ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เริ่ม 26 มี.ค.นี้ – มติ ครม.จัดเยียวยาเฟส 2 แจกลูกจ้างนอกระบบ คนละ 15,000 บาท

นายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เริ่ม 26 มี.ค.นี้ – มติ ครม.จัดเยียวยาเฟส 2 แจกลูกจ้างนอกระบบ คนละ 15,000 บาท

24 มีนาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯ ชี้งบกลางเหลือน้อย เล็งออกพ.ร.ก.กู้เงิน เยียวยาต่อ มติ ครม.จัดเยียวยา 2 แจกเงินลูกจ้างนอกระบบ คนละ 15,000 บาท

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน โดยวันนี้ ได้มีการจัดการประชุม ครม.ผ่านระบบ video conference ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทุกคนต่างสวมหน้ากากอนามัยตลอดการประชุม

ขณะเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาลในตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานอกจากจะมีการทำความสะอาดพื้นที่ พ่นยาฆ่าเชื้อ และแจกจ่ายหน้ากากผ้าให้กับผู้สื่อข่าวแล้ว วันนี้สำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีการปรับวิธีการแถลงครั้งใหญ่ตอบรับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) เพื่อการลดการรวมตัวของผู้สื่อข่าวและช่างภาพ โดยจะอนุญาตให้ตัวแทนสื่อไม่เกิน 10 คน เข้าฟังการตอบคำถามของนายกฯ และดำเนินรวมศูนย์การกระจายข่าวเพียงแหล่งเดียวจาก COVID Channel ที่จะเป็นข่ายในการแถลงข่าวจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด ทำเนียบรัฐบาล พร้อมส่งข้อมูลให้ผู้สื่อข่าวผ่านช่องทางออนไลน์

มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ในการประชุม ครม.

โดยวันนี้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)ซึ่งผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม ครม. แล้วในวันนี้ โดยการประกาศใช้ครั้งนี้เป็นไปเพื่อป้องกัน ควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชาชน ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันนี้จะยังไม่มีผลในทันที แต่จะมีผลในวันที่ 26 มีนาคม – 26 เมษายน 2563 เป็นระยะเวลา 1 เดือน เบื้องต้นยังไม่ถือว่าเป็นการปิดเมืองปิดประเทศ หรือ เคอร์ฟิวแต่อย่างใด ประชาชนทุกคนยังใช้ชีวิตได้ตามปกติภายใต้ประกาศของผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัด

ยกระดับตั้ง “ศอฉ. โควิดฯ” ลดการแพร่ระบาด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการพิจารณาการนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาบังคับใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นกว่า 800 ราย และกระจายไปถึง 47 จังหวัดทั่วประเทศว่า จะมีการประกาศใช้ในวันมะรืนนี้ หรือวันที่ 26 มีนาคม 2463 นี้ และที่ประชุม ครม. ได้หารือในมาตรการอื่นๆ ที่จำเป็นแล้ว

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของการจัดระเบียบการทำงานการยกระดับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นศูนย์ฉุกเฉินในเรื่องของการแก้ปัญหาโควิชนี้ (ศอฉ.โควิด) โดยจะมีคณะทำงานสอดประสานกันโดยมีปลัดกระทรวงของแต่ละภารกิจนั้นเป็นผู้รับผิดชอบและมีหัวหน้าส่วนงานในการรับผิดชอบช่วยกันติดตามมาตรการที่ประกาศมาอยู่แล้วเดิม และปรับปรุงแก้ไขมาตรการต่างๆ และจะมีการเสนอมาตรการของเขาเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อให้อนุมัติ

โดยหลังจากนี้จะมีการประชุมทุกวันในช่วงเช้าเวลา 09.30 น โดยนำหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมดมานำเสนอการบริหารงานให้ทราบหากมีอะไรเพิ่มเติมก็จะประกาศออกไปเป็นข้อกำหนดเพิ่มเติม

“จะมีกฎหมายทั้งหมด 38 ฉบับมาอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริงในการบริหารงานตรงนี้ ส่วนข้อกำหนดนั้นผมกราบเรียนว่าเมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วสิ่งสำคัญที่สุดสิ่งที่เป็นสาระสำคัญที่สุดก็คือการจัดตั้งคณะทำงานผู้รับผิดชอบ ต่อไปในเรื่องของการจัดการภายในศูนย์ว่าจะทำงานกันอย่างไร” 

“ในส่วนของข้อกำหนดต่างๆ รัฐบาลสามารถออกได้ตลอดเวลา ทุกวัน ฉะนั้นในเรื่องของการประกาศระยะที่ 1 คือเรื่องของการทำอย่างไรให้ลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ เป็นในเรื่องของการขอความร่วมมือมีมาตรการบังคับบ้าง แต่ในส่วนของการจะปิดหรือจะเปิดอะไรนั้นเป็นมาตรการระยะต่อไปที่อาจจะเข้มงวดขึ้นแล้วแต่ตามความร่วมมือของประชาชนผมไม่อยากให้เกิดความเดือดร้อน”

ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2563 กฎ/ระเบียบต่างๆ ที่จะถูกดึงมาอยู่ในมือนายกฯ หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วอน ปชช.งดเดินทางกลับภูมิลำเนา ไม่ฟังเจอ “เคอร์ฟิว”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อรักษาสุขภาพของประชาชนโดยรวม รัฐบาลได้มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการที่จะดูแลสุขภาพของประชาชนให้ได้มากที่สุด ขอความร่วมมือแล้วกันในประเด็นต่างๆ โดยขอความร่วมมือจากประชาชนอย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งหากมีการเดินทางอาจจะต้องเจอมาตรการต่างๆ ของการคัดกรองการตรวจสอบระหว่างทางต่างๆ มากมาย ซึ่งจะเป็นเกราะสำคัญในตอนนี้ ดังเช่นที่มาตรการการรองรับชาวต่างประเทศ

การประกาศใช้กฎหมายนี้อาจจะมีการแต่งตั้งเจ้าพนักงานทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในการจัดตั้งด่านตรวจ จุดสกัด ดังนั้นท่านก็จะต้องเจอการตั้งด่านตรวจจุดสกัดเหล่านี้และค่อยๆ ปรับมาตรการเข้มงวดขึ้นหากยังไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เราก็จำเป็นที่จะต้องปิดล็อกต่างๆ ทั้งหมดขณะนี้ก็ขอให้เป็นไปตามขั้นตอนแล้วกัน”

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้เวลาให้ประชาชนปรับตัว ขณะเดียวกันรัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องการกักตัวไว้ที่บ้านกันกับตัวในพื้นที่และถ้ามีความจำเป็นก็มีสถานที่กักตัวของรัฐเพิ่มเติมขึ้นสำหรับโซนที่มีการแพร่ระบาด ในพื้นที่ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากรัฐก็จำเป็นต้องหามาตรการอื่นๆ มารองรับไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม พื้นที่กับตัวขนาดใหญ่ การเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงเวชภัณฑ์ต่างๆ ให้เพียงพอ แม้วันนี้มีความช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามาแต่จำนวนยังไม่เพียงพอกับสิ่งที่ต้องการใน ขณะนี้ก็ได้มีการจัดหาจัดซื้อเพิ่มเติมแล้ว

“ปัญหาคือจะจัดซื้อจากที่ไหนเพราะทุกประเทศก็มีความต้องการในสิ่งเหล่านี้เช่นกัน อันนี้จะเป็นการหารือในแต่ละวันของการประชุม ส.ส. ขอความร่วมมือจากทุกคนอย่าตื่นตระหนก  ต้องฟังรัฐบาลการให้ข่าว”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ช่องทางข้อมูลของรัฐมีอยู่ 2 ช่องทางด้วยกัน คือ 1) ในแต่ละวันจะมีการให้ข้อมูลทั้งวันผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น ในการรายงานการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 2) วาระสรุปจะเป็นเรื่องของโฆษกและส่วนประชาสัมพันธ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะสรุปประเด็นสำคัญในแต่ละวันให้ทราบ ซึ่งตนขอให้รับฟังช่องทางของรัฐบาลเป็นหลัก

เตือนสื่อ-โซเชียล อย่าบิดเบือน ระวังถูกจนท.ฟ้องอาญา

“ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งเมื่อรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้ว ให้ทุกคนระมัดระวังเรื่องการใช้สื่อโซเชียลมีเดียการให้ข่าวสารข้อมูลบิดเบือนจากเดิมที่ใช้กฎหมายปกติอยู่ฝากไปกับสื่อมวลชนรวมถึงผู้ที่ใช้สื่อโซเชียลในทางบิดเบือนต่างๆ ท่านจะถูกตรวจสอบทั้งสิ้นจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทุกคนมีอำนาจในทางคดีอาญาด้วย ในขณะนี้สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ไม่ว่าจะเป็นการกักตุนสินค้า การขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยจะมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นไปเรื่อยๆ จึงขอเตือนทุกคนด้วย”

ทั้งนี้ตนอยากให้ประชาชนให้ความสำคัญกับมาตรการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลในระยะที่ 2 โดยจะมีการทวนระยะที่ 1 ไปด้วยว่ามีการให้อะไรไปแล้วบ้างอะไรที่ยังเข้าไม่ถึงให้ไปติดต่อที่โรงพยาบาลหรือธนาคารของรัฐ จะให้ข้อมูลต่างๆ เป็นช่องทาง one-stop service สำหรับประชาชนว่าจะมีเงินใช้อย่างไรในระยะเวลาช่วงถึง 2-3 เดือนนี้ และมีเงินจากประกันสังคมอีกส่วนหนึ่งในส่วนของผู้ที่อยู่ในระบบซึ่งคนนอกระบบก็จะได้ด้วยในวันนี้เรียนให้ทราบว่าเราคำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่มขอให้เข้าใจด้วย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมเข้าใจว่าทุกคนรักประเทศเหมือนกัน แต่ต้องรับในวิธีการที่ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายเชื่อมั่นในการดำเนินการของรัฐบาลนี่คือสิ่งที่ผมขอร้องท่าน”

