ไฟเขียว 17 พ.ค. นี้ผ่อนปรนระยะที่ 2 “ห้าง-ฟิตเนส-ตลาดค้าส่งใหญ่” – ปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็น “ห้าทุ่มถึงตีสี่”- นายกฯ สั่งเทียบ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ–กฎหมายปกติ” ประกอบพิจารณาขยายใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ – สั่งออกแบบ/ปรับระบบ “ตู้ปันสุข”– คาดครั้งนี้ มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 24 คน/วัน
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ภายหลังการประชุม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ได้รายงานสถานการณ์การติดเชื้อภายในประเทศประจำวัน พบผู้ป่วยใหม่ 7 ราย เป็นผู้ที่อยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (state quarantine) ซึ่งเป็นผู้ที่กลับมาจากประเทศปากีสถานเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นชาย 6 ราย หญิง 1 ราย ทำให้มีตัวเลขผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 3,025 ราย ผู้ป่วยรักษาหาย 2,854 ราย มีผู้ป่วยอยู่ระหว่างรักษาตัว 115 ราย และตัวเลขผู้เสียชีวิตยังคงจำนวนอยู่ที่ 56 ราย
นายกฯ สั่งเทียบ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ–กฎหมายปกติ” – สั่งออกแบบ/ปรับระบบ “ตู้ปันสุข”
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงข้อดำริของนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมฯ ว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่ทำให้คนไทยรู้สึกผ่อนคลายมากที่สุดเพราะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ในสัปดาห์นี้ ซึ่งทราบดีว่าทุกคนต้องเสียสละทำงานหนักในทุกวันเพื่อแก้ไขปัญหาและสถานการณ์ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาและการทำงานครั้งนี้แสดงถึงการบูรณาการความร่วมมือทางระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและกลไกอื่นๆ ในสังคม
การทำงานได้แสดงให้เห็นการรวมศูนย์อำนาจและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้สามารถที่จะช่วยควบคุมการติดเชื้อ ขอชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นทุกจังหวัดที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งขอขอบคุณหน่วยงานและทีมงานที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์การสร้างความรับรู้ เพราะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำให้ครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจในสถานการณ์และให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะส่งเสริมให้มาตรการของรัฐนั้นสัมฤทธิ์ผล
โดยการทำงานในส่วนนี้ยังคงให้ความสำคัญต่อไป เพราะจะต้องเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือมากขึ้น อีกทั้งในเรื่องของ social distancing รวมถึงมาตรการควบคุมต่างๆ ที่อาจออกมาแล้วส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน จากอดีตจนถึงปัจจุบันที่เรียกว่า new normal หรือชีวิตวิถีใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสของประเทศไทยในอนาคต ด้วยการยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับอัตลักษณ์ของความเป็นไทย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมโครงการตู้ปันสุขและได้สั่งการถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ให้ออกแบบและวางแผนในระบบใหม่ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ในการตัดสินใจเข้าสู่มาตรการการผ่อนปรนระยะที่ 2 ตรงนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะจะต้องผ่อนคลายให้เศรษฐกิจดำเนินการต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความกังวลใจต่อการแพร่ระบาดรอบที่ 2 จึงต้องขอความร่วมมือจากสื่อสารมวลชนทั้งหมดในสังคมเพื่อทำความเข้าใจข้อมูลให้กับประชาชนทุกระดับอย่างกว้างขวาง
โดยให้สื่อมวลชนได้รับข้อมูลในชุดเดียวกันและช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมกลไกและช่องทางการสื่อสารของภาครัฐ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอยากให้ประชาชนเห็นภาพว่า ถ้าหากในช่วงที่ผ่านมาไม่ดำเนินมาตรการต่างๆ จะเกิดผลอย่างไร และเมื่อเทียบกับปัจจุบันนี้ผลเป็นอย่างไร ซึ่งชุดข้อมูลที่ต้องการให้ประชาชนรับทราบนั้นเป็นชุดข้อมูลพื้นฐานที่ตรงกัน ให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่อาจจะกลับมาได้อีก ข้อมูลนี้จะทำให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินการตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนดได้อย่างเคร่งครัดด้วย
