ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามชาติแรกอาเซียนผ่อนคลาย Social Distancing

ASEAN Roundup เวียดนามชาติแรกอาเซียนผ่อนคลาย Social Distancing

25 เมษายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 19-25 เมษายน 2563

  • เวียดนามผ่อนคลายมาตรการ Social Distancing
  • อินโดนีเซียห้ามการเดินทางทางอากาศและทางเรือถึง มิ.ย.
  • มาเลเซียตั้งคณะกรรมการดูแลความมั่นคงด้านอาหาร
  • สหรัฐฯ มอบเงินช่วยสาธารณสุขฉุกเฉินอาเซียน 35.3 ล้านเหรียญ
  • เวียดนามผ่อนคลายมาตรการ Social Distancing

    นายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ที่มาภาพ: https://vovworld.vn/en-US/news/vietnam-to-relax-social-distancing-measures-from-april-23-pm-852027.vov

    นายเหงียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ตัดสินใจอนุญาตให้ 28 เขตที่จัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่เสี่ยงสูงและกลุ่มพื้นที่เสี่ยงปานกลางของการติดเชื้อโควิด-19 ยกเลิกใช้มาตรการระยะห่างทางกายภาพ ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2563 ยกเว้นห่าซางและบั๊กนิญในฮานอย

    การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีมีขึ้นในการประชุมเพื่อทบทวนการใช้มาตรการระยะห่างทางกายภาพในแต่ละพื้นที่ ที่แยกออกเป็นกลุ่มตามระดับความเสี่ยง คือ กลุ่มพื้นที่เสี่ยงสูง กลุ่มพื้นที่เสี่ยงปานกลาง และกลุ่มพื้นที่เสี่ยงต่ำ

    กรุงฮานอย โฮจิมินห์ซิตี ห่าซาง และบั๊กนิญ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ก่อนวันประชุม ได้รับการปรับลดระดับความเสี่ยงจากกลุ่มพื้นที่เสี่ยงสูง มาเป็นกลุ่มพื้นที่เสี่ยงปานกลาง

    นายเหงียน ซวน ฟุก กล่าวว่า ฮานอยได้ปรับมาอยู่ในกลุ่มพื้นที่ความเสี่ยงปานกลางแล้ว แต่ยังมีบางส่วนของฮานอยที่ยังมีความเสี่ยงสูง ซึ่งประธานกรรมการประชาชนของฮานอยสามารถพิจารณาได้เองว่า พื้นที่ที่ยังเสี่ยงสูงนั้นควรจะใช้มาตรการระยะห่างทางกายภาพเข้มงวดแค่ไหน

    นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้กล่าวชื่นชมประชาชนเวียดนามและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อเลี่ยงการติดเชื้อแและแพร่เชื้อ และเรียกร้องให้ยังคงต้องระวังต่อเนื่องเพื่อป้องกันการระบาดจากการเดินทางเข้าประเทศโดยยังไม่ผ่อนคลายการเดินทางเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งขอให้แต่ละพื้นที่ระมัดระวังและยอมรับว่าจะต้องอยู่กับการระบาดไปอีกระยะหนึ่ง แต่ต้องดูแลสินค้าให้หมุนเวียน รวมทั้งการจ้างงานและการพัฒนาเศรษฐกิจ

    คณะกรรมการติดตามการป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังกำหนดให้พื้นที่เสี่ยงสูงยังคงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการรวมตัวกันเกิน 2 คน เว้นระยะห่างกัน 2 เมตร และสวมหน้ากากอนามัย ส่วนพื้นที่เสี่ยงปานกลางจะต้องไม่มีการรวมตัวกันเกิน 10 คนนอกสถานที่ทำงาน เว้นระยะห่างกัน 1 เมตร และสวมหน้ากากอนามัย และพื้นที่เสี่ยงต่ำจะต้องไม่มีการรวมตัวกันเกิน 20 คนนอกสถานที่ทำงาน เว้นระยะห่างกัน 1 เมตร และสวมหน้ากากอนามัย

    องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ได้แสดงความชื่นชมต่อการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 ที่ยอดเยี่ยมของเวียดนาม ซึ่งเป็นผลจากการเป็นผู้นำที่เข้มแข็งของรัฐบาลและความร่วมมือจากประชาชนที่ช่วยในการควบคุมการระบาด

