ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” ใช้ AI กรอง 20 ล้านคน ไม่ได้ทุกคน – มติ ครม.เพิ่มผู้มีสิทธิรับเงินเยียวยาเป็น 9 ล้านคน

“บิ๊กตู่” ใช้ AI กรอง 20 ล้านคน ไม่ได้ทุกคน – มติ ครม.เพิ่มผู้มีสิทธิรับเงินเยียวยาเป็น 9 ล้านคน

31 มีนาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

แจงใช้ AI คัดกรองลงทะเบียน 20 ล้านคน ไม่ได้เงินทุกคน – มติ ครม.ขยายจำนวนผู้มีสิทธิรับเยียวยา 5,000 บาท เพิ่มเป็น 9 ล้านคน – ปลดล็อก สปส.จ่ายเงินทดแทน 60% ไม่เกิน 90 วัน กรณีว่างงาน

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยยังคงประชุมผ่านระบบ video conference เช่นเดิม และภายหลังจากมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของสาธารณสุขที่เป็นฝ่ายประสานงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และอยู่ระหว่างสอบสวนโรคผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว ทำเนียบรัฐบาลได้เพิ่มมาตรการเข้มในการป้องกันการแพร่ระบาดโดยประสานให้แต่ละหน่วยงานเริ่มทำงานที่บ้านหรือทำงานเหลื่อมเวลาในส่วนของภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ

ขณะเดียวกัน ฝ่ายสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลได้มีการหารือกัน ในการลดจำนวนทีมที่จะต้องเข้าประจำการที่ทำเนียบรัฐบาลลง โดยสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้อำนวยความสะดวกให้กับสื่อมวลชนที่จะรับข้อมูลข่าว ภาพนิ่ง ภาพวีดีโอ และการ Live ผ่านเพจไทยคู่ฟ้า และการส่งคลิปผ่าน Google Drive

แจงใช้ AI กรองลงทะเบียน 20 ล้านคน ไม่ได้รับเงินทุกคน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมาตรการคัดกรองผู้ได้รับเงินจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาท (3 เดือน) แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการ หรือผู้ได้รับผลกระทบ ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังมีผู้ลงทะเบียนมากถึง 20 ล้านคน ว่า วันนี้ตนได้แจ้งให้ทางกระทรวงการคลังไปชี้แจงแล้วว่า ผู้ลงทะเบียนมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือบ้างเพื่อที่จะให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย คือ ลูกจ้างรายวันผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจริงๆ

โดยจะมีมาตรการคัดกรองด้วยระบบ AI อีกครั้งหนึ่งหลังจากมีการลงทะเบียนผ่าน โดยระบบจะวิเคราะห์คัดกรองคุณสมบัติตามที่กระทรวงการคลังได้กำหนดไว้ หลังจากที่ AI ได้ตรวจสอบแล้วข้อมูลทั้งหมดจะได้รับการยืนยันและจ่ายเงินเข้าระบบ

“ดังนั้นผู้ที่ลงทะเบียนสำเร็จแล้วคร่าวๆ ประมาณ 20 ล้านคนคงไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะได้รับเงินเยียวยา ขอให้ทำความเข้าใจด้วย ผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ครบไม่ตรงตามที่กำหนดก็จะต้องถูกคัดแยกออกไป”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงกรณีที่มีผู้ลงทะเบียนบางรายพยายามที่จะลงทะเบียนไปก่อนเพื่อที่จะมีโอกาศฟลุกได้รับเงินเยียวยานั้น หากมีการกรอกข้อมูลอันเป็นเท็จและตรวจสอบได้ภายหลังหลังจากที่รับเงินเยียวยาไปแล้วจะต้องถูกเรียกรับเงินคืนในภายหลัง โดยได้ขอความร่วมมือประชาชนเห็นใจซึ่งกันและกัน อย่าตัดโอกาสการเข้าถึงความช่วยเหลือของผู้ที่ลำบากจริงๆ

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่มีคุณสมบัติยังไม่ตรงกับมาตรการเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทรัฐบาลอาจออกมาตรการอื่นมาดูแลเยียวยาเพิ่มเติมเท่าที่จะทำได้เพื่อลดผลกระทบของประชาชนให้ได้มากที่สุด เพราะตนเข้าใจว่าผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นนานพอสมควร รัฐบาลจึงจะต้องมีมาตรการระยะที่ 3 ระยะที่ 4 ออกมา โดยให้มีการพิจารณาเป็นวงรอบ 3 เดือน

“ในเรื่องของงบประมาณ เราจำเป็นที่จะต้องจัดหางบประมาณทั้งจากภายในและภายนอก ทั้งจากงบประมาณปี 63 และงบประมาณจาก พ.ร.บ.เงินกู้ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้มีเม็ดเงินเพียงพอ เราพยายามทำอย่างเต็มที่ในทุกมาตรการ เราต้องดูว่าจะใช้เงินอย่างไรและหาเงินจากที่ไหนเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มองแง่ดี พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม หมายถึงรัฐคัดกรองดี