“ในมาตรการการผ่อนปรน นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หัวหน้าสำนักงานประสานงานกลางเป็นประธาน ซึ่งมีหลักการว่าจะต้องมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ โดยใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติตามมาตรการในระดับต่างๆ และเพื่อที่จะจัดทำเป็นแนวทางการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมและร่างเป็นข้อกำหนดเพิ่มเติมต่อไปตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงปัจจัยทางด้านสาธารณสุขเป็นหลัก รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนด้วย”
สำหรับการนำ platform application ไทยชนะที่ ศบค. พัฒนาขึ้นมามาใช้เพื่อสนับสนุนการติดตามการดำเนินงานของผู้ประกอบการในกิจการกิจกรรมทั้งหลายให้เป็นไปตามที่ราชการกำหนด สิ่งสำคัญคือ ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชนทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการตลอดจนถึงภาครัฐ เพราะเครื่องมือนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องและสร้างความปลอดภัยให้กับพลเมือง เหมือนกับที่หลายๆ ประเทศได้นำเทคโนโลยีในการติดตามเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ โดยใช้การสแกน QR code หรือที่เรียกว่า health code ทุกครั้งที่เข้าออกสถานที่ต่างๆ แต่ยังคงต้องสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลให้กับประชาชนด้วย
ในเรื่องของกฎหมาย ได้มอบหมายให้คณะกรรมการเฉพาะกิจด้านกฎหมาย ทำการศึกษาความจำเป็นในการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยให้เปรียบเทียบกับกรณีที่ใช้กฎหมายปกติเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เพื่อเป็นข้อพิจารณาให้กับคณะกรรมการ ศบค. ในการประกาศขยายเวลาหรือยกเลิกการประกาศในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้ต่อ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความห่วงใยไปถึงกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องการเปิดภาคเรียนในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยอยากให้กระทรวงศึกษาธิการมีการประชาสัมพันธ์เตรียมความพร้อม ทั้งสถานที่ เจ้าหน้าที่ และการปฏิบัติต่างๆ ในโรงเรียนซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ และมีเรื่องของการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศ
ตอนนี้มีศูนย์ปฏิบัติการในเรื่องของมาตรการการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ ซึ่งได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคนไทยที่อยากจะกลับประเทศ แต่จะมีการเพิ่มจำนวนอะไร อย่างไร ให้คำนึงถึงความสมดุลของจำนวนผู้ลงทะเบียน และความพร้อมของทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีอยู่ ประกอบกับความสามารถในการดูแลในสถานกักกันของรัฐที่จัดให้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยให้ผู้เดินทางเข้าประเทศทุกรายต้องอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้นี้ และให้ดำเนินมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
ส่วนการพิจารณาการให้แรงงานต่างชาติกลับประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นการดูแลโดยการให้สามารถเดินทางกลับประเทศได้ แต่ยังคงต้องดูแลการเดินทางกลับไปและเข้ามาว่าจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคด้วยหรือไม่ และที่สำคัญ อยากให้สำรวจพื้นที่การพักอาศัยของแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยด้วย เพราะความแออัดเป็นอีกหนึ่งสาเหตุในการทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรค
ไฟเขียว 17 พ.ค. นี้ผ่อนปรนระยะที่ 2 – ปรับเวลาเคอร์ฟิวเป็น “ห้าทุ่มถึงตีสี่”
ในการผ่อนปรนระยะที่ 2 นี้ เป็นการผ่อนปรนในกิจการ/กิจกรรม “สีเขียว” คือ กิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
- กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต
- ร้านอาหาร หรือเครื่องดื่มในอาคารสำนักงาน โรงอาหารหรือศูนย์อาหารภายในหน่วยงาน โดยให้เปิดได้โดยอาจนำกลับไปบริโภคที่อื่น หากเปิดให้ใช้สถานที่สามารถทำได้โดยการจัดระเบียบการเข้าใช้บริการให้เป็นไปตามาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการ และยังคงห้ามบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน
- ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอล์ ฯลฯ เปิดให้บริการเวลา 10.00-20.00 น.