ชี้งบกลางเหลือน้อย เล็งออกพ.ร.ก.กู้เงิน เยียวยาเฟส 3-4

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ ครม. ได้เห็นชอบมาตรการทางเศรษฐกิจ (ในช่วงวิกฤติโควิด-19) ระยะที่ 2 ซึ่งครั้งนี้จะมีการเน้นหนักไปที่ภาคประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีเงินจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีได้ขอให้ทุกคนใช้เงินอย่างประหยัด พอเพียง ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยรัฐบาลจะดูแลไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

“ในช่วงนี้จะมีมาตรการออกมาเป็นระยะระยะอาจจะเป็นช่วง 2 เดือนบ้าง 3 เดือนบ้าง แต่มาตรการเหล่านี้จะมีการทยอยออกมาตามลำดับ ไม่ใช่ว่าทำครั้งเดียวแล้วจะจบเพราะเราก็ไม่ทราบว่ามันจะยาวนานไปแค่ไหนอย่างไรงบกลางฯ ได้ใช้จ่ายไปพอสมควรแล้วเหลืออยู่น้อยมากเราจำเป็นที่จะต้องหามาตรการในการหาเงินมาเข้าระบบให้มากยิ่งขึ้นวันนี้จึงต้องมีการจัดทำพระราชกำหนดต่างๆ ในเรื่องการกู้เงินของกระทรวงการคลังในระยะนี้เพื่อที่จะเตรียมมาตรการในระยะที่ 3 และที่ 4 ต่อไป”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เราจำเป็นต้องดูแลประชาชนให้มากที่สุดทั้งในส่วนของสถานประกอบการเพื่อให้ลดการ lay off พนักงานต่างๆ ทั้งมาตรการในด้านภาษีมาตรการทางด้านการเงินการคลัง เพื่อเสริมสภาพคล่อง และทางธนาคารรัฐก็จะเข้ามาช่วยดูแลด้วยอีกส่วนหนึ่ง

มติ ครม. มีดังนี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

“สมคิด” แจงเยียวยา “โควิด-19” เฟส 1-2

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการออกมาตรการในระยะที่สองโดยย่อว่า พวกเราทราบแล้วว่าตั้งแต่ที่ไวรัสโควิดริ่มระบาดได้เริ่มส่งผลไปถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลและเยียวยา ในขั้นต้นเราได้ออกมาตรการดูแลครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 หรือสองสัปดาห์ที่แล้ว ครั้งนั้นได้มุ่งไปที่ผู้ประกอบการเป็นหลักใหญ่ จุดประสงค์เพื่อว่าป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบไปผลักภาระให้ประชาชนหรือแรงงานคือเป็นการป้องกันไม่ให้มการปลดคนงานออก ฉะนั้นมาตรการชุดแรกจะเน้นไปตรงนั้น

จากนั้นเป็นต้นมา 2 สัปดาห์พอดี สถานการณ์ก็พัฒนาไปสู่ที่ว่ากระทรวการคลังเห็นว่าต้องมีมาตรการดูแลเยียวยากับประชาชนแล้ว เพราะว่าเริ่มมีบางส่วนที่ตกงาน ดั้งนั้นเพื่อให้ทันการกับสิ่งที่เกิดขึ้นจึงนำมาตรการใหม่เข้าครม.อีกครั้ง

  • คลังอัดมาตรการรอบ2 แจกแรงงานนอกระบบ 3 ล้านคน คนละ 15,000 บาท เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ – 7 แนวทางช่วยผู้ประกอบการสู้วิกฤติโควิด-19
  • มาตรการเพื่อเยียวยาและลดผลกระทบของ COVID-19 ในต่างประเทศ
  • ขอสรุปง่ายๆ ถ้าเราแบ่งมาตรการช่วยเหลือประชาชน ก้อนแรกคือให้ประชาชนมีรายได้ที่จะใช้ข่ายประทังชีวิตในช่วงที่มีปัญหาตอนนี้ โดยให้คนละ 5,000 บาทต่อเดือน ในกลุ่มที่เป็นแรงงานลูกจ้างชั่วคราวอาชีพอิสระทั้งหลายที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส แต่อันนี้เป็นผู้อยู่นอกประกันสังคม เพราะกลุ่มในระบบประกันสังคมจะมีการดูแลอยู่แล้ว วันนี้ก็เข้ามาเหมือนกัน แต่อันนี้คือเงินก้อนแรกเพื่อว่าในสามดือนนี้จะมีเงินแน่นอนที่สุดเดือนละ 5,000 และถ้าเกินไปแต่สถานการณ์ยังจำเป็นก็จะต่อไปได้เรื่อยๆ

    ก้อนที่สองคือเรื่องสินเชื่อ พูดง่ายๆ คือถ้าก้อนแรกถ้าไม่เพียงพอ อาจจะมีบางกลุ่มที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ไม่รู้จะไปหาที่ไหน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปเป็นหนี้นอกระบบ ก็ดึงเข้าระบบซะ โดยธนาคารของรัฐ กรุงไทย ธ.ก.ส ออมสิน จะดูแลเป็นหลักใหญ่ วงเงินจะเริ่มจาก 10,000 บาท เพราะคิดว่าจะเพียงพอหล่อเลี้ยงได้ แต่ถ้าต้องผ่อนรถผ่อนบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้ต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้ก็จะมีวงเงินให้อีก 50,000 บาทต่อเดือน แต่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกหน่อย

