ThaiPublica > เกาะกระแส > วิวาทะ “อุ้ม” การบินไทย ใครมองเหมือนมองต่างอย่างไร?

วิวาทะ “อุ้ม” การบินไทย ใครมองเหมือนมองต่างอย่างไร?

12 พฤษภาคม 2020


เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง,นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทการบินไทย ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ กระทรวงการคลัง

“การบินไทย” อยู่ในภาวะขาลงมายาวนาน แต่ไม่มีรัฐบาลชุดไหนกล้าผ่าตัด ทำให้องค์กรสมาร์ทพร้อมแข่งขันได้สมกับเป็นสายการบินแห่งชาติ

ด้วยสภาพที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง กระทรวงการคลังแม้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่อำนาจการตัดสินใจกลับอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมและกองทัพอากาศที่มีธรรมเนียมสืบทอดกันมา เมื่อคณะกรรมการเปลี่ยนตามการเมืองเช่นเดียวกับ DD หรือกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แม้จะมาจากการสรรหา แต่ก็สรรหาทั้งที่รู้ว่าใครเป็นตัวเต็ง เมื่อ DD มาแบบมีวาระเช่นเดียวกับคณะกรรมการ มาแล้วก็ไป ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ จึงไม่มีข้อสงสัยว่าทำไม “การบินไทย” จึงอยู่ในสภาพเช่นนี้ เพราะมือใครยาว(อำนาจโดยตำแหน่ง)สาวได้ก็สาวเอาไป

แม้แต่การปฏิบัติที่ดีต่อกันอย่างมืออาชีพในองค์กรยังไม่ได้รับการปฏิบัติ กรณี “สุเมธ ดำรงชัยธรรม” อดีตกรรมการผู้อำนวยการคนล่าสุด ถูกขอให้ออก ที่มาพร้อมจดหมายลาออกที่พิมพ์มาให้เรียบร้อย ขอเพียงแค่ลงนามก็เท่ากับ ลาออก โดยสมัครใจท่ามกลางภาวะวิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งองค์กรและวิกฤติโควิด-19 ขณะเดียวกันบอกว่า DD “มือไม่ถึง” ทั้งที่ยังไม่ได้มีการประเมินผลงานตามกติกา “สุเมธและทีม” เป็นผู้ทำแผน แก้แผนฟื้นฟูมาแล้วหลายรอบ เสนอให้คณะกรรมการรวมทั้งการคุยนอกรอบทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ ผู้กำกับดูแล แต่ไม่ผ่านการพิจารณา ระหว่างรอให้การลาออกมีผลบังคับ “สุเมธ” กลับถูกเรียกตัวให้มาช่วยทำแผนฟื้นฟู ทั้งที่บอกว่ามือไม่ถึง ในที่สุดแผนฟื้นฟูฯ ก็ผ่านการพิจารณาภายใต้รักษาการ DD การบินไทย “จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล” เพื่อเสนอให้ครม.พิจารณาต่อไป

วาระว่าด้วยแผนฟื้นฟูการบินไทย

หากย้อนกลับไปวันที่ 16 เมษายน 2563 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมด่วนพิจารณาแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทการบินไทย เข้าร่วม

ความจริงการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติอยู่คู่บ้านคู่เมืองมานานแล้ว แต่ในอนาคตข้างหน้านี้ก็ขึ้นอยู่กับการบินไทยเอง ขอย้ำว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง และแสดงความสามารถออกมาให้เห็นว่าการบินไทยยังมีขีดความสามารถแข่งขันได้ต่อไป ยอมรับว่าสถานการณ์ตอนนี้เหนื่อย แต่ถ้าร่วมมือกันทุกฝ่าย ก็ยังพอไปได้ สรุปง่ายๆ วันนี้ทุกฝ่ายอยากเห็นการบินไทยบินได้ แต่ต้องมีความร่วมมือกันทั้งรัฐบาล เอกชน และบริษัทการบินไทย ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องพยายามทำให้ดีที่สุด” ดร.สมคิดกล่าวหลังการประชุม

