ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ คลาย “ล็อกดาวน์” 4 ระยะ ทุก 14 วัน – มติ ครม. เพิ่มเป้าจ่ายเยียวยา 5,000 บาท 26 ล้านคน

นายกฯ คลาย “ล็อกดาวน์” 4 ระยะ ทุก 14 วัน – มติ ครม. เพิ่มเป้าจ่ายเยียวยา 5,000 บาท 26 ล้านคน

28 เมษายน 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

แจงแผนคลาย “ล็อกดาวน์” มี 4 ระยะ ทยอยผ่อนปรนทุก 14 วัน ปัดตอบปมขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ มติ ครม. เพิ่มกลุ่มเป้าหมายจ่ายเยียวยา 5,000 บาท เป็น 26 ล้านคน ผ่านคลังไม่เกิน 16 ล้านคน เกษตรอีก 10 ล้านคน ใช้งบฯเกือบ 4 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1 เดือน ยังจำกัดเดินทางเข้า-ออกประเทศ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการที่รัฐบาลต่ออายุการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกไปอีก 1 เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563  ว่า ในหลายข้อกำหนดยังคงสภาพเดิม คือ ในเรื่องของการเคลื่อนย้ายและควบคุมการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19

สำหรับมาตรการจำกัดการเข้าออกราชอาณาจักรทั้งบก น้ำ อากาศ ให้ขยายไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคมเช่นกัน ซึ่งเครื่องบินโดยสารต่างๆ จากต่างประเทศก็หยุดให้บริการเช่นกันยกเว้นการบริการขนส่งสินค้าและการนำคนไทยกลับเข้าประเทศ ในส่วนของเคอร์ฟิวก็ยังคงเดิม คือ เวลา 22.00-04.00 น. ส่วนการลดและชะลอการเดินทางจังข้ามหวัดก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม ซึ่งตนขอฝากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและท้องถิ่นต่างๆ ในการทำงานเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเหล่านี้ด้วย

ทั้งนี้ ในเรื่องของวันหยุดราชการ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ที่เดิมจะไม่หยุด แต่ มติ ครม. วันนี้ให้หยุดตามปกติ ในส่วนที่เป็นวันหยุดราชการและในส่วนของวันหยุดของรัฐวิสาหกิจหรือแรงงาน เพียงแต่ต้องมีมาตรการป้องกันหรือมาตรการ social distancing ต่างๆ ต้องเข้มงวดในหลายมาตรการที่ปลดล็อกไปแล้วก็จะต้องดูแลให้ดีที่สุด

คลาย “ล็อกดาวน์” 4 ระยะ ผ่อนปรนทุก 14 วัน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ว่า แม้จะมีการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อีกส่วนหนึ่งก็จะมีมาตรการในการผ่อนคลาย ปลดล็อกในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้มีคณะกรรมการที่มีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนด้วยกัน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และมหาดไทย ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชน  ในการศึกษาและทำรายละเอียดในเรื่องเหล่านี้ ว่ากิจกรรมใดที่ควรจะมีการผ่อนปรนบ้างในระยะต่อไป ขอให้ทุกคนได้รอฟังการแถลงข่าวอีกครั้งหนึ่ง

“ในช่วงที่ผ่านมาก็มีความเดือดร้อน ประสบความเดือดร้อนเรื่องรายได้เรื่องการดำรงชีวิตอยู่พอสมควรวันนี้เรื่องแรกคือจำเป็นที่จะต้องมีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน ประการที่ 2 คือมีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดบางอย่างไปเพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย โดยจะแบ่งการผ่อนคลายออกเป็น 4 ระยะด้วยกัน ซึ่งแต่ละระยะจะต้องห่างกันประมาณ 14 วัน เพื่อให้มีการประเมินว่าหลังจากที่มีการผ่อนปรนไปแล้วจะเกิดการแพร่ระบาดอีกหรือไม่ จำเป็นที่จะต้องมีการปิดอีกหรือเปล่า เพราะฉะนั้นก็จะมีการประกาศเมื่อถึงเวลาว่าจะมีการผ่อนคลายในระยะที่ 1 อย่างไรบ้าง”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับว่า ขอให้ทุกคนร่วมมือกับรัฐบาลด้วย ภาคเอกชน ประชาชนจะต้องมีมาตรการเสริมของท่านเองไม่ว่าจะเป็นในส่วนของท้องที่ท้องถิ่น ในส่วนของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่-กลาง-เล็ก โดยขอความร่วมมือในระยะที่ 1 นี้ขอให้ทุกคนทำให้ดีที่สุด

ซึ่งได้มีการแบ่งประเภทกิจการต่างๆ ไว้แล้วเป็น สีขาว สีเขียว สีแดง ซึ่งการผ่อนปรนจะต้องเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละช่วงทั้ง 14 วัน เพื่อให้ได้รับการตรวจสอบก่อน โดยมาตรการการผ่อนปรนรัฐบาลจะทำเป็นระยะ ค่อยเป็นค่อยไปโดยพิจารณาจากส่วนที่มีความเสี่ยงน้อยก่อน และจะต้องมีคู่มือ มีการตรวจสอบประเมินผลตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในกลุ่มสถานที่เสี่ยงต่างๆ เหล่านี้

“ขอให้เห็นใจรัฐบาลบ้าง เราต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของชีวิตของประชาชนเป็นหลักด้วยสถานการณ์ทางด้านสาธารณสุขก็ยังคงมีความสำคัญอยู่แต่อย่างไรก็ตามอะไรที่สามารถผ่อนคลายได้ก็ผ่อนคลายไป แต่ผ่อนคลายไปแล้วมีการแพร่ระบาดอีกก็จำเป็นต้องปิดอีก ตนไม่อยากให้ย้อนกลับไปถึงจุดนั้น”

เตรียมหารือเอกชนก่อนปลดล็อก หวั่นระบาดซ้ำ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เป็นห่วงเมื่อมีการคลายการปลดล็อกไปแล้วบางส่วน คือ พื้นที่ที่จะทำให้เกิดการร่วมตัวของประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นตนขอให้ประชาชนระมัดระวังในการเข้าพื้นที่ที่มีการอัดมากๆ  ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทางศาสนา หรือกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ขอให้ทุกคนระมัดระวังเพื่อตัวของท่านเองและครอบครัวของท่าน

