ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่งยกร่างพ.ร.บ. โยกงบฯค้างท่อแสนล้าน โปะงบกลาง-มติ ครม.จัดเยียวยาโควิดฯ เฟส 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้าน

นายกฯ สั่งยกร่างพ.ร.บ. โยกงบฯค้างท่อแสนล้าน โปะงบกลาง-มติ ครม.จัดเยียวยาโควิดฯ เฟส 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้าน

7 เมษายน 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www’thaigov.go.th/

นายกฯ สั่งสำนักงานงบฯ ยกร่างพ.ร.บ. โยกค้างท่อแสนล้าน โปะงบกลาง-มติ ครม. จัดเยียวยาโควิดฯ เฟส 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้าน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

สั่งยกร่างพ.ร.บ. โยกงบฯค้างท่อแสนล้าน โปะ “งบกลาง”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ได้นำผลการประชุมที่พิจารณาในเรื่องของการพิจารณาแก้ปัญหาโควิด-19 ของเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมาพิจารณาในการดำเนินการ โดยสิ่งสำคัญ คือ ตนได้สั่งการให้หน่วยงานไปคิดมาตรการต่างๆ ออกมา ซึ่งก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนหนึ่ง และในวันนี้ได้มีการหารือใน 3 เรื่องด้วยกัน ซึ่งเรื่องแรกก็คือการจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ปี 63 เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งกลับมาใช้ในระบบ โดยนำมาเติมให้กับงบกลางให้มากยิ่งขึ้น

“ต้องกราบเรียนว่างบประมาณจำนวนหนึ่งของปี 2563 นั้นได้ใช้จ่ายไปพลางก่อนมากพอสมควร ก็เหลืออยู่จำนวนหนึ่งซึ่งคาดว่ามีอยู่ประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท นี่คือข้อแรกที่จะมาเพิ่มเติมให้กับงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งในปี 2563 ได้ตั้งไว้ที่ 95,000 ล้านบาท ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง”

ทั้งนี้ พ.ร.บ.การโอนงบประมาณฯ ก็จะต้องมีการนำเข้า ครม. เพื่อพิจารณา และนำเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งจะสามารถทำเงินตรงนี้มาใช้เพิ่มเติมในส่วนของงบกลางฯ ได้ โดยจะต้องมีการเพิ่มเติมข้อกำหนดว่าจะเอาเงินอะไรมาใช้ได้บ้าง งบใดที่สามารถโอนได้ เนื่องจากมีหลายงบประมาณที่ไม่สามารถโอนได้ เช่น งบบุคลากร

“ขอให้ทราบว่าการที่จะเอาตัวเลขใหญ่ๆ มาทั้งหมดแล้วเอา 10% มาตัดออกไปทีเดียวนั้นทำได้ยาก และไม่เป็นไปตามกฎหมายของพ.ร.บ.งบประมาณต่างๆ ที่มีอยู่แล้วเดิม” นายกรัฐมนตรีกล่าว

  • “ประยุทธ์” จะเอาเงินจากไหนกู้วิกฤติโควิด-ภัยแล้ง (1) : เปิดก็อกโยกงบฯค้างท่อ 6.4 แสนล้าน
  • ยัน ธปท.ไม่ได้กู้ 9 แสนล้าน แค่บริหารสภาพคล่อง

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องที่ 2 ที่มีการพิจารณา คือ พระราชกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งส่วนนี้ไม่ใช่การกู้เงินแต่เป็นการบริหารในเชิงของการเงินการคลัง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำการชี้แจงรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

    “ ธปท.จะมีวงเงินของเขาอยู่ที่ประมาณ 900,000  ล้านบาท ซึ่งไม่ได้เป็นการใช้เงินของรัฐบาลไม่ใช่การใช้เงินกู้แต่เป็นการเพิ่มอำนาจของ ธปท.เท่านั้นเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    คาดพ.ร.บ.โยกงบฯ เริ่มบังคับใช้ มิ.ย.นี้

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในส่วนที่ 3 คือการพิจารณาในเรื่องของการออก พ.ร.ก.เงินกู้ ซึ่งวันนี้รัฐบาลได้ตั้งวงเงินไว้ทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการวางลำดับในการแก้ปัญหา คือ ในระยะที่ 1 ในเรื่องของการเยียวยาและด้านการสาธารณสุขต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงินในส่วนนี้ประมาณ 600,000 ล้านบาท ส่วนที่ 2 คือ เรื่องของการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจคาดว่าจะใช้วงเงินในจุดนี้ประมาณ 400,000 ล้านบาท โดยจะต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป

    “ในส่วนของเงินก้อน 1 ล้านล้านบาทนี้ สามารถที่จะปรับโอนไปมาได้ เพราะฉะนั้นก็สรุปว่าเราจะมีเงินอยู่ตรงนี้ประมาณ 1 ล้านล้านบาทเศษ เมื่อรวมกับวงเงินที่ปรับโอนงบประมาณมาแต่ในส่วน แต่จะต้องรอให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ด้วยในเดือนมิถุนายน ในวันนี้ก็จะต้องเร่งดำเนินการในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้ให้เรียบร้อย ซึ่งก็ได้มีการใส่มาตรการต่างๆ ลงไปแล้วว่าจะใช้เงินอะไรตรงไหนอย่างไรแต่ก็ยังสามารถปรับโอนกันได้”

    เคาะมาตรการรับมือ “ภัยแล้ง-น้ำท่วม” เพิ่ม

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลได้พิจารณาวันนี้ก็คือเรื่องของระบบการป้องกันอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำในลำน้ำยม ซึ่งที่ผ่านมาในจุดนี้มีปัญหามากพอสมควร โดยรัฐบาลจะต้องเตรียมการเพื่อรับมืออุทกภัยในหน้าฝนที่จะมาถึงนี้ด้วย และเพื่อให้มีการกักเก็บน้ำไว้ในลุ่มน้ำยม

    สั่งทยอยรับคนไทยกลับประเทศที่ละลอต ชี้ง่ายต่อการส่งกักตัว

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงมาตรการรองรับคนที่ที่ตกค้างในต่างประเทศว่า วิธีการเดินทางเข้าประเทศตนได้สั่งการไปแล้วว่าให้มีการทยอยเดินทางเข้าเป็นรุ่นๆ หรือเป็นผลัด เพื่อให้ง่ายต่อการส่งต่อไปยังพื้นที่กักตัว ดังนั้นขอให้ทุกคนเข้าใจด้วย

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลยืนยันถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการที่จะรักษาสุขภาพให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือจากท่าน สิ่งใดก็ตามที่ภาครัฐยังมีปัญหาอยู่ก็ต้องขอให้เข้าใจและเห็นใจรัฐบาลด้วย เพราะทำงานด้วยคนจำนวนมาก และในส่วนของประชาชนก็มีจำนวนมากเช่นเดียวกัน

    ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเดินทางกลับเข้าประเทศ การเข้า state quarantine การเดินทางไปกักตัวทั้งในส่วนของรัฐและในส่วนของภูมิภาคหรือท้องถิ่น วันนี้ก็ได้มีหลายมาตรการออกมา ฉะนั้นตรงนี้อยู่ที่การบูรณาการหน้างานให้ดี ทุกสถานที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามบินนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า EOC (emergency operations center) ซึ่งจะกำกับดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุขมีแพทย์ประจำการอยู่ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนของความมั่นคง ขนส่ง คมนาคมประจำอยู่ที่นั่น ในการตัดสินใจต่างๆ เจ้าหน้าที่จะต้องตัดสินใจบนพื้นฐานที่มีนโยบายออกไปแล้วและต้องดำเนินการให้ได้ตามนั้น

    น้อมรับทุกคำติชม-ยันการใช้จ่ายงบฯ โปร่งใส

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนยินดีรับข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ตนขอให้เห็นใจรัฐ ซึ่งวันนี้รัฐบาลได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคนได้ฟังในเรื่องของการใช้จ่ายภาครัฐและมาตรการต่างๆ ที่ออกมา

    “ผมยินดีรับข้อสังเกตข้อเสนอจากทุกส่วนงานทุกภาคธุรกิจต่างๆ ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วยบางครั้งถ้าท่านช่วยเหลือรัฐได้ก็กรุณาเถิด ช่วงที่ผ่านมาในปี 2561-2562 ท่านมีผลประกอบการมีกำไรที่มากพอสมควร เพราะฉะนั้นในช่วงวิกฤตินี้ขอให้ท่านไปย้อนดูว่าผลประกอบการในปีที่ผ่านมาของท่านเป็นอย่างไร ถ้าทั้งหมดสามารถพิสูจน์และชี้แจงได้ว่าเกิดจากผลกระทบของโควิด รัฐบาลก็ยินดีที่จะดูแลแก้ไขให้ในการช่วยเหลือเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือแรงงานใดๆ แต่ถ้าเหมากันทั้งหมดเท่าไหร่ก็รับไม่ไหวเพราะงบประมาณที่เรามีอยู่นั้นมีจำกัด”

    โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ตนออกมาขับเคลื่อนวันนี้เป็นนโยบายที่ตนในฐานะผู้นำรัฐบาลได้ให้นโยบายไป และวันนี้สถานการณ์ต่างๆ กระทรวงทุกกระทรวงก็จะนำเสนอมาตรการต่างๆ ขึ้นมา แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการคัดกรองให้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการเพราะนี่เป็นสิ่งสำคัญ คิดได้ทำได้แต่หากไม่เป็นไปตามกฎหมายก็เป็นเรื่องที่อันตรายในการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ  โดยขอยืนยันว่าตนจะกวดขันในการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลให้เป็นไปตามความจริงอย่างมีประสิทธิภาพ

    มติ ครม. มีดังนี้

    นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

    จัดเต็มมาตรการเยียวโควิดฯ เฟส 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้าน

    นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่ากระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาภาครัฐได้เร่งออกมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ทั้งโดยการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ ลดต้นทุนการระดมทุน รวมถึงการเยียวยาภาคประชาชน อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงกระทบไปทั่วโลกและเป็นการแพร่ระบาดที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 100 ปี ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจและครัวเรือนภายในประเทศได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลง และเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของประเทศ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดลง การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในประเทศ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

    กระทรวงการคลังรับผิดชอบการดูแลเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เล็งเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที กระทรวงการคลังจึงได้พิจารณาจัดหาแหล่งเงินที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาวิกฤติของประเทศโดยอยู่ในระหว่างดำเนินการอย่างครบถ้วนแล้ว ซึ่งมีข้อจำกัดและเงื่อนเวลาของการงบประมาณ โดยงบกลางของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และเงินทุนสำรองจ่ายตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ต้องสำรองไว้เพื่อใช้จ่ายในเหตุฉุกเฉินอื่นที่อาจจะเกิดขึ้น และวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เหลืออยู่อย่างจำกัด

    นอกจากนี้ การโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้ภายในปีงบประมาณ 2563 มาใช้เพิ่มเติม และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมถึงการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564 จะใช้เวลานานซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องจัดหาแหล่งเงินงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ โดยการกู้เงินด้วยวิธีการออกพระราชกำหนดเป็นการเฉพาะ

    กระทรวงการคลังจึงเสนอมาตรการเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ต่อระบบเศรษฐกิจ ป้องกันไม่ให้สถานการณ์รุนแรงเข้าขั้นวิกฤติจนต้องสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจและการเงินที่มากเกินจำเป็นอันจะเป็นภาระให้กับประเทศในอนาคต และวางรากฐานเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายดีขึ้น โดยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 โดยมีรายละเอียดดังนี้

    1. ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.ก. กู้เงินฯ)

    รัฐบาลมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและควบคุมการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ แต่ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนเวลาการงบประมาณ รัฐบาลจำเป็นต้องตราร่าง พ.ร.ก. กู้เงินฯ โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1,000,000 ล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสามารถแบ่งกรอบการใช้เงินได้ดังนี้

    • ชุดมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดจากโควิด-19 วงเงิน 600,000 ล้านบาท โดยครอบคลุมการช่วยเหลือและเยียวยาให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 การแพทย์และสาธารณสุข

    “ด้านสาธารณสุข และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการเยียวยาแรงงาน ลูกจ้าง และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยจะต่อไปอีก 3 เดือน ให้เป็น 6 เดือน (ถึงกันยายน 2563 ในวงเงินจากเดิม 15,000 บาท เป็น 30,000บาท ทั้งนี้เบื้องต้นยังคงจำนวนผู้ได้รับสิทธิอยู่ที่ 9 ล้านคน) ดูแลในภาคเกษตรกรจะมีการประกาศรายละเอียดต่อไปโดยยืนยันว่าจะเริ่มมาตรการก่อนฤดูเพาะปลูกมาถึง และทางด้านสาธารณสุขจะมีการเพิ่มเติมงบประมาณเมื่อมีความจำเป็นต่อไป”

  • ชุดมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยครอบคลุม
    • 1) การเพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ตลาดจนการส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ในระดับ ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น
      2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งการสร้างช่องทางทางการตลาด และยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (Local Economy)
      3) การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน รวมทั้งการส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชนที่จะทำให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติ

