ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “โควิด-19 รอบสัปดาห์ 14-20 มี.ค. 2563” และ “ลาวปิดประเทศ กลับจากไทยกักตัว 14 วัน”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “โควิด-19 รอบสัปดาห์ 14-20 มี.ค. 2563” และ “ลาวปิดประเทศ กลับจากไทยกักตัว 14 วัน”

21 มีนาคม 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 14-20 มี.ค. 2563

  • โควิด-19 รอบสัปดาห์ 14-20 มี.ค. 2563: “ยอดผู้ติดเชื้อสะสมล่าสุด 322 ราย มีเด็กอายุ 6 เดือนติดเชื้อ” และ “คนไทยเข้าไทยต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าพร้อมบิน”
  • KKP Research คาดเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกกว่าเดิม ปรับอีกรอบติดลบ 2.4%
  • การบินไทยอาจพักชำระหนี้-ล้มละลาย
  • ปกส. เตรียมรับมือปิดเมือง พร้อมจ่ายครึ่งหนึ่งของเงินเดือนนานสองเดือน
  • ลาวปิดประเทศ กลับจากไทยกักตัว 14 วัน

โควิด-19 รอบสัปดาห์ 14-20 มี.ค. 2563

ยอดผู้ติดเชื้อสะสมล่าสุด 322 ราย มีเด็กอายุ 6 เดือนติดเชื้อ

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊กแฟนเพจกรุงเทพธุรกิจ (https://bit.ly/3di9lht)

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 20 มีนาคม 2563 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ว่า มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ เพิ่ม 50 ราย

ทั้งนี้จำนวนผู้ติดเชื้อล่าสุด 50 รายนั้นแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีผู้มีประวัติสัมผัสหรือเกี่ยวข้องกับการพบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 41 ราย ประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องกับสนามมวย 18 ราย, ผู้เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงย่านทองหล่อและรามคำแหง 5 ราย, ผู้สัมผัสเคสเดิม 12 ราย มีทั้งผู้สูงอายุ นักศึกษา แม่บ้าน ตำรวจ อาชีพอิสระค้าขาย และเด็กอายุ 6 เดือน และอีก 6 รายอยู่ใน ในจังหวัดปัตตานี และสงขลา โดยผู้เข้าร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ 9 ราย คือคนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ 4 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 2 ราย เป็นนักศึกษากลับมาจากประเทศอังกฤษ 1 ราย อีก 1 รายเป็นพนักงานราชการทำงานอยู่ที่อังกฤษ และเป็นชาวเมียนมา 2 ราย นอกจากนี้ยังพบในผู้ทำงานอาศัยในสถานที่แออัดที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับต่างชาติ 2 ราย เป็นไกด์และรปภ ส่วนอีก 3 รายรอผลสอบสวนเพิ่มเติม

จากจำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าว ขณะนี้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในไทยเป็นดังนี้

  • ผู้ติดเชื้อสะสม 322 ราย
  • รักษาหายแล้ว 43 ราย
  • กำลังรักษา 278 ราย
  • เสียชีวิต 1 ราย
  • กพท. ออกประกาศ คนไทยเข้าไทยต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าพร้อมบิน

    วันที่ 20 มี.ค. 2563 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ออกประกาศเพิ่มมาตรการคุมเข้มป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 จากทั่วโลก โดยมีสาระสำคัญคือ

    กรณีผู้ไม่มีสัญชาติไทยต้องการเดินทางมาประเทศไทย

    1. ก่อนเช็คอินขึ้นเครื่อง ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ออกให้ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยยืนยันว่าไม่พบเชื้อโควิด-19
    2. ต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในประเทศไทยซึ่งรวมถึงโควิด-19 โดยมีวงเงินคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 100,000 ดอลลาร์

    กรณีผู้มีสัญชาติไทยต้องการเดินทางมาประเทศไทย

    1. ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางทางอากาศ (fit to fly)
    2. ต้องมีหนังสือรับรองการเดินทางกลับประเทศไทยที่สถานทูตเอกอัครราชทูตไทย สถานกงสุลใหญ่ หรือกระทรวงต่างประเทศออกให้

    หากไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ครบถ้วน ทางผู้ให้บริการการบินจะต้องปฏิเสธไม่ให้เดินทาง

    เว็บไซต์ PPTVHD36 รายงานว่า หลังจากที่ กพท. ออกแนวปฏิบัติดังกล่าว วันที่ 19 มี.ค. 2563 มีคนไทยแห่กันไปขอใบรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศเป็นจำนวนมาก โดยที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีคนไปต่อแถวเข้าคิวกันแต่เช้า และจำนวนคนมีมากขนาดที่แม้สถานทูตไม่สามารถจัดให้เข้าคิวห่างกัน 1 เมตร โดยแถวของคนไทยที่หน้าสถานทูตยาวจนเกือบเต็มถนนหน้าสถานทูต และยังคงมีแถวยาวต่อเนื่องไปตลอดวัน

    นอกจากนี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจ The Reporters ยังรายงานด้วยว่า ได้รับเอกสารจากคนไทยในสหราชอาณาจักร ที่ระบุว่ามาตรการการขอใบรับรองแพทย์ fit to fly นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในช่วงเวลาแบบนี้ที่แพทย์ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรับมือโควิด-19 และการเข้าถึงแพทย์ในสหราชอาณาจักรที่ออกใบรับรองแพทย์ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่านดายอย่างในประเทศไทย รวมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า การออกกฎเช่นนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญข้อที่กำหนดว่าจะห้ามคนไทยเข้าราชอาณาจักรไทยไม่ได้ (อ่านรายละเอียดของเอการดังกล่าวได้ที่นี่)

    KKP Research คาดเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกกว่าเดิม ปรับอีกรอบติดลบ 2.4%

    KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลงอีกครั้งจาก -0.4% เป็น -2.4% หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงและขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐ อเมริกา อีกทั้งยังมีผลกระทบอีกระลอกจากการยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศไทย

    การปรับลดการคาดการณ์ GDP ในครั้งนี้ สะท้อนพัฒนาการที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อและมาตรการควบคุมทั่วโลก จำนวนผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าตัวจนทำให้ยอดรวมขณะนี้ทะลุ 2 แสนคนทั่วโลกแล้ว ขณะที่รัฐบาลของหลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรปต่างทยอยออกมาตรการเข้มทั้งด้านการควบคุมการเดินทางและการปิดเมือง (lockdown)เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส มาตรการเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการควบคุมหรือชะลอการระบาดของโรค แต่ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญใน 3 ด้านที่ส่งผลต่อการปรับประมาณ GDP ของไทยในครั้งนี้ ได้แก่

    1) เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (global recession) ในครึ่งแรกของปีนี้ ขยายตัวได้เพียง 0.3% ในปี 2020 ล่าสุดทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Bank of America คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และอาจโตได้เพียง 0.3% ในปีนี้ จากที่เคยคาดไว้ที่ 2.2% ก่อนหน้านี้ และ 3.2% เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะหดตัว 0.8% (จาก +2.1% ในปี 2019) สหภาพยุโรปหดตัวที่ 1.7% (จาก +1.2% ในปี 2019) ส่วนเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะโตเพียง 1.5% (จาก 6.1% ในปี 2019) ซึ่งสามกลุ่มประเทศนี้มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังเป็นคู่ค้าหลัก 3 อันดับแรกของประเทศไทย ดังนั้น อุปสงค์โลกที่ลดลงจากภาวะวิกฤตโควิดและมาตรการรับมือต่างๆ ในต่างประเทศจะซ้ำเติมภาคการผลิตและส่งออกของเศรษฐกิจไทยไปด้วย แม้ค่าเงินบาทจะกลับมาอ่อนค่าลงแล้วก็ตาม

    ประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 จาก KKP Research

    2) การงดเว้นกิจกรรมภายในประเทศมีแนวโน้มยืดเยื้อและเข้มข้นขึ้น การแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นในไทยทำให้มีการยกเลิกการจัดกิจกรรมต่างๆ และล่าสุดรัฐบาลจำเป็นต้องประกาศปิดสถานศึกษา สถานบันเทิง และสถานที่อื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เป็นเวลา 14 วัน ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศลดลงได้มากอีกทางหนึ่ง และในกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศรุนแรงขึ้นและไม่สามารถควบคุมได้ อาจมีความจำเป็นต้องยืดระยะเวลาและขยายพื้นที่การ ‘ปิดเมือง’ ขึ้นก็เป็นได้จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในการต่อสู้กับการระบาดไวรัสโควิด ส่งกระทบโดยตรงต่อการบริโภคและการลงทุนในประเทศ

