ThaiPublica > คอลัมน์ > ดัชนีความโปร่งใสปี 2014 เลือกระหว่าง “วาทกรรม” หรือ “รูปธรรม” ของความโปร่งใส

ดัชนีความโปร่งใสปี 2014 เลือกระหว่าง “วาทกรรม” หรือ “รูปธรรม” ของความโปร่งใส

9 ธันวาคม 2014


Hesse004

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา Transparency International (TI) ประกาศผลการจัดอันดับความโปร่งใสของประเทศต่างๆ จำนวน 175 ประเทศ ซึ่งแชมป์ความโปร่งใสปี 2014 ตกเป็นของ “เดนมาร์ก” ที่ได้คะแนนความโปร่งใสหรือ Corruption Perception Index (CPI) 92 จาก 100 คะแนน เฉือน “นิวซีแลนด์” แชมป์ความโปร่งใส 4 สมัย ที่ได้ 91 คะแนน

เดนมาร์ก ครองแชมป์ความโปร่งใสสมัยนี้เป็นครั้งที่ 9 แล้ว (ดูตารางประกอบ) แถมยังทำ “แฮตทริก” คว้าแชมป์สามสมัยติดต่อกันตั้งแต่ปี 2012-2014 โดยค่า CPI ของเดนมาร์กนั้นเกิน 90 ทุกปี

ส่วนกลุ่มท้ายตาราง ปรากฏว่า โสมแดงเกาหลีเหนือและโซมาเลียครองอันดับร่วมกันด้วยสกอร์ความโปร่งใส 8 เต็ม 100 ทั้งสองประเทศต่าง “รั้งท้าย” แบบแฮตทริกเช่นกัน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสถานการณ์ความโปร่งใสของทั้งสองประเทศไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด

โซมาเลีย ติดอันดับโหล่เรื่องความโปร่งใสมาตั้งแต่ปี 2007 และมาจนถึงปีนี้ โซมาเลียก็ยังครองตำแหน่งที่ไม่มีประเทศใดอยากได้

ผลคะแนนความโปร่งใสถูกนำไปใช้ประโยชน์หลายเรื่อง เช่น นักลงทุนใช้เป็นข้อมูลสำหรับตัดสินใจขนเงินไปลงทุนในประเทศต่างๆ ขณะเดียวกัน CPI ยังเป็นตัวชี้วัดความโปร่งใสของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดินรอบปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องสะท้อน “น้ำยา” การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสังคมนั้นอีกด้วย

อย่างไรก็ดี แวดวงวิชาคอร์รัปชันศึกษาและทุจริตวิทยา ยังคงมี “วิวาทะ” ถกเถียงกันถึงความน่าเชื่อถือและความเที่ยงตรงของค่าดัชนีตัวนี้ว่าสะท้อนภาพความโปร่งใสหรือปัญหาคอร์รัปชันได้จริงหรือ1 เพราะตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา ดูเหมือนแชมป์ความโปร่งใสจะผูกขาดเพียง 3 ประเทศ คือ ฟินแลนด์ (6 ครั้ง) เดนมาร์ก (9 ครั้ง) และนิวซีแลนด์ (4 ครั้ง) มีเพียงปี 2005 เท่านั้น ที่ไอซ์แลนด์หลุดขึ้นมาเป็นแชมป์ได้(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ดัชนีชี้วัดความโปร่งใส

ในกลุ่มท้ายตารางก็ผูกขาดเช่นกัน โดยเฉพาะบังกลาเทศ เกาหลีเหนือ และโซมาเลีย ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นประเทศที่ขาดความโปร่งใสติดต่อกันมาหลายปี

แง่ดีของการจัดอันดับความโปร่งใสกันทุกปี คือ ทำให้แต่ละประเทศ “ตื่นตัว” ที่จะปรับปรุงพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างความโปร่งใสให้สมกับชื่อขององค์กรจัดอันดับที่ต้องการส่งเสริมความโปร่งใสให้เกิดขึ้นภายในสังคม

…เพราะความโปร่งใสคือยาบรรเทาอาการคอร์รัปชันได้

สำหรับบ้านเราแล้ว ปี 2014 ค่า CPI ขยับขึ้นจาก 37 เป็น 38 คะแนน อยู่อันดับที่ 85 จาก 175 ประเทศ ติดอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (84 จาก 100 อันดับ 7) และมาเลเซีย (52 อันดับ 50) โดยปีนี้เราครองอันดับสามในอาเซียนร่วมกับฟิลิปปินส์

การประกาศอันดับความโปร่งใสของ TI ปีนี้ มีความพิเศษอย่างหนึ่ง คือ TI แยกเปรียบเทียบผลคะแนนออกเป็นรายภูมิภาคให้ดูด้วย ซึ่งผลการจัดอันดับปีนี้ เมื่อมองในภาพรวมแล้วพบว่า ภูมิภาคที่โปร่งใสมากที่สุดคือกลุ่มอียูและยุโรปตะวันตก (EU and Western Europe) ที่ได้ค่า CPI เฉลี่ยสูงถึง 66 คะแนน ในกลุ่มนี้ประเทศที่ได้คะแนนความโปร่งใสน้อยที่สุดมี 3 ประเทศ คือ อิตาลี กรีซ และโรมาเนีย ได้คะแนน CPI 43

ส่วนภูมิภาคที่มีค่าเฉลี่ย CPI น้อยที่สุด คือ ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง (Eastern Europe and Central Asia) และภูมิภาคแอฟริกา (Sub Saharan Africa) ที่ได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากัน คือ 33 คะแนน