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2563 ได้ข้อสรุปว่า คนร. เห็นด้วยในหลักการของแผนดังกล่าวที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวของการบินไทยภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สามารถสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนของประเทศได้อย่างยั่งยืน และได้มอบให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป

ในเบื้องต้น ดร.อุตตมกล่าวว่า สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังจะยังคงสถานะของการบินไทยในการเป็นรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ข้อเสนอขอให้กระทรวงฯ ค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องถูกเสนอเข้ามาด้วยจริง แต่อาจจะต้องดูเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบ รวมไปถึงโครงสร้างของการทำธุรกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ย้ำว่าในแผนยังไม่มีการปรับลดพนักงานแต่อย่างใด

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา แผนฟื้นฟูของการบินไทยไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. แต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ตอบคำถามถึงเรื่องนี้ว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจได้เสนอมา ซึ่งการบินไทยอยู่ในรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลต้องฟื้นฟูอยู่แล้ว และใช้เวลามานานหลายปีพอสมควร ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะดูแลไม่ให้แย่ไปกว่านี้

“มันค่อนข้างยากที่จะปรับทั้งในองค์กร บุคลากร และโครงสร้างต่างๆ รวมถึงกรรมการในส่วนของผู้บริหารทั้งหมดทุกคนต้องร่วมมือกัน รวมความไปถึงสหภาพแรงงานทั้งหมดด้วย หากท่านยังคงไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟู ก็จะเกิดปัญหายิ่งลำบากไปกว่านี้ เพราะในแต่ละระยะมีกฎหมายกำกับ หากเข้าเกณฑ์ตรงไหนก็ไปดูตรงนั้น หากหลุดจากตรงนี้ไปแล้วรัฐบาลก็จะดูแลไม่ได้”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า มีประมาณ 10 ประการที่อยู่ในแผนการฟื้นฟู เพราะฉะนั้นต้องทำให้ได้ การที่จะให้เงินกู้หรืออะไรต่างๆ ไป ไม่ใช่ว่าให้ไปใช้หมดแล้ว ทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม ครั้งนี้จะต้องปรับโครงสร้างขององค์กรทั้งหมด

“ขอกราบเรียนให้ทราบด้วย ผมไม่ได้อยากจะไปก้าวล่วงอำนาจของใครทั้งสิ้นเพราะมีกฎหมายของเขาอยู่ ก็ต้องหามาตรการที่มีความเหมาะสมในเรื่องของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีภารกิจที่มีหลายส่วนเกี่ยวข้องกับการบินเหล่านี้ ก็ขอให้ติดตามความก้าวหน้าต่อไป วันนี้ยังไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้า ครม. ก็พยายามให้ชี้แจงให้เกิดความชัดเจน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือ ขอร้องบรรดาลูกจ้าง พนักงานของการบินไทยทุกคนต้องร่วมมือ ไม่อย่างนั้นไปไม่ได้แน่นอน”

“ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการลดรายจ่ายต่างๆ ที่เกินความจำเป็น เหล่านี้จะต้องนำมาแก้ทั้งหมด ผมให้เวลาในการแก้ไขไป 5 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้ได้ตามนั้น ก็ขอความร่วมมือจากสหภาพต่างๆ ด้วยเพราะนี่ก็ถือเป็นความเป็นความตายของท่าน”

ด้วยเหตุนี้…การใส่เงินให้การบินไทย 5 หมื่นล้านบาท จะ “เอาอยู่” หรือไม่ กลายเป็นปมวิวาทะ วิพากษ์ และข้อถกเถียงในโลกโซเชียลมีเดียของผู้รู้ในวงการทั้งหลายทันที

“สหภาพการบินไทย” โยน “ทักษิณ” ต้นเหตุ

เสียงสะท้อนของสังคมที่ออกมาทันทีหลังจากมีข่าวว่ารัฐบาลจะอุ้มการบินไทยกว่า 50,000 ล้านบาท เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่ เริ่มจาก “สหภาพการบินไทย” ในฐานะผู้ที่ใกล้ชิดกับการบินไทยมากที่สุดออกแถลงการณ์ว่า

