ThaiPublica > คนในข่าว > “มาร์คุส ชไตเลอมันน์” ซีอีโอ Covestro ผู้ผลิตพอลิเมอร์เบอร์หนึ่งโลก ชูCircular Economy ผ่าน พลาสติก-CO2 -Biomass

“มาร์คุส ชไตเลอมันน์” ซีอีโอ Covestro ผู้ผลิตพอลิเมอร์เบอร์หนึ่งโลก ชูCircular Economy ผ่าน พลาสติก-CO2 -Biomass

28 พฤษภาคม 2020


ที่มาภาพ: https://www.covestro.com/press/en/

โลกกำลังประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งประชากรที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทรัพยากรที่มีจำกัดลดลง สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ขณะที่มีการเผาผลาญน้ำมันและก๊าซต่อเนื่อง โลกต้องปรับเปลี่ยนจากการใช้ทรัพยากรเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง เศรษฐกิจหมุนเวียนจึงควรเป็นหลักการชี้แนะระดับโลก เพื่อนำทรัพยากรกลับมาใช้ซ้ำ

เศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ circular economy คือ หนทางการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกในอนาคต เพราะไม่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ คุ้มครองทรัพยากร ทำให้ผู้ประกอบการทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับ circular economy มากขึ้น

บริษัทโคเวสโตร เอจี จากเยอรมนี เป็นผู้ผลิตวัสดุพอลิเมอร์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงชั้นนำระดับโลก และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ประกาศความมุ่งมั่นในปลายปีที่แล้วว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจจาก disposable economy ที่เน้นเฉพาะการผลิต การบริโภค แล้วทิ้ง มาสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ circular economy ที่มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเคมีและพลาสติก รวมทั้งตั้งเป้าเป็นพลังสร้างสรรค์เปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมพลาสติก

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่าน 4 เสาหลัก


ดร.มาร์คุส ชไตเลอมันน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโคเวสโตร ได้แถลงข่าวแนวทางธุรกิจของโคเวสโตรกับการขับเคลื่อนสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งบทบาทของบริษัทและอุตสาหกรรมเคมีในการผลักดันไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านเว็บแคสต์กับสื่อมวลชนทั่วโลกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ซึ่งไทยพับลิก้าเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่ได้รับเชิญให้ร่วมฟังการแถลง

ดร.มาร์คุสแนะนำตัวเองสั้นๆ ก่อนเริ่มการแถลงว่า มีประสบการณ์ทำงานด้านเคมี ชื่นชอบนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และเชื่อว่าทุกคนที่ได้ร่วมการแถลงข่าววันนี้มีความสนใจเหมือนกัน คือ การสร้างอนาคตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง นอกเหนือจากสถานการณ์โลกที่กำลังประสบกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ดร.มาร์คุสกล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนคือองค์ประกอบสำคัญแห่งความยั่งยืนของอนาคต พลาสติกก็สามารถมีส่วนส่งเสริมความยั่งยืนของโลกได้ และบริษัทมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

ดร.มาร์คุสกล่าวว่า โลกกำลังประสบกับความท้าทายหลายด้าน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรมีจำกัด มนุษย์ไม่สามารถดำเนินชีวิตในวิถีเดิมได้อีกต่อไป ต้องมีการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิดใหม่ ซึ่งแนวทางหนึ่งคือ นำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้เป็นหลักการชี้แนะระดับโลก เพื่อให้สภาพภูมิอากาศของโลกมีความเป็นกลางและโลกมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง

“circular economy จะนำโลกทั้งใบไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน และควรเป็นหลักการชี้แนะของโลก เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางของสภาพภูมิอากาศ และการคุ้มครองทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดของโลก” ดร.มาร์คุสกล่าวและว่า ต้องเลิกการผลิต การบริโภคในทิศทางเดียว เพราะเป็นการนำไปสู่ทางตัน ต้องมีการใช้ซ้ำ และหากมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนก็ต้องนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นโอกาสแห่งการสร้างมูลค่าใหม่แนวทางใหม่อย่างยั่งยืน

