ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Upcycling the Ocean วิถีความยั่งยืนของธุรกิจแฟชั่น

Upcycling the Ocean วิถีความยั่งยืนของธุรกิจแฟชั่น

24 สิงหาคม 2018


ที่มาภาพ: https://ecoalf.com/upcycling-the-oceans/spain/

เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) แนวคิดใหม่ของระบบเศรษฐกิจโลกที่ปรับรูปแบบธุรกิจจากการ “ผลิต ใช้แล้วทิ้ง” มาเป็น “การนำกลับมาใช้ใหม่ กลับมาผลิตใหม่ ให้เป็นของใหม่” บนพื้นฐานออกแบบใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาและเพิ่มการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

ก่อนที่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจะมีการรับรู้และนำไปขับเคลื่อนในวงกว้าง การรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกยึดแนวปฏิบัติ 4 ด้าน คือ reduce ลดการใช้ repair ซ่อมแซมเพื่อยืดอายุการใช้งาน reuse นำกลับมาใช้ใหม่ recycle แปรรูปวัสดุที่ถือว่าเป็นของเสีย เพื่อให้กลับมาเป็นวัสดุใหม่

แต่ในทศวรรษนี้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนถูกตอกย้ำและแพร่หลาย มีการขับเคลื่อนจริงจังมากขึ้น แนวทางใหม่ที่จะนำทรัพยากรที่ใช้แล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ให้เป็นวัสดุใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ก็เกิดขึ้น คือ upcycling หรือการแปลงวัสดุที่มีมูลค่าให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

Upcycling ในโลกแฟชั่น

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาวงการแฟชั่นให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่การที่จะทำให้แฟชั่นอยู่ได้ในระยะยาวทั้งด้านการเงิน ด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมนั้น มีสิ่งที่ต้องทำอีกมากมาย

ในปี 2017 ได้มีการจัดทำผลการศึกษา เรื่อง The Pulse of the Fashion Industry โดย Global Fashion Agenda ร่วมกับ Boston Consulting Group บนพื้นฐานที่ว่า ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และจริยธรรม ที่วงการแฟชั่นกำลังเผชิญไม่ใช่อุปสรรค แต่เป็นโอกาสที่จะสร้างมูลค่ามหาศาล

จากการประเมินการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมผลการศึกษาพบว่าคะแนน (Pulse Score) ของธุรกิจแฟชั่นเพิ่มขึ้นจาก 32 คะแนน เป็น 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งแสดงว่า ธุรกิจให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น ขณะที่ผลสำรวจผู้บริหารในสัดส่วน 52% ยอมรับว่า ได้ยึดสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลักการในเกือบทุกการตัดสินใจทางธุรกิจ

การแปรรูปขยะของธุรกิจแฟชั่น ส่งผลให้การผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงปี 2000-2014

สำหรับเซกเมนต์ที่มีความคืบหน้าด้านการปฏิบัติด้วยความรับผิดชอบมากที่สุดคือเซกเมนต์ราคาระดับกลาง Pulse Score เพิ่มขึ้นมา 10 คะแนน และเซกเมนต์นี้มีสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของธุรกิจทั้งหมด จึงนับว่าโดยรวมแล้วธุรกิจแฟชั่นมีความก้าวหน้า

ผลการศึกษาประเมินว่า หากธุรกิจแฟชั่นอยู่บนเส้นทางความยั่งยืนต่อเนื่อง กำไรก่อนภาษีและดอกเบี้ย (EBIT) จะเพิ่มขึ้นราว 1-2% ในปี 2030 แต่การขับเคลื่อนความยั่งยืนในธุรกิจแฟชั่นให้มีผลต้องอาศัยความร่วมมือทั้งระบบ รวมไปถึงการนำนวัตกรรมใหม่และเทคโนโลยีเข้ามาใช้ รวมทั้งการวางโมเดลธุรกิจเสียใหม่

นวัตกรรม upcycling กำลังเป็นคลื่นลูกใหม่ที่สร้างแฟชั่นที่ยั่งยืน โดยมีการ upcycling ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทั้งวัสดุรีไซเคิลจากเศษขยะประเภทต่างๆ เช่น พลาสติกใช้แล้วทิ้ง มาผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย accessories ต่างๆ และมีการนำวัสดุกลับมาใช้ในการผลิตสินค้าใหม่ (reuse)

แนวโน้มของ upcycling ในแฟชั่นกำลังขยายตัวมากขึ้นด้วยความตระหนักถึงความยั่งยืน เพราะนำวัสดุที่มีอยู่แล้วมาใช้ใหม่ ซึ่งช่วยลดการทิ้งขยะ

ในโลกนี้มีการผลิตเสื้อผ้าเกินความต้องการอยู่มาก จากข้อมูลของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency) ผู้ผลิตหลายรายผลิตมากถึง 500 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งเสื้อผ้าที่ใช้แล้วประมาณ 14.3 ล้านตันถูกฝังกลบในปี 2012 หรือราว 5.7% ของขยะที่เป็นของแข็งในสหรัฐฯ

ในกรณีที่ไม่ได้ทิ้งเป็นขยะ เสื้อผ้าเก่าๆ นั้นจะถูกนำไปบริจาคให้กับประเทศยากจน แม้เป็นแนวทางที่ดีกว่าการนำไปฝังซึ่งสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมจากสารเครมีเนื้อผ้า แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์มากนัก เพราะ 20-30% ของเสื้อผ้าเหล่านี้มีการขายต่อ และมีจำนวนมากขึ้นจนทำให้ราคาขายลดลงต่อเนื่องในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ร้านค้าองค์การกุศลที่รับบริจาคเสื้อผ้าก็ขายไม่ได้มากนัก เสื้อผ้าจึงไปกองอยู่ในโกดัง

เสื้อผ้าจำนวนมากบริจาคในสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งไม่สามารถนำไปขายต่อได้ ได้มีการส่งต่อไปยังประเทศกำลังพัฒนา แต่ด้วยความเจริญทางด้านเทคโนโลยี มีการใช้อินเทอร์เน็ต ทำให้คนมีการรับรู้ข่าวสารด้านแฟชั่นรวดเร็ว เสื้อผ้าเหล่านี้อาจจะไม่เป็นที่ต้องการเพราะไม่ทันสมัย ประกอบกับราคาเสื้อผ้าสำเร็จรูปปัจจุบันไม่สูง การซ่อมเสื้อผ้าไม่ได้รับความนิยมอีกแล้ว เสื้อผ้าเหล่านี้จึงกลายเป็นขยะ

