ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประยุทธ์” จะเอาเงินจากไหนกู้วิกฤติโควิด-ภัยแล้ง (1) : เปิดก็อกโยกงบฯค้างท่อ 6.4 แสนล้าน

“ประยุทธ์” จะเอาเงินจากไหนกู้วิกฤติโควิด-ภัยแล้ง (1) : เปิดก็อกโยกงบฯค้างท่อ 6.4 แสนล้าน

7 เมษายน 2020


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www’thaigov.go.th/

ด้วยวิกฤติซ้อนวิกฤติของประเทศไทยในขณะนี้ ทั้งปัญหาวิกฤติโควิด-19 วิกฤติภัยแล้ง และวิกฤติฝุ่นพิษหมอกควัน ล้วนเป็นวิกฤติที่ต้องแก้ไขและใช้งบประมาณเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งคำถามว่ารัฐจะใช้เงินจากไหนมาฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอประเด็นการใช้งบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้ว 96,000 ล้านบาท สำหรับแก้วิกฤติโควิด-19 และภัยแล้ง

  • ตามหางบฯ ฉุกเฉินสู้วิกฤติโควิด -19 วงเงิน 96,000 ล้านบาท
  • ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 เห็นชอบมาตรการของสำนักงบประมาณ ให้หน่วยงานรัฐปรับลดงบประมาณลง 10% ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ทั้งในส่วนของงบประจำ และงบฯ เดินทางไปราชการ สัมมนา อบรม ดูงานในต่างประเทศ หากระงับ หรือเลื่อนเดินทางได้ ให้โยกมาใช้บรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภัยแล้ง

    ส่วนงบลงทุนที่ใช้ในการจัดซื้อครุภัณฑ์วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือใช้ก่อสร้างวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท หากไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในเดือนมีนาคม 2563 ให้โอนมาใช้ในการบรรเทาผลกระทบโควิดฯ และภัยแล้ง เช่น ปรับเปลี่ยนวิธีจากการจ้างเหมามาเป็นการดำเนินงานเอง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ หรือในกรณที่มีการสั่งซื้อครุภัณฑ์จากต่างประเทศ ให้เปลี่ยนมาซื้อจากผู้ผลิตในประเทศแทน

    สำหรับงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีหรือ ครม. แล้ว แต่ยังไม่ได้รับจัดสรรงบฯ จากสำนักงบประมาณ กรณีนี้ให้ชะลอไว้ก่อน ส่วนงบกลางฯ ที่ไม่สามารถก่อหนี้หรือสั่งซื้อ (PO) ได้ทันภายในวันที่ 10 มีนาคม 2563 ให้นำส่งคืนสำนักงบฯ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาโควิด-19 และภัยแล้ง

  • เงินภาษีเรา เขาเอาไปทำอะไร “งบกลาง” ค้างท่อเกือบ 3 แสนล้านบาท
  • ล่าสุด สำนักงบประมาณทำสรุปผลการดำเนินงาน ตามมาตรการงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบโควิดฯ และภัยแล้ง เสนอที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 จากฐานข้อมูลของสำนักงบฯ พบว่าหน่วยงานของรัฐที่ได้รับจัดสรรงบฯ ปี 2563 จำนวน 419 หน่วยงาน ปัจจุบันมีวงเงินงบประมาณคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย และก่อหนี้ผูกพันทั้งสิ้น 644,181 ล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 362,077 ล้านบาท ในกลุ่มนี้มีงบประจำที่ใช้สำหรับเดินทางไปราชการ อบรม ศึกษาดูงานต่างประเทศ 1,222 ล้านบาท และงบลงทุนที่ยังไม่เบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพันเหลือ 282,104 ล้านบาท

    ปรากฏว่ามีหน่วยงานรัฐ 158 หน่วยงาน จากทั้งหมด 419 หน่วยงาน เสนอแผนการใช้จ่ายเงินมาให้สำนักงบฯ พิจารณา เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้บรรเทาปัญหาโควิดฯ-ภัยแล้ง 8,456 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.31% ของวงเงินงบฯ ที่ยังไม่เบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพัน 644,181 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำ 7,732 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.14% งบประจำที่ยังไม่เบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพัน 362,077 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 10% ในจำนวนนี้มีหน่วยงานรัฐเสนอแผนปรับลดงบฯ อบรม สัมมนา ศึกษาดูงานต่างประเทศมาแค่ 223 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.23% ของงบฯ ไปราชการ ดูงานต่างประเทศ 1,222 ล้านบาท และงบลงทุน 724 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.26% ของงบลงทุนที่ยังไม่เบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพัน 282,104 ล้านบาท

    จากนั้น ทางสำนักงบประมาณได้นำแผนงานการใช้จ่ายเงินของ 158 หน่วยงานมาพิจารณา พบว่าสอดคล้องกับเป้าหมายตามมาตรการของสำนักงบฯ สามารถนำไปใช้บรรเทาผลกระทบการแพรระบาดของโควิด-19 และภัยแล้งได้แค่ 3,727 ล้านบาทเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วน 0.58% ของวงเงินงบฯ ที่ยังไม่เบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพัน 644,181 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

      1. ใช้บรรเทาผลกระทบโควิด-19 ได้ 3,182 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.49% ของวงเงินงบฯ ที่ยังไม่เบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพันทั้งหมด แบ่งเป็นงบประจำ นำมาใช้ได้ 3,044 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบฯ เดินทางไปราชการ อบรม สัมมนา ดูงานต่างประเทศสามารถนำมาใช้ได้ 97 ล้านบาท และงบลงทุนนำมาใช้ได้ 139 ล้านบาท
      2. ใช้บรรเทาผลกระทบภัยแล้งได้ 544 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.08% ของวงเงินงบฯ ที่ยังไม่เบิกจ่ายและก่อนี้ผูกพันทั้งหมด แบ่งเป็นงบประจำ 163 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบฯ เดินทางไปราชการ อบรม สัมมนา ดูงานต่างประเทศ 4.7 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 381 ล้านบาท

  • นายกฯ ปัดตอบปรับ ครม. ชี้ยังไม่ถึงเวลา-มติ ครม. จัดงบฯ 1,233 ล้าน แก้ปัญหาโควิด-19
  • “วิษณุ”เผยอาจขยายเวลาเคอร์ฟิว-ครม.อนุมัติพ.ร.ก.“คลังกู้-ธปท.จัดซอฟท์โลน”อัดเงิน 10%GDP
  • ภายหลัง ครม. มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินมาตรการของสำนักงบประมาณดังกล่าว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงบประมาณยังคงเดินหน้าพิจารณาปรับลดงบประมาณของหน่วยงานรัฐต่อไป ทั้งนี้เพื่อโอนมาใช้แก้ไขปัญหาของบ้านเมือง คาดว่าจะได้ประมาณ 10% ของวงเงินงบประมาณที่นำไปใช้ได้เท่านั้น ยืนยันว่าไม่ใช่ 10% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรทั้งหมดหรืองบประมาณที่เบิกจ่ายไปแล้ว และที่สำคัญไม่ปรับลดงบฯ ประเภทเงินเดือนหรือสวัสดิการต่างๆ ตอนนี้ทุกกระทรวงก็เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว หากรัฐบาลสามารถปรับลดงบฯ ลงมาได้มาก การกู้เงินก็จะลดลง

    อ่านต่อตอนต่อไป แนวทางการหาแหล่งเงินของรัฐบาลจะมาจากไหนได้บ้าง