ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup กัมพูชากำหนดต่างชาติเดินทางเข้าวางเงินประกัน 3,000 ดอลลาร์ค่าใช้จ่ายตรวจ-รักษาโควิด-19

ASEAN Roundup กัมพูชากำหนดต่างชาติเดินทางเข้าวางเงินประกัน 3,000 ดอลลาร์ค่าใช้จ่ายตรวจ-รักษาโควิด-19

14 มิถุนายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 6-13 มิถุนายน 2563

  • กัมพูชากำหนดต่างชาติเดินทางเข้าเงินวางประกัน 3,000 ดอลลาร์ค่าใช้จ่ายตรวจ-รักษาโควิด-19
  • กัมพูชาแจกใบรับรองสายการบินใหม่
  • เวียดนามรับรองความตกลงการค้ายุโรป EVFTA
  • เวียดนามตั้งเป้าติด 15 อันดับแรกประเทศด้านพัฒนาเกษตร
  • อินโดนีเซียเริ่มโครงการพัฒนานิคมอาหาร
  • กระทรวงสวัสดิการสังคมและการพัฒนาอาเซียนประชุมดูแลกลุ่มเปราะบาง
  • กัมพูชากำหนดต่างชาติเดินทางเข้าวางเงินประกัน 3,000 ดอลลาร์ค่าใช้จ่ายตรวจ-รักษาโควิด-19

    ที่มาภาพ: https://www.vinci.com/vinci.nsf/en/news-update/pages/phnom_penh_airport_named_best_regional_airport_in_the_asia_pacific_region_cambodia_122019.htm
    กัมพูชาได้นำระบบผู้ใช้เป็นผู้จ่าย หรือ user-pays system มาใช้กับการเดินทางเข้าของชาวต่างชาติในยุคที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก โดยกำหนดให้ชาวต่างชาติทุกคนที่เดินทางเข้าประเทศจะต้องวางเงินประกัน 3,000 ดอลลาร์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจไวรัสโควิด-19

    ในหนังสือเวียนลงวันที่ 8 มิถุนายน นายอัน พรมณีโรท รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังประเทศกัมพูชา ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเดินทางเข้าที่เน้นการให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสาธารณสุขสูงสุด และคำนึงถึงความสามารถทางการเงิน

    ก่อนหน้านี้รัฐบาลกัมพูชารับภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจและรักษาไวรัสให้กับผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศหากมีผลตรวจเป็นบวก แต่หลักเกณฑ์ใหม่นี้สะท้อนว่ารัฐบาลจะไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อีกต่อไป เพราะผู้ติดเชื้อในปัจจุบันเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ

    ภายใต้ระบบ user-pays system ได้กำหนดการเก็บค่าธรรมเนียมในทุกขั้นตอนของกระบวนการที่ต่างชาติต้องปฏิบัติเมื่อเดินทางเข้ากัมพูชา และทุกคนต้องผ่านการตรวจเชื้อไวรัสแบบ RT-PCR test เมื่อเดินทางมาถึง และกระบวนการนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมงกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการเดินทางเข้ากัมพูชา

    กระบวนการทั้งหมดมีขั้นตอนดังนี้ เมื่อเดินทางมาถึงกัมพูชา ผู้โดยสารที่เดินทางกับสายการบินทุกคนจะถูกนำตัวขึ้นรถบัสที่จัดไว้ ซึ่งขั้นตอนนี้ค่ารถ 5 ดอลลาร์ เพื่อไปยังพื้นที่ที่จัดไว้สำหรับการตรวจ RT-PCR test และมีค่าตรวจ 100 ดอลลาร์

    ผู้ที่เดินทางเข้าจะต้องรออยู่ในพื้นที่ 1 คืนเพื่อรอผลตรวจ โดยมีค่าที่พัก 30 ดอลลาร์และค่าอาหาร 3 มื้ออีก 30 ดอลลาร์

    หากผลตรวจทุกคนออกมาว่าเป็นลบ ทุกคนก็จะสามารถออกจากพื้นที่ได้ แต่ต้องกักตัวที่บ้าน 14 วัน และต้องตรวจไวรัสอีกครั้งในวันที่ 13 ของการกักตัวซึ่งมีค่าตรวจอีก 100 ดอลลาร์ แต่หากว่ามีคนใดคนหนึ่งในเที่ยวบินนั้นมีผลตรวจเป็นบวก ผู้โดยสารทุกคนจะต้องเข้าสู่การกักกันในสถานที่ที่รัฐจัดไว้โดยมีค่าใช้จ่าย 84 ดอลลาร์ต่อวัน รวมทั้งมีค่าตรวจไวรัสอีกรอบ 100 ดอลลาร์

