ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์เล็งสนอหลักปฏิบัติใหม่การเดินทางในอาเซียนหลังโควิด-19

ASEAN Roundup สิงคโปร์เล็งสนอหลักปฏิบัติใหม่การเดินทางในอาเซียนหลังโควิด-19

9 พฤษภาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 3-9 พฤษภาคม 2563

  • สิงคโปร์จะเสนอหลักปฏิบัติใหม่การเดินทางในอาเซียนหลังโควิด-19
  • ฟิลิปปินส์กำหนดวันขึ้นลงเที่ยวบินขาเข้า
  • เมียนมาเจรจาขอความช่วยเหลือจาก IMF-ADB-ธนาคารโลก
  • สมาชิก RCEP ถกเข้มมุ่งลงนามความตกลงปลายปีนี้
  • สิงคโปร์จะเสนอหลักปฏิบัติใหม่การเดินทางในอาเซียนหลังโควิด-19

    ที่มาภาพ: https://www.ejinsight.com/eji/article/id/2401265/20200312-hk-tourist-infected-11-thais-with-coronavirus-thailand-says

    สิงคโปร์จะเสนอ หลักปฏิบัติใหม่เกี่ยวกับการเดินทางของประชาชน ภายในอาเซียน หลังการระบาดของไวรัสโควิด-10 อยู่ในระดับที่จัดการได้

    นายอนิล กุมาร นายาร์ ฑูตสิงคโปร์ประจำอินโดนีเซียกล่าวในการบรรยายสรุปแก่ผู้สื่อข่าวในวันที่ 4 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ว่า อาเซียนต้องมีหลักปฏิบัติและกระบวนการเกี่ยวกับการเดินทางระหว่างประเทศชุดใหม่ ก่อนที่จะเปิดให้มีการเดินทางระหว่างกันอีกครั้ง

    “ก่อนที่จะเปิดให้มีการเดินทางระหว่างกันได้อีกครั้ง เราต้องมีการตรวจสอบการข้ามแดนชุดใหม่ร่วมกัน ก่อนที่เราจะสามารถเปิดชายแดนได้ ซึ่งต้องใช้เวลาแต่ก็คุ้มค่าที่จะทำ” นายกุมาร นายาร์กล่าว

    นายกุมาร นายาร์กล่าวอีกว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจจะศึกษาจากการดำเนินการออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ได้หารือเกี่ยวกับศูนย์การเดินทางก่อนที่การเดินทางระหว่างสองประเทศจะเริ่มขึ้นในเร็วๆนี้

    นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่า การเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศในอาเซียนจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศสามารถควบคุมได้และอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ

    สิงคโปร์ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์หรือ “circuit breaker”ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน ที่ขยายการบังคับใช้ระยะห่างทางกายภาพไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งระหว่างที่มาตรการยังมีผล จะอนุญาตให้เปิดเฉพาะร้านอาหาร ตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ต คลีนิค โรงพยาบาล สาธารณูปโภค ขนส่งและบริการหลักๆของธนาคาร

    ในวันที่ 3 พฤษภาคม นายชาน ชุน ซิง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ กล่าวว่า ประเทศสมาชิกอาเซียน ต้องมีปฏิญญาสุขภาพและการตรวจสอบร่วมกัน ก่อนที่จะเปิดให้มีการเดินทางระหว่างกันอีกครั้ง

    นายชานกล่าวว่า จากการประชุมกับประเทศสมาชิกอาเซียนเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องว่าการฟื้นฟูการท่องเที่ยวต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกันในปลายประเด็น

    “ข้อแรก เราต้องขายตลาดอาเซียนแบบเป็นแพกรวม” นายชานแถลงข่าวผ่านระบบวิดีโอคอลล์

    “แต่การที่จะอย่างนั้นได้ เราต้องแน่ใจว่าเรามีหลักปฏิบัติเกี่ยวกับสุขภาพและการตรวจสอบเพื่อการข้ามแดนเดียวกัน เพื่อที่จะได้เปิดการเดินทางการข้ามแดนอีกครั้ง”

    ประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้ง สิงคโปร์ มาเลเ๙ีย และไทยห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากการเข้าประเทศ