    ก้อนที่สามจะจุนเจือเพิ่มขึ้นไปอีกคือ การอบรม ไหนๆ ก็ว่างงานมีงานน้อยก็จะให้อบรมโดยธนาคารของรัฐ กลุ่มที่สองคือกลุ่มของมูลนิธิทั้งหลาย มูลนิธิพระดาบส ชัยพัฒนา หรืออื่นๆ ที่จะไปประสานงาน ก็จะมีการอบรมในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อไป กลุ่มที่สามคือของกระทรวงที่มีโครงการอยู่แล้ว ดังนั้นกลุ่มนี้คือคุณไปนั่งฟังได้ความรู้เพิ่มตามความถนัดของแต่ละองค์กร อาจจะเรื่องเกษตร การค้าขาย ไอที ฯลฯ ก็จะทำให้ได้รายได้วันละ 300 โปรแกรมละ 7-10 วันก็ได้เพิ่มอีกคนละ 1,000-2,000 บาท ลักษณะเช่นนี้ได้ก่อน 5,000 บวกอีกเป็น 7,000

    “เราคิดว่าตรงนี้น่าจะเพียงพอต่อการประทังชีวิตไปได้พอเพียง 3 เดือน ไม่เกี่ยวกับวงเงินที่ประกันสังคมจ่ายให้คนที่มีรายได้อยู่แล้ว สุดท้ายก็ภาระภาษีก็ยื่นเวลายื่นภาษีและอื่นๆ ด้วย”

    อีกส่วนหนึ่งสำหรับเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ข้อแรก คือจากสองสัปดาห์ที่แล้วที่ออกไปช่วยผ็ประกอบการมันมีการให้สินเชื่อของผู้ประกอบการ 150,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี รายละ 20 ล้านบาท แต่ครั้งนี้จะออกแบบเฉพาะเพื่อให้รายย่อยที่อยู่ในท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องในวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย อันนี้สามารถเข้ามาขอได้ เพราะที่ผ่านมามีคนถามเยอะมากและที่ผ่านมาไปที่ธพ.แล้วก็จะใช้เวลามาก ครั้งนี้เลยให้ SFI เป็นตัวนำ หากใครได้รับความไม่สะดวก ไม่ยุติธรรมให้ร้องเรียนมาที่กระทรวการคลัง เราจะจัดการให้แน่นอนผ่านไปทางธนาคารแห่งประเทศ

    นอกจากประชาชาทั่วไปแล้ว ผู้ประกอบการแล้ว รัฐบาลจะยังคงมีมาตรการอยู่เรื่อยๆ โดยจะมีการติดตามความต้องการของประชาชนอยู่ตลอด และออกมาเป็นมาตรการในเร็ววันทันทีไม่ช้า แต่สิ่งสำคัญคือว่าเรื่องของไวรัสมันมีผลกระทบทั้งเศรษฐกิจจริง คือภาคการผลิต บริการ แต่อีกส่วนมันมีผลต่อภาคการเงิน เพราะเมื่อไรที่ไปกระทบเรื่องของสถานที่ประกอบการ มันก็จะพันมาที่เรื่องการเงินด้วย ดังนั้นเพื่อป้องกันตั้งแต่ต้นรัฐบาลได้วางแผนกันมานานหลายเดือนแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันเสาร์อาทิตย์ที่ ธปท. ก.ล.ต. และกระทรวงการคลัง หารือกันว่าจะดูแลป้องกันตลาดพันธบัตร ตราสารที่มีขนาดใหญ่ค่อนข้าวอย่างไร ก็ออกมาสองสามประเด็นเพื่อป้องกันตั้งแต่ตั้นและผลมันก็ออกมาดีทีเดียว

    “เราจะเห็นภาพชัดเจนว่าภาคเศรษฐกิจจริงมันไปเกี่ยวพันกับภาคการเงินแน่ ดังนั้นการดูแลต้องดูแลสองซีก แม้ว่าตอนนี้อาจจะยังไม่เป็นปัญหาแต่ก็ต้องทำไปก่อน ฉะนั้นเรื่องจังหวะเวลาจึงสำคัญและต้องประกาศไปก่อนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สองอย่างนี้ ณ ตอนนี้น่าจะเพียงพอ แต่มันยังไม่จบแค่นี้ เรายังติดตามสถานการณ์ ก็หารือว่าจะเริ่มให้เร็วที่สุดทุกอันต้นเดือนเป็นอย่างช้าต้องเริ่มได้แล้ว”

    ทั้งนี้ นายสมคิดกล่าวต่อไปว่า ตนไม่อยากให้คนไทยขณะนี้เป็นกังวลมากนัก แต่สิ่งที่ให้สำคัญอย่างยิ่งยวดคือสาธารณสุข ชีวิตคนไทยต้องมาก่อน แน่นอนที่สุดการป้องกันไม่ให้เสียชีวิตหรือไม่ให้ระบาดการร่วมมือของเอกชนประชาชนสำคัญอย่างยิ่ง การที่ทางการขอให้อยู่กับบ้าน ติดต่อกันให้น้อย ดูแลตัวเอง สิ่งเหล่านี้ในมุมหนึ่งคือลดการติดต่อเพื่อลดการแพร่เชื่อ ซึ่งท่านนายกจะมีมาตรการออกมาต่อตามลำดับ

