ThaiPublica > เกาะกระแส > ตัวเลขสภาพัฒน์…เศรษฐกิจไทยปี’62 จาก 4% จบที่ 2.4% กับเป้าใหม่ปี’63 โต 2%?

ตัวเลขสภาพัฒน์…เศรษฐกิจไทยปี’62 จาก 4% จบที่ 2.4% กับเป้าใหม่ปี’63 โต 2%?

17 กุมภาพันธ์ 2020


ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขจีดีพีของไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 และตัวเลขจีดีพีทั้งปี 2562 โดย ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ตัวเลขของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ย่อตัวลงมาตามสภาพปัจจัยภายในและภายนอกประเทศเหลือ 1.6% ขณะที่ทั้งปีเติบโตได้ 2.4% โดยเหตุผลของการหดตัวมาจากปัจจัยภายนอกคือได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า การส่งออก ส่วนปัจจัยภายในที่ไทยได้รับผลกระทบคือปัญหาเรื่องงบประมาณ ภัยแล้ง และค่าเงินบาทแข็ง ทำให้การย่อตัวของเศรษฐกิจไทยหดตัวลงมามาก

“ในปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกยังกระทบกับเศรษฐกิจไทยอยู่ การส่งออกของทุกประเทศลดลงหมดจากปีที่แล้ว แม้ว่าบางประเทศจะไม่หดตัวแต่ก็ชะลอลงมาก และในไตรมาสสี่จีน เวียดนามก็กลับมาเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่จีดีพีในภาพทั้งปี ทุกประเทศลดลงหมดยกเว้นจีนที่ลดลงไม่มาก ยกเว้นสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมานิดหน่อย ขณะที่ไทยเองก็เหมือนกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้รับผลกระทบกับการส่งออกอย่างมากและจีดีพีทั้งปี” ดร.ทศพร กล่าว

ในรายละเอียดการใช้จ่ายและการผลิตจะพบว่า องค์ประกอบที่ลดลงคือการส่งออกสินค้าที่ไตรมาสสุดท้ายหดตัว -4.9% และทำให้ทั้งปีหดตัว -3.2% เทียบกับปีก่อนหน้าที่เติบโตได้ 7.5% ซึ่งเกิดจากทั้งสงครามการค้า ค่าเงินที่แข็งค่า การส่งออกยังไปกระทบการผลิตอุตสาหกรรมที่ไตรมาสสุดท้ายหดตัวไป -2.3% และทั้งปีที่ -0.7% จากปีที่แล้วที่เติบโตได้ 3.2% ในด้านงบประมาณที่ล่าช้าทำให้การลงทุนภาครัฐไตรมาสสุดท้ายหดตัวไป -5.1% และทำให้ทั้งปีเติบโตได้ 0.2% เทียบกับปีที่แล้วที่เติบโต 2.9% จะเห็นว่าเมื่อต้องใช้งบไปพลางก่อน ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ในปี 2562 มีการเบิกจ่าย 92% แต่ปีนี้มีเพียง 81% เทียบในช่วงเวลาเดียวกัน ด้านภาคการเกษตรได้รับผลจากภัยแล้ง ในไตรมาสสุดท้ายหดตัว -1.6% และทั้งปีเหลือ 0.1% เทียบจากที่แล้วที่เติบโต 5.5%

ขณะที่องค์ประกอบที่เพิ่มขึ้นมีการลงทุนภาคเอกชนอยู่ในระดับที่ไม่ชะลอตัวลงมาก เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชนที่ยังอยู่ที่ระดับ 4.5% เทียบกับปีที่แล้วที่ 4.6% ได้รับการสนับสนุนจากเงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ และการว่างงานต่ำ และมีการท่องเที่ยวเป็นตัวช่วยอย่างมากทั้งจำนวนและรายรับที่เพิ่มขึ้นจากปี 2561 รายรับเพิ่ม 3.1% จาก 2.5%

“สำหรับการประมาณการในกรณีฐานครั้งนี้ สศช. ประเมินไว้ที่ 1.5-2.5% โดยมีค่ากลางที่ 2% โดยคาดว่าหากเศรษฐกิจโลกเป็นไปตามที่คาดการณ์ตามการประมาณของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ขณะที่การส่งออกไม่รวมทองจะกลับมาได้ที่ 2% เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่จะ ขณะที่ภัยแล้งแม้ว่าจะทำให้ภาคเกษตรหดตัวเบื้องต้น 5% แต่ยังคาดว่าจะไม่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การประมาณการนี้ได้รวบผลกระทบของโรคไวรัสโคโรนาแล้วในระดับหนึ่ง และเห็นว่าเริ่มกระทบกับการท่องเที่ยวแล้ว แต่เนื่องจากการระบาดยังมีความไม่แน่นอนในระดับสูง อาจจะยังต้องติดตามต่อไปด้วย” ดร.ทศพร กล่าว

