ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ไฟเขียวจังหวัดละ 10 ล้าน จ้างงานเกษตรกร ตั้ง “กฤษฎา บุญราช” เป็นปลัด มท. คนใหม่ นายกฯ สั่งพลังงานแจงปมโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ครม. ไฟเขียวจังหวัดละ 10 ล้าน จ้างงานเกษตรกร ตั้ง “กฤษฎา บุญราช” เป็นปลัด มท. คนใหม่ นายกฯ สั่งพลังงานแจงปมโรงไฟฟ้าถ่านหิน

22 กรกฎาคม 2015


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณามาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง และแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในกระทรวงมหาดไทย (มท.)

3 ขั้นตอนช่วยเกษตรกรช่วงแล้ง – ควักงบจ้างงาน จว.ละ 10 ล้าน

พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ประกาศการจัดการน้ำทั้งระบบเป็นวาระแห่งชาตินานแล้ว แต่การดำเนินการต้องเป็นไปตามขั้นตอน มีการกำหนดกิจกรรมไว้ 12 กิจกรรม อาทิ หาแหล่งน้ำเพิ่มเติม ขุดลอกคูคลอง ทำแก้มลิง ขยายอ่างเก็บน้ำ ฯลฯ โดยมีเป้าหมายคือเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตร โดยระยะยาวอาจต้องหาวิธีว่าจะใช้น้ำที่อยู่ในแม่น้ำระหว่างประเทศอย่างไร

ส่วนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งขณะนี้ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน

  1. การจ้างงานเร่งด่วน โดยใช้งบของกระทรวงมหาดไทย ที่ตั้งไว้กรณีทดรองจ่ายกรณีฉุกเฉินเพื่อป้องกันภัยพิบัติ จังหวัดละ 10 ล้านบาท หากไม่พอรัฐบาลจะสนับสนุนให้
  2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หาวิธีในการปลูกพืชหมุนเวียนทดแทนการปลูกข้าว โดย คสช. จะคอยสนับสนุน
  3. ชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกร ทั้งที่ปลูกข้าวแล้วได้รับความเสียหาย รวมถึงที่ยังไม่ได้ปลูกข้าวแต่เสียโอกาส นอกจากนี้ จะหารือถึงการปลูกข้าวนาปรังด้วย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนการขุดบ่อน้ำบาดาลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ติดปัญหาบางพื้นที่ไม่มีกระแสไฟฟ้า ขายใช้โซลาร์เซลปั๊มน้ำแทน ซึ่งส่วนตัวก็ยอมรับว่ากังวล เพราะน้ำบาดาลไม่ควรจะใช้สำหรับการเกษตร และต้องเหลือทดแทนน้ำประปาที่อาจจะขาดในวันข้างหน้าด้วย เพราะทุกวันนี้ ได้ใช้น้ำต้นทุนหมดไปแล้ว ไม่สามารถระบายน้ำได้มาก และปริมาณฝนที่ตกลงมาในขณะนี้ก็ยังไม่เพียงพอ

สั่งพลังงานแจงปมโรงไฟฟ้าถ่านหิน ห่วงภาคใต้มีไฟไม่พอใช้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีการเคลื่อนไหวประท้วงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.กระบี่ ตนก็เป็นห่วงเรื่องพลังงานในภาคใต้ เพราะปัจจุบันมีความต้องการใช้กำลังไฟฟ้า 3,000 กิโลวัตต์/วัน แต่มีกำลังผลิตเพียง 800 กิโลวัตต์/วัน ในปี 2559 แหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA – A18) จะลดการจ่ายก๊าซลง หากไทยไม่มีแหล่งพลังงานจะทำอย่างไร ดึงจากภาคกลางไปมากๆ ภาคกลางก็จะเกิดปัญหา ที่เสนอให้ใช้พลังงานทดแทน ปัญหาคือจะเติมให้ถึง 3,000 กิโลวัตต์/วัน ได้ไหม”

ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานไปชี้แจงกับผู้ที่เคลื่อนไหว ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้างหากไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.กระบี่ โดยให้นำตัวแทนไปดูผลกระทบที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง ว่าเป็นอย่างไรจะดีกว่า

เมื่อถามว่า แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมเปิดซองประมูลโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2558 แล้ว พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่ากังวล เพราะถึงประมูลไปแล้ว แต่ยังไม่ผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก็ไม่สามารถก่อสร้างได้ เขาจะเตรียมมาอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าสร้างไม่ได้ก็คือไม่ได้