ดังนั้น upcycling จึงเป็นคำตอบ เพราะเป็นการผลิตสินค้าใหม่จากของเดิมที่มีอยู่ ซึ่งทำได้ทั้งวัสดุที่ยังไม่ได้ใช้ (pre-consumer waste) และวัสดุผ่านการใช้แล้ว (post-consumer waste) หรือทั้งสองแบบ โดยวัสดุที่ยังไม่ผ่านการใช้นั้นก็เช่น เศษผ้าที่เกิดจากกระบวนการผลิต เกิดขึ้นระหว่างการตัดเย็บ ส่วนวัสดุที่ผ้า เช่น เสื้อผ้าเก่า

โดยเฉลี่ยแล้ว ในกระบวนการผลิต ผู้ผลิตและดีไซเนอร์ในแฟชั่นกระแสหลักมักจะทิ้งวัสดุเป็นเศษขยะราว 15% ของวัสดุที่นำมาใช้ในทั้งหมด

Upcycling the Ocean

การ upcycling ในปัจจุบันมีทั้งการนำขยะ สินค้าที่ใช้แล้ว มาเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ มีหลายประเทศหลายองค์กร รวมทั้งประชากรโลก ให้ความสำคัญ ซึ่งโครงการ upcycling หนึ่งที่รู้จักกันทั่วโลก คือ Upcycling the Oceans ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2015 ที่สเปน โดยมูลนิธิอีโคอัลฟ์ (Ecoalf)

โครงการ Upcycling the Oceans ยึดหลักการตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมุ่งปฏิวัติกระบวนการผลิตเสื้อผ้า ใน 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก ชาวประมงในพื้นที่เก็บขยะพลาสติกจากท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากนั้นนำเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง กระบวนการเปลี่ยนแปลงให้เป็นสารโพลิเมอร์หรือแปรรูปขยะให้เป็นเม็ดพลาสติก และขั้นตอนที่สาม นำไปผลิตเป็นเส้นใยเพื่อใช้ในการผลิตเป็นเนื้อผ้าสำหรับตัดเย็บเสื้อผ้า

ข้อมูลจากโครงการระบุว่า ในแต่ละปีมีขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเลมากกว่า 8 ล้านตัน และสัดส่วน 60% ของขยะพลาสติกที่มีในโลกมาจากประเทศในเอเชีย ขณะเดียวกันมีการทิ้งเสื้อผ้าราว 26 ล้านลิตรต่อปี การทิ้งขยะลงทะเลมีผลต่อสารเคมีในน้ำทะเล จึงทำลายระบบนิเวศทางทะเล ขณะที่การถมที่ด้วยขยะซึ่งประกอบด้วยขยะเสื้อผ้า ได้ปล่อยสารเคมีที่มีอันตรายต่อสภาพอากาศและพื้นดิน จึงมีผลกระทบด้านลบต่อโลกและสุขภาพของคนในโลก
ฮาเวียร์ โกเยนิเช่ ผู้ก่อตั้งและประธาน Ecoalf ตั้งความหวังไว้มากกับภาระกิจรักษ์โลกโดยกล่าวว่า “โอกาสของโครงการนี้มีมหาศาล เพราะเป็นโครงการที่ผ่านการคิดให้มีรูปแบบที่มีเป้าหมายว่าสามารถนำไปใช้ทั่วโลก”

ฮาเวียร์ โกเยนิเช่ ผู้ก่อตั้งและประธาน Ecoalf ที่มาภาพ: ttps://ecoalf.com/

ในช่วงแรกของโครงการที่สเปน ท่าเทียบเรือประมง 9 แห่งในเมือง Castellón และ Alicante ตกลงที่จะร่วมมือกัน ซึ่งสามารถนำขยะจากทะเลขึ้นมาได้ 60 ตัน ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2016 ได้มี Ecoembes เข้าร่วมโครงการ ส่งผลให้สามารถขยายโครงการไปได้อีกหลายเมือง ปัจจุบันมีท่าเทียบเรือประมง 28 แห่งและเรือลากอวน 441 ลำเข้าร่วมโครงการ แต่ละปีมีการเก็บเศษขยะพลาสติกในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนราว 200 ตัน

แต่ละวันชาวประมงจะนำขยะที่เก็บได้จากท้องทะเลมาไว้ในคอนเทนเนอร์ที่มีขนาด 800 ลิตร ซึ่งทุก 15 วันก็จะนำขยะจากตู้คอนเทนเนอร์มาเข้าโรงงานคัดแยก โดยขวดพลาสติก PET จะนำไปเก็บไว้ ส่วนเศษขยะพลาสติกอื่นจะรีไซเคิลด้วยวิธีการดั้งเดิม

โครงการ Upcycling the Oceans เริ่มต้นมีเป้าหมายชัดเจนที่จะนำขยะพลาสติกในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาเปลี่ยนเป็นเส้นใยคุณภาพในการจะนำมาเป็นวัตถุดิบสำคัญ 100% ในการผลิตเสื้อผ้า และสินค้าเครื่องแต่งตัวอื่น เช่น รองเท้า ที่สเปน และส่งผลให้ ปี 2017 โครงการ Upcycling the Oceans ได้รับรางวัล Beazley Designs of the Year

ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว บีบีซี ฮาเวียร์กล่าวว่า “รางวัลที่ได้รับจะช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนทั่วไปว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นในโลกใบนี้ และเราจะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ว่าจะหยุดยั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้เหตุผล และทำให้โลกนี้มีอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อไป”

ในปี 2560 มูลนิธิ Ecoalf ขยายโครงการ Upcycling the Oceans มาสู่ประเทศไทย ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการดำเนินโครงการ Upcycling the Oceans