อย่างไรก็ตาม การประมาณการดังกล่าวอาจจะมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เติบโตได้มากกว่าค่ากลาง ได้แก่ เศรษฐกิจโลกเติบโตมากกว่าที่คาดจากสัญญาณที่ดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี, การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง และฐานที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 และแรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐที่ออกมาได้ในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 ในทางตรงกันข้าม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะกระทบให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่ำลงกว่าที่คาด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการระบาดของไวรัส ซึ่งคาดว่าจะจบได้ในเดือนเมษายน ภัยแล้งที่ความเสียหายจะชัดเจนมากขึ้น และความล่าช้าของงบประมาณที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันในระยะเวลา และความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่อาจจะมากขึ้นได้อีกครั้ง

“แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ควบคุมไม่ได้เข้ามาในช่วงต้นปี แต่สำหรับปัจจัยที่ควบคุมได้คือคืองบประมาณที่ตอนนี้มันล่าช้าไปหลายโครงการ และมีคำถามมากว่าจะเร่งเบิกจ่ายได้ทันหรือไม่ แต่ในความเป็นจริงคือตอนแรกภาครัฐก็คาดว่างบประมาณจะล่าช้าไปตั้งแต่แรกและมีเวลาเบิกจ่ายตอนแรก 8-9 เดือนอยู่แล้ว ขณะนั้นภาครัฐทั้งหมดก็ได้รีบเขียนโครงการรอไว้หมดแล้ว พอปัจจุบันล่าช้าออกไปอีกเล็กน้อย แต่ตัวโครงการจริงๆ ถูกเตรียมไว้หมดแล้วและคาดว่าจะจัดซื้อจัดจ้างได้ค่อนข้างเร็วกว่าปกติ” ดร.ทศพร กล่าว

ดร.ทศพร กล่าวต่อไปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า มาตรการในระยะที่ผ่านมาช่วยพยุงให้การอุปโภคบริโภคเอกชนทรงตัวอยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชิมช้อปใช้ ฯลฯ เช่นเดียวกับภาคท่องเที่ยวที่ช่วงกลางปีมีการส่งเสริม ทำให้ปัจจัยการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ เช่นเดียวกับเอกชนที่มีมาตรการช่วยในด้านการลงทุนต่างๆ ที่ทำให้การลงทุนของเอกชนไม่ชะลอตัวมาก แต่ถามว่าต้องมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ในภาวะแบบนี้ ต้องมีแน่นอน

“ช่วงปลายปีที่แล้วมีลมมาแรง เราต้องย่อตัวก่อนเพื่อให้เรายังไม่ล้ม พอสู้กับลมได้ จะยืนสู้ก็ไม่ไหวก็ต้องย่อก่อน พอลมไปแล้วก็จะยืดตัวกลับมาได้ แต่ปีหน้าคาดว่าจะดีขึ้น คิดว่าไตรมาส 2 จะกลับขึ้นมา ไตรมาสแรกคงเจอสถานการณ์พอสมควร แต่กลับมาจากเหตุผลคือ หลังสงกรานต์ไวรัสก็น่าจะหายไป เทียบกับโรคซาร์ส ตอนนั้นนักท่องเที่ยวก็น่าจะกลับมา งบประมาณก็ผ่านแล้วก็ยิ่งเร่งเบิกจ่าย จัดซื้อจัดจ้าง ปล่อยเงินเข้าสู่ระบบได้ ส่งออกน่าจะกลับมาดีขึ้น ก็น่าจะกลับขึ้นมาได้” ดร.ทศพร กล่าว

คาด “ไวรัสโคโรนา” ดึงนักท่องเที่ยวหด 4.8 ล้านคน – ยันยังไม่ถดถอย

ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช. กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคระบาดไวรัสโคโรนาว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงว่าไวรัสจะสิ้นสุดเมื่อไร จากวันนี้ที่ออกมาเป็นข่าวว่าสมมติฐานอย่างไร สศช. ก็มองว่าต้องหาคำตอบให้เห็นภาพเศรษฐกิจคร่าวๆ วิธีการใช้วิธีการเลียนแบบโรคซาร์สทั้งระยะเวลาและการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยคาดว่าการระบาดจะยืดเยื้อไปสิ้นสุดในไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะกระทบจำนวนนักท่องเที่ยวให้ลดลง 4.8 ล้านคนและรายได้หายไป 230,000 ล้านบาทจากประมาณเดิมที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น (หากเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ของปีที่แล้วจะลดลงไป 2.8 ล้านคนและรายได้หายไป 150,000 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่แน่นอนที่ยังสูงและอาจจะยืดเยื้อไปอีกโดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในกรณีนี้นอกจากจะกระทบนักท่องเที่ยวของไทยแล้ว อาจจะกระทบกับเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ชะลอตัวลงและอาจจะกระทบต่อประเทศคู่ค้าต่างๆ ได้มากขึ้น

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ณ วันนี้มีหลายมาตรการที่ช่วยลดผลกระทบทั้งจากภัยแล้ง การท่องเที่ยวที่ชะลอตัว ผู้มีรายได้น้อย หรือธุรกิจเอสเอ็มอีต่างๆ ซึ่งยังคงมีมาตรการต่อเนื่องมาถึงในปี 2563 อยู่ โดยแบ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยวงเงิน 1,869.3 ล้านบาท, กลุ่มผู้ประกอบการ วงเงิน 238,000 ล้านบาท, กลุ่มเกษตรกร วงเงิน 171,389.28 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว วงเงิน 123,000 ล้านบาท

“ส่วนการคาดการณ์ว่าไตรมาสแรกจะต่ำสุดหรือไม่ ต้องดูว่าปัจจัยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในไตรมาสแรก เช่น ไวรัสจะหดตัวชะลอลงในไตรมาสสองและกลับมาขยายตัวในไตรมาสที่สามได้ หรือเรื่องข้อจำกัดของการเบิกจ่ายงบประมาณคาดว่าจะส่งผลกระทบสั้นในไตรมาสแรกเท่านั้น”

ดังนั้น ไตรมาสแรกก็น่าจะต่ำสุดของปีและทยอยกลับมาจนขยายตัวได้ในไตรมาสสามและกลับมาปกติในไตรมาสที่สี่

ส่วนการถดถอยทางเศรษฐกิจที่เศรษฐกิจติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส เทียบไตรมาสต่อไตรมาส ถามว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ก็ยังเป็นบวกอยู่ และไตรมาสแรกของปีนี้มีโอกาสจะเห็นติดลบ แต่ไตรมาสที่สองคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ ถ้าท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น

“สิ่งที่น่ากลัวของการถดถอยคือมันจะไม่ฟื้นตัวกลับมาจนกลายเป็นถดถอยจริงๆ โดยมีปัจจัยที่ถาวรกว่านี้ แต่กรณีนี้มันชัดเจนกว่าว่าเป็นปัจจัยชั่วคราวว่าน่าจะจบเมื่อไหร่ ยกเว้นว่าโรคระบาดยืดเยื้อออกไป แบบนั้นก็อาจจะเป็นอีกสถานการณ์หนึ่งแล้วที่กระทบไปทั่วโลก”

… ดร.วิชญายุทธ กล่าว

ดร.วิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการ สศช.

เริ่มต้นจากคาดการณ์ 4% จบลงที่ 2.4%

ทั้งนี้ การประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจของปี 2562 เริ่มต้นในปี 2561 หลังจาก สศช. ประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจในปี 2562 จะเติบโตได้ที่ 3.5-4.5% หรือค่ากลาง 4% เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ก่อนจะคงประมาณการณ์เศรษฐกิจในการประเมินครั้งที่สองเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562

ต่อมาในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ได้ปรับลดประมาณการณ์อย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ 3.3-3.7% หรือค่ากลางที่ 3.55%

ต่อมาปรับลงมาเหลือเพียง 2.7-3.2% หรือค่ากลางที่ 2.95% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562

ในไตรมาสที่ 4 ของปีเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ปรับลดลงจนเหลือเพียง 2.6% และล่าสุดอยู่ที่ 2.4%

สำหรับปี 2563 สศช. ยังได้คาดการณ์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 เช่นเดียวกันว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 2.7-3.7% หรือค่ากลางที่ 3.2% ก่อนที่ในการแถลงข่าวครั้งนี้จะลดลงเหลือ 1.5-2.5% หรือค่ากลางที่ 2% คำถามคือเศรษฐกิจจะวิ่งได้เต็มกำลังอย่างที่คาดหวังอีกครั้งหรือไม่ และจะต้องปรับลดประมาณการณ์อีกจนเหลือเท่าไหร่ในท้ายที่สุด

จีดีพีสภาพัฒน์ปี’63ต่ำกว่าธปท.สะท้อนหดตัวแรง

ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตัวเลขจีดีพีปี 2562 ที่ร้อยละ 2.4 และช่วงประมาณการจีดีพีปี 2563 ที่ร้อยละ 1.5-2.5 ที่สภาพัฒน์ฯ ประกาศ ต่ำกว่าตัวเลขที่ ธปท. ประมาณไว้ ณ เดือนธันวาคม 2562 ที่ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ สะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงแรง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลกระทบของภัยแล้งต่อผลผลิตเกษตร และผลกระทบจากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2563 ต่อการใช้จ่ายภาครัฐ ที่มากกว่าคาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของทุกฝ่าย

อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการฯ ได้ประเมินข้อมูลล่าสุด ณ ขณะนั้น พบว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมมาก คณะกรรมการฯ จึงมีมติเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องรอตัวเลขทางการจากสภาพัฒน์ฯ

ทั้งนี้ ธปท. จะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจไทยชุดใหม่ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 โดยในระหว่างนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นปัจจัยลบที่มีนัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เบื้องต้นคาดว่าผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าจะรุนแรงที่สุดในไตรมาสแรกของปีนี้ ก่อนที่จะทยอยปรับดีขึ้นหลังสถานการณ์คลี่คลาย โดยเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวเกินร้อยละ 3 ได้อีกในปี 2564 หากไม่มีปัจจัยลบอื่นเพิ่มเติม