ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง. กังวลจ้างงานหดตัวแรง-ฟื้นตัวช้า ทิ้ง “แผลเป็น” ทางเศรษฐกิจ ฉุดศักยภาพระยะยาว

กนง. กังวลจ้างงานหดตัวแรง-ฟื้นตัวช้า ทิ้ง “แผลเป็น” ทางเศรษฐกิจ ฉุดศักยภาพระยะยาว

4 มิถุนายน 2020


เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 3/2563  ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 โดยระบุถึงการดำเนินนโยบายการเงินว่าคณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิมตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมีผลกระทบต่อการจ้างงานและความเปราะบางด้านเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น อาจมีผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างมากกว่าที่คาด ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถปรับตัวเพื่อดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดในปัจจุบันและรองรับโครงสร้างธุรกิจที่เปลี่ยนไปในอนาคตได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและศักยภาพการเติบโตในระยะยาวลดต่ำลง

กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น โดยปัจจัยลบดังกล่าวจะฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะ จึงควรผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องเพื่อไม่ให้การดำเนินนโยบายล่าช้าเกินไป และให้มีประสิทธิผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริงได้ทันการณ์ รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการทางการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้” รายงานระบุ

ขณะที่กรรมการ 3 ท่านเห็นควรให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และให้เร่งรัดประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ประกาศไปแล้ว โดยกรรมการบางท่านเห็นควรให้รอประเมินผลการดำเนินนโยบายที่ผ่านมา รวมทั้งประเมินภาวะกิจกรรมทางเศรษฐกิจและแนวโน้มการระบาดภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุม ก่อนตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินเพิ่มเติมในระยะต่อไป

แนะใช้มาตรการการคลังเป็นแรงหนุนหลัก

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ โดยรวมเห็นควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้นในระหว่างที่มาตรการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ยังมีผลบังคับใช้ และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์

“มาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์มีความสำคัญและจำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเจริญเติบโตในระยะต่อไป ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของไทยในช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 ยังอยู่ในระดับต่ำ อายุหนี้เฉลี่ยยาวประมาณ 10 ปี และเกือบทั้งหมดเป็นหนี้ในสกุลเงินบาท”

นโยบายการคลังของไทยจึงยังมีขีดความสามารถในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางให้เหมาะสมหลังควบคุมการระบาดได้ ซึ่งอาจทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในระยะต่อไปมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้

นอกจากนี้ มาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อจำเป็นต้องประสานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินมาตรการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ระยะฟื้นฟู ควรดำเนินมาตรการที่เน้นการจ้างงาน สร้างรายได้ และสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ก่อนที่มาตรการการเงินการคลังที่ออกมาในช่วงเยียวยาเศรษฐกิจจะทยอยสิ้นสุดลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและศักยภาพการเติบโตในระยะยาว นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐจะต้องสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของผู้ประกอบการ ให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่หลังจากการแพร่ระบาดคลี่คลายลงด้วย

เสถียรภาพจะเปราะบางหลังมาตรการเยียวยาสิ้นสุด

ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวในปีนี้ส่งผลให้เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น จำนวนครัวเรือนและธุรกิจที่มีความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระหนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องของภาครัฐจะทยอยสิ้นสุดลง

“ธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร และสายการบิน ได้รับผลกระทบมากจาก COVID-19 ส่วนธุรกิจปิโตรเลียมได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงทั้งในและต่างประเทศ ดัชนีราคาอาคารชุดเริ่มทรงตัวหลังจากที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการลดการเปิดโครงการใหม่ และเร่งส่งเสริมการขายเพื่อระบายอุปทานคงค้าง”

คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง (liquidity risk) และด้านความมั่นคงทางการเงิน (solvency risk) ของครัวเรือนและธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพราะหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นวงกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อผู้ให้กู้ทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-banks) กองทุนรวม สหกรณ์ออมทรัพย์ และย้อนกลับมากระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ โดยให้ติดตามสถานการณ์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน

อย่างไรก็ดี ระบบสถาบันการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ได้ และสถาบันการเงินต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ (proactive debt restructuring) รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า และให้ ธปท. ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเตรียมแนวทางรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น หากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้อยลงกว่าคาด

จ้างงานหดตัวแรง-ฟื้นตัวช้า

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในประเทศ คณะกรรมการฯ กังวลต่อแนวโน้มการจ้างงานที่จะลดลงมากและอาจใช้เวลานานกว่าจะกลับเป็นปกติ ทั้งในกลุ่มลูกจ้างและผู้จ้างงานตนเอง (self-employed) โดยแรงงานบางส่วนอาจว่างงานชั่วคราวในช่วงที่มีมาตรการควบคุมการระบาด แต่แรงงานบางส่วนอาจว่างงานถาวรเนื่องจากธุรกิจประสบปัญหาด้านฐานะทางการเงินจนปิดกิจการ ลดการจ้างงานตามอุปสงค์ที่ลดลง หรือปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน (automation) มากขึ้น กลุ่มนักศึกษาจบใหม่จะหางานยากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและศักยภาพการเติบโตในระยะยาวลดต่ำลง (economic scars)

“การลงทุนภาคเอกชนมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จากฐานะทางการเงินที่เปราะบางของภาคเอกชน แนวโน้มการว่างงาน และแนวโน้มเศรษฐกิจ  ดังนั้น มาตรการการคลังและการลงทุนภาครัฐจะต้องเป็นเครื่องมือหลักในการประคับประคองเศรษฐกิจ รวมถึงลดความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะทรุดตัวมากจนถึงระดับที่ส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงินในวงกว้าง”

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง และวิเคราะห์หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น (scenario analysis) จากปัจจัยสำคัญต่างๆ ได้แก่

  • แนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าและการระบาดในต่างประเทศ รวมถึงผลสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนและยารักษา
  • การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและโอกาสที่จะเกิดการระบาดรอบสองในประเทศ
  • ประสิทธิผลของมาตรการด้านการคลัง การเงิน และสินเชื่อ โดยต้องออกใช้ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและทันการณ์ เพื่อสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs ให้ดำเนินไปได้ต่อเนื่อง

ระวังสงครามการค้ากลับมารุนแรง

สำหรับภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีโอกาสหดตัวมากกว่าคาดและฟื้นตัวช้า จากการระบาดของ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นในบางประเทศหรือกลับมารอบสองในประเทศที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดแล้ว รวมถึงยังมีความเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่

  • การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกลับมาทวีความรุนแรงขึ้น
  • ความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลกทั้งในและนอกภาคการเงิน เช่น ครัวเรือนและธุรกิจอาจมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงิน หรือมีการเร่งขายสินทรัพย์เป็นจำนวนมากส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ลดลงเร็ว (distressed assets) และกลับมากระทบภาคเศรษฐกิจจริงได้
  • ความผันผวนของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์
  • ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. และสกุลเงินภูมิภาค คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด