Hesse004
เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ข่าวต่างประเทศที่จัดเป็น “ไฮไลต์” ประจำปีนี้ คือ การเปิดโต๊ะเจรจากันระหว่าง “คิม จองอึน” ผู้นำเกาหลีเหนือ และ “มุน แจอิน” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เพื่อสร้างสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี…การจับมือเจรจากันครั้งนี้กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่นับตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลงเมื่อ 65 ปีที่แล้ว
…สันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันในระยะยาว แต่ที่แน่ๆ การเจรจาครั้งนี้นับเป็นสัญญาณบวกที่ช่วยทำให้บรรยากาศความตึงเครียดของการเมืองระหว่างประเทศผ่อนคลายลงบ้าง
จะว่าไปแล้ว ประวัติศาสตร์ทั่วทุกมุมโลกถูกเขียนขึ้นจากความวุ่นวาย การต่อสู้ แย่งชิง เนื่องจากความขัดแย้งเรื่องอำนาจและผลประโยชน์ แทบจะร้อยทั้งร้อยที่ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยเรื่องราวของสงครามทั้งในสนามรบ สนามการเมือง หรือแม้แต่บนโต๊ะเจรจาต่อรอง
เมื่อปี 2013 มีภาพยนตร์อินเดียเรื่องหนึ่งออกฉาย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี หนังอินเดียเรื่องนี้ไม่ใช่หนังรักโรแมนติกที่มีฉากเต้นระบำกว่าครึ่งเรื่อง หรือต่อสู้ล้างผลาญกันเกินสมจริง…หากแต่เป็นหนังว่าด้วยประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่หยิบเอาช่วงเวลาโศกเศร้าที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองอินเดียมาถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์ม
ภาพยนตร์ที่ว่านี้ คือ Madras Café ผลงานการกำกับของผู้กำกับมากฝีมือชาวอินเดีย ชูจิต เซอร์คาร์ (Shoojit Sircar) โดย Madras Café เป็นโปรเจกต์หนังที่มาจากไอเดียของนักแสดงนำ จอห์น อับราฮัม (John Abraham) อดีตนายแบบหนุ่มหล่อลูกครึ่งอินเดียที่ผันตัวมาเป็นโปรดิวเซอร์สร้างหนังเกี่ยวกับการเมืองอินเดีย
Madras Café เล่าถึงเบื้องหลังการลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี (Rajiv Gandhi) เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 1991
แม้ว่า Madras Café จะไม่ได้ปูพื้นเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างชาวทมิฬ สิงหล มากเท่าใดนัก แต่หนังก็ทำให้เราเห็นประวัติศาสตร์อินเดียและศรีลังกาช่วงปลายทศวรรษที่ 80 โดยเฉพาะความพยายามของรัฐบาลอินเดียยุคราจีฟ คานธี ที่เข้ามาแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองในศรีลังกา
…ราจีฟ คานธี นับเป็นนายกรัฐมนตรีอินเดียมีอายุน้อยที่สุด ด้วยวัยเพียง 40 ปี เขาขึ้นดำรงตำแหน่งต่อจากแม่ของเขา “นางอินทิรา คานธี” (Indira Gandhi) หลังจากที่อินทิราถูกลอบสังหารในปี 1984
ตระกูลเนห์รู-คานธี (Nehru-Gandhi) นับเป็นตระกูลการเมืองเก่าแก่ของอินเดีย นางอินทิรา คานธี เป็นบุตรสาวนายเยาวหราล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) นายกรัฐมนตรีคนแรก ราจีฟซึ่งเป็นหลานตาของเนห์รู ขึ้นดำรงตำหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 (31 ต.ค. 1984 – 2 ธ.ค. 1989)
ราจีฟจัดเป็น “มวยแทน” ทางการเมือง เนื่องจากอินทิราหมายมั่นปั้นมือลูกชายคนโต “สัญชัย คานธี” (Sanjay Gandhi) ให้มารับช่วงทางการเมืองต่อ แต่สัญชัยประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกทำให้ราจีฟต้องผันตัวเองจากนักบินมาเป็นเล่นการเมืองแทน
ราจีฟ คานธี เป็นคนสุภาพ ประนีประนอม รักสันติ มีความนุ่มนวล เพรียบพร้อมสมกับเป็นผู้นำที่ดี ราจีฟแต่งงานกับโซเนีย มายโน (Sonia Maino) หญิงสาวชาวอิตาเลียน หรือในเวลาต่อมาเรารู้จักในชื่อของโซเนีย คานธี หญิงแกร่งอีกคนวงการเมืองอินเดีย
กลับมาที่หนังกันต่อ… Madras Café ไม่ได้กล่าวถึงบทของราจีฟ คานธี มากนัก แต่เราก็พอเดาออกว่าคนอินเดียส่วนใหญ่รักใคร่และภูมิใจในตัวผู้นำหนุ่มคนนี้มาก
…เว้นแต่ ชาวทมิฬในศรีลังกา
คำถามคือ แล้วชาวทมิฬในศรีลังกามาเกี่ยวข้องอะไรกับราจีฟ คานธี
ช่วงทศวรรษที่ 80 ชื่อของขบวนการปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam หรือ LTTE) เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อชาวทมิฬรวมตัวกันต่อสู้กับรัฐบาลศรีลังกา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแบ่งแยกดินแดนทางภาคเหนือและตะวันออก ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นแผ่นดินเกิดของชาวทมิฬ
ด้วยเหตุนี้ วัตถุประสงค์ของ LTTE คือ การก่อตั้งรัฐเอกราชทมิฬขึ้นนั่นเอง
เหตุผลที่ LTTE ต้องการแยกตัว เนื่องจาก ในอดีต อังกฤษปกครองศรีลังกา หรือซีลอน (Ceylon) เกาะเล็กๆ แห่งนี้มีชาวทมิฬและสิงหลอาศัยอยู่ร่วมกัน อย่างไรก็ดี ชาวสิงหลมีมากกว่า แต่อังกฤษให้สิทธิพิเศษกับพวกทมิฬ เข้าทำนอง “แบ่งแยกแล้วปกครอง” …ท้ายที่สุด เมื่ออังกฤษปลดปล่อยอาณานิคม เกาะซีลอนได้รับเอกราชและเปลี่ยนชื่อเป็น ศรีลังกา ชาวสิงหลจึงขึ้นมาปกครองประเทศและครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 1956
ด้วยเหตุนี้ ปฏิบัติการ “เอาคืน” ชาวทมิฬจึงเกิดขึ้น ชาวทมิฬถูกข่มเหง รังแก ทำร้าย และกลายเป็นรอยร้าวเกิดความแตกแยกและเกลียดชังกันมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวทมิฬมีฐานที่มั่นที่เมืองจาฟน่า (Jaffna) เมืองใหญ่ทางตอนเหนือที่อยู่ไม่ไกลจากรัฐทมิฬนาดู (Tamil Nadu) ของอินเดีย
เมื่อชาวสิงหลรังแกชาวทมิฬมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวทมิฬลุกขึ้นสู้โดยตั้งกองกำลังรบแบบกองโจรต่อสู้กับรัฐบาลศรีลังกาตั้งแต่ปี 1975 โดยพวกเขามีผู้นำ คือ นายเวฬุพิลัย ประภาการัน (Velupillai Prabhakaran) หรือที่ชาวทมิฬเรียกว่า “แอนนา”