    “สำหรับวงเงินดูแลเศรษฐกิจจะเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากกลับไปยังพื้นที่ สังคม ซึ่งเป็นอีกส่วนที่มีความจำเป็นเนื่องจากเศรษฐกิจกระทบทั้งระบบทำให้กำลังซื้อในพื้นที่หดหมาย จึงจำเป็นต้องสนับสนุนสภาพคล่องไปหล่อเลี้ยง และจำเป็นต้องมีการสร้างงานสร้างอาชีพ โดยต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ และต่อเนื่องไประยะต่อไป ให้ชุมชนมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญให้กับระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะดำเนินการผ่านกลไกของกระทรวงมหาดไทย อาจให้กองทุนหมู่บ้านเข้ามาช่วย ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน และภาคประชาสังคมเข้ามาช่วย”

    คาดเริ่มกู้เงินได้ต้น พ.ค.นี้

    นายอุตตม กล่าวต่อว่าหลังจากพ.ร.ก.จะถูกส่งต่อไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณา เมื่อพิจารณาผ่านแล้วยังคงต้องจัดทำร่างระเบียบของการใช้งบประมาณในการปฏิบัติ เพื่อให้หน่วยงานทั้งหลายเข้าใจการใช้เงินในส่วนนี้ จากนั้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในเดือนเมษายนนี้ โดยกระทรวงการคลังจะเริ่มดำเนินการจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมได้ในต้นเดือนพฤษภาคม 2563

    ขณะเดียวกันจะมีคณะกลั่นกรองโครงการซึ่ง ครม. ได้อนุมติแล้วในวันนี้ ทำหน้าที่กลั่นกรองข้อเสนอ แผนงาน โครงการที่กระทรวงต่างๆ ส่งเข้ามาเพื่อพิจารณาใช้วงเงินตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด จากนั้นนำให้ ครม. ให้ความเห็นชอบ ก่อนที่โครงการนั้นจะได้รับการอนุมัติให้ใช้เงินตามที่เสนอ โดยสำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังจะดำเนินการร่วมกันดูแลกระบวนการปฏิบัติให้เกิดความคล่องตัวสามรถใช้เงินได้เร็วที่สุด

    นอกจากนี้ จะมีการกำกับและติดตามการใช้จ่ายเงินกู้นี้ โดยคณะกรรมการกลั่นกรองจะทำการรายงาน ครม. เป็นระยะถึงความคืบหน้า และตามกฎหมายจะต้องมีการรายงานต่อรัฐสภาภายในเดือนพฤศจิกายน 2563 ด้วยเช่นกัน

    เข็น พ.ร.บ.โยกงบฯค้างท่อ โปะ “งบกลาง”

    นายอุตตมกล่าวยืนยันว่า รัฐบาลได้จัดหาเงินทุนอย่างเป็นขั้นตอนโดยเริ่มจากการใช้งบกลางฯ ปี 2563 สำหรับเรื่องโควิดฯ แล้วประมาณ 90,000 ล้านบาทจากงบกลางที่มีอยู่ ซึ่งวันนี้ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอให้ทำ “พระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563″ โดยจะโอนงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ มารวมไว้ที่งบกลางฯ ด้วยเหตุผลของความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้เงินงบประมาณในการจัดการสถาณการณ์โควิดฯ ซึ่งจะเร่งนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. โดยเร็วเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้กรอบงบประมาณจะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ครั้งต่อไป ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนมิถุนายน 2563

    “ขอความร่วมมือทุกกระทรวงที่จะกันงบประมาณที่ยังไม่จำเป็นที่จะใช้จ่ายในเวลานี้ หรืองบประมาณที่ยังไม่ผูกพัน ขอมารวมกันเพื่อใช้ต่อสู้กับโควิดฯ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อจัดหางบประมาณมาให้เพียงพอ ส่วนงบประมาณปี 2564 นั้นยังไม่ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะมีการดูแลทบทวนการจัดงบประมาณ 2564 ให้สอดคล้องกับการรับมือโควิดฯ ในวันนี้ โดยเราได้ดำเนินการและจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นขั้นตอน พยายามใช้งบประมาณจากแหล่งที่มีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” นายอุตตม กล่าว

    นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

    ธปท.จัด 4 มาตรการดูแลตลาดตราสารหนี้ – อุ้ม SMEs

    ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ครม. ได้เห็นชอบมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs และดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและเอสเอ็มอีด้วย รวมไปถึงการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินไทยด้วย ในส่วนของ ธปท. มี 4 มาตรการสำคัญที่ได้นำเสนอ ครม. ในหลักการเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 และวันนี้ได้เสนอรายละเอียดโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีและดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ของเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

    มาตรการที่ 1:การเลื่อนกำหนดการชำระหนี้สำหรับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยให้ SMEs มีสภาพคล่อง

    ธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (ธนาคาร) แต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้รับสิทธิ์เป็นการทั่วไป ไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน และในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต

    ธปท. หวังว่ามาตรการนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นกำลังและแหล่งจ้างงานสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยทำให้ SMEs มีเงินสดในมือเพื่อรองรับรายจ่ายจำเป็น โดยเฉพาะค่าจ้างพนักงาน นอกจากนั้น ธปท. คาดหวังว่าในช่วง 6 เดือนนี้ ธนาคารจะต้องทำงานร่วมกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง และช่วยจัดโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมกับธุรกิจของลูกหนี้

    ส่วนธุรกิจ SMEs ที่ไม่ได้ประสบกับปัญหาสภาพคล่องในช่วงนี้ ธปท.แนะนำว่าควรชำระหนี้ตามปกติหรือตามความสามารถ  เพราะมาตรการนี้เป็นเพียงการเลื่อนกำหนดวันชำระหนี้เท่านั้น ธนาคารยังคงคิดดอกเบี้ยอยู่ และที่สำคัญ การชำระหนี้ตามปกติจะช่วยให้ธนาคารมีสภาพคล่องที่จะไปดูแลธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตการณ์โควิด 19 ได้มากขึ้นด้วย  นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) เข้าไปช่วยเหลือสภาพคล่องให้ลูกหนี้ได้อย่างเต็มที่ ธปท. จึงได้ผ่อนปรนเกณฑ์การบริหารสภาพคล่องชั่วคราว

    มาตรการที่ 2: การสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) ให้แก่ธุรกิจ SMEs วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยเงื่อนไขการกู้คืออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษร้อยละ 2 ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งรัฐบาลจะช่วยรับภาระส่วนนี้ไป ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย  โดยวงเงินที่ SMEs แต่ละรายสามารถขอกู้ได้จะไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 สำหรับ SMEs ที่สนใจ สามารถขอสินเชื่อได้ที่ธนาคารที่ท่านเป็นลูกค้าและมีวงเงินสินเชื่ออยู่ อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ไม่ครอบคลุมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET และ  MAI)