ที่ บมจ.การบินไทยประสบภาวะขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นปัญหาหลักใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจทางการเมือง เร่งซื้อเครื่องบิน ในยุคทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544 … และข้อมูลตัวเลขที่แสดงให้เห็นบางส่วนค่อนข้างชัดเจนว่าสถานะทางการเงินของ บมจ.การบินไทยมีความเปลี่ยนแปลงจากบวกเป็นลบอย่างชัดเจนในช่วงยุครัฐบาลทักษิณ ซึ่งอนุมัติทุ่มซื้อเครื่องบินตามนโยบายที่กำหนดออกมาว่า “การบินเสรี” และอ้างว่าเพื่อรองรับการแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ ซึ่งกรณีนี้ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนต่อไปว่าจริงหรือไม่ หรือเป็นข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจการเมืองที่สร้างปัญหาให้กับ บมจ.การบินไทยมาจนถึงทุกวันนี้”

ภายหลังแถลงการณ์ดังกล่าวถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก และล่าสุดถูกลบออกไปแล้ว

“วัฒนา” โต้ “สหภาพ” การบินไทยขาดทุนจากเด็กเส้น

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า

“สิ่งที่รัฐบาลควรทำในภาวะวิกฤติคือการลดรายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์ รวมถึงการอุ้มการบินไทยซึ่งแม้จะเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ก็เป็นองค์กรทางธุรกิจเพื่อแสวงหากำไรมิได้เป็นองค์กรเพื่อประโยชน์สาธารณะ

การอุ้มการบินไทยต้องใช้เงินเกินกว่า 100,000 ล้านบาท ถึงแม้การบินไทยจะเป็นผู้กู้ แต่การที่กระทรวงการคลังต้องค้ำประกันจะทำให้กลายเป็นหนี้สาธารณะหรือเป็นหนี้ของประชาชน รัฐบาลจึงต้องสำนึกว่าในภาวะวิกฤติจะต้องใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน การที่รัฐบาลต้องมาแบกหนี้ให้กับการบินไทย ก็คือการทำให้โอกาสของประชาชนเสียไปเท่ากับจำนวนเงินหนี้ที่รัฐบาลต้องค้ำประกัน

“การบินไทยอ้างรัฐบาลทักษิณ เปิดเสรีทางการบินทำให้ขาดทุน ผมจึงเอาผลประกอบการปี 2546-2550 มาแสดงแทนคำตอบ ความจริงคือไทยเป็นสมาชิกของ WTO จึงต้องเปิดให้มีการแข่งขัน แต่การบินไทยกลับทำตัวเป็นองค์กรการกุศล รับฝากเด็กเส้นเข้ามามากมาย พอขาดทุนก็ไม่ลดคนแต่ไปลดรายจ่ายที่เป็นความเข้มแข็ง จนบัดนี้พนักงานการบินไทยยังมีจำนวนมากกว่าสิงคโปร์แอร์ไลน์แต่มีเครื่องบินน้อยกว่า ถ้าไม่เจ๊งวันนี้จะไปเจ๊งวันไหน”

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/banyong.pongpanich

“บรรยง” ชี้ 50,000 ล้านไม่พอ หากไม่ผ่าตัดใหญ่

ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการหรือบอร์ดของการบินไทยและกรรมการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจในรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ออกมาระบุว่า

“…ข้อมูลเปรียบเทียบกับพวกสายการบินชั้นนำที่เป็นคู่แข่ง เลยเอามาให้ดู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อมูลล่าสุดที่หาได้จาก IATA และ ICAO ยกเว้น rescue plan ที่เอามาจากข่าว ซึ่งอาจจะยังไม่นิ่ง แต่ที่แน่ๆ ปี 2019 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ดีมากๆ ปีหนึ่งสำหรับ premium airlines ทุกคนกำไรดีกันทั่วหน้า ยกเว้น…ที่ขาดทุน 12,000 ล้านบาทเศษ จากตัวเลขคร่าวๆ นี้คงพอเปรียบเทียบประสิทธิภาพ เปรียบเทียบ productivity กันพอได้นะครับ ตอนนี้ ทุกสายการบินพังพาบกันหมด เครื่องบินพาณิชย์ 46,000 ลำ จอดนิ่งกว่าครึ่งมาเป็นเดือนแล้วครับ ซึ่งส่วนใหญ่รัฐบาลเขาก็ต้องกระโดดเข้าช่วย ทั้งสภาพคล่อง ทั้งเงินทุนระยะยาว เพราะเชื่อว่า หลังวิกฤติผ่านพ้น จะกลับมาทำกำไรได้ในไม่ช้า