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีผู้ที่อาศัยใน กทม. เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ว่า หากมองในอีกแง่มุมหนึ่งก็คือรัฐสามารถตรวจคัดกรองได้มากยิ่งขึ้น ประกอบกับประชาชนที่รู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็เข้ามาพบแพทย์มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นายกฯ ได้ขอความร่วมมือผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรืออยู่ในพื้นที่กลุ่มเสี่ยง ผู้ที่ดูแลตนเองดีอยู่แล้วไม่จำเป็นที่จะต้องไปตรวจเชื้อ เนื่องจากรัฐจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการควบคุมการใช้จ่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอสำหรับผู้ที่ติดเชื้อจริงๆ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการปรับมาตรการต่างๆ เหล่านี้ ตนได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยรวมถึงกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวง ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีอำนาจในการพิจารณาไม่ว่าจะเป็นการห้ามประชาชนเข้า-ออกในพื้นที่ จังหวัดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดมาก่อนหน้านี้ โดยให้ใช้วิธีการปิดสถานที่หลายๆ สถานที่ด้วยกัน เช่น ร้านค้า ห้ามขายสุรา ห้ามเล่นกีฬา

“เรื่องการพนันต้องห้ามเด็ดขาด จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในทุกพื้นที่ ผมได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่พลเรือนตำรวจทหารตรวจสอบเรื่องเหล่านี้อย่างเต็ม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่ง จนท. ดำเนินคดี “ขายเกินราคา-เจ้าหนี้นอกระบบ”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีสินค้าที่อาจจะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้เนื่องจากหลายร้านค้าหลายผู้ประกอบการที่ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ว่า  ตนได้สั่งการไปแล้ว โดยประชาชนสามารถที่จะแจ้งเรื่องร้องทุกข์ได้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ตามด่านตรวจ จุดสกัด ทั้งหมด เจ้าหน้าที่เหล่านี้สามารถรับเรื่องร้องเรียนได้ และเข้าตรวจสอบได้โดยทันที เพราะมีอำนาจตามกฎหมายที่ได้ให้เพิ่มไปแล้วใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมไปถึงเรื่องของหนี้นอกระบบที่วันนี้มีการแพร่ระบาดมากขึ้น โดยอาจจะเป็นการอาศัยช่วงจังหวะที่ประชาชนเดือดร้อนมากจึงมีการปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้น

“สิ่งที่ผมจะทำทีละขั้นทีละตอน คือ ให้ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องทุกข์ได้กับเจ้าหน้าที่ตามด่านตรวจ จุดสกัดทั้งหมด ที่อยู่ในพื้นที่ รับเรื่องมาแล้วจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบเรียกมาดำเนินคดีหรือไกล่เกลี่ย เช่น การเจรจากันว่าในงวดนี้ขอผ่อนชำระแล้วปรับจำนวนดอกเบี้ยให้เป็นไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ไม่เช่นนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทุกประการ อยากไม่ละเว้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ประชุมผ่าน ครม.ระบบ Video Conference

ลั่น ปชช. เดินทางโดยไม่จำเป็น เล็งสั่งหยุดให้บริการรถสาธารณะ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกระแสข่าว “ชัตดาวน์ กทม.” ว่า ในส่วนของการเดินทาง วันนี้ตนได้ให้กระทรวงคมนาคมไปพิจารณาในกรณีหากยังมีการเดินทางเคลื่อนย้ายเป็นจำนวนมากโดยไม่จำเป็นอยู่ดังเช่นปัจจุบัน การให้บริการขนส่งต่างๆ ของภาครัฐนั้นจะทำอย่างไร จำเป็นต้องลดจำนวนลงหรือไม่ในการให้บริการ เหลือกี่เที่ยวต่อวัน

“ในเมื่อถ้าให้ทำกันเองแล้วยังไม่เรียบร้อยอยู่ ยังไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ ต่อไปก็จะต้องเจอมาตรการนี้ในการลดการให้บริการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถไฟ รถโดยสาร รถเมล์ ฯลฯ จำเป็นที่จะต้องลดเที่ยวในการให้บริการจนกว่าจะเรียบร้อย หากยังไม่เรียบร้อยก็จำเป็นที่จะต้องปิดให้บริการทั้งหมดเพื่อลดการเคลื่อนย้ายไปมาหยุดการแพร่เชื้อ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อกรณีเสียงเรียกร้องให้ “ห้ามเด็ดขาด” ในการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การหยุดหรือปิดเส้นทาง การขนส่งใดไม่ว่าจะเป็นใน กทม. หรือพื้นที่อื่นๆ เป็นเรื่องที่จะต้องดูผลกระทบในหลายๆ อย่างด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจับจ่ายสินค้า ขอให้ทุกคนระมัดระวังตัวเอง โดยรัฐบาลได้เน้นในเรื่องของการให้บริการแกร็บหรือไลน์แมน

ทั้งนี้ จะต้องมีการตรวจสอบเชื้อให้กับผู้ให้บริการเหล่านี้ด้วย อย่าไปแออัดบริเวณร้านค้าที่จะต้องรับของไปส่ง เพราะจะเป็นการแพร่เชื้อสู่ผู้บริโภคด้วย โดยกล่าวย้ำว่าทุกคนจะต้องรับผิดชอบตัวเองและรับผิดชอบผู้อื่นด้วยเสมอ

ยันไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการประเมินผลการทำงานของรัฐบาลและ ศบค. ว่า รัฐบาลได้มีการประเมินผลการทำงานอยู่แล้วในทุกสัปดาห์ในการประชุม ครม. หรือแม้กระทั่งในการประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งในส่วนของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นอำนาจตามกฎหมายสามารถใช้ได้ 3 เดือน วันนี้ตนให้ใช้ประเมินในระยะ 1 เดือนแรกก่อน ถ้าจำเป็นก็ให้ต่อไปในเดือนที่ 2 เดือนที่ 3 มาตรการจึงจำเป็นที่จะต้องเข้มข้นขึ้นตามลำดับ

“ยังไม่มีแนวโน้มที่จะยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน เว้นแต่ว่าจะให้หน่วยงานไปพิจารณาว่าอะไรที่ทำแล้วได้ผลหรือดีขึ้นอาจจะมีการผ่อนผัน หากจุดไหนยังไม่ดีขึ้นก็ต้องเข้มงวดมากขึ้น” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ย้ำเดินทางเข้าประเทศ ถูกกักตัว 14 วัน ทุกคน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงมาตรการตรวจสอบ-ดูแลผู้เดินทางเข้าประเทศ ว่า วันนี้รัฐบาลได้มีมาตรการควบคุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคนต่างประเทศที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยวันนี้ก็มีเฉพาะส่วนที่มี work permit ที่ทำงานในประเทศไทยอยู่แล้ว ส่วนอื่นๆ นั้นในกรณีที่เข้ามาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงแล้วมีการติดเชื้อก็ได้ส่งตัวคนเหล่านั้นเข้าสู่สถานกักกันของรัฐแล้ว

โดยทุกคนจะต้องถูกควบคุมตัว 14 วันก่อนที่จะกลับสู่ภูมิลำเนา มีทั้งการกักตัวที่เรียกว่า state quarantine หรือ home quarantine ซึ่งทุกคนจะต้องถูกกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการบันทึกข้อมูลลงแอปพลิเคชันทั้งหมดในเรื่องของการควบคุมที่อยู่หรือถิ่นที่อยู่อาศัย

วอนทุกฝ่ายคิดมาตรการป้องกันตนเอง นายกฯลงรายละเอียดไม่ไหว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการทำบุญในช่วงนี้ ว่า ตนเห็นว่าการทำบุญเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนิกชน ฉะนั้นในเรื่องของวัดตนมีความเป็นห่วงพระสงฆ์ ซึ่งได้มีการเน้นย้ำไปแล้วในเรื่องของมาตรการในการทำบุญ ในการสวดมนต์ต่างๆ ต้องมีการแยก มีการกำหนดจำนวน กำหนดวิธีการต่างๆ ให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใส่บาตร หรือการทำโรงทาน

“ผมรู้ว่าทุกคนมีความตั้งใจที่ดี แต่เราจำเป็นที่จะต้องช่วยกันคิดเพราะนายกฯ จะไปลงรายละเอียดมากๆ ก็คงไม่ไหว ฉะนั้นขอให้ทุกหน่วยงานรวมถึงภาคประชาชนและภาคประชาสังคมธุรกิจเอกชนช่วยกันในการหามาตรการของตัวเองออกมาเพื่อรองรับนโยบายหลักของรัฐบาลด้วย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

นายกฯสั่งกรมศุลฯเว้นภาษีนำเข้าหน้ากาก-เครื่องมือแพทย์

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำหนังสือรวบรวมมาตรการในการป้องกัน รักษา และบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย กระทรวงการคลังรวบรวมมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และกระทรวงวัฒนธรรมจัดทำจดหมายเหตุเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกและในประเทศไทย

พร้อมสั่งการให้กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ยกเว้นภาษีอากรนำเข้า หน้ากากอนามัย เครื่องมือทางการแพทย์ อุปกรณ์ชุดตรวจหาโควิด-19 และยาเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการใช้รักษาโควิด-19 และสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งกระบวนการตรวจเพื่อรับรองมาตรฐานให้สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยาใช้เวลาดำเนินการภายใน 1 วัน และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ใช้เวลาดำเนินการภายใน 4 วัน รวมถึงให้กระทรวงพาณิชย์เข้มงวดในการคุมราคาสินค้าไข่ไก่ ตั้งแต่หน้าฟาร์มและพ่อค้าคนกลางมากกว่าการค้าปลีกรวมถึงให้งดการส่งออกไข่ไก่ไปต่างประเทศในระยะนี้

ด้านการเดินทางสัญจร นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม โดย กองทัพภาคที่ 4 กระทรวงมหาดไทย ปิดการเดินทางเข้าออกจังหวัดภูเก็ตทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

สั่ง กสทช.คุมเข้ม “รายการมวย” – พณ.เร่งจัดสรรหน้ากาก 2.3 ล้านชิ้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้เฝ้าระวังกิจกรรมที่มีลักษณะการรวมกลุ่มทุกกิจกรรม โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้มงวดในการออกอากาศรายการมวยทางโทรทัศน์ สั่งการให้สํานักงานตํารวจแห่งชาติเข้มงวดในการควบคุมผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างหรือวินมอเตอร์ไซค์ สวมใส่หน้ากากอนามัย ปฎิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งให้จับกุมการลักลอบการเล่นพนัน การสังสรรค์อย่างผิดกฎหมายและฝ่าฝืนแข่งรถ

