ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประยุทธ์” นัดหารือผ่อนปรนสถานการณ์ฉุกเฉิน 28 เม.ย.นี้ – มติ ครม. เพิ่มผู้มีสิทธิรับ 5 พันเป็น 14 ล้านคน

“ประยุทธ์” นัดหารือผ่อนปรนสถานการณ์ฉุกเฉิน 28 เม.ย.นี้ – มติ ครม. เพิ่มผู้มีสิทธิรับ 5 พันเป็น 14 ล้านคน

21 เมษายน 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ นัดหารือผ่อนปรน “สถานการณ์ฉุกเฉิน” 28 เม.ย.นี้ ไม่เคยพูดคลายล็อก – มติ ครม.เพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิรับ 5,000 บาท เป็น 14 ล้านคน คาดใช้งบฯ 2.1 แสนล้าน งบกลางหมด เบิก “เงินทุนสํารองจ่าย” 50,000 ล้านแทนได้ ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.โยกงบฯปี 63 โปะงบกลาง 100,395 ล้าน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม. ) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งการประชุมในวันนี้ยังคงเป็นการประชุมผ่านระบบ video conference เช่นเดิม

ประกาศระเบียบ- กม.ลูก รองรับ พ.ร.ก.การเงิน 3 ฉบับ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการออกพระราชกำหนดทางการเงิน 3 ฉบับ เพื่อนำมาใช้แก้ไขวิกฤติโควิด-19 ว่า วันนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้ง 3 ฉบับเรียบร้อยแล้ว ซึ่งฉบับที่สำคัญคือ พ.ร.ก. ที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมจำนวนไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ 3 ส่วนด้วยกัน คือ เรื่องของการแก้ปัญหาในส่วนของสาธารณสุข เรื่องของการเยียวยา และเรื่องของการฟื้นฟู

“ทั้ง 3 ส่วนนี้เราก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการคัดกรองฯ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งไปแล้ว และได้มีการหารือร่วมกันแล้วว่าจะมีระเบียบปฏิบัติในการใช้เงินต่างๆ นั้นอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด อย่างรอบคอบ วันนี้ได้นำเข้า ครม. พิจารณาในเรื่องของระเบียบต่างๆ ได้เห็นชอบไปเรียบร้อยก็คงจะต้องดำเนินการต่อไป”

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ในการพิจารณาในการใช้จ่ายเหล่านี้ จะต้องให้กระทรวงต่างๆ ได้นำแผ่นงานโครงการมาเสนอเข้า ครม. ให้ครบถ้วนในโอกาสต่อไปให้ทันต่อสถานการณ์ ให้เร็วที่สุด ทั้งในเรื่องของการสาธารณสุขและในเรื่องของการเยียวยาต่างๆ ซึ่งตนเองก็รับฟังความคิดเห็นรอบด้านจากประชาชนทุกภาคส่วน และได้มอบหมายให้ส่วนราชการได้นำไปพิจารณาให้ถูกต้องและเหมาะสม

ทั้งนี้ในส่วนของ พ.ร.ก. อีก 2 ฉบับคือ พ.ร.ก. รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ อันนี้เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยกับกระทรวงการคลังที่จะร่วมกันจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ในจำนวน 400,000 ล้านบาท และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ โดยมีอำนาจในการให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ตนก็ได้สั่งให้กระทรวงการคลังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยโดยดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบ รับข้อสังเกตข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้มีประสบการณ์ความรู้ความสามารถมาประกอบในการทำงานด้วย

นัดหารือผ่อนปรน “สถานการณ์ฉุกเฉิน” 28 เม.ย.นี้ ไม่เคยพูดคลายล็อก

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงเรื่องสถานการณ์โควิดฯ ว่า แม้ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาสถานการณ์จะดีขึ้น สถิติผู้ติดเชื้อเพิ่มลดลงไปตามลำดับ แต่ยังคงต้องดูต่อไป เพื่อจะดำเนินการขั้นตอนต่อไปในระยะต่อไป ขออย่าเพิ่งผลีผลาม โดยตนไม่ต้องการตัดสินใจใดๆ จากแรงกดดัน แต่ขอพิจารณาจากข้อเท็จจริงอย่างรอบครอบ เพื่อไม่ให้สิ่งที่ดำเนินการมาต้องกลายเป็นศูนย์

“หลายท่านเรียกร้องให้ปลดนู่นปลดนี่ เวลานี้ผมคิดว่าเราต้องระมัดระวังอย่างดีที่สุด ต้องฟังข้อมูลจากด้านการสาธารณสุขด้านการแพทย์ต่างๆ และมาตรการอื่นๆ ว่าเราสามารถรองรับได้เพียงพอแล้วหรือไม่ ผมไม่ต้องการให้การตัดสินใจนั้นมาจากแรงกดดัน ผมต้องการให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ ถ้าเราเริ่มหรือปลดอะไรเร็วเกินไป สิ่งที่จะตามมาก็คือ หากมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดในระยะเวลาที่นานพอสมควรก็ล้มเหลวทั้งหมด”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการพิจารณาเพื่อผ่อนปรนสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีการพิจารณาอีกครั้งในวันอังคารหน้า (28 เมษายน 2563) ว่าจะต้องดำเนินการต่อไปหรือไม่อย่างไร ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับความร่วมมือ ขึ้นอยู่กับสถิติต่างๆ ทางด้านการสาธารณสุขจะเป็นตัวชี้วัดในเรื่องเหล่านี้

นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้ดูแลในเรื่องของการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่ไม่เหมือนกัน ในกรณีการขนส่งสินค้าของภาคประชาชนมีเรื่องร้องเรียนมาว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ตนได้ขอให้กระทรวงมหาดไทยกับหน่วยงานความมั่นคงได้ดูแลในเรื่องนี้แล้ว โดยรับว่าข้อผ่อนปรนที่มีอยู่อาจยังไม่ทั่วถึง หรืออาจมีความไม่เข้าใจกัน ซึ่งได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในพื้นที่พิจารณาเรื่องการส่งสินค้าของประชาชนด้วย

สำหรับปัญหาของการละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ยังคงมีอยู่ในจำนวนที่มากอยู่ ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ดังนั้นขอให้ทุกคนได้ร่วมมือกับรัฐบาล ซึ่งสถานการณ์ต่างๆ ที่ดีขึ้นในวันนี้ก็เกิดจากพวกเราทุกคนร่วมมือกัน คงไม่ใช่รัฐบาลอย่างเดียว ถ้าประชาชนร่วมมือกันมากก็จะลดลงได้มากและในเรื่องของการผ่อนปรนก็จะทำได้มากขึ้นในอนาคต แต่ตนยังบอกไม่ได้ว่าเมื่อไร ขอให้หน่วยงาน สถานประกอบการต่างๆ เตรียมความพร้อมไว้ก่อน แล้วเสนอมาให้ทราบ จะมีการพิจารณาอีกครั้ง หากมีมาตรการรับมือที่เหมาะสมก็จอาจจะพิจารณาให้เปิดได้

“วันนี้ที่สั่งการไปก็คือผมไม่ได้ประกาศว่าจะเริ่มผ่อนปรนวันที่ 1 (เมษายน 2563) ผมไม่เคยพูดตรงนี้ เพราะผมบอกแล้วว่าต้องดูสถิติต่างๆ ให้มีความรอบคอบ การผ่อนปรนใดๆ ก็ตาม ผู้ประกอบการต่างๆ ต้องเสนอมาตรการของตัวเองขึ้นมาให้รับทราบว่าจะทำอะไรได้บ้าง เช่น ในเรื่องของการเตรียมการในเรื่องของสถานที่ เจ้าหน้าที่จะต้องปลอดภัย มีการตรวจโรค ตรวจเชื้อให้รัดกุม มีมาตรการในเรื่องของ social distancing มีการกั้นพื้นที่ มีการกำหนดจำนวนคน ก็จะสามารถทยอยเปิดให้เป็นบางส่วนในระยะต่อไป”

