ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่”พิจารณาผ่อนปรน “สถานการณ์ฉุกเฉิน” สิ้นเดือนนี้ – มติ ครม.หั่นงบฯ 64 ลง 25-50% แก้โควิดฯ

“บิ๊กตู่”พิจารณาผ่อนปรน “สถานการณ์ฉุกเฉิน” สิ้นเดือนนี้ – มติ ครม.หั่นงบฯ 64 ลง 25-50% แก้โควิดฯ

15 เมษายน 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯ เผยงบฯเยียวยาเหลือใช้ได้แค่ 1 เดือน รอคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านเสริม เตรียมพิจารณาผ่อนปรน “สถานการณ์ฉุกเฉิน”ปลายเดือนนี้ – มติครม.หั่นงบฯปี 64 ลง 25-50% โยกแก้โควิด-19

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

พิจารณาผ่อนปรน “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ปลายเดือนนี้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีการผ่อนปรนการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หลังจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง ว่า ตนยินดีที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทยอยลดลงตามลำดับในช่วงหลายวันที่ผ่านมาก สิ่งเหล่านี้รัฐบาลโดย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศูนย์โควิดฯ) จะพิจารณาด้วยหลักเกณฑ์และหลักการทางด้านสาธารณสุขอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีการผ่อนปรนอะไรได้บ้างหรือไม่ ทั้งนี้ขอให้ทิ้งช่วงไปอีกระยะหนึ่งก่อน โดยวันที่ 30 เมษายน 2563 นี้จะเป็นวันสิ้นสุดการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งจะมีการประเมินสถานการณ์ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน

ทั้งนี้ตนทราบดีว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลกระทบและประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งรัฐบาลก็ต้องหามาตรการที่จะมาทดแทนหรือหามาตรการอื่นๆ ดังนั้นขอให้ทุกคนเข้าใจไว้ด้วย

“ยังต้องระมัดระวัง ชั่งน้ำหนักในหลายๆ ด้านแม้สถานการณ์ในขณะนี้จะมีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อที่ลดลงอยู่บ้างในบางจังหวะบางช่วง มันยังมีความเสี่ยงสูงในการที่จะมาชุมนุมกันอะไรต่างๆ เหล่านี้ ในเรื่องของการผ่อนปรนก็ได้ให้หน่วยงานต่างๆ ไปเตรียมการไว้แล้วทั้งถ้าหากสถานการณ์ดีขึ้นจริงจะลดระดับมาตรการได้อย่างไร หากไม่ดีขึ้นจะเพิ่มความเข้มงวดได้อย่างไร ซึ่งผมไม่อยากให้ไปสู่ตรงโน้น เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือจากภาคประชาชนทุกคนทุกภาคส่วน หากเราขาดความร่วมมือและหย่อนวินัยหย่อนความเข้มงวดลงไปโรคระบาดก็อาจจะกลับมาโจมตีเราได้อีกซึ่งหลายประเทศก็เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลกำลังหามาตรการที่เหมาะสม และหาหนทางที่ดีที่สุดอยู่ ถ้าหากมีการผ่อนปรนสิ่งเหล่านี้ก็ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ทีเดียวทั้งหมด เนื่องจากบางพื้นที่ยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคใต้ ที่ต้องมีมาตรการป้องกันการกลับมาระบาดใหม่ในทุกมิติ ทุกกิจการ

“ในการดำเนินการใดๆ ท่านจะต้องเตรียมความพร้อมของท่านไว้ โดยจะต้องแสดงให้เห็นว่าท่านมีความพร้อมอย่างไร เมื่อท่านจะเปิดหรือทำเนินการใดๆ แล้วท่านมีมาตรการในการดูแลอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้แอลกอฮอล์ เรื่องของการตรวจเข้าออก และปริมาณคนเข้ามาในพื้นที่ในหลายๆ กิจการด้วยกัน ผมทราบดีว่าท่านเดือดร้อน ท่านร้อนใจ ผมยิ่งร้อนใจกว่าท่าน เพราะผมเป็นรัฐบาลที่จะต้องดูแลท่าน ก็ขอให้เข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันแล้วเราจะประเมินอีกครั้งในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน

ตั้ง คกก. กำกับมาตรการเยียวยา ย้ำช่วยทั่วถึงทุกคน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงปัญหาของมาตรการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท ว่า ตนทราบดีถึงความสับสนอลหม่านในมาตรการชดเชยรายได้จำนวน 5,000 บาทต่อเดือน โดยตนอยากสร้างความเข้าใจให้ตรงกันว่ารัฐบาลนั้นให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม โดยรัฐบาลได้พิจารณาจากฐานข้อมูลกำลังแรงงานที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 37 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 67-68 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีอาชีพอิสระแรงงานนอกระบบ จำนวน 9 ล้านคน แรงงานในระบบอีกจำนวน 11 ล้านคน และเกษตรกรอีก 17 ล้านคน

ผมย้ำว่าทุกกลุ่มที่รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนักศึกษาที่ไม่ว่าจะทำงานหรือยังไม่ทำงานก็แล้วแต่ตรงนี้ก็ต้องพิจารณา เพราะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย การจะใช้เงินอะไรอย่างไรต้องมีการตรวจสอบทุกครั้ง ฉะนั้นผมไม่อยากให้รัฐบาล หรือ ครม. ต้องมีข้อผิดพลาดตรงนี้ ผมรับฟังความคิดเห็นของท่านเสมอในทุกๆ วันผมเห็นแล้วผมก็เห็นใจและสงสารแต่เป็นหน้าที่ที่ผมต้องทำให้ท่าน ผมร้อนใจมากกว่าท่าน”

ทั้งนี้ วันนี้รัฐบาลได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลขึ้นมาแล้ว เพื่อติดตามรวบรวมข้อมูลและบูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบรับฟังความคิดเห็นตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาให้มีความครอบคลุมทั่วถึง รวมถึงจัดทำข้อเสนอแนะ กลไก และขั้นตอนการดำเนินการให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะเห็นว่ามีผู้ลงทะเบียนเป็นจำนวนมากและก็ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วจำนวนหนึ่ง ส่วนเรื่องความเดือดร้อนของลูกจ้างพนักงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของค่าเช่าที่พักของลูกจ้างเอกชน เรื่องของแรงงานอิสระ และประกันสังคม ตนจะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูในรายละเอียดต่อไป

งบฯเยียวยาเหลือใช้ได้แค่ 1 เดือน รอคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านเสริม