    “หลายประเทศอยู่ในช่วงของการระบาดที่ไม่เท่ากัน เราต้องมั่นใจว่าเรามีมาตรการในลักษณะนี้ เพื่อที่ว่าเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อในอาเซียนลดลงแล้ว เราก็จะสามารถเปิดการเดินทางได้อย่างรวดเร็ว”นายชานกล่าว

    ขณะที่อาเซียนเห็นพ้องที่จะเปิดการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวในประเทศในระยะแรก แต่สิงคโปร์จะเน้นไปที่การอนุญาตการเดินทางที่จำเป็น

    “เนื่องจากว่าจะทำให้เรามีความเชื่อมั่นที่จะดำเนินการเตรียมขั้นตอนและกระบวนการสำหรับการเดินทางข้ามแดนซึ่งคงอีกนานกว่าจะกลับมาเปิดอีกครั้ง” นายชานกล่าว

    นายชานกล่าวอีกว่า ได้หารือในประเด็นการเดินทางที่จำเป็นของภาคธุรกิจกับหลายประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งประเทศเหล่านี้กำลังเตรียมที่จะประสานงานด่านมาตรการการตรวจสอบสุขภาพเพื่อเป็นหลักประกันระหว่างกัน

    “เราต้องมีระบบที่จะตรวจสอบย้อนและสืบค้นโรคได้หากมีผู้ติดเชื้อ”

    สิงคโปร์มีประชากร 5.7 ล้านคน และมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงประเทศหนึ่งในอาเซียน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติที่อาศัยในหอพักคนงาน

    ฟิลิปปินส์กำหนดวันขึ้นลงเที่ยวบินขาเข้า

    ที่มาภาพ: https://www.thestar.com.my/news/regional/2020/05/09/philippines-announces-last-minute-restrictions-on-incoming-international-flights-update

    วันที่ 9 พฤษภาคม 2563 ฟิลิปปินส์ประกาศ มาตรการใหม่บังคับใช้สำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศขาเข้า ที่บินมายังสนามบินนานาชาติที่มะนิลา ซึ่งเป็นพื้นที่มีการติดเชื้อสูงสุดของประเทศ

    “เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม เที่ยวบินเช่าเหมาลำจากต่างประเทศและเที่ยวบินพาณิชย์ที่ลงจอดที่สนามบินานาชาตินินอย อควิโนจะต้องเข้ามาให้ตรงวันที่กำหนด” จากประกาศคำแนะนำการเดินทางของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งฟิลิปปินส์(Civil Aviation Authority of the Philippines:CAAP)

    เที่ยวบินเช่าเหมาลำจะบินเข้าและลงจอดได้ในวันจันทร์กับวันพฤหัสบดี ส่วนเที่ยวบินพาณิชย์บินเข้าและลงจอดได้ในวันอังคาร วันพุธ วันศุกร์ วันเสาร์และวันอาทิตย์ แต่ทั้งหมดจะต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากกระทรวงการต่างประเทศและจาก CAAP

    มาตรการนี้มีผลไปถึงวันที่ 10 มิถุนายน เพื่อให้สนามบินสามารถบริหารจัดการผู้โดยสารได้ไม่เกิน 400 คนต่อวัน

    ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา CAAP ได้ระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศขาเข้าทั้งหมดเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้สถานที่กักกันมีพื้นที่เพิ่มรองรับแรงงานฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานต่างประเทศและเดินทางกลับเข้าประเทศได้

    นับตั้งไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วประเทศมีแรงงานเดินทางกลับประเทศแล้วกว่า 24,000 คน และยังมีอีกจำนวนมากรอเที่ยวบินขนกลับ

    กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ณ วันที่ 9 พฤษภาคมมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 147 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมรวมเป็น 10,610 ราย และผู้เสียชีวิต 704 ราย

    ส่วนใหญ่กว่า 60% ของผู้ติดเชื้อพบในกรุงมนิลา เมืองหลวง ซึ่งอยู่ระหว่างการล็อกดาวน์ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม แต่รัฐบาลกำลังพิจารณาว่าจะยกเลิก หรือ ผ่อนคลาย หรือปรับมาตรการหลังวันที่ 15 พฤษภาคม