    ที่มาภาพ: http://en.freshnewsasia.com/index.php/en/localnews/18518-2020-06-16-12-48-05.html

    สำหรับคนที่ผลตรวจเป็นบวกจะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลโดยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาวันละ 225 ดอลลาร์ และอีก 400 ดอลลาร์สำหรับการตรวจหาไวรัสเพิ่มเติมอีก 4 ครั้ง แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายสำหรับการพักรักษาตัวในห้องไอซียูหรือซีซียู

    ส่วนค่าจัดการงานศพในกรณีเสียชีวิตมีจำนวน 1,500 ดอลลาร์ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่ารวมโกศใส่กระดูกและเถ้าหรือไม่

    นอกเหนือจากค่าตรวจ 100 ดอลลาร์แล้ว ชาวต่างชาติต้องจ่ายเงินอีก 30 ดอลลาร์สำหรับการออกใบรับรองว่าไม่ติดเชื้อและผ่านการตรวจไวรัสแล้ว

    เงินประกัน 3,000 ดอลลาร์นี้จะมีการเก็บที่สนามบิน ซึ่งต่างชาติสามารถใช้ได้ทั้งเงินสดหรือบัตรเครดิต และรัฐบาลจะคืนเงินให้หลังผ่านพ้น 14 วัน

    ชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ากัมพูชาต้องแสดงใบรับรองสุขภาพว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ออก 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง นอกเหนือจากการทำประกันสุขภาพในทุนประกันไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์

    เงินประะกันนี้ไม่รวมค่าวีซ่าทุกประเภท แม้ขณะนี้กัมพูชายังไม่ใช้ระบบการให้วีซ่าเมื่อเดินทางมาถึงหรือ visa on arrival และสถานทูตกัมพูชาทั่วโลกยังไม่ออกวีซ่าให้นักท่องเที่ยว แม้มีการออกวีซ่าธุรกิจให้กับผู้ที่มีเอกสารแสดงความจำเป็นในการเดินทาง

    การกำหนดให้ต่างชาติวางเงินประกันถือว่าเป็นมาตรการที่ครอบคลุมและโปร่งใส เพราะผู้ที่เดินทางมีข้อมูลค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและระยะเวลาที่ชัดเจน ซึ่งจะสามารถวางแผนหรือตัดสินใจได้

    ต่อมาในวันที่ 10 มิถุนายน นายมัม บุนเฮง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ประกาศว่า รัฐบาลจะเปิดธนาคารที่สนามบินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้า และต้องวางเงินประกันตามที่รัฐบาลกำหนด

    กัมพูชาแจกใบรับรองสายการบินใหม่

    ที่มาภาพ: http://en.freshnewsasia.com/index.php/en/localnews/18470-2020-06-11-11-46-20.html
    นายเมา ฮาวีนนัล ผู้บริหารสำนักงานการบินพลเรือน (Secretariat of Civil Aviation) ประเทศกัมพูชา มอบใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ หรือ Air Operator’s Certificates (AOC)ใหักับ Prince International Airlines โดยมีนางสาวอีเฟย เจียง ประธานบริษัท เป็นผู้รับมอบ

    บริษัทพรินซ์อินเตอร์เนชัน แอร์ไลน์ ได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานทางเทคนิค 5 ขั้นตอนภายใต้การตรวจสอบอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัยในการบินเรียบร้อยแล้ว

    ปัจจุบันกัมพูชามี 7 สายการบิน ได้แก่ กัมพูชาอังกอร์แอร์, สกายอังกอร์แอร์ไลน์, บัสซากาแอร์เจซี (กัมพูชา), อินเตอร์เนชันแอร์ไลน์, หลันเม่ยแอร์ไลน์, กัมพูชา แอร์เวส์ และพรินซ์อินเตอร์เนชันแอร์ไลน์ รวมทั้งยังบริการการบินโดยเฮลิคอปเตอร์อีก 2 ราย คือ เฮลิคอปเตอร์กัมพูชา และเฮลิสตาร์กัมพูชา

    พรินซ์อินเตอร์เนชันแอร์ไลน์ยังมีบริการเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวทั้งใช้และให้เช่า และมีแผนที่จะซื้อเครื่องบินส่วนตัวมาให้บริการเชิงพาณิชย์ด้วยการให้เช่า

    เวียดนามรับรองความตกลงการค้ายุโรป EVFTA

    ที่มาภาพ: https://scandasia.com/deputies-in-the-nationals-assembly-of-vietnam-approved-free-trade-agreement-with-the-eu/
    การประชุมสมัชชาแห่งชาติของเวียดนามได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ความเห็นชอบข้อตกลงการค้าเสรี (EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) และข้อตกลงคุ้มครองการลงทุน (EU-Vietnam Investment Protection Agreement: EVIPA) ที่เวียดนามได้ทำกับสหภาพยุโรป

    ในเดือนกุมภาพันธ์รัฐสภายุโรป (European Parliament: EP) ได้อนุมัติข้อตกลงการค้าเสรี (EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) และข้อตกลงคุ้มครองการลงทุน (EU-Vietnam Investment Protection Agreement: EVIPA)

    ทั้งสองข้อตกลงจะมีผลในเดือนกรกฎาคมนี้ ข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับใช้เวลาในการการเจรจากันเป็นระยะเวลา 8 ปี

    ภายใต้ข้อตกลงนี้ เวียดนามจะยกเลิกภาษีนำเข้า 99% สำหรับสินค้าจากสหภาพยุโรป ภายในระยะเวลา 10 ปี การยกเลิกภาษีจะเท่ากับ 100% ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปจะยกเลิกภาษีนำเข้า 99% สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ของเวียดนามภายในระยะเวลา 7 ปี

    แม้ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติได้ให้การรับรองเต็มต่อข้อตกลงการค้าเสรีนี้ แต่ยังไม่มีต่อทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากเวียดนามจะต้องปรับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาก่อนถึงจะมีผลบังคับใช้

    เมื่อข้อตกลง EVFTA มีผลในเดือนกรกฎาคม สหภาพยุโรปจะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าราว 85.6% ของอัตราภาษีในทันที ซึ่งมีสัดส่วนราว 70.3% ของมูลค่าส่งออกของเวียดนามไปสหภาพยุโรป และจะทยอยลดภาษี 99.2% ของอัตราภาษีใน 7 ปี คิดเป็นสัดส่วนราว 99.7% ของมูลค่าส่งออกของเวียดนามไปสหภาพยุโรป

    เวียดนามเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนที่ทำข้อตกลง EVFTA กับสหภาพยุโรป ต่อจากสิงคโปร์ และสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าส่งออกสำคัญอันดับสองของเวียดนามรองจากสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าส่งออกในปีที่แล้ว 41.48 พันล้านดอลลาร์

    ธนาคารโลกคาดการณ์วาข้อตกลง EVFTA จะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม 2.4% และหนุนการส่งออกให้ขยายตัวอีก 12% ภายในปี 2030 และช่วยขจัดความยากจนให้คนหลายล้านคน

    เวียดนามตั้งเป้าติด 15 อันดับแรกประเทศด้านพัฒนาเกษตร

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/vietnams-agriculture-to-be-worlds-top-15-most-developed/174497.vnp
    เวียดนามตั้งเป้าที่จะเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศอันดับต้นๆ ที่มีการพัฒนาด้านการเกษตรดีสุดภายในปี 2030 และการแปรรูปเกษตรจะติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

    ในประกาศของรัฐบาลได้กำหนดภารกิจและแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ป่าไม้การประมง และวางกลไกในการผลิตการเกษตร รวมทั้งวางเป้าหมายให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางด้านการแปรรูปและโลจิสติกส์ด้านการค้าสินค้าเกษตรของโลก

    แม้ในปีที่ผ่านๆ มาเวียดนามจะประสบความสำเร็จในการพัฒนากลไกการผลิตด้านการเกษตรและแปรรูป แต่ยังไม่รองรับกับศักยภาพของภาคเกษตรและจุดแข็งของเกษตรกรรมในหลายพื้นที่