พร้อมกำชับแผนการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยต่อวันในช่วง 5 วันนี้ เป็นการชั่วคราว จากจำนวนการผลิตหน้ากากอนามัยที่กระทรวงพาณิชย์สามารถจัดหาได้ 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน จากการผลิตทั้ง 11 บริษัท ให้จัดสรรให้กระทรวงมหาดไทย 8 แสนชิ้น และกระทรวงสาธารณสุข 1.5 ล้านชิ้น

โดยให้กระทรวงมหาดไทยแจกจ่ายผ่านบริษัทไปรษณีย์ไทยไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อกระจายไปยังผู้ปฏิบัติงานทั้งอาสาสมัครสาธารณะสุข เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

ในส่วนกระทรวงสาธารณสุขจะทำการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยจำนวน 1.5 ล้านชิ้น ผ่านบริษัทไปรษณีย์ไทยไปยังสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร และสถานพยาบาลใน 76 จังหวัด เพื่อนำไปให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชน รวมทั้งจะมีทั้งส่วนของนักศึกษาแพทย์ และนักศึกษาพยาบาล ที่เตรียมพร้อมจะช่วยเหลือเพิ่มเติม อีกด้วย

ทั้งนี้ หากประชาชนชาวไทยที่เดินกลับจากต่างประเทศต้องกักกันตัวเองตามมาตรการเฝ้าระวังสังเกตอาการ 14 วัน และปฏิบัติตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด และให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงมหาดไทย ประสานกับประเทศต่างๆ หากมีความประสงค์จะจัดเครื่องบินเพื่อมารับพลเมืองของตนเองออกนอกประเทศ

เพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิรับเยียวยา 5,000 บาท เป็น 9 ล้านคน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

มาตรการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ของการแพร่ระบาดของโควิด-19

  • ขยายกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้ฯ ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากเดิม จำนวน 3 ล้านคน เป็น จำนวน 9 ล้านคน
  • กระทรวงการคลังขอนำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนไม่เกิน 45,000 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 มาใช้ในการชดเชยรายได้ครั้งแรก ในเดือนเมษายน 2563 ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบที่ได้รับสิทธิตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ ไปพลางก่อน สำหรับในเดือนต่อๆ ไป กระทรวงการคลังจะได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง
  • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับตามมาตรการชดเชยรายได้ฯ โดยให้กรมสรรพากรเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากการเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียน ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 ถึงวันจันทร์ที่ 30 มีนาคม 2563 เวลา 07.00 น. พบว่า ผู้ลงทะเบียนที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบสิทธิจำนวนทั้งสิ้น 18.8 ล้านคน จึงได้มีการประเมินว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมีเพิ่มกว่าที่ได้ประมาณการไว้ อีกทั้งยังมีกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มาตรา 40 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน คน ที่ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน

และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 บางส่วนอีกจำนวน 70,676 คนที่ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม แต่เป็นลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 70,676 คน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กลุ่มอื่นๆ นั้น กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป

โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

โดย ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. เรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ภายใต้โครงการสินเชื่อฯ ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ (flat rate) ไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.20 ต่อปี ซึ่งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. มีต้นทุนผันแปร (variable cost) อยู่ที่ร้อยละ 2.56 และ 2.90 ตามลำดับ ซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนเงิน (cost of fund) อยู่ที่ร้อยละ 1.56 และร้อยละ 1.90 ตามลำดับ และค่าใช้จ่ายในการกันเงินสำรองอย่างน้อยธนาคารละร้อยละ 1.00 ของสินเชื่อที่อนุมัติ

ดังนั้น กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับโครงการสินเชื่อฯ เพื่อให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายตามที่กล่าวข้างต้น โดยไม่กระทบต่อฐานะและผลการดำเนินงาน โดยพิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับโครงการสินเชื่อฯ ของธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. จำนวนไม่เกิน 1,600 ล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนการดำเนินงาน (วงเงิน 40,000 ล้านบาท *ร้อยละ 2* ระยะเวลา 2 ปี) โดยแบ่งเป็นของธนาคารออมสินไม่เกิน 800 ล้านบาท และ ธ.ก.ส. ไม่เกิน 800 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีต่อๆ ไป

โดยธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ต้องจัดทำบัญชีสำหรับการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ได้รับมอบหมายแยกต่างหากจากบัญชีการดำเนินงานทั่วไป พร้อมทั้งเสนอรายงานผลการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและผลสัมฤทธิ์ต่อรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามนัยบทบัญญัติมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 28 ได้กำหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามที่กำหนดไว้ ให้ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี รายงานข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2563 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จำนวน 893,826.812 ล้านบาท และภาระทางการคลังที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอ ครม. อีกจำนวน 10,919.36 ล้านบาท จะส่งผลให้ยอดคงค้างทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 904,746.172 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 28.27 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 (วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท)

ดังนั้น หากมีการดำเนินมาตรการดังกล่าวจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,600 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.05 ของจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 จะส่งผลให้ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 906,346.172 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 28.32 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งยังคงไม่เกินอัตราร้อยละ 30 ที่คณะกรรมการฯ ได้ประกาศกำหนดไว้

ผ่อนผันแรงงานต่างด้าวอยู่ไทยต่อชั่วคราว

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคี ทั้งนี้ มิให้นำมาตรา 12 (10) และมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาบังคับใช้แก่คนต่างด้าว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่กำหนด ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ดังนี้

กระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ออกประกาศ ดังนี้

    ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานหรือบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน กรณีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตาม MoU ที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดสามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไปจนถึงระยะเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 หรือสิ้นสุดระยะเวลาตามที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม (หากมี)

    ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานราชอาณาจักร ตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยใช้บัตรผ่านแดน ที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไปจนถึงระยะเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 หรือสิ้นสุดระยะเวลาตามที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม (หากมี)

    กระทรวงแรงงาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักร เป็นกรณีพิเศษตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้ จนถึงระยะเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 หรือสิ้นสุดระยะเวลาตามที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม (หากมี)

หลังสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ การผ่อนปรนการอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงานให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเภทคู่ภาคี มีดังนี้

1. กลุ่มเป้าหมาย: เป็นคนต่างด้าว 2 กลุ่ม คือ

  • คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานหรือบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่วาระการจ้างงานครบสี่ปีและระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง แต่ไม่สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ก่อนหรือในวันที่ 30 เมษายน 2563
  • คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งถือบัตรผ่านแดนตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและการอนุญาตให้พำนักในเขตพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตสิ้นสุด และไม่สามารถเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้ก่อนหรือในวันที่ 30 เมษายน 2563

2. ลักษณะการดำเนินการ: เป็นการผ่อนปรนให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ลงนามกับรัฐบาลประเทศคู่ภาคีอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานได้ต่อไป

3. ระยะเวลา: การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร การอนุญาตให้ทำงาน เป็นไปตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563

ทั้งนี้ หากมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติม ให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงานออกประกาศให้ครอบคลุมตามระยะเวลาดังกล่าวได้ โดยอนุโลม

4. ภายหลังสิ้นสุดระยะเวลาตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 หรือสิ้นสุดระยะเวลาตามที่มีการประกาศฯ เพิ่มเติม (หากมี) แรงงานต่างด้าวต้องเดินทางออกจากราชอาณาจักรภายในระยะเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง

ปลดล็อก ประกันสังคมจ่ายเงินทดแทน 60% กรณีว่างงาน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอทบทวนอัตราและระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. ดังนี้

  • ข้อ 3 วรรคหนึ่ง จาก “ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรองหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน” เป็น

“ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละหกสิบสองของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ไม่เกินเก้าสิบวัน”

  • ข้อ 3 วรรคสอง “ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง แต่ทั้งนี้ไม่เกินหกสิบวัน” เป็น

“ในกรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราร้อยละหกสิบสองของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งแต่ ทั้งนี้ไม่เกินเก้าสิบวัน”

ลดเงินสมทบผู้ประกันตน ม.39 เหลือ 86 บาท

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอขอทบทวนอัตราเงินสมทบที่จัดเก็บสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ตามร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ตามร่างข้อ 2 จาก “…ให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละสองร้อยสิบเอ็ดบาท” เป็น “…ให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละแปดสิบหกบาท”

จัดงบฯเช่ากำไล EM เพิ่มเติม 44.76 ล้านบาท

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 [เรื่อง ขออนุมัติผูกพันงบประมาณรายการค่าเช่าอุปกรณ์เครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (electronic monitoring: EM) พร้อมระบบที่เกี่ยวข้อง จำนวน 30,000 เครื่อง] จากวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ วงเงินรวมจำนวน 720.00 ล้านบาท เป็นวงเงินจำนวน 832.50 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายบริหารจัดการโครงการตามที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว เป็นเงินจำนวน 44.76 ล้านบาท รวมทั้งโครงการเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 877.26 ล้านบาท

ลดหย่อนภาษีโรงเรือน-ที่ดิน โรงไฟฟ้าจะนะ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ลดหย่อนค่ารายปีสำหรับใช้ในการคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประจำปี 2562 โดยให้คิดค่ารายปีเป็นจำนวนเงินเท่ากับ 65,661,587.01 บาท ซึ่งคำนวณเป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเท่ากับ 8,207,698.38 บาท และมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน (พน.) จัดทำรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับจากการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการที่ได้จัดทำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบตามบทบัญญัติในมาตรา 27 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ทั้งนี้ สาระสำคัญของเรื่อง เดิมกระทรวงพลังงานได้เคยเสนอขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีเพื่อลดภาระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ต้องชำระให้กับโรงไฟฟ้าจะนะ มาตั้งแต่ปี 2552-2558 เนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบลคลองเปียะ (อบต. คลองเปียะ) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับการประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโรงไฟฟ้าจะนะมาโดยตลอด

โดยค่าเช่ามาตรฐานกลางที่ อบต. คลองเปียะ ใช้ในการคำนวณค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโรงไฟฟ้าจะนะสูงกว่าที่ กฟผ. คำนวณได้ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเช่ามาตรฐานกลางอื่น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับองค์การบริหารส่วนตำบลป่าชิงซึ่งมีพื้นที่ติดกันกับโรงไฟฟ้าจะนะ หรือเทศบาลอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ดินที่มีความเจริญมากกว่า ซึ่ง กฟผ. เห็นว่าจำนวนเงินที่ประเมินนั้นสูงเกินไปและเกินกว่าที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจะรับภาระได้

