เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับเครือข่ายผู้ประกอบการ 80 ราย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ด้วย Innovation และ New Business Model ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนเทคโนโลยีรีไซเคิล กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
นายสมชาย กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ถือเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการเปลี่ยนขยะหรือของเสียที่ถูกมองว่าเป็นปัญหา ให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบทดแทน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ หรือ “Waste to Resource” ตามแนวคิด Circular Economy ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลที่เป็นเทคโนโลยีต้นแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการพิสูจน์ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีแล้ว รวม 49 ชนิด ทั้งนี้ กพร. ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสียไม่น้อยกว่า 8 ชนิดต่อปี เพื่อแก้ปัญหาขยะของประเทศ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าในปีนี้จะสามารถนำโลหะมีค่าจากขยะหรือของเสียกลับมาใช้ใหม่ คิดเป็นมูลค่า 260 ล้านบาท ส่วนในปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มเป็น 300 ล้านบาท
นายสมชายกล่าวต่อว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ถือเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center: ITC) ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิล และนวัตกรรมวัตถุดิบของกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ในส่วนของภาคเอกชน ยังมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสียอีกหลายชนิด ซึ่งหากกระทรวงอุตสาหกรรมและเครือข่ายผู้ประกอบการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน และปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎระเบียบที่เป็นปัญหาและอุปสรรคจะสามารถสร้างผู้ประกอบการใหม่ (startup) และยกระดับผู้ประกอบการ (level-up) เดิม เพื่อขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ในวงกว้าง ร่วมกันเปลี่ยนขยะ หรือของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ อีกทั้งยังช่วยลดการเกิดขยะ ปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ Circular Economy ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า การประชุมหารือในวันนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเครือข่ายผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ประกอบการรวบรวมคัดแยกของเสีย ผู้ประกอบการรีไซเคิล ผู้ประกอบการกำจัดบำบัดของเสีย ไปจนถึงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการนำของเสียไปใช้ประโยชน์ การหารือในวันนี้ สามารถระดมความเห็นแนวทางการผลักดันสู่ Circular Economy ด้วย Innovation และ News Business Model ได้หลายแนวทาง ซึ่งจะก่อให้เกิดรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ (startup) และการยกระดับผู้ประกอบการ (level-up) เช่น การให้บริการ waste pre-treatment ที่แหล่งกำเนิดของเสีย เพื่อให้ง่ายต่อกระบวนการรีไซเคิลในขั้นตอนต่อไป การให้บริการเช่า เช่น สารเคมีแทนการขายขาด โดยบริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย เป็นผู้รับสารเคมีที่เหลือใช้ และภาชนะที่บรรจุไปรียูสหรือรีไซเคิล หรือจัดการตามหลักวิชาการต่อไป หรือการให้บริการเช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตหรือรีไซเคิล ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรร่วมกัน การออกแบบหรือปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมถึงกระบวนการบำบัดของเสีย เพื่อเอื้อต่อการนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด การนำของเสียที่มีศักยภาพสูงในการรีไซเคิล เช่น โลหะมีค่า ที่อยู่ในหลุมฝังกลบที่มีอยู่เดิมกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เป็นต้น
“ขณะนี้มีผู้ประกอบการ 3 รายให้ความสนใจเทคโนโลยีรีไซเคิล กากตะกอนอะลูมิเนียม เพื่อนำกลับมาหลอมเป็นอะลูมิเนียมใหม่อีกครั้ง สำหรับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่สนใจเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสีย สามารถมาติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของ กพร. อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ หรือโทรศัพท์ 0 2202 3897 ขณะนี้พร้อมให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมแล้ว คิดค่าบริการไม่แพง” นายวิษณุกล่าวทิ้งท้าย