โครงการ Upcycling the Oceans, THAILAND เกิดจากความร่วมมือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิ Ecoalf จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้คนในประเทศมีความรับผิดชอบและรับรู้ถึงแนวทางการใช้ชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยในการจัดการปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งและหมู่เกาะที่เกี่ยวเนื่อง ในรูปแบบที่สร้างสรรค์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างภาพลักษณ์ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี

ที่มาภาพ: https://ecoalf.com/upcycling-the-oceans/spain/

Ecoalf ต้นแบบในสเปน

Ecoalf คือ แบรนด์สินค้าแฟชั่นที่นำแนวทางการสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืนมาใช้ ด้วยการนำขยะทางทะเลมาแปรรูปเป็นวัสดุใหม่ เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้า เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า

ฮาเวียร์ โกเยนิเช่ ได้ให้ข้อมูลในเว็บไซต์บริษัทว่า Ecoalf เกิดขึ้นมาในปี 2009 จากความรู้สึกที่เห็นโลกมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติกันแบบสิ้นเปลืองและประเทศอุตสาหกรรมก็ทิ้งขยะจำนวนมหาศาล Ecoalf คือสิ่งที่สะท้อนถึงสิ่งเขาเชื่อว่าเป็นผ้าและเสื้อผ้าสำหรับคนรุ่นต่อไป แบรนด์แฟชั่นหรือไลฟ์สไตล์ที่ผสมผสานเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด เพื่อสร้างเสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวที่มาจากวัสดุรีไซเคิลที่มีคุณภาพ การออกแบบและคุณสมบัติเท่ากับสินค้าที่ไม่ได้ใช้วัสดุรีไซเคิลที่ดีที่สุด และยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นที่เราจะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบไม่ใส่ใจ

ฮาเวียร์ โกเยนิเช่ เริ่มต้นธุรกิจ upcycling เสื้อผ้าด้วยสโลแกนว่า ”เพราะว่าไม่มีโลกใบที่สอง” (“Because there is no planet B”) บริษัทมีเป้าหมายที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุรีไซเคิลรุ่นแรกที่มีคุณภาพ มีการออกแบบและใช้เทคนิค เหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้วัสดุรีไซเคิลที่มีคุณภาพดีที่สุด และนับตั้งแต่เริ่มดำเนินการก็นับประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

สินค้าทุกชิ้นทำมาจากวัสดุรีไซเคิล 100% และวิธีนี้จะช่วยลดขยะเสื้อผ้ารวมทั้งเป็นแหล่งที่ยั่งยืนของการผลิตเสื้อผ้าคุณภาพในอนาคต ไม่ใช่เพียงแค่การผลิตเสื้อผ้าเท่านั้น

ผลิตภัณฑ์ของ Ecoalf ที่มาภาพ:
https://ecoalf.com

วัสดุหรือขยะที่ Ecoalf นำมารีไซเคิลขณะนี้มี 6 ประเภทด้วยกัน ไม่เฉพาะขยะทางทะเลเท่านั้นแต่รวมไปถึงขยะประเภทอื่นๆ ด้วย ได้แก่ ขวดพลาสติก ผ้าฝ้าย แหหรืออวน ยางรถยนต์ กากกาแฟ ผ้าขนสัตว์ และใยสังเคราะห์ของ Primaloft

  • ขวดพลาสติก เพื่อยืดอายุการใช้งานพลาสติกให้นานที่สุด Ecoalf จึงนำขวดพลาสติกมาเข้ากระบวนการหลายขั้นตอนจนได้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ชนิดหยาบ จากนั้นนำมาปั่นเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีที่สุด ก่อนที่จะนำมาผลิตสินค้าตั้งแต่เสื้อผ้า สายรัด หรือสายสะพายกระเป๋า เข็มขัด ฉลาก และอื่นๆ Ecoalf รีไซเคิลขวดพลาสติกไปแล้ว 70 ล้านขวด และการรีไซเคิลขวดพลาสติกลดการใช้น้ำได้ถึง 20% ลดการใช้พลังงาน 50% ลดมลภาวะทางอากาศ 60%
  • ผ้าฝ้าย การรีไซเคิลผ้าฝ้ายช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นการบริหารทรัพยากรธรรมชาติ ขยะ และมลภาวะที่มีประสิทธิภาพ โดยมีกระบวนการนำเศษผ้าฝ้ายจากโรงงาน มาฉีกให้เป็นฝอยแล้วเปลี่ยนให้เป็นสารเหลวซึ่งแตกตัวเป็นโมเลกุลขนาดเล็กก่อนที่ปรับให้เป็นไฟเบอร์ เพื่อนำมาใช้เป็นเส้นใยในการทอผ้า ซึ่งการรีไซเคิลผ้าฝ้ายนี้ประหยัดน้ำได้ 1 ลิตร ลดการใช้ที่ดิน ลดการใช้ทรัพยากร ลดการสร้างมลภาวะ
  • แหหรืออวนที่ไม่ใช้งานแล้วมักจะเกาะตัวกันแน่นตามกระแสน้ำและกระแสลม และย่อยสลายได้ยากเพราะทำมาจากเส้นใยสังเคราะห์ จึงมีผลกระทบปะการังรวมทั้งสัตว์น้ำที่เผลอติดเข้าไป แหจับปลาทำมาจากไนลอนที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ชาวประมงจึงใช้งานได้นาน 4-6 ปีกว่าจะเปลี่ยน กระบวนการรีไซเคิลแหจับปลามีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากเท่ากับการใช้สารเคมี จึงมีผลให้ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลง 27% ลดมลภาวะทางอากาศลง 28% และป้องกันมลภาวะทางทะเลได้ ทั้งนี้ Ecoalf รีไซเคิลแหได้แล้ว 80 ตัน
  • ยางรถยนต์ นวัตกรรมในการรีไซเคิลยางรถยนต์ช่วยให้ Ecoalf พัฒนาสินค้าได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี แม้ว่าโดยปกติแล้วยางรถยนต์รีไซเคิลยากเพราะมีส่วนประกอบทั้งโลหะ สารที่ชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) และผ้า ซึ่งต้องใช้เวลาร่วม 2 ปีกว่าจะแยกส่วนประกอบแต่ละชนิดออกมาได้และผลิตผงยางที่สะอาด จากนั้นอัดผงยางนี้ให้เป็นผืนโดยไม่ใช้กาว การรีไซเคิลยางรถยนต์นี้ทำให้ไม่มีการทิ้งยางรถยนต์อีกต่อไป และ 90% ของยางมีการนำมารีไซเคิลและใช้ใหม่ทุกปี ช่วยให้ประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่ำกว่าพลาสติกบริสุทธ์ถึง 20%
  • ผ้าขนสัตว์รีไซเคิล ทำมาจากเส้นใยขนสัตว์ที่เก็บได้จากผ้าขนสัตว์ทิ้งแล้วหลายประเภท ความยืดหยุ่น ความทนทานและคุณภาพที่สูง ทำให้ผ้าขนสัตว์เป็นวัสดุที่มีคุณค่า การรีไซเคิลผ้าขนสัตว์ลดการใช้น้ำได้ถึง 500 ลิตรต่อเส้นด้าย 1 กิโลกรัม ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลง 11% ต่อเส้นด้าย 1 กิโลกรัม และลดมลภาวะทางอากาศได้ 60%
  • เส้นใยสังเคราะห์ Ecoalf ใช้เส้นใยสังเคราะห์ของ PrimaLoft® Silver Insulation ซึ่งมีส่วนผสมของเส้นใยที่มีขนาดเล็กมากๆ 40% และ 60% มีคุณสมบัติกันน้ำ เนื้อข้างละเอียดและนุ่ม ลักษณะคล้ายดาวน์ (down) มีคุณสมบัติน้ำหนักเบาและอุ่น ให้ความอบอุ่นในระดับ 650 ขึ้นไป พกพาสะดวกและอุ่นสบายพอๆ กับการใช้เสื้อดาวน์ที่ทำด้วยขนห่าน แต่แห้งเร็วกว่าถึง 4 เท่า