เพราะฉะนั้นสถานประกอบการก็ต้องเตรียมการของตัวเองให้พร้อม ก็ต้องมีการหารือร่วมกันอีกจากมาตรการที่รัฐออกไปแล้วทุกท่านก็สามารถมีมาตรการเพิ่มเติมของท่านได้เรียกว่าเป็นพื้นที่โควิดฯ ฟรี เจ้าหน้าที่ พนักงานต่างๆ ของท่านก็ต้องได้รับการตรวจโรค เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนที่จะเข้าไปในสถานที่ของท่าน รายละเอียดต่างๆ ก็จะแจ้งในเร็วๆ นี้ และเมื่อถึงเวลาที่จะปลดล็อกก็จะประกาศให้ทราบ

“วันนี้ขอให้ทุกคนอย่างเพิ่งเรียกร้องมากนักเลย วันนี้ได้เอาในส่วนของตรงกลางมาพิจารณานโยบาย ในแนวปฏิบัตินั้นก็ต้องฟังท้องถิ่นด้วย จากกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามต้องระมัดระวังการแพร่ระบาดการกลับมาไม่อย่างนั้นทุกอย่างจะเสียเปล่าไปโดยสิ้นเชิง ผมไม่อยากให้ย้อนกลับไปตรงนู้น”

วอนผู้ที่รอรับเงินเยียวยาใจเย็นๆ ยันดูแลดีที่สุด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า ขณะนี้รัฐบาลดูแลในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานในระบบ-นอกระบบ แม้กระทั่งกลุ่มเปราะบางก็กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ด้วย ซึ่งได้ขยายการดูและจากที่ตั้งไว้เพียง 3 ล้านคนไปเป็น 16 ล้าคนแล้ว รวมถึงกรณีของคนพิการ ก็ได้มีการเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาแล้ว ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ต้องรอฟังจากการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง จะมีการแถลงข่าวภายในสัปดาห์นี้ว่าจะมีผลอะไรออกมาบ้าง

ซึ่งวันนี้รัฐบาลไม่ใช่ทำหน้าที่แต่เพียงดูแลเรื่องโควิด-19 อย่างเดียว ก็จำเป็นต้องดูแลในเรื่องของเศรษฐกิจต่างๆ ในเรื่องของเครื่องจักรเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนประเทศไปด้วยในเวลาเดียวกันซึ่งก็มีหลายส่วนงานด้วยกัน ทั้งส่วนที่ใช้งบประมาณปกติปี 2563 เตรียมแผนใช้จ่ายงบประมาณปี 2564 เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้เงินกู้ในการเยียวยาสถานการณ์โควิดฯ

โดยงบประมาณที่รัฐบาลเตรียมกู้ก็ได้มีการวางแผนการใช้จ่าย เพื่อให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบโควิดฯ ทั้งนี้ ตนขอให้แยกแยะออกจากกันระหว่างเรื่องที่เป็นมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิดฯ จริงๆ กับอะไรที่เป็นมาตรการปกติซึ่งหน่วยงานของรัฐจำเป็นต้องดูแลในพื้นฐาน ขอดูด้วยว่ามีการใช้จ่ายทั้งสองส่วนไปด้วยกัน จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นในการที่จะดูแลประชาชนให้มากที่สุด

“ขอความร่วมมือจากสถานประกอบการต่างๆ ก็ขอให้ใจเย็นๆ สักนิดหน่อย ไหนๆ ท่านก็อดทนกับผมมาแล้ว ผมก็เจ็บปวดไปกับท่านนั่นแหละ ผมเข้ามาทำงานตรงนี้เพื่อดูแลพี่น้องประชาชน วันนี้สถานการณ์กดดันเราเข้ามามากมายหลายประการ ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยประเทศเดียว ทั้งโลกเดือดร้อนไปหมดในเรื่องของสถานการณ์โควิดฯ”

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ดังนั้นก็ขอให้เข้าใจด้วย ขอให้รอกันอีกสักนิด เรื่องต่างๆ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งตนขอยืนยันว่า ตนจะดูแลให้ดีที่สุด

“ผมทราบดีถึงความลำบากของพี่น้องทุกคน ผมเคยเรียนไปแล้วว่าท่านลำบากผมก็ลำบาก ผมเข้าใจดีถึงผู้ที่มีรายได้น้อย จะเห็นได้ว่ารัฐบาลก็มีมาตรการหลายอย่างออกมาในการช่วยเหลือเยียวยาในครั้งแรกเราประมาณการไว้แค่ 3 ล้านคน วันนี้ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เป็นหลายสิบล้านคนแล้วในปัจจุบัน ก็ต้องทยอยดำเนินการไป ตามสัดส่วนของบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในเรื่องของเงินรายจ่ายประจำ งบกลางฯ ที่เหลืออยู่ และในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จให้ทันเยียวยาพวกเรา”

ปัดตอบปมขัดแย้งภายในพปชร.

พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงเรื่องภายในพรรคพลังประชารัฐ และประเด็นการเมืองอื่นๆ โดยระบุว่า“ในส่วนของการเมืองผมขออนุญาตไม่ตอบในช่วงนี้ผมคิดว่ามันไม่สำคัญ ในช่วงนี้เป็นเรื่องของการทำงานของเรามากกว่าที่จะดูแลฟื้นฟู คืนความสุขให้กับประชาชนอะไรไปได้บ้างในช่วงระยะเวลาที่เรากำหนดไว้ เรื่องที่ถามมาหลายเรื่องเป็นเรื่องของการเมืองผมก็ไม่ตอบดีกว่านะครับ”

“เรื่องอื่นผมคิดว่าอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ และสร้างความบิดเบือนสร้างความไม่เข้าใจผมว่าอย่าพูดเลยดีกว่าในช่วงนี้ ขอร้องนะครับทุกภาคส่วนมันก็มีคนที่เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างแต่ถ้าเราช่วยกันมองเห็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีของ ครม. เราไม่สามารถที่จะดูแลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษได้มากนัก เพราะเราต้องดูสถานการณ์ด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ขอขอบคุณคณะรัฐมนตรีทุกคน และขอขอบคุณทุกภาคส่วน”