    “แน่นอนการหยุดนิ่งแบบนี้ในระยะสั้นมันย่อมกระทบเศรษฐกิตแน่นอน แต่เราต้องเลือกให้ความสำคัญว่าชีวิตคนมาก่อน ถ้าเราหยุดมันได้ พ้นจากนี้ไปการฟื้นตัวมันก็ไม่ยาก แต่หยุดไม่ได้ ถ้าลากยาวเป็นปีตอนนั้นอาการหนักแน่นอน ฉะนั้นเราต้องยอมเสียสละในระยะสั้นและประชาชนต้องให้ความร่วมมือ ฝ่ายค้านต้องให้ความร่วมมือ สื่อต้องให้ความร่วมมือ ผมว่าตอนนี้คนไทยตระหนักดีนะ ใส่หน้ากาก เจลล้างมือ ไม่ออกจากบ้าน มันสะท้อนให้เห็นว่าเราเรียนรู้แล้วและกำลังร่วมมือกัน ถ้าเราฟื้นตัวได้เร็วก็หมายความว่าการฟื้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีก็จะทำได้เร็ว ตอนนี้จึงสำคัญมากเลยว่าต้องร่วมมือกัน”

    แม้ว่าระยะสั้นจะต้องกระทบไปบ้างก็ไม่กังวลมาก วันนี้เราคุยกันว่าพอเสร็จมาตรการนี้ออกมา เดือนหน้าจะเป็นช่วงหน้าแล้ง ฉะนั้นภายในไม่ช้าไม่นานจะมีมาตราการที่ออกดูแลเรื่องภัยแล้ง ดูแลเกษตรกร และกระตุ้นเศรษฐกิจไปในเวลาเดียวกันด้วย เพราะตอนนี้เราต้องยอมรับว่าเงินหมุนเวียนน้อยเพราะทุกอย่างหยุดนิ่ง ให้การบ้านกระทรวงคลังไปแล้ว

    “มาตรการนี้จะช่วยหล่อเลี้ยงในอีกขั้นตอนหนึ่ง แล้วถ้าโชคดีเราจำกัดการระบาดได้ ตอนปลายปีมันก็น่าจะพัฒนาดีขึ้น การส่งออกตอนนี้แม้ว่าจะติดลบอยู่ แต่มันก็เห็นว่ามีผลดีขึ้น มีการสั่งออเดอร์เรื่องอาหาร และเราอยากจะเห็นว่าจีนจะฟื้นตัวได้เร็วพอ เร็วกว่ายอดตกของยุโรปได้ ให้มันมาชดเชยได้ทัน แต่ขอให้วางใจว่ารัฐบาลดูแลสิ่งเหล่านี้อยู่และทางกระทรวงคลังจะใช้สาขาธนาคารของรัฐทุกแห่งจะเป็นจุดดำเนินการและเป็นจุดร้องเรียนด้วย”

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา) ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

    อนุมัติหลักการ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

    ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าขอชี้แจงข่าวลือตั้งแต่เมื่อคืน และถูกสอบถามมา แต่อยากจะให้ฟังผลที่เป็นทางการหลังประชุม ครม. แล้ว อยากของวิงวอนสื่อให้รอที่เป็นทางการก่อน วันนี้อนุมัติหลักการให้อำนาจประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉินวันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อเตรียมการสื่อสารถึงหลักการและเหตุผล และจัดโครงสร้างของศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน และจะมีการประชุมศูนย์นี้ทุกเช้า

    “ในรายละเอียดว่าจะมีมาตรการอย่างไร ยังไม่อยากจะให้ไปลือกัน ขอให้รอความชัดเจนจากศูนย์นี้เท่านั้น และอย่าเพิ่งไปลือและเชื่อ ตอนนี้ยังไม่มีข้อกำหนดใดๆ ออกมา วันนี้เพียงแค่อนุมัติในหลักการ และในวันนี้ยังไม่ได้คุยกันถึงระเวลาที่ชัดเจนเกี่ยวกับเคอร์ฟิว”

    ลดวางเงินประกันธุรกิจท่องเที่ยว ช่วยบริษัททัวร์

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม.เห็นชอบเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินหลักประกัน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ สืบเนื่องจากปัจจุบันการกำหนดจำนวนเงินวางหลักประกันเป็นเงินสดหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องวางต่อนายทะเบียนเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฯ ดำเนินการภายใต้กฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินหลักประกัน พ.ศ. 2555 ออกตามความพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551

    “แต่เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจการท่องเที่ยวเกิดความชะงักงัน ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม รวมไปถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานและความเป็นอยู่ของแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก”

    ดังนั้น เพื่อการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวในระยะเร่งด่วน จึงเห็นควรลดภาระในการวางเงินหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ลงชั่วคราว โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง มีดังนี้