ส่วนไทยเรานั้น TI จัดให้อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีค่าเฉลี่ย CPI อยู่ที่ 43 คะแนน เท่ากับค่าเฉลี่ย CPI ทั่วโลกด้วย

ประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือ นิวซีแลนด์ ได้ 91 คะแนน ส่วนเกาหลีเหนือได้น้อยที่สุด คือ 8 คะแนน

ดังนั้น 38 คะแนนที่เราได้ก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยความโปร่งใสทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

ที่เกริ่นมาเสียยืดยาว เพียงเพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่า ค่าคะแนนความโปร่งใสนั้นเป็นเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในตอนนี้

…ย้ำนะครับว่า “ตอนนี้” เพราะการวัดระดับคอร์รัปชันเป็นเรื่องยากมาก การวัดจึงทำได้เพียงแค่สอบถามถึงประสบการณ์การรับและจ่ายสินบน รวมทั้งประเมินระดับสถานการณ์คอร์รัปชันจากสภาพแวดล้อมทางการเมือง กลไกการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งประสิทธิภาพในการควบคุมป้องกันการคอร์รัปชัน

ดังนั้น หากเราต้องการแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้เห็นผลและเป็นรูปธรรมนั้น เราอาจใช้ดัชนี CPI เป็นหลักไมล์ว่า ในแต่ละปีนั้น เราสามารถสร้างความโปร่งใสให้เกิดขึ้นกับสังคมของเราได้มากน้อยแค่ไหน

การลดปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนนั้นต้องใช้เวลานาน บางทีอาจไม่สำเร็จในรุ่นนี้ แต่อย่างน้อยก็มีโอกาสสำเร็จในรุ่นต่อๆ ไป

ไม่มีประเทศใด “เสก” ความโปร่งใสแบบพรวดพราดก้าวกระโดดได้ เพราะทุกอย่างล้วนแล้วแต่ต้องใช้เวลาทั้งนั้น ขอเพียงทุกฝ่ายจริงใจที่จะช่วยกันผลักดันให้สังคมนี้เกิดความโปร่งใสอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ต่อต้านคอร์รัปชันในรูปแบบ “วาทกรรม” เพียงอย่างเดียว

การสร้างความโปร่งใสที่เป็นรูปธรรม อาจเริ่มจากการทบทวนถึงข้อจำกัดของกฎหมายเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐว่ามีอะไรบ้าง มีข้อจำกัดใดบ้างที่ทำให้ภาคประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้สะดวก หรือมีต้นทุนมากจนเกินไปในการเข้าถึงข้อมูลของรัฐ ทั้งที่มันเป็นสิทธิของพวกเขา เพราะเมื่อเข้าถึงได้ ก็สามารถตรวจสอบได้ ตั้งข้อสังเกตได้

การสร้างความโปร่งใสที่เป็นรูปธรรม อาจทำได้ในขั้นตอนอนุมัติงบประมาณแผ่นดิน เช่น ถ่ายทอดการพิจารณางบประมาณของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งทุกวันนี้ขั้นตอนดังกล่าวถูกปิดไว้เป็นความลับ จนเกิดข้อสงสัยว่าอาจใช้เป็น “เวทีต่อรองการจัดสรรงบประมาณ” ของนักการเมืองหรือไม่

การสร้างความโปร่งใสที่เป็นรูปธรรม อาจทำได้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ให้หน่วยงานรัฐแสดงแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีผ่านหน้าเว็บไซต์ของตนเอง จัดระเบียบฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นรูปแบบเหมือนกันทุกหน่วยงาน ไม่ “สะเปะสะปะ” โดยให้แสดงสาระสำคัญของโครงการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ ชื่อคู่สัญญา มูลค่าสัญญา รายชื่อคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้น วันครบกำหนดสัญญา รายงานผลการตรวจรับงาน รายงานการตรวจการจ้าง เป็นต้น

การสร้างความโปร่งใสที่เป็นรูปธรรม อาจทำได้ในกระบวนการตรวจสอบ เพียงแค่ให้หน่วยงานตรวจสอบเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบต่อสาธารณชน เปิดให้สื่อมวลชนสามารถนำผลการตรวจสอบไปรายงานได้โดยไม่ผิดเจตนารมณ์ของการตรวจสอบ กล่าวคือ เป็นการตรวจสอบเพื่อแสดงถึงความถูกต้องและพฤติกรรมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน ไม่ใช่ใช้การตรวจสอบเป็นเครื่องมือฟาดฟันใครต่อใคร

ท้ายที่สุด ผู้เขียนคิดว่า เราอาจไม่ฝันไกลไปถึง “สังคมปลอดคอร์รัปชัน” แบบเดนมาร์ก นิวซีแลนด์ หรือฟินแลนด์ เพียงแต่ความฝันที่เป็นไปได้ในระยะใกล้ๆ นี้คือ การสร้างสังคมโปร่งใสอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่พูดคำว่าโปร่งใสจนกลายเป็น “วาทกรรม” นกแก้วนกขุนทอง

หมายเหตุ: 1 งานล่าสุดที่กล่าวถึงวิวาทะเกี่ยวกับ CPI คือ งานของ Jacqueline Brown William Orme และ Thomas Roca เรื่อง Fear and Loathing of the Corruption Perception Index: Does Transparency International Penalize Press Freedom? ผู้สนใจโปรดดู https://ideas.repec.org/p/mon/ceddtr/158.html