“วันนี้ ที่ไฟฟ้าอยู่ในราคานี้ได้ เพราะราคาน้ำมันถูกลง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง แต่วันข้างหน้า หากไม่ลดสัดส่วนการใช้ก๊าซและน้ำมันผลิตไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 70% จะหาพลังงานจากที่ไหนมาแทน” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

แจงตั้ง กก.ขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้น ศก. แค่หวังทำงานบูรณาการ

เมื่อถามถึงการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการเศรษฐกิจและกระตุ้นการลงทุนของประเทศมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ว่าเพราะกังวลว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่เพราะต้องการให้งานเดินหน้าไปแบบบูรณาการ ทั้งเศรษฐกิจมหภาคและจุลภาค เพราะเศรษฐกิจแนวใหม่ต้องเสริมซึ่งกันและกัน โดยนำงานวิจัยทั้งที่ภาครัฐและภาคเอกชนทำไว้ออกมาดู

เมื่อถามถึงการปรับทีมเศรษฐกิจ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “จะปรับก็ปรับไปสิ เสนอมาผมก็รับ แต่จะขอนำกลับไปคิดเอง”

ปัดซื้อโปรแกรมสอดแนมข้อมูลสมัยเป็น ผบ.ทบ.

ส่วนกรณีที่วิกิลีกส์เผยแพร่ข้อมูลการสื่อสารของบริษัทแฮ็กเกอร์ระดับโลกแห่งหนึ่ง โดยพบว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยได้จัดซื้อโปรแกรมสอดแนมผู้ใช้โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ ซึ่งเหตุเกิดขึ้นในระหว่างที่ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่กองทัพไทยจะไปแฮ็กข้อมูลประชาชน ยืนยันว่าในสมัยตนไม่มีการจัดซื้อโปรแกรมดังกล่าว การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ถ้าไม่มีความผิด ใครจะเข้าไปได้ และอย่าไปเชื่อวิกิลีกส์มาก เพราะวิกิลีกส์ก็ถูกฟ้องหลายคดี

ไม่ใช้ ม.44 ตั้งกรรมการสอบ “ธัมมชโย”

เมื่อถามถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีพระเทพญานมหามุนี (ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย นำทรัพย์สินของวัดมาเป็นของตนเอง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า มีวิธีอื่นอีกมากมาย กฎหมายปกติก็มีอยู่ คดีก็อยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผิดก็ว่าไปตามผิด อย่าไปขัดแย้งกันมากมาย ต้องให้ฝ่ายกฎหมายมีเวลาทำงาน

กบช. นัดถกสถานการณ์น้ำ 22 ก.ค. นี้

ต่อมา รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งร่วมกันแถลงข่าว โดยพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้จังหวัดที่มีปัญหาภัยแล้งทั้งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกบางส่วน สามารถใช้งบทดรองจ่ายกรณีฉุกเฉินเพื่อยับยั้งภัยพิบัติซึ่งมีการตั้งไว้จังหวัดละ 10 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการจ้างงานฉุกเฉินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในช่วงที่ไม่สามารถทำนาได้

ส่วนความคืบหน้าในการขุดบ่อน้ำบาดาล พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า ขณะนี้ได้ขุดบ่อน้ำบาดาลไปแล้วเกือบครบ 500 บ่อ ช่วยเกษตรกรไปได้ในระดับหนึ่ง ส่วน มท. ก็จะขุดบ่อน้ำบาดาลอีกกว่า 1,000 บ่อ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะ แต่จะขุดในพื้นที่แล้งซ้ำซากเท่านั้น

“สถานการณ์น้ำขณะนี้ถือว่าดีขึ้น โดยช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2558 เป็นต้นไปฝนจะตกลงมามากขึ้น และเข้าสู่ฤดูฝนในเดือนสิงหาคม 2558 แต่ปัญหาก็คือฝนไปตกลงที่ใด หากตกลงเหนือเขื่อน ก็จะบริหารจัดการได้ง่าย แต่ถ้าไม่ตกลงเหนือเขื่อน ก็จะคงมีน้ำเพียงพอแก้ไขปัญหาได้ในช่วงนี้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำโดยรวมจะมีการหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กบช.) ครั้งที่ 1/2558 ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 นี้” พล.อ. อนุพงษ์ กล่าว