ขอบคุณ 20 เจ้าสัว ชี้ช่องฝ่าโควิดฯ – ยันไม่มีจ่ายเงินให้รัฐบาล

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการส่งจดหมายเปิดผนึกถึง 20 เจ้าสัวของไทย ว่า วันนี้ได้ทยอยส่งกันมาแล้ว ไม่มีที่ไหนเลยที่บอกว่าจะให้เงินรัฐบาล มีแต่แจ้งมาว่าเขาดูแลคนในห่วงโซ่เขาอย่างไร หางานให้ทำอย่างไร ลดการจ้างงานให้น้อยที่สุด หาอาชีพเสริมให้ จนหลายคนก็กลัวว่าเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะไม่กลับมาทำงานเพราะไปค้าขายออนไลน์กันหมดแล้ว อันนี้เป็นการช่วยในกลุ่มงานของเขาเอง

ประเด็นที่ 2 เขาก็ได้เสนอแนะในเรื่องเศรษฐกิจต่างๆ ก็มีความคิดเห็นตรงกัน คือในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำที่ต้องทำให้เกิดความทั่วถึง ซึ่งเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้ประชาชนมีแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขุดแหล่งน้ำ คือเขาสัญญาไว้ว่าจะดูแลประชาชนให้มากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำลดความปัญหาที่เป็นปัญหาเชิงซ้อน ร่วมมือกับรัฐบาลต่อไปในอนาคต ที่ผ่านมาเขาก็ทำมาเยอะพอสมควร ผมก็เพิ่งทราบว่าหลายเรื่องเขาก็ดูแลของเขาอยูแล้ว

“แน่นอนว่ารัฐบาลไม่สามารถจะดูแลทุกคนได้ 100% แต่จำเป็นที่จะต้องอาศัยภาคส่วนต่างๆ มาร่วมมือกันด้วย เพราะฉะนั้นช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เราควรจะร่วมมือกันให้มากที่สุด ไม่ควรจะมีข้างกันในวันนี้ ควรจะเป็นข้างเดียวกันหมด ก็คือข้างที่จะดูแลประชาชนของท่านคนไทยของท่านให้ดีที่สุดให้สมกับความเป็นคนไทย สมกับอัตลักษณ์ของความเป็นคนไทย คือ มีน้ำใสใจคอที่เปลือกแผ่แบ่งปัน มีจิตสำนึก”

และประการสุดท้าย ที่ได้มีการเสนอมาอีกข้อหนึ่งซึ่งมองมุมเดียวกันกับรัฐบาล คือ โลกหลังจากวิกฤติโควิดฯ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกภูมิภาค ทุกประเทศ ในเรื่องการดำรงชีวิต เพราะทุกคนให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม กับสุขภาพ เราจึงต้องสานต่อไปตามยุทธศาสตร์ของเราที่มีอยู่แล้วเดิมทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาประเทศของเราให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งก็ต้องอาศัยภาคธุรกิจเอกชน และประชาชนมีส่วนร่วมด้วยกันทั้งหมด เพราะไม่มีทางจะทำได้คนเดียว รัฐบาลออกมาตรการมาหากไม่ได้รับความร่วมมือก็ไม่ประสบความสำเร็จ

“ต้องขอขอบคุณบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจขนาดใหญ่ทั้ง 20 ท่านด้วยที่กรุณาเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มาและไม่มีใครมาร้องขอผลประโยชน์จากผมสักคน ไม่มีใครที่จะให้เงินการรัฐบาลสักอย่างเพราะว่าผมคงไปรับเงินจากท่านไม่ได้ ไปมีการตอบแทนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันทั้งนี้ขอให้ยาไปรับฟังคำบิดเบือนต่างๆ ”

เตือน “เฟคนิวส์” ละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โทษแรงกว่าปกติ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาในวันนี้ คือ เรื่องของเฟกนิวส์ ซึ่งตนได้เน้นย้ำไปให้ทุกกระทรวงได้ติดตามในกรณีที่มีการเผยแพร่คำพูดที่บิดเบือนต่างๆ จากข้อเท็จจริงจนทำให้เกิดผลกระทบในการทำงาน กรณีเหล่านี้ต้องใช้กฎหมายในการเข้าไปดูแล ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการไปละเมิดประชาชนแต่อย่างใด เพียงแต่ท่านไปละเมิดใครก็ต้องถูกกฎหมายดำเนินการ

ในเรื่องของเฟกนิวส์ การเบิดเบือนข้อมูลนั้นมี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายหมิ่นประมาทในการควบคุมเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในช่วงเวลานี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีข้อกำหนดอยู่แล้วในเรื่องนี้และเป็นการบังคับที่ค่อนข้างจะแรงกว่ากฎหมายปกติ ดังนั้นขอให้ทุกคนระมัดระวังด้วย เพราะเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีการจับกุมได้หลายราย ซึ่งแต่ละรายมักอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งก็ต้องไปพิสูจน์ทราบกันในศาล

“ช่วงนี้ก็ขอให้อย่าละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เลยเพราะว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราปลอดภัยมาถึงวันนี้ จนได้รับคำชื่นชมจากต่างประเทศหลายประเทศด้วยกันในเรื่องของการดูแลของเรา รัฐบาลไม่มีการปิดบังใดๆ ทั้งสิ้นทุกอย่างเป็นไปตามข้อมูลข้อเท็จจริงที่มีอยู่ วันหน้าก็จะต้องมีการเพิ่มการตรวจประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้มากยิ่งขึ้น”

โดย นายกรัฐมนตรี ระบุว่า วันนี้ตรวจไปแล้วจำนวนหลายแสนคนอยู่ซึ่งหากเทียบอัตราส่วน ก็ใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้วที่เขาแก้ปัญหาโควิดได้เป็นอย่างดีต้องศึกษาเรื่องเหล่านี้เอาไว้ ซึ่งหากเรามัวแต่ติติงกันไปมามากๆ แสดงความคิดเห็นที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นการสร้างความขัดแย้งกันไปทั้งหมด ทำให้การแก้ปัญหาไปไม่ได้ประเทศชาติเดินหน้าไปไม่ได้

“ขอความร่วมมือเท่านั้นแหละครับผมขอแค่อย่างเดียวความร่วมมือความเข้าใจ และอย่ามองกันไปในทางที่ผิดไปทั้งหมด ขอบคุณครับ”