    “ธปท. จัดสรร soft loan อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ให้ธนาคารวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้ธนาคารนำไปให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศและมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท และมีสถานะผ่อนชำระปกติ หรือ ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (ยังไม่เป็น NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562”

    ดร.วิรไท กล่าวต่อไปว่าเรื่องวงเงิน soft loan ที่เคยทำมาก่อนตอนปี 2555 ตอนนั้นเป็นวงเงินของ ธปท. 210,000 ล้านบาท ของธนาคารพาณิชย์อีก 90,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากครั้งนี้มีความรุนแรงมากกว่า ธปท. จึงทำมาตรการออกมา 500,000 ล้านบาททั้งหมด และจะเป็นวงเงินส่วนเพิ่มจาก soft loan ของออมสินที่ ครม. อนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่อาจจะต้องไปปรับรายละเอียดใหม่ให้สอดคล้องกัน

    นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารเร่งปล่อยสินเชื่อใหม่ในภาวะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะชดเชยความเสียหายบางส่วนให้แก่ธนาคารในส่วนที่ปล่อยกู้เพิ่มเติมด้วย กรณีที่หนี้กลายเป็นหนี้เสียเมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 2 ปี โดยรัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้ไม่เกินร้อยละ 70 ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท และชดเชยให้ไม่เกินร้อยละ 60 ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มสำหรับลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อ 50–500 ล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการที่หลายประเทศได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน

    มาตรการที่ 3: มาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความผันผวนที่สูงขึ้นมากในตลาดการเงินโลก ส่งผลต่อเนื่องมายังตลาดการเงินไทย ในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนบางส่วนได้เทขายตราสารหนี้ประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนซึ่งเป็นช่องทางการออมที่สำคัญของประชาชนและการระดมทุนของภาคธุรกิจ ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทย มียอดคงค้างประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 20 ของจีดีพี

    ทั้งนี้ หากกลไกตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนไม่สามารถทำงานได้ปกติ หรือผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน การระดมทุนหรือต่ออายุหนี้ (rollover) ของธุรกิจจะทำได้ยาก แม้ธุรกิจที่มั่นคงก็อาจจะไม่สามารถระดมทุนได้ หรือต้องระดมทุนด้วยต้นทุนที่สูงขึ้นมาก จึงมีความเสี่ยงที่ปัญหาการขาดสภาพคล่องจะลุกลามในวงกว้าง เป็นปัญหาเชิงระบบตามมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ออมเงินผ่านตัวกลางต่างๆ ที่ลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน อาทิ กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกองทุนประกันสังคมด้วย เพื่อดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและกลไกของตลาดการเงินให้ทำหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่อง ธปท.  และกระทรวงการคลังจึงเห็นควรจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว (bridge financing) สำหรับเข้าไปซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดีที่มีตราสารหนี้ครบกำหนดชำระในช่วงปี 2563–2564

    ทั้งนี้ บริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ จะต้องชำระอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราตลาด ต้องระดมทุนส่วนใหญ่ได้จากแหล่งเงินทุนอื่น เช่น การกู้เงินธนาคารพาณิชย์หรือการเพิ่มทุน ต้องมีแผนการจัดหาทุนในระยะยาวที่ชัดเจน รวมทั้งต้องผ่านเกณฑ์และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด ทั้งนี้ หากผู้ออกตราสารหนี้เสนอขายตราสารหนี้ต่อนักลงทุนทั่วไปและมีการให้หลักประกันแก่ผู้ถือ ตราสารหนี้ที่กองทุน BFS จะลงทุนในคราวเดียวกันต้องมีหลักประกันไม่ด้อยกว่าหลักประกันที่ให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้อื่น

    “ในรายละเอียดว่าจะดูแลอย่างไรมีเงื่อนไขอย่างไรขอรอดูคณะกรรมการกำกับโครงการเป็นผู้กำหนด แต่ต้องย้ำว่าไม่ได้มีวัตถุประสงค์ไปช่วยดูแลผู้ออกตราสารหนี้เป็นรายๆ แต่ให้น้ำหนักเสถียรภาพและความเชื่อมโยงเป็นหลักหากตลาดทำงานไม่ปกติ และผู้ออกตราสารหนี้ต้องไประดมทุนเองก่อนเป็นส่วนใหญ่ด้วย” ดร.วิรไท กล่าว

    มาตรการที่ 4: ลดเงินนำส่ง FIDF ของธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (สถาบันการเงิน) เพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคธุรกิจและประชาชน

    ธปท.  ปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (Financial Institutions Development Fund: FIDF) จากเดิมอัตราร้อยละ 0.46 เหลือร้อยละ 0.23 ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติมให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในทันที

    “เรื่องเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ ได้คุยกับสมาคมธนาคารไทยก็ให้ดำเนินการโดยทันทีกับอัตราอ้างอิงทั้งหมด การลดค่าธรรมเนียมส่วนนี้จะทำให้การส่งผ่านมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาธนาคารต้องนำส่งเงินมาจ่ายตรงนี้ก็อาจจะสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากหรือต้นทุนเงินของธนาคารอยู่ พอเราปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงก็ไม่มีช่องไปสู่ประชาชนได้ เพราะต้นทุนเงินยังสูง แต่พอลดเงินนำส่งลงไปก็จะสามารถลดดอกเบี้ยเงินกู้ได้ทันที” ดร.วิรไท กล่าว

    แจงพ.ร.ก. 2 ฉบับ-เพิ่มอำนาจบริหารสภาพคล่อง – ปริมาณเงินในระบบ

    ดร.วิรไท กล่าวต่อว่าเพื่อให้ ธปท. สามารถดำเนินมาตรการช่วยเหลือ SMEs และดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนข้างต้นได้ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ ได้แก่

  • ร่าง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา และ
  • ร่าง พ.ร.ก.การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน
  • โดย พ.ร.ก. ทั้งสองฉบับนี้ให้อำนาจ ธปท. บริหารจัดการสภาพคล่องและปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจให้ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีกลไกที่รัฐบาลจะช่วยรับภาระชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นกลไกที่จำเป็นในภาวะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจจะยืดเยื้อ พ.ร.ก. ทั้งสองฉบับนี้ จะช่วยให้ ธปท. มีเครื่องมือเพิ่มขึ้นสำหรับช่วยเหลือธุรกิจ SMEs และมีเครื่องมือที่พร้อมใช้ดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนได้อย่างทันการณ์