    นายทาเคชิ คาซาอิ ผู้อำนวย WHO ประจำภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตกกล่าว่า เวียดนามได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของรัฐบาลในการใช้มาตรการ อีกทั้งความมีวินัยของประชาชนที่ปฏิบัติตามกติกาสังคมเพื่อลดการระบาดก็มีส่วนอย่างมาก

    เวียดนามมีผู้ติดเชื้อ 268 รายแต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งน้อยกว่าประเทศอื่นในอาเซียนและประเทศอื่นๆ ในโลก

    หลังจากไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกัน 6 วัน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 รัฐบาลจึงอนุญาตให้ร้านค้าและบริการบางประเภทกลับมาเปิดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2563 ซึ่งมีร้านกาแฟบางแห่งเปิดให้บริการ แต่ท้องถนนก็ยังเงียบ

    การผ่อนคลายมาตรการระยะห่างทางกายภาพของเวียดนามในวันที่ 23 เมษายน 2563 ได้นั้น ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่าเป็นผลจากการตัดสินใจที่เด็ดขาดในการตอบสนองกับการระบาดซึ่งได้ใช้มาตรการกักกันและขยายการสืบค้นโรค จนทำให้ควบคุมการระบาดได้สำเร็จ

    แม้มีชายแดนติดกับจีนที่ยาวและยังมีช่องทางธรรมชาติจำนวนมาก เวียดนามกลับมีผู้ติดเชื้อ 268 รายโดยไม่มีผู้เสียชีวิต

    เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของอาเซียนที่สั่งห้ามเที่ยวบินเข้าและออกจากจีนในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ขณะนั้นยังมีผู้ติดเชื้อ 12 คนเท่านั้น และมีการกักกันคนราว 10,000 คนที่อาศัยในหมู่บ้านใกล้เมืองหลวง รวมทั้งมีการกักกันคนอีกจำนวนมากไว้ภายใต้การดูแลของรัฐ (state quarantine) ทั้งชาวเวียดนามที่เดินทางกลับประเทศ โดยใช้ค่ายทหารเป็นสถานที่กักกัน ตลอดจนใช้วิธีการสืบค้นโรคที่รวดเร็ว

    ขณะนี้แทบจะไม่มีเที่ยวบินนานาชาติเข้าเวียดนาม แม้ได้ผ่อนคลายการล็อกดาวน์บางส่วนเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

    ที่มาภาพ: https://www.ibtimes.com/vietnam-relaxes-virus-restrictions-cases-plateau-2963562

    เวียดนามเป็นประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีชายแดนติดกับจีนและมีประชาชน 97 ล้านคน ไม่มีผู้เสียชีวิตจาการติดโควิด-19 แม้แต่คนเดียว ข้อมูล ณ วันที่ 21 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อรวม 268 ราย และมีผู้หายจากโรคมากกว่า 140 ราย

    สาเหตุที่เวียดนามไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียวมาจาก 3 ยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาล ทำให้สามารถควบคุมการระบาดได้

    ข้อแรก มีการวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองและการทดสอบ
    มาตรการนี้ใช้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ผู้ที่เดินทางมาถึงสนามบินในเมืองใหญ่ๆ ของเวียดนามต้องผ่านการวัดอุณหภูมิและกรอกข้อมูลสุขภาพ ซึ่งต้องมีรายละเอียดคนที่สัมผัส ข้อมูลการเดินทาง และประวัติสุขภาพ มาตรการนี้ใช้บังคับกับทุกคนที่เข้าไปในเมืองใหญ่และบางจังหวัดด้วยทางบก รวมไปถึงทุกคนที่ไปที่ทำการหน่วยงานรัฐและโรงพยาบาลด้วย

    ผู้ที่มีอุณหภูมิสูงเกิน 38 องศาเซลเซียสจะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อทดสอบเพิ่มเติม และผู้ที่ปกปิดข้อมูลหรือไม่ยอมให้ข้อมูลจะถูกดำเนินการตามกฎหมาย ธุรกิจทั้งธนาคาร ร้านอาหาร และอาคารที่พักอาศัยก็ต้องใช้การคัดกรองเช่นกัน