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินในหลายๆ ส่วนด้วยกันในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ จำนวน 1 ล้านล้านบาทเศษนั้น ตนคาดว่าจะสามารถประกาศและบังคับใช้ได้ในช่วงเป็นปลายเดือนเมษายน หรือ ต้นเดือนพฤษภาคมนี้ โดยกระบวนการใช้เงินต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฯ และจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน 2563

“ปัจจุบันยังไม่มีเงินเลยสักบาท ตอนนี้กำลังเตรียมการในเรื่องเหล่านี้อยู่เพื่อที่จะกู้เงินต่อไป เพื่อให้รัฐบาลสามารถนำเงินมายาวๆ ได้ กราบเรียนว่ายังไม่มีเลยมีแต่ตัวเลข หลายคนเอาตัวเลขนี้มาหารแบ่งกันไปเรียบร้อยแล้วเราแค่เพียงจัดตั้งเอาไว้ว่า เงินจะถูกนำไปใช้จ่ายในส่วนใดบ้างคร่าวๆ อย่างไรก็ไม่ทันเดือนเมษายนนี้อยู่แล้วเพราะฉะนั้นวันนี้เราจ่ายได้แค่เดือนเดียวก่อนในขณะนี้ในส่วนที่ยังขาดเงินตรงนี้ก็ได้ให้ตรวจสอบคัดกรองว่ายังขาดอยู่ในส่วนไหนที่จะต้องให้เพิ่มหรือมีปัญหาที่ระบบตรวจสอบและคัดกรองออกไป”

“วันนี้ทุกอย่างเราสามารถทำได้แค่ 1 เดือน ที่เหลือต้องรอเงินกู้ถึงจะสามารถนำมาดูแลในเดือนต่อๆ ไปได้ ซึ่งยังได้ข้อยุติเลย ตอนนั้นที่พูดออกไปหลายคนก็ร้อนใจหลายคนก็อยากช่วยประชาชนบางทีก็ย้อนกลับมาที่รัฐบาล ผมก็ขอร้องให้ทำความเข้าใจด้วยวันนี้ผมมาพูดในฐานะหัวหน้ารัฐบาล การให้เงินเยียวยาเหล่านี้จะต้องมีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ช่วยแค่ประชาชนอย่างเดียว ธุรกิจ ภาคเอกชนมีอีกมากที่เดือดร้อนรัฐบาลต้องคิดแบบนี้ ไม่ใช่เพียงแค่มีเงินเท่านี้แล้วเอามาใช้แค่ส่วนเดียวจุดเดียว”

โดยวันนี้รัฐบาลยังคงใช้เงินจาก เงินรายจ่าย งบกลางฯ 2563 จำนวน 45,000 บาท ประกอบกับเงินได้ได้รับโอนคืนมาจากหน่วยงานต่างๆ ตาม พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ในวงเงิน 50,000 โดยเงินส่วนนี้จะครอบคลุมในเรื่องของเงินช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท แต่สามารถให้ความช่วยเหลือได้แค่เดือนเดียวเท่านั้น ในเดือนที่ 2 เดือนที่ 3 ต้องรอเงินจากการกู้เงินจึงจะนำมาดูแลประชาชนต่อไปได้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวชี้แจงว่า นี่คือสิ่งที่เป็นความยากง่ายของรัฐบาล วงเงินเหล่านี้เป็นเงินที่เป็นภาระผูกพันกับรัฐบาลไปยังวันข้างหน้าด้วย ที่จะต้องชำระหนี้เขา เพราะฉะนั้นการกู้เงินก็จะเป็นการทยอยกู้ไปทีละก้อนไม่ได้หมายความว่าเรามีเงิน 1 ล้านล้านบาทมาอยู่ในมือทีเดียว โดยตนขอยืนยันว่า ตนพยายามจะดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ตามขีดความสามารถที่รัฐมีอยู่ ขอให้ทุกคนได้เข้าใจด้วย ซึ่งการบิดเบือนข้อเท็จจริงไปในทางที่ผิดจะยิ่งทำให้การทำงานรัฐบาลยากขึ้นเรื่อยๆ

“กราบเรียนอีกครั้งว่ารัฐบาลมีเม็ดเงินที่จะดูแลช่วยเหลือให้ได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้นก่อน ที่เหลือจะต้องรอ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ ที่จะออกมาเพื่อขยายความช่วยเหลือต่อไป ลองคิดดูว่าเดือนที่ 2 เดือนที่ 3 จะมีเงินเพียงพอหรือไม่และจะให้กันอย่างไร แต่รับรองว่าผมจะดูแลให้ครบทุกคน”

ห่วงร้านทองขาดสภาพคล่อง-วอน ปชช.อย่าเทขาย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือประชาชนว่า การช่วยเหลือยาวของรัฐที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ในช่วงแรกๆ นั้นรัฐบาลได้ออกมาตรการในเบื้องต้นหลายมาตรการทั้งในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 เช่น การลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยการลดค่าน้ำ-ค่าไฟ คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า เพิ่มจำนวนหน่วยของการใช้ไฟฟ้าฟรี กำหนดให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ได้เข้ารับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กำหนดการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงการขยายเวลาการชำระหนี้ ซึ่งเรื่องการพักชำระหนี้ที่อาจจะมีปัญหาอยู่บ้างในบางธนาคาร ขณะนี้ได้อยู่ระหว่างการแก้ปัญหา

ในส่วนของแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีรายได้ประจำประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่มีจำนวน 11 ล้านคนวันนี้ ได้มีการปลดล็อคการใช้เงินจากกองทุนประกันสังคมจำนวน 230,000 ล้านบาท สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการต่างๆ วันนี้ทางกระทรวงแรงงานจำเป็นต้องหาเงินมาเพิ่ม ส่วนต่อไปที่กำลังหารือกันอยู่ในขณะนี้คือ เกษตรกรอีกจำนวน 17 ล้านคน ที่กำลังพิจารณาหาเงินจากแหล่งอื่นตามกฎหมายงบประมาณ และกฎหมายวินัยการเงินการคลังมาให้แก่เกษตรกรในเดือนแรกและในเดือนต่อไปก็ต้องรอเงินกู้อีกเช่นเดียว

ในส่วนของมาตรการอื่นๆ วันนี้ตนได้ให้ทางกระทรวงการคลังได้ไปรับฟังความคิดเห็นและโครงการต่างๆ จากทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง เพื่อพิจารณามาตรการของการเยียวยาเพิ่มเติม ซึ่งมีทั้งสินเชื่อรายบุคคล ทั้งการให้เป็น soft loan เงินกู้ ในขณะเดียวกันตนก็มีความกังวลในเรื่องของ NPL ที่จะเป็นปัญหา และรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นจึงขอความร่วมมือทุกคนประคับประคองตัวเองในช่วงนี้