    นายกรัฐมนตรีได้ขอให้รัฐมนตรี ผู้บริหารระดับกระทรวง ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประธานคณะกรรมการประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันทำงานตามที่ได้รับมอบหมายและภารกิจตามประกาศ รวมทั้งการนำแนวทางไปใช้ในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปและกลไกการเกษตร

    นอกจากนี้ยังได้ขอให้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบททบทวนแผนที่ประกาศใช้ก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวข้องกับกลไกการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อรวมเข้ากับการวางแผนระดับภาคธุรกิจ ระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด รวมทั้งร่วมมือกับภาคธุรกิจ พื้นที่ในการจัดทำแผนและส่งเพื่อขออนุมัติแผนระดับชาติในปี 2021-2030 ตามที่กำหนดในกฎหมาย

    กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทยังได้รับการร้องขอเป็นพิเศษให้คิดโครงการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรในทันที เพื่อให้ติด 5 อันดับแรกของประเทศที่มีการแปรรูปผัก ผลไม้ อาหารทะเล ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป ซึ่งโครงการทั้งหมดนี้ต้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในไตรมาส 4 ปีนี้

    ความคืบหน้าของโครงการสำคัญในการแปรรูปเกษตรควรเร่งให้สอดคล้องกับการส่งเสริมการผลิตของโรงงานแปรรูปในปัจจุบันเพื่อตอบสนองความต้องการการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก

    กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทยังต้องประสานงานกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อใช้กองทุนส่งเสริมนวัตกรรมแห่งชาติและโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์แห่งชาติ เพื่อสนับสนุนธุรกิจให้ปรับปรุงการแปรรูปการเกษตรและเทคโนโลยีถนอมอาหาร

    ทั้งสองกระทรวงต้องร่วมกันจัดทำหลักเกณฑ์ในการประเมินความสามารถของอุตสาหกรรมแปรรูปและกลไกการเกษตร ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจะรับผิดชอบด้านการกำหนดแนวทางในการแสวงหาโอกาสจากข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) ที่เวียดนามได้ทำไว้ และความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) สำหรับสินค้าเกษตรแปรรูป

    กระทรวงวางแผนและการลงทุนจะจัดสรรเงินทุนเพื่อการพัฒนาโครงการแปรรูปใน 3 ประเภท คือ ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากทะเล และป่าไม้กับไม้แปรรูป หลังจากได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วและสอดคล้องกับกฎหมายการลงทุนของรัฐ รวมถึงแผนการลงทุนประประจำปีและแผนระยะกลางการลงทุนของรัฐ

    อินโดนีเซียเริ่มโครงการพัฒนานิคมอาหาร

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/06/11/government-to-develop-165000-hectares-land-in-central-kalimantan-for-food-estate-program.html

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ได้สั่งการให้กระทรวงกิจการสาธารณะและการเคหะขยายโครงการนิคมอาหาร ด้วยการพัฒนาพื้นที่ 165,000 เฮกตาร์ ที่เขตปูลังปิเซาในจังหวัดกาลีมันตันกลาง ในปี 2020 นี้ เพื่อสร้างขีดความสามารถด้านอาหารของประเทศ

    นายบาซูกิ ฮาดีมัลโจโน รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสาธารณะและการเคหะกล่าวว่า พื้นที่ 85,500 เฮกตาร์ในโครงการเดิมเคยเป็นที่เกษตรมาก่อน ดังนั้นจึงปรับพื้นที่ป่าละเมาะอีก 79,500 เฮกตาร์เท่านั้นเพื่อการพัฒนา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลิตข้าวได้ 2 ตันต่อ 1 เฮกตาร์

    คาดการณ์ว่านิคมอาหารจะเข้าสู่การผลิตสูงสุดในปี 2022

    “เราจะเริ่มฟื้นฟูพื้นที่ในปี 2020 ไปจนถึงปี 2022 ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็คาดว่าจะมีการผลิตมากสุดในพื้นที่ดิน 165,000 เฮกตาร์”

    โครงการนิคมอาหารมีความสำคัญอันดับสองในโครงการยุทธศาสตร์ชาติปี 2020-2024 หลังจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวยุทธศาสตร์ 5 แห่ง คือลาบวนบาโจในจังหวัดนูซาเติงการาตะวันออก, บูโรพุทโธในชวากลาง, ลิกูปังในสุลาเวสีเหนือ, ทะเลสาปโทบาในสุมาตราเหนือ และมัณฑาริกาในนูซาเติงการาตะวันตก