- ในส่วนของสินค้าอุปโภค ร้านขายปลีกธุรกิจคอมพิวเตอร์ หนังสือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนอน วัสดุก่อสร้าง เฟอร์สิเจอร์ วัสดุสำนักงาน เครื่องครัว อุปกรณ์จำเป็นภายในครัวเรือน ดอกไม้ ต้นไม้ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง อุปกรณ์กีฬา
- สินค้าโภคภัณฑ์ ทอง เครื่องประดับ จิวเวลรี
- ส่วนของบริการอินเทอร์เน็ต ซักอบรีด ซ่อมแซมเครื่องใช้อุปกรณ์ ถ่ายเอกสาร ซ่อม-เปลี่ยน ประดับยนต์ ล้างรถยนต์
- ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
- บริษัทประกันภัย ประกันชีวิต
- คลินิกเวชกรรม สถานทันตกรรม
- ห้องรับรอง
- ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม สำหรับบุรุษหรือสตรี (เปิดเฉพาะสระ ตัด ซอยผม แต่งผม) ร้านทำเล็บ
- ร้านอาหาร ภัตตาคาร food court ศูนย์อาหาร
โดยในกลุ่มนี้ยังมีส่วนที่ยังคงต้องปิดต่อไป ได้แก่ โรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง สเก็ต คาราโอเกะ สวนสนุก สวนน้ำ สวนสัตว์ พื้นที่จัดกิจกรรม กิจกรรมส่งเสริมการขาย แข่งขันกีฬา ตู้เกม เครื่องเล่นหยอดเหรียญ สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส ศูนย์ประชุม ห้องประชุม ฮอลล์ สถานที่จัดนิทรรศการ สถาบันกวดวิชา สถานพระเครื่อง ร้านนวดแผนไทย สปา
- ร้านค้าปลีก-ส่ง ขนาดใหญ่ เช่น ร้านวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ตลาดผลไม้ โดยให้เปิดได้แต่ต้องควบคุมทางเข้าออก จัดให้มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ มีมาตรการเว้นระยะห่างในการเลือกสินค้า และการชำระสินค้า รวมถึงระยะห่างของแผงค้าให้ได้ตามมาตรการที่กำหนด ในการจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม เปิดบริการตามมาตรการที่กำหนด
- กิจกรรมด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ
- คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม โดยจำกัดการให้บริการเฉพาะส่วนของเรือนร่าง ผิวพรรณ และเลเซอร์ ไม่รวมการเสริมความงามบริเวณใบหน้า
โดยในด้านนี้มีส่วนที่ยังต้องปิดต่อไป ได้แก่ สถานเสริมความงามควบคุมน้ำหนัก สถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย สถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร และสถานประกอบกิจการ อาบ อบ นวด เช่น นวดเสริมความงาม นวดตัว อาบน้ำ อบตัว อบไอน้ำ ออนเซน อาบ อบ นวด
- โรงยิม สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ฟิตเนส
- โดยจำกัดเฉพาะกีฬาตามกติกาสากล ที่ไม่มีลักษณะการปะทะกัน โดยอาจเล่นเป็นทีมไม่เกินทีมละ 3 คน และไม่มีผู้ชมการแข่งขัน ได้แก่ แบดมินตัน เซปักตะกร้อ เทเบิลเทนนิส โยคะ ฟันดาบ ยิมนาสติก ปีนผา
- ฟิตเนส เปิดเฉพาะส่วนฟรีเวท โดยต้องไม่มีการออกกำลังกายแบบรวมกลุ่ม และห้ามใช้เครื่องลู่วิ่ง จักรยานปั่น เครื่อง elliptical หรือเครื่องออกกำลังกายอื่นๆ
- สระว่ายน้ำสาธารณะ (กลางแจ้ง และในร่ม) จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการตามจำนวนเลนของการว่าย โดยอาจมีอุปรณ์ขึงกันเลนการว่าย (ความกว้างของเลนไม่น้อยกว่า 7 ฟุต) และจำกัดเวลาใช้บริการไม่เกิน 1 ชม.
