ThaiPublica > คอลัมน์ > Pandemic Economics…เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยโรคระบาดใหญ่ กรณีศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของ Spanish flu 1918

Pandemic Economics…เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยโรคระบาดใหญ่ กรณีศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของ Spanish flu 1918

8 เมษายน 2020


Hesse004

ที่มาภาพ : https://experience.arcgis.com/experience/685d0ace521648f8a5beeeee1b9125cd

นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (pandemic) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ เวลานี้ ผ่านไปไม่ถึงหนึ่งเดือน ตัวเลขยืนยันผู้ติดเชื้อที่รายงานในเว็บไซต์ WHO เมื่อวันที่ 8 เมษายน อยู่ที่ 1,282,931 คน มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 72,776 คน และพื้นที่ระบาดทั่วโลกพื้นที่ระบาดทั่วโลก 209 ประเทศ

แน่นอนว่า โรคระบาดใหญ่ หรือที่คนไทยเรามักเรียก “โรคห่า” หรือ “ห่าลง” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดการวางระบบใหม่ จัดระเบียบใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องทำเพื่อจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้น

ในอดีตที่ผ่านมาโรคระบาดใหญ่ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปเรือนล้าน ไล่เรียงมาตั้งแต่กาฬโรค (Black Death) ฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) รวมถึงไข้หวัดสเปน หรือ Spanish flu 1918 ที่มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกถึง 500 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตราวๆ 50 ล้านคน

กรณี Spanish flu นับเป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ที่ไวรัสสายพันธุ์ H1N1 ได้มอบไว้ให้กับมนุษยชาติเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ Spanish flu มีจุดเริ่มต้นของการระบาดหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง เมื่อทหารผ่านศึกทั้งหลายต่างทยอยกลับบ้านโดยหารู้ไม่ว่าตัวเองได้นำโรคระบาดใหญ่กลับบ้านไปด้วย

ที่มาภาพ : https://wynninghistory.files.wordpress.com/2018/03/influenza-1918.jpg?w=772

เมื่อร้อยกว่าปีก่อน วิทยาการทางการแพทย์ยังไม่เจริญเท่ากับปัจจุบัน Spanish flu จึงกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนมากมาย สร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

การระบาดของ Spanish flu เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 1918 สิ้นสุดในเดือน ธ.ค. 1920 ช่วงระยะเวลาเกือบสามปีเต็มที่โลกยุคนั้นดูจะ “ตื่นตระหนก” และหยุดชะงัก และแน่นอนที่สุดผลที่ตามมาจากโรคระบาดใหญ่กระทบต่อตลาดแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากจำนวนประชากรที่ลดลงและอายุเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่นั้นอยู่ในวัยทำงาน

นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (Health Economists) ให้ความสนใจกับผลกระทบของโรคระบาดที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดย Spanish flu เป็นหนึ่งโรคระบาดที่นักเศรษฐศาสตร์ยุคหลังได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ

การศึกษา Pandemic Economics หรือเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยโรคระบาดใหญ่นั้นมีนักเศรษฐศาสตร์ให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น งานของ Thomas A. Garrett เมื่อปี 2007 ที่ศึกษาผลกระทบของ Spanish fluศึกษาผลกระทบของ Spanish flu ที่มีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา

ในงานของ Garrett ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของ Spanish flu ที่มีต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นโดยเฉพาะภาคธุรกิจบริการที่ได้รับผลกระทบจากการ “ปิดเมือง” อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ (health care products) กลับได้ผลกำไรมหาศาล

ขณะเดียวกัน Garrett ได้ทบทวนวรรณกรรมทาง Pandemic Economics พบว่า ผลของ Spanish flu ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานและทำให้ตลาดแรงงานต้องปรับตัวส่งผลให้ค่าจ้างสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจจากงานของ Garrett ยังพบอีกว่า Spanish flu กระทบต่อผลิตภาพแรงงานที่ลดลงร่วมๆ ทศวรรษเลยทีเดียว