    เมียนมาเจรจาขอความช่วยเหลือจาก IMF-ADB-ธนาคารโลก

    ที่มาภาพ: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-negotiates-funds-rescue-embattled-economy.html

    รัฐบาลเมียนกำลังเจรจาเพื่อ ขอความช่วยเหลือและสนับสนุน จากธนาคารโลก (World Bank) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank:ADB) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund:IMF) ในการดำเนินการตามแผน
    กระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จากการเปิดเผยของ อู หม่อ หม่อง วิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผน การเงินและอุตสาหกรรม

    แผนเศรษฐกิจบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 (COVID-19 Economic Relief Plan:CERP) ที่ประกาศเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำรวมวงเงิน 500 พันล้านจ๊าดและโครงการค้ำประกันสินเชื่อ

    รัฐบาลได้รับการยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลือจากพันธมิตรด้านการพัฒนาที่จะสนับสนุนเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ เพื่อดำเนินการช่วยเหลือในการปฏิบัติตามแผน อู เซต อ่อง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวางแผน การเงินและอุตสาหกรรมเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก

    ปัจจุบันธนาคารโลกได้อนุมัติเงิน 50 ล้านดอลลาร์ให้กับโครงการช่วยเหลือฉุกเฉินต่อการระบาดไวรัสโควิด-19 ของเมียนมา

    นอกจากนี้รัฐบาลได้พิจารณาของความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF อู จอว์ จอว์ หม่อง ผู้ว่าการธนาคารกลางเมียนมา กล่าวในการประชุมทางไกลกับประเทศสมาชิกอาเซียนเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563

    อู จอว์ จอว์ หม่อง กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจเมียนมาจะถดถอย จากผลกระทบของไวรัส แม้ได้ผ่อนคลายข้อจำกัดของนโยบายการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบและได้ลดอกเบี้ยไปแล้วว 3% จาก 5% pc.

    อู จอว์ จอว์ หม่อง กล่าวว่า ธนาคารกลางได้เตรียมที่จะยื่นขอความช่วยเหลือจาก Rapid Credit Facility และ Rapid Financing Instrument ของ IMF เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวนาน และหวังว่าจะได้รับคำตอบทางบวกจาก IMF

    ในขณะเดียวกัน เมียนมาได้รับความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตก โดยเดนมาร์กได้ยืนยันเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 ว่าจะให้การสนับสนุนโรงงานสิ่งทอ 2 แห่งในการปรับเปลี่ยนมาผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protection Equipment:PPE) เช่น หน้ากากอนามัยสำหรับแพทย์ใช้ ผ่านคำสั่งซื้อรวมมูลค่า 200 ล้านจ๊าด

    โรงงานสิ่งทอเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกินรุนแรงจากการระบาดโควิด-19 เพราะขาดแคลนวัตถุดิบ จากการล็อกดาวน์ของจีนในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม และการใช้มาตรการระยะห่างทางกายภาพในเมียนมา ตลอดจนการส่งออกจากยุโรปที่ลดลง

    ในเดือนที่แล้ว สหภาพยุโรป (European Union:EU) เปิดเผยว่าจะมอบเงินจำนวน 5 ล้านยูโรหรือ 7.9 พันล้านจ๊าด เพื่อนำไปจ่ายให้กับแรงงานของโรงงานสิ่งทอที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

    เงินก้อนนี้ถือเป็นเงินช่วยเหลือเร่งด่วนภายใต้โครงการ EU Myan Ku( Myan Ku หมายถึงช่วยเหลือเร่งด่วนในภาษาเมียนมา) โดยราว 80% ของเงินกองทุนกองนี้จะนำไปช่วยเหลือแรงงานอย่างน้อย 30,000 -80,000 ที่ต้องออกจากงาน แต่ละรายจะได้รับเงิน 75,000 จ๊าดต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน คือเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน ส่วนที่เหลืออีก 10% จะนำไปช่วยเหลือแรงงาน 3,000-8,000 รายที่ถูกให้ออกจากงานโดยไม่ชอบตามกฎหมาย