“รัฐบาลมีกลไกในการใช้งบประมาณในผ่านงบประมาณปกติคืองบประมาณประจำปี จากงบกลางฯ มีมาตรการทางภาษี มาตรการทางการเงิน ผ่านธนาคารของรัฐและระบบประกันสังคม วันนี้ก็ต้องขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ด้วย ผมเข้าใจในเหตุผลความจำเป็นของท่าน เพราะว่าเงินเหล่านี้เป็นเงินที่ประชาชนฝากไว้กับธนาคารของท่านแต่ก็ต้องดูว่าจะสามารถช่วยเหลืออะไรอย่างไรได้บ้าง เพราะเป็นระบบการเงินการคลังของประเทศและทุกอย่างก็เป็นห่วงโซ่เดียวกันทั้งหมดหากพังก็จะเสียหายไปทั้งหมด”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนเป็นกังวลในขณะนี้คือ สถานการณ์ที่ประชาชนเทขายที่นำไปสู่ปัญหาของสภาพคล่องของร้านทอง โดยได้ขอความร่วมมือจากประชาชน ทยอยนำมาขายอย่าขายทีเดียวทั้งหมด เพราะหากร้านไม่มีเงินจ่ายขึ้นมาก็จะทำให้เกิดปัญหา และจะส่งผลให้เงินที่จะนำไปช่วยเหลือเยียวยาประชาชนจะต้องถูกจัดสรรไปใช้ในเรื่องอื่น ดังนั้นขอให้เข้าใจด้วย

ประนามคนฉวยโอกาส ขู่นายทุนเงินกู้ ทำผิดกม.โดนจัดหนัก

พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวประนามบุคคลที่แสวงหาประโยชน์จากประชาชนเรียกเก็บค่าลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 1,000 บาท รวมถึงกรณีการปลอมใบรับรองแพทย์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ว่า เป็นบุคคลน่ารังเกียจ อีกทั้งได้ขอความร่วมมือจากนายทุนเงินกู้ให้ช่วยเหลือลูกหนี้มาตรการของรัฐบาล และไม่กระทำการที่ขัดต่อกฎหมายด้วย ไม่อย่างนั้นตนจะใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการอย่างเต็มที่

ฝากสักนิดนึงช่วงนี้ทุกคนก็ลำบากทั้งนั้นหากเรามีเงินเยอะเราก็สามารถที่จะให้ทุกคนในเวลาเดียวกันแต่มันไม่ได้ก็ขอให้เข้าใจ หากท่านดูแลตัวเองมีการใช้จ่ายอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดในครอบครัว เงิน 5,000 ก็จะไปช่วยได้บ้าง แต่ถ้าเอาเงิน 5,000 บาท ไปทำประโยชน์อย่างอื่นนั้นอันตราย

“วันนี้ผมเห็นตามโทรทัศน์เจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีเรื่องของการกินเหล้าดื่มน้ำกระท่อมยามยาก ยังทำอย่างนี้กันอยู่เลย เล่นการพนันเหล่านี้ ผมคิดว่าเวลานี้เป็นเวลาที่ควรอยู่กับครอบครัวที่บ้าน สร้างความอบอุ่นในบ้าน หลายคนก็บอกว่าไม่เคยอยู่บ้านนานขนาดนี้ก็ลองดูแล้วกัน เพราะผมก็อยู่บ้านอย่างนี้มาตลอดไม่เคยไปไหนเลยนอกจากมาทำงานผมก็ปรับตัวไปเรื่อยๆ ผมก็มีความสุขที่ได้อยู่บ้านอยู่กับครอบครัวเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นอย่าไปหาอะไรที่เป็นความสุขพิเศษขึ้นมา เหล่านี้จะทำให้เกิดความอึดอัด อยู่บ้านไม่ควรจะอึดอัด มันถึงเวลาต้องอยู่ก็ต้องอยู่ขอให้ดูแลครอบครัวสามี บุตร ภรรยา ให้ดีแล้วกัน”

วอนพรรคร่วมเบรกการเมือง หันมาดูแล ปชช.

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนะให้แต่ละบ้านลองทำบัญชีดูว่าจะบริหารการใช้จ่ายอย่างไร อย่าให้ใครเอาประโยชน์จากเงิน 5,000 บาทนี้ไปแสวงหาประโยชน์วันนี้คนไม่ดียังมีอยู่เยอะพอสมควร ซึ่งตนได้ดำเนินการทางกฎหมายกับกรณีบ่อนการพนันและเรื่องของไฟป่าไปแล้วจำนวนมาก พร้อมขอความร่วมมือจากพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคขอให้ทุกคนหยุดการทำเพื่อการเมืองก่อน วันนี้เป็นเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนไทย เพราะเราเป็นรัฐบาลของรัฐบาลของประชาชนทุกคนในประเทศ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งกำลังโจมตีอยู่ก็ขอให้ฟังเหตุฟังผล

“หากมาอยู่ตรงนี้ มารู้ว่าต้องทำอย่างไรตรงนี้ ท่านจะรู้ว่ามันยากแค่ไหนมันเสี่ยงอันตรายแค่ไหน ในการใช้งบประมาณเรานี้ผมย้ำว่าจะต้องไม่มีการทุจริตโดยเด็ดขาดเพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องช่วยกันตรวจสอบช่วยกันรักษาสิทธิ์ของตัวเองด้วย ขอให้อดทน และขอโทษด้วยถ้าหากว่าทุกคนยังไม่ได้รับโดยทั่วถึงกันวันนี้หลายส่วนก็ได้รับฟังจากทางภาคเอกชนภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ค้าปลีกรายย่อย ผมฟังหมดทุกคนข้อเสนอเยอะแยะไปหมด รัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องเอาเรื่องเหล่านี้มาพิจารณาว่าจำเป็นที่ต้องใช้วงเงินเท่านี้ไปทำอะไรได้บ้าง”

“อะไรที่รัฐบาลจะดูแลได้ก็จะดูแลให้ได้มากที่สุดเห็นใจจริงๆ ผมก็คิดทั้งวันทั้งคืนเวลามีปัญหาอะไรมาผมเห็นท่านในสื่อโซเชียลต่างๆ ทุกคนต้องดูว่าส่วนที่ไม่ได้เงินนั้นอาจจะได้รับการช่วยเหลือในกลุ่มอื่น ไม่ใช่ว่าไม่ได้ อันนี้ขอให้ทุกคนเข้าใจและตระหนักถึงระเบียบกฎหมายในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐด้วยนี่คือรัฐบาลจะต้องรอบคอบ จะต้องระมัดระวังที่สุดไม่ใช่ว่าวันหน้าหลายคนก็จ้องอยู่แล้วจะฟ้องร้องดำเนินคดี หากคิดอย่างนั้นแสดงว่าท่านก็ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมผมยืนยันว่าทุกอย่างที่ผมทำนั้นจะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายวิธีการงบประมาณทุกประการทุกกฎหมายที่มีอยู่เพราะฉะนั้นขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ด้วยอย่าไปประท้วงเลย”