    3) ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักกว่าที่คาด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมทั้งปีคาดว่าจะลดลงถึง 48% เหลือเพียง 20.7 ล้านคนในปีนี้จากเดิมที่เคยประเมินว่าจะลดลง 25% ในการประมาณการครั้งก่อน โดยตัวเลขจริงของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังประเทศไทยล่าสุดติดลบถึง 80% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่าผลกระทบต่อการท่องเที่ยวน่าจะลากยาวไปจนถึงอย่างน้อยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จากมาตรการของประเทศต่างๆ ที่เข้มงวดมากขึ้นในการห้ามประชาชนเดินทางไปยังประเทศเสี่ยงซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี

    ทั้งนี้ ความเสี่ยงในระยะต่อไปของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับประสิทธิผลของนโยบายด้านสาธารณสุขในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในประเทศ และมาตรการทั้งด้านการเงินและการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจ

    KKP Research คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ในการประชุมครั้งหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงต้องดูแลด้านสภาพคล่องของตลาดการเงินอย่างต่อเนื่องด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่ออัดฉีดสภาพคล่อง และอาจรวมถึงมาตรการเพิ่มเติมในการดูแลสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้เอกชน ในขณะที่นโยบายการคลังจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและธุรกิจ และเตรียมพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปหลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย

    การบินไทยอาจพักชำระหนี้-ล้มละลาย

    วันที่ 18 มี.ค. 2563 เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า หลังจากที่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ชองบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.การบินไทย ซึ่งจะมีผลในเดือนหน้า คณะกรรมการ บมจ.การบินไทยจึงแต่งตั้งให้นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลังผู้ถือหุ้นใหญ่รักษาการแทน และให้บรรดากรรมการที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหน่วยราชการต่างๆเข้าร่วมหารือกันในประเด็นการฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทยอย่างจริงจัง

    ในการประชุมเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และการแก้ไขปัญหาภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ที่ประชุมเห็นด้วยว่า ที่สุด การบินไทยจำเป็นต้องใช้โมเดลการแก้ไขปัญหาแบบเดียวกันกับสายการบิน JAL ของญี่ปุ่น ซึ่งมีหลายสายการบินนำไปใช้ในการแก้ไขฐานะการดำเนินกิจการของตนด้วย

    ในเวลาเดียวกันก็จำเป็นจะต้องขออนุมัติจากรัฐบาล และกระทรวงการคลังในการทำ moratorium คือ ประกาศการพักชำระหนี้ หรือเลื่อนการชำระหนี้กับสถาบันการเงิน และธนาคารเจ้าหนี้ออกไปก่อน ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งหมดถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาของการบินไทยที่มีอยู่ เพราะถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ก็เท่ากับซื้อเวลาของการแก้ไขปัญหาไปเรื่อยๆโดยมีผลการขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นทุกปีๆ

    สำหรับผู้ที่เกรงว่าบรรดาผู้ถือหุ้นการบินไทยอาจจะไม่ยอม ก็จะต้องมีมาตรการบางอย่างตามกฎหมายตลาดหลักทรัพย์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นไว้จนกว่าการบินไทยจะกลับมาฟื้นตัว และมีสถานภาพที่ดีขึ้น ส่วนที่มีผู้ให้ความเห็นว่า สหภาพแรงงานของการบินไทย ซึ่งมีท่าทีที่แรงมาตลอด จะแก้ปัญหาอย่างไรหากสหภาพแรงงานการบินไทยไม่ยินยอม

