สภาพัฒน์ฯคาดเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัว 3.5-4.5% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 4% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 1.5-2.5% ส่วนไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ขยายตัว 1.9% รวมเฉลี่ยทั้งปีโต 1.6%
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ ‘สภาพัฒน์’ กล่าวถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2564 และแนวโน้มปี 2565ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ขยายตัวจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ร้อยละ 1.8 รวมทั้งปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 6.2 ในปี 2563 สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญประกอบด้วย 1) การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ 2) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 3) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า และ 4) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัวร้อยละ 4.9 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลร้อยละ 1.5 ของ GDP
ส่วนการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2565 มีประเด็นที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญดังต่อไปนี้
1) การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด
2) การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดย
- การเร่งรัดติดตามมาตรการต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และมาตรการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงและในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว
- การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติม และ
- การเร่งรัดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจ
3) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ โดย
- การติดตามและประเมินผลมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
- การดูแลกลไกตลาดเพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า รวมทั้งผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และ
- การพิจารณาการใช้จ่ายภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และ 2566 โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับโครงการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างงานสร้างอาชีพในระดับชุมชน เพื่อรองรับแรงงานย้ายกลับภูมิลำเนา
4) การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน โดยให้ความสำคัญกับมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการจูงใจในการชำระหนี้และบรรเทาภาระหนี้สินที่สำคัญ
5) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดย
- การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลัก ควบคู่กับการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพและการสนับสนุนการค้าชายแดน
- การพัฒนาสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพและมาตรฐาน
- การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์
- การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และ
- การปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต
6) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดย
- การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง
- การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ
- การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก
- การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค
- การลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ และ
- การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
7) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
8) การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ และ
9) การขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการกระจายรายได้ และปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