ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯยันคดี “บอส” ไม่เกี่ยวเงินบริจาค เชื่อมือ “วิชา” นั่ง ปธ.สอบ– มติ ครม.จ่ายเบี้ย อสม. 7 เดือน 3,622 ล้าน

นายกฯยันคดี “บอส” ไม่เกี่ยวเงินบริจาค เชื่อมือ “วิชา” นั่ง ปธ.สอบ– มติ ครม.จ่ายเบี้ย อสม. 7 เดือน 3,622 ล้าน

29 กรกฎาคม 2020


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มา: www.thaigov.go.th/

นายกฯยันคดี “บอส” ไม่เกี่ยวกับเงินบริจาค เชื่อมือ “วิชา” นั่ง ปธ.สอบ ต้องมีคำตอบ เผยโฉม ครม.ชุดใหม่ได้ไม่เกินกลางเดือน ส.ค.นี้-มติ ครม.จ่ายเบี้ยเสี่ยงภัย อสม. รอบแรก 7 เดือน 3,622 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ยันคดี “บอส” ไม่เกี่ยวกับเงินบริจาค เชื่อมือ “วิชา” นั่ง ปธ.สอบ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่สังคมยังเกิดข้อกังขาเกี่ยวกับคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา “ทายาทกระทิงแดง” ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ว่า รัฐบาลเองในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหาร จำเป็นต้องให้เกิดความชัดเจนขึ้นโดยที่ไม่ไปก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรม จึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในกรณีดังกล่าว โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิชา มหาคุณ เป็นประธาน และมีคนจากหลายภาคส่วนในคณะกรรมการนี้ อาทิ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม นายกสภาทนายความ คณบดีทั้งจากคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น

ทั้งนี้เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนและสังคมให้ความสนใจ จึงต้องทำและหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่า ปัญหาอยู่ที่ไหนอย่างไร และแก้ปัญหาให้ได้โดยที่ตนไม่ก้าวล่วงในส่วนของอัยการและศาล เพราะอยู่ที่กลไกในการทำงานของเขารวมถึงตำรวจด้วยตนก็ก้าวล่วงไม่ได้ พร้อมปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับเงินบริจาคใดๆ ทั้งสิ้น

“เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมขอให้มั่นใจนายกฯ ไม่ได้ปล่อยปละละเลยหรือนิ่งนอนใจในปัญหาเหล่านี้ จะต้องแก้ไขให้ได้ ความยุติธรรมต้องมีในสังคมไทยโดยที่ไม่แบ่งชนชั้น และผมก็ยืนยันเสมอมาไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปการเมืองกฎหมายกระบวนการยุติธรรมหรือเศรษฐกิจอื่นๆ ก็ต้องเดินหน้าโดยไม่เกี่ยวกับเรื่องของการบริจาคใดๆ เรื่องผลประโยชน์ผมยืนยันแล้วว่าผมไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น 5 ปีที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยเสียหายในเรื่องเหล่านี้ ก็ขอให้ให้ความเชื่อมั่นกับผมด้วย ผมก็พยายามที่จะทำอย่างเต็มที่เพื่อที่จะคลี่คลายปัญหาต่างๆ ดังกล่าวทั้งหมดทุกเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้”

“จะเห็นว่าปัญหาทุกอย่างกลับมาที่นายกฯ หมด บางอย่างนายกฯ ก้าวล่วงเขาไม่ได้เหมือนกัน ต้องเข้าใจ เพราะอำนาจแยกกันอยู่ แต่ต้องไปดูที่กฎหมายว่าจะทำอย่างไร ตรงนี้เรื่องที่มีปัญหาอยู่หากตั้งกรรมการตรวจสอบไปก็จบแล้ว ให้เขาชี้แจงมาพร้อมคิดว่าประธานกรรมการก็น่าจะเชื่อถือได้ มันต้องมีคำตอบ”

เบรกอาชีวะชุมนุม เลี่ยงเผชิญหน้า 2 ฝ่าย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการชุมนุมของกลุ่มนิสิต นักศึกษา ที่ล่าสุดมีกลุ่มอาชีวะช่วยชาตินัดชุมนุมปกป้องสถาบันในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ ว่า เรื่องการชุมนุมตนก็เป็นห่วง ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ตนได้พูดกับตัวแทนหรือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ขอให้นักศึกษาอย่ามาเคลื่อนไหวกันในเวลานี้เลยจะทำให้เกิดการแบ่งข้างเป็น 2 ฝ่ายขึ้นมา และเกิดการลุกลามบานปลายไปในวันข้างหน้าและจะกลับไปสู่ที่เดิมอีก ซึ่งเขาก็รับปากว่าจะไม่ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ

“อันนี้ก็ต้องฝากไปถึงกลุ่มผู้ชุมนุมอีกข้างหนึ่งด้วย การหาทางออกกันในสภาอะไรต่างๆ ก็มีช่องทางกันอยู่แล้ว เรื่องการชุมนุมผมก็ไม่ได้ไปห้าม ท่านก็ไปขอตามกฎหมายและท่านอย่าทำผิดกฎหมายก็แค่นั้นเอง”

พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่าตนนั้นมีความเป็นห่วงกลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้อย่างที่สุด เพราะเหล่านี้คือบุคลากรของชาติในอนาคต เขามีแรงขับเคลื่อนสูง เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจวิธีการกระบวนการต่างๆ ในการแก้ปัญหา ในการที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ มันคือพื้นฐานของเขา แต่ก็ต้องไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่ก้าวล่วงผู้อื่น และไม่ใส่ร้ายในสิ่งที่ไม่บังควร โดยตนได้กำชับในเรื่องของการชุมนุมไม่ให้มีการเผชิญหน้ากันโดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลทุกคนทุกฝ่ายให้ดีที่สุด

เผยโฉม ครม.ชุดใหม่ได้ไม่เกินกลางเดือน ส.ค.นี้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการปรับ ครม. ว่า เรื่อง ครม. ใหม่ ตนเคยเรียนแล้วว่าตนดำเนินการในส่วนของตนเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะทำเอกสารหลักฐานทั้งหมดเพื่อทูลกล้าฯ รายชื่อให้เป็นไปตามเวลาที่กำหนด

“ก็เคยกราบเรียนไปแล้วว่าไม่เกินกลางเดือนหน้า”

ต่อคำถามถึงการตั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ตนได้ลงนามแต่งตั้งนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เป็นผู้ว่า ธปท. แล้ว

“กรรมการเขาคัดกรองขึ้นมามาจากคุณวุฒิ คุณสมบัติ การแสดงทัศนคติ วิสัยทัศน์ ก็คะแนนเขาเป็นอันดับ 1 ไม่ใช่ผมไปกำหนดใครได้ที่ไหน แล้วก็เป็นคนรุ่นใหม่จะได้มีหน้าใหม่ๆ มาช่วยงานกันบ้าง ไม่อย่างนั้นทุกคนก็ไม่กล้ากันหมด ก็ต้องให้กำลังใจสนับสนุนกันต่อไป ซึ่งหน่วยงานก็มีการประเมินของเขาอยู่แล้ว ผมจะไม่ไปก้าวล่วงหรอกอำนาจของใคร”

ทั้งนี้ ตนได้บอกทุกคนว่าวันนี้เราทำงานการเมืองไปด้วย ก็ต้องสร้างความรับรู้ให้ประชาชนเห็นว่าเรามีการเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างไร ให้มีความไว้วางใจเชื่อมั่นกันมากยิ่งขึ้น วันข้างหน้าใครจะเป็นอะไรก็เป็นได้หมด วันนี้เป็นวันที่ทุกคนจะพิสูจน์ฝีมือของตนเองออกมา

“ผมก็พูดกับ ครม. ทุกคนเพราะเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว ครอบครัวที่ต้องทำให้กับลูกหลานของเรา ผู้ได้รับผลประโยชน์จากเรามี 60 ล้านคน ไม่ทำเพื่อเขาจะทำเพื่อใคร ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด”

ยันจ่ายเบี้ยเสี่ยงภัย อสม.ครบตามสัญญา

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีการจ่ายเงินค่าเสี่ยงภัยให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่มีกระแสข่าวปรับลดจาก 19 เดือน เหลือ 7 เดือน ว่า ตอนนี้ได้ทำความเข้าใจกับ ครม. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว โดยได้รับการยืนยันว่าตนจะดูแลกลุ่ม อสม. ต่อไป ยืนยันว่าไม่ใช่การผิดสัญญา และตนก็ซาบซึ้งในการทำงานของ อสม. ทุกคนด้วย

“บางครั้งหากเราไปกำหนดเวลายาวนานเกินไปก็ไม่เหมาะสมในเรื่องของการบริหารงบประมาณ แต่ผมยืนยันจะเร่งรัดให้ดำเนินการจ่ายเงินให้โดยเร็วที่สุดในงวดแรก ผมคิดว่าตราบใดที่สถานการณ์นี้ยังมีอยู่ หรือถึงไม่มีอยู่ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังกันต่อไปในเรื่องของการเตรียมการรับนักท่องเที่ยว เตรียมการรับนักธุรกิจหรืออะไรต่างๆ ซึ่งผมก็ต้องใช้เขาอยู่ดี ยังใช้เขาเป็นกลไกตรงนี้ ผมก็ยินดีที่จะให้ค่าตอบแทนนี้เป็นพิเศษ”

“มันอาจจะยาวนานกว่านั้นด้วยซ้ำไป แต่ผมขอจ่ายในช่วง 7 เดือนนี้ก่อน เพื่อให้เทียบเท่ากับหลายหน่วยงานที่ได้รับเงินตอบแทนพิเศษนี้ เราจะบริหารงบประมาณที่มีอยู่โดยงบประมาณที่มีอยู่ก็ต้องสำรองไว้เพราะหากยาวนานกว่านี้จะได้มีเงินเพื่อจ่ายยืนยันว่าผมจะดูแลเรื่องนี้อย่าให้เป็นประเด็นเลย”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงเหตุที่ต้องจ่ายเงินถึงเดือนกันยายนนี้ว่า เป็นไปเพื่อให้เท่าเทียมกับแพทย์ พยาบาล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านต่างๆ โดยรัฐบาลต้องใช้เงินกู้อย่างระมัดระวังให้พร้อมรับมือกับโรคระบาดในระยะที่ 2 หากมีการเกิดขึ้น หรือการใช้จ่ายในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา

แจงความคืบหน้าวัคซีนต้านโควิดฯ เตรียมตั้งโรงงานผลิต

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในช่วงเช้าตนได้รับรายงานว่ามีความก้าวหน้ามากพอสมควรในการพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อโควิด-19 และมีการร่วมมือกับต่างประเทศ คือ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งเราต้องเตรียมโรงงานของเราในการที่จะผลิต ในการจัดหาขวดหลอดบรรจุต่างๆ ซึ่งมีขั้นตอนเยอะแยะไปหมดที่ต้องเตรียมการ พร้อมกล่าวถึงความสำเร็จในการผลิตชุด PPE ในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าได้

“ข้อมูลที่ผมได้ไปเยี่ยมเยียนบริษัทสิ่งทอต่างๆ กว่า 30 แห่งเหล่านี้ ได้มีการเสนอเรื่องนี้มา และผมให้ไปดูว่าหากมีมาตรฐาน อย.รับรองก็ให้นำไปสู่กระบวนการผลิตเพื่อที่จะไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคาสูง ซึ่งวันนี้เราก็ทำได้แล้วและวันหน้าผมก็คาดหวังให้เป็นสินค้าส่งออกด้านสาธารณสุขของประเทศเรา”

สั่ง กต. จัดเที่ยวบินพิเศษ รับคนไทยกลับบ้าน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีนักศึกษาไทยในอียิปต์ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ประชาชนที่ยังตกค้างอยู่ต้องการให้มีการเร่งรัดการเดินทางกลับไทย ว่า กรณีดังกล่าวตนได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศดูแลให้ดีที่สุด ในเรื่องของการเดินทางกลับของคนไทยซึ่งได้มีการเร่งรัดให้จัดเที่ยวบินพิเศษเพื่อรับคนไทยในหลายประเทศ รวมทั้งคนไทยในอีกด้วย ซึ่งเที่ยวบินพิเศษที่เดินทางไปรับคนไทยในอียิปต์นั้นก็มีวันนี้ด้วยคือวันที่ 29 กรกฎาคม

“เรายืนยันว่าจะมีการจัดเป็นระยะระยะเพื่อให้สอดคล้องกับสถาน state quarantine และเที่ยวบินต่างๆ เพราะมีจำนวนมาก นอกจากจะรับกลับแล้วขณะที่ยังต้องรอเที่ยวบินอยู่มีจำนวนหลายหมื่นคนนั้น ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศเข้าไปดูแลเรื่องความเป็นอยู่สิ่งของเครื่องใช้อุปโภคบริโภค โดยให้นำไปแจกจ่ายคนไทยเหล่านั้นด้วย ยังไงก็เป็นห่วงทุกคนเพราะเป็นคนไทยทั้งสิ้นเราก็จะดำเนินการจัดเที่ยวบินเป็นระยะๆ”

ต่อกรณีของวันฮารีรายอ ในวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม 2563 พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนก็ได้มีการแจ้งเตือนและขอความร่วมมือไปยังสำนักจุฬาราชมนตรีแล้ว ให้กรุณาออกแนวทางปฏิบัติศาสนกิจและแนวทางทางศาสนาไว้แล้ว มีการตรวจวัดอุณหภูมิ สวมหน้ากากอนามัย งดใช้น้ำบ่อหรืออ่างใหญ่ร่วมกันตามแนวทางป้องกันโรคระบาด ที่ผ่านมาก็ได้มีการดูแลกันเป็นอย่างดีก็ขอให้เข้มงวด

สำหรับการป้องกันเหตุความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ตนคิดว่าวันนี้หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ยังคงเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะวันสำคัญ อย่างไรก็ตามตนขอร้องไปยังประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตากับเจ้าหน้าที่อีกทางหนึ่งด้วย

เล็งเพิ่มวันหยุด กระตุ้นท่องเที่ยว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องของการดูแลสถานการณ์โควิดฯ หลายคนบอกว่าตนดีแต่สั่ง ทั้งนี้ตนยืนยันว่าตนสั่งไปตามกติกา ตามกฎหมาย ตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีในงานบริหาร แต่คนปฏิบัติก็คือหลายคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้าราชการ และประชาชน จึงต้องช่วยและร่วมมือกัน โดยข้อให้เห็นใจรัฐบาลเพราะงบประมาณมีจำกัด

