ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์:”ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินรับมือโควิด-19 ถึงสิ้นเม.ย.” และ “อู่ฮั่นยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ 8 เม.ย.”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์:”ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินรับมือโควิด-19 ถึงสิ้นเม.ย.” และ “อู่ฮั่นยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ 8 เม.ย.”

28 มีนาคม 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 21-27 มี.ค. 2563

  • ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินรับมือโควิด-19 ถึงสิ้นเดือนเมษายน
  • อุตตมประกาศ คลังพร้อมดูแลการบินไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19
  • ย้ายเจ้ากรมสวัสดิการทหารบกช่วยราชการ บก.ทบ. ตั้ง กก. สอบจัดชกมวยเหตุแพร่โควิด-19
  • ล่ารายชื่อให้อนุทินลาออก เหตุล้มเหลวป้องกันโควิด-19
  • อู่ฮั่นยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ 8 เม.ย. จีนห้ามต่างชาติเข้าชั่วคราวกันระบาดรอบสอง

  • ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินรับมือโควิด-19 ถึงสิ้นเดือนเมษายน

    จากกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 และนำมาซึ่งข้อกำหนด 16 ประการ ที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ซึ่งมีใจความถึงการกักตุนสินค้า การนำเสนอข่าวสาร การปิดสถานที่ต่างๆ การเข้าออกราชอาณาจักร การเดินทางข้ามจังหวัด ฯลฯ โดยหากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษ และจะบังคับใช้ถึงวันที่ 12 เม.ย. 2563 นั้น

    ล่าสุด เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ได้มีมติให้ปิดสถานที่บางแห่งเพิ่มเติม เพื่อเป็นไปตามการยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้แก่ สนามแข่งขัน สนามเด็กเล่นทุกประเภท สถานที่ทำการแสดง พิพิธภัณฑ์ และห้องสมุด

    นอกจากนี้ ยังมีห้องประชุม สำหรับการจัดเลี้ยงในโรงแรม รวมถึงสถานที่รับจัดเลี้ยงทั้งหมด ร้านสนุกเกอร์ สถานเสริมความงาม โดยจะมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ ส่วนสถานที่รับเลี้ยงเด็ก ก็มีคำสั่งให้ปิดเช่นเดียวกัน แต่จะมีผล 31 มีนาคม 2563

    ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ ยังอนุโลมให้บางสถานที่สามารถเปิดได้ คือ โรงอาหารในโรงพยาบาล แต่ต้องมีการจัดที่นั่งให้เว้นระยะห่าง ตลาดนัดขายดอกไม้ พื้นที่หน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจในห้าง อาทิ ไปรษณีย์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะอนุญาตให้เปิดทำการได้ โดยจะมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้

    อุตตมประกาศ คลังพร้อมดูแลการบินไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19

    นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
    ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

    เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า นายอุตตม  สาวนายน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไววัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ต้องหยุดบินในหลายเส้นทางนั้น สำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำลังหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม เพื่อหาช่องทางสนับสนุนทางการเงิน ต่างๆ ซึ่งการบินไทยกำลังเร่งทำแผนว่า จะดูแลการบินไทยอย่างไร ดูแลพนักงานอย่างไร ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในเชิงธุรกิจ เพื่อให้องค์กรเข้มแข็ง

    “วันนี้สายการบินทั่วโลกต่างประสบปัญหา จากการระบาดของโควิด-19  ซึ่งกระทรวงการคลังได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นระยะๆ เราพร้อมที่จะสนับสนุนให้การบินไทยเดินหน้าต่อไปได้ตามแผนที่เขากำลังทำเต็มที่ แต่เขาต้องมีแผนมาให้พิจารณาว่า แผนนั้นเป็นอย่างไร ต้องการสนับสนุนเงินเท่าไหร่  มีเงื่อนไขอย่างไร” นายอุตตมกล่าว

    สำหรับปัญหาระยะสั้น ที่มีรายงานว่าการบินไทยประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องนั้น นายอุตตมกล่าวว่า ฝ่ายบริหารกำลังดุแลเรื่องนี้อยู่และมีวิธีบริหารารกระแสเงินสดให้พอ ขอให้วางใจได้ว่า จะผ่านช่วงนี้ไปได้ แต่ที่สำคัญระยะยาวต้องให้องค์กร ก้าวข้ามสิ่งที่ยากลำบากนี้ไปได้ แต่ต้องซึ่งอมรายละเอียดเขาดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการไม่ต้องห่วง

    “ฝ่ายบริหารของเขา มีหน้าที่เต็มเขาดูแลใกล้ชิด เราช่วยกัน คลัง คมนาคม ให้บินไทยเดินหน้าผ่านความยากลำบากไปได้ พนักงานก็เข้าใจว่าต้องกันคนละไม้คนละมือ ช่วยกันเดินไปข้างหน้า เราจะดูแลในทุกเรื่องให้ดีที่สุด ซึ่งเขากำลังทำแผนคาบเกี่ยวระยะสั้นดูแลย่างไรและ ระยะต่อไป จะทำอย่างไ ร ซึ่ง สคร. ประสานใกล้ชิดอยู่แล้ว และพยายามอย่างเต็มที่ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกัน”