    • ให้ยกเลิกกฎกระทรวง กำหนดจำนวนเงินหลักประกัน พ.ศ. 2555
    • ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียน ในวันที่มารับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ณ สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กลางหรือสาขาที่มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมสำนักงานของผู้ขอรับใบอนุญาต แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบการนำเที่ยวเฉพาะพื้นที่จาก 10,000 บาท เหลือ 3,000 บาท, ผู้ประกอบการนำเที่ยวภายในประเทศจาก 50,000 บาท เหลือ 15,000 บาท, ผู้ประกอบการนำเที่ยวจากต่างประเทศจาก 100,000 บาท เหลือ 30,000 บาท, ผู้ประกอบการทั่วไปจาก 200,000 บาท เหลือ 60,000 บาท

    ต่อเวลาแรงงาน “กัมพูชา-ลาว-เมียนมา” ทำงานถึง 30 มิ.ย.นี้

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการผ่อนปรนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี 2562-2563 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ได้ดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 และไม่สามารถดำเนินการขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนด รวมถึงผู้ติดตาม อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

    ในวันนี้ กระทรวงมหาดไทยมาขอความเห็นชอบอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 โดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และให้ยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (overstay) ด้วย

    นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และใช้บัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวที่กรมการจัดหางานออกให้และใบอนุญาตทำงานฉบับเดิมไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวจนกว่าจะไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน

    ทั้งนี้ หลังสิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

    สำหรับกลุ่มเป้าหมายจะประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือแรงงานต่างด้าวที่ได้มาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 และยื่นบัญชีรายชื่อไว้แล้วภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 แต่ยังไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดได้ และผู้ติดตามที่มีหลักฐานการเป็นบุตรของแรงงานตามข้อ 1.1 ที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2559 หรือมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 แล้วแต่กรณี

    ผ่านกม.ลูก เพิ่มเงินทดแทน ช่วย”ลูกจ้างว่างงาน”

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญของเรื่อง

    ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้

    • กำหนดให้ใช้บังคับสำหรับการรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
    • เพิ่มอัตราเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละเจ็ดสิบของค่าจ้างรายวันสำหรับการว่างงาน เพราะเหตุถูกเลิกจ้าง โดยให้ได้รับครั้งละไม่เกินสองร้อยวัน
    • เพิ่มอัตราเงินทดแทนกรณีว่างงานร้อยละสี่สิบห้าของค่าจ้างรายวันสำหรับการว่างงานเพราะเหตุลาออกจากงานหรือเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น โดยให้ได้รับครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน

    ร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. มีสาระสำคัญ ดังนี้

    • กำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563
    • แก้ไข คำนิยาม “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย  ธรณีพิบิติภัย หรือภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ตลอดจนภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น  ซี่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามาถประกอบกิจการได้ตามปกติ
    • กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย  ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ  แต่ทั้งนี้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
    • กำหนดให้กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง ไม่เกินหกสิบวัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการชดเชยกำลังซื้อที่ลดลงจากการไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างการหยุดการประกอบกิจการ
    ทำเนียบใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งตัวแทนสื่อมวลชนเข้าฟังการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรี

    ขยายเวลานำส่งเงินประกันสังคม

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน มีสาระสำคัญคือ

    • ให้นายจ้างที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ดังนี้ ค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงเงินนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563
    • ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาตรา 39 วรรคสาม ดังนี้ เงินสมทบงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563

    ยันสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ขาดตลาด

    นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดี กรมการค้าภายใน รักษาการแทนอธิบดี กล่าวถึงเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลนว่าในปีนี้มีสถานการณ์พิเศษทั้งทางบวกทางลบ ทางบวกคือไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะปลากระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป น้ำยาซักผ้า ผงซักฟอก อยู่แล้ว และในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงมาก จาก 30 ล้านคนก็ลดลงไป 80% ดังนั้นในการผลิตก็ยังเป็นปกติ และจากที่ติดตามตรวจสอบจริงๆ ก็พบว่ายังผลิตได้อยู่และมีสต็อกสินค้าอยู่ แต่การที่ประชาชนเร่งรีบไปซื้อมาสำรองไว้ ทำให้มีความต้องการเทียมมากขึ้น

    “กรณีนี้แตกต่างจากกรณีน้ำท่วม แบบนั้นโรงงานปิดหรือเส้นทางขนส่งเสียหายเดินทางไม่ได้ แบบนั้นกำลังการผลิตจะลดลง แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำให้โรงงานลดลงหรือวัตถุดิบลดลง ดังนั้นกำลังการผลิตยังมีรองรับได้ อีกอันคือกังวลว่าจะออกไปซื้อไม่ได้ ตอนนี้ได้ตรวจสอบบริษัทจัดจำหน่ายว่ามีขนส่งได้ดีขึ้น ก็มีผู้ค้าที่ส่งให้ได้ถึงบ้าน จากการตรวจสอบแล้วการจัดส่งโดยตรงมีความพร้อมในกรณีที่ต้องอยู่บ้านกัน” นายประโยชน์กล่าว