“อะไรที่ดูแลซึ่งกันและกันได้ผมก็ดูแลให้ทุกส่วน แต่ต้องเห็นใจรัฐบาลอยู่เหมือนกันเพราะงบประมาณต่างๆ ที่ได้มาเพราะรายได้ก็ลดลงตามข้อเท็จจริง แต่ละอย่างก็เริ่มดีขึ้นจากมาตรการผ่อนคลาย ซึ่งตอนนี้กำลังดูว่าจะเพิ่มวันหยุดอีกหรือไม่เพื่อให้คนได้ไปเที่ยวกันบ้าง ทั้งนี้ก็น่าจะเป็นไปได้ในอนาคต หลายอย่างที่ผมพูดผมต้องการให้แน่ใจว่าผมคิดทุกเรื่องพยายามจะเริ่มในทุกเรื่องที่มีความเป็นไปได้ และผมก็ให้หน่วยงานไปหารือกันมาเพื่อให้เร็วขึ้น เกิดผลประโยชน์ได้โดยเร็ว ประชาชนจะได้ไม่เดือดร้อน นั่นคือสิ่งที่เป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของผมอย่างยิ่งใหญ่ และผมยืนยันว่าผมจะทำให้เต็มที่”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์โควิดฯ จะจบไปแล้ว ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ ก็หวังว่าให้มันเร็ว อาจจะเป็นปีนี้หรือปีหน้า แต่ก็ต้องติดตามประเมินผลกันอีกที เพราะเชื้อโรคนี้พร้อมที่จะกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้ ก็ขอให้ทุกคนระมัดระวังตัวไว้ด้วย และขอฝากไปถึงสถานประกอบการต่างๆ ที่มีเรามีมาตรการผ่อนคลายไปให้แล้ว ควรต้องระมัดระวังด้วย การจัดการแสดงอะไรต่างๆ ก็ต้องระวัง ตนอยู่ในระดับสั่งการ อยู่ฝ่ายบริหารตนก็ต้องสั่งแบบนี้ มาตรการต่างๆ ก็ต้องผ่านไปที่ศูนย์ ศบค. ซึ่งมีหลายภาคส่วนไม่ใช่ตนคนเดียว

สั่งรัฐวิสาหกิจปรับงบฯ CSR ช่วยชุมชน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ตนได้มีดำริในเรื่องการจัดหาเครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตร รวมทั้งคอกโค กระบือ ที่เป็นของชุมชน ให้ชุมชนดูแลและใช้สอยกันเอง เพื่อเป็นการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่งให้กับชุมชน สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในระดับฐานราก และเป็นการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร พร้อมกันนี้ยังกล่าวไปถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าวพันธุ์นิ่มซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ใหม่ที่ไทยพัฒนาขึ้นได้ ที่จะต้องมีการจัดการให้สามารถแข่งขันด้านราคากับต่างประเทศที่มีการผลิตข้าวนิ่มมาก่อนให้ได้

ทั้งนี้ ตนได้มีการหารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มาจัดนิทรรศการที่ท้องสนามหลวง โดยตนได้ขอความร่วมมือให้ช่วยกันดูแลเรื่องแหล่งน้ำของหมู่บ้าน ซึ่งเขาก็รับปากว่าจะไปคุยกันจะไปช่วยกันทำแหล่งน้ำให้กับประชาชนในหมู่บ้านต่างๆ โดยที่เขาดำเนินการกันเอง ส่วนรัฐบาลก็จะไปทำในส่วนที่เป็นขนาดใหญ่เพื่อที่จะได้บรรเทาความเดือดร้อนเรื่องน้ำให้กับประชาชนได้บ้าง

“ทุกอย่างต้องทำงานร่วมกันทั้งหมดที่ผมเรียกว่ารวมไทยสร้างชาติ นี่ไงภาคธุรกิจเอกชนไม่ต้องเอาเงินมาให้รัฐบาล ท่านก็ใช้เงินของท่านไปทำในต้นทางเรื่องน้ำเรื่องการส่งเสริมการเกษตรวิชาการ โดยจะช่วยอะไรก็แล้วแต่เป็นเรื่องของท่าน อีกอันนึงก็คือผมให้รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลซึ่งมีงบ CSR อยู่ ลองไปปรับดูว่าจะนำมาใช้ได้หรือไม่ เพราะแต่ละอย่างผมก็บังคับไม่ได้ เป็นเรื่องของภายในของเขาผมก็ขอความร่วมมือ เพราะคิดว่าจะได้ความร่วมมือมามากพอสมควร”

นอกจากนี้ สิ่งที่ตนได้ย้ำไปคือเราต้องไปดูเรื่องของกฎหมายต่างๆ วันนี้ต้องพยายามเสนอกฎหมายให้ผ่าน ครม. ให้ได้ เพื่อที่จะเข้าไปสู่กระบวนการของสภา ตนได้ประชุมกับทุกหน่วยงานมาแล้วว่ามีอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรค ซึ่งมีอยู่หลายอย่างและเราพยายามแก้มาตลอดซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์วันนี้โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวก กฎหมายออนไลน์ กฎหมายการลงทุนต่างๆ กำลังมีการเร่งรัดอยู่ จะได้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ถ้าใช้กฎหมายเดิมก็จะติดขัดกันไปหมด