    ย้ายเจ้ากรมสวัสดิการทหารบกช่วยราชการ บก.ทบ. ตั้ง กก. สอบจัดชกมวยเหตุแพร่โควิด-19

    เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานข่าวจากกองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ซึ่งเปิดเผยว่า มีคำสั่งย้าย พล.ต. ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก เข้ามาช่วยราชการภายใน บก.ทบ. แล้ว

    ทั้งนี้ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ท. อยุทธ์ ศรีวิเศษ เจ้ากรมกำลังพล กองทัพบก และคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาสอบสวน กรณีการจัดการแข่งขันชกมวยรายการใหญ่ “ลุมพินีแชมเปี้ยนเกริกไกร” ที่สนามมวยลุมพินี เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งตามระเบียบแล้ว หลังจากนี้ผู้ที่มีชื่อรับผิดชอบเกี่ยวกับสนามมวยลุมพินีในส่วนของกองทัพบก เช่น พล.ต. ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ในฐานะนายสนามมวยลุมพินี และผู้เกี่ยวข้อง จะต้องเข้ารับการสอบสวน

    อย่างไรก็ดี ขณะนี้ พล.ต. ราชิต ยังอยู่ระหว่างการรักษาตัวจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

    ล่ารายชื่อให้อนุทินลาออก เหตุล้มเหลวป้องกันโควิด-19

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ change.org (https://bit.ly/2WOJTdy)
    วันที่ 26 มีนาคม 2563 ภายในเว็บไซต์ change.org ได้มีผู้ตั้งแคมเปญรวบรวมรายชื่อhttps://bit.ly/2WOJTdy เพื่อให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤติโควิด-19 มีเนื้อหาดังนี้

    อนุทิน ชาญวีรกุลต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุข

    เรื่อง ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
               
    สืบเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อ ไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) ปัจจุบันประเทศไทยมียอดผู้ป่วยสะสมแล้วทั้งสิ้น ๕๓ คน ซึ่งนับแต่ได้มีการแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย การทำงานอย่างหนักในการควบคุมการระบาดของโรคถูกแบกรับโดยข้าราชการประจำ บุคลากรทางการแพทย์และภาคเอกชน ขณะที่การบริหารจัดการเชิงนโยบายในส่วนของฝ่ายบริหารโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญดังต่อไปนี้
                 
    ประการแรก การจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล มีความล่าช้าในการดำเนินการป้องกันและแก้ไข ไม่สามารถตอบสนองกับสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างเด็ดขาดและทันท่วงที ทั้งยังขาดความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ทางการสาธารณสุข มีการให้ข้อมูลแก่ภาคประชาสังคมที่ไม่ชัดเจน ไม่ถูกต้อง ไม่ทั่วถึง และขาดการประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่น กระบวนการจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดจึงเต็มไปด้วยข้อบกพร่องและขาดประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคประชาสังคมและความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ตัวอย่างความล้มเหลวที่เห็นได้ชัด เช่น กรณีการจัดมาตรการในการกักตัวและจำกัดบริเวณแก่กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เดินทางไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศสาธารณัฐเกาหลีและผู้เดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยงในการระบาดของโรค ซึ่งไม่สามารถบังคับใช้ได้จริงและมาตราฐานของมาตรการที่จัดขึ้นสวนทางกับปริมาณงบประมาณที่ถูกจัดสรรอันก่อให้เกิดความเคลือบแคลงใจในความโปร่งใสของกระบวนการดำเนินงานดังกล่าว
               
    ประการที่สอง ปัญหาความล้มเหลวในการจัดสรรเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดในเดือนธันวาคม พบว่าเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคถูกจัดสรรอย่างล้มเหลว โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนขาดแคลนหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทำความสะอาด ซึ่งเป็นเครื่องมือพื้นฐานในกระบวนการทางการแพทย์ ทั้งยังผลักภาระความรับผิดชอบในการจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไปสู่โรงพยาบาลบุคลลากรทางการแพทย์เอง ซึ่งส่งผลให้เกิดความยากลำบากและความเสี่ยงในการติดต่อโรคของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นปัญหาทางมาตราฐานการบริหารงานที่มิควรจะเกิดขึ้น
               
    ประการที่สาม คุณลักษณะความเป็นผู้นำและความรู้ความสามารถในฐานะผู้ควบคุมดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดของรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ล้มเหลวและไร้ความน่าเชื่อถือ จากกรณีจากการใช้สื่อออนไลน์ตอบความเห็นประชาชนด้วยข้อความที่หยาบคาย ไม่มีมารยาท สร้างความเลียดชัง (Hate Speech) ไร้ซึ่งความสร้างสรรค์ ไม่ตระหนักและเคารพในความคิดเห็นและที่มาของอำนาจที่ได้รับมาจากประชาชน ทั้งยังขาดซึ่งจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีการใช้อำนาจกดดันและกลั่นแกล้งข้าราชการและบุคคลากรทางการแพทย์ผู้มีสิทธิและเสรีภาพที่ออกมาใช้เสรีภาพของตนแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์มาตรการการบริหารจัดการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล อันเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตย
               