แต่ของเรา ที่ขอมาให้รัฐบาลค้ำประกัน 50,000-70,000 ล้านบาทนั้น ผมมั่นใจสองข้อครับ ข้อแรก … ไม่พอแน่นอนครับ การบินไทยต้องการเพิ่มทุน อย่างน้อยหนึ่งแสนล้านบาท แม้จะไม่เกิดวิกฤติโควิด เพราะมีหนี้อยู่แล้วสองแสนห้าหมื่นล้านบาท ขณะที่ทุนเหลือศูนย์ไปแล้วใส่แค่นี้ ไม่เกินห้าเดือนหมดแน่นอนครับ

ข้อที่สอง… แค่ใส่เงิน ไม่ได้แก้ปัญหาแน่นอน ถ้าไม่ผ่าตัดใหญ่ ปรับกลยุทธแบบรื้อทั้งยวง ไม่เพิ่มประสิทธิภาพแบบก้าวกระโดดให้ได้ ลดต้นทุนทุกทาง ทั้งการจัดซื้อทุกระดับ ทั้งต้นทุนบุคคลากร ไม่มีทางกลับมามีกำไรได้แน่ ต่อให้ใส่ไปกี่แสนล้านก็หมด

“ขอยืนยันอีกเป็นครั้งที่ร้อยว่า ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริง ไม่ได้ชี้นิ้ว ไม่ได้กล่าวหาว่าเป็นความผิดใครทั้งสิ้น มันเป็นปัญหาสะสมมายาวนาน มันผิดตั้งแต่โครงสร้าง governance เหมือนกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่คณะ คนร. ชุดที่ผมเคยร่วมเคยพยายามผลักดันให้ปรับเปลี่ยนขนานใหญ่ (โดยมีดร.ประสาร (ไตรรัตน์วรกุล) คุณระพี (สุจริตกุล) และ ดร.วิรไท (สันติประภพ) ร่วมกันเป็นหัวหอก) แต่ไม่สำเร็จ โดนสภาคนดีบั่นทอนบิดเบือนจนรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งกลับไปอยู่ในมือนักการเมือง และข้าราชการเหมือนเดิม (อ้อ เพิ่มเหล่าขุนพลเข้ามาอีกกลุ่มใหญ่ด้วยครับ)

  • การบินไทย…ยังไงผมก็ยังรักคุณเท่าฟ้า (อยู่นะ)…
  • ใครจะมาด่าผมว่า เคยเข้ามาเป็นกรรมการสองปีครึ่ง กำไร 22,000 ล้าน แล้วไม่รู้จักทำให้มันยั่งยืน ถูกเชิญออกก็ไม่สามารถทิ้งเชื้อไว้ให้อยู่ยั้งยืนยง เป็นซูเปอร์บอร์ดตั้งสองปีครึ่งก็ช่วยให้กลับมารุ่งโรจน์ไม่ได้ ก็ขอยอมรับครับ ผมมีฝีมือแค่นั้นจริงๆ ที่ผมยังตามตอแยให้ข้อมูลสังคมไม่หยุด ก็เพราะว่ามันค้างคาใจครับ ในชีวิตมีความล้มเหลวใหญ่ๆ ไม่มากนัก ยังรักการบินไทยอยู่ ยังอยากช่วยจริงๆ ครับ”

    ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/KornGoThailand/?tn-str=k*F

    “กรณ์” ชี้หากอุ้มต้องไม่เป็นภาระประชาชน

    ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า

    “…หากจำเป็นต้องอุ้มด้วยเงินภาษีข้อแลกเปลี่ยนคือ 1. การบินไทยต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 2. ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้เดิมต้องแบ่งรับภาระความเสียหาย เงินภาษีที่จะใช้ต้องมีสิทธิเหนือเงินส่วนอื่นทั้งหมดในบริษัท… ท่านนายกฯ บอกว่าการอุ้มครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ผมมองน่าจะเป็นเพราะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดที่จะค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาทอย่างกว้างขวาง ซึ่งหากท่านนายกฯ จะช่วยจริงท่านควรต้องยืนยันชัดๆ ให้ผู้บริหารผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ทุกคนมีส่วนช่วยลดภาระของบริษัทลงด้วย