ทั้งนี้ ตนทราบดีว่าทุกคนเดือดร้อน แต่สิ่งที่เดือดร้อนมากกว่านั้นก็คือสุขภาพ พร้อมถามกลับว่า หากมีการล้มตายกันมากกว่านี้แล้วจะทำอย่างไร โดยกล่าวย้ำอีกครั้งว่า สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดนั้นถ้าทำเร็วเกินไปตามแรงกดดัน โดยที่ไม่ใช่สาระสำคัญ จะเป็นการระดมให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลหรือเกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น สิ่งที่ดำเนินการมาทั้งหมดจะเปล่าประโยชน์ และเรียกกลับมาไม่ได้ อันนั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีต้องตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนเกิดขึ้นจึงจะมีมาตรการดังกล่าวออกมาได้ อันนี้ก็ขอให้รับทราบด้วย

ย้ำ จม.ถึง “เจ้าสัว” ไม่มีขอเงิน วอนอย่าบิดเบือน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีของจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐี โดยยืนยันว่าการส่งจดหมายครั้งนี้ไม่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่เป็นไปเพื่อรับทราบว่าภาคเอกชนนั้นมีการดำเนินการอะไรในการช่วยเหลือบุคลากรภายในองค์กรของตนไปแล้วบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ พนักงานลูกจ้าง supplier เพื่อดูการสอดรับกับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกไปแล้ว และดูแนวทางที่จะออกมาตรการต่อไปในอนาคต ให้เกิดพื้นที่ในการดูแลประชาชนกว้างขวางขึ้น

“เนื่องจากในห่วงโซ่ของแต่ละท่านมีบุคลากรอยู่เป็นจำนวนมาก รวมความถึงประชาชนด้วย ผมก็ทราบดีว่าทุกท่านได้มีการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้สอดประสานกันในการทำงาน ไม่มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไปกู้เงินหรือไปยืมเงินอะไรจากเขา รัฐบาลก็มีเงินของรัฐบาลอยู่แล้ว ในส่วนนี้เป็นเรื่องของท่านที่จะดูแลประชาชนในส่วนของที่ทำอยู่แล้ว ก็ขอขอบคุณทุกท่านทั้ง 20 ท่าน การส่งจดหมายเป็นการส่งโดยเปิดเผย”

โดยในส่วนของมหาเศรษฐีทั้ง 20 ท่าน ตนอาจไม่ได้ไปพบด้วยตัวเอง แต่ได้มีประกาศรายชื่อออกมาแล้ว เป็นเอกสารเปิดผนึกหรือจดหมายเปิดผนึก มีรายละเอียดอยู่แล้วว่าไม่ขอรับเงินบริจาคใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมขออย่านำไปบิดเบือน

“ผมก็เพียงแต่ขอความร่วมมือ ก็อยากจะทราบว่าท่านจะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกไหมในเรื่องที่ท่านจะพิจารณาของท่านเอง อันนี้ไม่ใช่เรื่องของการแข่งขันหรือการบังคับ หรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ผมไม่ต้องการ ผมต้องการระดมความคิดเห็นความร่วมมือต่างๆ จากทุกภาคส่วน”

แจงผลงานรัฐบาลมีมากกว่า “เงินเยียวยา”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในการที่จะผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ ตนไม่อยากให้มองในแง่ของเงินเยียวยาแต่เพียงอย่างเดียว ต้องดูมาตรการอื่นๆ ด้วยว่ารัฐบาลช่วยเหลืออะไรไปแล้วบ้าง เพราะหลายกระทรวง หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ใช้งบประมาณปกติที่มีอยู่แล้วดำเนินการไปแล้ว

“อย่ามองว่าแค่นี้น้อยเกินไปหรือเปล่า ต้องเห็นใจว่าเรามีเงินเท่าไหร่ เรากู้เงินมาได้เท่าไหร่ เราจะใช้อย่างไร แล้ววันหน้าจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องคิดอย่างรอบครอบ ก็ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนภาคเอกชนทุกคนทุกภาคส่วนที่ได้ช่วยเหลือดูแล ขอให้ท่าน (ภาคธุรกิจ/เอกชน) ดูแลในส่วนของท่านให้ดีที่ทั้งห่วงโซ่การผลิตไปถึงผู้บริโภคด้วย ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความสุขและสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ในช่วงเวลานี้ โดยที่เดือดร้อนน้อยที่สุด”

นายกรัฐมนตรีระบุว่า นอกจากมหาเศรษฐีทั้ง 20 ท่านแล้ว ตนยินดีรับฟังความเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ หากมีมาตรการที่จะช่วยเหลือประชาชนขอให้แจ้งให้ตนทราบ

ยันมาตรการลดค่าไฟ รัฐบาลดูแลเต็มที่แล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงมาตรการลดค่าไฟฟ้าว่า วันนี้ตนได้รับฟังทุกส่วนงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพลังงานหรือกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมการกำกับดูแลพลังงาน ซึ่งได้มีการเสนอมาตรการที่จะลดค่าไฟให้กับประชาชนโดยทั่วไปอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ตนขอให้เห็นใจด้วยเพราะเป็นเรื่องของงบประมาณที่ทั้ง 3 หน่วยงานนั้นจำเป็นต้องใช้ในการบริหารงานต่อไปในอนาคตด้วย โดยยืนยันว่า รัฐบาลพยายามจะดูแลอย่างเต็มที่แล้ว และการพูดจาบิดเบือนนั้นไม่เกิดประโยชน์ การให้ร้ายซึ่งกันและกันทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน ทำให้การทำงานนั้นยากขึ้นและช้าขึ้น มีผลกระทบโดยรวมทั้งสิ้น

มติ ครม. มีดังนี้

หั่นงบฯปี 64 ลอตแรก 10 หน่วยงาน 927 ล้าน

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. รับทราบการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ส่วนราชการต่างๆ เสนอ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยในชุดแรก 10 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 6.62 จากงบประมาณที่ได้รับจัดสรร 210.7365 ล้านบาท คงเหลือ 196.7732 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานที่ปรับลดงบประมาณ ดังนี้

  • สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปรับลด 60,271,400 บาท
  • สถาบันพระปกเกล้า ปรับลด 20,968,163 บาท
  • สำนักงานศาลยุติธรรม ปรับลด 157,866,100 บาท
  • สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปรับลด 33,806,000 บาท
  • สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินปรับลด 23,079,100 บาท
  • สำนักงาน ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ปรับลด 166,725,600 บาท
  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปรับลด 298,516,800 บาท
  • สำนักงานอัยการสูงสุดปรับลด 141,716,500 บาท
  • สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปรับลด 10,556,300 บาท
  • สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ปรับลด 13.9633 ล้านบาท

ผ่านร่างพ.ร.บ.โยกงบฯปี 63 โปะงบกลาง 100,395 ล้าน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบผลการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. วงเงิน 100,395.0000 ล้านบาท จำแนกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

    1. งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับประมาณ 46,923.9118 ล้านบาท
    2. งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ 14,236.8011 ล้านบาท
    3. งบประมาณรายจ่ายทุนหมุนเวียน 2,622.0542 ล้านบาท
    และ 4. งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ 36,612.2329 ล้านบาท

โดยงบประมาณรายจ่ายที่นำมาจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. จำนวน 100,395 ล้านบาท นำไปตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) และปัญหาภัยพิบัติ ภัยแล้ง อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมทั้งกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่น

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณนำข้อเสนอการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 วรรค 2 ต่อจากนั้นสำนักงบประมาณจะเสนอร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. พร้อมเอกสารประกอบต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้งในวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 และนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 1 ,2 และ 3 ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 โดยคาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2563

เพิ่มจำนวนผู้มีสิทธิรับเงินเยียวยาเป็น 14 ล้านคน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบขยายกลุ่มเป้าหมายได้รับสิทธิของมาตรการชดเชยรายได้ 5,000 บาท จากเดิมจำนวน 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการและโครงการภายใต้ชุดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2