ต่อมาในปี 2559-2561 กฟผ. (โรงไฟฟ้าจะนะ) ได้ชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งคำนวณจากบัญชีราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนตามที่ กฟผ. คำนวณได้ (ไม่ได้นำเสนอขอคณะรัฐมนตรี) เนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาที่อยู่ในระหว่างที่กระทรวงมหาดไทยยังไมได้กำหนดบัญชีราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนเพื่อใช้ในการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีทรัพย์สินประเภทโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นกับที่ดิน ซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 (เรื่อง หลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดินของรัฐวิสาหกิจ)

ดังนั้นสำหรับปี 2562 กระทรวงพลังงาน ได้ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ อบต. คลองเปียะ ดำเนินการลดหย่อนค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินปี 2562 ให้โรงไฟฟ้าจะนะ เนื่องจาก อบต. คลองเปียะ ได้ประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปี 2562 สำหรับโรงไฟฟ้าจะนะสูงกว่าค่ารายปีที่ กฟผ. ประเมิน ดังนี้

การประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปี 2562 อบต. คลองเปียะ ประเมินค่ารายปี 143,337,576.45 บาท ค่าภาษี 17,917,197.06 บาท ส่วนกฟผ. ประเมินได้ 36,904,806.65 บาทและ 4,613,100.83 บาทตามลำดับ เป็นส่วนต่าง 106,432,769.80 บาท และ 13,304,096.23 บาทตามลำดับ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้จัดประชุมหารือเพื่อหาข้อยุติร่วมกันเกี่ยวกับการขอลดหย่อนค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโรงไฟฟ้าจะนะของ กฟผ. ประจำปี 2562 ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพลังงาน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจ อบต. คลองเปียะ และ กฟผ. แล้ว เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 และวันที่ 17 ธันวาคม 2562

ในครั้งนี้ กระทรวงการคลังจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาลดหย่อนค่ารายปีสำหรับใช้ในการคำนวณภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะของ กฟผ. ประจำปี 2562 ตามมติที่ประชุมดังกล่าว โดยให้คิดค่ารายปีเป็นจำนวนเงินเท่ากับ 65,661,587.01 บาท ซึ่งคำนวณเป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเท่ากับ 8,207,698.38 บาท

จัดงบฯเพิ่มทุน IDA เกือบ 160 ล้านบาท

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการบริจาคเพิ่มทุนในสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ (International Development Association: IDA) ครั้งที่ 19 (IDA 19) ของประเทศไทย จำนวน 159.91 ล้านบาท โดยแบ่งชำระออกเป็น 9 งวด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2572 โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศเป็นสถาบันในกลุ่มธนาคารโลกมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนที่สุดในรูปแบบเงินให้เปล่า (grant) และเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน ในครั้งนี้กระทรวงการคลังเสนอให้ไทยบริจาคเงินเพิ่มทุนใน IDA ครั้งที่ 19 จำนวน 159.91 ล้านบาท โดยแบ่งชำระออกเป็น 9 งวด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2572 และสามารถบริจาคในรูปแบบเงินบาทได้ จึงไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

การบริจาคเพิ่มทุนใน IDA 19 สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และเป็นการรักษาจุดยืนของประเทศไทยที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่มีฐานะยากจน ซึ่งรวมถึงประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากผลการพัฒนาของประเทศเหล่านี้ในทางอ้อม ผ่านช่องทางการค้า การลงทุน และความเชื่อมโยงของภูมิภาคและเป็นการส่งเสริมบทบาทภูมิภาคอาเซียนในการเป็นกำลังสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกต่อไป

ขยายอายุตั๋วจำนำ สธค.เพิ่มอีก 90 วัน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการ “สธค. โรงรับจำนำของรัฐ สู้ภัยโควิด-19” ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยโครงการดังกล่าวเป็นการขยายเวลาตั๋วจำนำและลดดอกเบี้ยรับจำนำสำหรับผู้มาใช้บริการวงเงินต้นไม่เกิน 10,000 บาท ที่มีตั๋วจำนำตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม-31 มีนาคม 2563 จะขยายเวลาตั๋วจำนำจาก 4 เดือน 30 วัน เป็น 4 เดือน 120 วันโดยไม่คิดดอกเบี้ยในส่วนที่ขยายระยะเวลา

โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนตามที่สถานธนานุเคราะห์ (สธค.) กำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน -31 พฤษภาคม 2563 จำกัดสิทธิ์ 1 คนต่อ 1 ตัว 1 ใบต่อ 1 รอบการจำนำเท่านั้น และสำหรับผู้มาใช้บริการจำนำใหม่วงเงินต้นไม่เกิน 15,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 0.125 ต่อเดือน นับตั้งแต่วันถัดจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบ ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563

ทั้งนี้ พม. คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือประชาชนในการขยายเวลาตั๋วจำนำประมาณ 41,000 รายและลดดอกเบี้ยรับจำนำประมาณ 177,600 ราย รวมทั้งสิ้นประมาณ 218,600 ราย ทั้งนี้ถือเป็นมาตรการหนึ่งในการดูแลและเยียวยาประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ยกฐานะ 3 ศาลแขวง เป็นศาลจังหวัด

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ยกฐานะศาลแขวงนครไทย ศาลแขวงพยัคฆภูมิพิสัย และศาลแขวงเวียงป่าเป้า เป็นศาลจังหวัด และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญ ของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ด้วย

