ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อาเซียนในปีที่ 53 เศรษฐกิจหดตัว อินโดนีเซียจีดีพีติดลบครั้งแรกในรอบ 20 ปี

ASEAN Roundup อาเซียนในปีที่ 53 เศรษฐกิจหดตัว อินโดนีเซียจีดีพีติดลบครั้งแรกในรอบ 20 ปี

9 สิงหาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 1-8 สิงหาคม 2563

  • อาเซียนเศรษฐกิจติดลบครบรอบ 53 ปี
  • อินโดนีเซียจีดีพีติดลบครั้งแรกรอบ 20 ปี
  • ฟิลิปปินส์จีดีพีไตรมาสสองติดลบรอบ 29 ปี
  • สิงคโปร์ฟื้นจากถดถอยเติบโต 7% ปี 2021
  • ทางออกของนโยบายกุญแจสำคัญเสถียรภาพทางการเงินอาเซียน
  • อาเซียนเศรษฐกิจติดลบครบรอบ 53 ปี

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnam-joins-hands-with-asean-battle-against-covid-19/171505.vnp
    วันที่ 8 เดือนสิงหาคม 2563 ASEAN Day เป็นที่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (Association of the Southeast Asian Nations – ASEAN) ครบรอบการก่อตั้ง 53 ปี และอยู่บนเส้นทางที่แสดงให้เห็นแล้วว่า การรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวที่มีความเชื่อมโยงใกล้ชิดมีความก้าวหน้า ทำให้อาเซียนมุ่งเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสร้างความเจริญรุ่งเรือง พลเมืองได้ประโยชน์

    อาเซียน 10 ประเทศที่มีความแตกต่างกันได้รวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2015 ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย และนับตั้งแต่นั้นอาเซียนมีคววามใกล้ชิดกันมากขึ้นและมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค

    อาเซียนยังเป็นตัวหลักสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือและความเชื่อมโยงในด้านการค้า นำไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนกับพันธมิตรสำคัญ ทั้ง จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นอาเซียนบวก 3 (ASEAN +3) ต่อมาได้เพิ่มอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นอาเซียนบวก 6 (ASEAN +6) รวมทั้งมีโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจการค้ากับพันธมิตรอื่นเช่น สหรัฐฯ แคนาดา สหภาพยุโรปและรัสเซีย และอาเซียนยังริเริ่มการเจรจา ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)

    จากภูมิภาคที่แตกต่าง อาเซียนปัจจุบันเป็นประชาคมของประเทศที่มีประชากรรวมกันราว 650 ล้านคน เศรษฐกิจที่มีพลวัตรและมีขนาด 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก เป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคที่ได้รับความสนใจ ความร่วมมือจากพันธมิตรทั่วโลก และนับว่าการรวมตัวของอาเซียนเป็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จ โลกจับตาอาเซียนมากขึ้นต่อเนื่อง

    ในสองปีที่ผ่านมาอาเซียนประสบกับภาวะความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก อันเนื่องจากการแข่งขันของมหาอำนาจ ที่เกี่ยวโยงมายังการกีดกันทางการค้า และกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก เพราะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

    ในปี 2020 ที่ครบรอบการก่อตั้ง 53 ปี อาเซียนประสบกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่นของโลก แม้ประเมินกันว่าอาเซียนจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าภูมิภาคอื่น แต่กระนั้นผลกระทบจากไวรัสต่อเศรษฐกิจก็นับว่ารุนแรง โดยแต่ละประเทศได้รับผลกระทบที่ไม่เท่ากัน โดยส่วนใหญ่แล้วเศรษฐกิจติดลบในรอบหลายสิบปี

    อินโดนีเซียติดลบครั้งแรกรอบ 20 ปี

    ที่มาภาพ: https://asia.nikkei.com/Economy/Indonesia-s-economy-contracts-for-first-time-in-20-years
    เศรษฐกิจอินโดนีเซียติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี หลังจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(Gross Domestic Product:GDP) ไตรมาสสองที่หักเงินเฟ้อหดตัว 5.32% จากระยะเดียวกันของปีก่อน และชะลอตัวจาก 2.97% ในไตรมาสก่อนหน้า และมีความเสี่ยงว่า การระบาดของไวรัสโควิดจะทำให้เศรษฐกิจถดถอย

    การหดตัวของเศรษฐกิจไตรมาสสองสูงกว่า 4.61% ที่นักวิเคราะห์คาด และตกลงเร็วกว่า 4.3% ที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด คาดไว้