    นอกจากนี้ยังมีการทดสอบอย่างเข้มข้นทั่วประเทศ มีการจัดตั้งจุดทดสอบทั่วเมือง ซึ่งประชาชนสามารถไปรับการตรวจได้ บางกรณีชุมชนที่อยู่ใกล้กับผู้ที่ยืนยันการติดเชื้อ ซึ่งอาจจะเป็นถนนทั้งเส้นหรือทั้งหมู่บ้าน ต้องมีการทดสอบทั้งหมดและถูกกักกัน

    ภายในวันที่ 5 มีนาคม 2563 เวียดนามได้อนุมัติให้ใช้ชุดทดสอบ 3 ชุดที่ผลิตขึ้นในเวียดนาม แต่ละชุดมีราคาไม่ถึง 25 ดอลลาร์และให้ผลภายใน 90 นาที ซึ่งชุดทดสอบนี้ช่วยได้มากในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การทดสอบอย่างเข้มข้นของรัฐบาล

    ข้อสอง ล็อกดาวน์พื้นที่เป้าหมาย
    มาตรการที่สองของเวียดนามคือกักกันและล็อกดาวน์ ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ ชาวเวียดนามที่เดินทางกลับจากต่างประเทศจะต้องถูกกักกันเป็นเวลา 14 วัน และต้องรับการทดสอบหาเชื้อโควิด-19 มาตรการนี้ยังใช้บังคับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนาม สำหรับผู้ที่มีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโดยตรง จะมีการเผยแพร่ข้อมูลออกไปเพื่อสนับสนุนให้เข้าสู่การกักกัน และหากพบว่ามีบางคนสัมผัสกับผู้ที่ผลตรวจออกมาเป็นบวก จะขอให้บุคคลนั้นกักกันตัวเองด้วยความสมัครใจ

    ในเดือนมีนาคม เวียดนามเริ่มล็อกดาวน์ทั้งเมืองและพื้นที่บางจุดในเมืองแบบเฉพาะเจาะจง การเดินทางระหว่างเมืองเข้มงวดอย่างมาก ในดานัง เมืองทางตอนกลาง ผู้ที่ไม่มีชื่อในทะเบียนพักอาศัยในเมืองและประสงค์จะเดินทางเข้ามาจะต้องรับการกักกัน 14 วันตามสถานที่ที่รัฐบาลจัดไว้ และต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

    บางกรณีหมู่บ้านที่มีคนอาศัยราว 10,000 คนก็ถูกล็อกดาวน์แม้มีคนติดเชื้อคนเดียว รวมทั้งมีการล็อกดาวน์โรงพยาบาลบักเหม่ยทั้งโรงพยาบาล เพราะเจ้าหน้ารายหนึ่งมีผลตรวจเป็นบวก

    ที่มาภาพ: https://theconversation.com/vietnam-has-reported-no-coronavirus-deaths-how-136646

    ข้อสาม มีการสื่อสารต่อเนื่อง
    ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม รัฐบาลเวียดนามสื่อสารกับพลเมืองถึงความร้ายแรงของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ มีการสื่อสารชัดเจนว่าโควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่แต่มีความร้ายแรงมากกว่านั้น ดังนั้นประชาชนจึงไม่ควรเอาชีวิตตัวเองหรือผู้อื่นเข้าไปเสี่ยง

    รัฐบาลมีวิธีการสื่อสารแบบสร้างสรรค์ ทุกวันหน่วยงานของรัฐจะสลับหมุนเวียนตั้งแต่นายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลท้องถิ่น ออกมาให้ข้อมูลแก่ประชาชน รวมทั้งให้ข้อมูลอาการอย่างละเอียด ตลอดจนมาตรการป้องกันผ่านโทรศัพท์มือถือทั่วประเทศ

    รัฐบาลยังได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มข้อมูล เช่น Zalo อัปเดตข้อมูล รวมทั้งมีการจัดทำสื่อต่างๆ ทั่วประเทศ และมีการจัดทำสแตมป์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัส มีการติดโปสเตอร์ในหลายเมือง เตือนประชาชนให้มีบทบาทในการสกัดการระบาดของไวรัส ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เปิดเผยข้อมูลผู้ที่ติดเชื้อ ที่หลบหนีการกักกัน แม้ไม่ได้ประกาศชื่ออย่างเป็นทางการ