    สำหรับประเด็นเรื่องไขไก่โดยเฉพาะ ปีนี้การผลิตเพิ่มขึ้น 2% แต่หากมองกลับไปปีที่แล้วขนาดผลิตได้น้อยกว่าก็ยังล้นตลาดอยู่ ดังนั้นด้วยปีนี้กำลังการผลิตมากขึ้น และความ แต่ที่เห็นว่าปัจจุบันไม่มีในห้าง แต่จากสถิติของการบริโภคไข่อยู่ที่ 40 ล้านฟองต่อวัน หรือ 280 ล้านฟองต่อสัปดาห์ แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือปริมาณที่เคยซื้อในทั้งสัปดาห์แต่มาซื้อใน 3 วัน มันก็ดูเหมือนหายไป ดังนั้นต้องเรียนว่าปริมาณการผลิตยังเป็นปกติ ถามว่าทำไมไม่ผลิตเพิ่ม ถ้าเร่งผลิตเพิ่มสัปดาห์นี้ สัปดาห์หน้าก็จะล้นตลาดอีก จึงต้องของทำความเข้าใจประชาชนให้มั่นใจไม่ต้องกักตุนมากเกินไป ส่วนเรื่องราคามีการตรวจอยู่เป็นประจำอยู่แล้วและถ้าผู้ค้ามีการขึ้นราคาก็จะมีการตรวจสอบจับปรับดำเนินคดีต่อไปได้

    ปรับโครงสร้างกองทุน SMEs เน้นร่วมทุน Startup

    รศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบปรับโครงสร้างกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (กองทุนย่อยกองที่ 1) เพื่อปรับเงื่อนไขการลงทุนให้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับการร่วมลงทุนในปัจจุบัน โดยยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 และคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ยกเว้นกองทุนย่อยกองที่ 1 ที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยได้จัดตั้งแล้ว ให้ดำเนินการต่อไป การปรับโครงสร้างกองทุนฯ มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

    • ปรับเป้าหมายและวงเงินลงทุนสำหรับ SMEs แต่ละราย โดยเน้นการลงทุนใน SMEs/startup ที่มีศักยภาพสูงหรือใช้เทคโนโลยีในการผลิตหรือการให้บริการ ต้องเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้ และกำหนดให้แต่ละรายร่วมลงทุนได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท มีสัดส่วนร่วมลงทุนแต่ละรายไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน
    • กำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ของผู้จัดการทรัพย์สิน (asset manager) เช่น ต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย มีความรู้และประสบการณ์ด้านการเงินหรือการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ควบคุมการนำเงินร่วมลงทุนไปใช้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์การลงทุน
    • มีคณะกรรมการพิจารณานโยบายการลงทุน (investment committee) ทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายการลงทุนและกำกับดูแลการลงทุนของกองทรัสต์

    อนึ่ง มติ ครม. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 เห็นชอบการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) มีลักษณะเป็นกองทุนเปิดประเภททรัสต์ (trust) เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ขนาดกองทุน 10,000-25,000 ล้านบาท มีสัดส่วนการลงทุนจากภาครัฐ ร้อยละ 10-50 ส่วนที่เหลือให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบของกองทุนย่อยๆ ระดมทุนครั้งละไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต่อกองทุนย่อย  โดยมีคณะกรรมการกองทุนฯ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จำนวนไม่เกิน 7 คน เป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารของกองทุนฯ และมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้ลงทุนในส่วนของภาครัฐ โดยจัดตั้งกองทุนย่อยกองที่ 1 วงเงิน 500 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวนกิจการที่ผ่านการอนุมัติร่วมลงทุนแล้ว จำนวน 8 กิจการ วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 98 ล้านบาท และมี 2 กิจการที่ได้ร่วมลุงทุนแล้ว วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 39 ล้านบาท

    จากการดำเนินงานของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า หลักการจัดตั้งกองทุนฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนั้น มีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น

    • กำหนดให้การลงทุนใน SMEs ช่วงเริ่มต้นไม่ควรเกิน 5 ล้านบาทต่อราย และ SMEs ขนาดเล็กและขนาดกลางไม่ควรเกิน 30 ล้านบาทต่อราย หรือมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียน ส่งผลให้ SMEs/startup บางกิจการที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าหรือน้อยกว่าที่กำหนด หรือกรณีที่มีผู้ถือหุ้นไม่เป็นไปตามสัดส่วนการลงทุนที่กำหนดไว้จะไม่สามารถเข้าร่วมลงทุนได้
    • กำหนดคุณสมบัติและหน้าที่ของผู้จัดการทรัพย์สินให้มีส่วนร่วมลงทุนใน SMEs ที่ดูแลอย่างน้อยร้อยละ 5 ซึ่งผู้จัดการทรัพย์สินจะเลือกเฉพาะกิจการที่ตัวเองสนใจและได้ผลตอบแทนดี ทำให้กิจการอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในความสนใจไม่ถูกคัดเลือก
    • การบริหารกองทุน โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ขาดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เนื่องจากต้องขออนุมัติผ่านคณะกรรมการกองทุนฯ

