ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจ-ความมั่นใจฟื้นชัดเจน คาดปีนี้จีดีพีโต 3.6-4.6%

สภาพัฒน์ชี้เศรษฐกิจ-ความมั่นใจฟื้นชัดเจน คาดปีนี้จีดีพีโต 3.6-4.6%

19 กุมภาพันธ์ 2018


ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีในปี 2560 ว่าโตถึง 3.9% มีแรงสนับสนุนหลักจากการส่งออกที่กลับมาเติบโตได้ 9.7% คิดเป็นมูลค่ารวม 235,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง (หากหักทองคำ การส่งออกไทยเติบโตได้ 10.8%) โดยเป็นการเติบโตทั้งทางด้านราคาที่ 3.6% และปริมาณที่ 5.9% อย่างไรก็ตาม ผลจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ในไตรมาสสุดท้ายของปีส่งผลให้ภาคเกษตรพลิกกลับมาติดลบที่ -1.3% จากที่ก่อนหน้านี้เติบโตสูงทั้ง 3 ไตรมาสที่ 6%, 15.9% และ 9.7% ตามลำดับ ทั้งนี้คาดว่า หากไม่มีภัยธรรมชาติภาคเกษตรจะเติบโตได้มากกว่า 4% และส่งผลให้จีดีพีทั้งปีมีศักยภาพเติบโตมากกว่า 4% ได้

ทั้งนี้ การผลิตภาคการเกษตรเติบโตได้ 6.2% ในปี 2560 เทียบกับหดตัว -2.5% ในปี 2559 โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับลดลง -2.7% ขณะที่ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 1.7% ในปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 3.9% ในปี 2560 โดยเป็นผลจากภาครัฐมีนโยบายช่วยเหลือ เช่น สวัสดิการแห่งรัฐ ที่ช่วยพยุงกำลังซื้อของเกษตรกรเอาไว้แม้ว่าดัชนีราคาจะลดลง ทั้งนี้ คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในระยะยาว ภาคเกษตรจะต้องเน้นการเพิ่มมูลค่าหรือผลิตภาพของการผลิตซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเกษตรแปลงใหญ่ อาหารปลอดภัย ห้องเย็นเก็บสินค้าเกษตร การแปรรูปอาหาร หาตลาดส่งออก

ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจอื่นๆ ทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคของเอกชนที่เติบโตถึง 3.2% ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ระดับ 3% และหากเทียบรายไตรมาสพบว่าใน 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 สามารถเติบโตที่ระดับ 3.4% และ 3.5% ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้รวมในระบบเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ โดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทนที่เติบโตได้ถึง 21.8% นอกจากนี้ ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 65.2 สูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส หรือเกือบ 3 ปี

สำหรับด้านการลงทุนของเอกชนขยายตัวได้ที่ 1.7% ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 0.5% ในปีก่อนหน้า และหากเทียบรายไตรมาสพบว่าการลงทุนของเอกชนฟื้นตัวขึ้นมา 3 ไตรมาสติดต่อกันจาก 3% เป็น 2.5% และ 2.4% ตามลำดับ โดยมีแรงผลักดันหลักจากการลงทุนในเครื่องจักรที่เติบโตได้ 3.4% และการส่งออกที่ฟื้นตัว ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเติบโตได้ 2.1% โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการส่งออกมากกว่า 60% เติบโตได้ 3.1% ขณะที่กลุ่มที่ส่งออกระหว่าง 30-60% และน้อยกว่า 30% มีการผลิตเติบโต 4% และ 0.3% ตามลำดับ นอกจากนี้ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมการใช้กำลังการผลิตที่เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 60.8% โดยมีหลายอุตสากรรมที่ใช้กำลังการผลิตสูงกว่า 75%

ทั้งนี้ การลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง 6% โดยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว แต่การลงทุนของรัฐบาลปรับตัวลดลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาอุทกภัย การปรับตัวด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับตัวอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากอาจจะต้องปรับขั้นตอนการทำงานที่เพิ่มขึ้นและทำความเข้าใจกฎหมายใหม่ โดยปัจจุบันหลายรายการได้มีการผูกพันงบประมาณเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงผลักดันโครงการออกมา และปัญหาฐานสูงในไตรมาสก่อนๆ หน้า สอดคล้องกับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้ซึ่งอยู่ที่ 14% เทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ 21.1% และอัตราการเบิกจ่าย 17% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

คาดเศรษฐกิจ 2561 โต 4.1% – ลงทุนเอกชน 3.7%

ดร.ปรเมธีกล่าวต่อไปถึงภาวะเศรษฐกิจในปี 2561 ว่า คาดว่าจะขยายตัว 3.6-4.6% หรือค่ากลางที่ 4.1% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นและสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากขึ้น แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของสาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ ต่อเนื่องจากปี 2560 และการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 6.8%

การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.2% จาก 1) การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการจ้างงานในภาคนอกเกษตรที่เริ่มกลับมาขยายตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 และการจ้างงานภาคเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของพืชผลทางการเกษตรที่มีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่อยู่ในเกณฑ์สูง 2) อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ 3) การลดลงของข้อจำกัดจากการถือครองรถยนต์ภายใต้มาตรการรถยนต์คันแรกและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และ 4) การดำเนินมาตรการของภาครัฐในการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้นสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2560 ที่เติบโต 22.4% และหากรวมกับการลงทุนภาครัฐคาดว่าการลงทุนรวมจะขยายตัว 5.5% สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.9-1.9% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 7.8% ของจีดีพี

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแรงสนับสนุนจาก 1) การขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลกสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ดีและการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตสูงสุดในรอบ 7 ปี 2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้น และมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 150,000 ล้านบาท (การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 35,000 ล้านบาท การพัฒนาพื้นที่ 35,400 ล้านบาท และการปฏิรูปภาคการเกษตร 30,000 ล้านบาท) 3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน 4) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องของสาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ และ 5) การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงประกอบด้วย 1) การลดลงของแรงขับเคลื่อนจากภาคเกษตร หลังจากฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา 2) ราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยโลก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ 3) ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจโลก

สำหรับประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2561 ควรจะเน้นไปที่ 1) การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตนอกภาคเกษตรเพื่อชดเชยการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากภาคเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญา 2) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 3) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก และ 4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.0 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ร้อยละ 4.4 ในรอบเดือนธันวาคม 2560 จากการใช้จ่ายภาครัฐที่น้อยกว่าคาดเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เศรษฐกิจทั้งปี 2560 ขยายตัวได้ร้อยละ 3.9 ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยเศรษฐกิจได้รับแรงสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ต่างประเทศ สำหรับปี 2561 ประเมินว่าอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังดีต่อเนื่องและการใช้จ่ายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด เช่น นโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการกระจายตัวของกำลังซื้อในประเทศ

รายละเอียดเพิ่มเติม