    Ecoalf ได้จับมือกับ ผู้ผลิตนาฬิกาสวอตช์ (Swatch) ผลิตเสื้อผ้าที่ใช้วัสดุรีไซเคิลจากขวดพลาสติกและเศษผ้าฝ้าย 100% ให้กับพนักงานสวอตช์ รวมทั้งเป็นพันธมิตรกับดีไซน์เนอร์แถวหน้าของสเปน ซิบิลลา (Sybilla) ผลิตเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่ คือ เสื้อโค้ทที่ใช้ได้ทั้งสองด้านในสีสันสดใส รวมทั้งแจ็คเก็ตไนลอนที่ทำมาจากแหจับปลาที่ไม่ใช่แล้ว

    ในปี 2012 Ecoalf ได้เปิดร้าน Ecoalf แห่งแรกที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน โดยมีนักออกแบบชื่อดัง ลอเรนโซ เดล คาสติลโล ออกแบบร้านให้มีกลิ่นอายของปรัชญาความยั่งยืน นวัตกรรม และเทคโนโลยีของ Ecoalf ที่สัมผัสได้ ต่อมาปี 2013 ได้พัฒนาผลิตเคสไอโฟนให้กับแอปเปิล โดยใช้ไนลอนที่รีไซเคิลจากแหจับปลา และในปีเดียวกันได้เป็นพันธมิตรกับกูป (Goop) แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ก่อตั้งโดยนักแสดงชื่อดัง กวินเน็ท พัลโทรว์ ด้วยการร่วมกันออกเสื้อกั๊กกับเป้สะพายหลัง

    ปี 2014 ผลิตรองเท้าแตะจากยางรถยนต์ใช้แล้ว 100% เป็นครั้งแรก ด้วยความร่วมมือกับ SIGNUS และ CTCR ศูนย์เทคโนโลยีรองเท้า ต่อมาปี 2016 ผลิตสินค้าจากกาแฟด้วยความร่วมมือจากสตาร์บัคส์ในซีแอตเทิล สหรัฐฯ ต่อมาปี 2017 ได้เปิดร้านที่เบอร์ลิน เยอรมนี ที่ยังยึดมั่นในความยั่งยืน และล่าสุดปี 2018 ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่ดีที่สุดต่อโลก ด้วยการผ่านกระบวนการรับรองว่าเป็น “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ Certified B Corporation จาก B lab ซึ่ง Ecoalf เป็นแบรนด์แรกของสเปนที่ผ่านการรับรองเข้าไปสู่ทำเนียบธุรกิจเพื่อสังคมที่มีจำนวน 2,441 รายในโลกขณะนี้

    ที่มาภาพ: https://ecoalf.com

    แนว Reuse/Recycle

    Upcycling the Ocean ยังเป็นแนวทางที่บริษัทผลิตเสื้อผ้ารายอื่นของโลกนำไปใช้ โดยในสหรัฐฯ Patagonia ผู้ผลิตเสื้อผ้าแนว outdoor และอุปกรณ์เพื่อการขึ้นเขา เข้าป่า หรือท่องเที่ยว และอุปกรณ์แนวสปอร์ตได้ใช้ตั้งแต่เศษผ้าไปจนถึงพลาสติกที่เก็บจากทะเลมาเป็นวัตถุดิบ และใช้กระบวนการแบบดั้งเดิมในการสร้างสรรค์เสื้อผ้ายุคใหม่

    ในเว็บไซต์ Patagonia ได้ให้ข้อมูลว่า บริษัทตระหนักดีว่าธุรกิจของบริษัทตั้งแต่ต้นไปจนถึงการผลิตเสื้อที่ผ่านการย้อมสีออกมาหนึ่งตัวสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบนี้ด้วยการใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่ได้จากการรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์หลายชิ้น และยังใช้เฉพาะฝ้ายที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์คือไม่ใช้สารเคมีเลย เพราะเส้นใยโพลีเอสเตอร์และไนลอนที่ได้จากการแปรรูปน้ำมันนั้นต้องใช้พลังงานเปลืองมากและเป็นต้นเหตุของมลภาวะ