    ดร.วิรไท กล่าวต่อว่าการออกพ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท. ดำเนินการทั้งสองฉบับ ไม่ใช่การกู้เงิน บางทีมีคนเข้าใจว่ารัฐบาลกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ธปท. กู้อีก 9 แสนล้านบาท ไม่ใช่แบบนั้น แต่ให้อำนาจ ธปท. ให้เข้าไปบริหารสภาพคล่องให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้ โดยทั่วไปหน้าที่ของธนาคารกลางคือดูแลปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจภาพรวม และแบ่งหน้าที่กับธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งมีเป้าหมายการจัดสรรสภาพคล่องให้เฉพาะกลุ่ม แต่ในช่วงเวลาแบบนี้มันกระทบกับทุกภาคส่วนและกว้างไกลมาก

    ดังนั้น พ.ร.ก. นี้ให้อำนาจ ธปท. มาเพื่อ 1) ดูแลให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายเหมือนกรณีธนาคารเพื่อการพัฒนา ในที่นี้คือกลุ่มเอสเอ็มอีและตลาดตราสารหนี้ 2) ให้มีกลไกให้รัฐบาลร่วมชดเชยความเสียหาย ทั้งในส่วนของ soft loan และตลาดตราสารหนี้ด้วย

    “ถ้าจะเทียบกับสถานการณ์ขณะนี้กับตอนวิกฤตปี 2540 ผมคิดว่าแนวทางการแก้ปัญหาตอนนี้จะเป็นการที่เราพยายามมองไปข้างหน้าไปให้ไกลและเตรียมเครื่องมือไว้ให้พร้อมใช้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ ย้อนไปตอนปี 2540 อันนั้นกระแทกกับเราแรง ทำให้ล้มไปเป็นลูกโซ่แล้ว ธปท. ค่อยไปจัดการตามดูแลทีหลัง ตอนนั้นต้นทุนกับระบบเศรษฐกิจที่สูงมาก ต้นทุนกับรัฐบาลก็สูง ดังนั้นครั้งนี้ถ้าเราเห็นว่ามันอาจจะมีปัญหาเรื่องระบบการเงินในอนาคต เราก็ต้องสร้างกลไกเครื่องมือที่เรียนรู้จากหลายประเทศและเตรียมเครื่องมือไว้พร้อมใช้ เพื่อไปดูแลไม่ให้ปัญหาเป็นลูกโซ่ออกไปอีก เรียกว่าเป็นเครื่องมือที่เก็บใส่กระเป๋าไว้ ถ้าไม่ใช้เลยก็ดีที่สุด เหมือนเป็นโรงพยาบาลสนามของระบบเศรษฐกิจ” ดร.วิรไทกล่าว

    ธปท. เชื่อมั่นว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มาตรการสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ มาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมในครั้งนี้จะช่วยดูแลประชาชน ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งช่วยรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงินของประเทศให้ทำงานได้ต่อเนื่อง ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมจะมีมาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น

    “เราชื่อมั่นว่ามาตรการระยะที่สามต่อจากที่ได้ทำไป ไม่ว่าจะเร่งให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือดูแลสินเชื่อรายย่อยให้ประชาชน เช่นเกณฑ์ขั้นต่ำเรื่องสินเชื่อเช่าซื้อ บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน วันนี้เราเน้นที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและถ้าจำเป็นเราก็พร้อมจะออกมาตรการเพิ่มเติม” ดร.วิรไท กล่าว

    ดร.วิรไทกล่าวปิดท้ายอีกว่า สำหรับแหล่งเงินทุนตาม พ.ร.ก. ทั้งหมดจะไม่เกี่ยวกับเงินสำรองระหว่างประเทศ ตามปกติ ธปท. มีมาตรการบริหารสภาพคล่องในระบบในแต่ละวันอยู่แล้วและมีหลายกลไกที่ใช้ดำเนินการเรื่องเหล่านี้ เช่นออกพันธบัตรเพื่อดูดสภาพคล่อง หรือเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็ปล่อยสภาพคล่องเข้าไป แต่ปกติเวลาที่ธนาคารกลางทำจะเน้นภาพรวม ไม่ใช่เจาะจงกับบางกลุ่มอย่างเอสเอ็มอีซึ่งต้องมีอำนาจเพิ่มเติมที่ออกมาในวันนี้

    เผยสถาบันการเงินช่วยลูกหนี้แล้วกว่า 1 ล้านราย

    ด้านนายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่าสำหรับมาตรการที่ ธปท. และสถาบันการเงินที่ร่วมกันในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท. ได้คุยกันว่าควรกำหนดมาตรการโดยทั่วไปในสินเชื่อต่างๆ ซึ่งจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2563 มีสถาบันการเงินเข้าไปช่วยเหลือ 997,768 ราย เป็นวงเงิน 993,323 ล้านบาท โดยเป็นลูกหนี้รายย่อยเป็นหลักมากกว่าครึ่ง ซึ่งสืบเนื่องจากมาตรการที่ให้การช่วยเหลือพักหนี้เป็นการทั่วไป รวมไปถึงอีกวิธีการสื่อสารของสถาบันการเงินที่ใช้เว็บไซต์หรือแอพลิเคชั่นให้เข้าถึงลูกหนี้ได้เร็วและมีประสิทธิผลมากขึ้น

    ดร.วิรไทกล่าวว่า วันนี้เราโชคดีที่ระบบธนาคารพาณิชย์เข้มแข็งพอจะช่วยดูแลลูกหนี้ได้มาก ทั้งการเลื่อนการชำระหนี้ไปหรือมาดูแลตราสารหนี้ได้ ดังนั้นเวลาที่ดูแลเยียวยาภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนสูงแบบนี้ต้องดูแลในสองมิติ คือเยียวยาประชาชนและอีกด้านต้องรักษาระบบการเงินของประเทศไว้ เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ระบบการเงินต้องพร้อมจะช่วยฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ เช่นปล่อยสินเชื่อ พร้อมทำให้กลไกการส่งผ่านปริมาณเงินเป็นปกติได้ มาตรการของ ธปท. ตอนนี้จะเน้นดูแลในทั้งสองมิตินี้

  • รัฐเยียวยาโควิด-19 เฟส 3 ใช้เงินกู้-ซอฟท์โลน อุ้ม 1.9 ล้านล้าน
  • เลื่อนเปิดเทอมจาก 16 พ.ค. เป็น 1 ก.ค.นี้

    ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอการปรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 โดยให้สถานศึกษาเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

    ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะปรับวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่กำหนดไว้ในแต่ละระดับการศึกษา ของปีการศึกษา 2563 โดยกระทรวงศึกษาธิการจะได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต่อไป