มติ ครม. มีดังนี้

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

สรุปยอดรับเยียวยา 5,000 บาท ผ่านเกณฑ์แล้ว 10.6 ล้านราย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท หลังดำเนินการมาแล้วครบ 1 เดือน มีจำนวนการลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 28.8 ล้านรายการ (ปิดรับลงทะเบียนเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563) ในจำนวนนี้เมื่อหักการลงทะเบียนซ้ำหลายครั้งออกแล้ว คงเหลือผู้ลงทะเบียน 24 ล้านราย โดยพบว่าเป็นผู้ไม่ผ่านการยืนยันตัวตนจากฐานข้อมูลของกรมการปกครอง 1.7 ล้านราย คงเหลือผู้ลงทะเบียนที่เข้าสู่ขั้นตอนการคัดกรองตามหลักเกณฑ์จำนวน 22.3 ล้านราย

“กระทรวงการคลังได้ใช้ฐานข้อมูลและระบบการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนแล้วพบว่ามีผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติจะได้รับสิทธิ เนื่องจากมีสิทธิหรือเข้าข่ายจะได้รับสิทธิเยียวยาจากรัฐบาลผ่านทางกลไกอื่นอยู่แล้ว แบ่งเป็นหัวหน้าครัวเรือนเกษตรกรตามฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 4.2 ล้านราย เป็นข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ หรือผู้รับเบี้ยหวัดและผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิชดเชยรายได้ในระบบประกันสังคม 1.1 ล้านราย และมีผู้ขอยกเลิกการลงทะเบียน 9.5 แสนราย”

ดังนั้น จึงมีผู้ที่เข้าข่ายสามารถได้รับสิทธิการชดเชยรายได้ตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 16 ล้านราย ซึ่งเป็นผู้ผ่านเกณฑ์แล้วจำนวน 10.6 ล้านราย และกระทรวงการคลังได้โอนเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับสิทธิส่วนใหญ่จำนวน 7.5 ล้านรายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 8 เมษายนถึงวันที่ 29 เมษายน 2563 ในวันที่ 30 เมษายน 2563 จะมีการโอนเงินเยียวยาผู้ได้รับสิทธิอีก 4.8 แสนราย

  • คลังแจงยอดผู้มีสิทธิ์รับ 5 พันบาท 16 ล้านราย ผ่านเกณฑ์แล้ว 10.6 ล้านราย
  • ส่วนที่เหลืออีก 2.6 ล้านรายจะเร่งโอนให้ภายในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2563 กลุ่มนี้จะได้รับเงินเยียวยาของรอบเดือนเมษายนด้วยรวมเป็น 2 เดือน โดยขอให้ตรวจสอบสถานะล่าสุดได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2563เวลา 6.00 น. เป็นต้นไป หากได้รับสิทธิจะพบข้อความว่า “ท่านได้รับสิทธิมาตรการเยียวยา 5,000 บาท กระทรวงการคลังจะดำเนินการโอนเงินให้ท่านโดยเร็วที่สุด

    ขยายเวลาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-เคอร์ฟิว 1 เดือน

    ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 – 31 พฤษภาคม 2563 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ  โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2563 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะสำนักงานประสานงานกลาง ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศบค.)  ได้เชิญผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและประชาคมข่าวกรองเข้าร่วมการประชุม โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน เพื่อประเมินผลการปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

    “สรุปสาระสำคัญได้ว่าการดำเนินการดังกล่าว ทำให้การบริหารจัดการเป็นเอกภาพส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายวันของประเทศไทยมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการของศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและทันท่วงทีต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประกอบกับหน่วยงานด้านการข่าวได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยและพึงพอใจต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล และเห็นด้วยที่รัฐบาลจะพิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไป”

    ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรดำรงมาตรการในขณะนี้ไว้ดังนี้

    • จำกัดการเข้าราชอาณาจักรทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยสำหรับทางอากาศให้ขยายระยะเวลาการห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 1 เดือน
    • ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน (Curfew) ระหว่างเวลา 22.00 นาฬิกา ถึง 04.00 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น
    • งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดโดยไม่จำเป็น
    • ห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคติดเชื้อโควิด – 19 เป็นการชั่วคราว

    “นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้ ศบค. เป็นกลไกหลักในการกำหนดกรอบแนวทางการบังคับใช้กฎหมายต่อไปและให้ศูนย์ปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โรคโควิด – 19 ในด้านต่างๆ กรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัด กำหนดรายละเอียดในการปฏิบัติงานตามประเภทของภารกิจและความรับผิดชอบของตนในพื้นที่”

    สำหรับประชาชนในต่างประเทศ ครม. สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งรัดตรวจสอบและรวบรวมจำนวนคนไทยในต่างประเทศที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งจะมีจำนวนมากขึ้นเนื่องจากมีตัวเลขคนไทยตกค้างในต่างประเทศสะสม ให้ได้จำนวนที่ชัดเจนและประสานงานกับสำนักงานประสานงานกลางของ ศบค. เตรียมการรองรับกลุ่มบุคคลดังกล่าวเดินทางกลับ

    “สุดท้ายสำหรับการผ่อนคลายมาตรการบังคับใช้กฎหมายบางอย่างให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติขึ้นและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านความมั่นคงภายใต้ความปลอดภัยของประชาชน สำนักงานประสานงานกลางจะได้ร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ศบค. ภาคธุรกิจและทุกภาคส่วนร่วมกันกำหนดมาตรการผ่อนคลายต่อไป โดยยังไม่มีรายละเอียดในวันนี้ แต่มีแนวทางดังนี้”

    • การผ่อนคลายมาตรการ จะต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านการสาธารณสุขเป็นหลัก และนำปัจจัยด้านอื่นๆ มาใช้ประกอบการพิจารณา อาทิ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านสังคม
    • การดำเนินมาตรการผ่อนคลายให้พิจารณาจากประเภทของกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในลำดับแรก และมีการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรคควบคู่กันไปด้วยอย่างเข้มงวดและจะต้องจัดเจ้าหน้าที่หรือใช้เทคโนโลยีเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนดอย่างต่อเนื่อง
    • ในห้วงที่มีการดำเนินมาตรการผ่อนคลาย จะต้องเร่งรัดการตรวจเชื้อโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อาทิ กลุ่มสาขาอาชีพบริการ กลุ่มแรงงานต่างด้าว และมีการใช้เทคโนโลยีติดตามเพื่อตรวจตรากิจกรรมควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อควบคุมและป้องกันมิให้เชื้อโรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดได้อีก