ทั้งนี้ จากการเปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม จนถึงวันที่ 16 เมษายน 2563 พบว่า ผู้ลงทะเบียนมีจำนวนรวม 27.76 ล้านคน มากกว่าที่ได้ประมาณการไว้ อีกทั้งจากการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิในการชดเชยรายได้ตามมาตรการฯ พบว่า ผู้ได้รับผลกระทบบางส่วนมีรายชื่อปรากฏอยู่ในฐานข้อมูลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือฐานข้อมูลนักเรียน/นักศึกษา แต่ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก ดังนั้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง จึงต้องขยายกลุ่มเป้าหมายเป็น 14 ล้านคน

โดยงบประมาณที่นำมาใช้ จะให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณพิจารณาร่วมกันอีกครั้งถึงแหล่งเงินงบประมาณที่จะสามารถนำมาใช้ดำเนินการได้ทันการณ์ ซึ่งมาตรการจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวเริ่มต้นจากเดิมตั้งใจจะให้เพียง 3 ล้านคน 45,000 ล้านบาท (มติ ครม. เมื่อ 24 มีนาคม 2563) ก่อนที่จะขยายเป็น 9 ล้านคน 135,000 ล้านบาท (มติ ครม. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563) และในวันนี้ได้ขยายเป็น 14 ล้านคน 210,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 75,000 ล้านบาท

อุดหนุนค่าไฟ 22 ล้านรายวงเงิน 23,688 ล้าน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังการประชุม ครม. ซึ่งมีประเด็นการพิจารณามาตรการเยียวยาการลดภาระค่าไฟฟ้า ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 วงเงิน 23,688 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ว่าขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือประชาชนเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าในกลุ่มของไฟบ้านที่ใช้ในครัวเรือนอย่างถ้วนหน้า

ซึ่งถือเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตของประชาชน ที่ร่วมมือกันดำเนินการตามแนวนโยบายของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยการทำงานที่บ้าน ตลอดจนขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และทั้ง 3 การไฟฟ้า ที่ร่วมกันหารือเพื่อหาทางช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน สำหรับมาตรการดังกล่าวนั้นจะเป็นการช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยจำนวน 22 ล้านราย

“ยืนยันว่าจะต้องมีการทำการบ้านพิจารณาหามาตรการมารองรับเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบต่อไป ส่วนภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบก็เริ่มมีการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ หรือแจ้งตรงมายังตนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ศึกษาปัญหาและอุปสรรค ก่อนจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรการเยียวยาค่าไฟฟ้าที่ใช้ในครัวเรือน ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 มี 2 กลุ่ม คือ

มิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ (ประเภทที่ 1.1 หรือ 1.1.1) จะได้ใช้ฟรี 150 หน่วย หากเกินก็จะได้รับการดูแลให้ใช้ฟรีเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มนี้จะใช้ไม่เกินปริมาณ 150 หน่วยเป็นปกติ และถือว่าใช้ไฟน้อย

มิเตอร์ไฟขนาดเกิน 5 แอมป์ (ประเภทที่ 1.2-1.3 หรือประเภทที่ 1.1.2-1.1.3) จะมีข้อกำหนดคือ

  • หากการใช้ไฟฟ้ารายเดือนน้อยกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ให้จ่ายค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงในเดือนนั้นๆ
  • หากใช้มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือนกุมภาพันธ์
  • หากใช้เกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ บวกกับค่าไฟฟ้าส่วนที่เกินจากหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งได้รับส่วนลด 50% ของค่าไฟฟ้าจริงของส่วนเกินนั้น
  • หากใช้เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดือนกุมภาพันธ์บวกกับค่าไฟฟ้าส่วนเกินจากหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งได้รับส่วนลด 30% ของค่าไฟฟ้าจริงของส่วนเกินนั้น

แก้กฎกระทรวง-มอบธปท.ออกเกณฑ์กำกับดูแลแบงก์รัฐ 7 แห่ง

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงแก้ไขกฎกระทรวงที่ทับซ้อนกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย รวม 7 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ เรื่องนี้สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 มาตรา 120/1 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialised Financial Institutions: SFIs) ถือปฏิบัติหรือปฏิบัติเพิ่มเติมจากที่กฎหมายจัดตั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้ การดำรงเงินกองทุนและสินทรัพย์ และ การบริหารสินทรัพย์และการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแล SFIs ในเรื่องการจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง การดำรงเงินกองทุน และการดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่องแล้ว ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีความเป็นมาตรฐานสากล มีความยืดหยุ่น และเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

“กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์การกำกับดูแล SFIs ของ ธปท. ตามข้อ 1. มีความเป็นมาตรฐานสากลและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับเพื่อมิให้หลักเกณฑ์การกำกับดูแล SFIs ทับซ้อนกัน สมควรยกเลิกหลักเกณฑ์การกำกับดูแล SFIs ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง รวม 7 ฉบับ จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง รวม 7 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ”

ในรายละเอียดสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง มีดังนี้

  • ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2551 และให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามที่ ธปท. กำหนด
  • ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่อง ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2551 และให้ ธ.ก.ส. ดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่องตามที่ ธปท. กำหนด
  • ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2549 และให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด
  • ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2547 และให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด
  • ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2547 และให้ ธอท. ดำรงเงินสดสำรองและสินทรัพย์สภาพคล่องตามที่ ธปท. กำหนด
  • ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวง (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536 และให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด
  • ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2547 และให้บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) ดำรงเงินกองทุนเป็นอัตราส่วนกับสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด

อนุมัติ 600 ล้าน สร้างระบบ Big Data ราชภัฏฯ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอการขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำปี 2563 วงเงิน 600 ล้านบาท ดังนี้ ค่าตอบแทนบุคลากรหรือค่าจ้างนักวิจัย 201,071,600 บาท 2. ค่าใช้สอยหรือค่าดำเนินการ 5,451,840 บาท 3. ค่าวัสดุ – บาท 4. ค่าครุภัณฑ์ 393,476,560 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7)

โครงการฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏมีทั้งสิ้น 38 แห่ง ได้น้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ด้านการศึกษาในการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และจัดทำยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนาบัณฑิต ยกระดับคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ควบคู่ไปกับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ให้มีความต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)

อว. จึงจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบประมวลผลข้อมูลอัจฉริยะ (Artificial Intelligence) ในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และได้ส่งข้อเสนอโครงการ กิจกรรมหรือการดำเนินการประเภทที่ 2 ประจำปี 2563 กรณีทำความตกลงกับหน่วยงานรัฐ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กทปส. ของ กสทช. โดยโครงการฯ มีกิจกรรมการดำเนินงาน จำนวน 15 กิจกรรม ดังนี้

  • พัฒนาและถ่ายทอดการสร้างData Model ต้นแบบ เพื่อให้หน่วยงานของมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคใช้เป็นต้นแบบ
  • พัฒนาระบบฐานข้อมูลStudent Profiling เพื่อจัดเก็บข้อมูลประวัติส่วนตัวนักศึกษา ประวัติการศึกษา ผลการเรียน ความสนใจและความถนัด
  • พัฒนาระบบพัฒนาทักษะ (Re-skill & Up-skill) สำหรับครู/อาจารย์ เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้กับบุคลากรทางการศึกษา
  • พัฒนาระบบLearning Management System เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางในการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้แก่นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป
  • พัฒนาระบบฐานข้อมูลชุมชน เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงข้อมูลการค้า เศรษฐกิจและชุมชน
  • พัฒนาระบบSentiment Analysis เพื่อรวมรวบความเห็น ความสนใจ ตลอดจนปฏิกิริยาต่างๆ ของผู้คน
  • พัฒนาระบบStudent Insight & Personalized Learning เป็นระบบการติดตามและวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
  • พัฒนาระบบฐานข้อมูลอัจฉริยะโดยมีการนำเทคโนโลยีทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้
  • พัฒนาระบบฐานข้อมูลงบประมาณ ข้อมูลบุคลากร และข้อมูลโครงการสำหรับจัดเก็บข้อมูลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย
  • พัฒนาระบบรายงานเพื่อผู้บริหาร เพื่อให้ผู้บริหารใช้ติดตามความก้าวหน้าและตรวจสอบสถานะของข้อมูลในด้านต่าง ๆ
  • พัฒนาระบบรับคำร้อง/ความคิดเห็น (Ticketing and Feedback) เป็นระบบที่เปิดรับคำร้องหรือความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ
  • จัดหาและติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายและอุปกรณ์ประมวลผลข้อมูลระบบPrivate Cloud เพื่อเป็นระบบหลักและเป็นศูนย์กลางในการประมวลผลข้อมูล
  • จัดหาและพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเป็นระบบสารสนเทศกลางในการให้บริการของมหาวิทยาลัย
  • จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้งานรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อนำมาออกแบบระบบ
  • ดำเนินการออกแบบและพัฒนากระบวนการประมวลผลเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ที่ อว. ขอรับการสนับสนุนจาก กทปส. ของ กสทช. จำนวน 600 ล้านบาท 5. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ – บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 600,000,000 บาท