    จากข้อมูลของโออีซีดี(Organization for Economic Cooperation and Development) พบว่า เป็นครั้งแรกที่จีดีพีรายไตรมาสของอินโดนีเซียหดตัว ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 1999 เมื่อประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย

    มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมที่ใช้ทั่วประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกส่วน การบริโภคซึ่งมีสัดส่วนกว่าครึ่งของระบบเศรษฐกิจ หดตัว 5.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 1998

    แม้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และธนาคารกลางได้ลดดอกเบี้ยหลายรอบ แต่เศรษฐกิจก็ยังมีปัญหาเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสดควิด-19 ยังเพิ่มขึ้นส่งผลให้หลายพื้นที่ยังใช้มาตรการทางสังคมที่เข้มงวดต่อไป โดยในกรุงจาการ์ตาได้ขยายระยะปรับตัวที่จะผ่อนปรนมาตรการออกไปเป็นครั้งที่สามในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้สำนักงาน ศูนย์การค้า และสถานที่สาธารณะ เปิดให้บริการเพียงครึ่งหนึ่ง

    นอกจากนี้มีความล่าช้าในการดำเนินการใช้จ่ายตามมาตรการของรัฐบาล โดยเบิกจ่ายเงินได้เพียง 20% ของวงเงิน 695 ล้านล้านรูเปียะห์เท่านั้น

    ธนาคารกลางอินโดนีเซีย(Bank Indonesia) คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบ U-shape ซึ่งหมายถึงว่าเศรษฐกิจจะอ่อนแรงระยะหนึ่ง ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งวัดจากจีดีพีที่ติดลบติดต่อกันสองไตรมาส ก็จะเกิดขึ้นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี 1998 และในกรณีเลวร้ายสุดรัฐบาลอินโดนีเซียคาดว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะหดตัว 0.4%

    แต่นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่า รัฐบาลมองโลกในแง่ดีเกินไป

    “เรายังกังวลต่ออัตราการฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี ซึ่งจีดีพีทั้งปี 2020 จะหดตัว 2.7% เราคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆและจีดีพีครึ่งหลังของปียังติดลบก่อนที่จะกลับเป็นบวกในปี 2021” ซุง เอิน จุง นักเศรษฐศาสตร์จากออกซ์ฟอร์ด อิโคโนมิกให้ความเห็น

    กาเร็ธ เลเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากแคปปิตอลอิโคโนมิกส์ ประเมินว่า จีดีพีทั้งปีจะหดตัวราว 3% ทั้งปี

    “เราคาดว่าจะฟื้นตัวแบบอ่อน อินโดนีเซียยังมีผู้ติดเชื้อไวรัส 2,000 รายต่อวัน ความกังวลว่าจะติดเชื้อทำให้ผู้คนยังไม่กล้าที่จะใช้ชีวิตตามปกติ และมาตรการรักษาระยะห่างยังใช้อีกนาน”

    รายงานของธนาคารโลกเดือนกรกฎาคมระบุว่า แนวโน้มยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นขาลง นับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน จาการ์ตาและหลายพื้นที่ได้กำลังเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ด้วยการผ่อนคลายมาตรการการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจะทำให้เกิดการติดเชื้อรอบใหม่ และอาจทำให้รัฐบาลใช้มาตรการเข้มงวดรอบใหม่ ซึ่งมาตรการเข้มงวดนี้จะมีผลต่ออุปสงค์และอุปทานและกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ

    ฟิลิปปินส์จีดีพีไตรมาสสองติดลบรอบ 29 ปี

    ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/ajimpact/philippine-economy-posts-biggest-quarterly-plunge-200806051633703.html
    เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ไตรมาสสองหดตัวมากที่สุดเท่าที่เคยรายงานมา และมากกว่าที่คาด จนเข้าสู่ ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกในรอบ 29 ปีเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดและใช้เป็นเวลานานที่สุดในโลก มีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 5.5% ในปี 2020

    จีดีพีช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนหดตัว 16.5% จากระยะเดียวของปีก่อน และเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดทำภาวะเศรษฐกิจรายไตรมาสปี 1981 รวมทั้งยังลดลงมากกว่า 9% ที่นักวิเคราะห์คาดไว้ และย่ำแย่กว่าที่ไตรมาสแรกที่ติดเลบเพียง 0.7% ขณะที่จีดีพีไตรมาสสองที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลง 15.2% จากช่วง 3 เดือนแรกของปี

    เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสอาจจะเลวร้ายลง จากการที่รัฐบาลนำมาตรการกักกันที่เข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดในกรุงมะนิลาและจังหวัดใกล้เคียงสองสัปดาห์ ท่ามกลางการระบาดรอบสอง