    “สุดท้ายนี้ภายหลังการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินการตามวงรอบ หากพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มที่ภาครัฐสามารถควบคุมได้ดีขึ้นจะพิจารณากำหนดมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม  แต่หากพบว่ามีการฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด หรือสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นให้ยกเลิกมาตรการผ่อนคลายในทันที”

    ไม่เลื่อนวันหยุดนักขัตฤกษ์ในเดือน พ.ค.นี้

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่าสำหรับกระแสข่าวที่ว่าจะยกเลิกวันหยุดของเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ประชุม ครม. วันนี้สรุปว่ายังไม่ยกเลิก แต่ว่าขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่บ้านและงดการเดินทางข้ามเขต ข้ามขังหวัด งดการรวมตัวกันทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

    เพิ่มกลุ่มเป้าหมายจ่ายเยียวยา 5,000 บาท ไม่เกิน 26 ล้านคน

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. อนุมัติโครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของ กค. ไม่เกิน 16 ล้านราย และอนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่เกิน 10 ล้านราย ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

    สืบเนื่องจากผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2563 โดยอนุมัติ 2 โครงการ ประกอบด้วย

    • โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงการคลัง เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ จำนวนไม่เกิน 16 ล้านราย จากเดิม 14 ล้านราย คิดเป็นวงเงินของโครงการฯ ไม่เกิน 240,000 ล้านบาท สำหรับแหล่งเงินจะแบ่งเป็นเงินงบประมาณ 70,000 ล้านบาทและที่เหลือเป็นเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ อีก ไม่เกิน 170,000 ล้านบาท บาท  ขณะที่การจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 5,000 บาทต่อเดือน  เป็นระยะเวลา 3 เดือน  ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 – 30 มิถุนายน 2563 เช่นเดิม
    • โครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรตามกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ จำนวนไม่เกิน 10 ล้านราย วงเงินของโครงการฯ ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท โดยแหล่งเงินจะมาจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ทั้งหมด โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ  5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน  ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563

    “กลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกรไม่เกิน 10 ล้านราย ประกอบด้วย 1) เกษตรกรเป้าหมายกลุ่มแรก  ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง จำนวน  8.43 ล้านราย และ 2) เกษตรกรเป้าหมาย กลุ่มที่สอง ได้แก่ เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน ไม่เกิน 1.57 ล้านราย รวมทั้งสองโครงการแล้วมี 26 ล้านคน ถ้ารวมของแรงงานในระบบประกันสังคม ม.33 ก็อีก 11 ล้านคน รวมกัน 37 ล้านคนที่รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือ ส่วนของเกษตรกรเอกสารระบุว่าเป็นจ่ายเฉพาะหัวหน้าครัวเรือนที่จะมีสิทธิเท่านั้นตามการลงทะเบียนของเกษตรกรที่ลงเป็นครัวเรือน แต่ต้องของตรวจสอบในรายละเอียดอีกที ส่วนของกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เช่นคนพิการ คนสูงอายุ จะมีการพิจารณาอีกครั้งต่อไป ซึ่งนายรัฐมนตรีได้กำชับเรื่องการจัดสรรเงินที่เหลืออย่างเหมาะสมด้วย และวันนี้ก็มีเรื่องของผู้พิการเข้ามาเพิ่มเติมที่รองรัชดาจะแถลงต่อไป”

    ยกเว้นภาษีหนุนลงทุน “ออโตเมชั่น-แรงงานทักษะสูง”

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รวม 3 ฉบับ สำหรับมาตรการภาษีเพื่อรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

    • ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation)] เป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวน100% ของรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรและโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับเครื่องจักร ตามโครงการลงทุนในระบบอัตโนมัติ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซ่มให้คงสภาพเดิม สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยมีประมาณการสูญเสียรายได้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล 20,000 ล้านบาท จากการคาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนในหุ่นยนต์และระบบ Automation ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท
    • ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง) เป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวน50% ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่การจ้างงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ตามสัญญาจ้างแรงงานในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เฉพาะส่วนที่เป็นเงินเดือน (จำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนค่าจ้างที่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน) สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยมีประมาณการสูญเสียรายได้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 10,800 ล้านบาท  แต่มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการดังกล่าวคือการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงเพิ่มขึ้นจำนวน 40,000 คน
    • ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง) เป็นการกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวน150% ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้างในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่กำหนด สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยประมาณการสูญเสียรายได้ มาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 2,400 ล้านบาท  แต่คาดว่าจะมีการฝึกอบรมลูกจ้างจำนวน 40,000 คน และยังช่วยส่งเสริมการลงทุนในประเทศและการพัฒนาการประกอบกิจการของภาคเอกชน

    อนึ่ง มติเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2562 และวันที่ 7 ตุลาคม 2562 รับทราบสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 เกี่ยวกับมาตรการรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติ (Thailand Plus Package) และมอบหมายให้ กค. ดำเนินการจัดทำมาตรการภาษีดังนี้ 1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบอัตโนมัติ (Automation) 2 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง 3 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

    คนพิการ 2 ล้านคน เฮ! รับเยียวยาคนละ 1,000 บาท

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอขอเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้พิการในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด19 ให้แก่ผู้พิการที่มีบัตรผู้พิการ จำนวน 2 ล้านคน คนละ1,000 บาท

    “เรื่องเงินช่วยเหลือของผู้พิการ วันนี้ ครม. ได้เห็นชอบเงิน 1,000 บาทต่อคน สำหรับผู้พิการ 2 ล้านคน และอีกไม่กี่วันเงินจะเข้าถึงตัวผู้พิการทุกคนที่มีบัตรประจำตัวผู้พิการ ซึ่งน่าจะช่วยผู้พิการในช่วงเวลาที่ยากลำบากขณะนี้ได้ แม้ว่าจะเป็นการจ่ายเพียงครั้งเดียว”

    ทั้งนี้ ครม. ยังเห็นชอบเพิ่มเบี้ยผู้พิการให้แก่ผู้ถือบัตรผู้พิการ ที่อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 1.2 แสนคน จากเดือนละ 800 บาทเป็น 1,000 บาท เริ่ม 1 ตุลาคม 2563 เพิ่มเติมจากที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 เห็นชอบเพิ่มเบี้ยผู้พิการเป็น 1,000 บาทแก่ผู้ถือบัตรผู้พิการและมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1แสนบาทต่อปี) จำนวน 1 ล้านคน

