ThaiPublica > คอลัมน์ > คอร์รัปชันในลาตินอเมริกา (ตอนที่ 1): ฉ้อฉลบนการพัฒนา

คอร์รัปชันในลาตินอเมริกา (ตอนที่ 1): ฉ้อฉลบนการพัฒนา

25 กันยายน 2014


Hesse004

โดยทั่วไป การศึกษาเกี่ยวกับคอร์รัปชันมักถูกนำเสนอใน 4 ประเด็น ได้แก่ (1) การศึกษาถึงสาเหตุของคอร์รัปชัน (2) การหาวิธีวัดหรือประเมินสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศ (3) การศึกษาถึงผลกระทบจากคอร์รัปชัน และ (4) การหาแนวทางต่อต้านคอร์รัปชัน

ทั้งสี่ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น ยังแตกออกเป็นประเด็นที่นักวิจัยด้านคอร์รัปชันศึกษาแยกย่อยออกได้อีกหลายเรื่อง เช่น สาเหตุของคอร์รัปชัน ที่มีผู้สนใจศึกษาถึงวัฒนธรรมอุปถัมภ์ในสังคมว่ามีอิทธิพลต่อการเกิดคอร์รัปชันมากน้อยเพียงใด หรือ ประเด็นการประเมินสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศ ที่นักวิจัยมักจะเสนอวิธีการใหม่ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันในประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว ประเด็นการศึกษาคอร์รัปชันในแต่ละภูมิภาค ยังเป็นหัวข้อที่นักวิจัยด้านคอร์รัปชันศึกษาและทุจริตวิทยาให้ความสนใจด้วยเช่นกัน เนื่องจากในแต่ละภูมิภาคมีรูปแบบและพฤติกรรมการคอร์รัปชันที่แตกต่างกัน

ประเด็นเรื่องภูมิภาคนี้เองที่ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เพราะเหตุใด เวลาที่ Transparency International (TI) จัดอันดับความโปร่งใสโดยใช้ Corruption Perception Index (CPI) เป็นตัววัดแล้ว ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย (Scandinavia) ไล่จาก ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก เป็นกลุ่มประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุดในโลก ดังจะเห็นได้จากการจัดอันดับความโปร่งใสตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา ทั้ง 4 ประเทศ ต่างติดอันดับ Top Ten ความโปร่งใสมาโดยตลอด

ในทางตรงกันข้าม CPI ของกลุ่มประเทศแอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ยกเว้นสิงคโปร์) ยุโรปตะวันออก หรือกลุ่มประเทศ Transition Economies รวมทั้งลาตินอเมริกา กลับเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความฉ้อฉล มีความโปร่งใสต่ำเตี้ยเรี่ยราด …ซึ่งไม่ว่าจะจัดอันดับมาแล้วกี่ปีก็ตาม ตัวเลขแสดงความโปร่งใสก็ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าเดิม

ดังนั้น เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกันว่า “ภูมิภาค” ส่งผลต่อสถานการณ์คอร์รัปชันหรือไม่ ประวัติศาสตร์ ภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมคอร์รัปชันมากน้อยแค่ไหน

สำหรับซีรีส์ชุด “คอร์รัปชันในลาตินอเมริกา” ผู้เขียนตั้งใจที่จะนำเสนอสภาพปัญหาคอร์รัปชันในภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการคอร์รัปชันในระดับใหญ่หรือ Grand Corruption ที่ผู้นำลาตินหลายคนต่างเคยเจอ “มลทิน” เรื่องเหล่านี้มาแล้ว

นอกจากนี้ การต่อต้านคอร์รัปชันในลาตินอเมริกา ยังแสดงตัวอย่างที่ดีหลายเรื่อง เช่น การรวมกลุ่มกันของภาคประชาสังคมอย่าง “เอาจริงเอาจัง” ในการต่อต้านคอร์รัปชัน