    กระทรวงจะพัฒนานิคมอาหารขึ้นที่เขตปูลังปิเซาในจังหวัดกาลีมันตันกลาง เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ แต่ไม่ใช่ป่าพรุแม้จะใช้เป็นพื้นที่พัฒนาป่าพรุเดิมในยุคประธานาธิบดีซูฮาร์โต แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

    กระทรวงจะพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานรวมทั้งฟื้นฟูระบบชลประทานโดยใช้เงินราว 1.05 ล้านล้านรูเปียะห์ โดยจะมีกระทรวงรัฐวิสาหกิจและกระทรวงเกษตรเข้าร่วมการพัฒนานี้ด้วย โดยกระทรวงรัฐวิสาหกิจและกระทรวงเกษตรจะรับผิดชอบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและการส่งเสริมการผลิต

    จากข้อมูลที่เสนอต่อประธานาธิบดีโจโก วิโดโด พบว่า 20 จังหวัดของอินโดนีเซียประสบกับการขาดแคลนอาหารที่จำเป็น เช่น กระเทียม น้ำตาล พริก และไข่ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านอาหาร

    แต่กลุ่มปฏิรูปการเกษตรหรือ Agrarian Reform Consortium (KPA) โดยเลขาธิการเทวี การ์ติกา ให้ความเห็นว่า โครงการปฏิรูปการเกษตรของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จเพราะพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ถูกรุกล้ำจากการให้สัมปทานเหมืองแร่และการเพาะปลูกบริษัทเอกชน

    โครงการปฏิรูปการเกษตรของรัฐบาลเป็นนโยบายสำคัญแห่งชาติในการทำหน้าที่สมัยแรกของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด เพื่อกระจายความเจริญและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน โดยมีการดำเนินการเพื่อขจัดความยากจนในหมู่บ้าน เพิ่มความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ และเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก รองรับสิทธิความเป็นเจ้าของพื้นที่ทำกิน และการใช้พื้นที่เพื่อผลประโยชน์ของคนหมู่มาก

    “ข้อมูลจากสำนักงานที่ดินพบว่า พื้นที่เกษตรลดลง 650,000 เฮกตาร์ ส่วนใหญ่แปลงไปใช้ประโยชน์ให้ภาคธุรกิจ เช่น สวนปาล์ม การสกัดทรัพยากรธรรมชาติ และโครงสร้างพื้นฐาน” และเกรงว่าแผนการปรับพื้นที่ป่าพรุ 600,000 เฮกตาร์ในกาลีมันตันกลางก็จะไม่ต่างจากมาตรการเดิมของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ที่การเพาะปลูกล้มเหลวและขาดแคลนอาหาร

    กระทรวงสวัสดิการสังคมและการพัฒนาอาเซียนประชุมดูแลกลุ่มเปราะบาง

    ที่มาภาพ: http://www.foreignaffairs.m-society.go.th/wp-content/uploads/2020/06/1591797013297.jpg

    การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา สมัยพิเศษ ว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ต่อกลุ่มเปราะบางในอาเซียน (Special Online ASEAN Ministerial Meeting on Social Welfare and Development (AMMSWD) on Mitigating Impacts of COVID-19 on Vulnerable Groups in ASEAN) ในรูปแบบการประชุมทางไกล

    วันที่ 10 มิถุนายน 2563 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในระดับรัฐมนตรี เข้าร่วม การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา สมัยพิเศษ ว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ต่อกลุ่มเปราะบางในอาเซียน (Special Online ASEAN Ministerial Meeting on Social Welfare and Development (AMMSWD) on Mitigating Impacts of COVID-19 on Vulnerable Groups in ASEAN) ในรูปแบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ณ ห้องประชุม ชั้น 9 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    ทั้งนี้ การประชุมทางออนไลน์ดังกล่าวจัดโดยกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วยรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (AMMSWD Ministers) หัวหน้าเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา และคณะผู้แทน จากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีระเบียบวาระสำคัญในการอภิปรายเกี่ยวกับความร่วมมือในการบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ต่อกลุ่มเปราะบางในอาเซียน

    นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ร่วมรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาว่าด้วยการบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 ต่อกลุ่มเปราะบางในอาเซียน (Joint Statement of the ASEAN Ministerial Meeting on Social Welfare and Development on Mitigating Impacts of COVID-19 on Vulnerable Groups in ASEAN) ซึ่งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมของรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ในการตระหนักถึงความร้ายแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ คนยากไร้ กลุ่มคนชายขอบในสังคม โดยให้คำมั่นว่าจะดำเนินการและผลักดันในประเด็นต่อไปนี้

    1) สร้างหลักประกันการเข้าถึงการคุ้มครองทางสังคม ด้วยการจัดสรรงบประมาณภาครัฐที่เพียงพอ 2) ปกป้องสิทธิ ความปลอดภัย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3) สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและความปลอดภัยให้นักสังคมสงเคราะห์ 4) เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับชาติและความร่วมมือระหว่างสาขาในระดับอาเซียน 5) มุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงการฟื้นฟูเยียวยาภายหลังการสิ้นสุดของการแพร่ระบาดแบบบูรณาการและครอบคลุม 6) ยึดมั่นที่จะพัฒนาแผนงานและมาตรการต่อเนื่องที่ผนวกรวมประเด็นคนพิการ คำนึงถึงมิติชายหญิง ตระหนักถึงมิติด้านอายุ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของของเด็ก และ 7) ยกระดับเทคโนโลยีและตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดการประเด็นเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลทั้งภายในและระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ในการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องและการลดผลกระทบจากโรคระบาดต่อกลุ่มเปราะบาง

    ในการกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม นายจุติ ไกรฤกษ์ ได้กล่าวถึงมาตรการของรัฐบาลไทยและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการช่วยเหลือและเยียวยากลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ดังนี้

    1. มาตรการด้านการเงิน รวมถึง การจ่ายเงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง จำนวนประมาณ 6.8 ล้านคนได้แก่ เด็กแรกเกิดถึง 6 ปี ประมาณ 1.4 ล้านคน ผู้สูงอายุ ประมาณ 4.1 ล้านคน และคนพิการ ประมาณ 1.3 ล้านคน โดยจ่ายเงินให้คนละ 1,000 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน การจ่ายเงินเยียวยาให้กับคนพิการทุกคนที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ เป็นเงิน 1,000 บาท การพักชำระหนี้เงินกู้เพื่อการประกอบอาชีพสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุเป็นระยะเวลา 1 ปี การพักชำระหนี้ที่อยู่อาศัย ระยะเวลา 3 เดือน โดยการเคหะแห่งชาติ และการลดดอกเบี้ยการรับจำนำของสำนักงานธนานุเคราะห์จาก 0.5 % เหลือ 0.125 % ต่อเดือน

    2. มาตรการช่วยเหลือด้านที่พักอาศัย ได้แก่ การให้ที่พักอาศัยและอาหารฟรีสำหรับคนไร้บ้าน และการประกาศนโยบายให้สถานสงเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวง พม. เป็นพื้นที่ปลอดการติดเชื้อ COVID-19

    3. มาตรการเชิงรุก (Outreach Schemes) รวมถึง การดำเนินโครงการ พม. “เราไม่ทิ้งกัน” “MSDHS Leaves No One Behind” ตามแนวคิด “สำรวจให้พบ จบที่ชุมชน” “All Vulnerable Groups in Communities are Accounted for with Por Mor’s Initiative” โดยลงพื้นที่สำรวจชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 286 ชุมชน เพื่อให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาแนะนำ แก่กลุ่มเป้าหมายและประชาชน การจัดทำหลักสูตรอาชีพระยะสั้นออนไลน์เผยแพร่ผ่าน YouTube และการให้คำปรึกษาและบริการส่งต่อผ่านศูนย์ช่วยเหลือสังคมสายด่วน 1300

    4. มาตรการความร่วมมือทางสังคม (Social Solidarity Schemes) ซึ่งรวมถึง โครงการ PPP โดยร่วมกับรัฐสภาไทย กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และกลุ่มบริษัทบันลือกรุ๊ป ผลิตหนังสือการ์ตูน “KnowCovid” เพื่อให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อโรคผ่านสื่อการ์ตูนที่เข้าใจง่าย การร่วมมือกับภาคีต่างๆ ในการผลิตและส่งมอบหน้ากากผ้า เฟซชิลด์ และเจลล้างมือ สำหรับหน่วยงานและประชาชน