    ผมขอยกตัวอย่างกรณีที่รัฐบาลนอร์เวย์เขาได้กำหนดสัดส่วนทุนต่อหนี้ขั้นต่ำไว้ที่ 8% เป็นเงื่อนไขก่อนที่รัฐจะยอมค้ำประกันหนี้ใหม่ให้ เจ้าหนี้เดิมจึงต้องยอมแปลงหนี้เป็นทุนและนอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขให้ผู้ถือหุ้นเดิมเพิ่มทุนก่อนด้วย

    ทั้งหมดนี้เพื่อให้มีการแบ่งรับภาระ ไม่ใช่ได้เงินภาษีไปโดยไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ ซึ่งนี่คือหลักการที่ไม่ถูกต้องนัก…”

    “สามารถ” แจงเหตุขาดทุนแบกต้นทุน “ไทยสไมล์”

    นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า

    “…ผลการดำเนินงานขาดทุนของ บกท. นั้น เกิดจากการดำเนินงานของ บกท. เอง และบริษัทอื่นหรือบริษัทย่อยที่ บกท. ถือหุ้นอยู่… ปรากฏว่าไทยสมายล์ซึ่ง บกท. ถือหุ้นทั้งหมด 100% ขาดทุนมากที่สุด โดยในปี 2561 ไทยสมายล์ขาดทุนถึง 2,602 ล้านบาท… การจัดตั้งไทยสมายล์ขึ้นมาโดยมุ่งหวังที่จะให้บริการกลุ่มลูกค้าที่อยู่ตรงกลางระหว่างสายการบินปกติและสายการบินต้นทุนต่ำ (low cost carriers หรือ LCC) จึงได้จัดวางตำแหน่งตนเองเป็น “พรีเมี่ยมโลว์คอสต์” (premium low cost) หรือสายการบินต้นทุนต่ำที่มีคุณภาพสูง ดังนั้น ไทยสมายล์จึงต้องให้บริการเหนือกว่าสายการบินต้นทุนต่ำ…

    ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/samart.ratchapolsitte

    การให้บริการที่สูงกว่าเหล่านี้ทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการของไทยสมายล์สูงตามขึ้นด้วย เพราะ “คุณภาพเป็นตัวกำหนดราคา” ดังนั้น ถ้าต้องการให้ไทยสมายล์สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ค่าโดยสารจะต้องสูงกว่าค่าโดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่มีสายการบินต้นทุนต่ำให้บริการอยู่จำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ส่งผลให้ไทยสมายล์จำเป็นต้องกัดฟันสู้ด้วยกลยุทธ์ด้านราคา…แต่อย่างไรก็ตาม สู้ไปสู้มา สุดท้ายกลับขาดทุนป่นปี้ทุกปี ไม่ว่าจะเพิ่มเส้นทางแล้วก็ตาม…

    ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอให้ บกท. พิจารณาดำเนินการต่อไทยสมายล์ ดังนี้ 1) ยุบไทยสมายล์ หาก บกท. เห็นว่าไม่มีทางพลิกฟื้นให้ไทยสมายล์กลับมามีกำไรได้… หรือ 2) ควบรวมไทยสมายล์กับ บกท. ในกรณีที่ บกท. เห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาเส้นทางของไทยสมายล์ไว้ เพื่อให้ขนผู้โดยสารมาป้อนให้สายการบินไทย และรองรับผู้โดยสารจากสายการบินไทย…

    ถ้า บกท. ไม่จัดการขั้นเด็ดขาดกับไทยสมายล์และนกแอร์ รวมทั้งบริษัทย่อยอื่น เห็นทีจะหนีไม่พ้นที่ บกท. จะต้องถูกจัดการขั้นเด็ดขาดเสียเอง นั่นก็คือ บกท. จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ที่มีเสียงแอบกระซิบมาว่าได้ถูกบรรจุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของ บกท. ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในเร็วๆ นี้ เป็นแนวทางที่ 10 หรือแนวทางสุดท้าย จากทั้งหมด 10 แนวทาง”