    “จากวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่เห็นชอบจะเพิ่มจาก 800 เป็น 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับผู้พิการที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1 ล้านคน ในวันนี้ได้ขอเพิ่มว่ายังมีเหลืออีก 9 แสนคน และมีอีกจำนวนหนึ่งที่เยาวชนด้วย จึงขอให้รัฐบาลช่วยดูแลคนส่วนนี้ทั้งหมดได้หรือไม่ ครม. วันนี้อนุมัติเพิ่มเบี้ยเป็น 1,000 บาทสำหรับผู้พิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีจำนวน 1.2 แสนคนด้วย โดยแหล่งเงินมาจากกองทุนผู้พิการที่มีอยู่ไม่ได้กระทบต่องบประมาณรวม”

    เพิ่มงบฯ 458 ล้าน แก้มันสำปะหลังราคาตก

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติงบเพิ่ม 458 ล้านบาท โครงการประกันรายได้มันสำปะหลังปี 62/63 ช่วยเกษตรกร สู้ภัยแล้งและวิกฤติโควิด-19 สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (12 พฤศจิกายน 2562) ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้มันสำปะหลังปี 2562/2563 วงเงิน 9,671.583 ล้านบาท โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรไปแล้ว 5 ครั้ง (งวดที่ 1-5) จำนวน 391,452 ครัวเรือน รวมเป็นเงิน 4,764.516 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.46 ของวงเงินชดเชยทั้งหมด คงเหลืองบประมาณ 4,677.826 ล้านบาท

    แต่จากการประมาณการวงเงินชดเชยส่วนต่างในงวดที่ 6 – 12  ต้องใช้วงเงินประมาณ 5,126.053 ล้านบาท ทำให้วงเงินชดเชยที่ได้รับอนุมัติไว้ไม่เพียงพอ ขาดงบประมาณจำนวน 448.227 ล้านบาท เนื่องจากราคาอ้างอิงต่ำกว่าราคารับประกันรายได้ สาเหตุจากภัยแล้งและเกษตรกรไม่สามารถส่งออกมันสำปะหลังไปประเทศจีนในช่วงวิฤกตโควิด-19

    วันนี้ ครม. อนุมัติจัดสรรงบประมาณโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 2562/2563 วงเงิน 458.974 ล้านบาท เพิ่มเติม โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายให้เกษตรกรไปก่อน และรัฐบาลชำระคืนตามที่จ่ายจริง แบ่งเป็น

    • วงเงินที่จ่ายให้เกษตรกร 448.227 ล้านบาท
    • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ธ.ก.ส. จำนวน 10.747 ล้านบาท แยกเป็น 1) ค่าชดเชยต้นทุนเงินในอัตราเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส. บวก 1 เท่ากับร้อยละ 2.30 ต่อปี เป็นเงิน 10.309 ล้านบาท และ 2) ค่าบริหารจัดการของ ธ.ก.ส. รายละ 5 บาท เป็นเงิน 4.38 แสนบาท

    นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณากำหนดมาตรการบริหารจัดการการระบายมันสำปะหลังให้มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม  สร้างกลไกการตรวจสอบที่สามารถประเมินผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจะได้รับจากโครงการ รวมถึงการร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชนวางแผนการปรับโครงสร้างภาคเกษตรให้เกิดการพัฒนาที่เข้มแข็งในระยะยาว

    ทุ่ม 51,904 ล้าน พัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักเรียน โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล วงเงิน 51,904.73 ล้านบาท ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ซึ่งเป็นการสานต่อนโยบาย 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไปเมื่อ 4 ธันวาคม 2561 โดยในครั้งนี้ได้มุ่งเน้นพัฒนาใน 3 ด้าน

    • ด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยการพัฒนาให้โรงเรียนมีวัสดุอุปกรณ์ สื่อ สถานที่ที่เหมาะสมและส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น ห้องเรียนอัจฉริยะ ห้องปฏิบัติแหล่งเรียนรู้Coding STEM ห้องปฏิบัติการด้านภาษา (Sound Lab) แหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม คุณธรรม จริยธรรม รวมถึงสระว่ายน้ำและสนามกีฬา เป็นต้น
    • ด้านการส่งเสริมการศึกษา โดยการพัฒนาหลักสูตร เช่น เพิ่มทักษะด้านต่างๆ ให้กับผู้เรียน เน้นวิธีการActive Learning มีแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ เป็นต้น รวมถึงการจัดบุคลากรครูเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และพัฒนาครูด้านภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ให้มีความชำนาญในการสอน
    • ด้านการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วม โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้คนในชุมชนทั้งเอกชน บ้าน วัดและศาสนสถานอื่นๆ รัฐ โรงเรียน เข้ามามีส่วนร่วมในบริหารจัดการการศึกษา เช่น แหล่งเรียนรู้อาชีพในชุมชน การสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัด มหาวิทยาลัย เป็นต้น

    “เป้าหมายโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจากทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 8,224 โรง แบ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 7,079 โรง  โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 1,145 โรง กระจายอยู่ในภาคเหนือ จำนวน 1,789 โรง ภาคใต้ จำนวน 1,238 โรง ภาคกลาง/ตะวันออก/ตะวันตก จำนวน 2,162 โรง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3,035 โรง”

    งบประมาณโครงการรวมทั้งสิ้น 51,904.73 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) งบลงทุน เช่น สร้างห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ แหล่งเรียนรู้ต่างๆ จำนวน 19,766.02 ล้านบาท  2)งบดำเนินการ  เช่น การเสริมสร้างความสามารถด้านภาษาอังกฤษ/ภาษาจีน และพัฒนาบุคลากร จำนวน 30,477.49 ล้านบาท 3)งบรายจ่ายอื่น  1,661.22 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 -2565 จัดสรรในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 10,120.34 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 20,619.93 และปีงบประมาณ 2565 จำนวน 21,164.46 ล้านบาท

    ผ่านแผนพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 6,671 ล้าน

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ “ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอนาคตแห่งอาเซียนควบคู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก” สินค้าเป้าหมาย อาทิ ข้าวและธัญพืช ปศุสัตว์ ประมง ผักและผลไม้ อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องปรุงรส เกษตรอินทรีย์ เครื่องดื่มสุขภาพ และยังมีกลุ่มสินค้าทีจะทำตลาดได้ดีในอนาคต เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ และกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น บรรจุภัณฑ์อาหาร และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมอาหาร

    มาตรการในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย

    • สร้างนักรบอุตสาหกรรมพันธุ์ใหม่ สร้างผู้ประกอบการอาหารรุ่นใหม่ให้มีนวัตกรรมอาหาร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างรายได้
    • สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคตสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ครอบคลุมโครงการ อาทิ พัฒนาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมอาหาร พัฒนาและสนับสนุนการใช้บรรจุภัณฑ์ฉลาด (Intelligence Packaging)
    • สร้างโอกาสทางธุรกิจ เป็นการเชื่อมโยงการผลิตสู่ตลาดโลกผ่านแพลตฟอร์ม ที่เหมาะสมกับผู้ผลิตทุกระดับ รวมถึงส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยการเชื่อมโยงวัฒนาธรรมและความคิดสร้างสรรค์เข้ากับผลิตภัณฑ์อาหารและการท่องเที่ยว
    • สร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นการสร้างสภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม4.0 ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเกษตรกรเข้าสู่ระบบSmart Farming  กำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอาหารสดพรีเมี่ยม เช่น ชั้นคุณภาพเนื้อโคขุน เนื้อสัตว์และสัตว์น้ำปลอดสารปฏิชีวนะ และปลอดฮอร์โมน เป็นต้น

    นางสาวรัชดา ธนาดิเรก กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว จะใช้งบประมาณ ประจำปี 2563 – 2566 ภายใต้งบบูรณาการและงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของแต่ละหน่วยงาน จำนวน 6,671 ล้านบาท และการสนับสนุนจากภาคเอกชน 2,224 ล้านบาท โดยคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารแห่งชาติเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน

    ซึ่งหากดำเนินการได้ตามเป้าประสงค์ ประเทศไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคตในอาเซียนในปี 2570 และเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก  อีกทั้ง ในเชิงเศรษฐกิจ คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจากกลุ่มอาหารจะเติบโตขึ้นเป็น 1.42 ล้านล้านบาท รายได้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี และจะเกิดการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ 0.48 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปี

    โดยในปี 2561 สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มูลค่า 901,206 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.5 ของGDP หรือร้อยละ 20.6 ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมการผลิต -มูลค่าส่งออกอาหารปี 2561 มีมูลค่า 1,065,805 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับ 2560

    รับทราบมติ คกก.อวกาศ ให้ CAT ดูแลดาวเทียมไทยคม 4-6

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. รับทราบมติคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะประธานกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติเสนอ โดยมีสาระสำคัญสรุป อาทิ

    • รับทราบการดำเนินการต่อร่างหลักเกณฑ์และวิธีการในการเปิดตลาดในระดับรัฐ (State Level) ของนโยบายการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ (Landing Rights) ทั้งนี้ ร่างดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติต่อไป รวมถึงรับทราบการประกาศคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และ วิธีการอนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2563
    • รับทราบแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ดศ.) โดยได้ลงนามจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินโครงการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ที่ปรึกษาโครงการ) โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 270 วัน (สิ้นสุด ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2563)

    ปัจจุบันที่ปรึกษาโครงการ ได้เสนอทางเลือก เป็น 4 กรณี ได้แก่ 1) กรณีที่ ดศ. ดำเนินงานเอง 2) กรณีที่ ดศ.มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินงาน 3) กรณีที่ให้เอกชนรายเดิมดำเนินงาน และ 4) กรณีเปิดประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนรายใดรายหนึ่งดำเนินการ ซึ่งที่ปรึกษาโครงการเสนอแนะให้ ดศ. ดำเนินการในรูปแบบการให้บริการภาครัฐสู่ภาครัฐ (G2G) โดยพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ดศ. [บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)] เข้ามาบริหารจัดการดาวเทียมทั้ง 3 ดวงที่มีอายุเหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญาฯ (ดาวเทียมไทยคม 4 ไทยคม 5 และไทยคม 6)

    พร้อมกันนี้ได้ รับทราบแนวทางการบริหารจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ และให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ โดยเปรียบเทียบประโยชน์ (รายได้) ของแต่ละทางเลือกในการบริหารจัดการดาวเทียม ซึ่งจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีตามลำดับต่อไป

    • สำหรับ กรณีขัดข้องทางเทคนิคของดาวเทียมไทยคม 5 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ผู้แทน ดศ. ได้เข้าร่วมการประชุมหารือกับรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ในประเด็นข้อสัญญาฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีการขัดข้องของดาวเทียมไทยคม 5 ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงาน 2 คณะ คือ 1) คณะทำงานพิจารณาข้อกฎหมายในการปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานกรณีดาวเทียมไทยคม 5 2) คณะทำงานตรวจสอบทางเทคนิคกรณีการขัดข้องของดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 โดยจะดำเนินการตามแนวทางดังต่อไปนี้
      1. คู่สัญญามีหน้าที่จะต้องจัดสร้างดาวเทียมทดแทนดาวเทียมไทยคม 5 ตามข้อกำหนดของสัญญาฯ ในกรณีที่ไม่สามารถซ่อมแซมดาวเทียมได้
      2. ดศ. ควรเร่งตรวจสอบเงื่อนไขการรับเงินค่าสินไหมทดแทนตามกรธรรม์ประกันภัยของดาวเทียมไทยคม 5
      3. เห็นควรให้ ดศ. มีหนังสือถึง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เพื่อจัดส่งแผนการดำเนินการตามข้อกำหนดของสัญญาฯ โดยให้ ดศ. พิจารณาโดยด่วน
      4. เห็นควรให้ ดศ. มีหนังสือหารือ สคก. อีกชั้นหนึ่งเมื่อได้ข้อสรุปการดำเนินการตามข้อกำหนดของสัญญาฯ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป มติที่ประชุม รับทราบกรณีขัดข้องทางเทคนิคของดาวเทียมไทยคม 5

    เห็นชอบตาม มติ กชน. ป้องกัน “น้ำท่วม-ภัยแล้ง”

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. รับทราบและเห็นชอบ ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เสนอ ผลการประชุม กนช. ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติ กนช. และข้อสั่งการประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 โดยมีสาระสำคัญ อาทิ

