เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 เอสซีจี จัดงาน “SD Symposium 2018” ภายใต้แนวคิด “Circular Economy : The Future We Create” เป็นครั้งที่ 5 เพื่อให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเด็นต่างๆ โดยมีองค์กรชั้นนำระดับโลก ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ผู้ประกอบการ SME สตาร์ทอัป ชุมชน ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและต้นแบบความสำเร็จเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค จนถึงการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบ สู่การเติบโตอย่างสมดุลของธุรกิจ คุณภาพชีวิต และอนาคตโลกที่ยั่งยืน
ในช่วงบ่ายมีเสวนาในหัวข้อ “Circular Waste Value Chain” โดยวิทยากรนายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัด กทม., นายสินชัย เทียนศิริ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE), นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President-Polyolefins and Vinyl Business เอสซีจี เคมิคอลส์, นายเพชร มโนปวิตร อดีตรองหัวหน้ากลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ IUCN
ปัจจุบันปัญหาขยะเป็นภัยคุกคามระดับโลก เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่เรื่องขยะมักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นระยะๆ โดยรัฐบาล คสช. ได้ประกาศให้เรื่องขยะเป็นวาระแห่งชาติ และพยายามขับเคลื่อนในภาพรวมหลายเรื่อง แต่ยังมีขยะที่ไม่สามารถจัดการได้จำนวนมหาศาล ทุกวันนี้คนไทยผลิตขยะเฉลี่ย 1.14 กิโลกรัมต่อวันต่อคน ส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตปัญหาขยะมากถึง 27.6 ล้านตัน
เริ่มด้วยนายธนา ยันตรโกวิท รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกล่าวว่า ปัจจุบันองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น 7,851 แห่ง มีหน้าที่จัดการขยะโดยตรง ซึ่งแต่ละแห่งมีศักยภาพต่างกัน มีรายได้แต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน และในจำนวนนี้มี 3 พันกว่าแห่งไม่มีรถเก็บขยะ ทำให้จากอดีตถึงปัจจุบันประเทศไทยมีกองขยะ 2,810 แห่ง แต่บริหารจัดการขยะที่ดีได้เพียง 300 กว่าแห่ง
ทั้งนี้ในปี 2560 ที่ผ่านมา รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผนปฏิบัติการลดขยะ 1 ปี เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ปฏิบัติทำงานได้ ผลปรากฏว่าลดขยะทั่วประเทศได้ 5.7% แยกขยะอันตรายออกจากขยะปกติได้ 70% มีหมู่บ้านและชุมชนต้นแบบจัดการขยะด้วยตัวเองได้ 47% และในปีนี้ก็ยังทำต่อเนื่อง
นายธนากล่าวว่า ได้ให้ความสำคัญกับต้นทางวงจรขยะมากที่สุด โดยเรื่องสำคัญคือกระบวนการ 3R คือ Reduce, Reuse, Recycle หรือ “ใช้น้อย ใช้ซ้ำ ใช้ใหม่” โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเชื่อมโยงกับชาวบ้านในพื้นที่คัดแยกขยะ เพื่อให้เกิดกลไกไปจนถึงปลายทางในการรีไซเคิล
นอกจากนี้ยังจัดทำโครงการ From Bin to Bag และ Fast Track to zero Waste หรือ “ลดถังมาเป็นถุง” โดยเชื่อมโยงการคัดแยกและกำหนดวันจัดเก็บขยะ ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักดันและแนวปฏิบัติผ่านพระราชบัญญัติรักษาความสะอาด พ.ศ. 2560 ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย
ขณะเดียวกัน ยังมีการจัดกลุ่มเพื่อการจัดการขยะทั่วทุกจังหวัดจำนวน 324 กลุ่ม โดยมีกลุ่มที่มีศักยภาพในการนำขยะไปทำพลังงาน RDF หรือพลังงานป้อนโรงไฟฟ้าได้ประมาณ 60 กว่ากลุ่ม นอกจากนั้นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการจัดการขยะพลาสติกขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการพลาสติก และโยงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่นเดียวกับภารกิจนำทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ออกจากถ้ำ
ไทยแก้ปัญหาขยะเป็นชิ้นๆ ขาดฐานข้อมูลที่ดี
นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่าปัจจุบัน กทม. จัดการขยะด้วยวิธีการฝังกลบเป็นหลัก โดยพบขยะประเภทเศษอาหารมากที่สุดถึง 50% ซึ่ง กทม. พยายามจัดการขยะให้เชื่อมโยงกับแนวคิด Circular Waste Value Chain โดยพยายามจะลดขยะอาหารที่ต้นทางด้วยการส่งเสริมให้ประชาชน โรงเรียน สถานที่ราชการ ฯลฯ นำไปหมักทำเป็นปุ๋ย รวมถึงส่งเสริมการแยกขยะ การรีไซเคิล ผ่านหลัก 3R โดยร่วมรณรงค์กับหลายหน่วยงาน