งบกลางหมด เบิก“เงินทุนสํารองจ่าย” 50,000 ล้านได้

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางดำเนินการและวิธีปฏิบัติในการใช้เงินทุนสำรองจ่าย ตามมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ

สืบเนื่องจากได้มีการอนุมัติให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไปเป็นจำนวนมากในการเฝ้าระวังควบคุมติดตามการระบาด ป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งเพื่อการเยียวยาความเดือดร้อนต่างๆ แก่ประชาชน ทำให้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ตั้งไว้จำนวน 96,000 ล้านบาท จะไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 บางรายการ ไปตั้งเป็นงบกลาง นายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังพิจารณาร่วมกันถึงแนวทางการอนุมัติใช้เงินทุนสำรองจ่าย ตามความในมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ซึ่งบัญญัติไว้ว่าให้มีเงินทุนจํานวนหนึ่งโดยให้รัฐมนตรีจ่ายจากคลัง เรียกว่า “เงินทุนสํารองจ่าย” เป็นจํานวน 50,000 ล้านบาท เงินทุนนี้ให้นําไปจ่ายได้ในกรณีที่มีความจําเป็นและเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ ราชการแผ่นดิน และงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น ไม่เพียงพอ ทั้งนี้ โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีและเมื่อได้จ่ายเงินไปแล้ว ให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้ ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายเพื่อสมทบเงินทุนนั้นไว้จ่ายต่อไปในโอกาสแรก

ในวันนี้ สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมบัญชีกลางได้พิจารณาร่วมกันแล้ว จึงนำเสนอว่าเงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 50,000 ล้านบาท ตามมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นแหล่งเงินสำรองสำหรับนำไปใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเมื่องบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไม่เพียงพอนั้นสามารถใช้จ่ายได้ในกรณีนี้และเห็นสมควรกำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม มาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ดังนี้

  • แนวทางดำเนินการ
    • 1.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จ่ายเงินจากคลังเป็น “เงินทุนสำรองจ่าย” จำนวน 50,000 ล้านบาท

      1.2 การขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย ควรใช้หลักการเดียวกับการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

      1.3 ให้สำนักงบประมาณ ทำหน้าที่พิจารณาคำขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ

      1.4 การเบิกจ่ายเงินทุนสำรองจ่าย ดำเนินการโดยใช้ระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงการคลัง (GFMIS) เช่นเดียวกับเงินงบประมาณ

      1.5 การตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย ให้ถือปฏิบัติตามแนวทางเดียวกับการตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางตรวจสอบยอดเงินที่จะต้องตั้งชดใช้ในแต่ละปี

  • วิธีปฏิบัติในการใช้เงินทุนสำรองจ่าย
  • การใช้เงินทุนสำรองจ่าย ใช้หลักการเดียวกับการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยมีวิธีปฏิบัติในการใช้เงินทุนสำรองจ่าย ดังนี้

    2.1 การขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย ให้กระทำได้ในกรณีที่เป็นรายจ่าย ดังนี้

      (1) เป็นรายจ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ

      (2) เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง

      (3) เป็นรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมารไว้แล้ว แต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว

      (4) เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว

    2.2 หน่วยรับงบประมาณจะขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย ได้แต่เฉพาะกรณีที่หน่วยรับงบประมาณได้ตรวจสอบแน่ชัดแล้วว่าไม่สามารถนำงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณมาใช้จ่ายได้หรือนำมาใช้จ่ายได้ แต่มีจำนวนไม่เพียงพอ

    2.3 การขอใช้เงินทุนสำรองจ่ายให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียด ดังนี้

      (1) คำชี้แจงเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นในการขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย

      (2) วัตถุประสงค์ของการขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย

      (3) แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเป็นรายเดือน

      (4) สำนักงานที่จะดำเนินการเบิกจ่าย

      (5) รายละเอียดประกอบการพิจารณาตามที่สำนักงบประมาณกำหนด เช่น คุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ แบบรูปรายการและประมาณการราคาที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้าง อัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดโดยกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

    2.4 ให้หน่วยรับงบประมาณที่ขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย เสนอเรื่องให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล แล้วแต่กรณี พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งคำขอให้สำนักงบประมาณ

    2.5 กรณีที่หน่วยรับงบประมาณขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แล้ว แต่ปรากฏว่างบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มีไม่เพียงพอ และสมควรให้ใช้จ่ายจากเงินทุนสำรองจ่าย ให้ถือว่าคำขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น นั้น เป็นคำขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย

    2.6 ให้สำนักงบประมาณรวบรวมรายการและวงเงินที่หน่วยรับงบประมาณขอใช้จากเงินทุนสำรองจ่ายโดยจะพิจารณาความเหมาะสมของวงเงินที่จะใช้จ่ายเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติและเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วสำนักงบประมาณจะจัดสรรเงินทุนสำรองจ่ายไปยังสำนักงานที่จะดำเนินการเบิกจ่าย

    2.7 การเปลี่ยนแปลงรายการหรือการเพิ่มวงเงินเกินวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยต้องส่งรายละเอียดอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้สำนักงบประมาณพิจารณาเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย

    2.8 เมื่อหน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายเงินทุนสำรองจ่ายบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้รับอนุมัติแล้วหรือดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วมีเงินเหลือจ่ายให้แจ้งสำนักงบประมาณภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบยอดเงินเหลือจ่าย

    2.9 ให้หน่วยรับงบประมาณที่ได้รับอนุมัติเงินทุนสำรองจ่าย รายงานผลการดำเนินการตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายต่อสำนักงบประมาณภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นไตรมาสและวันที่การใช้จ่ายแล้วเสร็จ เพื่อสำนักงบประมาณรายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

    2.10 ให้หน่วยรับงบประมาณเบิกจ่ายเงินทุนสำรองจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

    อนึ่ง เนื่องจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ประกาศใช้แล้ว จึงเห็นสมควรให้มีการใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ก่อนในลำดับแรก และกันวงเงินของเงินทุนสำรองจ่ายดังกล่าวไว้ใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินจำเป็นอื่นที่ไม่สามารถใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดได้

    ศธ.เตรียมความพร้อมรับเปิดเทอม

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. รับทราบการเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 โดยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ

    “สืบเนื่องจากประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเปิดเรียนของสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 9 เมษายน 2563 ได้ประกาศให้สถานศึกษาทั้งในและนอกระบบซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการเปิดเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนในวันดังกล่าว”

    • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน1) การรับนักเรียน โดยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จะรับสมัครระหว่างวันที่ 3-12 พฤษภาคม 2563 ส่วนสถานศึกษาที่จัดการศึกษาพิเศษเพื่อเด็กพิการ และผู้ด้อยโอกาส รับสมัครระหว่างวันที่ 3-31 พฤษภาคม 2563 2) การสอบ/คัดเลือก ในห้วงเวลาเดือนมิถุนายน 2563 3) การจัดหาสถานศึกษาและการรับรายงานตัว/มอบตัวของนักเรียนทุกคน จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2563
    • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (โรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษา) 1) การรับนักเรียน การสอบ/คัดเลือก และการประกาศผล ให้อยู่ในดุลพินิจของแต่ละโรงเรียน โดยต้องแล้วเสร็จก่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 2) การรับนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งได้จัดทำระบบรับสมัครนักเรียนออนไลน์สำหรับภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 ให้โรงเรียนเอกชนในระบบประเภทสามัญศึกษาทั้งหมด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 3) การจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจการเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2563 โดยผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อให้โรงเรียนดำเนินการรับสมัครนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
    • สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐและเอกชนสามารถดำเนินการรับสมัครนักเรียน นักศึกษาทั้งผ่านระบบออนไลน์ หรือสมัครด้วยตนเองที่สถานศึกษา ดังนี้ 1) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 1 (ปวช.1) รับสมัคร ระหว่างวันที่ 3-12 พฤษภาคม 2563 ประกาศผลการสอบ/คัดเลือก วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 และมอบตัว ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2563 2) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ชั้นปีที่ 1 (ปวส.1) รับสมัคร ประกาศผลการสอบ/คัดเลือก และมอบตัว ให้สถานศึกษากำหนดตามความเหมาะสมและทันต่อการเปิดภาคเรียน
    • สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) การรับสมัครผู้เรียนใหม่และลงทะเบียนเรียนผู้เรียนเก่า ดำเนินการโดยผ่านระบบออนไลน์ หรือสมัครด้วยตนเองที่สถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-16 พฤษภาคม 2563

    ขณะที่การเตรียมเปิดการเรียนการสอนจะเตรียมความพร้อมของระบบทางไกลและอุปกรณ์ทางการสื่อสาร โดยมีระยะทดลองตั้งแต่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563 ขณะที่ภายหลังวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่คลี่คลายจะจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยวีดิทัศน์การสอนโดยครูต้นแบบ และระบบออนไลน์ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา แต่ถ้าคลี่คลายจะจัดการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และมีแผนเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ต่อไป

    กำหนดเขตทะเลชายฝั่งจังหวัดตราด

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบแก้กฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง จังหวัดตราด สร้างความชัดเจนเพื่อการทำประมงอย่างยั่งยืน เพื่อให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในเขตทะเลชายฝั่งให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมและสามารถทำประมงได้อย่างยั่งยืน ลดปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายโดยไม่เจตนา ลดความขัดแย้งของชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ในพื้นที่ และทำให้เจ้าหน้าที่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    โดยสาระสำคัญคือการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2560 เฉพาะในบริเวณจังหวัดตราด โดยปรับปรุงแนวเขตทะเลชายฝั่งในบริเวณจังหวัดตราด จากเดิมระยะ 5 ไมล์ทะเล เป็น 3-6.48 ไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง และระยะ 3 ไมล์ทะเล เป็น 3-6.48 ไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายเกาะ

    รับทราบผลประชุม RCEP – เลื่อนหารืออินเดีย หลังลงนามปีนี้

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 8-11 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำเสนอ ผลการประชุมมีประเด็นสำคัญดังนี้

    • เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการการกีดกันการเคลื่อนย้ายพรหมแดนควรขึ้นอยู่กับการพิจารณาด้านสาธารณสุข ไม่ควรมีการจำกัดการค้าในภูมิภาคโดยไม่จำเป็น รวมถึงได้ข้อตกลงร่วมกันเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาด
    • เห็นชอบในหลักการการลดค่าธรรมเนียมการให้บริการโทรศัพท์ข้ามแดนระหว่างประเทศให้เป็นอัตราเดียวในอาเซียน โดยรอผลการพิจารณาจากองค์กรรายสาขาที่เกี่ยวข้อง
    • เห็นชอบให้มีการลงนามความตกลงยอมรับร่วมสาขายานยนต์อาเซียน ภายในสิงหาคมปีนี้
    • มีมติให้เริ่มการหารือเพื่อทบทวนความตกลงการค้าสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (ASEAN-India Trade in Goods Agreement: AITIGA) ตามมติที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-อินเดีย เมื่อ 10 กันยายน 2562 ภายหลังการสรุปผลการและการลงนามความตกลง RCEP เท่านั้น โดยจะไม่มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับอินเดียก่อนการสรุปผลการตกลง RCEP
    • กำหนดให้ดำเนินการให้สัตยาบันพิธีสารเพื่อเริ่มใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน ภายใน 1สิงหาคมนี้
    • เห็นพ้องให้มีการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าอาเซียน-เกาหลี ในรูปแบบอาเซียนลบ (ประเทศที่ไม่พร้อมให้เข้าร่วมภายหลัง)
    • พิจารณาการสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต โดยจะมีการเดินทางเยือนติมอร์ฯ เพื่อค้นหาข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 1-4 มิถุนายนนี้ ก่อนนำผลการสำรวจไปรวมกับผลการศึกษาด้านการเมืองและความมั่นคง และด้านสังคมและวัฒนธรรมต่อไป

    “การประชุมเรื่องความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนฯ รับทราบสถานะล่าสุดของการเจรจาและท่าทีของอินเดียในการเข้าร่วม RCEP และมีมติยืนยันที่จะให้มีการลงนามภายในปี 2563 ไม่ว่าอินเดียจะเข้าร่วมหรือไม่ อีกทั้ง เห็นชอบให้ประเทศกลุ่มผู้ประสานงานของอาเซียนหารือกับอินเดียและญี่ปุ่น และเห็นชอบแผนการดำเนินงานของคณะเจรจาที่จะทำงานแบบคู่ขนานเพื่อเร่งหาข้อสรุปประเด็นคงค้างที่มีอยู่ และจะร่วมมือกันโน้มน้าวอินเดียให้กลับเข้าร่วมการเจรจา”

    อนุมัติ 12 มาตรการ ป้องกันคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติร่างมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานและเกิดประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้ถูกกระทำและพยาน เช่น ให้ทุกองค์กรร่วมประกาศเจตนารมณ์ กำหนดทิศทางการป้องกันการแก้ไขปัญหา และกำหนดกลไกร้องทุกข์ของหน่วยงาน พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) เพื่อทำหน้าที่ประสานหน่วยงานต่างๆ และติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการฯ ด้วย

    ร่างมาตรการฯ ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงหลักการของมาตรการที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบไว้แล้ว (16 มกราคม 2558) จาก 7 ข้อ เป็น 12 ข้อ เนื่องจากมาตรการเดิมยังไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เท่าที่ควร ซึ่งมาตรการที่ปรับใหม่นี้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ มีรายละเอียดดังนี้

    • หน่วยงานต้องมีการประกาศเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษร โดยประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในองค์กรรับทราบอย่างทั่วถึง
    • หน่วยงานต้องมีการจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดฯ โดยให้บุคลากรในหน่วยงานได้มีส่วนร่วม
    • หน่วยงานต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ และกำหนดให้เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ
    • หน่วยงานต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดฯ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในองค์กร
    • หน่วยงานต้องกำหนดกลไกในการร้องทุกข์ภายในหน่วยงาน เช่น ฝ่ายการเจ้าหน้าที่ ฝ่ายกฎหมาย หรือกลุ่มคุ้มครองคุณธรรมฯ
    • การแก้ไขปัญหาอาจใช้กระบวนการไม่เป็นทางการเพื่อยุติปัญหา หากแก้ปัญหาไม่ได้จึงเข้าสู่กระบวนการทางวินัยตามกฎหมาย
    • การแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการโดยทันที เป็นไปตามเวลาที่กำหนด และต้องเป็นความลับ รวมทั้งให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย
    • กรณีมีการร้องเรียนให้แต่งตั้งคณะทำงาน จำนวนไม่เกิน 5 คน หรือให้กลุ่มงานคุ้มครองจริยธรรมดำเนินการสอบข้อเท็จจริง
    • หน่วยงานต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและผู้เป็นพยาน และต้องให้การคุ้มครองผู้ร้องเรียนไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง
    • หน่วยงานต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้ถูกกล่าวหา โดยในระหว่างร้องเรียนยังไม่ถือว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิด และต้องให้โอกาสชี้แจง
    • หน่วยงานต้องรายงานผลการดำเนินงานไปยัง ศปคพ. ภายในวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี
    • ศปคพ. เป็นศูนย์กลางประสานงานต่างๆ ในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดฯ และรายงานผลต่อ คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