    “ส.ส.ภูมิใจไทย” ถามต้องกู้อีกเท่าไหร่ถึงจะพอ

    นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า

    “ถ้ากู้เงินโดยรัฐค้ำประกันแล้วเอาเงินไปลงทุนเพื่อสร้าง “ศักยภาพในการแข่งขัน” ให้สามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ และเติบโตอย่างยั่งยืน แบบนี้ผมเห็นด้วย แต่การกู้เงิน (ซึ่งจากสถานการณ์คงไม่มีใครอยากให้กู้จึงต้องให้รัฐช่วยค้ำ) เพื่อเอาไปเสริมสภาพคล่อง เอาไปจ่ายค่าใช้จ่าย ต่างๆของบริษัท ที่เกิดจากการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพ #ต้องใช้เงินอีกเท่าไรถึงจะพอครับ ?… หรือเราจะต้องอุ้มเพียงเพราะนี่เป็นสายการบินแห่งชาติ? แล้วถ้าอุ้มเราจะต้องอุ้มกันไปอีกนานแค่ไหน ทำไม? เพื่ออะไรกัน?”

    “นิพิฏฐ์” ป้องพนักงาน ไล่บี้นักการเมือง

    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระบุว่า

    “… ผมคิด (เอาเอง) ว่า เวลาเราจะวิจารณ์อะไร ก็ต้องแยกเหมือนกันอย่าทำให้พนักงานเขาเสียกำลังใจ อย่าลืมนะครับ การบินไทยเป็นสายการบินที่ถูกจัดอันดับว่าดีอันดับต้นๆ ของโลกมาตลอด มันเป็นเพราะอะไรล่ะครับ ถ้าไม่ใช่เพราะ “คน” มันไม่ใช่เพราะตัว “เครื่องบิน” หรอก เพราะตัวเครื่องบินทุกสายการบินก็มีเครื่องบินเหมือนการบินไทยนี่แหละ แต่สายการบินไทยติดอันดับโลกเพราะ “คน” ทุกคนของสายการบินไทย เพราะงั้น เวลาใครแสดง “ภูมิรู้” ก็อย่าให้กระทบจิตใจของพนักงานเขา ที่เขาทำให้สายการบินไทยติดอันดับโลก เราจะไม่ชื่นชมพนักงานของสายการบินไทยเขาหน่อยหรือ

    เอ้า!! แล้วสายการบินไทยขาดทุนเพราะอะไรล่ะ? ขาดทุนเพราะกัปตัน, แอร์, พนักงาน หรือ?? ไม่ใช่หรอก ขาดทุนเพราะคนที่แอบอยู่ข้างหลังที่ไม่ถูกด่าไง เอ้า!! แล้วใครล่ะที่ไม่ถูกด่า ก็ฝ่ายนโยบายไง เอ้า! แล้วใครเป็นฝ่ายนโยบายล่ะ? ก็นักการเมืองไง! นโยบายที่แหละที่ทำให้การบินไทย สายการบินแห่งชาติเจ๊ง ถ้าใครจะริแสดงภูมิรู้ ก็ลองเปรียบเทียบดูสิว่ารัฐบาลที่เข้ามาบริหารการบินไทย ยุคไหนกำไร ยุคไหนขาดทุน ถ้าใครแสดงภูมิรู้อย่างนี้ นั่นแสดงว่าท่านรู้จริง”

    “เสรี วงษ์มณฑา” คอร์รัปชัน ผู้บริหารไม่เก่ง แพง การตลาดไม่ดี เหตุขาดทุน

    สุดท้าย เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ระบุว่า “คอร์รัปชัน ผู้บริหาร (บางคน) ไม่เก่ง ราคาแพง การตลาดไม่ดีพอ ไม่เน้น branding จองตั๋วผ่าน Agent ทิ้งบาง destination ที่ไม่ควรทิ้ง คือที่มาของการขาดทุนการบินไทยจ้ะ”