แอนนาเป็นผู้นำที่มีบารมีสูง มีความมุ่งมั่นที่จะปลดปล่อยชาวทมิฬให้พ้นจากการกดขี่ของชาวสิงหล
เขาได้รวบรวมคนทมิฬที่มีอุดมการณ์คล้ายกันจับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลศรีลังกา และกลายเป็นเหตุให้ศรีลังกาต้องขอความช่วยเหลือจากอินเดีย
แน่นอนว่า ราจีฟ คานธี ผู้ใฝ่หาสันติภาพ ได้ยื่นมือเข้าช่วย โดยพยายามทำให้อินเดียเป็นคนกลางในการยุติความขัดแย้งที่มีมายาวนาน…อย่างไรก็ดี ในทางการเมืองระหว่างประเทศแล้ว รัฐบาลเดลีถูกกล่าวหาว่าแอบสนับสนุนกลุ่มกบฏอย่างเงียบๆ เพื่อเป็นการ “คานอำนาจ” ไม่ให้รัฐบาลศรีลังกาหันไปพึ่งพาชาติตะวันตก
ทำนองเดียวกัน พวกเขาก็เล่นไพ่อีกสำรับด้วยการส่งกองกำลังมาช่วยรัฐบาลศรีลังกา โดยใช้ชื่อว่ากองกำลังรักษาสันติภาพ (Indian Peace Keeping Force) ที่ประจำการทางตอนเหนือของศรีลังกา
แต่ท้ายที่สุด กองกำลังสันติภาพกลับกลายเป็นคู่ขัดแย้งกับ LTTE เสียเอง
ชนวนที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้กลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬไม่เชื่อใจรัฐบาลเดลีและกลับหันหลังเป็น “ศัตรูถาวร” คือ การตัดสินใจผิดพลาดของฝ่ายความมั่นคงอินเดียที่บุกโจมตีฐานทัพกลุ่มกบฏเพื่อสังหารแอนนา โดยหวังว่าเมื่อผู้นำสูงสุดตาย ทุกอย่างจะจบ
แม้ปฏิบัติการดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จในการทำลายฐานที่มั่นกลุ่มกบฏได้ แต่แอนนากลับไม่ตายและทำให้กลุ่มกบฏโกรธแค้นเป็นอย่างมาก
ปลายปี 1989 ราจีฟ คานธี ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหวนคืนสู่สังเวียนการเมืองอีกรอบในการเลือกตั้งปี 1991
การเลือกตั้งใหญ่ของอินเดียในปี 1991 กลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬก็ได้เวลา “คิดบัญชี” กับ ราจีฟ คานธี ซึ่งมีแผนการรณรงค์หาเสียงที่รัฐทางใต้พอดี …แอนนามองว่า ราจีฟเป็นตัวตั้งตัวตีเรื่องนโยบายการสร้างสันติภาพในศรีลังกา โดยในตอนแรก ดูเหมือนจะถือหางทาง LTTE แต่อีกหน้าหนึ่งกลับเข้ามาแทรกแซง โดยส่งกองกำลังมาปราบปรามพวกเขาด้วย
ดังนั้น สันติภาพแบบนี้ จึงเป็นสันติภาพที่พวกเขาปฏิเสธ
Madras Café พยายามสื่อให้เห็นถึงความโสมมบนเวทีการเจรจาต่อรองในการเมืองระหว่างประเทศ โดยมีตัวละครที่เชื่อมโยงกันไปหมด ตั้งแต่หน่วยข่าวกรองของฝ่ายความมั่นคงอินเดียในจาฟน่าที่เล่นดึงเกมสร้างสันติภาพโดยขายข่าวให้กลุ่มกบฏ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัวในแผ่นดินลังกา
ขณะเดียวกัน สงครามกลางเมืองกลายเป็น “ตลาดชั้นดี” ที่พ่อค้าอาวุธจะนำอาวุธมาขายเพื่อให้ทั้งกลุ่มกบฏและรัฐบาลศรีลังกา ต่อสู้กันเอง
นี่เองที่ทำให้พระเอกของเรื่อง “วิกราม” มองว่า การลอบสังหารราจีฟ คานธี นั้นเป็นทฤษฎีการสมคบคิด (Conspiracy theory) เพราะทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดสันติภาพ ดังนั้น หลายฝ่ายจึงเปิดทางให้มีใบอนุญาตฆ่าอดีตนายกรัฐมนตรีหนุ่มคนนี้