    ผู้สื่อข่าวได้รับคำตอบจากกระทรวงการคลังว่า เป็นไปได้มากที่จะต้องประกาศให้การบินไทยเข้าสู่สภาวะการฟื้นฟูกิจการเต็มรูปแบบเช่นเดียวกับการประกาศเข้า Chapter 11 หรือ กฎหมายเกี่ยวกับการล้มละลายของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆดำเนินการกับกิจการที่ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการมากมาย รวมถึงการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินบางอย่างที่มีราคาออกไป หรือแบ่งเป็นทรัพย์สินดี และทรัพย์สินด้อยคุณภาพที่จะต้องมีการจัดการ

    ปกส. เตรียมรับมือปิดเมือง พร้อมจ่ายครึ่งหนึ่งของเงินเดือนนานสองเดือน

    เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2563 นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานคณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยว่า คณะกรรมการประกันสังคมมีมติ เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน กรณีสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนี้

    1. ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยให้ขยายความคุ้มครองผู้ประกันตนจากภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ รวมทั้งภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติ หรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ให้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป โดยผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน อัตราร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน ส่วนกรณีหน่วยงานภาครัฐ มีคำสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว ประกันสังคมจะจ่ายกรณีว่างงาน ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 60 วัน

    2. เห็นชอบให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และผู้ประกันตน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอัตราร้อยละ 4 เป็นระยะเวลา 6 เดือน พร้อมทั้งยังเห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนมี.ค.,เม.ย. และพ.ค. 2563 ออกไปอีก 3 เดือน โดยงวดค่าจ้างเดือนมี.ค. 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 ก.ค. 2563 สำหรับงวดค่าจ้างเดือนเม.ย. 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 ส.ค. 2563 และงวดค่าจ้างเดือนพ.ค. 2563 ให้นำส่งเงินภายใน 15 ก.ย. 2563

    3. ในเรื่องการรักษาพยาบาล คณะกรรมการฯ มีมติให้ดูแลรักษาผู้ประกันตน ที่ป่วยจากไวรัสโควิด-19 ให้ดีที่สุดตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่กำหนด
         
    นอกจากนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นไม่ว่าในทางเศรษฐกิจหรือผลกระทบจากปัจจัยอื่นใด คณะกรรมการยังมีมติเห็นชอบให้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้นแก่ผู้ประกันตน ที่ว่างงานจากกรณีลาออก ร้อยละ 45 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน และจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนที่ว่างงาน จากกรณีเลิกจ้าง ร้อยละ 70 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน

    ทั้งนี้ มาตรการนี้ให้ใช้บังคับเป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนี้คณะกรรมการฯ จะพิจารณาวิเคราะห์และมีมติพิจารณาอีกครั้ง  ทั้งนี้จะมีการเร่งรัดให้มีผลบังคับโดยเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ต่อไป

    ลาวปิดประเทศ กลับจากไทยกักตัว 14 วัน


    ที่มาภาพ: เว็บไซต์เนชั่นทีวี (https://bit.ly/2Qyys5Y)

    วันที่ 20 มี.ค. 2563 เว็บไซต์เนชั่นทีวีรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ นครเวียงจันทน์ มีประกาศเรื่องมาตรการการเข้าเมืองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) โดยมีรายละเอียดดังนี้

    สถานทูตเอกอัคราชทูต ณ เวียงจันทน์ ขอเรียนรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการดังนี้
    1. รัฐบาล สปป.ลาว สั่งปิดด่านประเพณี ด่านท้องถิ่นทั้งหมด (จุดผ่อนปรน) ตั้งแต่ 19 มี.ค. – 20 เม.ย.
    2. ยกเลิกออกวีซ่า ที่ด่านทุกประเภท ตั้งแต่ 20 มี.ค. – 20 เม.ย.
    3. ระงับการใช้บัตรผ่านแดน ตั้งแต่ 20 มี.ค. – 20 เม.ย.
    4. ผู้ที่ได้วีซ่าและจะเดินทางเข้า สปป.ลาว ต้องแสดงใบตรวจสุขภาพกับ ตม. เพื่อยืนยันว่าปลอดโรคโควิด-19
    5. ยกเลิกการยกเว้นวีซ่าเป็นการชั่วคราว (รวมถึงไทย)
    6. ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด รวมถึงคนที่เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ ให้กักตัวเอง 14 วัน