ในส่วนนี้ส่วนที่ยังต้องปิดต่อไป ได้แก่ สนามมวย โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม) สวนน้ำ สวนน้ำบึงธรรมชาติ กีฬาทางน้ำ เช่น เซิร์ฟบอร์ด เจ็ตสกี บานานาโบ๊ต และเครื่องเล่นกีฬาทางน้ำอื่นๆ
- กิจกรรมอื่นๆ
- ห้องประชุมโรงแรม ศูนย์ประชุม เปิดเฉพาะให้บริการจัดประชุมขององค์กรหรือหน่วยงาน (meeting) ลักษณะนั่งประชุมแบบจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม
- ห้องสมุดสาธารณะ แกลลอรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์
โดยในส่วนนี้ส่วนที่ยังคงต้องปิดต่อไป ได้แก่ การจัดอบรม สัมนา จัดแสดงสินค้า นิทรรศการ จัดงานเลี้ยง อีเวนต์ในโรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า สถานที่จัดนิทรรศการ
- กิจการถ่ายภาพยนตร์และวีดีทัศน์ โดยต้องสวมหน้ากาก และจำกัดการรวมกลุ่มไม่เกิน 10 คน ส่วนแผนกงนอื่นรวมกลุ่มไม่เกิน 5 คน รวมทีมงานหน้าฉากและทุกแผนกไม่เกิน 50 คน ประกอบด้วย แผนกกล้อง ช่างภาพ ช่างไฟ แผนกเสียง แผนกอุปกรณ์เคลื่อนกล้อง แผนกฉากและศิลปกรรม อุปกรณ์ประกอบฉาก แผนกเสื้อผ้า/แต่งหน้า ทำผม ผู้กำกับและนักแสดง แผนกจัดการกองถ่าย/แผนกการจัดการสถานที่/แผนกสวัสดิการกองถ่าย ให้แยกจากส่วนงานถ่ายทำ และแยกอาหารและเครื่องดื่ม รับประทานรายบุคคล
ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ระบุว่า การเปิดกองถ่ายนั้นยังคงต้องดำเนินการตามมาตรการหลัก 5 มาตรการที่รัฐวางไว้ ซึ่งในส่วนของการแสดงยังคงต้องขอความร่วมมืองดการแสดงที่มีฉากกอดจูบโดยอาจปรับไปใช้เทคนิคการถ่ายทำแทน และในกิจการ/กิจกรรมอื่นๆ ในการเปิดให้บริการต้องดำเนินการเปิดให้บริการตามแบบวิถีใหม่ โดยรายละเอียดที่ชัดเจนของมาตรการต่างๆ จะเผยแพร่ผ่านทางราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง
โดยมาตรการที่ยังคงไว้ในการผ่อนปรนระยะที่ 2 นี้ ได้แก่
- ลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวเป็นระหว่างเวลา 23.00-04.00 น.
- ยังคงมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ทั้งทางบก อากาศ น้ำ เช่นเดิม
- งดหรือชะลอการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด
คาดผ่อนระยะ 2 มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 24 คน/วัน
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม ศคบ. นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอการคาดการณ์รูปแบบการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 จำนวน 3 ฉากทัศน์ (scenario) ต่อที่ประชุมฯ ดังนี้
ฉากทัศน์ที่ 1 รัฐบาลยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรการเข้มงวดเหมือนในปัจจุบัน คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ที่ 15 คนต่อวัน คาดการณ์รายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 3 คนต่อวัน และคาดการณ์ความชุกผู้ป่วยวิกฤติต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ที่ 15 คน (ข้อมูลถึงเดือนกันยายน 2563) ซึ่งเป็นระดับที่โรงพยาบาลรับไหว เหมือนในปัจจุบันที่ประเทศไทยเป็นอยู่
ฉากทัศน์ที่ 2 ผ่อนปรนบ้าง เหมือนที่รัฐบาลกำลังผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 2 อยู่นี้ ซึ่งเมื่อผ่อนปรนแล้วคาดการณ์ว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแน่ โดยคาดการณ์รายงานผู้ติดเชื้อใหม่เฉลี่ย 24 คนต่อวัน คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 144 คนต่อวันและคาดการณ์ความชุกผู้ป่วยวิกฤติที่ 105 คน ซึ่งยังเป็นปริมาณที่โรงพยาบาลพอรับไหว
ฉากทัศน์ที่ 3 ผ่อนคลายมาตรการแบบเปิดทุกกิจการ/กิจกรรม จะส่งผลให้เกิดการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 65 คนต่อวัน คาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 398 คนต่อวันและความชุกผู้ป่วยวิกฤติ 289 คน
โดย นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ทางเลือกที่ 2 น่าจะดีที่สุด โดยหลังจากนี้ต่อไปคงต้องลดอัตราการแพร่ระบาดในชุมชนลงให้เป็น 70% ของอัตราการแพร่เชื้อระยะก่อนหน้า โดยมีมาตรการเข้มข้นระยะสั้น จะทำให้ประเทศไทยเลี่ยงการระบาดใหญ่ได้ ซึ่งมาตรการสำคัญคือ มาตรการ “3T” ได้แก่ ค้นหา Trace ทดสอบ Test และรักษา Treat โดยทางสาธารณสุขได้พยายามแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า มีฉากทัศน์หลายรูปแบบ ซึ่งการผ่อนปรนแบบนี้จะต้องยอมรับว่าจะมีคนไข้เพิ่มขึ้นเป็น 2 หลัก เป็นเรื่องที่ต้องทำใจกันระดับหนึ่ง
ชี้ผ่อนปรนมาพร้อมความเสี่ยง-ออกจากบ้านต้องป้องกันตนเอง
“การจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ทีมที่ปรึกษาด้านกฏหมายศึกษารายละเอียดกรณีจะกลับไปใช้กฏหมายปกติ ซึ่งยังเป็นข้อเสนอในการพิจารณาหาแนวทางที่จะดำเนินการต่อไป”
ต่อคำถามกรณีที่ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะแออัด นพ.ทวีศิลป์ระบุว่า สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อต้องมีมาตรการควบคุมหลักใน 5 ข้อ คือ ล้างมือ ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ไม่รวมกลุ่มให้เกิดความแออัด และทานอาหารสุกใหม่เสมอ ซึ่งผู้ประกอบการต้องไปออกมาตรการในรายละเอียดให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว โดยเฉพาะมาตรการการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากาก และการล้างมือ ส่วนการเข้าไปกำกับติดตามของเจ้าหน้าที่เพื่อกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักการเท่านั้น เพราะฉะนั้นผู้ให้บริการและผู้รับการจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
“ส่วนรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า ได้ขอความร่วมมือทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ ให้ปฏิบัติตามหลักควบคุมโรค ด้วยการเว้นระยะห่างและสวมหน้ากากอนามัยเสมอ โดยย้ำว่าเมื่อมีมาตรการผ่อนปรนก็จะมาพร้อมกับความเสี่ยง ดังนั้นเมื่อออกจากบ้านก็มีความเสี่ยง จึงต้องขอความร่วมมือในการปกป้องตนเองและปกป้องผู้อื่นด้วย”
นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ ตอบคำถามกรณีการจัดการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 4 ลำปาง ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในการใช้สถานที่ต่างๆ เป็นหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะมีการผ่อนคลายให้มีการรวมกลุ่มและผ่อนผันขอเกินเวลาเคอร์ฟิวได้ เนื่องจากต้องมีการปิดหีบและนับคะแนน รวมถึงผ่อนปรนให้สามารถเดินทางข้ามจังหวัดไปเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ยืนยันการเปิดสอบนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ยังดำเนินการต่อไป โดยจะเปิดสอบในวันที่ 6-7 มิถุนายน 2563