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการฝ่ายกฎหมายกำลังเร่งรัดเรื่องนี้อยู่ จะสังเกตเห็นว่ากฎหมายเดิมๆ ส่วนใหญ่จะเป็นในเรื่องของการอนุมัติ การอนุญาต การลงโทษ ซึ่งตนคิดว่ามันน่าจะพอเพียงแล้ว แต่เราต้องไปดูในเรื่องของกระบวนการ ที่ว่าจะทำอย่างไรให้โปร่งใส เป็นธรรม ส่วนกฎหมายใหม่ๆ เช่น การอำนวยความสะดวกประชาชน กฎหมายที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ ซึ่งมีกฎหมายหลายอย่างที่จะต้องวางกันใหม่เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ทุกอย่างไม่สามารถเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือได้ในทันที ต้องแก้กฎหมายไปด้วย ใช้กลไกที่มีอยู่ในการแก้ปัญหา

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ตั้ง “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” นั่งผู้ว่า ธปท.คนที่ 24

ศ. ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติรับทราบการแต่งตั้งนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เป็นผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ แทนนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. คนปัจจุบัน ที่จะหมดวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายน 2563 ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง

  • “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่า ธปท. ลำดับที่ 24 … “ทำสิ่งที่ถูกต้องถึงคนอื่นจะไม่รู้ แต่เรารู้”
  • ขยายเวลาปิดประชุมรัฐสภา รอผ่านงบฯ 64

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. อนุมัติ พ.ร.ก.ขยายเวลาประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1 จากเดิมที่จะปิดประชุมในวันที่ 18 กันยายน 2563 ตามกรอบระยะเวลา 120 วัน ตั้งแต่ 12 พฤษภาคม 2563 แต่เนื่องจากรัฐสภามีร่างกฎหมายค้างพิจารณาอยู่ รวมไปถึง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2564 และจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 22-23 กันยายน 2563 นี้ จึงขอขยายระยะเวลาการประชุมออกไปก่อน

    ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 31 ส.ค.นี้

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบต่ออายุพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน คือจะสิ้นสุดในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 แต่ข้อกำหนดจะสอดคล้องกับมาตรการผ่อนคลาย ซึ่งจะสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติมากขึ้น โดยจะตัดการบังคับใช้ในมาตรา 9 เรื่องการห้ามชุมนุมออกไปด้วย

    แจงผลการดำเนินงาน ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานประมงปี 62

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. รับทราบรายงานการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562-31 พฤษภาคม 2563) ภายใต้กรอบนโยบาย 5 P (policy, prevention, prosecution,  protection, and partnership)  เพื่อคุ้มครองแรงงานในงานประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างเครือข่ายความร่วมมือ และป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ

    ทั้งนี้ รายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 มีความก้าวหน้าใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบาย (policy) มีการแต่งตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน การออกกฎหมายลำดับรองเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงทั้งระบบ

    ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (prosecution) จากการตรวจเรือประมง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) พบการกระทำความผิด 9 ลำจาก 37,054 เที่ยว หรือเพียงร้อยละ 0.024 ขณะที่การตรวจเรือประมงกลางทะเล 508 ลำ พบการกระทำความผิด 2 ลำจาก (ร้อยละ 0.39)

    ด้านการป้องกัน (prevention) การบริหารจัดการแรงงานในกิจการประมงจำนวน 160,950 คน  อาทิ ตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวเพื่อแสดงความพร้อมในการทำงานบนเรือประมง จำนวน 92,233 คน รวมทั้งมีการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทย ในรอบปีการประมง พ.ศ. 2563-2564 จำนวน 10,202 ลำ นอกน่านน้ำไทย จำนวน 6 ลำ

    ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ (protection) มีการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ 3 ราย เป็นต้น รวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือ(partnership) กับประเทศต่างๆ  เช่น โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights Project) ร่วมกับสหภาพยุโรปและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  โครงการ ATLAS Project ร่วมกับกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

    “รัฐบาลประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 โดยบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างจริงจังภายใต้กรอบ 5 P ส่งผลให้สถานะไทยดีขึ้น โดยถูกจัดอยู่ในระดับ Tier 2  ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ปี 2563  ต่อเนื่อง 3 ปีตั้งแต่ 2561-2563 รวมทั้งสหภาพยุโรปประกาศปลดสถานะใบเหลืองของประมงไทยในปี 2562  ด้วย”

    ยกเคส “บิลลี่” กำหนดแนวทางคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า ครม. รับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (เรื่อง สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีนายพอละจี หรือบิลลี่ รักจงเจริญ หายตัวไปที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง) ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป

    ทั้งนี้ กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย รวมทั้งอาจมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ควรมีแนวปฏิบัติในกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นคดีพิเศษ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องขอ หรือในกรณีที่ผู้ร้องขอมีคุณสมบัติที่ไม่ครบถ้วนอันไม่ใช่สาระสำคัญและ ครม. ควรเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ให้สอดคล้องกับเนื้อหาตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อไป

    ศ. ดร.นฤมล กล่าวต่อไปว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ดีเอสไอเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), สำนักงานศาลยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ดีเอสไอ สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม และส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป

    จัดงบกลาง 171 ล้าน แก้ประมงผิดกฎหมาย

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ส่วนงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็น ให้ไปใช้ดำเนินการโครงการการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย วงเงิน 171.6 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่เสนอโดยคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ

    สืบเนื่องจากทางคณะกรรมการฯ ได้หารือกับทวิภาคีและสหภาพยุโรปช่วงปลายปีที่ผ่านมา และรับข้อเสนอแนะมาว่าทางสหภาพยุโรปยังติดตามการทำงานของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือเรื่องของกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการกองเรือและการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องใหม่เข้ามา โดยสหรัฐอเมริกาได้ออกระเบียบการป้องกันการทำลายสัตว์ทะเลหายากหรือสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมจากการทำประมง ซึ่งถ้าไทยยังไม่เตรียมพร้อมเรื่องนี้ก็อาจจะไม่สามารถส่งออกสัตว์น้ำไปยังสหรัฐอเมริกาได้ในปี 2565 ดังนั้น เพื่อเป็นการเดินหน้าต่อไม่ให้ต้องได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรปและรองรับระเบียบของสหรัฐอเมริกาในอนาคต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงเสนอโครงการนี้ขึ้นมา

    ทั้งนี้ สาระสำคัญคือ เพื่อให้การทำประมงทั้งในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทยเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย มีการรายงาน และควบคุมตามมาตรฐานสากล, เพื่อให้การทำประมงถูกกฎหมาย รวมถึงการควบคุมไม่ให้สินค้าประมงที่มาจากประมงผิดกฎหมายเข้ามาในห่วงโซ่การผลิตของไทย และเพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า รายได้ และคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำของการประกอบอาชีพของชาวประมงพื้นบ้าน รวมไปถึงอนุรักษ์และความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำด้วย ทั้งนี้ในการทำงานจะต้องบูรณาการหลายกระทรวง ตั้งแต่กรมประมง กรมเจ้าท่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และองค์การสะพานปลา

    ตัวอย่างการทำงาน เช่น ปรับปรุงการเก็บข้อมูลการทำประมงให้ครอบคลุมทุกจังหวัด, มีการตรวจสอบความถูกต้องของเรือที่ได้รับอนุญาตในการทำประมงพาณิชย์, มีการตรวจสอบติดตามและควบคุมของเรือประมงไทย จะต้องพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับตรวจสอบย้อนกลับ, มีการเตรียมความพร้อมกับมาตรการกีดกันทางการค้าในเรื่องการทำลายสัตว์ทะเลหายากหรือเลี้ยงลูกด้วยนม และต้องมีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาคประมงและการจัดหาแรงงานที่ถูกกฎหมาย

    “ทั้งนี้ ท่านนายกฯ ได้พูดในที่ประชุมอีกว่าในการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาไทยได้รับการปลดใบเหลืองของสหภาพยุโรปไปแล้ว และได้กล่าวต่อไปว่าจะไม่ยอมให้ไทยกลับไปสู่จุดนั้นอีก ฉะนั้นการทำงานจากนี้ไปต้องต่อเนื่องและเข้มงวด ส่วนมาตรการใดๆ ที่ออกมาแล้ว แต่นำไปสู่ผลกระทบต่อพี่น้องชาวประมง ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลอย่างเร่งด่วน สิ่งที่ขาดเหลือ เช่น ปรับปรุงระเบียบหรือขาดงบประมาณให้รีบนำเสนอเข้ามา และกำชับว่าทุกส่วนราชการต้องทำงานแบบบูรณาการ”

    เห็นชอบร่างความร่วมมือต้านยาเสพติด “ไทย-เกาหลีใต้”

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างหนังสือความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมยาเสพติดระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติของเกาหลีใต้ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ

    “เรื่องนี้เป็นปัญหาของเกาหลีใต้ เพราะได้รับผลกระทบในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำไปขายที่เกาหลีใต้จำนวนมาก เพราะถือว่าเป็นแหล่งซื้อขายยาเสพติดตลาดบนที่มีการค้ายาประเภทยาไอซ์และยาบ้าในราคาที่สูงมาก ฉะนั้นความร่วมมือนี้จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและเกาหลีใต้ด้วย”

    สำหรับวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในร่างฯ ระบุไว้ว่าจะเป็นไปเพื่อป้องกันและสกัดกันภัยคุกคามจากอาชญากรรมที่จะก่อขึ้นโดยเครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติและสมาชิก และเพื่อปกป้องความสงบสุขเจริญรุ่งเรืองของประเทศคู่ภาคี ความร่วมมือนี้จะเป็นการรวบรวมและแลกเปลี่ยนข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด การให้การสนับสนุนเพื่อต่อต้านอาชญากรรมยาเสพติด เช่น ความช่วยเหลือระหว่างกันเพื่อติดตามค้นหาเครือข่ายยาเสพติด การจัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการทุก 2 ปี รวมไปถึงสนับสนุนซึ่งกันและกันในการฝึกอบรมยุทธวิถีในการติดตามเครือข่ายยาเสพติด

