ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ งดออกสื่อ เตรียมรับศึกอภิปราย 4 พ.ร.ก.พรุ่งนี้ – มติ ครม.ตั้ง “วิษณุ” ประธานฯ ฟื้นฟูการบินไทย

นายกฯ งดออกสื่อ เตรียมรับศึกอภิปราย 4 พ.ร.ก.พรุ่งนี้ – มติ ครม.ตั้ง “วิษณุ” ประธานฯ ฟื้นฟูการบินไทย

26 พฤษภาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะเดินลงจากตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อเข้าร่วมการประชุม ครม. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ งดให้สัมภาษณ์ เตรียมตัวรับศึกอภิปราย 4 พ.ร.ก.พรุ่งนี้ ยันกู้เงิน 1 ล้านล้านมีโครงการชัดเจน – มติ ครม. ตั้ง “วิษณุ เครืองาม” นั่งประธานฟื้นฟูการบินไทย พร้อมเสนอชื่อผู้จัดทำแผนฯ 6 คนต่อศาลล้มละลายกลาง

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งวันนี้ได้เปิดการแถลงข่าวมติ ครม. โดยทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตามปกติอีกครั้ง หลังปรับการแถลงข่าวเป็นการติดต่อสื่อสารผ่านทางสื่อออนไลน์ไปนานกว่า 1 เดือน เพื่อปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข ลดการรวมตัวของสื่อมวลชนจำนวนมากที่จะนำไปสู่การติดเชื้อ และแพร่ระบาดของโควิด-19

งดออกสื่อ เตรียมพร้อมรับศึกอภิปราย 4 พ.ร.ก.พรุ่งนี้

โดยในวันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้งดการแถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากในช่วงเวลา 16.00 น. นายกรัฐมนตรีจะต้องทำการบันทึกเทปถวายพระพร และต้องการใช้เวลาช่วงที่เหลือของวันนี้ในการเตรียมความพร้อมเข้าร่วมประชุมสภาฯ ที่จะมีการพิจารณาพระราชกำหนดทั้ง 4 ฉบับในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ซึ่งในวันพรุ่งนี้นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังรัฐสภาพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีทั้งหมด ซึ่งการตอบคำถามสื่อมวลชนในวันนี้นายกรัฐมนตรีได้ฝากข้อความตอบคำถามไว้ดังนี้

แจงเงินกู้ 1 ล้านล้าน มีแผนงานชัดเจนทุกโครงการ

ต่อคำถามเรื่องของพระราชกำหนดเงินกู้ฯ 1 ล้านล้านบาท ที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าจะนำไปใช้ในลักษณะต่างๆ อย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ ชี้แจงว่า ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าจะนำเงินในส่วนดังกล่าวไปใช้ในเรื่องใดบ้าง พร้อมยืนยันว่าโครงการที่เสนอขึ้นมาจะต้องมีแผนงานอย่างชัดเจน โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองทำหน้าที่พิจารณา

นอกจากนี้ยังมีระบบตรวจสอบในอีกหลายส่วน รวมถึงภาคประชาชนยังสามารถตรวจสอบการใช้เงินของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนี้ได้ด้วย ซึ่งรัฐบาลจะมีการนำทุกโครงการเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูรายละเอียดและตรวจสอบโครงการต่างๆ

“รัฐบาลขอยืนยันว่าจะใช้เงินกู้ทุกบาททุกสตางค์ให้คุ้มค่า ให้มีประสิทธิภาพ และช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่เกี่ยวการเมือง-เตรียมฟื้นฟูท่องเที่ยว

ต่อคำถามที่ขณะนี้มีบางฝ่ายยื่นหนังสือคัดค้านการต่ออายุการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ตามข้อเสนอของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และมีบางฝ่ายมองว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ชี้แจงว่า ตั้งแต่เริ่มนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้จนถึงการพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทุกครั้ง ได้คำนึงถึงเหตุผลด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ไม่เคยคำนึงถึงเหตุผลทางการเมือง