เตรียมปล่อยน้ำช่วยชาวนาตามความจำเป็น

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากที่ประชุม ครม. ลดการปล่อยน้ำจาก 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จาก 28 ล้าน ลบ.ม./วัน เป็น 18 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคประชาชน ขณะนี้ฝนที่ตกลงมาเหนือเขื่อนก็มีปริมาณที่น่าพอใจ ทำให้เริ่มสามารถผ่อนปรนการปล่อยน้ำให้กับเกษตรกรได้ ขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนในแต่ละพื้นที่ 1. พื้นที่ข้าวอุ้มท้องแล้ว หรือปลูกมา 8 สัปดาห์ขึ้นไป 1.36 ล้านไร่ 2. พื้นที่ข้าวที่ปลูกมา 6-8 สัปดาห์ ถ้าปล่อยน้ำให้จะมีโอกาสรอดสูง 1.25 ล้านไร่ และ 3. พื้นที่เพิ่งปลูกข้าวอายุไม่ถึง 6 สัปดาห์ ซึ่งเสี่ยงมากที่สุด 1.7 แสนไร่

“จึงอยากขอความร่วมมือจากประชาชน 2 ฝั่งว่าอย่าเพิ่งสูบน้ำไปใช้ปลูกพืชครั้งที่สอง หรือใช้ประโยชน์อื่น เพราะเราต้องการส่งน้ำเหล่านี้นี้ไปยังพื้นที่เป้าหมายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด คาดว่าจะเริ่มปล่อยน้ำได้ภายในวันพรุ่งนี้” นายปีติพงศ์กล่าว

พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า ทหารจะร่วมมือกับฝ่ายปกครองในการแก้ไขปัญหา ยืนยันว่าจะไม่มีการใช้กำลังหรือเผชิญหน้ากับชาวบ้าน เพราะทหารก็เป็นลูกหลานของเกษตรกร โดยการปฏิบัติงานจะไม่มีการใช้อาวุธอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ จะมีการนำน้ำดื่มไปแจกจ่ายในพื้นที่ขาดแคลน รวมถึงจำหน่ายสินค้าธงฟ้าราคาถูก และขายอาหารหน้าค่ายราคาถูก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า

ครม. ตั้ง “กฤษฎา บุญราช” เป็นปลัดมหาดไทย มีผล 1 ต.ค.

สำหรับมติ ครม. ที่สำคัญ พล.ต. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วม เพื่อจะใช้ในการประชุมประเทศลุ่มแม่น้ำอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง 5 ประเทศ ได้แก่ พม่า ไทย กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ครั้งที่ 2 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 ที่ประเทศพม่า โดยร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว มีสาระสำคัญ อาทิ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกันซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 45 ล้านคนเป็นสองเท่า, จัดทำวีซ่าร่วมกัน 5 ประเทศ, พัฒนาการคมนาคมระหว่างประเทศทั้งทางบกและทางอากาศให้ไปมาสะดวกมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในกระทรวงมหาดไทย (มท.) จำนวน 9 คน ประกอบด้วย นายกฤษฎา บุญราช เป็นปลัด มท. นายไมตรี อินทุสุต เป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน นายจรินทร์ จักกะพาก เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ เป็นอธิบดีกรมที่ดิน ร.ต.ท. อาทิตย์ บุญญะโสภัต เป็นอธิบดีกรมการปกครอง นายชยพล ธิติศักดิ์ เป็นรองปลัด มท. นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ เป็นรองปลัด มท. นายประทีป กีรติเรขา เป็นรองปลัด มท. และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เป็นรองปลัด มท. และมีมติแต่งตั้งนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ เป็นรองปลัดกระทรวงพลังงาน ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป

ขึ้นเงินเดือน พนง.มหาวิทยาลัย 4% ควักเยียวยาล็อตแรก 800 ล้าน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ให้ขึ้นเงินเดือนพนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 6.8 หมื่นคน ในอัตรา 4% หลังจากคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับอานิสงฆ์จากการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เมื่อปลายปี 2557 โดยให้จัดสรรงบประมาณเยียวยา ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 เป็นเงิน 809 ล้านบาท ส่วนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป ให้หน่วยงานต้นสังกัดตั้งงบประมาณปกติ

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบอีก 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ. ….

เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร แก้เงินรางวัล-อัตราโทษ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญคือการนำกฎหมายศุลกากรทั้ง 24 ฉบับ ที่กระจัดกระจายกันอยู่ให้มารวมกันเป็นฉบับเดียว นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขสาระสำคัญบางอย่าง เช่น เรื่องของเงินรางวัลนำจับ จากเดิมให้อัตรา 25% ของเงินค่าขายของกลางหรือค่าปรับ เหลือ 15% ของมูลค่าค่าขายของกลางหรือค่าปรับ และสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่เป็นสายลับ ให้ในอัตรา 30% ของเงินค่าขายของกลางหรือค่าปรับ แต่สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท และแก้ไขอัตราโทษตาม 3 ฐานความผิด ได้แก่ ลักลอบหนีศุลกากร หลีกเลี่ยงอากร และหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อจำกัด ให้เหมาะสมขึ้น