ปัจจุบันประชากรใน จ.พิษณุโลก จ.มหาสารคาม และ จ.เชียงราย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สภาพเศรษฐกิจและสังคมมีความเจริญมากขึ้นทำให้คดี ที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษามีความซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับมีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเกิดประสิทธิภาพ ประชาชนผู้มีอรรถคดีสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทาง ไปศาล จึงสมควรยกฐานะศาลแขวงนครไทย ศาลแขวงพยัคฆภูมิพิสัย และศาลแขวงเวียงป่าเป้า เป็นศาลจังหวัด เพื่อให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่อยู่ในเขตอำนาจ โดยการยกฐานะศาลแขวงเป็นศาลจังหวัด ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มเติมงบประมาณเพียงบางส่วน เนื่องจากมีบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ อาคาร สถานที่ ซึ่งเป็นของศาลแขวงเดิมอยู่แล้ว สำหรับอัตรากำลังของแต่ละศาลจะใช้ วิธีไกล่เกลี่ยอัตรากำลังจากศาลแขวงเดิม

สาระสำคัญของ พ.ร.บ. เป็นการกำหนดให้ยกฐานะศาลแขวงนครไทย ศาลแขวงพยัคฆภูมิพิสัย และศาลแขวง เวียงป่าเป้า เป็นศาลจังหวัด และจะเปิดทำการเป็นศาลจังหวัดเมื่อใดให้ประกาศโดย พ.ร.ฎ.

  • กำาหนดให้ “ศาลจังหวัดนครไทย” มีเขตตลอดท้องที่ อ.ชาติตระการ และ อ.นครไทย ใน จ.พิษณุโลก โดยในระหว่างที่ยังไม่เปิดทำการศาลจังหวัดนครไทย ให้ศาลจังหวัดพิษณุโลกมีเขตอำนาจตลอดท้องที่ดังกล่าวด้วย
  • กำหนดให้ “ศาลจังหวัดพยัคฆภูมิพิสัย” มีเขตตลอดท้องที่ อ.นาเชือก อ.นาดูน อ.พยัคฆภูมิพิสัย และ อ.ยางสีสุราช ใน จ.มหาสารคาม โดยในระหว่างที่ยังไม่เปิดทำการศาลจังหวัดพยัคฆภูมิพิสัย ให้ศาลจังหวัดมหาสารคามมีเขตอำนาจตลอดท้องที่ดังกล่าวด้วย
  • กำหนดให้ “ศาลจังหวัดเวียงป่าเป้า” มีเขตตลอดท้องที่ อ.แม่สรวย และ อ.เวียงป่าเป้า ใน จ.เชียงราย โดยในระหว่างที่ยังไม่เปิดทำการศาลจังหวัดเวียงป่าเป้า ให้ศาลจังหวัดเชียงรายมีเขตอำนาจตลอดท้องที่ดังกล่าวด้วย

รับทราบ “ศักดิ์สยาม” นำคณะเยือนเกาหลี

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่งแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (นางคิม ฮยอน-มี) เมื่อวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สาธารณรัฐเกาหลี มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  1. ฝ่ายเกาหลีจะขอรับการสนับสนุนจากฝ่ายไทยในการพิจารณาภาคเอกชน ของเกาหลีที่มีศักยภาพเพื่อร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
  2. ฝ่ายไทยกล่าวถึงแนวทางการผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบ โลจิสติกส์ของไทยที่มีการขับเคลื่อนภารกิจในหลายโครงการอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ EEC และการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ ซึ่งฝ่ายไทยจะแจ้งความคืบหน้า โครงการต่างๆ ให้ฝ่ายเกาหลีทราบต่อไป
  3. ฝ่ายเกาหลีขอรับการสนับสนุนจากฝ่ายไทยในการคัดเลือกเจ้าภาพจัดการ ประชุมระดับนานาชาติฯ ในปี 2568 ณ เมืองคังนึง เกาหลี ฝ่ายไทยได้ตอบรับและยินดีให้การสนับสนุนและขอเชิญผู้แทนฝ่ายเกาหลีเยือนไทยในโอกาสต่อไป
  4. การทดสอบพัฒนาผลิตภัณฑ์แบริเออร์หุ้มยางพารา (rubber fender barrier: RFB) การทดสอบรับแรง กระแทกของคอนกรีต มีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจ สามารถรับแรงกระแทกได้ดีและนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ซึ่งการต่อยอดในการพัฒนา RFB จะช่วยสนับสนุนผลผลิตของเกษตรกรสวนยางพาราโดยการนำยางพารามาใช้ในโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนน และในอนาคต ทางกระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะลงนาม MOU กับกระทรวงเกษตร เพื่อรับรองการผลิตและจำหน่าย RFB จากเกษตรกรชาวสวนยางให้แก่ภาครัฐโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
  5. ศูนย์ควบคุมจราจรของเกาหลีสามารถแสดงภาพจากกล้องวงจรปิดบนทางด่วน แบบ 360 องศา และมีการติดเซนเซอร์ภายใต้พื้นผิวจราจร เพื่อเก็บข้อมูล ความหนาแน่นของสภาพการจราจรทั่วไปแบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำ เทคโนโลยีมาใช้ดำเนินภารกิจเพื่อลดงบประมาณรายจ่ายด้านบุคลากร และสนับสนุนการบริหารจัดการปัญหาจราจร
  6. ระบบจัดเก็บ ค่าผ่านทางพิเศษ แบบ Hi-Pass Multi-Lane Free Flow (MLFF) ของเกาหลี (คล้ายกับระบบ Easy Pass ของไทย) มีการติดตั้ง อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณไว้บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางและไม่มีไม้กั้น ดังนั้น ผู้ใช้บริการไม่จำเป็นต้องลดความเร็วเมื่อผ่านช่อง MLFF ซึ่งระบบประมวลผล จะไม่บันทึกข้อมูลซ้ำซ้อนในกรณีที่ผู้ใช้บริการเปลี่ยนช่องจราจร และช่วยลด การเกิดอุบัติเหตุได้อย่างดี