ดร.มาร์คุสกล่าวว่า โคเวสโตรจะก้าวสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนเต็มรูปแบบ เศรษฐกิจหมุนเวียนคือวิสัยทัศน์ระยะยาวของบริษัท โดยจะปลูกฝังเศรษฐกิจหมุนเวียนทั่วทั้งองค์กร เป็นพลังของการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน และมีส่วนในการสร้างเศรษฐกิจที่ภาวะเรือนกระจกมีความเป็นกลาง

ในปี 2019 บริษัทโคเวสโตรได้เปิดตัวยุทธศาสตร์หลักเพื่อนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ในทุกส่วนของบริษัทแบบองค์รวม และขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วภายใต้วัตถุประสงค์ที่เป็นรูปธรรมและสามารถวัดผลได้ โดยเน้นไปใน 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย

1. ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบทางเลือก (Alternative raw materials) เช่น ชีวมวล คาร์บอนไดออกไซด์ และวัสดุที่หมดอายุการใช้งานรวมทั้งขยะที่จะมาแทนที่วัตถุดิบฟอสซิล เช่น น้ำมันและคาร์บอน ที่นำมาใช้แบบหมุนเวียน
2. นวัตกรรรมการรีไซเคิล (Innovative recycling) เทคโนโลยีใหม่ที่ประหยัดพลังงานจะช่วยให้การรีไซเคิลวัสดุและขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งาน
3. พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) เศรษฐกิจหมุนเวียนจะยั่งยืนได้ หากมีแหล่งพลังงานทางเลือก
4. ความร่วมมือ (Joint solutions) เพื่อก้าวหน้าไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โคเวสโตรได้แสวงหาความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วน

แต่การดำเนินการนี้จะทำไปทีละก้าว เพราะทุกส่วนไม่ได้มีความพร้อมเท่ากัน

C02-พลาสติก-Biomass วัตถุดิบทางเลือกที่มีค่า

ระหว่างการแถลงข่าวได้มีการนำเสนอวีดีโอเพื่ออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุดิบทางเลือก ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ ชีวมวล รวมไปถึงพลาสติกที่ใช้แล้วนำกลับมาเป็นวัตถุดิบได้ใหม่ โดยวัตถุดิบที่ผลิตจากชีวมวลปัจจุบันได้นำไปผลิตสีพ่นเฟอร์นิเจอร์ในรถยนต์ ส่วนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาก็นำมาเป็นวัตถุดิบได้ เนื่องจากมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ สามารถนำมาผลิตเป็นพลาสติกได้

ดร.มาร์คุสกล่าวว่า อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังพึ่งพาวัตถุดิบจากฟอสซิลเป็นหลัก ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยควรเลิกใช้วัตถุดิบจากฟอสซิล เพราะจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และจะช่วยคุ้มครองสภาพภูมิอากาศ แต่การที่บรรลุเป้าหมายนั้นได้ ต้องมีการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม อย่างไรก็ตาม พลาสติกยังผลิตจากน้ำมันดิบเป็นหลัก แต่ละปีการใช้พลาสติกมีสัดส่วน 6-8% ของการบริโภคทั้งโลก ดังนั้นจึงต้องปรับไปหาแหล่งคาร์บอนอื่นๆ เป็นการเร่งด่วน เช่น ชีวมวล คาร์บอนไดออกไซด์ที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ

“โคเวสโตรจะเพิ่มการใช้วัตถุดิบจากแหล่งเหล่านี้เพื่อตัดวงจรคาร์บอน เลิกใช้วัตถุดิบจากฟอสซิล ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน” ดร.มาร์คุสกล่าว

ทางด้านศาตราจารย์โวลเกอร์ ซิค ผู้อำนวยการของ Global CO2 Initiative จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนซึ่งได้เข้าร่วมการแถลงข่าวช่วงหนึ่งได้ตอบคำถามถึงความสำคัญของวัตถุดิบทางเลือก โดยกล่าวว่า โลกต้องมีการตระหนักถึงทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ขณะเดียวกันวิธีการจัดการกับขยะก็มีการพัฒนามากกว่าเดิม จึงต้องมีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการใช้วัตถุดิบทางเลือก