    ด้วยการใช้ทั้ง 3 มาตรการร่วมกัน เวียดนามจึงไม่มีการระบาดในชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นจริงเมืองโฮจิมินห์ที่มีประชากร 11 ล้านคนจะโกลาหลและเป็นภาระให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศ

    นอกจากนี้ ทั้ง 3 มาตรการอาจจะไม่เป็นที่ชอบใจของฝั่งแนวคิดเสรีนิยม แต่แนวทางได้ได้ผล เพราะระบบสาธารณสุขมีเวลาในการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย ไม่มีผู้เสียชีวิต วิธีการของเวียดนามจึงอาจะเป็นตัวอย่างให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ได้

    อินโดนีเซียห้ามการเดินทางทางอากาศและทางเรือถึง มิ.ย.

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/indonesia-to-ban-air-sea-travel-to-early-june-amid-coronavirus-pandemic

    อินโดนีเซียได้สั่งห้ามการเดินทาง โดยครอบคลุมการเดินทางทางอากาศทั้งในและต่างประเทศ และการเดินทางทางเรือ ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2563 ไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายนเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสไม่ให้แพร่กระจายมากกว่านี้

    นายโนวี รียันโต ราฮาร์ดโจ ผู้อำนวยการฝ่ายการบิน กระทรวงคมนาคม ประกาศว่า การเดินทางทางอากาศจะถูกระงับไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน ขณะที่นายอากุส เพอร์โนโม ผู้อำนวยการฝ่ายการขนส่งทางเรือ กล่าวว่า การเดินทางทางเรือจะต้องหยุดไปถึงวันที่ 8 มิถุนายน ยกเว้นการขนส่งสินค้าและการขนประชาชนกลับประเทศหรือการส่งชาวต่างชาติออกไป การเดินทางของเจ้าหน้าที่รัฐ นักการฑูต และเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ

    ขณะเดียวกัน ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ได้อนุมัติเงินงบประมาณจำนวน 1.5 พันล้านดอลลาร์ให้อินโดนีเซียเพื่อจัดการกับการระบาดของไวรัส ที่มีผลต่อสุขภาพ ความเป็นอยู่ของประชาชน และเศรษฐกิจ

    นายมาซัตซึกุ อาซากาวะ ประธานเอดีบี กล่าวว่า เงินก้อนนี้จะช่วยให้อินโดนีเซียจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการระบาดของไวรัส และรัฐบาลจะใช้เงินไปที่กลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ คือคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง ซึ่งรวมสตรี

    “การเบิกเงินได้อย่างรวดเร็วเป็นส่วนหนึ่งของแพกเกจสนับสนุนของเอดีบี เพื่อให้ความช่วยเหลืออินโดนีเซียในการจัดการกับการระบาดของไวรัส ด้วยความร่วมมืออย่างใกลิดกับองค์กรเพื่อการพัฒนาอื่น” นายอาซากาวะกล่าวและชื่นชมรัฐบาลอินโดนีเซีย ที่ใช้ทั้งมาตรการเศรษฐกิจและมาตรการการคลังที่เข้มแข็ง รวมทั้งประสานกันเป็นอย่างดี

    มาเลเซียตั้งคณะกรรมการดูแลความมั่นคงด้านอาหาร

    ที่มาภาพ: https://www.malaymail.com/news/malaysia/2020/04/02/covid-19-association-urges-govt-to-prioritise-domestic-food-security/1852982

    ดาโต๊ะ สรี ดร.โรนัลด์ กิอานดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมาเลเซีย เปิดเผยว่า รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการด้านความมั่นคงด้านอาหาร (Cabinet Committee on Food Security) ในเร็วๆ นี้ โดยมีตัน สรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

    คณะกรรมการชุดนี้จะกำหนดนโยบายความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ

    ดร.โรนัลด์กล่าวว่า ธุรกิจเกษตรอาหารจะเป็นเป้าหมายสำคัญของภาคธุรกิจเกษตร เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับธุรกิจเกษตรในแถวหน้า