    เสื้อยืดคอกลมหรือ T-shirt บางรุ่นของ Patagonia ทำมาจากขวดพลาสติกผสมกับเศษผ้า ซึ่งช่วยประหยัดการใช้น้ำได้ถึง 63 แกลลอน เมื่อเปรียบเทียบกับเสื้อ T-shirt ที่ทำจากผ้าฝ้ายแบบเดิม ขณะที่ T-shirt บางรุ่นแม้จะใช้ผ้าฝ้าย แต่เป็นฝ้ายที่ไม่ได้ตกแต่งพันธุกรรม (GMO) และเป็นฝ้ายที่ไม่ได้ใช้สารกำจัดแมลง ซึ่งเสื้อรุ่นแรกที่ใช้ฝ้ายอินทรีย์ออกมาในปี 1996

    นอกจากนี้ยังได้ใช้เส้นใยฟลีซ (fleece) ที่ผ่านการรีไซเคิลของบริษัทโพลาร์เทค ในการผลิตเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ SynChilla ที่น้ำหนักเบา อุ่นสบายและแห้งเร็ว ซึ่งโพลาร์เทคได้รีซิเคิลฟลีซมาตั้งแต่ปี 1993 และนับตั้งแต่นั้นได้ใช้ขวดพลาสติกกว่า 1 พันล้านใบมา Upcycling เป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์และปั่นเป็นส้นด้ายด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    Patagonia ยังได้ใช้วิธีการ reuse และ recycle โดยลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปแล้ว เมื่อเสื้อเก่าและไม่ต้องการใช้อีกต่อไป หรือเก่าเกินที่จะซ่อม ก็สามารถนำมาขายคืนตามร้านค้าของบริษัทได้ และจะได้รับคะแนนสะสมเพื่อนำไปใช้ซื้อสินค้าชิ้นต่อไป รวมทั้งยังสามารถมาเลือกซื้อเสื้อผ้ามือสองคุณภาพดีจากบริษัทเพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายที่จะบริจาค 1% ของยอดขายให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก

    ALYX แบรนด์ดังในสหรัฐอเมริกาที่ก่อตั้งโดยแมททิว วิลเลียมส์ ได้เริ่มใช้วัสดุไซเคิลกับคอลเลคชั่นล่าสุด โดยร่วมกับ Recover Tex บริษัทรีไซเคิลจากสเปนที่แปรรูปเสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ใช้และขยะพลาสติกในทะเลให้เป็นเส้นใย และปั่นเส้นใยให้เป็นผืนผ้า โดยที่แทบจะไม่ได้ใช้น้ำเลยและยังไม่ได้ใช้สารเคมีอีกด้วย เพื่อการตัดเย็บ tees and hoodies (เสื้อกันหนาวแบบมี hood คลุมศรีษะ)

    แม็ทธิวกล่าวว่า การที่ใช้วัสดุรีไซเคิลเพราะต้องการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดขยะในโลกลง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จึงต้องการสร้างความรับรู้ในหมู่คนให้มากขึ้น

    สินค้า Upcycling/วัสดุรีไซเคิลขยะพลาสติกในทะเล

    Adidas ร่วมกับ องค์กรปกป้องท้องทะเลจากขยะพลาสติก (Parley Ocean Plastic) ได้เปิดตัวรองเท้ารุ่น UltraBOOST Uncaged Parley ที่ใช้วัสดุรีไซเคิลจากขวดพลาสติก โดยรองเท้า 1 คู่ ใช้ขวดพลาสติก 11 ใบ ขณะที่เชือกรองเท้า ส้นรองเท้า พื้นรองเท้า ใช้วัสดุรีไซเคิลจากท้องทะเลทั้งหมด ในปีที่แล้ว Adidas จำหน่ายรองเท้าที่ทำจากขยะทะเลได้มากกว่า 1 ล้านคู่

    ที่มาภาพ:
    www.adidas.co.th/parley

    RIZ Board Shorts ผลิตกางเกงขาสั้นสำหรับการเล่นเซิร์ฟบอร์ดโดยใช้ขวดพลาสติก ลูกค้าที่ซื้อกางเกงไปใช้สามารถนำมาขายคืนเพื่อที่บริษัทจะนำไปรีไซเคิลเป็นกางเกงตัวใหม่ได้อีก ซึ่งเมื่อนำตัวเก่ามาคืนแล้วลูกค้าจะได้รับส่วนลดสำหรับการซื้อกางเกงตัวใหม่ด้วย และทุกครั้งเมื่อมีการขายกางเกงออกไป 1 ตัวให้กับบริษัทจะบริจาคเงิน 4 ยูโรให้กับ Marine Conservation Society

    ที่มาภาพ:
    https://shop.rizboardshorts.com

    Kozm ผลิต T-shirt หมวกและกระเป๋าจากผ้าฝ้ายที่ผ่านกระบวนการ Upcycle และวัสดุที่ได้จากการรีไซเคิลขวด PET รวมทั้งผ้าขนหนูสำหรับการเล่นโยคะที่ผลิตจากผ้าเช็ดตัวเก่าในห้องซาวนา พลาสติกผสมที่รีไซเคิล ใยกัญชง ตลอดจนร่วมกับ Recover Tex บริษัทรีไซเคิลจากสเปนที่แปรรูปเสื้อผ้าที่ยังไม่ได้ใช้และขยะพลาสติกในทะเลให้เป็นเส้นใย ในการผลิตสินค้า และเชิญชวนให้ลูกค้านำสินค้ามาคืนเพื่อการรีไซเคิลเป็นสินค้าใหม่ต่อไป

    ที่มาภาพ: https://thekozm.com

    Waterlust จำหน่ายเลกกิ้งเอนกประสงค์และใยสแปนเด็กซ์ที่ทำมาจาการวัสดุที่ได้จากการรีไซเคิล โดยการผลิตเลกกิ้ง 1 ชิ้นใช้ขวดน้ำใช้แล้ว 10 ใบ ส่วนการผลิตเลกลิ้งผ่าสแปนเด็กซ์ขวดน้ำใช้แล้ว 5 ขวด บริษัทยังได้บริจาคเงิน 10% ของกำไรสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาเลกกิ้ง และยังจำหน่ายกระเป๋าสานแบบประมงพื้นบ้านโดยใช้ถุงพลาสติกใช้แล้วจากนิการากัว ธุรกิจของ Waterlust เดิมเป็นโครงการทดลองของนักศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่ง Rosensteil School of Marine and Atmospheric Science มหาวิทยาลัยไมอามี