ศาตราจารย์ โวลเกอร์ ซิค ผู้อำนวยการของ Global CO2 Initiative จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

ดร.มาร์คุสได้กล่าวว่า โคเวสโตรได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อดักจับคาร์บอน ส่งผลให้ปัจจุบันคาร์บอนไดออกไซด์มีสัดส่วนในการผลิตพลาสติกของบริษัทถึง 20% และจากการวิจัยและพัฒนา ทำให้ขณะนี้มีการผลิตพลาสติกจากคาร์บอนที่โรงงานของบริษัทที่จัดสร้างขึ้นเป็นพิเศษที่เยอรมนี

ปัจจุบันมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์จากคาร์บอนจำนวนมากในตลาด ปัจจุบันพลาสติกที่ผลิตจากคาร์บอนไปนำไปผลิตต่อเป็นฟูก พื้นสนามกีฬา สิ่งทอ เส้นใยสิ่งทอ ขณะเดียวกันยังมีผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตจากคาร์บอนออกมาอีกมา เช่น อาคาร ระบบทำความเย็น รถยนต์

โคเวสโตรยังได้ร่วมมือกับพันธมิตร 14 รายจาก 8 ประเทศในโครงการ Carbon4PUR มีเป้าหมายที่จะนำคาร์บอนจากก๊าซที่ปล่อยออกมาจากโรงถลุงเหล็กกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบ

นอกจากนี้โคเวสโตรได้เพิ่มการใช้ชีวมวลในการผลิตพลาสติก ปัจจุบันส่วนประกอบของสารเคลือบสีเฟอร์นิเจอร์รถยนต์สัดส่วน 70% มาจากคาร์บอนที่ได้จากพืช รวมทั้งจากการทุ่มเทการวิจัยก็ประสบความสำเร็จในการผลิตสารเคมีอนิลีนจากพืช อนิลีนเป็นสารตั้งต้นสำคัญในอุตสาหกรรมเคมี ที่ปัจจุบันผลิตได้จากวัตถุดิบฟอสซิลเพียงอย่างเดียว

“ความสำเร็จนี้อาจจะสร้างมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรมพลาสติก” ดร.มาร์คุสกล่าว

พลาสติกมีค่าเกินกว่าทิ้งเป็นขยะ

ทางด้านพลาสติก ดร.มาร์คุสกล่าวว่า ปัจจุบันเราได้เห็นภาพขยะพลาสติกถูกทิ้งเกลื่อนไปหมด รวมทั้งขยะพลาสติกทางทะเล เนื่องจากมีการจัดการกับขยะไม่ถูกวิธี ขณะที่การจัดการกับขยะสามารถทำได้หลายวิธี ดังนั้นธุรกิจเคมีจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับขยะ

“พลาสติกมีค่าเกินกว่าที่จะทิ้งเสียเปล่า เพราะวัสดุที่หมดอายุใช้งานและพลาสติกเป็นวัตถุดิบที่มีคุณค่า เนื่องจากเป็นแหล่งสำคัญของโมเลกุล ต้องนำกลับมาใช้ซ้ำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” ดร.มาร์คุสกล่าว

ปัจจุบันคนเราทิ้งขยะในปริมาณมหาศาล และมีการจัดการกับขยะที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พลาสติกที่ใช้งานแล้วมักทิ้งเป็นขยะ ทั้งๆ ที่เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอนาคต แต่ต้องมีการพัฒนาและขยายรีไซเคิลให้กว้างขึ้น เพื่อนำกลับมาอยู่ในระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง

โคเวสโตรจึงได้เข้ามาร่วมเพื่อพัฒนาการรีไซเคิลให้ดีขึ้นผ่านการวิจัย โดยแนวทางหนึ่งที่ดำเนินการคือ นำพลาติกมาหลอมละลายใหม่เพื่อให้ได้โมเลกุล และนำโมเลกุลนั้นมาผลิตเป็นพลาสติกใหม่

“โคเวสโตรส่งเสริมการรีไซเคิลพลาสติก ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ในท้ายที่สุดโคเวสโตรไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตและผู้ให้บริการโซลูชันเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้สร้างนวัตกรรมรีไซเคิลอีกด้วย” ดร.มาร์คุสกล่าว