    ปลดล็อกเงื่อนไข ดึง Non–Bank เข้าถึงซอฟท์โลน

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราส่วนทุนกับเงินกู้ที่จะใช้ในการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จากเหตุการณ์ระบาดของโรคติดต่อโควิด-19 โดยมีสาระสำคัญคือให้ไม่ต้องนำเงื่อนไขอัตราส่วนทุนกับเงินกู้ที่ผู้ประกอบการสถาบันการเงินจะต้องยึดถือไว้ โดยปกติตามกฎกระทรวงปัจจุบันกำหนดไว้ว่าสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีสัดส่วนทุนต่อเงินกู้ไม่เกิน 7 เท่า

    แต่เพื่อให้สถาบันการเงินเหล่านี้เข้าถึงมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน และกู้เงินจากธนาคารออมสินและปล่อยกู้ต่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อยได้มากขึ้น กฎกระทรวงดังกล่าวจึงยกเว้นเงื่อนไขนี้ไปก่อน โดยเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบทันทีและมีผลบังคับใช้เมื่อประกาศใช้ทันที

    “เป็นมาตรการให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือน็อนแบงก์สามารถเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและเอาไปปล่อยสินเชื่อต่อให้ลูกหนี้รายย่อยได้ เป็นการช่วยเหลือทางอ้อมแก่พี่น้องประชาชนที่ต้องการเข้าถึงสภาพคล่อง โดยมีผลบังคับใช้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ทั้งนี้ ไม่ใช่การผ่อนปรนมาตรการอย่างไม่มีการควบคุม แต่สถาบันการเงินที่เข้ามาจะต้องมีการรายงานผลการดำเนินการที่เกี่ยวข้องด้วย”

    จ่ายเบี้ยเสี่ยงภัย อสม. รอบแรก 7 เดือน 3,622 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบผลการพิจารณของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ในการประชุมครั้งที่ 12/2563 ในการอนุมัติโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้แก่ อสม. และ อสส. รวมจำนวนไม่เกิน 1.54 ล้านคนต่อเดือน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน 2563 (รวม 7 เดือน) กรอบวงเงินไม่เกิน 3,622 ล้านบาท  โดยจะใช้จ่ายจากกรอบเงินกู้จำวน 45,000 ล้านบาท ของกระทรวงสาธารณสุข

    “นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า การอนุมัติครั้งนี้เป็นการอนุมัติในรอบแรก แต่รัฐบาลจะยังคงดูแล อสม. ต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดก็ตามที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ ก็จะมีการพิจารณาดูแล อสม. ในรอบที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งครั้งนี้เป็นเพียงรอบแรกใน 7 เดือนนี้เท่านั้น ขอให้พี่น้องชาว อสม. สบายใจได้ว่า นายกฯ และรัฐบาลจะดูแลท่านอย่างดีที่สุด เหมือนที่ท่านดูแลพี่น้องประชาชนชาวไทย”

    สำหรับการจ่ายเงิน นายกรัฐมนตรีได้มีการเร่งรัดให้ดำเนินการจ่ายเงินโดยเร็วที่สุด โดยแบ่งการจ่ายออกเป็น 2 งวด ดังนี้

    • งวดแรกระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2563 รวม 4 เดือน เป็นจำนวน 2,000 บาท/คน
    • งวดเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 โดยจ่ายเป็นรายเดือนเช่นเดียวกับบุคลากรอื่นในด้านสาธารณสุข

    “เหตุผลที่ให้ 7 เดือนก่อนนั้นเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกับบุคลากรสาธารณสุขกลุ่มอื่น ตามหนังสือกระทรวงการคลังเมื่อวันที่  5 มิถุนายน 2563 ที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุข ให้ผู้ปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์ติดโควิด-19 เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน”

    เคาะกรอบ 5,078 ล้าน จัดตั้งเขตสุขภาพพิเศษ

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติระยะที่ 1 ปี 2562-2565 โดยร่างแผนปฏิบัติการนี้เป็นการดำเนินการตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2561 ในเรื่องให้แต่งตั้งคณะกรรมการสาธารณสุขเขตสุขภาพพิเศษแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางสำหรับการบริหารจัดการสาธารณสุขในเขตสุขภาพพิเศษ โดยระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี ภายใต้กรอบวงเงินทั้งสิ้น 5,078.15 ล้านบาท

    โดยเขตสุขภาพพิเศษนี้จะเป็นการดำเนินการในพื้นที่ที่มีบริบทเฉพาะ และไม่สามารถใช้แนวทางการดำเนินงานแบบพื้นที่ทั่วไปได้ มีเป้าหมายให้ประชาชนในเขตสุขภาพนี้มีสุขภาพดี เข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างครอบคลุมและมีกลไกการจัดการอย่างบูรณาการและสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยประกอบด้วยงานสาธารณสุข 4 ด้าน ดังนี้