    ที่มาภาพ:
    https://waterlust.com

    KoruSwimwear จำหน่ายชุดว่ายน้ำที่ผลิตจากโพลิอาไมด์ (polyamide) ซึ่งชื่อที่ถูกใช้โดยทั่วไปทางด้านการค้าคือ ไนลอน (nylon) ที่ได้มาจากแหจับปลาที่เก็บขึ้นมาจากทะเล โดยถุงที่บรรจุสินค้านั้นย่อยสลายส่วนป้ายสินค้านั้นทำมาจากป้ายห้อยกระดาษรีไซเคิล

    Born Again Vintage จำหน่ายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ใช้วัสดุที่ได้ทั้ง upcycling และ รีไซเคิล เพื่อลดขยะและหลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบใหม่ๆ และยังจัด workshop ให้ความรู้ด้านการปรับเปลี่ยนเสื้อผ้าให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และมีความทันสมัยทันแฟชั่น

    VOLCOM จำหน่ายกางเกงขาสั้นสำหรับเซิร์ฟบอร์ดและชุดว่ายน้ำที่ไม่ใช้สาร PVC เลย หลังจากที่ประกาศพันธกิจเพื่อความยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2012 โดยกางเกงขาสั้นใช้เส้นใยจากขวดน้ำพลาสติกที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิล กางเกง 1 ตัวใช้ขวดน้ำพลาสติก 5 ใบ ส่วนชุดว่ายน้ำใช้เส้นด้ายจากขยะแหจับปลากับขยะในสัดส่วน 78% ขณะที่ถุงใส่สินค้าใช้กระดาษและวัสดุที่ผ่านการรับรองว่ามาจากแหล่งรีไซเคิลที่มีความรับผิดชอบ

    Sand Cloud จำหน่ายผ้าเช็ดตัวชายหาดที่ทำมาจากฝ้าย 100% ซึ่งย่อยสลายได้ รวมทั้งจำหน่ายสินค้าอื่นๆ เช่น เป้สะพายหลัง เคสไอโฟน สร้อยคอ และขวดน้ำที่ใช้ได้ตลอดไป บริษัทบริจาคเงิน 10% ของกำไรสุทธิให้กับองค์กรที่ทำหน้าที่ปกป้องชายหาด ทะเล และสัตว์น้ำ

    Mia Marcelle ผลิตชุดว่ายน้ำด้วยเส้นใยโพลีเอสเตอร์และเส้นด้ายอลาสเทนที่ได้จากการรีไซเคิลวัสดุที่ผ่านการใช้งานแล้วรวมทั้งแหจับปลาเก่าๆ

    Love is Mighty ผลิตรองเท้าและเครื่องเสริมความงาม โดยใช้สิ่งทอเก่า หรือม่านลายดอกใช้แขวนผนังบ้าน พรมลายดอกประดับ (tapestry) รวมทั้งเสื้อผ้าเก่าในพื้นที่ชนเผ่าของอินเดีย ผสมกับพลาสติกรีไซเคิล ใช้สีย้อมที่ไม่เป็นพิษ และตัดเย็บด้วยมือคน 100% และยังจำหน่ายถุงที่ใช้งานได้หลายครั้ง ซึ่งทำมาจากถุงพลาสติกใส่ของตามร้านขายของชำและพลาสติกห่อขนมปังกรอบที่นำมาตัดเป็นเส้นแล้วสานโดยชาวบ้านในมาร์วาดาที่อินเดีย

    Inti Totes ได้จำหน่ายกระเป๋าที่ใช้ได้หลายครั้งซึ่งผลิตมาจากถุงที่ทำจากฟิล์มพลาสติกขึ้นรูปที่ใช้ใส่ของตามร้านขายของชำต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้แล้วทิ้ง วอลล์สตรีทเจอร์นัลรายงานว่า ในสหรัฐฯ แต่ละปีมีการใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้งถึง 1 แสนล้านใบ และส่วนใหญ่นำไปฝังกลบ เงินส่วนหนึ่งที่ได้จากจำหน่ายถุงนี้นำส่งกลับให้ชาวเปรูซึ่งทอเส้นใยด้วยมือเพื่อนำไปสนับสนุนการศึกษาในชุมชน และยังสนับสนุนชาวประมง

    ที่มาภาพ:
    https://www.facebook.com/IntiTotes/

    Planet Love Life ผลิตสินค้าจากแหจับปลาและเชือกที่เก็บได้ระหว่างการเก็บขยะชายหาดทั่วโลก ซึ่งขยะพลาสติกนี้จะนำมาถักทอเป็นสร้อยข้อมือ สร้อยคอ สายรั้ง เชือกจูงสุนัขและพวงกุญแจ กำไรที่ได้ทั้งหมดส่งคืนกลับให้โครงการรักษ์ชายหาด

    Indosole นำยางรถยนต์เก่ามารีไซเคิลเป็นพื้นรองเท้า รวมทั้งใช้กระสอบใส่กาแฟมาทำเป็นสายรองเท้า ซึ่งช่วยลดขยะยางรถยนต์ที่เป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุง และลดการทำลายด้วยการเผาที่ปล่อยควันพิษและน้ำมันเข้าสู่สิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีการผลิตยางรถยนต์ราว 1.5 พันล้านเส้นต่อปี

    ที่มาภาพ:
    https://indosole.com/

    Bureo ได้ริเริ่มโครงการ”Net-Positiva” จากที่เห็นว่าแต่ละปีขยะแหจับปลามีสัดส่วนราว 10% ของขยะพลาสติกในทะเลซึ่งมีอันตรายกว่าขยะพลาสติกอื่นถึง 4 เท่า ด้วยการให้แรงจูงใจแก่ชาวประมงในชิลี และนำแหจับปลากว่า 10,000 กิโลกรัม มาทำเป็นสเก็ตบอร์ดและแว่นกันแดด