    คาร์ล จั่ว รักษาการเลขาธิการสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจ ระบุว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์คาดว่าจะถดถอย 5.5% ปีนี้ซึ่งมากกว่าที่ประเมินไว้

    “เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ร่วงลงไปสู่ภาวะถดถอย โดยจีดีพีไตรมาสสองที่ติดลบแสดงให้เห็นถึงผลกระทบรุนแรงจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ข้มเงวต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภค” นิโคลาส แอนโทนีโอ มาปา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก ไอเอ็นจีให้ความเห็น

    “การว่างงานที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ยังคงเพิ่มขึ้นอีกในหลายเดือนข้างหน้า เราไม่คาดว่าพฤติกรรมการบริโภคจะฟื้นตัวเร็ว เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น”

    ธุรกิจบางภาคต้องปิดการให้บริการอีกครั้งจากคำสั่งห้ามการเคลื่อนไหวและระงับการเปิดกิจการอีกครั้งในกรุงมะนิลาและจังหวัดรอบนอก ซึ่งมีสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศและเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

    บริษัทวิจัยแคปปิตอลอิโคโนมิกส์ระบุว่า การหดตัว 16.5% ของจีดีพีไตรมาสสองน่าจะเป็นการหดตัวที่มากที่สุดในภูมิภาค

    “ความล้มเหลวในการควบคุมไวรัส รวมทั้งมาตรการเข้มงวดจำกัดความเคลื่อนไหวและมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจที่ไม่มากพอ จะทำให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ฟื้นตัวช้าที่สุดในภูมิภาค” อเล็กซ์ โฮล์มส์ นักเศรษฐสาสตร์จากแคปปิตอลอิโคโนมิกส์ให้ความเห็นฃ

    ฟิลิปปินส์ที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสรองจากอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศในอาเซียนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุด

    การว่างงานที่สูงมากเป็นประวัติการณ์และการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานฟิลิปปินส์ที่ทำงานในต่างประเทศ มีผลต่อการบริโภคของบุคคลซึ่งมีสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของจีดีพี ขณะที่การส่งออกลดลงเป็นเลขสองหลักในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน เพราะมาตรการล็อกดาวน์มีผล
    กระทบต่อการผลิตและห่วงโซ่การผลิต

    นักวิเคราะห์มองว่า อัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำตลอดทั้งปี ทำให้ธนาคารกลางยังสามารถที่จะลดดอกเบี้ยได้อีกหากจำเป็น หลังจากที่ปรับดอกเบี้ยลงรวมกัน 1.75% แล้วในปีนี้มาที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ 2.25%

    เอชเอสบีซี คาดว่า ธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% ในไตรมาสสองสี่ปีนี้ ซึ่งจะส่งลหใ้ดอกเบี้ยปีนี้ลดลงรวม 2%

    นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า รัฐบาลต้องเสริมมาตรการการเงินของธนาคารกลางด้วยมาตรการทางการคลังชุดใหญ่

    “จีดีพีที่ออกมาบ่งชี้ว่าทุกฝ่ายต้องร่วมกันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” โนลัน อาร์บิส นักเศรษฐศาสตร์เอชเอสบีซีระบุในบทวิเคราะห์และระบุอีกว่า
    “การขาดมาตรการทางการคลังที่เพียงพอเป็นจุดที่น่ากังวลของประเทศ ซึ่งขณะนี้เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสมากที่สุดในภูมิภาค รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจมีปัญหามากขึ้น”

    ฝ่ายนโยบายกำลังวางแผนมาตรการการใช้จ่ายและลดอัตราภาษีนิติบุคคล ซึ่งประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต้ หวังว่าจะช่วยเหลือครัวเรือนและธุรกิจที่ไ้ดรับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสได้ โดยวุฒิสภาเสนอมาตรการในวงเงิน 140 พันล้านเปโซหรือ 2.9 พันล้านดอลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน้อยกว่ารัฐบาลในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น

    สิงคโปร์ฟื้นจากถดถอยเติบโต 7% ปี 2021

    ที่มาภาพ: https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/recreation-leisure/viewpoints/merlion-park/

    สิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวจากภาวะถดถอยและขยายตัวในอัตรา 7% ในปี 2021 จากการประเมินของรายงานภาวะเศรษฐกิจ Asean+3 Regional Economic Outlook 2020ของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน +3(Asean+3 Macroeconomic Research Office:AMRO) ที่เผยแพร่วันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา

    เศรษฐกิจสิงคโปร์จะกลับมาขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในปีหน้าหลังจากที่หดตัวมากกว่าที่คาด เพราะผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 รายงาน AMRO ระบุ โดยจีดีพีสิงคโปร์จะขยายตัว 7% ในปี 2021 หลังจากหดตัว 6% ในปีนี้ ซึ่ง AMRO ได้ปรับประมาณจีดีพีปีนี้ลดลงอีกจากที่คาดว่าจะหด 0.8%

    ดร.โฮ อี้ คอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน +3 กล่าวว่า การฟื้นตัวของสิงคโปร์ตจะริ่มขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ จากแรงหนุนของภาคการผลิตและภาคบริการทางการเงินที่ปรับตัวดีกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ

    นอกจากนี้แรงงานต่างชาติได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสและพร้อมที่จะทำงาน ภาคการก่อสร้างจะเริ่มมีบทบาทต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปลายปีนี้และจะสนับสนุนเศรษฐกิจต้อเนื่องในปี 2021

    “เราคาดว่าสิงคโปร์จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในครึ่งปีหลังต่อเนื่องไปจนถึงปี 2021 แต่ภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวและการต้อนรับจะยังคงประสบกับความลำบากไปจนกว่าจะมีวัคซีนออกใช้กันอย่างแพร่หลายพอที่จะยกเลิกข้อห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ”

    กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์คาด จีดีพีสิงคโปร์จะหดตัว 4-7% ในปีนี้แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีประมาณการอย่างเป็นทางการของปี 2021

    ในทั้ง 14 ประเทศอาเซียนและอาเซียนบวก 3 AMRO คาดว่าจะฟื้นตัวแบบ U-shape นำโดยจีน แต่โดยรวมเศรษฐกิจทั่วทั้งภูมิภาคจะชะลอตัวรุนแรงอัตราเติบโตเป็น 0% จากที่ขยายตัว 4.8% ในปี 2019 ก่อนที่จะฟื้นตัวแข็งแกร่งเป็น 6% ในปี 2021

    มาตรการจำกัดความเคลื่อนไหวที่แข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก นำไปสู่การว่างงานที่สูงขึ้น ธุรกิจชะงักงัน และความต้องการในประเทศทรุดหนัก การจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศก็มีผลต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค

    AMRO ระบุว่า 9 ใน 14 ประเทศประสบกับเศรษฐกิจหดตัว แต่จีน บรูไน ลาว เมียนมา และเวียดนาม เศรษฐกิจจะขยายตัว ซึ่งประมาณการนี้อยู่บนพื้นฐานว่าการควบคุมการระบาดของไวรัสทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกมีประสิทธิภาพ

    การติดเชื้อระลอกใหม่ในบางส่วนของภูมิภาคและที่อื่นของโลก ทำให้วิตกว่าจะมีการล็อกดาวน์รอบใหม่ ซึ่งกลุ่มอาเซียนบวก 3 คงรับมือได้ลำบาก แม้ส่วนใหญ่ยังมีขีดความสามารถทางนโยบายทั้งด่านการคลังและการเงินที่จะสนับสนุนหากจำเป็น

    ทางออกของนโยบายกุญแจสำคัญเสถียรภาพทางการเงินอาเซียน

    ดร. หลี เหลียน อ่อง จากสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน +3 (Asean+3 Macroeconomic Research Office:AMRO) ให้ความเห็นว่า การจัดการกับทางออกจากนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค

    “ความท้าทายใหญ่สุดของฝ่ายนโนยบายในกลุ่ม Asean+3 ในครึ่งหลังของปี 2020 คือการรักษาสมดุลระหว่างการผ่อนปรนมาตรการเพื่อฟื้นเศรษฐกิจกับความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อรอบใหม่”

    มองไปข้างหน้า วิธีการจัดการกับการออกจากนโยบายที่เกี่ยวกับการระบาดจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน

    รัฐบาลจะต้องถอนการสนับสนุนทางการเงินที่ให้กับภาคธุรกิจนอกภาคการเงิน และประชาชนเพื่อรักษาความมั่นคงของฐานะการเงินด้านการคลัง ขณะที่ต้องรักษาสมดุลเพื่อไม่ให้ธุรกิจล้มละลายและการว่างงาน

    ส่วนผู้กำกับนโยยายการเงินก็ต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกัน โดยต้องทางแนวทางในการออกจากการบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะอันตรายจากการกระทำที่ไม่สุจริต (Moral Hazard) ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดแรงกระแทกอย่างเฉียบพลันต่องบดุลของธนาคาร

    ธนาคารกลางควรยุติการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดฟองสบู่ของสินทรัพย์และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้การปล่อยสินเชื่อเข้มงวดเกินไป