ขอหารือ กต.-สธ. ก่อนรับคนไทยในอินโดฯกลับบ้าน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่สถานทูตไทยในอินโดนีเซียได้ยื่นเรื่องขอให้รัฐบาลนำเครื่องบินเช่าเหมาลำมารับคนไทยกลับประเทศ ว่า กรณีดังกล่าว ต้องมีการหารือกันอีกครั้งระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ว่าจะมีมาตรการในการรองรับได้อย่างเพียงพอหรือไม่ เพราะทั้งหมดจะต้องเข้าสู่ state quarantine ซึ่งมีทั้งคนไทยที่อยากกลับและคนของเขาที่อยากออกด้วย จึงดูทั้งต้นทางและกลางทางในเรื่องของ state quarantine ให้ครบถ้วน

ทั้งนี้ ปัจจุบันได้ให้สถานทูตไทยและสถานกงสุลไทยในต่างประเทศได้หามาตรการในการช่วยเหลือดูแลคนไทยให้สามารถมีอาหารการกินอยู่ได้ต่างประเทศ ระหว่างนั้นรอเวลาที่จะจัดเที่ยวบินกลับมาหรือเดินทางกลับมาเพื่อเข้าสู่ระบบของรัฐ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณประชาชนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ ตามจำนวนที่กำหนดไว้ เพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในเรื่องระบบที่ต่อเนื่องจากสนามบินไปไปยังสถานที่กักตัว

“วันนี้ขอบคุณพ่อแม่พี่น้องทุกคนที่ยอมเข้าสู่การคัดกรองและเข้าสู่ระบบการควบคุมของทั้ง state quarantine และ local quarantine จำนวน 14 วัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

หั่นงบฯปี 64 ลง 25-50% โยกแก้โควิด-19

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้

  1. รายจ่ายประจำ ในทุกงบรายจ่ายที่ไม่มีข้อผูกพันหรือสามารถชะลอข้อผูกพันได้ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก และค่าพาหนะ และการดำเนินกิจกรรม (event) ที่มีการจ้างผู้จัดกิจกรรม (organizer) หรือดำเนินการเอง ให้พิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณลงร้อยละ 25
  2. รายจ่ายลงทุน ในทุกงบรายจ่ายที่ไม่มีข้อผูกพัน (รายการปีเดียว) ที่เป็นครุภัณฑ์ทดแทนหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานที่สามารถชะลอการดำเนินงานได้ ให้พิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณลง ร้อยละ 50
  3. รายการและงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถชะลอการดำเนินการได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ ตั้งเป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการบรรเทาหรือแก้ไขผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ให้หน่วยรับงบประมาณเสนอการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณฯ ตามแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เสนอคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด เพื่อให้ความเห็นชอบและส่งข้อเสนอการปรับปรุงให้สำนักงบประมาณ ภายในวันที่ 22 เมษายน 2563

ผ่อนปรนแรงงานด่างด้าวอยู่ไทยถึง 30 พ.ย.นี้

ศ. ดร.นฤมล  กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เนื่องจากแรงงานต่างด้าวซึ่งนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อกระทรวงแรงงานผ่านเจ้าหน้าที่หรือผ่านระบบออนไลน์ไว้แล้วภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 แต่ไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ในช่วงระยะเวลาที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงเป็นแรงงานต่างด้าวที่สามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานต่อไปได้ในกิจการที่ขาดแคลนแรงงานจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน  2563  โดยมีสาระสำคัญดังนี้

  1. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง การผ่อนปรนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 จากเดิมให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563
  2. ทบทวนระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไป จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และให้ยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (overstay) รวมถึงการยกเว้นการปฏิบัติตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ 1/2558 เรื่อง การไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาในราชอาณาจักร สั่ง ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
  3. ทบทวนระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 และใช้บัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวที่กรมการจัดหางานออกให้และใบอนุญาตทำงานฉบับเดิมไปพลางก่อน
  4. ให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 และนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงาน ถือปฏิบัติตามมาตรการที่ส่วนราชการประกาศกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน และที่ประกาศเพิ่มเติมอย่างเคร่งครัด เช่น การโดยสารยานพาหนะต้องเป็นไปตามจำนวนที่ทางราชการกำหนด การจำกัดจำนวนและปรับระยะเวลาการปฏิบัติงาน การเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร (social distancing) เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคทางละอองฝอย หรือการให้บริการด้วยการสื่อสารแบบดิจิทัล เป็นต้น
  5. การบริหารจัดการเพิ่มเติมจากขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ดังนี้

(1) กระทรวงแรงงานจะจัดระบบนัดหมายให้แรงงานต่างด้าวเข้ารับการตรวจสุขภาพในโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพเป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ

(2) เมื่อแรงงานต่างด้าวได้รับใบรับรองผลการตรวจสุขภาพแล้ว สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานผ่านทางระบบออนไลน์ (https://e-workpermit.doe.go.th/)

(3) นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานต้องพาแรงงานต่างด้าวไปจัดเก็บข้อมูลชีวภาพและอัตลักษณ์บุคคล (biometrics data) ณ ที่ทำการตรวจคนเข้าเมือง และจัดเก็บลายนิ้วมือ ณ ศูนย์บริการงานทะเบียนภาค สาขาจังหวัด หรือสำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีระบบออนไลน์รองรับ

อนึ่ง กระทรวงแรงงานได้ตรวจสอบข้อมูลนายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานที่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อกระทรวงแรงงานผ่านเจ้าหน้าที่หรือผ่านระบบออนไลน์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 แล้ว ปรากฏว่า มีแรงงานต่างด้าวคงเหลือที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 มิถุนายน  2563 จำนวน 555,993 ราย

ตั้ง คกก.- ปลัด 10 กระทรวง ดูแลเยียวยาโควิด-19

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. รับทราบคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อตรวจสอบมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ตลอดจนให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทั่วถึง เป็นธรรมโดยเร็ว

โดยคณะกรรมการ ประกอบด้วย

  • ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ
  • มีกรรมการ 10 ท่าน คือ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลักกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  • ผู้อำนวยการสำนักงานงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