    ที่มาภาพ:
    https://indosole.com/

    Nomad Tribe จำหน่ายสินค้าที่ผลิตบนความยั่งยืนตั้งแต่สินค้าที่ใช้วัสดุรีไซเคิล ไปจนถึงการตั้งราคาที่เป็นธรรม สินค้าจากองค์กรที่ไม่เอาเปรียบแรงงานและเป็นประชาธิปไตย การส่งเสริมบทบาทผู้หญิง องค์กรการกุศล การศึกษาและเด็ก ทุกอย่างที่สร้างความยั่งยืน เช่น ขาย ถุงเท้าแบรนด์ Osom ที่ 95% ใช้วัสดุรีไซเคิลจากเศษผ้า และรองเท้าผ้าใบ Veja ที่ทำมาจากผ้าฝ้ายรไซเคิลกับน้ำยายางป่าในป่าอเมซอน ที่มีวิธีการกรีดซึ่งยึดหลักความยั่งยืน

    Upcycling วงการสีย้อมผ้า

    แนวคิด upcycling ยังได้มีการนำไปใช้ในธุรกิจสีย้อมผ้าด้วย โดย Archroma ผู้นำด้านสีและมีความเชี่ยวชาญทางเคมีที่ยึดหลักความยั่งยืน ได้จับมือกับ Ternua แบรนด์สินค้าเอาท์ดอร์ เช่น T-shirt, sweatshirts (เสื้อกีฬาแขนยาวใช้สวมทับกันหนาวหรือให้เหงื่อออก) ที่ผลิตจากขยะเกษตรซึ่งผ่านกระบวนการรีไซเคิลและ upcycling จากแคว้นบาสก์ในสเปน

    Achroma พัฒนา EarthColor จากธรรมชาติ บนแนวคิดสีย้อมจากพืชเป็นหลัก โดยใช้ขยะที่ไม่ใช่ของกิน ตั้งแต่ในธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพร ภาคเกษตร เพื่อทดแทนสารปิโตรเลียม

    ภายใต้ความร่วมมือนี้ ในช่วง cider season เทศกาลที่นิยมดื่มน้ำไซเดอร์ (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หมักทำจากน้ำแอปเปิลไม่กรอง) Ternua จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมเปลือกถั่ว วอลนัท จากร้านอาหารในแคว้นบาสก์ เพราะในช่วงเทศกาลนี้ร้านอาหารจะเสิร์ฟวอลนัทพร้อมไซเดอร์ให้ลูกค้า ทำให้เปลือกวอลนัทกลายเป็นขยะจำนวนมาก และประเมินว่าทั้งแคว้นจะมีการกินวอลนัทถึง 55,000 กิโลกรัม

    จากนั้น Achroma จะนำเปลือกวอลนัทมาทำเป็นสีย้อมผ้าชีวภาพ เพื่อให้ Ternua ได้นำสีของ Achroma ไปใช้กับการย้อมเส้นใยก่อนที่จะทอเป็นผืนผ้า ซึ่งมีส่วนผสมของคัตตันรีไซเคิลและโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล

    โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลในเมือง Gipuzkoa และสาขาสมาคมไซเดอร์แห่งชาติ (National Cider Association) ประจำเมือง Gipuzkoa และสินค้าที่ผลิตจากโครงการนี้จะเปิดตัวในปี 2019

    เสื้อย้อมด้วยสีที่ทำจากเปลือกวอลนัท ที่มาภาพ: http://www.archroma.com/news-releases/ternua-and-archroma-join-efforts-on-recycling-and-upcycling-nutshell-waste-into-fashion/

    Repurpose รังสรรค์ของเดิม

    upcycling แนวทางความยั่งยืนที่ดีไซเนอร์และผู้ผลิตเสื้อผ้าทั่วโลกกำลังนำมาปรับใช้ยังขยายครอบคลุมไปถึงการนำเสื้อผ้าเดิมมาตัดเย็บดัดแปลงเป็นสินค้าใหม่ ผ่านทั้งเทคนิคการซ่อมเสื้อผ้าแบบเดิม และการนำเสื้อผ้าที่มีอยู่มาประกอบ

    วาลิด อัล ดามีร์ยี ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ By Walid ในอังกฤษ ให้ความหมายของ upcycling ว่า “เป็นการ repurpose นำของที่ใช้อยู่ไปดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ในวัตถุประสงค์อื่น และเป็นการคืนชีวิตให้กับบางสิ่งที่ถูกหลงลืมไป”

    By Walid เป็นที่รู้จักจากคอลเลคชั่น Ottoman ที่ตัดเย็บจากสิ่งทอในศตวรรษที่ 19 ที่ วาลิดเก็บสะสมไว้ มาใช้ใหม่ (reuse) ไม่ว่าจะเป็นกิโมโนผ้าไหมปักลาย ผ้าคลุมโต๊ะสมัยวิกตอเรีย นำมาตัดและเย็บใหม่ด้วยมือ พร้อมกับใช้ผ้าฝ้ายปลอดสารเคมีและเทคนิคการปักผ้าแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม จากนั้นนำมาย้อมสีโดยไม่ใช้เครื่องจักรก่อนที่จะผลิตในขั้นตอนสุดท้าย

    สินค้าของ By Walid ยังมีเสื้อแจ็คเก็ตที่ทำมาจากถุงมือเด็กในศตวรรษที่ 19 ทั้งตัว รวมไปถึงเสื้อโค้ทที่ทำมาจากกระเป๋าถือหนังจระเข้ อีกทั้งวาลิดยังใช้วัสดอย่างคุ้มค่า ไม่ปล่อยให้มีขยะเกิดขึ้น

    แบรนด์ Maharishi (มหาฤษี) ที่ก่อตั้งโดย ฮาร์ดี้ เบลชแมน ในปี 1994 ที่อังกฤษ โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม การค้าที่เป็นธรรมและเสื้อผ้าคุณภาพสูงที่ใช้ได้ตลอดไป คอลเล็คชั่นส่วนใหญ่ใช้ใยกัญชงผสมผสานกับฝ้ายปลอดสารเคมีและเสื้อผ้าทหารที่ผ่านกระบวนการ upcycling ในอินเดีย โดยล้างด้วยสมุนไพรเพื่อลบรอยเปื้อน จากนั้นล้างด้วยน้ำหญ้า saffron อีกครั้งเพื่อให้เป็นของใหม่อย่างแท้จริง อีกทั้งการใช้เส้นใยกัญชงและฝ้ายอินทรีย์ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะย่อยสลายได้