หากจะว่าไปแล้ว ราจีฟพยายามสร้างสันติภาพในเอเชียใต้ ในฐานะที่อินเดีย เป็น “พี่ใหญ่” ในภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกัน เขาเองก็ป้องกันไม่ให้ชาติตะวันตกหาโอกาสแทรกแซงการเมืองศรีลังกาจนอาจเป็นภัยความมั่นคงกับอินเดียในอนาคต
แต่นโยบายการต่างประเทศของราจีฟที่มีต่อศรีลังกากลับเป็นเหตุให้ชาวทมิฬเกลียดชังเขา…ครั้งหนึ่งระหว่างเยือนกรุงโคลัมโบ เขาถูกทหารกองเกียรติยศที่ยืนแถวต้อนรับพุ่งเข้ามาตีหัวด้วยพานท้ายปืน เหตุการณ์นี้กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตเลยทีเดียว
แรงเกลียดชังเหล่านี้ ทำให้ LTTE ตัดสินใจ “เด็ดหัว” ราจีฟด้วยระเบิดพลีชีพแบบพลาสติก โดยลอบสังหารเขาเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ปี 1991 เวลาประมาณสี่ทุ่ม โดยเลือกช่วงที่ราจีฟหาเสียงที่เมือง Sriperumbudur ห่างจากเมืองมาดรัส (Madras) 40 กิโลเมตร…Madras หรือ ปัจจุบัน คือ เชนไน (Chennai) เป็นเมืองใหญ่ศูนย์กลางความเจริญของรัฐทมิฬนาดู
การลอบสังหารครั้งนั้นเป็นความเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอินเดีย ด้วยน้ำมือของสตรีชาวศรีลังกาจากกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬที่เดินเข้ามาพร้อมพวงมาลัยพวงใหญ่และคล้องคอราจีฟ แล้วจุดชนวนระเบิดพลีชีพที่ติดอยู่กับตัวเอง
ราจีฟ คานธี ถูกลอบสังหารเช่นเดียวกับแม่ของเขา นางอินทิรา คานธี…นับเป็นอีกรอยด่างหนึ่งของประวัติศาสตร์อินเดีย
การลอบสังหารครั้งนั้นมีคนตายมากกว่า 25 คน…ราจีฟ คานธี จากไปด้วยวัยเพียง 47 ปี เขาเป็นผู้นำอีกคนที่ชาวอินเดียรักใคร่และพร้อมให้การสนับสนุนเขากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบ เศรษฐกิจอินเดียเริ่มลืมตาอ้าปาก และเติบโตอย่างต่อเนื่องก็มาจากนโยบายเศรษฐกิจในสมัยรัฐบาลราจีฟ
ภายหลังอสัญกรรมของเขา ชื่อ Rajiv Gandhi ถูกนำไปตั้งชื่อสถานที่หลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัย Rajiv Gandhi National University of Law ในรัฐปัญจาบ สนามบินนานาชาติ Rajiv Gandhi เมืองไฮเดอราบัด โรงพยาบาล Rajiv Gandhi Government General Hospital รัฐทมิฬนาดู หรือแม้แต่สนามคริกเก็ต Rajiv Gandhi International Cricket Stadium
Madras Café ได้ทำหน้าที่หนังอิงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของอินเดียได้เป็นอย่างดี แม้จะไม่ได้นำเสนอบทของราจีฟ คานธี หรือ ภาพของแอนนา ผู้นำ LTTE เด่นชัดนัก
ท้ายที่สุด ราคาของ “สันติภาพ” ในศรีลังกาต้องแลกมาด้วยชีวิตของผู้นำหนุ่มอินเดีย อนาคตไกล นามว่า “ราจีฟ คานธี”… หนำซ้ำกว่าสันติภาพที่ได้มายังต้องรอไปอีกเกือบยี่สิบปีหลังจากที่ราจีฟ คานธี จากไปแล้ว
Trailer หนัง Madras Café