ลาตินอเมริกา ภูมิภาคที่ยังเต็มไปด้วยปัญหาคอร์รัปชัน ที่มาภาพ : http://3.bp.blogspot.com/_8pTquQfy-GY/TMfPLFId8iI/AAAAAAAAACM/DMa1Bcz6Q_A/s1600/Latin+America+Corruption+Perception+2010.PNG
ลาตินอเมริกา ภูมิภาคที่ยังเต็มไปด้วยปัญหาคอร์รัปชัน
ที่มาภาพ: http://3.bp.blogspot.com/_8pTquQfy-GY/TMfPLFId8iI/AAAAAAAAACM/DMa1Bcz6Q_A/s1600/Latin+America+Corruption+Perception+2010.PNG

ลาตินอเมริกา (Latin America) ขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มี “เสน่ห์” และมีสีสันมากที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเรื่องวัฒนธรรม ฟุตบอล อาหาร ดนตรี เช่นเดียวกับ “คอร์รัปชัน” ที่ภูมิภาคนี้ก็ไม่ได้ “น้อยหน้า” ใครเหมือนกัน

ลาตินอเมริกา หมายถึง ประเทศในแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่ใช้ภาษาสเปนและโปรตุเกสเป็นภาษาหลัก ปัจจุบันประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้มีทั้งหมด 21 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา โบลิเวีย บราซิล ชิลี โคลัมเบีย คอสตาริกา คิวบา โดมินิกัน เอกวาดอร์ เอลซาวาดอร์ กัวเตมาลา ไฮติ ฮอนดูรัส เม็กซิโก นิคารากัว ปานามา ปารากวัย เปรู เปอร์โตริโก อุรุกวัย และ เวเนซุเอลา

เกือบทั้งหมดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (developing countries) มีเพียงชิลีประเทศเดียวที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงและเป็นสมาชิกของกลุ่ม OECD

ความที่เป็นประเทศกำลังพัฒนานี้เอง ทำให้กลไกทางการเมืองผูกติดกับความเป็นประชานิยม ประกอบกับมีพัฒนาการทางประชาธิปไตยอย่าง “กระท่อนกระแท่น” ทำให้เกิดการรัฐประหารบ่อยครั้ง สาเหตุเหล่านี้ล้วนมีส่วนต่อการแพร่ระบาดของปัญหาคอร์รัปชันด้วยกันทั้งสิ้น

ทั้งนี้ หากอธิบายด้วยค่าดัชนี CPI ปีล่าสุด ของ Transparency International จะพบว่า ประเทศส่วนใหญ่ในลาตินอเมริกามีสถานการณ์คอร์รัปชันและความโปร่งใสค่อนไปในระดับที่ “ต่ำ”

CPI latin countries

จากแผนภาพแสดง Corruption Perception Index ปี 2013 ซึ่งสะท้อนภาพความโปร่งใสและสถานการณ์ทุจริตของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า อุรุกวัยคือประเทศที่มีความโปร่งใสสูงที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยได้คะแนน CPI 73 จาก 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 19 จากทั้งหมด 177 ประเทศ รองลงมาคือชิลีที่ได้ 71 คะแนน อยู่อันดับที่ 22

เมื่อหันกลับมามองกลุ่มท้ายตาราง พบว่า ไฮติมีคะแนนความโปร่งใสต่ำสุดในกลุ่ม ได้เพียง 19 คะแนน อยู่อันดับที่ 163 ส่วนรองบ๊วยของกลุ่มตกเป็นของเวเนซุเอลา ที่ได้ 20 คะแนน รั้งอันดับ 160

จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว ประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกายังมีปัญหาคอร์รัปชันในระดับที่ “น่ากังวล” มิพักต้องเอ่ยถึงประเทศสองมหาอำนาจลูกหนังอย่างบราซิลและอาร์เจนตินา ที่มีคะแนนความโปร่งใสไม่ถึงครึ่งหนึ่ง

มีคำถามที่น่าสนใจว่า เพราะเหตุใด อุรุกวัยจึงกลายเป็นประเทศที่มีระดับความโปร่งใสสูงกว่าเพื่อนในกลุ่มนี้ ทั้งๆ ที่น่าจะมีบริบทหลายอย่างคล้ายกับประเทศอื่นๆ แต่ปัจจัยอะไรที่ทำให้อุรุกวัยนั้นมีความต่างออกไป