    ทางด้านแบรนด์ Kiriko ในพอร์ตแลนด์ ที่สหรัฐอเมริกา ก่อตั้งปี 2013 บนคุณค่าของ mottainai ภาษาญี่ปุ่นหมายความว่า เสียใจที่เห็นของกลายเป็นขยะ ดังนั้นสินค้าของ Kiriko จึง upcycling ทุกอย่าง จากผ้าห่ม กางเกงยีนส์ สิ่งทอนำเข้าจากญี่ปุ่น และมีชื่อเสียงในการผลิต Boro สินค้าที่ทำจากเสื้อผ้าที่ใช้แล้วซึ่งเป็นรูบ้าง ขาดบ้าง แต่ใช้วิธีการนำผ้าเก่าอายุ 10 ปีมาปะชุนหรือตกแต่งใหม่ด้วยมือ นอกจากนี้ยังจัดเวิร์กชอปให้ลูกค้านำเสื้อผ้ามาปะชุนหรือแต่งใหม่

    สำหรับแวดวงแฟชั่นไฮเอนด์ก็หันมาใช้วิธีการ repurpose และ upcycling บนเส้นทางความยั่งยืนเช่นกันเพื่อดึงลูกค้าที่มีจิตสำนึกต่อสังคม

    แบรนด์ดังๆ เช่น โปโล ราล์ฟ ลอเรน (Polo Ralph Lauren), มิสโซนี (Missoni) ต่างกลับไปสำรวจกรุเสื้อผ้าของตัวเอง รวมทั้งไปสรรหาเสื้อผ้ายุคก่อนจากร้านค้าสไตล์วินเทจ เพื่อนำมาดัดแปลงเป็นสินค้าใหม่ซึ่งจะช่วยยืดอายุการใช้งานเสื้อผ้าออกไปแทนที่จะทิ้งเป็นขยะ แต่ขณะเดียวกันก็หมายความว่าลูกค้าย่อมต้องจ่ายเงินแพงขึ้นสำหรับเสื้อผ้าที่ผ่านการใช้แล้ว

    การเกงยีนส์ที่ตัดเย็บใหม่จากกางเกงยีนส์ลีวายส์ ของแบรนด์เวตมองต์ (Vetements) จากซูริค วางจำหน่ายตัวละ 1,500 ดอลลาร์ ขณะที่ราคากางเกงยีนส์ลีวายส์ใหม่ที่ขายในเว็บไซต์หลายรุ่นมีราคาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ ส่วนเสื้อโค้ทแบบมีเฟอร์ของเวตมองต์ที่ตัดเย็บใหม่จากเฟอร์ยุควินเทจมีราคาตัวละ 22,950 ดอลลาร์

    เสื้อผ้าจากกระบวนการ upcycling ของเวตมองต์ ซ้าย เสื้อโค้ททำจากเฟอร์ยุควินเทจ และขวา งานตกแต่งด้วยเศษผ้า ที่มาภาพ: https://www.wsj.com/articles/todays-chic-look-upcycled-clothes-1523703813
    ฝั่งมิสโซนีแบรนด์ดังจากอิตาลี โชว์เสื้อโค้ทและกางเกงทรงหลวมที่ตกแต่งด้วยเศษผ้ายุควินเทจ บนรันเวย์เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเสื้อโค้ทมีราคา 11,760 ดอลลาร์ ส่วนกางเกงราคา 2,190 ดอลลาร์ เพราะว่าเป็นรุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น โดยรวมแล้วมี 25 ชิ้นเท่านั้น

    ส่วนแฟชั่นที่ใช้ศิลปะการตัดเย็บชั้นสูงหรือ โอ กูตูร์ (haute couture) ที่มีราคาสูงขึ้นไปอีก ก็หันมาสู่แนวทาง upcycling ด้วย โดยดีไซเนอร์ของแบรนด์ วิกเตอร์แอนด์โรล์ฟ (Viktor & Rolf) ก็มีเสื้อผ้าสไตล์ repurpose ออกสู่ตลาดเช่นกัน ภายใต้คอลเล็คชั่น “conscious” เพราะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

    ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า upcycling ต้องใช้ทั้งแรงคนและใช้เวลาเพื่อการสร้างสิ่งใหม่ จึงมีต้นทุน อีกทั้งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ความคิดนอกกรอบ ที่จะสร้างของใหม่จากของที่ใช้อยู่

    ดีไซนเนอร์ รวมทั้งร้านค้าย่อยต่างมุ่งเน้นการตลาดเสื้อผ้าหรูที่นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z ที่ให้ความใส่ใจต่อความยั่งยืน

    ปี 2017 ได้มีการสำรวจผู้บริโภคที่ซื้อของบนอินเทอร์เน็ต โดย Mintel พบว่า 18% ของผู้หญิงจำนวน 1,006 รายที่ใช้อินเทอร์เน็ตในการซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ด้วยตัวเองในสหรัฐฯ ซึ่งมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ให้ความสนใจในเสื้อผ้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุ 18-24 ปีมีสัดส่วนมากสุด 33% ที่เต็มใจสนับสนุนแบรนด์ที่ลงทุนกับสิ่งที่เชื่อ แต่ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนกับสิ่งที่ทำและด้านราคา

    upcycling ยังเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในหลายสถาบันด้านแฟชั่น นักศึกษาเองต่างใช้แนวคิดนี้ในการออกแบบเสื้อผ้ามากขึ้น และประสบความสำเร็จ เช่น โคสะบุโระ อะกาซะกะ ที่เพิ่งจบการศึกษาจาก New School’s Parsons School of Design ที่ผลงานกางเกงยีนส์แบบ repurpose เข้ารอบสุดท้ายของการประกวดรางวัล LVMH Prize ยังดีไซเนอร์ที่จัดขึ้นโดยหลุยส์ วิตตอง

    ทางด้าน Pratt Institute กำหนดให้นักศึกษาใช้แนวคิด upcycling ในการออกแบบมาตั้งแต่ปี 2013

    เรียบเรียงจากmrporter,globalfashionagenda,IntiTotesdebrisfreeoceans,bbc,highsnobiety,achroma,wsj