    ทั้งนี้ เนื่องจากตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ให้มีผลตั้งแต่ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) มีคำแนะนำให้ประชาชนอยู่บ้าน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มคนมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจ เด็กอายุไม่เกิน 5 ปี อันส่งผลกระทบต่อสถานศึกษาในกระบวนการการรับสมัคร การสอบคัดเลือก การจับฉลาก การประกาศผล การรายงานตัว และการมอบตัวที่ได้กำหนดวันไว้เดิมตามปฏิทินการรับนักเรียน นักศึกษาและผู้เรียนในปีการศึกษา 2563 ซึ่งกำหนดดำเนินการระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563

    โดยขณะนี้สถานศึกษายังไม่สามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการข้างต้น ทำให้สถานศึกษาไม่สามารถเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ. 2549

    เพิ่มใช้ไฟฟรี ไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอดังนี้

    • เห็นชอบกำหนดนโยบายมาตรการค่าไฟฟ้าฟรีกับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ (ประเภทที่ 1.1 ของการไฟฟ้านครหลวง และประเภทที่ 1.1.1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) จาก 50 หน่วยต่อเดือนเป็น 90 หน่วยต่อเดือน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานดำเนินการโดยให้ใช้เงินเรียกคืนรายได้เพื่อให้การไฟฟ้า มีฐานะการเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดมาเป็นแหล่งเงินในการสนับสนุนการดำเนินการ
    • เห็นชอบการขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ (ประเภทที่ 1.1 ของการไฟฟ้านครหลวง และประเภทที่ 1.1.1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิลสำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน ถึงเดือนมิถุนายน 2563 โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยไม่มีเบี้ยปรับ

    ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจในหลายส่วนทั้งภาคครัวเรือน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมากย้ายถิ่นฐานกลับไปยังภูมิลำเนา รวมถึงการทำงานภายในที่พักอาศัย (work from home) ทำให้การใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่เดิมเคยได้รับสิทธิค่าไฟฟ้าฟรี จำนวน 50 หน่วยไม่ต้องชำระค่าไฟฟ้า จะไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว เป็นผลให้มีภาระต้องชำระค่าไฟฟ้า ซึ่งในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มดังกล่าวอาจไม่สามารถชำระค่าไฟฟ้าได้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีข้อเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม

    โดยคาดว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นวงเงิน ประมาณ 9,375 ล้านบาท ดังนี้

    • ค่าไฟฟ้าฟรี ระยะเวลา3 เดือน (เดือนเมษายน – มิถุนายน 2563) ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน รวม 3,029 ล้านบาท (กฟน. 74 ล้านบาท กฟภ. 2,955 ล้านบาท) จำนวนประชาชนที่ได้รับประโยชน์ รวม 6.435 ล้านราย (กฟน. 205,272 ราย กฟภ. 6.23 ล้านราย)
    • ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า 3 เดือน (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563) ผลประโยชน์ ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน รวม 6,346 ล้านบาท กฟน. 301 ล้านบาท กฟภ. 6,045 ล้านบาท รวม 4.265 ล้านราย (กฟน. 165,567 ราย กฟภ. 4.1 ล้านราย)
    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
    ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

    เว้นอากรขาเข้าเวชภัณฑ์ยา-ป้องกัน โควิดฯ

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  โดย เป็นการยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ว่าจะอยู่ในพิกัดประเภทใด ทั้งนี้ ตามรายการที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด

    โดยแก้ไขวันใช้บังคับจากเดิม “ให้มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563” เป็น “ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563” เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563

    ยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบผลิตยาต้านเอดส์

    ศ. ดร. นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ ..) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ พิจารณายกเว้นอากรขาเข้าสำหรับโลปินาเวียร์และริโทนาเวียร์ สูตรผสม

    เพื่อให้ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์มีความคล่องตัวในการเลือกใช้วัตถุดิบ สำหรับการพิจารณายกเว้นอากรขาเข้าสินค้ายาสูตรผสมที่ใช้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ที่รักษาโรคอื่นได้ โดยเป็นการยกเว้นอากรขาเข้ายาสูตรผสม (ประเภทย่อย 3003.90) ที่ใช้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์เท่านั้น ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า

    ทั้งนี้ ประมาณการว่า การยกเว้นอากรขาเข้าดังกล่าว จะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีอากรประมาณ 50 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการยกเว้นอากรดังกล่าวจะส่งผลให้ลดการนำเข้ายาต้านไวรัสเอดส์สำเร็จรูป ลดภาระต้นทุนการผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ และเพิ่มการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์

    อนุมัติ งบกลางฯ 801 ล้าน ซื้อหน้ากากอนามัยแจก

    รศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 801 ล้านบาท เพื่อการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย สอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

    ซึ่งการดำเนินการประกอบด้วย

    1) การจัดซื้อหน้ากากอนามัย กระทรวงพาณิชย์จัดซื้อโดยตรงจากโรงงานผู้ผลิตตามกำลังผลิตที่มีอย่างเหมาะสม

    2) การกระจายหน้ากากอนามัย ให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นผู้จัดส่งหน้ากากอนามัยจากโรงงานผู้ผลิตไปให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อกระจายต่อไปยังประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ตามความเหมาะสม ระยะเวลาดำเนินการ เมษายน-ตุลาคม 2563 ณ ปัจจุบันนี้ กำลังการผลิตหน้ากากอนามัยอยู่ที่ 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน และคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็น 2.8 ล้านชิ้นต่อวัน ในเดือนพฤษภาคมนี้

    เพิ่มเงินพิเศษข้าราชการ สธ. – บรรจุเพิ่มอีก 45,684 อัตรา

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. อนุมัติอัตราข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขตั้งใหม่ 45,684 อัตรา และมาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขรองรับภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19)

    ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอย่างรวดเร็ว กระทรวงสาธารณสุขจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มขีดความสามารถด้านกำลังคนให้มีจำนวนเพียงพอ และมีสมรรถนะเหมาะสมในการตรวจคัดกรอง วินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล การควบคุมการแพร่กระจายของโรค รวมทั้งการฟื้นฟูสุขภาพของประชาชน การขออนุมัติตำแหน่งข้าราชการอัตราตั้งใหม่นี้ เป็นการขอบรรจุบุคลากรที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ ในการทำงานวิชาชีพ อีกทั้งยังเป็นกำลังหลักในกรปฏิบัติงานด่านหน้า ทำงานในที่ที่มีความเสี่ยง ต้องทำงานผลัดเวรตลอด 24 ชั่วโมง