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้คือกำหนดให้มีตำรวจกองประจำการเช่นเดียวกับทหาร โดยทหารเกณฑ์สามารถเลือกไปประจำการที่ตำรวจได้ นอกเหนือจากทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ โดยเมื่อครบ 2 ปีก็ให้ปลดประจำการเป็นทหารกองหนุนได้ แต่หากต้องการรับราชการตำรวจ จะต้องมาสอบเข้ารับราชการตามขั้นตอนปกติ

แก้สาระ กม.เศรษฐกิจดิจิทัล ตั้งเพดานเงินกองทุน 5,000 ล้าน

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. …. ซึ่งที่ประชุม ครม. เคยให้ความเห็นชอบและส่งให้กฤษฎีกาตรวจแก้ไปแล้ว แต่เนื่องจากมีการปรับปรุงสาระสำคัญบางประการ จึงต้องนำกลับมาให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอีกครั้ง สาระสำคัญที่มีการปรับแก้ เช่น เรื่องของเงินกองทุน ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีหลักเกณฑ์การใช้เงิน จนอาจนำไปสู่ข้อครหาว่ามีการทุจริต จึงมีการแก้ไขให้มีเงินกองทุนสูงสุด 5,000 ล้านบาท ส่วนที่เกินจากนี้ให้นำส่งคืนคลัง เรื่องวาระดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เดิมกำหนดไว้ว่าให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ก็มีการเพิ่มเติมว่าให้เป็นได้ต่อเนื่องไม่เกิน 2 สมัย

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญคือกำหนดให้มีคณะกรรมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คชก.) ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อกำหนดค่าเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอย่างเป็นธรรม และแก้ไขกรณีที่มีการทำสัญญาเช่าจากเดิมให้มีระยะเวลาเช่า 6 ปี ซึ่งหลายฝ่ายเห็นว่านานเกินไป ลงมาเป็น 2-6 ปีขึ้นไป ส่วนกรณีที่ไม่มีการทำสัญญาเช่า ให้ถือว่ามีระยะเวลาเช่า 6 ปี

เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.เดินเรือฯ ฉบับใหม่ แก้ปัญหา IUU

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย  (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU) ทำให้ต้องมีการกำกับดูแลเรือที่เดินเข้าออกจากราชอาณาจักร และเรือที่เดินภายในราชอาณาจักรบางประเภทเป็นพิเศษ

โดยมีสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.นี้ มี อาทิ เพิ่มบทบัญญัติให้เรือกำปั่นตามประเภทและขนาดที่เจ้าท่าประกาศกำหนด โดยนายเรือต้องแจ้งและรายงานต่อเจ้าท่า เมื่อเดินเรือในน่านน้ำไทย, เพิ่มเติมบทลงโทษกรณีมีผู้ฝ่าฝืนปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต, ให้อำนาจเจ้าท่าในการออกหนังสือสำคัญประจำตัวคนทำการในเรือ หรือผู้รับจ้างทำงานในเรือ, มอบอำนาจให้สถาบันจัดชั้นเรือ (CLASSIFICATION SOCIETY) สามารถตรวจเรือและออกใบสำคัญการตรวจเรือได้ โดยเป็นการอำนวยความสะดวกแก่เจ้าของเรือในการนำเรือเข้ารับการตรวจสภาพเรือและออกใบสำคัญรับรองตามข้อกำหนดของอนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถดำเนินการในเรื่องต่างๆ ตามกฎหมายให้บรรลุผลตามมาตรการดังกล่าวได้

อนุมัติร่างความตกลงร่วมก่อตั้งธนาคารเอไอไอบี

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบการลงนามในร่างความตกลงในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครง สร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) หรือ เอไอไอบี (AIIB) และอนุมัติงบประมาณสำหรับการลงทุนในการจัดตั้ง AIIB ในส่วนของไทยตามสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจตามข้อเสนอของคณะทำงานระหว่างประเทศ โดยเป็นเงินลงทุนที่ต้องชำระทั้งหมดประมาณ 285.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 9,750 ล้านบาท
แบ่งชำระออกเป็น 5 งวด ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2563 คิดเป็นมูลค่าโดยประมาณงวดละ 1,950 ล้านบาท
โดยการชำระงวดแรกจะเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จะขอเบิกจ่ายจากเงินงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

“แต่ต้องนำร่างนี้ไปหารือในที่ประชุมรัฐสภาก่อน ถึงจะไปเซ็นสัญญาในต่างประเทศไทย” แหล่งข่าวระบุ