อย่างไรก็ตาม หากทุกคนลดขยะจากต้นกำเนิดได้จะดีมากทั้งจากฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภค เพราะจะเป็นการสร้างวินัยให้กับคนและสังคมต่อไป เพราะ Circular Waste Value Chain จะเกิดประโยชน์จริงๆ ก็ต่อเมื่อเกิดจากตัวของเราซึ่งเป็นผู้ผลิตขยะในจุดเริ่มต้น
“เมืองไทยมองอะไรไม่เป็นระบบ แก้ปัญหาเป็นชิ้นๆ หน่วยงานรับผิดในการทำงานไม่ค่อยบูรณาการ ดังนั้น เมื่อขยะถูกกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ถือเป็นโอกาสดีที่จะต้องทำงานบูรณาการได้แล้ว เช่นเดียวกับการสร้าง circular economy ที่ทุกภาคส่วนจะต้องมีบทบาทร่วมกันอย่างมากตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค” นางสุวรรณากล่าว
นางสุวรรณาชี้ว่า การแก้ปัญหาขยะในเมืองไทยยังทำได้แค่ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมืองไทยยังขาดฐานข้อมูลที่ดี ดังนั้น การมีฐานข้อมูลที่ดีจะทำให้การกำหนดเป้าหมายได้ชัดเจน และจะได้ความร่วมมือ รวมทั้งระบบการทำงานอย่างบูรณาการในหลายด้าน
“Closed Loop Packaging” กำจัดขยะ ไม่ใช่แค่การทำลาย
นายสินชัย เทียนศิริ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TIPMSE) กล่าวว่า การดำเนินงานของสถาบันฯ เน้นความร่วมมือของ 5 ภาคส่วน ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ผู้แยกขยะ/รับซื้อของเก่า และโรงงานรีไซเคิล โดยมีกระบวนการ Education, Promotion และ Connection เพื่อเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเป็นวัตถุดิบ รวมถึงสร้างวงจรที่เรียกว่า Closed Loop Packaging (CLP) เพื่อให้การกำจัดไม่ใช่แค่การทำลาย แต่คือการแก้ปัญหาขยะ โดยทำให้ได้ผลตอบแทนที่ครบวงจร
“หากการกำจัดทุกการกำจัดเกิดรายได้ขึ้นโดยไม่ต้องคุ้มกับการลงทุน มันคือ benefit ไม่ใช่ return on investment อย่าไปคิดว่าการจัดการขยะเป็นธุรกิจ แต่การจัดการขยะคือการแก้ปัญหา แล้วผลของการแก้ปัญหานั้นได้ผลตอบแทนมา นี่คือการ Closed Loop ที่ผมคิดว่าครบวงจรมากที่สุด” นายสินชัย กล่าว
ทั้งนี้ ได้ขยายแนวคิดเรื่อง CLP สู่สังคมวงกว้าง ทำครบทุกมิติผ่านกลไกทางเศรษฐศาสตร์ (economy of scale) เช่น การทำศูนย์รับของเก่าที่ไม่ใช้งานแล้ว โดยเสนอเป็นรูปแบบการทำธุรกิจแบบใหม่ในเชิงอุตสาหกรรม เริ่มจากการสำรวจรวบรวมข้อมูลปริมาณขยะ และชักชวนสตาร์ทอัปมาคิดแอปพลิเคชัน โดยให้ผู้สูงอายุมาร่วมดำเนินการในลักษณะกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ซึ่งได้เริ่มทำแล้วที่จังหวัดลพบุรี และนนทบุรี และกำลังขยายแนวคิดนี้สู่ชุมชน
สร้างผลิตภัณฑ์ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม
นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President-Polyolefins and Vinyl Business เอสซีจี เคมิคอลส์ บอกว่าเศษขยะมีมูลค่า โดยเฉพาะขยะพลาสติกซึ่งบางส่วนมีมูลค่ามาก หากมีกระบวนการจัดการที่ดี ซึ่งบริษัทฯ ได้พยายามค้นหาเทคโนโลยีในการนำ single-use plastic กลับมาใช้หรือรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด อีกทั้งได้พัฒนาสินค้าพลาสติกที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้เกือบทั้งหมด
นอกจากนี้ยังได้พยายามผลิตพลาสติกที่ไม่ได้เป็น single-use ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องใช้อยู่ แต่จะทำอย่างไรที่จะผลิตให้มีลักษณะแข็งแรง เบา และเหนียว เพื่อทดแทนวัสดุธรรมชาติ ที่สำคัญคือต้องสอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศและเทคโนโลยีด้านต่างๆ
“เอสซีจีพยายามผสมผสานโดยออกผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นั้นให้แข็งแรงและดีขึ้นต่อไป” นายศักดิ์ชัยกล่าว
เปลี่ยนระบบ รีดีไซน์ จัดการขยะพลาสติกทั้งระบบ
นายเพชร มโนปวิตร อดีตรองหัวหน้ากลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) กล่าวว่า คอนเซปต์เรื่อง circular economy ค่อนข้างตรงกับแนวทางการจัดการขยะ คือแก้ปัญหาโดยหันกลับไปมองธรรมชาติ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือคนไม่ได้มองว่าปลายทางของขยะไปตกอยู่ที่ไหน