    • ด้านสาธารณสุขทางทะเล เป็นการพัฒนา บูรณาการเครือข่ายการดูแลช่วยเหลือประชาชน นักท่องเที่ยว และสร้างคุณค่าของสาธารณสุขทางทะเลสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี งบประมาณ 843 ล้านบาท
    • ด้านเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ทันสมัย และส่งเสริมการเป็น Medical hub โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง งบประมาณ 3,629.80 ล้านบาท
    • ด้านสาธารณสุขชายแดน เป็นการพัฒนาศักยภาพ กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศด้านระบบป้องกันสุขภาวะอนามัยในพื้นที่ชายแดน โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด ได้แก่ น่าน ตาก สระแก้ว และระนอง งบประมาณ 13 ล้านบาท
    • ด้านเขตพื้นที่เฉพาะ (ประชากรต่างด้าว) เป็นการพัฒนารูปแบบหลักประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 7 จังหวัด ได้แก่ ตาก ระนอง สมุทรสาคร สมุทรปราการ ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร และระยอง งบประมาณ 22 ล้านบาท

    “การที่ตั้งเขตสาธารณสุขพิเศษ เพื่อดูแลให้ครอบคลุม เช่น กรณีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวยังพื้นที่เกาะต่างๆ โรงพยาบาลที่ดูแลรักษายังคงเป็นเพียงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่การดูแลยังไม่ครอบคลุม และยังมีบุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือไม่เพียงพอ ที่จะดูแลนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าว ซึ่งในการประเมินผลจะต้องมีการรายงานการติดตามและประเมินผลให้ ครม. รับทราบทุกไตรมาส”

    ผ่านร่าง พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการ สตช. ยกระดับ “ตำรวจไซเบอร์”

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการ​ร่างพระราชกฤษฎีกา​ แบ่งส่วน​ราชการ​สำนักงาน​ตำรวจแห่งชาติ​ และร่างกฎกระทรวง​ แบ่งส่วนราชการ​เป็นกองบังคับการ​ หรือส่วนราชการ​อื่นในสำนักงานตำรวจ​แห่งชาติรวม 2 ฉบับ ​ซึ่งจัดตั้งขึ้น​มาเนื่องจากจะมีการจัดตั้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวน​สอบสวนอาชญากรรม​ทางเทคโนโลยี​ และเป็นการกำหนด​อำนาจหน้าที่ของส่วนราชการ​ดังกล่าว​

    ความจำเป็น​ที่จะต้องมีกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ เนื่องจากอาชญากรรม​ทางเทคโนโลยี​ หรืออาชญากรรม​ทางไซเบอร์เป็นอาชญากรรม​ที่ใช้​เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์​เป็นเครื่องมือ​ หรือช่วยอำนวยความสะดวกในการกระทำความผิด เช่น การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต​ การขโมย​ข้อมูล​ส่วนบุคคล​ การเรียกค่าไถ่​ทางคอมพิวเตอร์​ ซึ่งความรุนแรงของอาชญากรรม​มีมูลค่าความเสียหายที่สูง มีผู้เสียหาย​เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีจำนวนเพิ่มขึ้น​เรื่อย​ๆ ส่งผลให้การสืบสวนสอบสวน​เป็นไปอย่างยากลำบาก

    โดยมีสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งกองบัญชาการ​ตำรวจสืบสวน​สอบสวน​อาชญากรรม​ทาง​เทคโนโลยี​ขึ้น และจะมีการปรับปรุง​โครงสร้าง​กำหนด​อำนาจ​หน้าที่​ของหน่วยงาน​ระดับกองบังคับการ เพื่อสังกัดหน่วยงานเทคโนโลยี​ ซึ่งจะใช้งบประมาณ​จากสำนักงานตำรวจ​แห่งชาติ ​โดยจะมีการจัดบุคลากร​เข้าไปดำเนินการ 2 พันอัตรา ซึ่งไม่ได้มีการบรรจุอัตราใหม่ แต่จะเป็นการเกลี่ยคนที่อยู่ในหน่วยงานสำนักงานตำรวจ​แห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้อง​กับภารกิจ​ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าว​จะทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ​และสังคม และจะใช้งบประมาณบางส่วนของกระทรวงฯ ด้วย เพื่อให้ครบถ้วนตามกระบวนการ

    อนึ่ง ปัจจุบันทางสำนักงานตำรวจ​แห่งชาติมีกองบังคับการ​ปราบปราม​การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรม​ทาง​เทคโนโลยี​อยู่แล้ว เพียงแต่เป็นแค่ระดับกองบังคับการ ซึ่งไม่สามารถรองรับคดีอาชญากรรมทาง​เทคโนโลยี​ที่เกิดขึ้นได้  ดังนั้น ครม. จึงเห็นสมควรที่จะจัดตั้งดังกล่าว  ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างฯ จะเป็นการกำหนดภารกิจในการตรวจสอบ​ การควบคุมการรักษาความปลอดภัย​ การตรวจสอบ​วิเคราะห์​การกระทำ​ความผิด​ทางเทคโนโลยี​ ซึ่งจะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ​ของกองบัญชาการฯ

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2563เพิ่มเติม