แต่เพื่อให้กลไกตลาดรีไซเคิลสร้างประโยชน์อย่างเต็มที่ ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ต้องมีการปรับปรุงระบบการแยกขยะ การเก็บขยะ และการคัดขยะให้ถูกต้อง

ดร.มาร์คุสกล่าวว่า โคเวสโตรได้ทำการวิจัยกว่า 20 โครงการเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่มีประสิทธิภาพและวิธีการรีไซเคิล ตัวอย่างคือ การรีไซเคิลโฟมโพลียูรีเทน (สารเคมีโพลียูริเทนชนิดหนึ่งที่มีลักษณะของเนื้อพอลิเมอร์ไม่แน่น ใช้ทำฉนวนกันความร้อน) ผ่านโครงการ PURESmart ที่มีเป่าหมายรีไซเคิลโพลียูรีเทนที่ใช้งานแล้วให้ได้ 90%

ปรับใช้พลังงานหมุนเวียน

ดร.มาร์คุสกล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้วัตถุดิบทางเลือกต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการใช้พลังงานสีเขียว โคเวสโตรจึงได้ปรับเปลี่ยนโรงงานทั่วโลกให้มาใช้พลังงานทางเลือก เพื่อให้สามารถผลิตพลาสติกด้วยวัตถุดิบทางเลือกจากพลังงานหมุนเวียนได้

โรงงานในเยอรมนีจะทยอยปรับการผลิตไปในทิศทางนี้ โดยในปี 2025 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญก้าวแรก บริษัทจะซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนหนึ่งที่ผลิตโดยพลังงานลมในทะเลเหนือจากบริษัท Orsted ของเดนมาร์ก รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมการผลิต และการใช้ AI ที่ใช้ไฟฟ้าลดลง 25% ในการผลิตคลอรีน

ดร.มาร์คุสกล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านนี้ ต้องมีการกำหนดกรอบพลังงานที่ชัดเจน เพื่อให้การผลิตมีความยั่งยืน เช่น โครงข่ายไฟฟ้า และโคเวสโตรพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาล ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 เสาหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัท

Circular Economy คือ ข้อได้เปรียบในการแข่งขัน

ดร.มาร์คุสกล่าวว่า การขับเคลื่อนธุรกิจบนแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนถือว่าเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะเป็นการสร้างความยั่งยืน เนื่องจากได้หันมาใช้วัตถุดิบทางเลือกแทนวัตถุดิบที่มีแต่จะหมดไป ส่งผลให้บริษัทเป็นผู้ผลิตที่คู่ค้าและลูกค้าเลือก จึงกลายเป็นข้อได้เปรียบ และเชื่อว่าบริษัทเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

สำหรับการส่งเสริมให้ผู้บริโภค บริษัทอื่น รัฐบาล และผู้มีส่วนได้เสีย หันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ดร.มาร์คุสกล่าวว่า การแถลงข่าวในวันนี้เป็นการประกาศการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ ซึ่งรับรู้กันอย่างกว้างขวางทั้งผ่านสื่อหลักและสื่อโซเชียล ว่าบริษัทมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทกับการผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งในที่สุดก็จะเกิดความเคลื่อนไหว

สำหรับบทบาทของธุรกิจเคมีในการจัดการกับขยะ ดร.มาร์คุสกล่าวว่า ขยะต้องมีการจัดการในหลายวิธี ปัจจุบันการจัดการกับขยะจำนวนมากยังไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ธุรกิจเคมีซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นผลิตภัณฑ์ก็จะมีบทบาทสำคัญในอนาคต เพราะเปลี่ยนวัตถุดิบประเภทหนึ่งไปเป็นวัตถุดิบอีกประเภทหนึ่ง

บริษัทโคเวสโตร เอจี เป็นผู้ผลิตพอลิเมอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อสร้าง ไม้แปรรูปและเฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีโรงงานใน 30 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานรวม 17,000 คน ในปี 2019 มียอดขาย 12.4 พันล้านยูโร