    ในส่วนของรายละเอียดการบรรจุข้าราชการใหม่ มีดังนี้

  • อัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุบุคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณืระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ในปีงบประมาร พ.ศ. 2563 จำนวน 24 สายงานรวมทั้งสิ้น 38,105 อัตรา
  • อัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อบรรจุนักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 5 สายงาน จำนวน 7,579 อัตรา
  • คัดเลือกบรรจุบุคคลซึ่งมิได้สำเร็จการศึกษาในวุฒิที่ กพ กำหนด ให้คัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการตามหนังสือสำนักงาน กพ ที่ นร1004/ว/17 ลงวันที่ 19 กันยายน 2562
  • ในส่วนของการบรรจุอัตรข้าราชการใหม่นั้น ในรายละเอียดหลักเกณฑ์จะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุม คปร. (ซึ่งกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินงานภายใน สอง สัปดาห์) จากนั้นจะส่งเรื่องให้ ก.พ. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการนำเสนอ รายงานต่อ ครม. เพื่อรับทราบตามที่ ครม. ได้อนุมัติ  ต่อไป

    นางสาวไตรศุลีกล่าวต่อไปว่า ครม. ยังได้พิจารณามาตรการการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขดังนี้สนับสนุนเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนสำหรับบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข  จัดสรรโควตาพิเศษความดีความชอบพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารรณสุข  การปรับสิทธิประโยชน์ของบุคลากรที่ได้รับความเสียหายกรณีปฏิบัติหน้าที่ (กรณีเสียชีวิต เจ็บป่วย ทุพพลภาพ)และนับเวลาอายุราชการทวีคูณเพื่อคำนวณบำเหน็จบำนาญ  ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนบุคคลกรุงไทยธนวัฏ/ ธนาคารออมสิน ระยะเวลา 1 ปี สำหรับบุคลากรสาธารณสุข  ปรับอัตราชดเชยใน ม.18ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้บริการสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการทางสาธารณสุข (กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 จำนวน 2 เท่าจากอัตราเดิม)

    ทั้งงนี้ ครม. ได้มีมติอนุมัติในหลักการ ส่วนในรายละเอียดให้ไปหารือเพิ่มเติมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียด โดยให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาประกอบการจัดทำด้วย

    ปรับปรุงคลองยม–น่าน แก้ “น้ำท่วม-ภัยแล้ง” 2,875 ล้าน

    รศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการปรับปรุงคลองยม – น่าน จังหวัดสุโขทัย กรอบวงเงิน 2,875 ล้านบาท เพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยมีกรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการตามแผนงานโครงการ 5 ปี (ปีงบประมาณ 2563 -2567)

    ทั้งนี้ เนื่องจากแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลักเพียงสายเดียวที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการภายในลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่สามารถสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่บริเวณตอนบนของลุ่มน้ำ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมตอนล่างในเขตพื้นที่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี

    โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จังหวัดสุโขทัย เป็นการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำสายหลัก โดยการตัดยอดน้ำบางส่วนจากแม่น้ำสายหลักเพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลผ่านพื้นที่เขตเศรษฐกิจให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับปริมาณน้ำได้ ซึ่งเริ่มจากจุดรับน้ำบริเวณคลองหกบาท ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ไปยังจุดระบายน้ำลงแม่น้ำน่านบริเวณปลายคลองยม-น่าน  ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์

    โดยกรมชลประทานจะดำเนินการปรับปรุงคลองหกบาทจากเดิมที่สามารถรับน้ำได้ 250ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มเป็น 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองลดลงเท่ากับความสามารถที่รับได้ของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยในสภาวะปกติ ซึ่งปริมาณน้ำจากคลองหกบาทจะถูกระบายไปที่คลองยม-น่านที่ได้รับการปรับปรุงให้สามารถระบายน้ำได้ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และระบายลงสู่แม่น้ำยมสายเก่าที่สามารถรับน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

    โครงการนี้จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งในระหว่างนี้กรมชลประทานจะดำเนินการเตรียมความพร้อมในการจัดหาที่ดิน ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ หากโครงการดังกล่าวเสร็จสิ้น จะเป็นโยชน์ในการช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ครอบคลุม 15 ตำบล  27 หมู่บ้าน 5,340 ครัวเรือน และสามารถกักเก็บน้ำในแนวคลองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตรและการปศุสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 7,300 ไร่

    กำหนดเขตประมงชายฝั่งชลบุรีใหม่ แก้ปมพื้นที่ทับซ้อน

    รศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่งจังหวัดชลบุรี แก้ปัญหาพื้นที่การทำประมงทับซ้อน สืบเนื่องจาก กฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. 2560 ได้กำหนดเขตทะเลชายฝั่งและแนวเขตของแผนที่ท้ายกฎกระทรวงหมายเลข 2/9 ในจังหวัดชลบุรีเป็นเส้นโค้งเว้าตามแนวทะเลชายฝั่ง ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนจนกลายเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ในพื้นที่

    เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตทะเลชายฝั่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับเดิม เพื่อให้เกิดความชัดเจนของแนวเขตทะเลชายฝั่งทะเลในจังหวัดชลบุรีและแก้ปัญหาพื้นที่การทำประมงทับซ้อน ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

    1. เขตทะเลชายฝั่ง จังหวัดชลบุรี

    • ระยะ 2.71 ไมล์ทะเล ถึง 3.77 ไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง จากเดิมที่กำหนด ระยะ 3 ไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายฝั่ง
    • ระยะ 1.55 ไมล์ทะเล ถึง 2.33 ไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายเกาะ จากเดิมที่กำหนด ระยะ 1.6 ไมล์ทะเล นับจากแนวชายฝั่งทะเลที่น้ำทะเลจรดแผ่นดินบริเวณชายเกาะ

    2. แผนที่ท้ายกฎกระทรวงหมายเลข 2/9 กำหนดแนวเขตทะเลชายฝั่งเป็นเส้นตรงลากผ่านจุดพิกัด โดยไม่เกินระยะตามที่กฎหมายกำหนด จากเดิมที่เป็นเส้นโค้งตามแนวชายฝั่งทะเล

    ทั้งนี้  การปรับปรุงระยะแนวเขตทะเลชายฝั่งและแผนที่ท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดชลบุรีแล้ว ต่อไปคือการเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา

    เพิ่มรางวัลนำจับ จูงใจ จนท.ทลายขบวนการค้ายารายใหญ่

    รศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. วันนี้ ครม. เห็นชอบในหลักการให้มีการแก้ไขร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้แจ้งความนำจับ เงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ และเงินช่วยเหลือในการปฏิบัติงานยาเสพติด พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดการจ่ายเงินค่าตอบแทนที่เหมาะสมให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างแรงจูงใจในการสอบสวนขยายผลคดียาเสพติดไปยังเครือข่ายผู้เป็นนายทุนและผู้สั่งการที่อยู่เบื้องหลัง