    สมาชิก RCEP ถกเข้มมุ่งลงนามความตกลงปลายปีนี้

    สมาชิก RCEP ถกเข้มเตรียมโน้มน้าวอินเดียกลับเข้าร่วมโต๊ะเจรจา มุ่งลงนามความตกลงปลายปีนี้

    กระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมระดับคณะกรรมการ RCEP ครั้งที่ 29 หารือประเด็นคงค้างของอินเดีย พร้อมเตรียมยื่นข้อเสนอให้อินเดียพิจารณากลับเข้าโต๊ะเจรจา มุ่งสร้างความมั่นคงทางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งเป้าขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายทั้ง 20 บท ให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม ก่อนลงนามความตกลงในปลายปีนี้

    นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP เปิดเผยว่า ผู้แทนจากประเทศสมาชิก 15 ประเทศ (ยกเว้นอินเดีย) ได้ร่วมการประชุมระดับคณะกรรมการ ครั้งที่ 29 ผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 20-29 เมษายนที่ผ่านมา โดยความสำเร็จที่สำคัญในครั้งนี้ สมาชิก RCEP ได้หารือประเด็นคงค้างของอินเดีย และร่วมกันจัดทำเอกสารข้อเสนอที่จะยื่นให้อินเดียพิจารณากลับเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง RCEP ตามที่ผู้นำและรัฐมนตรี RCEP ได้ตกลงไว้ในการประชุมสุดยอดผู้นำ RCEP เมื่อปีที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังให้ RCEP เป็นเวทีแห่งการสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่มั่นคงในภูมิภาค ที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

    ทั้งนี้ สำหรับเอกสารข้อเสนอที่จะยื่นให้อินเดียระบุถึงการหาทางออกในประเด็นอ่อนไหวของอินเดีย ในเรื่องการลดภาษีสินค้านำเข้าจากสมาชิก RCEP ซึ่งอินเดียมีความกังวลในปัญหาการขาดดุลการค้ากับหลายประเทศใน RCEP และข้อเสนอกระบวนการหารือตามกรอบเวลา เพื่อให้ทันต่อการลงนามความตกลงในปลายปีนี้ โดยจะต้องมีการหารือร่วมกับอินเดียในรายละเอียดต่อไป

    นายรณรงค์ เสริมว่า การประชุมครั้งนี้ ยังสามารถหาข้อสรุปได้อีกหลายเรื่อง ได้แก่ 1) การปรับตารางข้อผูกพันเปิดตลาดของสมาชิกให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน 2) การจัดตั้งกลไกการทำงานของ RCEP ภายหลังที่รัฐมนตรี RCEP ได้ลงนามในความตกลง และเมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ และ 3) ความคืบหน้าของการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเพื่อเตรียมให้รัฐมนตรี RCEP ลงนามในความตกลง โดยจะมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายให้เสร็จทั้ง 20 บท ภายในเดือนกรกฎาคม 2563 เพื่อให้สมาชิกมีเวลาที่เหลือเตรียมการภายในประเทศให้เสร็จสิ้นทันต่อการลงนามความตกลงในปีนี้

    “ความตกลง RCEP จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างกิจกรรมการค้าเพิ่มขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจในภูมิภาคในช่วงวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลจึงเล็งเห็นโอกาสของไทยในการใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP เพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศทันที เมื่อความตกลงมีผลใช้บังคับ ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจการค้าได้เร็วกว่าหลายประเทศนอกภูมิภาค สำหรับสินค้าไทยที่จะใช้สิทธิประโยชน์จาก RCEP อาทิ น้ำตาล อาหารแปรรูป มันสำปะหลัง กุ้ง ข้าว และสินค้าเกษตรอื่นๆ รวมทั้งแผนการฟื้นฟูและส่งเสริมธุรกิจบริการไทย อาทิ ก่อสร้าง ค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจสุขภาพ ท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวกับภาพยนตร์และบันเทิง พร้อมปรับกลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนคุณภาพให้กลับเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย หลังวิกฤตโควิด-19 อาทิ นวัตกรรมดิจิทัล เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ และระบบโลจิสติกส์” นายรณรงค์ กล่าวสรุป