น่าสนใจว่านักเศรษฐศาสตร์รุ่นต่อมาศึกษาต่อถึงประเด็นผลกระทบระยะยาวของ Spanish flu ซึ่งงานของ Brain Beach Joseph P.Ferrie และ Martin H. Saavedra ที่ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในบทความวิชาการเรื่อง Fetal Shock or Selection? The 1918 Influenza Pandemic and Human Capital Development ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ช่วงการระบาดของ Spanish flu ส่งผลต่อการลดลงของการเข้าถึงระบบการศึกษา พูดง่ายๆ คือ ไม่มีใครกล้าไปโรงเรียน เพราะเกรงติดเชื้อไข้หวัด ขณะเดียวกันอัตราผู้พิการเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือนที่ลดลง

นอกจากนี้ยังมีงานศึกษาผลกระทบของ Spanish flu ในประเทศแถบยุโรป เช่น งานของ Martin Karlsson และคณะ (2014) ที่ศึกษาผลกระทบของ Spanish flu ในสวีเดน1 โดยผลการศึกษายืนยันคล้ายกับหลายงานที่พบว่า Spanish flu ทำให้คนจนลง อัตราคนยากจนเพิ่มขึ้นในงานของ Karlsson ใช้ว่า Significant increases in poorhouse rates นอกจากนี้ยังส่งผลทางลบต่ออัตราผลตอบแทนของทุน

หากจะว่าไปแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจเรื่อง Pandemic Economics พยายามพิสูจน์หรือวัดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความเลวร้ายของโรคระบาด แน่นอนว่า ผลกระทบเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ที่มาภาพ : https://nationalpostcom.files.wordpress.com/2018/12/Mask_Law.1.jpg?w=640&quality=60&strip=all

งานล่าสุดที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ World Economic Forum เรื่อง How can we save lives and the economy? Lessons from the Spanish Flu pandemic โดย Sergio Correia และ Stephan Luck สองนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่พยายามชี้ให้เห็นว่าเมื่อร้อยกว่าปีก่อนนั้นมาตรการที่รัฐบาลท้องถิ่น แต่ละมลรัฐของสหรัฐอเมริกา ที่นำมาใช้จัดการ Spanish flu นั้นส่งผลแตกต่างกัน

ข้อสรุปที่ทั้งสองพบ คือ ในช่วงที่ Spanish flu ระบาดรุนแรงในสหรัฐอเมริกา มาตรการที่เรียกว่า non-pharmaceutical interventions (NPIs) เช่น การจำกัดระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing นั้นสามารถส่งผลกระทบทางบวกต่อเศรษฐกิจได้ผ่านการลดโอกาสการแพร่เชื้อของผู้คน

น่าสนใจว่าข้อสรุปที่ทั้งสองพบ คือ มลรัฐที่ใช้มาตรการแบบนี้เข้มข้นตั้งแต่เนิ่นๆ นั้นกลับไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ในงานวิจัยเขียนไว้ว่า

“A study of the economic impact of the 1918 Spanish Flu in the US has found those cities that implemented early and extensive NPIs suffered no adverse economic effects over the medium term.”

หนำซ้ำ เมืองที่รีบดำเนินการปิดแต่เนิ่นๆ ทั้งรวดเร็วและรุนแรงนั้นเมื่อเปรียบเทียบดูแล้ว พบว่า หลังโรคระบาดซาลงไป ผลการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าเมืองที่ปิดช้ากว่า2

พูดให้ง่ายๆ คือ เจ็บแต่จบ หรือ เจ็บแต่ดี

อย่างไรก็ดี การปิดเมือง หรือ lockdown เมืองนั้น มีความละเอียดอ่อนสูงมาก ที่สำคัญคือในบริบททางสังคม เศรษฐกิจที่แตกต่างกัน การ lockdown อาจส่งผลกระทบที่แตกต่างกัน

แต่ที่แน่ๆ คือ มาตรการ social distancing ที่พิสูจน์กันมาตั้งแต่ครั้ง Spanish flu นั้นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นมาตรการดีที่สุดที่ทุกคนสามารถช่วยกันป้องกันไม่ให้โรคระบาดนี้รุนแรงไปมากกว่านี้

หมายเหตุ :

1.ผู้สนใจโปรดดู The impact of the 1918 Spanish flu epidemic on economic performance in Sweden: An investigation into the consequences of an extraordinary mortality shock
2.Cities that intervened earlier and more aggressively actually experienced a relative increase in real economic activity after the pandemic subsided.