    จัดงบกลาง 523 ล้าน ป้องกัน “อหิวาต์ฯในสุกร”

    รศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติงบกลาง ปี 2563 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการ งบประมาณจำนวน 523,244,500 บาท

    เนื่องจากการระบาดของโรคในประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มสูงขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะมีการลักลอบนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรผ่านตามแนวชายแดน ตามรายงานข้อมูล ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมามีการตรวจยึดการลักลอบการนำซากสุกรและผลิตภัณฑ์ จำนวน 2,708 ครั้ง ตรวจสอบพบมีเชื้ออหิวาต์ จำนวน 343 ตัวอย่าง

    ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศไทย กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เสนอของบนประมาณ เพื่อใช้ในการชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ จำนวน 381 ล้านบาท สุกรจำนวน 77,578 ตัว ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และการจัดซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรค ตรวจวินิจฉัยและทำลายเชื้อโรค

    เริ่มสวดมนต์สร้างกำลังใจ ปชช. สู้โควิด 25 มี.ค.นี้

    นายเทวัญ ลิปตภพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กล่าวว่า เรื่องการสวดมนต์ สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติทำเรื่องเสนอต่อมหาเถรสมาคม (มส.) และได้มีมติให้มีการสวดมนต์ในวันพุธที่ 25 มีนาคม เวลา 16.00 น. เพื่อให้กำลังใจกับประชาชนและเพื่อความเป็นสิริมงคล

    โดยพื้นที่กรุงเทพมหานคร 6 วัด ได้แก่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม, วัดบวรนิเวศวิหาร, วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร, วัดเทพศิรินทราวาส, วัดยานนาวา, วัดประยุรวงศาวาส ภาคเหนือที่วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่  ภาคใต้จัดที่วัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจัดที่วัดนารายณ์มหาราช จังหวัดนครราชสีมา

    “เราไม่อนุญาตให้พี่น้องประชาชนขึ้นไปรับฟังบนพระอุโบสถ์ แต่เราจะถ่ายทอดสดท่าง NBT เริ่มตั้งแต่ 16.00 น. เป็นต้นไปและวิทยุกระจายเสียง ซึ่งจะมีบทสวดอยู่ข้างล่างให้ประชาชนมีโอกาสร่วมสวดไปด้วย โดยจะมีการให้พระสงฆ์นั่งห่างกัน 1 เมตร และมีการทำความสะอาดสถานที่ด้วยแอลกอฮอล์ การอบฆ่าเชื้อก่อนทำพิธี พระทุกรูปจะต้องทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล ตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด” นายเทวัญกล่าว

    ยกเว้นข้อบัญญัติ กทม. สร้างตึกฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการให้กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี เป็นอาคา สูง 11 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2  ชั้น ความสูงของอาคารประมาณ 55 ม. มีพื้นที่ใช้สอยรวม 40,800 ตร.ม. ซึ่งมีความสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติ กทม.

    อย่างไรก็ตาม หากโรงพยาบาลราชวิถีมีความจำเป็นต้องก่อสร้าง อาคารฯ ให้มีความสูงเกินกว่าที่ข้อบัญญัติ กทม. ก็สามารถขออนุญาต ครม. ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติ กทม. ได้ โครงการอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉินนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ เช่น

    • เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยกลุ่มอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เป็นศูนย์ ความเชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุและฉุกเฉินที่ทันสมัยและครบวงจร
    • ลดความแออัด ของผู้รับบริการ เพิ่มความรวดเร็วในการรักษาหรือผ่าตัดฉุกเฉิน ทั้งนี้ โครงการ มีวงเงิน รวมทั้งสิ้น 980 ล้านบาท (สธ. เสนอขอรับการจัดสรรงบฯ ปี 64) มีระยะเวลาดำเนินการ 1,450 วัน (ปีงบฯ 2564-2567) ทั้งนี้โครงการนี้ยังอยู่ในระหว่างการรอผลการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

    “อนุทิน” รับมอบอุปกรณ์สู้โควิดฯจากรัฐบาลจีน

    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทุกกรม และผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม รับมอบเวชภัณฑ์ทางการแพทย์จากรัฐบาลจีน

    โดยนายหยางซิน (Mr. Yang Xin) อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ประกอบด้วย หน้ากากอนามัย 100,000 ชิ้น หน้ากาก N95 จำนวน 10,000 ชิ้น ชุดป้องกัน 2,000 ชุด และชุดทดสอบ 832 ชุด เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยในการรับมือกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

    “ในนามรัฐบาลไทย ขอขอบคุณในไมตรีจิตของรัฐบาลจีน ในวิกฤติมักมีโอกาสเสมอ ในช่วงเวลาที่เรากำลังเผชิญกับภัยคุกคามโลก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยและจีนที่นับวันจะมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เป็นเพื่อนแท้ยามยากและยามปกติ มั่นใจว่าความสัมพันธ์นี้คือพลังให้ 2 ประเทศผ่านวิกฤตไปด้วยดี” นายอนุทินกล่าว

    อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2563 เพิ่มเติม