ThaiPublica > คอลัมน์ > ป.ป.ช. กับงานด้านตรวจสอบทรัพย์สิน จุดเริ่มต้นของการสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบ

ป.ป.ช. กับงานด้านตรวจสอบทรัพย์สิน จุดเริ่มต้นของการสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบ

14 เมษายน 2015


Hesse004

ศาสตร์ของวิชาต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Study) ได้วางแนวทางควบคุมปัญหาคอร์รัปชันไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ (1) แนวทางลดอำนาจผูกขาดของผู้ใช้อำนาจนั้น (2) แนวทางการลดการใช้ดุลยพินิจ และ (3) แนวทางสร้างความโปร่งใสและพัฒนากลไกสร้างความรับผิดชอบ

แนวทางทั้งสามนี้ ถูกนำไปพัฒนาและผลิตเป็นมาตรการหรือชุดนโยบายการต่อต้านทุจริต ซึ่งในทางสากลแล้ว แนวทางที่ 3 การสร้างความโปร่งใสและพัฒนากลไกสร้างความรับผิดชอบ(Enhancing transparency and accountability) เป็นแนวทางที่ถูกนำมาใช้แก้ปัญหาคอร์รัปชันมากที่สุด

มาตรการหนึ่งที่สอดรับกับแนวทางการสร้างความโปร่งใสและพัฒนากลไกสร้างความรับผิดชอบ คือ มาตรการด้านการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนำไปสู่กลไกการตรวจสอบทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งที่เป็นข้าราชการการเมือง ข้าราชการการเมืองท้องถิ่น และข้าราชการประจำระดับสูง

การตรวจสอบทรัพย์สินนับเป็นหนึ่งในสามภารกิจงานสำคัญของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช. นอกเหนือจากภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ได้บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่กำหนดตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สิน หนี้สิน

น่าสนใจว่า บทบาทการตรวจสอบทรัพย์สินของ ป.ป.ช. นับเป็นบทบาทที่ “สร้างชื่อ” ให้กับ ป.ป.ช. เพราะนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา นักการเมืองระดับ “บิ๊กเนม” หลายคนต่างโดนคณะกรรมการ ป.ป.ช. สอยร่วงด้วยการชี้มูลว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน หนี้สิน และเอกสารประกอบ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ (ดูตารางและกล่องข้อมูลประกอบ)

สถิติการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สิน

นักการเมืองระดับบิ๊กเนมที่เคยโดนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลเรื่องปกปิดทรัพย์สิน

นับตั้งแต่ ปี 2543 เป็นต้นมา มีนักการเมืองระดับบิ๊กเนมหลายคนที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ เช่น

ปี 2543 พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ถูกชี้มูลจาก ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญมีมติตัดสินให้เว้นวรรคทางการเมืองไป 5 ปี ซึ่งในปีเดียวกันนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลเช่นเดียวกัน แต่ก็ “รอด” ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ปี 2545 นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีต รมต.ว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลกรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ

ปี 2551 นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมต. ว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลเรื่องจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และท้ายที่สุดได้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินให้เว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

ที่มา : รวบรวมจากรายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.

ในแต่ละปี มีบัญชีนับหมื่นที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ต้องทำการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแสดง ซึ่งมาจากนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น

การยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินเป็นหน้าที่เฉพาะตัวของผู้มีหน้าที่ยื่น ดังนั้น (1) หากผู้ใดที่จงใจไม่ยื่น หรือ (2) จงใจยื่นเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือ (3) ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้ง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบแล้ว โทษที่ได้รับ คือ ต้องพ้นจากตำแหน่ง ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และยังได้รับโทษทางอาญาอีกด้วย (จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

หลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้ว เรื่องจะถูกส่งไปยังศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งในอดีตสมัยที่ยังมีรัฐธรรมนูญปี 40 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ซึ่งที่ผ่านมา มีการวินิจฉัยคดีอันลือลั่นหลายคดี โดยเฉพาะการเชือดนักการเมืองดัง เช่น กรณี “เสธ.หนั่น” ที่ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี ฐานยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ1

อย่างไรก็ดี หลังใช้รัฐธรรมนูญปี 50 คดีจงใจไม่แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินหรือแสดงเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงนั้น กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วินิจฉัยแทนศาลรัฐธรรมนูญ

มาตรการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินนับเป็นมาตรการพื้นฐานที่สุดในการป้องกันการทุจริตที่มีเจตนารมณ์ให้ผู้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐต้องแสดงความโปร่งใสด้วยการเปิดเผยทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง “ก่อน” และ “หลัง” เข้ารับตำแหน่งสาธารณะเหล่านั้น

ท้ายที่สุดแล้ว ใครก็ตามที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเข้ามาด้วยวิธีการใดก็ตาม อย่างน้อยทุกท่าน ควรจะ “ระลึก” ไว้เสมอว่า ก่อนที่ท่านจะเรียกร้องความซื่อสัตย์สุจริตจากผู้ใดนั้น ท่านต่างหากที่สมควรแสดงจุดยืนและความสุจริตใจที่เป็น “รูปธรรม” ด้วยพื้นฐานง่ายๆ คือ การเปิดเผยทรัพย์สินที่เรามีอยู่ หรือหนี้สินที่เรามีภาระผูกพัน เพื่อให้สังคมรับรู้ว่า ท่านเองก็พร้อมที่จะแสดงความโปร่งใส พร้อมจะถูกตรวจสอบ และพร้อมจะแสดงความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

…มิเช่นนั้นแล้ว การต่อต้านคอร์รัปชันจะเป็นเพียง “วาทกรรม” ที่เราเห็นกันจนเกร่อทุกวันนี้

หมายเหตุ : 1 ผู้สนใจเรื่องนี้สามารถหาอ่านรายละเอียดได้จากรายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปี 2543 ซึ่งดาวน์โหลดได้ใน www.nacc.go.th