  1. ติดตาม รวบรวม และบูรณาการข้อมูลเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน
  2. ตรวจสอบการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามมาตรการต่างๆ ของรัฐ
  3. นำผลการดำเนินการตามข้อ 1 และ 2 มาวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความครอบคลุม ทั่วถึง และเป็นธรรม
  4. กำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินมาตรการชดเชยรายได้ให้เป็นไปตามแผนงานและเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส รวมทั้งเสนอแนะกลไกและขั้นตอนการดำเนินงานที่กลุ่มเป้าหมาย สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างแท้จริง ต่อนายกฯ หรือศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 6/2563 เรื่อง การจัดโครงการสร้างของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2563
  5. ให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงข้อเท็จจริง และรายงานข้อมูล รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการ
  6. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคล เพื่อช่วยปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
  7. ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่นายกฯ มอบหมาย

สำหรับการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลที่แต่งตั้งตามคำสั่งนี้ ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 หรือตามระเบียนทางราชการ แล้วแต่กรณี โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

บริจาคสภากาชาดไทย หักภาษี 2 เท่า

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย) เพื่อช่วยส่งเสริมให้มีการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานองค์กรสาธารณกุศลตามหลักการกาชาดสากล อันจะช่วยในการดำเนินงานของสภากาชาดไทย อีกทั้งเป็นการส่งเสริมสุขภาพอนามัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น เห็นควรกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการบริจาคเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทย

ดังนั้น  ครม. จึงเห็นควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดา บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินให้แก่สภากาชาดไทย ทั้งนี้ มาตรการภาษีดังกล่าวสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-donation) ของกรมสรรพากรให้แก่สภากาชาดไทย ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

ในรายละเอียด สำหรับบุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สภากาชาดไทย สามารถหักลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่นๆ แล้ว

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สภากาชาดไทย สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายที่ได้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา

นอกจากนี้ เงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือขายสินค้าหรือการกระทำตราสารที่มาจากการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทยของบุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล

ทั้งนี้ คาดว่ากระทรวงการคลังจะสูญเสียรายได้ตลอดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ประมาณ 180 ล้านบาท แต่มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้  ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการให้บริการสภากาชาดไทย ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพด้านการสาธารณสุขของประเทศให้ดีขึ้น และลดงบประมาณของรัฐ, เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเงินของสภากาชาดไทย เพื่อนำไปใช้สนับสนุนบริการด้านสาธารณสุขให้เกิดความทั่วถึง และประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น, ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกาชาดสากล  และช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในด้านสาธารณสุข

เว้นภาษีดอกเบี้ยพันธบัตร “ธปท. – FIDF” ให้บริษัทต่างชาติ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศ สำหรับดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน)

โดยสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย หรือดอกเบี้ยพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้มาตรการภาษีในเรื่องนี้ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 17/2561 เรื่อง การยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรบางกรณี ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2561 เป็นมาตรการระยะยาว

โอนสนง.นโยบายที่ดินแห่งชาติสังกัดสำนักนายกฯ

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป

โดยให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ตราขึ้นเพื่อดำเนินการตาม หมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปดำเนินการจัดทำร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติต่อไป  โดยมีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังนี้

  1. กำหนดให้สำนักนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ รวมทั้งกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติเป็นส่วนราชการระดับกรมในสำนักนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี
  2. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการโอนบรรดาอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการและผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลังของกองแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ สำนักงานปลัดกระทรวง ทส. และกองบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. เฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับงานตามภารกิจของคณะกรรมการจัดที่ดิน ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
  3. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการโอนบรรดาอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการและผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งกิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ และอัตรากำลังของกองบริหารจัดการที่ดิน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทส. เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับงานตามภารกิจของคณะกรรมการจัดที่ดิน ไปเป็นของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย

ไฟเขียว กปภ.วางท่อส่งน้ำปี 62-63 กว่า 11,700 ล้าน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. เห็นชอบให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2562 ของ กปภ. จำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 2,121.144 ล้านบาท โดยในการดำเนินโครงการฯ จะมีการก่อสร้างวางท่อส่งน้ำ ท่อจ่ายน้ำ ปรับปรุงเส้นท่อที่ชำรุดและวางท่อใหม่ในเขตจ่ายน้ำต่างๆ และพื้นที่ข้างเคียง ความยาวรวมทั้งสิ้นประมาณ 962.3 กิโลเมตร และมีระบบผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายกำลังผลิตเพิ่มขึ้นอีก 67,200 ลูกบาศก์เมตร/วัน และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 46,728 ราย

ทั้งนี้ โครงการมีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,121.144 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินอุดหนุน 1,237.722 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศ 412.573 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กปภ. 470.849 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ที่ประสบปัญหาให้สามารถบริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างพอเพียง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค รวมถึงเพื่อบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียในระบบผลิต-จ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ยังมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2563 ของ กปภ. จำนวนรวมทั้งสิ้น 9 โครงการ (ประกอบด้วยแผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. จำนวน 8 โครงการ และแผนงานโครงการก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปา จำนวน 1 โครงการ) วงเงินรวมทั้งสิ้น 9,629.991 ล้านบาท ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ

โดยในการดำเนินโครงการฯ จะมีการดำเนินการปรับปรุงระบบประปาทั้งระบบ (ระบบน้ำดิบ ระบบผลิต ระบบจ่ายน้ำ และระบบอื่นๆ) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น ปรับปรุงการให้บริการ และแก้ไขปัญหาอื่นๆ  ไปพร้อมกัน และมีแผนบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย ประกอบด้วยกิจกรรมหลักคือ การบริหารจัดการแรงดัน การซ่อมท่อที่รวดเร็ว การสำรวจหาน้ำสูญเสียเชิงรุก การบริหารจัดการมาตรวัดน้ำ และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงเส้นท่อซึ่งเป็นสาเหตุหลักของน้ำสูญเสียทั้งหมด ทั้งนี้ โครงการมีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 9,629.991 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินอุดหนุน 5,692.801 ล้านบาท เงินกู้ในประเทศ 1,897.599 ล้านบาท และเงินรายได้ของ กปภ. 2,039.591 ล้านบาท

เห็นชอบร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยโควิด-19

ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาของการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ร่วมรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ทั้งสองฉบับ สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

ทั้งนี้ ร่างปฏิญญาของการประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีสาระสำคัญแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นการระบาดใหญ่ระดับโลก ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ

โดยได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดและคุ้มครองประชาชนผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างทันท่วงที การสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ประสานการดำเนินมาตรการของประเทศสมาชิกในด้านการรักษา การวิจัย การพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัส การสร้างความปลอดภัยให้แก่บุคลากรสาธารณสุข ย้ำความสำคัญของการจัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เพียงพอ โดยพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายคลังเก็บสิ่งของเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน

สำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และสนับสนุนบทบาทของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียน อีกทั้งสนับสนุนการนำเงินกองทุนความร่วมมือต่างๆ ของอาเซียนที่มีอยู่มาจัดสรรสำหรับการรับมือโควิด-19 ซึ่งรวมถึงข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 ของไทย การรักษาบูรณาการทางเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค รวมทั้งการกำหนดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังวิกฤต

ขณะที่ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำประเทศอาเซียนบวกสาม เพื่อร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและด้านอื่นๆ ในอนาคต

โดยได้ระบุถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข การจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 การจัดตั้งคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นของภูมิภาค การวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัส การช่วยเหลือคนชาติของประเทศอาเซียนบวกสาม การให้ข้อมูลข่าวสารที่โปร่งใสและถูกต้อง การรับมือกับข่าวปลอม และมาตรการทางการเงินต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการใช้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงินในภูมิภาค เป็นต้น

อาเซียนจับมือสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติถ้อยแถลงของรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ว่าด้วยการตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด 19)  ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เพื่อสร้างความมั่นใจเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัยด้านอาหารและคุณค่าทางโภชนาการในอาเซียน สาระสำคัญคือ

  1. ทำให้เกิดความมั่นใจว่า มีการสำรองข้าวฉุกเฉินที่เพียงพอ รวมทั้งมีข้อมูลการตลาดที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพผ่านการดำเนินงานของสำนักเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียนและองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม
  2. สานต่อความพยายามในการดำเนินการตามแนวทางอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนอย่างมีความผิดชอบต่ออาหาร การเกษตร และป่าไม้ เพื่อการบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ และเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ
  3. เสริมสร้างความพยายามร่วมกันของรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ในการสนับสนุน อำนวยความสะดวก และดำเนินการตามนโยบายด้านความปลอดภัยอาหารของอาเซียนและกรอบการดำเนินการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยอาหารของอาเซียน
  4. ดำเนินงานเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางโภชนาการอย่างยั่งยื่นร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  5. เสริมสร้างบทบาทของคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน
  6. ประเมินและคาดการณ์สถานการณ์อาหารของภูมิภาคอาเซียนและของโลก รวมถึงการค้า ราคา คุณภาพ และปริมาณสำรองของอาหารพื้นฐาน เช่น ข้าว ข้าวโพด และน้ำตาล

ขยายเพดานให้กบข.ลงทุนต่างประเทศไม่เกิน 40%

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการเงินของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศจากไม่เกินร้อยละ 30 เป็น ไม่เกินร้อยละ 40 เพื่อเป็นการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศที่มีความหลากหลายและมีสภาพคล่องสูงกว่าตลาดในประเทศ

ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวให้แก่สมาชิก กบข. อีกทั้งยังอยู่ในกรอบการลงทุนตามมาตรา 70 พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 ที่กำหนดให้เงินของกองทุนต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และสินทรัพย์อื่นได้ไม่เกินร้อยละ 40

ครม. ยังเห็นชอบให้กระทรวงการคลังรับความเห็นเพิ่มเติมของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งประกอบด้วย

  1. พิจารณาถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ
  2. ควรให้มีการกระจายการลงทุนเพื่อลดการกระจุกตัวของการลงทุนหรือฝากเงินในประเทศใดประเทศหนึ่งและป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  3. พิจารณาถึงความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน ภาวะเศรษฐกิจโลก และกำหนดสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิกกองทุน
  4. ควรกำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีความสมดุลระหว่างการเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น กับการรักษาเสถียรภาพของกองทุนให้เป็นแหล่งเงินออมที่มั่นคงและปลอดภัยให้กับสมาชิก ลำดับต่อไปให้ส่งร่างกฎกระทรวงดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

ยกเว้นภาษีหนุนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….(มาตรการภาษีส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ) มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ สามารถช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกที่จะเป็นขยะตกค้างที่ยากแก่การย่อยสลาย

โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้จำนวนร้อยละ 25 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามประเภทที่อธิบดีประกาศกำหนด และได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ แม้จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ในปี 2562 ถึง 2564 ประมาณปีละ 450 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการ 1)ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ 2)ช่วยลดงบประมาณภาครัฐในการกำจัดขยะพลาสติกตกค้าง และ 3)เป็นการเพิ่มทางเลือกในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ทดแทนพลาสติกที่ย่อยสลายยาก ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN

จากมาตรการทางภาษีดังกล่าว คาดว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ของปริมาณการผลิตพลาสติกทั้งหมดจำนวน 431,800 ตันต่อปี

เดินหน้าสร้างอ่างเก็บน้ำจังหวัดพังงา

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่าสืบเนื่องจากรัฐบาลในอดีต ได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและภาคธุรกิจท่องเที่ยวของ 3 จังหวัด (ภูเก็ต พังงา กระบี่) ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำถึงปีละ 55 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยให้กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองลำรูใหญ่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ จังหวัดพังงา และกรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความคุ้มทุนของโครงการ ศึกษาด้านธรณีวิทยารอยเลื่อน และได้ปรับปรุงแบบรายละเอียดให้สอดคล้องกับผลการศึกษาดังกล่าว รวมถึงได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วันนี้ ครม. จึงเห็นชอบในหลักการการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ บางส่วนเป็นการชั่วคราว (เมื่อสร้างเสร็จให้คืนพื้นที่ให้กับกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติอีกครั้ง) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำรูใหญ่ จังหวัดพังงา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

  1. แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรม
  2. สนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบริเวณเขาหลัก อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
  3. เสริมความมั่นคงด้านน้ำของฐานทัพเรือพังงา รวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยทางด้านท้ายน้ำที่จะเกิดขึ้นในฤดูน้ำหลาก

ทั้งนี้ โครงการมีพื้นที่ทั้งหมด 1,250 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ท้องที่บ้านลำรู ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี (ปี 2564 -2567) โดยใช้งบประมาณปี 2564 จำนวน 659 ล้านบาท

ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการชลประทานขนาดกลาง ประกอบด้วย เขื่อนหัวงาน อ่างเก็บน้ำ อาคารที่ทำการ บ้านพัก และพื้นที่ตามแผนพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเขื่อนหัวงานเป็นหินถมแกนดินเหนียวสูง 40 เมตร ยาว 350 เมตร มีความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับสูงสุด 14.40 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับสูงสุด +81.500 เมตร

เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน คือ 1)ส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคในอำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วป่า อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ครอบคลุมประชากรจำนวน 52,470 คน 2)ส่งน้ำให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บริเวณเขาหลักในอำเภอท้ายเหมืองและอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละ 4,533 คน และ3)ส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน จำนวน 1,200 ไร่ ในตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และพื้นที่ฐานทัพเรือพังงาและท่าเรือน้ำลึกบ้านทับละมุ

อัดฉีดเงินบุคลากรการแพทย์เดือนละ 1,500 พร้อมแจก 2 ขั้น

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)  ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ เสนอ ดังนี้

  1. อนุมัติ 38,105 อัตรา (24 สายงาน) ตามที่เสนอมาโดยมีเงื่อนไขดังนี้ ให้ยกคนกลุ่มเดิมที่ทำงานอยู่แล้วเป็นข้าราชการ โดยการการสอบคัดเลือกใช้ ม.55 (ซึ่งจะไปทำความตกลงกันอีกครั้งว่าจะใช้วิธีสอบคัดเลือกแบบไหน) ผลจากกาที่ยกคนกลุ่มนี้ เป็นข้าราชการ ทำให้ไทยมีอัตราแพทย์ เต็มตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้และห้ามใช้เงินเดิมไปบรรจุคนใหม่ การที่จะบรรจุอัตรว่างได้นั้นต้องเป็น ตำแหน่งอื่นที่จำเป็น ไม่ได้อยู่ในสายงาน 24 สายงานที่ได้รับการบรรจุไป เช่น แพทย์แผนไทย ต้องทดลองปฏิบัติราชการตามปกติ ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ได้บรรจุ ในส่วนอายุราชการนับย้อนได้แต่ไม่นำมาคิดเวลาเพื่อรับบำนาญ.จะมีการทยอยบรรจุ 3 รุ่น คือ รุ่นเดือน พ.ค ส.ค พ.ย ทั้งนี้การบรรจุก่อน 1 ต.ค. ทำให้ต้องใช้งบกลางปี 63
  2. จัดสรรอัตราข้าราชการให้นักศึกษาแพทย์และทันตแพทย์จบใหม่ 2,792 อัตรา (จากที่ขอ 7,579) ส่วนเภสัชกร พยาบาลและนักวิชาการสาธารณสุข (4,787 อัตรา) ให้ทำแผนเสนออีกครั้ง
  3. ให้เงินเพิ่มพิเศษ (2,700 ล้าน) แบ่งเป็น กลุ่มปฏิบัติงานตรง เช่น แพทย์ พยาบาล 1,500/เดือน ถึง ก.ย.และกลุ่มสนับสนุน 1,000/เดือน ถึง ก.ย.
  4. ให้โควตาพิเศษ 2 ขั้น
  5. อายุราชการทวีคูณ ไม่อยู่ในเกณฑ์ตามกฎหมาย ตามกฎหมายจะระบุให้เฉพาะ ตอนประกาศกฎอัยการศึกเท่านั้น
  6. ลดดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษของ สำหรับ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน
  7. จ่ายเงินช่วยบุคลากรที่ติดเชื้อ ตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด
  8. บุคคลากรทางการแพทย์ได้รับบริจาคการทำประกันสุขภาพแล้ว จำนวน 320,000 กรมธรรม์

สำหรับสิทธิประโยชน์ต่างๆที่รัฐมอบให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ยังมอให้แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ของสังกัดอื่นด้วยเช่น ตำรวจ ทหาร มหาวิทยาลัย ท้องถิ่น สายแพทย์ที่เกี่ยวกับ COVID-19 อีกด้วย

ตั้ง คกก.บริหารตั๋วร่วม เชื่อมขนส่งทางบก-ราง-น้ำ-อากาศ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา สำหรับรายละเอียดเนื่องจากปัจจุบันนี้ยังไม่มีกฎหมายและหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุม กำกับ ดูแลและบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้เชื่อมต่อในระบบการขนส่งมวลชนในทุกรูปแบบ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศได้โดยตรง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติฯ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันนวัตกรรมเทคโนโลยีระบบตั๋วร่วมและระบบการชำระเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับจำนวนผู้ประกอบการขนส่งมวลชนทางรางกำลังจะเพิ่มขึ้นอีกหลายราย ทั้งในเขตกรุงเทพฯ จังหวัดปริมณฑล และเมืองหลักในภูมิภาค จึงจะทำให้การควบคุม กำกับ ดูแลและบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมเป็นไปอย่างยากลำบาก หากยังไม่มีหรือการออกกฎหมายพระราชบัญญัติในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมล่าช้า

ในระยะเริ่มแรกจึงเห็นสมควรจัดทำเป็นร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ขึ้นก่อน เพื่อให้มีกฎหมายและหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมได้โดยเร็ว ซึ่งร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เป็นเพียงมาตรการทางการบริหาร กำกับ ดูแลระบบตั๋วร่วม ใช้ได้เฉพาะกับผู้ประกอบการขนส่งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ในอนาคตหากจะให้สามารถนำไปใช้กับผู้ประกอบการขนส่งทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมดจำเป็นต้องมีการจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติต่อไป ซึ่งจะสามารถใช้บังคับกับผู้ประกอบการขนส่งทั้งภาครัฐและเอกชนได้

ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ….มีสาระสำคัญดังนี้

  1. กำหนดให้มีการบริหารจัดการบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์หรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ทั้งหมดด้วยระบบตั๋วร่วม
  2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและการใช้ตั๋วร่วม
  3. กำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม มีหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และการดำเนินงานของผู้บริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและผู้ให้บริการภาคขนส่งให้เป็นไปตามมาตรฐาน
  4. กำหนดให้มีผู้บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม บริหารศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง รวมถึงกำกับดูแลให้การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบตั๋วร่วมของผู้ออกและจำหน่ายตั๋วร่วมรายอื่น ให้เป็นไปตามมาตรฐานตามข้อบังคับของคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม เพื่อให้ตั๋วร่วมทั้งหมดมีมาตรฐานเดียวกันและสามารถเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน

ปรับเกณฑ์นำส่งเงินกองทุนอ้อยฯผลย้อนหลังถึงปี 61

รศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อใช้ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อให้โรงงานน้ำตาลทรายที่ไม่ได้จำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเช่นเดียวกันกับโรงงานน้ำตาลทรายที่จำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการนำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

โดยการยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2543 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2547 ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายสีรำภายในราชอาณาจักร เข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาล และกำหนดหลักเกณฑ์ให้โรงงานอ้อยและน้ำตาลทรายนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ คำนวณจากปริมาณอ้อยที่ชาวไร่อ้อยส่งให้แก่โรงงานในแต่ละฤดูการผลิต อัตรา 20 บาทต่อ 1 ตันอ้อย แบ่งออกเป็น 4 งวด คือ งวดที่ 1 ภายในเดือนมิถุนายน งวดที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม งวดที่ 3 ภายในเดือนตุลาคม และงวดที่ 4 ภายในเดือนธันวาคม หากโรงงานไม่สามารถส่งเงินเข้ากองทุนฯ ภายในเวลาที่กำหนด ให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดชำระจนกว่าจะได้ทำการชำระเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ ร่างระเบียบดังกล่าว กำหนดให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 สำหรับโรงงานที่ยังไม่ได้นำส่งเงินเข้ากองทุนฯ สำหรับฤดูการผลิตปี 2560/2561 ให้ดำเนินการดังนี้

  1. งวดก่อนวันที่ 15 มกราคม 2561 ให้นำส่งเงินตามหลักเกณฑ์ในระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2543 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ร่างระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  2. งวดตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 ให้นำส่งเงินตามหลักเกณฑ์ในร่างระเบียบนี้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ร่างระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  3. โรงงานที่นำส่งเงินเข้ากองทุนฯ สำหรับฤดูการผลิตปี 2560/2561 งวดตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2561 ตามหลักเกณฑ์ในระเบียบคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2543 แล้ว ให้โรงงานนั้นนำส่งเงินเพิ่มให้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ในร่างระเบียบนี้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ร่างระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สำหรับฤดูการผลิตปี 2561/2562 กำหนดให้โรงงานนำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ตามร่างระเบียบนี้

เคาะจ่ายประกันว่างงานจากเหตุสุดวิสัย 62% ไม่เกิน 90 วัน

ศ. ดร.นฤมล กล่าวต่อว่วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายความครอบคลุมผู้ประกันตนมาตรา 33 ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ว่างงานจากผลกระทบโควิด-19 สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ดังนี้

  1. ในกรณีผู้ประกันตนไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน กักตัว 14 วัน เนื่องจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19
  2. (ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายความครอบคลุม) ในกรณีผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเอง หรือ หยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ผู้ประกันตนมีสิทธิรับเงินกรณีว่างงาน 62% ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วันเช่นกัน

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน จะได้เร่งดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับโดยเร็วต่อไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเต็มที่

แจงผลงานปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ปี 62

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เสนอรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 2562 มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

  1. มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั้งระบบ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.53 รวม 3,806.82 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีจำนวน 3,641.98 ล้านบาท
  2. ได้สืบสวนปราบปรามคดีค้ามนุษย์ 288 คดี จำแนกเป็น การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ (การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก และการแสดงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น) 185 คดี การนำคนมาขอทาน 9 คดี การบังคับใช้แรงงาน (แรงงานทั่วไป แรงงานในภาคประมง เอาคนลงเป็นทาส และการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคลไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม) 94 คดี โดยจับกุมผู้ต้องหา 555 คน (ชาย 330 คน หญิง 225 คน) สัญชาติไทย  402 คน เมียนมา 120 คน  กัมพูชา 4 คน ลาว 6 คน และอื่นๆ 23 คน รวมทั้งช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 1,821 คน (ชาย 1,158 คน หญิง 663 คน) สัญชาติไทย 251 คน เมียนมา 1,306 คน กัมพูชา 96 คน ลาว 38 คน และอื่นๆ 130 คน
  3. มีการดำเนินคดีชั้นพนักงานสอบสวน 288 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 39 คดี สอบสวนเสร็จสิ้น 249 คดี และมีความเห็นควรสั่งฟ้องทั้งหมด 249 คดี ชั้นพนักงานอัยการ 364 คดี ดำเนินการแล้วเสร็จ 351 คดี และชั้นศาล 396 คดี พิพากษาเสร็จสิ้น 283 คดี และมีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย 54,180,366 บาท
  4. มีการใช้มาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่องและจริงจัง และทำให้จำนวนเจ้าหน้าที่ดังกล่าวลดลงอย่างชัดเจน โดยในปี 2562 มีการชี้มูลความผิดและมีความเห็นสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 4 คน ที่ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เมื่อปี 2560 รวมทั้งตัดสินจำคุกเจ้าหน้าที่รัฐ 6 คน ที่ถูกดำเนินคดีระหว่างปี 2558-2561 ในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องระวางโทษตั้งแต่ 34-225 ปี
  5. ผู้เสียหายเลือกเข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน 1,560 คน (ร้อยละ 85.67) ของผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์ 1,821 คน สำหรับผู้เสียหาย 261 คน (ร้อยละ 14.33) ไม่ประสงค์เข้ารับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองของรัฐและเอกชน แต่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอื่นๆ ที่พึงได้รับ นอกจากนี้ รัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากกองทุน เพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 11.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 93 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งจ่ายไป 6.15 ล้านบาท

– ผู้เสียหายสามารถเดินทางออกไปภายนอกสถานคุ้มครอง เช่น ไปเรียน ไปทำงาน หรือออกไปร่วมกิจกรรมต่างๆ เมื่อไม่ต้องมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย  โดยได้จัดทำบัตรประจำตัวและอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว  โดยผู้เสียหายต่างชาติ 1,222 คน  (ร้อยละ 85.7)

– กำหนดให้นายจ้างใช้สัญญาจ้าง 3 ภาษา ไว้ในฉบับเดียวกัน (ภาษาของแรงงานต่างด้าว  ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ) เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะทำให้แรงงานต่างด้าวทุกคนได้รับการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย

  1. การจัดทำแอปพลิเคชัน (Mobile Application)

จัดทำแอปพลิเคชัน (Mobile Application) ชื่อ “PROTECT-U” เพื่อเพิ่มช่องทางสำหรับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ให้เข้าถึงบริการการช่วยเหลือคุ้มครอง รวมทั้งเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสเมื่อพบเหตุค้ามนุษย์ เพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เส้ยหายได้อย่างรวดเร็วขึ้น

  1. มีการเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น พนักงานตรวจแรงงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ทีมสหวิชาชีพ และผู้ปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั่วประเทศ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องในการดำเนินคดีและตัดสินโทษผู้ค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมทั้งคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 15 เมษายน 2563 เพิ่มเติม