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังคงมีความจำเป็นในการบูรณาการการทำงานร่วมกันให้มีเสถียรภาพ ให้มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีสถานการณ์แบบนี้เราไม่สามารถที่จะใช้เพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาเป็นเครื่องมือเดียวในการแก้ปัญหาได้ และอยากฝากเรียนด้วยว่าเรากำลังเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 3 ซึ่งวันพรุ่งนี้ทาง สมช. จะมีการประชุมในรายละเอียดของกิจการและกิจกรรมทั้งหลาย และจะเข้าสู่การพิจารณาของ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ในวันศุกร์”

ทั้งนี้ การผ่อนปรนในระยะที่ 3 คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2563 หลังจากนั้นจะเป็นการผ่อนปรนระยะที่ 4 ซึ่งจะผ่อนปรนในกิจกรรมและกิจการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ยังต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอาไว้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลควบคุมสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

“รัฐบาลทราบดีว่าการยังคงมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนบ้าง เราจึงค่อยๆ ผ่อนคลายข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างน้อยที่สุด เราอยากให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความมุ่งหมายและความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ของรัฐบาล และ ศบค.ว่าจะทำอย่างไรให้สถานการณ์คลี่คลายได้โดยเร็ว อยากให้ประชาชนปลอดภัยมากที่สุดและกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ไม่กลับไปสู่การแพร่ระบาดในรอบที่ 2 แม้จะเป็นการกลับไปใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียวแต่จะเป็นการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า new normal ที่ทุกคนต้องมีความสุขในที่สุด”

ด้าน ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวก่อนการประชุม ครม. ว่า หลังจากผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 3 แล้ว จะต้องส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการด้านการท่องเที่ยว เน้นเรื่องความปลอดภัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก

ในส่วนของการจัดการประชุมสัมมนานั้น ขอให้เตรียมมาตรการรองรับอย่างเข้มงวด ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด พร้อมกับเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะจัดซื้อจัดจ้าง เน้นซื้อสินค้าภายในประเทศ 30% รวมถึงซื้อจาก SMEs ที่ขึ้นทะเบียนของชุมชน เพื่อสร้างวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง

สำหรับเรื่องการเรียนการสอน นายกรัฐมนตรีขอให้กระทรวงศึกษาธิการปรับแผนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ จะต้องไม่กระทบสร้างภาระให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง พร้อมกับกำชับให้สร้างความเข้าใจต่อนักเรียนและผู้ปกครองว่าเป็นเพียงมาตรการการเรียนการสอนชั่วคราวเท่านั้น หากสถานการณ์ดีขึ้นจะกลับมาเรียนตามปกติ ขอให้ผู้ปกครองและนักเรียนอย่าวิตกกังวล

ย้ำลงพื้นที่พบปะเอกชน ระดมความเห็นทำแผนเชิงลึก

ต่อคำถาม การเข้าพบภาคเอกชนนั้นครอบคลุมทุกกลุ่มแล้วหรือยัง และแนวทางต่อไปของรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร พล.อ. ประยุทธ์ ชี้แจงว่า ตนนั้นได้เดินสายรับฟังและเปลี่ยนความคิดเห็นจากสมาคมหรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ และเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ตนได้รับฟังข้อมูลจากต้นทางอย่างแท้จริง ได้รับฟังแนวคิดอุปสรรคและปัญหาจากกรมต่างๆ และนำข้อมูลจากการลงพื้นที่พบปะบุคคลเหล่านี้มาจัดทำแผนเชิญลึกมากขึ้น

โดยข้อมูลบางประการทำให้เกิดไอเดีย เกิดการแลกเปลี่ยนกันไปมาระหว่างตนและผู้ประกอบการเอกชนทั้งหลาย ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ก็จะมีการลงพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งยังมีอีกหลายกลุ่มที่ตนอยากจะเข้าไปพบและอยากจะทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคเอกชน

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ตั้ง “วิษณุ” นั่งประธานฟื้นฟูการบินไทย-พร้อมเสนอชื่อผู้จัดทำแผนฯ 6 คน

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) , นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง, นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) , นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกฤษฎีกา, นางสาวรื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , และนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้

  1. เป็นตัวแทนภาครัฐในการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลและการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน
  2. ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ แก้ไขปัญหาบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของภาครัฐโดยไม่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาของศาล
  3. กลั่นกรอง ตรวจสอบและอำนวยความสะดวกหรือประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และการดำเนินกิจกรรมของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่การร้องขอและไม่ขัดต่อกฎหมาย
  4. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือ ครม. มอบหมาย
  5. รายงานการปฏิบัติงานพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อ ครม. เป็นระยะๆ

“ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และแม้ว่าผลจากการขายหุ้นของกระทรวงการคลังจะทำให้การบินไทย จำกัต พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาดแต่กระทรวงการคลังยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการประกอบกิจการยังเกี่ยวพันกับกฎระเบียบของทางราชการและการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งความจำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ คณะรัฐนตรีจึงควรมีโอกาสรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการเป็นระยะๆ โดยมีระบบกลั่นกรอง และช่วยตรวจสอบในส่วนของภาครัฐ”

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวนั้นมีตัวแทนจากบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายฯ โดยรายชื่อผู้ทำแผนฟื้นฟูที่การบินไทยเสนอนั้นมี 6 คน ได้แก่

  1. พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการ บริษัท
  2. นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (รักษาการ)
  3. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
  4. นายบุญทักษ์ หวังเจริญ
  5. นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร
  6. นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

ไฟเขียวต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 1 เดือน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 – 30 มิถุนายน 2563 ตามที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 มีความเห็นสอดคล้องกันว่าการบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีความจำเป็น เนื่องจากจะช่วยสร้างระบบการบริหารจัดการในเชิงบูรณาการที่ดีให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อชะลอ ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด- 19 ช่วยสนับสนุนให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีความเป็นเอกภาพ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างมาตรฐานกลางด้านสาธารณสุขและช่วยเยียวยาประชาชนได้อย่างครอบคลุม

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้กฎหมายสำหรับในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคในระดับสูง จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและอยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งส่วนราชการเองจำเป็นต้องมีมาตรการด้านกฎหมายเพื่อกำกับดูแลและบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด เพราะยังพบการระบาดและผู้ติดเชื้อในระดับสูงในหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้เสนอแนะแนวทางดำเนินการควบคู่ไปกับการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในห้วงที่ 2 โดยกำหนดมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้เป็นปกติยิ่งขึ้นและมีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสมและทั่วถึง โดยให้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถชี้แจงประชาชนได้อย่างชัดเจนด้วย

คลายล็อกเกณฑ์ปล่อยกู้ซอฟท์โลน 5 แสนล้าน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการสำหรับมาตรการเสริมของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน ที่เห็นชอบไปก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นของธนาคารออมสิน 150,000 ล้านบาท หรือส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีก 500,000 ล้านบาท

“สืบเนื่องจากกระทรวงการคลังพบว่ามีอุปสรรคบางประการที่ทำให้เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงอย่างส่วน เช่นขาดคุณสมบัติอย่างไม่เคยเป็นลูกหนี้ของธนาคารมาก่อน หรือคุณสมบัติเข้าข่ายแต่ธนาคารไม่ได้ส่งผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรการนี้ หรือไม่สามารถด้วยเหตุผลใด”

วันนี้ที่ประชุม ครม. ได้พิจาณาถึงมาตรการเพิ่มเติมที่จะใช้ให้เอสเอ็มอีกลุ่มนี้สามาถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จำเป็นได้ แต่ ครม. ต้องการให้ลงรายละเอียดเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นวงเงินเท่าไหร่ วงเงินต่อรายเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กลับไปหารือในรายละเอียดให้เรียบร้อยรอบคอบก่อนนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

สปส.จ่ายเยียวยาผู้ประกันตนแล้วกว่า 1 ล้านราย 6,052 ล้าน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานสำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ พ.ศ. 2563 ดังนี้

กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม ได้พิจารณาวินิจฉัยสั่งจ่ายไปแล้ว ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1,095,399 ราย เป็นเงิน 6,052 ล้านบาท นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมได้มีการติดตามนายจ้างที่ยังไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทน จำนวน 29,406 ราย โดยให้หน่วยปฏิบัติดำเนินการปฏิบัติเพิ่มเติม ดังนี้

1) จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์/อุทธรณ์ COVID-19 ณสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ รวมทั้งส่วนกลาง ณ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

2) มีหนังสือแจ้งสถานประกอบการที่ยังไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนให้ตรวจสอบและส่งชื่อลูกจ้างที่ยังไม่ได้รับเงิน เพื่อดำเนินการจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานโดยให้ยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ

3) มีหนังสือแจ้งผู้ประกันตนที่ยังไม่ได้รับเงิน ให้ยื่นร้องทุกข์/อุทธรณ์ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ

ไฟเขียว กฟภ.ลงทุนสายส่งเฟส 2 วงเงิน 77,334 ล้าน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 2 วงเงินลงทุนรวม 77,334 ล้านบาทโดยใช้เงินกู้ในประเทศจำนวน 57,999 ล้านบาทและเงินรายได้จำนวน 19,335 ล้านบาทโดยเห็นชอบให้ กฟภ. กู้เงินในประเทศภายในกรอบวงเงิน 57,999 ล้านบาทเพื่อเป็นเงินลงทุนในโครงการดังกล่าว โดย กฟภ. จะทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ โครงการ ฯ จะเป็นการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าระบบสายส่งหรือ 115 เควี ระบบจำหน่ายแรงสูง 22/33 เควีและระบบจำหน่ายแรงต่ำในพื้นที่ของ กฟภ. 12 เขตทั่วประเทศประกอบด้วย

  • ภาคเหนือ 3 การไฟฟ้าเขต (เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 การไฟฟ้าเขต (อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา)
  • ภาคกลาง 3 การไฟฟ้าเขต (อยุธยา ชลบุรี นครปฐม)
  • ภาคใต้ 3 การไฟฟ้าเขต (เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ยะลา)

โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (พ.ศ. 2563 – 2568) สามารถรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจาก 21,354 เมกะวัตต์ในปี 2561 เป็น 26,466 เมกะวัตต์ในปี 2568 (อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 3) และคาดว่าจะมีผู้ใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 19.52 ล้านรายในปี 2561 เป็น 23.09 ล้านรายในปี 2568 (อัตราเพิ่มเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 2.43)

“การพัฒนาระบบไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าแห่งใหม่ ทันสมัย สอดคล้องตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ลดปัญหาในการปฎิบัติการและการบำรุงรักษา และหน่วยสูญเสียในระบบไฟฟ้า รวมทั้งโครงการ ฯ ยังช่วยเชื่อมโยงระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ธุรกิจอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่สำคัญ ให้มีขีดความสามารถของระบบไฟฟ้าที่สูงขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการกระจายกิจการอุตสาหกรรมไปสู่ส่วนภูมิภาคอีกด้วย”

ทั้งนี้ กฟภ. รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วยว่า การก่อสร้างสถานีไฟฟ้าเป็นการก่อสร้างในพื้นที่ กฟภ. ไม่มีการดำเนินงานที่ขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับหรือข้อห้ามทางกฎหมาย รวมทั้งกฟภ. จะมีระบบติดตาม เฝ้าระวัง การดำเนินงานเพื่อไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมหรือพื้นที่ข้างเคียงด้วย

แก้ไขพ.ร.บ.วัตถุอันตราย –มอบเอกชนตรวจสถานประกอบการแทนจนท.

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่..) พ.ศ. …. โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายเกี่ยวกับการพิจารณาคำขอ การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร การประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการหรือการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย โดยการมอบอำนาจให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ ทำหน้าที่ประเมินเอกสารวิชาการ ตรวจวิเคราะห์ ตรวจสถานประกอบการและอื่นๆ แทนพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบ

“กรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อให้กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ให้มีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐอื่นๆ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับการขึ้นบัญชี ทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการหรือการตรวจสอบในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายของส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป”

อย่างไรก็ตาม กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายนี้จะเป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น หากผู้ประกอบการเลือกใช้ผู้เชี่ยวชาญก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างด้วย แต่ถ้าใช้วิธีการอนุญาตปกติซึ่งต้องใช้ระยะเวลาการพิจารณานานกว่าจะไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย

ยัน ขรก.ทำเกษตร หมดสิทธิ์รับเยียวยา – รับไปต้องคืน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. รับทราบเจตนารมณ์ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ครั้งที่ 2/2563 เรื่องโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (กรณีข้าราชการ) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและเกิดความชัดเชนในทางปฏิบัติ

โดยการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้หลักมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกร และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ ในกรณีของข้าราชการ (ข้าราชการประจำและลูกจ้าง รวมถึงข้าราชการบำนาญ) ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรไม่เข้าข่ายเป็นผู้มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือภายใต้มาตรการดังกล่าว เนื่องจากได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการของภาครัฐอยู่แล้ว

ทั้งนี้ หากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จ่ายเงินช่วยเหลือให้กับกลุ่มข้าราชการดังกล่าวแล้ว ขอให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประสานกับกรมบัญชีกลาง พิจารณาดำเนินการหักเงินจากค่าตอบแทนคืนกระทรวงการคลังต่อไป ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ รายงานว่า ยังไม่มีการโอนเงินให้กลุ่มนี้แต่อย่างใด

เคาะจ่ายเยียวยา “เด็ก-คนชรา-พิการ” เดือนละ 1,000 บาท

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ครั้งที่ 4/2563 เรื่อง มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ กลุ่มเปราะปางที่ได้รับเงินเยียวยาตามมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย 1) เด็กแรกเกิด – 6 ปี จากครัวเรือนยากจน ไม่เกิน 1,451,468 คน 2) ผู้สูงอายุ ไม่เกิน 9,664,111 คน 3) ผู้พิการ ไม่เกิน 2,027,500 คน รวมกลุ่มเปราะบางทั้งหมดไม่เกิน 13,143,079 คน

โดยจะจ่ายเงินเยียวยารายละ 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่พฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 กรอบวงเงินไม่เกิน 39,429,237,000 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยจะจ่ายในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนรวมกัน 2,000 บาทและในเดือนกรกฎาคมอีก 1,000 บาท ส่วนเกณฑ์ในรายละเอียดกระทรวงการคลังและพม.จะพิจารณาอีกครั้งให้จ่ายได้ทั่วถึงและเร็วที่สุด

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สั่งออมสิน-ธ.ก.ส.จัดวงเงิน 10,300 ล้าน ปล่อยกู้ประมง

ผศ. ดร.รัชดา กล่าววว่า ครม. อนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการประมงที่ต้องปรับปรุงเรือตามกฎหมาย วงเงินสินเชื่อ 10,300 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) ธนาคารออมสิน ให้ผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท และ (2) ธ.ก.ส.ให้ผู้ประกอบการประมงที่มีเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส วงเงินสินเชื่อ 5,300 ล้านบาท

โดยมีจำนวนผู้ประกอบการ 2,800 รายเป็นเรือประมง 4,882 ลำ (ในจำนวนนี้เป็นเรือประมงพื้นฐาน 438 ลำ) โดยในวงเงินสินเชื่อแบ่งเป็นสูงสุด 10 ล้านบาทสำหรับเรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไป และ 5 ล้านบาทสำหรับเรือที่ขนาดต่ำกว่านั้น โดยมีระยะเวลากู้ 7 ปี ดอกเบี้ย 7% ต่อปี แต่ชาวประมงจะจ่ายเพียง 4% ต่อปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ แบ่งเป็นอุดหนุนให้ธนาคารออมสิน วงเงิน 1,050 ล้านบาท และของธ.ก.ส. วงเงิน 1,113 ล้านบาท

สำหรับคุณสมบัติอื่นๆของผู้กู้ต้องเป็นบุคคลธรรมดาอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทยหรือเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย, เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในเรือประมงที่มีทะเบียนเรือไทย ,เป็นผู้ประกอบการประมงที่มีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และเป็นผู้ประกอบการประมงที่มีใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ จะต้องมีหลักประกันการกู้เงินโดยให้ใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน ดังนี้ ที่ดิน ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีหนังสือแสดงเอกสารสิทธิสามารถจดทะเบียนจำนองได้ หรืออาคารชุด, เรือประมง, บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) , บุคคลค้ำประกัน, หลักประกันอื่นๆ ตามที่ธนาคารประกาศกำหนด

ขยายเวลาประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีก 1 เดือน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติขยายกรอบเวลาโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/63 จากเดิมที่กำหนดช่วงเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เป็นระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/63 วงเงินรวม 669.08 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เสนอ จำแนกเป็น

  1. วงเงินชดเชยส่วนต่างของเกษตรกรที่เพาะปลูกเดือนมิถุนายน 2562 วงเงิน 505.91 ล้านบาท
  2. วงเงินงบประมาณส่วนขาด วงเงิน 147.39 ล้านบาท และ 3) ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของ ธ.ก.ส. วงเงิน 15.78 ล้านบาท

“การขยายกรอบเวลาโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/63 เพิ่ม 1 เดือน จะส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเดือนมิถุนายน 2562 จำนวน 151,749 ครัวเรือน ได้รับสิทธิประกันรายได้และได้รับเงินชดเชยส่วนต่างในอัตรา 0.29 บาทต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับเกษตรกรที่ปลูกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งคิดเป็นวงเงินรวม 505.91 ล้านบาท”

ส่วนการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562/63 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรไปแล้ว 4 งวด จำนวน 122,039 ครัวเรือน เป็นจำนวน 431.73 ล้านบาท คงเหลือวงเงินชดเชย 467.76 ล้านบาท แต่จากการประมาณการวงเงินชดเชยให้เกษตรกรในงวดที่ 5 – 11 ต้องใช้วงเงินรวม 615.15 ล้านบาท จึงขาดงบประมาณอีก 147.39 ล้านบาท ครม. จึงได้อนุมัติงบประมาณ 669.08 ล้านบาทเพื่อดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างทั่วถึง

แก้พ.ร.บ.พัฒนาที่ดินครอบคลุมน้ำในดิน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติแก้ไขพระราบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2551 สืบเนื่องจากมีบทบัญญัติบางมาตราไม่เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การอนุรักษ์ดินและน้ำไม่ครอบคลุมถึงการพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดิน, องค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาที่ดินไม่คลอบคลุมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องทรัพยากรน้ำ รวมถึงปัญหาการขอรับบริการวิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือสิ่งปรับปรุงดินของเกษตรกร ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่าย จะถูกถ่ายโอนไปยังภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยจะมีค่าใช้จ่ายในการขอรับบริการ จึงมีปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เกษตรกรรมไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือการชะล้างพังทลายของดิน รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน

“ดังนั้น เพื่อให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินซึ่งสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันในอันที่จะคุ้มครองพื้นที่ทางการเกษตรของประเทศไม่ให้ถูกทำลายไม่ว่าจะเกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือการชะล้างพังทลายของดินจึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ดินในเรื่องการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อให้ครอบคลุมถึงปัญหาที่เกิดขึ้น”

โดยมีการปรับแก้ในส่วนของบทนิยาม “การอนุรักษ์ดินและน้ำ” ให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดิน แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการพัฒนาที่ดินให้ครอบคลุมถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องทรัพยากรน้ำและแก้ไขให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการออกระเบียบเกี่ยวกับคำขอให้วิเคราะห์ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือ สิ่งปรับปรุงดิน หรือคำขอให้ปรับปรุงดินหรือที่ดินหรือคำขอให้อนุรักษ์ดินและน้ำ หรือคำขอให้บริการแผนที่ ข้อมูลทางแผนที่

เพิ่มเติมหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินในการทำสำมะโนที่ดินการพัฒนาและเก็บรักษาน้ำในดินและน้ำบนดินเพื่อการเกษตร ตลอดจนการให้บริการ สาธิตถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของกรมพัฒนาที่ดิน แก้ไขให้เกษตรกรสามารถขอใช้บริการวิเคราะห์ ตรวจสอบตัวอย่างดิน น้ำ พืช ปุ๋ย หรือสิ่งปรับปรุงดิน ต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ เนื่องจากมีหน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดินครอบคลุมทุกจังหวัดแล้ว

ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินเตรียมการถ่ายโอนภารกิจด้านการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และให้คำปรึกษา แนะนำ เกี่ยวกับดิน น้ำ พืช ปุ๋ย และอื่นๆ ให้แก่ภาคเอกชนหรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ดำเนินการแทน โดยยกเว้นค่าใช้จ่ายให้แก่เกษตรกรและงานวิจัยที่มาขอใช้บริการ แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายโอนงานดังกล่าวจะส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บค่าใช้จ่ายหรือค่าใช้บริการจากเฉลี่ยประมาณ 344,730 บาท/ต่อปี

โดยเกษตรกร ผู้ศึกษาวิจัย และประชาชนที่ประสงค์จะให้กรมพัฒนาที่ดินปรับปรุงดินหรือที่ดิน หรืออนุรักษ์ดินและน้ำ หรือบริการแผนที่ ข้อมูลทางแผนที่ ต้องยื่นคำขอต่อหน่วยงานพัฒนาที่ดินในท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่โดยการเสียค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามกฎกระทรวง

ตั้งงบฯซื้อยางพาราซ่อมถนน 3 ปี 8.3 หมื่นล้าน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 โดยเพิ่มเติมแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราตามนโยบายรัฐบาลในโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ

และให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างก่อสร้างผิวทางแบบพาราแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (PARA AC) ที่ได้ลงนามในสัญญาจ้างไปแล้วในปีงบประมาณ 2563 เป็นผิวทางแบบแอสฟัลต์ติกคอนกรีต (AC) ภายในกรอบวงเงิน 2,500 ล้านบาท ประกอบด้วย กรมทางหลวง 1,250 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท 1,250 ล้านบาท โดยปรับลดวงเงินค่าก่อสร้างและไม่ทำให้ส่วนราชการเสียประโยชน์ เพื่อนำไปใช้ในโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP)

ขณะเดียวกัน ครม. ยังเห็นชอบในหลักการให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรอบวงเงิน 39,175 ล้านบาท (กรมทางหลวง จำนวน 36,401 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 2,774 ล้านบาท) และ ปี พ.ศ. 2565 กรอบวงเงิน 43,995 ล้านบาท (กรมทางหลวง จำนวน 39,934 ล้านบาท และกรมทางหลวงชนบท จำนวน 4,061 ล้านบาท) เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP)

นอกจากนี้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ยังมีแนวทางส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนโดยใช้ผลผลิตจากยางพารา ดังนี้

  1. แผนการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) ของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ในปีงบประมาณ 2563 – 2565 มี RFB จำนวน 12,282.735 กิโลเมตร RGP จำนวน 1,063,651 ต้น งบประมาณรวม 85,623.774 ล้านบาท คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ จำนวน 30,108.805 ล้านบาท
  2. แผนการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยใช้ยางพาราในการผลิตแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีตและหลักนำทางยางธรรมชาติ กรมทางหลวงชนบทจะกำหนดรูปแบบและมาตรฐาน ให้ร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง โดยจะจัดซื้อจากร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรองโดยตรง เพื่อนำมาใช้ในงานด้านความปลอดภัยงานทาง โดยกำหนดให้แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนเพิ่มเติมตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563

ทั้งนี้ แนวทางการนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ดังกล่าวของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ได้ผ่านการหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย การยางแห่งประเทศไทย และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผลการทดสอบการชนทั้งในและต่างประเทศพบว่า ผู้ขับขี่ได้รับค่าแรงกระแทกน้อยกว่าค่ามาตรฐาน ปลอดภัยจากการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิต เพิ่มความปลอดภัยทางถนน ทั้งยังช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา ยกระดับราคายางพารา และระบายผลผลิตที่มีอยู่จำนวนมากอย่างเป็นรูปธรรม โดยกระทรวงคมนาคมจะได้พิจารณาลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ (MOU) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป

โยนสภาฯ ตั้ง กมธ.พิจารณาข้อตกลง CPTPP

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ไม่มีการบรรจุวาระเกี่ยวกับการเข้าร่วมเจรจากรอบความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เข้าสู่การพิจารณา แต่นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุย ซึ่งนายกฯ เน้นย้ำว่า ณ เวลานี้เรายังอยู่ในขั้นตอนว่าจะไปเจรจาหรือไม่ สิ่งสำคัญคือต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม จะได้เข้าใจข้อมูลทุกด้านและหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศที่สุด

โดยจะมีการประสานไปยังฝ่ายนิติบัญญัติให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาข้อดีข้อเสีย เปิดกว้างให้ผู้แทนประชาชนได้แสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ ข้อสรุปจากกรรมาธิการจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของ ครม. อย่างยิ่ง ว่าจะไปเจราจาหรือไม่ และมีเงื่อนไขอย่างไร คาดว่าน่าจะใช้เวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จในหนึ่งเดือน หรืออาจมากว่านั้นหากจำเป็น

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ขอเรียนประชาชนว่า การทำความเข้าใจและการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมคือสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพราะคือเรื่องประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศและประชาชน ไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเป็นเพียงขั้นจะเจรจาหรือไม่เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการลงนามข้อตกลง เพราะกว่าจะถึงขั้นนั้นยังมีกระบวนการอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดอีก

จัดงบฯ 400 ล้าน หนุน ม.แม่ฟ้าหลวง ผลิตแพทย์ 1,575 คน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบแผนความต้องการอัตรากำลังโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (รพศ.มฟล.) (พ.ศ. 2564-2566) ภายใต้โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2556-2560) จำนวน 1,575 อัตรา แบ่งเป็นกลุ่มผู้บริหาร 5 อัตรา กลุ่มบริการเฉพาะทาง 1,112 อัตรา กลุ่มสนับสนุน 332 อัตรา และกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 126 อัตรา พร้อมจัดสรรงบประมาณ 401.87 ล้านบาท เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอัตรากำลัง

ทั้งนี้ การเพิ่มอัตรากำลังคนดังกล่าวเพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการรักษาแก่ประชาชน และผู้ป่วยได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 460,000 คน รองรับการเป็นสถานฝึกปฏิบัติการในชั้นคลินิก สำหรับนักศึกษาแพทย์ มฟล. ตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556 – 2560

โดยในระยะแรก ปี พ.ศ. 2564 จะเปิดบริการ 244 เตียง ในระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2565 – 2566 จะเปิดให้บริการเพิ่มเติมอีก 167 เตียง รวมเป็น 411 เตียงครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งยังรองรับภารกิจด้านวิจัยทางคลินิกและการวิจัยด้านสาธารณสุขและการวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านต่างๆ ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านออร์โธปิดิกส์ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านมะเร็งวิทยา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านอายุรศาสตร์โลหิตวิทยา โดยโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มฟล. ยังจะเชื่อมโยงบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านสุขภาพที่มีอยู่ ในทุกระดับตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (น่าน พะเยา เชียงราย แพร่) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนและเกิดความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร รวมทั้งตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชน

ผ่านร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมายฯ ดึง ปชช.มีส่วนร่วม

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. …. โดยเป็นการปรับปรุง พ.ร.บ. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน มีกลไกช่วยเหลือประชาชนให้สามารถจัดทำและเสนอร่างกฎหมายได้ โดยเป็นร่างกฎหมายที่ตราขึ้นตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการบริหารราชการแผ่นดิน สาระสำคัญเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ และวิธีกาเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนและการจัดทำร่างกฎหมาย

โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีการกำหนดบทนิยาม คำว่า การเข้าเสนอชื่อกฎหมาย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และ ผู้เชิญชวน และ มีการกำหนดให้ต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ในการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ และไม่น้อยกว่า 50,000 คน ในการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และการเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้ เป็นต้น

“ร่าง พ.ร.บ. จะส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครอง ด้วยวิธีการเข้าชื่อเพื่อเสนอกฎหมายมากยิ่งขึ้น สะท้อนความเป็นพลเมืองในระบบประชาธิปไตยอีกด้วย” นางสาวไตรศุลี กล่าว

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2563เพิ่มเติม