    เห็นชอบข้อเสนอ ป.ป.ช.ป้องกันทุจริตประมูล Duty Free

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีศึกษาเกี่ยวกับการประมูลงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน้าสินค้าปลอดอากร (Duty Free) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และงานให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นและเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ทอท. โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

    ข้อเสนอต่อรัฐบาล

    • ควรส่งเสริมให้มีการดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่หลากหลาย โดยเฉพาะร้านค้าปลอดอากรในเมือง (downtown duty free) โดยเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการมากกว่า 1 ราย เป็นผู้ได้รับสัมปทาน หรือเปิดเสรีในการให้บริการจุดส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพื่อป้องกันการผูกขาดและเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเพียงรายเดียว สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันตามกลไกตลาด และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีทางเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น
    • ควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อสินค้าในร้านค้าปลอดอากรในเมืองและนำสินค้าดังกล่าวติดตัวไปได้ โดยไม่ต้องเดินทางไปรับสินค้า ณ จุดส่งมอบสินค้าในสนามบิน
    • ควรพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้เหมาะสมเช่นเดียวกับร้านค้าปลอดอากรในท่าอากาศยาน

    ข้อเสนอต่อ ทอท.แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ

    ระยะสั้น

    • ควรติดตั้งระบบรับรู้รายได้ (point of sale: POS) ที่ได้มาตรฐานตามที่กรมสรรพากรกำหนดและใช้ประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงกำหนดระยะเวลาในการติดตั้งระบบ POS ให้แล้วเสร็จไว้ในสัญญาด้วย
    • ควรกำหนดแนวทางและมาตรการตรวจสอบการดำเนินงานต่างๆ ตามที่กำหนดสัญญา เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานร่วม เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับดูแลให้เป็นไปตามสัญญา
    • ควรมีกระบวนการตรวจสอบการใช้พื้นที่ ราคาสินค้า ราคาอาหาร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

    ระยะยาว

    • ควรศึกษารูปแบบและระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้สัมปทานแก่เอกชน โดยต้องวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียให้ครอบคลุมทุกด้านเพื่อนำมาวิเคราะห์ส่วนแบ่งรายได้ที่รัฐควรได้รับ และควรศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบและระยะเวลาที่เหมาะสมในการให้สัมปทานของท่าอากาศยานในต่างประเทศ ตลอดจนควรให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูลและเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมประมูลและประชาชนควรทราบ
    • ควรพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้คะแนนคัดเลือกผู้ชนะการประมูล โดยพิจารณาปรับสัดส่วน/น้ำหนักเกี่ยวกับผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐควรได้รับให้มากขึ้น
    • ควรให้ ทอท. เป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานเอง เพื่อให้ผู้ประกอบการเช่าพื้นที่โดยตรงกับ ทอท. ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน
    • ควรแยกการจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้า ออกจากสัญญาการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อป้องกันการผูกขาดและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ได้รับสัมปทาน โดยอาจกำหนดจุดส่งมอบสินค้าในพื้นที่ของ ทอท. เอง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ สามารถใช้บริการจุดส่งมอบสินค้าได้
    • ควรเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนหรือหน่วยงานมีส่วนร่วมในกระบวนการดำเนินงานและตรวจสอบ เช่น การเข้าร่วมสังเกตการณ์ในขั้นตอนการประมูลหรือจัดทำTOR

    ทั้งนี้ ทอท. ไม่ขัดข้องและหลายเรื่องได้ดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ดังนี้ ข้อเสนอระยะสั้น ปัจจุบัน ทอท. ได้ดำเนินการติดตั้งระบบรับรู้รายได้ POS ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ เรียบร้อยแล้ว ส่วนท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อยู่ระหว่างดำเนินการ สำหรับกระบวนการตรวจสอบการดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา ทอท. มีหน่วยงานภายในและสำนักงานตรวจสอบ เป็นผู้ดำเนินการ

    ข้อเสนอระยะยาว โดยข้อเสนอส่วนใหญ่ ทอท. ได้นำไปใช้ในโครงการคัดเลือกผู้ประกอบการกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ หาดใหญ่ และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วงที่ผ่านมาแล้ว

    และข้อเสนอให้มีการจัดตั้งจุดส่งมอบสินค้า แยกต่างหากจากสัญญาบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์นั้น ทาง ทอท. ได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้วที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภูเก็ต และจะเริ่มดำเนินการท่าอากาศยานดอนเมืองตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2565 ส่วนข้อเสนอที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ เช่น การปรับปรุงเกณฑ์การให้คะแนนในการคัดเลือก หรือให้ ทอท. พัฒนาแนวทางการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานเอง ทอท. จะพิจารณานำข้อเสนอดังกล่าวมาปรับปรุงเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป

    รับรองถ้อยแถลงด้านเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น รับมือโควิดฯ

    ศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ว่าด้วยข้อริเริ่มด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะมีการรับรองร่างถ้อยแถลงฯ ในวันที่ 22 เมษายน นี้ เพื่อเป็นการสะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

    โดยมีสาระสำคัญ คือ การแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อ

    • รักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ซึ่งอาเซียนและญี่ปุ่นได้พัฒนาความสัมพันธ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 ส่งผลให้การค้าและการลงทุนของสองฝ่ายขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 2 ของอาเซียน ส่วนอาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของญี่ปุ่น โดยทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่าจะสามารถรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดจากโควิด-19 ด้วยความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิด
    • บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 โดยเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการรักษาตลาดที่เปิดกว้างและป้องกันการถดถอยของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อรักษาห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและโลก ทำให้การเคลื่อนย้ายของสินค้าจำเป็น อาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ ยา อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์และสุขภาพ เป็นไปอย่างราบรื่น ตามสิทธิและพันธกรณีภายใต้ความตกลงขององค์การการค้าโลก
    • เสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ โดยเน้นย้ำการแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านอุตสาหกรรม รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย เพื่อลดการหยุดชะงักของการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อรับมือกับข้อจำกัดที่มีสาเหตุจากการระงับการเดินทางในปัจจุบัน และการใช้มาตรการต่างๆ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

    ทั้งนี้ นางสาวรัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและญี่ปุ่นมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น” และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

    จัดงบฯ 2,910 ล้าน ประกันภัยข้าวนาปี

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 คุ้มครอง 7 ภัยธรรมชาติ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกัน และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐในการรองรับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวให้เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ

    “โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากโครงการฯ ปีการผลิต 2562 ภายใต้วงเงินงบประมาณ 2,910.39 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณคงเหลือในส่วนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินโครงการในปีการผลิต 2562 จำนวน 106.61 ล้านบาท และขอเสนองบประมาณเพิ่มเติม จำนวน 2,803.78 ล้านบาท”

    ทั้งนี้ มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ เป้าหมายพื้นที่รับประกันภัยทั้งโครงการ รวม 45.7 ล้านไร่ แบ่งเป็น

    1. การรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier1) พื้นที่รวมไม่เกิน 44.7 ล้านไร่ โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงจริงของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) ดังนี้