    ด้วยสาระสำคัญข้างต้นสะท้อนชัดถึงความล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพของการจัดการเชิงนโยบายในส่วนของฝ่ายบริหารโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล อันเนื่องมาจากการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีโดยไม่คำนึงถึง ความรู้ ความสามารถ ตลอดจนความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการเชิงนโยบายในภาพรวมทั้งหมดของระบบสาธารณสุข โดยระบบดังกล่าวมีผลกระทบและเกี่ยวเนื่องอย่างยิ่งยวดต่อสุขภาพอนามัย ระบบเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศไทย
               
    ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ลาออกจากตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยทันที เพราะสุขภาพอนามัยของประชาชนชาวไทย มิใช่กลุ่มก้อนแห่งผลประโยชน์ที่ผู้มีอำนาจจะจัดสรรแบ่งปันแก่กลุ่มคนและพวกพ้อง แต่เป็นสิทธิและสวัสดิภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ต้องได้รับการจัดสรรและดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ มีจรรยาบรรณและวิสัยทัศน์ เคารพต่อหลักการประชาธิปไตย และเห็นประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ

    อู่ฮั่นยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ 8 เม.ย. จีนห้ามต่างชาติเข้าชั่วคราวกันระบาดรอบสอง

    สภาพเมืองอู่ฮั่น วันที่ 10 มีนาคม 2563 ทีมาภาพ:https://edition.cnn.com/2020/03/24/asia/coronavirus-wuhan-lockdown-lifted-intl-hnk/index.html

    มณฑลหูเป่ยประกาศในวันที่ 24 มีนาคม 2563 ว่าจะ ยกเลิกข้อห้ามจำกัดการเดินทางซึ่งเป็นการยกเลิกการปิดเมืองอู่ฮั่น แหล่งที่มาของการอุบัติของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ในวันที่ 8 เมษายนนี้ ซึ่งถือเป็นหลักชัยสำคัญในการต่อสู้กับการระบาดอย่างหนักของไวรัส

    มณฑลหูเป่ยได้ยกเลิกการเดินทางออกนอกเมืองในเมืองอื่นๆ ของมณฑลแล้วในวันที่ 25 มีนาคม 2563

    การยกเลิกข้อห้ามการเดินทาง เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างมาก และเป็นศูนย์ติดต่อกันเป็นวันที่ 5 นับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม ซึ่งเป็นวันแรกที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ จากที่เคยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในระดับพันรายในแต่ละวันในช่วงพีกของการระบาดเดือนกุมภาพันธ์ แต่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม เมืองอู่ฮั่นมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย ซึ่งเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลหูเป่ย

    เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดฆ่าเชื้อสถานีรถไฟในอู่ฮั่น ที่มาภาพ:http://en.people.cn/n3/2020/0325/c90000-9672316.html

    อูฮั่นมีผู้ติดเชื้อไวรัสและผู้เสียชีวิตสูงสุดในจีน จากข้อมูลที่รายงาน วันที่ 23 มีนาคม จีนมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 67,801 รายและเสียชีวิต 3,160 ราย

    ในวันที่ 23 มกราคม 2563 อู่ฮั่นซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลหูเป่ยและมีประชากร 11 ล้านคนได้ปิดเมืองเป็นเวลาร่วม 2 เดือนจากคำสั่งของรัฐ ด้วยการใช้มาตรการระงับการเดินทางทั้งเครื่องบิน รถยนต์ รถไฟ และทางด่วน เข้าออกเมือง หลังจากที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัส หลังจากอีกหลายเมืองในมณฑลหูเป่ยได้ใช้มาตรการนี้ตาม

    ต่อมาเมื่อมีการระบาดไปทั่วโลก ได้มีการนำมาตรการการปิดเมืองไปใช้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดเช่นกัน

    มาตรการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนี้ มีผลกระทบต่อประชากรจำนวน 60 ล้านคนในมณฑลหูเป่ย แต่ได้รับการยอมรับในจีนเพราะเป็นมาตรการที่ทำให้ประเทศสามารถต่อสู้กับการระบาดของไวรัสได้เต็มที่ และเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อมั่น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เดินทาวมาเยือนอู่ฮั่นในวันที่ 10 มีนาคม สามเดือนหลังจากที่พบการติดเชื้อครั้งแรกในเมืองนี้

    ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งลงพื้นที่เมืองอู่ฮั่นวันที่ 10 มีนาคม 2563 โบกมือทักทายประชาชนที่กักอยู่ในบ้าน ที่มาภาพ: https://edition.cnn.com/2020/03/24/asia/coronavirus-wuhan-lockdown-lifted-intl-hnk/index.html

    แม้มาตรการที่เข้มงวดนี้มีผลให้การระบาดของไวรัสชะลอตัวออกไป แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงจนไม่มีรายใหม่เพิ่มขึ้นเลยในจีน และเปลี่ยนเป้าหมายไปมุ่งเน้นการป้องกันการเพิ่มของผู้ติดเชื้อรายใหม่จากเชื้อที่มาจากต่างประเทศ

    อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่