    ทั้งนี้มีเป้าหมายเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานอาหาร ปรับปรุงการบริการเดลิเวอรี เสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีและทักษะ รวมทั้งส่งเสริมให้ปฏิบัติตามมาตรการและแนวปฏิบัติที่ดีของการเกษตร นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังมีแผนไว้ดำเนินการหลังผ่านพ้นการระบาดของโควิด-19 ไว้แล้ว โดยจะหาแนวทางทั้งระยะปานกลางและระยะยาวให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของการระบาด

    กระทรวงฯ จะมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าถึงตลาดใหม่ ขณะเดียวกันจะชักชวนนักลงทุนมาเพื่อให้ลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตร

    ภายใต้แผนฉบับที่ 12 (Twelfth Malaysia Plan: RMK-12) และนโยบายด้านธุรกิจเกษตรอาหารแห่งชาติ 2.0 (National Agro-Food Policy: NAFP) 2.0 รัฐบาลจะพัฒนาธุรกิจให้ทันสมัยขึ้นด้วยการใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 หรือ Industrial Revolution 4.0

    ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงความมั่นคงและความปลอดภัยด้วยการเพิ่มประสิทธิผล สร้างรายได้ให้สูงขึ้น และดึงคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าภาคเกษตรในจีดีพีให้มากขึ้น

    ดร.โรนัลด์กล่าวว่า ปัญหาของภาคเกษตรของประเทศคือ มีการใช้ระบบกลไกและระบบอัตโนมัติต่ำ พึ่งพาแรงงานต่างชาติ ขาดการลงทุนจากเอกชนและเงินทุน เข้าถึงตลาดได้ยาก และกลไกการอุดหนุนที่ไม่ต่อเนื่อง ตลอดจนขาดเมล็ดพันธุ์และการเพาะพันธุ์ที่มีคุณภาพ

    “หนึ่งในหลายอุปสรรคหลักต่อการบรรลุเป้าหมายความมั่นคงด้านอาหาร คือ การพึ่งพาจากการนำเข้า ทั้งเนื้อ ผัก และผลไม้จากเขตหนาว ดุลการค้าเกษตรอาหารจึงขาดดุล และเราต้องจ่ายเงินค่านำเข้าสินค้าเหล่านี้ถึงมากกว่า 50 พันล้านริงกิต” ดร.โรนัลด์ กิอานดี กล่าวและว่า ระดับความเพียงพอของผลไม้ที่ผลิตในประเทศ (self-sufficiency level: SSL) อยู่ที่ 78.4% ส่วน SSL ของผักอยู่ที่ 44.6% และ SSL ของเนื้ออยู่ที่ 22.9%.

    ดร.โรนัลด์เรียกร้องให้เปลี่ยนโฉมภาคเกษตร โดยควรก้าวข้ามภาพลักษณ์อุตสาหกรรม 3 ไม่ดี คือ สกปรก อันตราย และยาก (dirty, dangerous, difficult) และการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่คือปัจจัยหลักที่จะนำการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 มาใช้และพัฒนาภาคเกษตรในมาเลเซียให้ทันสมัย ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเทคนิคใหม่ๆ

    ปัจจุบันมีเกษตรกรที่อายุไม่ถึง 40 ปี เพียง 8.5% และโครงการผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ (Young Agropreneur Programme) ที่กระทรวงฯ ดำเนินการอยู่นั้น สร้างผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอาหารได้มากกว่า 5,000 ราย

    ดร.โรนัลด์เตือนว่า ประชาชนไม่ต้องตุนสินค้า เพราะกระทรวงฯ ได้เตรียมพร้อมดูแลห่วงโซอุปทานอาหารในช่วงที่รัฐบาลใช้มาตรการจำกัดการเคลื่อนไหว และย้ำว่าชาวมาเลเซียควรให้ความสำคัญกับผู้ที่อยู่แถวหน้า ทั้งผู้ที่อยู่ในภาคเกษตร เช่น ชาวนา ชาวประมง และผู้ผลิตอาหารที่เสี่ยงชีวิตเพื่อให้มีอาหารพอเพียงและต่อเนื่องในช่วงที่ไวรัสระบาด