    • กลุ่มที่ 1 พื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ทุกราย) ไม่เกิน 28 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัย 97 บาทต่อไร่ เท่ากันทุกพื้นที่ (ความเสี่ยงต่ำ ปานกลาง และสูง) เป็นประกันภัยกลุ่ม
    • กลุ่มที่ 2 พื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไป) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกเสี่ยงภัยต่ำ ไม่เกิน 15.7 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัย 58 บาทต่อไร่ เป็นประกันภัยรายบุคคล
    • กลุ่มที่ 3 พื้นที่ที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2563 (เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และเกษตรกรทั่วไป) ซึ่งอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกที่มีความเสี่ยงภัยปานกลางและสูง ไม่เกิน 1 ล้านไร่ อัตราเบี้ยประกันภัยแบ่งเป็น พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง 210 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงภัยสูง 230 บาทต่อไร่ เป็นประกันภัยรายบุคคล

    โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยข้างต้นทุกกลุ่มในอัตรา 58 บาทต่อไร่ รวมถึงค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์ทั้งหมด ส่วนที่เหลือของกลุ่มที่ 1 อีก 39 บาทต่อไร่ (ค่าเบี้ยประกัน 97 บาทต่อไร่) ธ.ก.ส. จะเป็นผู้จ่าย ขณะที่ในกลุ่มที่เหลือส่วนต่างค่าเบี้ยประกันเกษตรกรเป็นผู้จ่าย

    2.การรับประกันภัยร่วมจ่ายโดยสมัครใจ (Tier2) พื้นที่รวมไม่เกิน 1 ล้านไร่ โดยกำหนดค่าเบี้ยประกันภัยตามความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจ่ายเพิ่มจาก Tier1 (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) โดยเกษตรกรเป็นผู้จ่ายเองทั้งหมด แบ่งเป็น

    • พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ (พื้นที่สีเขียว) จำนวน 594 อำเภอ อัตราเบี้ยประกัน 26.75 บาทต่อไร่
    • พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง (พื้นที่สีเหลือง) จำนวน 182 อำเภอ อัตราเบี้ยประกัน 52.43 บาทต่อไร่
    • พื้นที่เสี่ยงภัยสูง (พื้นที่สีแดง) จำนวน 152 อำเภอ อัตราเบี้ยประกัน 109.14 บาทต่อไร่

    ในรายละเอียดวงเงินคุ้มครอง ครอบคลุม 1) ภัยพิบัติธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยช้างป่า วงเงินคุ้มครองในพื้นที่ Tier1 จำนวน 1,260 บาทต่อไร่ พื้นที่ Tier2 จำนวน 240 บาทต่อไร่ แต่รวมแล้วไม่เกิน 1,500 บาทต่อไร่ 2) ภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด วงเงินคุ้มครองในพื้นที่ Tier1 จำนวน 630 บาทต่อไร่ พื้นที่ Tier2 จำนวน 120 บาทต่อไร่ แต่รวมแล้วไม่เกิน 750 บาทต่อไร่

    ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ทดลองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลในส่วนของงบประมาณเพิ่มเติม 2,803.78 ล้านบาท และเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวกร้อยละ 1 ในปีงบประมาณถัดไปให้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินรวม 2,980.24 ล้านบาท

    ไฟเขียวชาวต่างชาติอยู่ไทยต่อเป็นกรณีพิเศษ

    รศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ฉบับที่ ..) ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เสนอ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนต่างด้าวที่ยังอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามประเภทการตรวจลงตรา (รวมทั้งการตรวจลงตรา visa on arrival) และคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตรา (ผ.30/ผผ.14/ผผ.30/ผผ.90) ไม่ต้องมาดำเนินการยื่นคำขออนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

    สาระสำคัญของร่างประกาศ

    1. ให้ขยายระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรของคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามประเภทการตรวจลงตรา (รวมทั้งการตรวจลงตรา visa on arrival) คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตรา (ผ.30/ผผ.14/ผผ.30/ผผ.90) ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (รวมทั้งภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 (1) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 ไปพลางก่อน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563
    2. ให้ขยายระยะเวลาการแจ้งที่อาศัยตามมาตรา 37 (5) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 หรือตามประกาศกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 2 (2) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 7 เมษายน 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

    กำหนดระเบียบเบิกจ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้าน

    รศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 พ.ศ. …. เพื่อให้การใช้เงินงบประมาณภายใต้พระราชกำหนดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยสาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ประกอบด้วย 6 หมวด ดังนี้

  • หมวดที่ 1 บททั่วไป เป็นการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ 1) สำนักงบประมาณ มีหน้าที่จัดสรรเงินกู้ตามวงเงินกู้ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ โครงการ และกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง 2) กรมบัญชีกลาง มีหน้าที่ รับฝากเงินกู้ไว้ในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง และจัดทำระบบบัญชี ระบบการเบิกจ่ายเงินกู้สำหรับโครงการ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง และ 3) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ มีหน้าที่จัดหาเงินกู้และดำเนินการกู้เงินสำหรับโครงการ เปิดบัญชีและนำฝากเงินกู้ไว้ในบัญชี จัดทำระบบบริหารเงินสด และรายงานสถานะเงินกู้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
  • หมวดที่ 2 การเสนอ การพิจารณากลั่นกรอง และการอนุมัติโครงการ โดยกำหนดลักษณะโครงการที่หน่วยงานของรัฐจะเสนอขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนด จะต้องมีลักษณะดังนี้
      1) เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับแผนงานกรือโครงการตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชกำหนด
      2) เป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันโดยเร็ว แต่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ หรือได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้วแต่ไม่เพียงพอ
      3) เป็นโครงการที่มีความพร้อม สามารถดำเนินการได้ทันทีภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี
      4) เป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าในการดำเนินงานและก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสังคมตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชกำหนด
      5) ลักษณะอื่นใดตามที่คณะกรรมการกำหนด
  • หมวดที่ 3 การดำเนินโครงการ เป็นการกำหนดวิธีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสรรเงินกู้ ดำเนินการกู้เงิน การจัดส่งประมาณการเบิกจ่าย การพัสดุ และการพิจารณาการโอนหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ รวมถึงแนวทางการดำเนินงานเมื่อหน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ
  • หมวดที่ 4 การเก็บรักษาเงินกู้และการเบิกจ่ายเงินกู้ เป็นการกำหนดให้สำนักงานบริการหนี้สาธารณะนำเงินกู้ฝากบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง ชื่อบัญชี “เงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา COVID-19” และกำหนดแนวการเบิกจ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินของทางราชการ และหลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติที่กระทรวงการคลังกำหนด
  • หมวดที่ 5 การติดตามประเมินผล และการรายงานผลการใช้เงินกู้ เป็นการกำหนดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
  • หมวดที่ 6 การใช้วงเงินกู้สำหรับรายการเงินสำรองจ่าย เป็นการกำหนดให้ในกรณีที่หน่วยงานเจ้าของโครงการมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ในรายการเงินสำรองจ่ายตามที่คณะกรรมการได้กำหนดวงเงินไว้ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอคำขอใช้เงินกู้พร้อมแสดงเหตุผลความจำเป็นต่อคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็น ก่อนเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
  • ผ่านกฎกระทรวงสำรวจสำมะโนประชากร

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ สืบเนื่องจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) มีภารกิจในการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลประชากรของประเทศในรูปของสำมะโนประชากร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของประชากร (เพศ อายุ สัญชาติ การศึกษา การทำงาน) ตามที่อยู่จริงและที่อยู่อาศัย เพื่อให้ได้ข้อมูลในระดับพื้นที่ย่อย และวัดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรและที่อยู่อาศัย เพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การกำหนดนโยบายเพื่อการบริหารของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และใช้เป็นฐานในการคาดประมาณจำนวนประชากรในอนาคต

    การจัดทำสำมะโนประชากรดังกล่าวต้องดำเนินการทุกรอบ 10 ปี โดยได้ดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2503 และดำเนินการต่อมาทุกรอบ 10 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ขอให้ทุกประเทศในโลกจัดทำสำมะโนประชากรและเคหะอย่างน้อยทุก 10 ปี