ก่อนจะลงลึกไปสู่รายละเอียดนั้น ผู้เขียนนึกถึงบทความของนายวลาดิเมียร์ เฮอร์นานเดซ (Vladimir Hernandez) นักข่าว BBC ที่เคยนำเสนอเกร็ดประวัติของประธานาธิบดีอุรุกวัยคนปัจจุบัน ที่ชื่อนายโฆเซ มูจิกา (José Mujica) ซึ่ง BBC เรียกว่าเป็น The World Poorest President หรือประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก

มูจิกาน่าจะจัดอยู่ในประเภทผู้นำ “สมถะ” แต่กลับไม่เคยสร้างภาพว่าเป็น “ผู้นำซื่อสัตย์” แต่อย่างใด เพราะภาพลักษณ์ของเขาได้สะท้อนด้วยตัวของเขาเองแล้วว่า คนที่ซื่อสัตย์นั้นไม่จำเป็นต้องสร้างภาพว่าซื่อสัตย์ หรือแสดง “วาทกรรม” ว่าตนนั้นเป็นคนซื่อสัตย์

โฮเซ่ มูจิกา หรือ “เปเป้” ประธานาธิบดีอุรุกวัย วัย 79 ปี ที่มาภาพ : http://www.popularresistance.org/wp-content/uploads/2014/05/Jos%C3%A9-Mujica-of-Uruguay.jpg
โฆเซ มูจิกา หรือ “เปเป้” ประธานาธิบดีอุรุกวัย วัย 79 ปี
ที่มาภาพ: http://www.popularresistance.org/wp-content/uploads/2014/05/Jos%C3%A9-Mujica-of-Uruguay.jpg

ผู้นำอุรุกวัยที่ไม่จำเป็นต้องโพนทะนาในความซื่อสัตย์แต่กลับทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และทุกวันนี้อุรุกวัยกลายเป็นประเทศที่ติด 20 อันดับแรกของประเทศโปร่งใสที่สุดในโลก

ดังนั้น เมื่อผู้นำประเทศแสดงความซื่อสัตย์ให้เห็นเป็นตัวอย่างเช่นนี้แล้ว ก็ไม่น่าแปลกใจที่คนในรัฐบาลและข้าราชการที่ทำงานขับเคลื่อนนโยบายจะทำงานบนพื้นฐานของความรับผิดชอบและโปร่งใส ปราศจากความ “ตะกละมูมมาม” โดยไม่ต้องนำเสนอว่าตนเองเป็นคนซื่อสัตย์

อย่างไรก็ดีในลาตินอเมริกาก็มิได้มีผู้นำสมถะแบบมูจิกาเพียงคนเดียว แต่ในทางตรงข้าม ก็มีผู้นำ “ขี้ฉ้อ” ระดับโลก ขนาดติดอันดับผู้นำที่โกงที่สุดในโลกถึง 3 คน

อดีตผู้นำ 3 คนที่ติดอันดับ “ผู้นำขี้โกงตลอดกาล” (Most Corrupt Leaders) ได้แก่ นายอัลแบร์โต ฟูจิโมริ (Alberto Fujimori) อดีตประธานาธิบดีเปรู ติดอันดับผู้นำขี้โกงอันดับ 5 นาย ฌอง คล้อด ดูวิเยร์ (Jean-Claude Duvalier) อดีตประธานาธิบดีไฮติ ติดอันดับ 6 นายอาร์นอลโด อเลมาน (Arnoldo Alemán) อดีตประธานาธิบดีนิคารากัว ติดอันดับ 8

อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นแล้วว่า ลาตินอเมริกามี “สีสัน” ในทุกเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องคอร์รัปชัน… ในตอนต่อไป เราจะคุยกันต่อถึงความสำเร็จของอุรุกวัยในการต่อต้านคอร์รัปชันและเรื่องราวชีวิตของนายมูจิกา ผู้นำที่ขึ้นชื่อว่า “จนที่สุด” ในโลก