    สหรัฐฯ มอบเงินช่วยสาธารณสุขฉุกเฉินอาเซียน 35.3 ล้านเหรียญ

    ที่มาภาพ: http://www.mfa.go.th/main/en/news3/6885/117056-Minister-of-Foreign-Affairs-of-the-Kingdom-of-Thai.html
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อหารือการขยายความร่วมมือด้านสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม โดยไทยเน้นย้ำการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 และการดูแลประชาชนในภาวะวิกฤติ ด้านสหรัฐฯ ได้ประกาศความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขฉุกเฉินแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นมูลค่ารวม 35.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และข้อริเริ่ม “ASEAN-U.S. Health Futures” รวมทั้งเตรียมยกระดับ CDC ในภูมิภาค

    เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2563 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายไมเคิล ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และมีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้งหมด รวมถึงเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมด้วย

    ที่ประชุมได้ย้ำถึงเจตนารมณ์ร่วมกันในการขยายความร่วมมือด้านสาธารณสุขอย่างเป็นรูปธรรม และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม โดยในที่ประชุม สหรัฐฯ ได้ประกาศความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขฉุกเฉินแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นมูลค่ารวม 35.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงข้อริเริ่มใหม่ที่เรียกว่า “ASEAN-U.S. Health Futures” นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีแผนที่จะยกระดับศูนย์ควบคุมโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการเฝ้าระวังและติดตามโรคติดต่อในอาเซียนในอนาคต

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำประเด็นความร่วมมือ ได้แก่ (1) การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสาธารณสุขฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโควิด-19 อย่างทันท่วงทีและโปร่งใส โดยเสนอให้มีการหารือระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขของทั้งสองฝ่ายอย่างสม่ำเสมอ และชื่นชมที่ทั้งสองฝ่ายจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุข ในช่วงปลายเดือนเมษายน นี้ (2) สนับสนุนให้สหรัฐฯ เร่งพัฒนาการวิจัยยาและวัคซีนสำหรับโควิด-19 (3) เสนอให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในสินค้า ยา และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น และเร่งความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลในอาเซียน โดยเฉพาะ ASEAN Digital Hub ซึ่งเป็นข้อเสนอของไทย (4) ความร่วมมือในการดูแลประชาชนทั้งสองฝ่ายในภาวะวิกฤติ และ (5) ไทยขอบคุณสหรัฐฯ สำหรับความช่วยเหลือทวิภาคีด้านสาธารณสุขผ่านองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (United States Agency for International Development: USAID) และศูนย์ CDC

    การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษฯ เป็นการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลครั้งแรกเพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน โดยความร่วมมือ ความช่วยเหลือ และข้อริเริ่มต่างๆ ของสหรัฐฯ นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่ออาเซียน ทั้งในการรับมือกับโควิด-19 และการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต

    ทางด้านดาโต๊ะ สรี ฮิชามมุดดิน ฮูสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้เสนอให้อาเซียนจัดตั้งกลไกใหม่เพื่อส่งอาหารที่มีส่วนเกินมากมายในภูมิภาคให้กับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่กำลังประสบกับการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

    ดาโต๊ะ สรี ฮิชามมุดดิน ฮูสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ที่มาภาพ: https://www.thesundaily.my/local/malaysia-proposes-asean-nations-formulate-mechanism-on-surplus-food-hishammuddin-YD2324313

    ดาโต๊ะฮุสเซนกล่าวว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความริเริ่มใหม่นี้ไม่เพียงจะฉุดการค้าจากอาเซียนไปสู่โลก แต่จะเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์ และชาวประมงของอาเซียนด้วย

    “ในช่วงเวลาปกติ อาหารส่วนเกินของเราจะถูกส่งออกไปตลาดต่างประเทศเพื่อที่จะไม่ถูกทิ้งเป็นขยะ แต่ในช่วงเวลาที่ไม่ปกติ ตลาดก็ปิดโดยไม่มีกำหนด ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาเหมือนช่วงก่อนหน้าเกิดการระบาดเมื่อไร” ดาโต๊ะฮุสเซนกล่าวในที่ประชุม

    ดาโต๊ะฮุสเซนกล่าวว่า มาเลเซียได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้ภาคเศรษฐกิจสำคัญเปิดดำเนินการในช่วงที่มีการควบคุมการเคลื่อนไหวและได้จัดตั้งกองทุนความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security Fund)