ยกตัวอย่างขยะพลาสติก เมื่อทิ้งลงถังขยะไปแล้วก็คิดกันว่าจัดการขยะจบแล้ว แต่ปรากฏว่ายังมีผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริงจากขยะพลาสติกจำนวนมากที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ปัญหาการเสียชีวิตของวาฬทำให้สังคมเกิดจิตสำนึกและคำถามว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ทั้งที่รณรงค์กันมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ยังเจอปัญหาเหล่านี้อยู่ดี
ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ IUCN เรื่อง micro plastic พบว่าแหล่งสำคัญของ micro plastic ที่สำคัญคือใยสังเคราะห์จากเสื้อผ้า ยางรถยนต์ ซึ่งต้องแก้ไขด้วยนวัตกรรม เช่น การผลิตเครื่องกรองดักใยสังเคราะห์เอาไว้ในเครื่องซักผ้า หรือการผลิตยางรถยนต์รุ่นใหม่เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
กระนั้นก็ตาม micro plastic เป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งซึ่งก็คือน้ำมัน petroleum based หากสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้จะเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้เกิดความยั่งยืน แต่ครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาในปัจจุบันยังเป็น single-use ใช้แล้วทิ้ง จนกลายเป็นวาระของโลกว่าจะต้องลดการใช้พลาสติกที่ไม่สามารถใช้ซ้ำได้ โดยหวังว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีมาจัดการ
นายเพชรเผยว่า ปัจจุบันอัตราการเติบโตของการผลิตพลาสติกโตควบคู่กับอัตราการบริโภค โดยมีงานวิจัยประเมินว่ามีการผลิตพลาสติกขึ้นมาแล้วกว่า 8 พันล้านตัน ซึ่งเกือบทั้งหมดยังไม่ย่อยสลาย แม้จะทำการรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ก็ทำได้ไม่ถึง 10%
นอกจากนี้ องค์กรระดับโลกยังมีความกังวลว่าขยะพลาสติกตกลงไปสู่ทะเลได้อย่างไร ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาภัยพิบัติ น้ำท่วม รวมทั้งการจัดการขยะในปัจจุบันที่ยังเน้นการเทกองและการฝังกลบที่ไม่ได้มีการจัดการอย่างถูกต้อง ส่งผลให้พลาสติกหลุดรอดสู่แหล่งน้ำ
นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า ปัจจุบันมีสิ่งมีชีวิตในทะเลกว่า 700 ชนิดได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกในทะเล ตั้งแต่วาฬ โลมา เต่าทะเล ที่เมื่อผ่าท้องออกมาแล้วเต็มไปด้วยขยะ รวมทั้งยังมีฉลามวาฬ หรือวาฬโลมา กินอาหารที่ได้รับผลกระทบจาก micro plastic อย่างรุนแรงเช่นกัน
หรือแม้แต่ปะการัง ที่มีงานวิจัยพบว่าขยะพลาสติกมีผลโดยตรงต่อสุขภาพของปะการัง ทำให้เกิดโรคของปะการังมากขึ้นถึง 4 เท่า หรือบางส่วนที่มีเศษพลาสติกไปติดค้างอยู่ทำให้โรคของปะการังเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า เป็นการชี้ให้เห็นว่าผลกระทบเริ่มกว้างไกลกว่าที่เราเห็น
ไม่นับรวมผลกระทบไปสู่ห่วงโซ่อาหารที่คนรับประทาน และยังเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยสหประชาติประเมินว่าขยะพลาสติกทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างน้อย 13,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากการที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์
“เพราะฉะนั้นอาจจะต้องมีการลงทุน เปลี่ยนระบบ เปลี่ยนรีดีไซน์ใหม่ ในเรื่องการจัดการขยะพลาสติกทั้งระบบ และยังเป็นการลดต้นทุนในการจัดการในอนาคตด้วย ที่สำคัญการแก้ไขปัญหาขยะยังตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายที่ 12 ที่กล่าวถึงการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน รวมไปถึงเป้าหมายอื่นๆ เช่นเรื่องการอนุรักษ์ทะเล เรื่องความร่วมมือ เรื่องความยั่งยืนของเมือง ซึ่งจะเสริมกันทั้งหมด”
“ผลกระทบในเรื่องการขัดการขยะทั้งในส่วนที่ย่อยสลายได้และไม่ย่อยสลาย มันเกี่ยวข้องกับทุกคน และผมคิดว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเองก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ จะต้องมีการเปลี่ยน และอาจจะต้องมีมาตรการกลไกทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาเสริมให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างจิตสำนึกสาธารณะร่วม โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่มองว่าขยะเป็นเรื่องของภาครัฐอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมระดับครัวเรือนด้วย” นายเพชรกล่าว