลามาตรการแก้หนี้เกษตรกรอีก 5 ปี

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการขยายระยะเวลาแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรตามโครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) และโครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) ออกไปอีก 5 ปี จากเดิมที่สิ้นสุดโครงการ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 เป็น วันที่ 30 กันยายน 2567 เนื่องจากยังมีเกษตรกรบางส่วนที่มีความสามารถในการชำระหนี้ตามศักยภาพได้อย่างต่อเนื่องจะได้มีเวลาในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น

โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการเพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ยังคงเป็นหนี้มีความสามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ ภายในระยะเวลา 5 ปีตามที่ขอขยายระยะเวลาข้างต้น และให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินมาตรการปลดเปลื้องหนี้สินโดยการตัดจำหน่ายหนี้สูญของเกษตรกรที่อยู่ในข่ายดังกล่าว เพื่อให้การบริหารจัดการหนี้สินเป็นไปอย่างถูกต้อง สะท้อนความเป็นจริง และลดภาะงบประมาณของรัฐบาล

อนึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 พบว่า ยังคงมีเกษตรกรเป็นหนี้อยู่ 34,561 ราย ต้นเงินกู้ค้างชำระ 793.32 ล้านบาท แบ่งเป็นต้นเงินกู้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ 81.11 ล้านบาท ต้นเงินกู้ค้างชำระ 705.41 ล้านบาท และต้นเงินกู้ดำเนินคดี (ค้างชำระเกิน 60 วัน) 6.80 ล้านบาท

ตั้ง “สุชาติ” นั่งอธิบดีกรมจัดหางาน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายหลายตำแหน่ง อาทิ

  • กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้งจำนวน 3 ราย ได้แก่ 1. นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมฝีมือแรงงาน ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมจัดหางาน 2. นายธวัช เบญจาทิกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 3. นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
  • สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1. นางศิริวรรณ สุคนธมาน ที่ปรึกษาด้านการประสานกิจการความมั่นคง ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 2. นายฉัตรชัย บางชวด ผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
    นอกจากนี้
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษีกาพิจารณาเสอ นางสาวอัญชลิตา กองอรรถ กรรมการร่างกฎหมายประจำ ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตำแหน่งเลขที่ 5 สังกัดราชการบริหารส่วนกลาง
  • แต่งตั้ง นางณรงค์ วิทยไพศาล ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 24 กันยายน 2562 เพิ่มเติม