    “แต่อย่างไรก็ดี นับแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึงปี พ.ศ. 2553 สสช. ได้จัดทำสำมะโนประชากรพร้อมกับการจัดทำสำมะโนเคหะด้วย โดยที่ในปี พ.ศ. 2563 เป็นปีครบรอบ 10 ปี ที่ สสช. จะต้องดำเนินการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและสำมะโนเคหะ ประกอบกับมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 บัญญัติให้การจัดทำสำมะโนหรือสำรวจตัวอย่าง ที่ประสงค์จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องให้ข้อมูล ให้กำหนดโดยกฎกระทรวง”

    ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการสำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2563 ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและรายละเอียดของประชากรในครัวเรือนครบถ้วนสมบูรณ์ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและลักษณะที่อยู่ของประชากร จึงต้องยกร่างกฎกระทรวงในเรื่องนี้ เพื่อสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะดังกล่าว

    สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง มีดังนี้

    1. กำหนดบทนิยามคำว่า “บ้าน” “ประชากร” และ “การทอดแบบ”
    2. กำหนดให้กฎกระทรวงมีอายุ 10 ปี
    3. กำหนดให้เขตท้องที่ที่จัดทำการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะ ได้แก่ ทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร
    4. กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโนประชากรและเคหะ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและรายละเอียดของประชากรในครัวเรือน ณ ที่อยู่อาศัยปกติที่พบในวันที่ทำการสำรวจตัวอย่างหรือสำมะโน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและลักษณะที่อยู่อาศัยของประชากรเพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ใช้ในการกำหนดนโยบายเพื่อการบริหารของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และใช้เป็นฐานในการคาดประมาณจำนวนประชากรในอนาคต
    5. กำหนดวิธีการให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ ได้แก่ การสัมภาษณ์ หรือการให้ข้อมูลทางโทรศัพท์หรือทางอินเทอร์เน็ต เว้นแต่กรณีไม่อาจให้ข้อมูลได้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการทอดแบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือด้วยวิธีการอื่นตามประกาศที่ออกตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550

    นางสาวไตรศุลียังกล่าวเพิ่มเติมว่า นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้รายงานต่อที่ประชุม ครม ว่าปีนี้การสำรวจสำมะโนประชากรอาจล่าช้ากว่าปกติ เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้อง ส่งงบประมาณ การสำรวจ คืนสำนักงบประมาณ ตาม พ.ร.บ. โอนงบประมาณ อาจทำให้การสำรวจล่าช้าไปประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ทางกระทรวงจะทำในส่วนที่ทำได้ ที่ไม่ต้องใช่งบประมาณไปก่อน ตามคำสั่งการของท่านายกรัฐมนตรี

    เพิ่มอัตราและบัญชีค่ารักษาผู้ป่วยโควิด-19

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบ หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฏหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 2) โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยเพิ่มเติมรายการบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 3005 รายการ ในหมวด 3 ค่ายาจำนวน 2,606 รายการ และหมวด 5 ค่าเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา (ฉบับที่ 2) จำนวน 399 รายการ

    ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกำหนดให้บัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฏหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ฉบับที่ 2) เป็นบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

    ขึ้นค่ารุกล้ำลำน้ำจากเป็น 50-250 บาท/ตรม.

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าตอบแทนรายปีสำหรับผู้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคาร หรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยร่างกฎกระทรวง มีสาระสำคัญ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง ฉบับที่ 64 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 กำหนดวิธีการ อัตราค่าตอบแทน และลักษณะของสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำที่ผู้ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำ ต้องเสียค่าตอบแทนเป็นรายปีตามอัตรา

    จากเดิมที่ต้องเสียไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ 50 บาท และถ้าเป็นอาคารหรือสิ่งอื่นใดซึ่งมีลักษณะหรือวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ ให้เสียเป็น 2 เท่า ของอัตราดังกล่าว เป็น 1) ท่าเทียบเรือสำราญและกีฬา เสียตารางเมตรละ 250 บาท 2) สถานที่จอดและเทียบเรือสำราญและกีฬา เสียตารางเมตรละ 100 บาท และ 3) อื่นๆ เสียตารางเมตรละ 50 บาทเท่าเดิม นอกจากนี้ กรณีอาคารหรือสิ่งอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ ให้ผู้รับอนุญาตเสียค่าตอบแทนเป็น 2 เท่าของอัตราตามตาราง

    “ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวยังมีสาระสำคัญ กำหนดลักษณะของสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำและประเภทของบุคคลที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนการเสียค่าตอบแทนเป็นรายปี และกำหนดวิธีการคำนวณพื้นที่ของสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำที่ได้รับอนุญาต เพื่อนำมาคำนวณอัตราค่าตอบแทนเป็นรายปี โดยให้คำนวณตามพื้นที่ที่ล่วงล้ำเข้าไปตามความเป็นจริง เศษของพื้นที่ไม่ถึง 1 ตารางเมตร ให้คิดเป็น 1 ตารางเมตร ในกรณีที่การล่วงล้ำลำแม่น้ำครอบคลุมพื้นที่สาธารณะซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะนั้นได้ ให้คำนวณพื้นที่ตามขอบเขตที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำนั้นครอบคลุมทั้งหมด”

    “บิ๊กป้อม” อัพเดทแก้ไฟป่าภาคเหนือ-ภัยแล้ง

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม. ถึงสถานการณ์ไฟป่าในภาคเหนือว่า ตอนนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ไฟป่าภาคเหนือได้ทั้งหมด ส่งผลให้สถานการณ์ดีขึ้น จุดความร้อนและฝุ่นละอองลดลง ส่วนการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ ร่วมกับประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และได้มีการประสานงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียนอย่างใกล้ชิด

    พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน ยังคงเฝ้าระวัง และเข้มงวดมาตรการต่างๆ ต่อไป จนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์ และมอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดเตรียมการกล้าไม้กว่า 70 ล้านต้น เพื่อปลูกฟื้นฟูป่าที่เสียหายจากไฟป่า โดยจะเริ่มจากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดแรก ในวันที่ 21พฤษภาคม 2563 ทั้งให้เตรียมความพร้อม ในการจัดการประชุมถอดบทเรียน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไข ปัญหา อย่างเด็ดขาดและยั่งยืนต่อไป

    “ได้รับรายงานสรุปผลการดำเนินงานการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าภาคเหนือของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 9 จังหวัดภาคเหนือ, กองทัพภาคที่ 3, หน่วยทหาร, ฝ่ายปกครอง, เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เครือข่ายประชาชน และจิตอาสา ทั้งการระดมสรรพกำลัง เครื่องมือ และอากาศยานเข้าดับไฟ โดยให้จัดชุดปฏิบัติการ ได้แก่ ชุดลาดตระเวน เฝ้าระวังและลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง ชุดดับไฟป่าและชุดประจำหมู่บ้าน จำนวน 1,700 หมู่บ้าน เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน ที่ผ่านมาสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ไฟได้ทั้งหมด ส่งผลให้ภาพรวมสถานการณ์ดีขึ้น จุดความร้อน และฝุ่นละอองลดลง“ รองฯ ประวิตร กล่าว

    นอกจากนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และการช่วยเหลือ ประชาชน โดยได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหา ขาดแคลนน้ำ และโครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บน้ำฤดูฝนตามมติ ครม. รวมทั้งเร่งดำเนินมาตรการตามแผนการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก (EEC) และการเจรจาซื้อน้ำจากบ่อดินของเอกชนให้มีน้ำเพียงพอ และติดตามการเตรียมการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนแล้ว

    ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานเร่งปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำทั่วประเทศที่เหลืออยู่ รวมถึงซ่อมแซมอาคารควบคุม สถานีอุทกวิทยา ให้พร้อมใช้งาน และกำจัดผักตบชวา ไม่ให้เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจะกำหนดจัดประชุมหน่วยงานขึ้นในวันที่ 24 เมษายนนี้ เพื่อกำหนดแผนงานการกำจัดผักตบชวาไม่ให้เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำต่อไป

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 21 เมษายน 2563เพิ่มเติม