  • เห็นชอบในหลักการแผนหลักการป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนของกรมโยธาธิการและผังเมือง และให้กรมโยธาธิการและผังเมืองนำความเห็นของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปพิจารณาดำเนินการ ในพื้นที่จำนวน 715 พื้นที่ชุมชน ในวงเงินงบประมาณ 60,803 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว 166 พื้นที่ชุมชน คงเหลือที่ต้องดำเนินการอีก 549 พื้นที่ชุมชน โดยคาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 6 ล้านครัวเรือน
  • เห็นชอบในหลักการโครงการเพื่อการพัฒนา ปี 2563 ของการประปาส่วนภูมิภาค กปภ. (เพิ่มเติม) จำนวน 6 โครงการ วงเงิน 11,56 ล้านบาท และเห็นชอบในหลักการแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อรองรับโครงการเพื่อการพัฒนา ของ กปภ. ปี 2563 (เพิ่มเติม) 3 แห่ง วงเงินรวม 346.40 ล้านบาท
  • ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 475,200 ลูกบาศก์เมตร/วัน สามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 126,750 ราย (ประมาณ 305,625 คน)

  • เห็นชอบในหลักการของโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาทต่อโครงการ ได้แก่
    • เห็นชอบในหลักการโครงการเพื่อการพัฒนาของ กปภ. ปี 2563 (เพิ่มเติม) จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 10,66 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการก่อสร้างปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาเพชรบูรณ์-หล่มสัก วงเงินรวม 1,567.86 ล้านบาท 2) โครงการก่อสร้างปรับปรุง ขยาย กปภ. สาขาสมุทรสาคร-นครปฐม วงเงินรวม 9,351.79 ล้านบาท และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบโครงการต่อไป และเห็นชอบในหลักการแผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสำรองเพื่อรองรับโครงการเพื่อการพัฒนาขนาดใหญ่ ของ กปภ. ปี 2563 (เพิ่มเติม) วงเงินรวม 244.36 ล้านบาท
    • เห็นชอบในหลักการโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน จังหวัดฉะเชิงเทรา ของกรมชลประทาน วงเงินรวม 1,880 ล้านบาท และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบให้ดำเนินโครงการต่อไป
    • เห็นชอบแผนการส่งน้ำฤดูฝน ปี 2563 ของทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ณ วันที่ 1 เมษายน 2563 เพื่อการเพาะปลูก จำนวน 265,000 ไร่ โดยใช้น้ำ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร และเห็นชอบในหลักการแผนการส่งน้ำฤดูฝนในพื้นที่ชลประทานทุกลุ่มน้ำ ประกอบด้วย 1) ลุ่มน้ำที่สามารถส่งน้ำชลประทานเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ จำนวน 12 ลุ่มน้ำ 2) ลุ่มน้ำที่ไม่สามารถส่งน้ำชลประทานเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีได้ จำนวน 8 ลุ่มน้ำ (ใช้น้ำฝน) และ 3) ลุ่มน้ำที่ส่งน้ำนอกภาคการเกษตร จำนวน 3 ลุ่มน้ำ

    นอกจากนี้ในที่ประชุมฯ ยังได้พิจารณาเพิ่มปริมาณการผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำกลอง มาลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อรักษาระบบนิเวศ (ป้องกันน้ำเค็มรุกตัว) อีก 500 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในฤดูแล้งปี 2562/2563

    ทั้งนี้ให้ สทนช. จัดทำแผนระยะยาวรองรับสถานการณ์น้ำแล้ง และแก้ไขปัญหาที่ทำให้น้ำในแม่น้ำและน้ำประปากร่อยด้วย และในการผลิตน้ำประปาหมู่บ้านแต่ละแหล่ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ และให้ กปภ. ที่อยู่ใกล้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาพิจารณานำความเห็นของ กนช. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

    ยกเว้นค่าธรรมเนียมโรงงานประเภท 2-3 เป็นเวลา 1 ปี

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่2 และ 3 ทุกขนาด เป็นเวลา 1 ปี

    ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานซึ่งได้รับผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกค่าธรรมเนียมให้แก่

    • ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 คือ โรงงานที่มีเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า และคนงานไม่เกิน 50 คน และเมื่อจะประกอบกิจการต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน เช่น โรงงานเกี่ยวกับผลิตผลเกษตรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง  อาทิ การเพาะเชื้อเห็ด กล้วยไม้ หรือถั่วงอก
    • ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 3 คือ โรงงานที่จะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะดำเนินการได้ เช่น โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งมิใช่สัตว์น้ำอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น การฆ่าสัตว์ โรงงานทุกขนาด โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับโรงงานทุกขนาด ทั่วประเทศ เป็นเวลา 1 ปี

    ทั้งนี้ ได้มีการประมาณการสูญเสียรายได้อยู่ 231,120,600 บาท แต่ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจะเป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน จากภาวะทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้พยุงสถานะของโรงงาน ประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีมูลค่ามากกว่ารายได้ที่รัฐจะต้องสูญเสียไป

    ผ่านร่าง พ.ร.บ.สถาปนิกฯ ขยายตลาดแรงงานอาเซียน

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาปนิก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสภาสถาปนิกเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพระหว่างประเทศ ตามข้อตกลงการยอมรับร่วมกันของอาเซียนด้านการบริการสถาปัตยกรรม (Asean Mutual Recognition Arrangement on Architectural Services : MRA) เพื่อการเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในตลาดวิชาชีพสถาปัตยกรรม ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน การรับรองคุณวุฒิการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม  คุณสมบัติและที่มาของกรรมการจรรยาบรรณวิชาชีพสถาปัตยกรรม และอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ

    ทั้งนี้ เนื่องจากบริการด้านสถาปัตยกรรมเป็นหนึ่งในสาขาบริการด้านธุรกิจและวิชาชีพ (Business and Profession Services) ในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศไทยได้มีการลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วมกันของอาเซียนด้านการบริการสถาปัตยกรรม (Asean Mutual Recognition Arrangement on Architectural Services : MRA) จึงมีพันธะผูกพันตามข้อตกลง MRA ดังกล่าว โดยข้อตกลง MRA นี้ จะใช้เป็นมาตรฐานในการกำหนดคุณสมบัติสำหรับสถาปนิกในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้สามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันได้ ในตลาดวิชาชีพสถาปัตยกรรม ซึ่งจะส่งผลให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมสามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในประเทศที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน

    อ่านมติ ครม. ประจำนวันที่ 28 เมษายน 2563เพิ่มเติม