เพิ่มทุน ธ.ก.ส. 6,000 ล้านบาท

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบการเพิ่มทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปีบัญชี 2563 จำนวน 6,000 ล้านบาท สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ได้อนุมัติการขยายทุนเรือนหุ้นของ ธ.ก.ส. จากเดิม 60,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท

ในรายละเอียด ครม. เห็นชอบการใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อการเพิ่มทุน ธ.ก.ส. ในปีบัญชี 2563 เพื่อให้ ธ.ก.ส. มีเงินทุนเพียงพอในการให้บริการสินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร สามารถรองรับการขยายงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เช่น การส่งเสริม smart farmer การพัฒนาผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม กองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์การเกษตร และสร้างความมั่นคงทางการเงินและความเชื่อมั่นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ธ.ก.ส. ได้เสนอแผนการขยายทุนเรือนหุ้น จำนวน 20,000 ล้านบาท โดยการเพิ่มทุนปีบัญชี 2563 จำนวน 6,000 ล้านบาท และปีบัญชี 2564-2567 ปีละ 3,500 ล้านบาท ซึ่งแผนการใช้เงินทุนในปีบัญชี 2563 ได้ตั้งเป้าหมายการขยายสินเชื่อ จำนวน 1.01 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นการขยายสินเชื่อเพิ่มเติมจากแผนงานปกติ รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท จำนวน 7 โครงการ ดังนี้

  1. โครงการสินเชื่อ Smart Farmer สร้างไทย วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท
  2. โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน/ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2563 วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท
  3. โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร สำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง ปี 2563 วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท
  4. โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท
  5. โครงการสินเชื่อร้านค้าชุมชนภายใต้ธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท
  6. โครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพสถาบันการเกษตรในการดำเนินธุรกิจ วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท
  7. โครงการสินเชื่อต่อยอด SME เกษตรหัวขบวน วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเพิ่มทุนในปีบัญชี 2563 ของ ธ.ก.ส. จะส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เท่ากับร้อยละ 11.86 ซึ่งอยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นไปตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ขยายอายุหนังสือคนประจำเรืออีก 1 ปี แก้แรงงานประมงขาดแคลน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า สืบเนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงในช่วงปี 2560-2562 ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างชาติสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่มีและไม่มีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว และกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศ เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างชาติสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือ เพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล โดยอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 1 ปี เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงในประเทศ ซึ่งขณะนี้อายุหนังสือคนประจำเรือ กรณีพิเศษ (Seabook เล่มเหลือง) ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หมดอายุในวันที่ 30 มีนาคม 2563 และไม่สามารถต่ออายุได้ ทำให้กลุ่มแรงงานประมง 3 สัญชาติ ถูกดำเนินคดีและส่งตัวกลับประเทศต้นทาง ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานประมง

วันนี้ ครม. อนุมัติในหลักการร่างประกาศ รวม 2 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. ….
1) ปรับปรุงหลักกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขึ้นทะเบียนและการขอรับหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่มีและไม่มีใบอนุญาตทำงาน และ 2) ขยายอายุหนังสือคนประจำเรือสำหรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งถือหนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือหนังสือรับรองสถานะบุคคล ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่หมดอายุในวันที่ 30 มีนาคม 2563
2. ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล
เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือ สำหรับคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ถือหนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือหนังสือรับรองสถานะบุคคล ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวมีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ตามอายุหนังสือคนประจำเรือ

พร้อมกันนี้ ครม. ได้เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

  • ให้กรมประมงจัดทำทะเบียนประวัติและออกหนังสือคนประจำเรือ
  • ให้กรมการปกครองจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร. 38/1) และบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู)
  • ให้กระทรวงสาธารณสุขตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพของคนต่างด้าว
  • ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดทำสัญญาจ้างและตรวจสอบสัญญาจ้างของคนต่างด้าว
  • ให้กรมการจัดหางานจัดเก็บอัตลักษณ์ (iris scan) ของคนต่างด้าว
  • ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตรวจลงตราและประทับตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรแก่คนต่างด้าว

ตั้ง รมว.มหาดไทย ประธาน คกก. คุมกักตุนสินค้า

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2497 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ และแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 ขึ้นใหม่ โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้

  1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการ
  2. ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ
  3. ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการ
  4. ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการ
  5. ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ
  6. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ
  7. อธิบดีกรมสรรพากร เป็นกรรมการ
  8. อธิบดีกรมศุลกากร เป็นกรรมการ
  9. อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นกรรมการ
  10. อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นกรรมการ
  11. อธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการ และเลขานุการ

โดยให้สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2563เพิ่มเติม