    ซึ่งมีกำหนดให้จ่ายเงินค่าตอบแทนเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้|

    • คดีที่ยึดได้แต่ยาเสพติดให้จ่ายเงินค่าตอบแทน ร้อยละ 25 ของจำนวนเงินที่คำนวณได้จากปริมาณยาเสพติด

    หากสามารถขยายผลการจับกุมและพนักงานอัยการสั่งฟ้องในกรณี 1) จับกุมเจ้าของยาเสพติด ผู้กระทำความผิดร่วม ผู้สั่งการ หรือนายทุน 2) จับกุมเครือข่ายยาเสพติดเป็นคดีใหม่ ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนร้อยละ 25 ของจำนวนเงินที่คำนวณได้จากปริมาณยาเสพติดจากเดิมที่ จ่ายให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่คำนวณได้จากปริมาณยาเสพติด และเมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้องหรือศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จ่ายส่วนที่เหลือเต็มจำนวน

    • คดีจับกุมผู้ต้องหาและยาเสพติดของกลางและพนักงานอัยการสั่งฟ้อง ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่คำนวณได้จากปริมาณยาเสพติด แต่ถ้าพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องให้จ่ายร้อยละ 25

    หากสามารถขยายผลการจับกุมและพนักงานอัยการสั่งฟ้องในกรณี 1) จับกุมผู้ต้องหารายสำคัญ 2) จับกุมเจ้าของยาเสพติด ผู้กระทำความผิดร่วม ผู้สั่งการ หรือนายทุน 3) จับกุมเครือข่ายยาเสพติดเป็นคดีใหม่ ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนร้อยละ 25 ของจำนวนเงินที่คำนวณได้จากปริมาณยาเสพติด

    ทั้งนี้ เมื่อรวมกันแล้วต้องไม้เกินร้อยละ 100 ของจำนวนเงินที่คำนวณได้จากปริมาณยาเสพติด จากเดิม เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้อง ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนโดยคำนวณตามปริมาณยาเสพติด  หากพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนโดยคำนวณตามปริมาณยาเสพติดเพียงกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินตามสิทธิที่จะได้รับ

    • คดีจับกุมผู้ต้องหาที่จำหน่ายยาเสพติดให้แก่เด็กหรือเยาวชน เมื่อพนักงานอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาข้อหาจำหน่ายให้เก็บเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านและชุมชน ให้จ่ายเงินเพิ่มไม่เกิน 5,000 บาท

    เพิ่มวงเงินสินเชื่อชะลอขายข้าวฯ อีก 5,000 ล้าน

    รศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ให้ปรับเพิ่มเป้าหมายปริมาณข้าวเปลือก เพิ่มวงเงินสินเชื่อ และขยายระยะเวลาการทำสัญญาเงินกู้ ตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2562/63 เพิ่มเติม โดยรับทราบ

    • เพิ่มเป้าหมายปริมาณการชะลอขายข้าวเปลือกเป็น 1.5 ล้านตัน จากเดิม 1 ล้านตัน
    • ปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อโครงการเป็น 15,000 ล้านบาท จากเดิม 10,000 ล้านบาท
    • ขยายระยะเวลาการทำสัญญาให้สิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2563 สำหรับภาคใต้ขยายถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563

    และเห็นชอบให้จัดสรรวงเงินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกปีการผลิต 2562/63 วงเงินรวมทั้งสิ้น 682.86 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขอจัดสรรวงเงินงบประมาณประจำปี 2564 และปีถัดๆ ไป ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้ชำระเงินชดเชยดอกเบี้ย ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือน ของ ธ.ก.ส. บวก 1 ต่อปี และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงกรณีที่มีการระบายข้าว ได้แก่ค่าขนย้ายข้าวเปลือก ต้นทุนเงินค่าขนย้ายข้าวเปลือก และส่วนต่างภาระขาดทุนจากการระบายข้าว

    อีกทั้งยังเห็นชอบให้จัดสรรค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกโครงการฯ (เพิ่มเติม) วงเงินรวม 750 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มเป้าหมายปริมาณข้าวเปลือกโครงการเป็น 1.5 ล้านตัน เพื่อจ่ายเป็นค่าฝากเก็บรักษาคุณภาพข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกร ตันละ 1,500 บาท และสถาบันเกษตรกรที่รับฝากไว้ ตันละ 1,500 บาท แบ่งออกเป็นสถาบันเกษตรกรได้รับตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ฝากข้าวได้รับตันละ 500 บาท ซึ่งต้องเก็บข้าวไว้อย่างน้อย 1 เดือน ระยะเวลาไถ่ถอน 5 เดือน โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ขอจัดสรรงบประมาณจากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) และนำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรพิจารณาต่อไป

    รศ. ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายโอกาสส่งออกข้าวไทยไปยังต่างประเทศ เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก อาจทำให้ความสามารถการผลิตของแต่ละประเทศลดลงและมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบความต้องการในประเทศ

    พณ.ออกประกาศกระทรวง ห้ามนำเข้า“ขยะอิเล็กทรอนิกส์”

    รศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. …. เพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และสอดคล้องกับร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดชนิดและแหล่งกำเนิดวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในโรงงาน พ.ศ. …. ได้กำหนดห้ามโรงงานใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมาเป็นวัตถุดิบในโรงงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563

    ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการบางรายลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ปะปนกับเศษพลาสติกเข้ามาในประเทศและมีการจัดการโดยไม่ถูกวิธี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยสาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ สรุปได้ดังนี้

    1) กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภท 84 และประเภท 85 เฉพาะรหัสสถิติ 899 เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

    2) กำหนดนิยาม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่มีส่วนประกอบซึ่งได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่อื่นๆ สวิตซ์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทด และแอกติเวเต็ดกลาสอื่นๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีบีซี หรือที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลีคลอริเนทเต็ดไบฟีนิล ซึ่งเป็นของเสียเคมีวัตถุ ตามบัญชี 5.2 ลำดับที่ 2.18 ของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย

    3) กำหนดให้มีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ในกรณีสงสัยว่าสินค้าใดเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาโดยนำความเห็นของกรมโรงานอุตสาหกรรมและกรมศุลกากรมาประกอบด้วย

    ทั้งนี้ การออกประกาศดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นวัตถุดิบในการผลิต แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศนำกลับมาใช้ใหม่อย่างถูกวิธีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียในประเทศ โดยเฉพาะสารพิษตกค้างประเภทโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 7 เมษายน 2563เพิ่มเติม