ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ศบค. มีมติต่อ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ อีก 1 เดือน ” และ “WHO เตือน การระบาดใหญ่ครั้งนี้จะดำเนินไปอีกนาน”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ศบค. มีมติต่อ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ อีก 1 เดือน ” และ “WHO เตือน การระบาดใหญ่ครั้งนี้จะดำเนินไปอีกนาน”

23 พฤษภาคม 2020


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 16-22 พ.ค. 2563

  • ศบค. มีมติต่อ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” อีก 1 เดือน เข้า เตรียมเสนอ ครม.
  • “บิ๊กตู่” พาการบินไทยสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ ลดหุ้นคลังพ้นสภาพ “รัฐวิสาหกิจ”
  • สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล“ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ อายุ 67 ปี
  • ยธ. รับหนังสือ เสนอฉีดยาทำลายสมรรถภาพลงโทษข่มขืน
  • WHO เตือน การระบาดใหญ่ครั้งนี้จะดำเนินไปอีกนาน

  • ศบค. มีมติต่อ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” อีก 1 เดือน เตรียมเสนอ ครม.

    นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.

    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า วันที่ 22 พ.ค. 2563 ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. วันนี้ ซึ่งมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธานการประชุม โดยคนส่วนใหญ่จับตาเรื่องการขยาย พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าจะมีการต่ออายุออกไปหรือไม่ หลังสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีมติเห็นชอบขยาย 1 เดือน

    รายงานข่าวว่า ที่ประชุม ศบค. มติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 26 พ.ค. 2563 เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป ซึ่ง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. จะเป็นผู้แถลงผลการประชุมให้รับทราบต่อไป

    อนึ่ง พลเอก สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้รายงานที่ประชุมเกี่ยวกับความจำเป็นในการพิจารณาขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ด้วยเหตุผล 3 ประการ ดังนี้

    1. ยังคงมีความจำเป็นและต้องมีการบังคับใช้ พ.ร.ก. โดยการป้องกันการแพร่ระบาดในราชอาณาจักรของโรคโควิด-19 จะต้องสามารถดำเนินการต่อไปให้ได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกับทางด้านสาธารณสุขการควบคุมโรค ไม่ใช่แค่นำ พ.ร.บ.โรคติดต่อมาใช้แล้วได้ผล ซึ่งไม่เพียงพอ ยังต้องมีการประกอบกฎหมาย 40 กว่าฉบับ มาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงจะปฏิบัติตรงนี้ได้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ การเคลื่อนย้าย การใช้ยานพาหนะ อากาศยาน การตรวจคนเข้าเมือง และอื่นๆ อีกมากมาย

    2. การเตรียมรองรับในระยะต่อไป ประเทศไทยอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมและกิจการที่มีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการตามกฎหมาย เพื่อกำกับการบริการจัดการ เพื่อบริหารจัดการมาตรการผ่อนคลายให้เป็นระบบในเวลาที่เหมาะสม

    3. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังไม่สิ้นสุด โดยมีข้อมูลว่าหลายประเทศยังคงมีการระบาดและมีผู้ติดเชื้อในระดับสูง และเมื่อประเทศไทยได้จัดทำมาตรการผ่อนคลายครบทั้ง 4 ระยะแล้ว จำเป็นต้องมีระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ เช่น มาตรการด้านกฎหมาย แผนปฏิบัติการในการบริหารวิกฤตการเพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่อาจกลับมาแพร่ระบาดของโรค

    โฆษก ศบค. กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. เห็นชอบให้มีการเสนอข้อเสนอนี้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขยายต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากวันที่ 1 ถึง 30 มิถุนายนนี้ ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 ของการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะหมดสิ้นเดือนนี้

    โฆษก ศบค. กล่าวว่า การจัดทำมาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 แบ่งออกเป็น 5 ช่วง ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 วันที่ 23-24 พฤษภาคม การจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้ ในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขั้นตอนที่ 2 วันที่ 25-26 พ.ค. ประชุมคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ขั้นตอนที่ 3 วันที่ 27 พ.ค. ประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ขั้นตอนที่ 4 ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อฯ ขั้นตอนที่ 5 มาตรการผ่อนคลายในระยะที่ 3 มีผลบังคับใช้ต่อไป

    นอกจากนี้ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ได้รายงานผลการดำเนินการด้านความมั่นคง การตรวจติดตามการดำเนินการตามมาตรการของกลุ่มกิจกรรมและกิจการที่ได้รับการผ่อนคลาย ทั้งในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โดยชุดตรวจได้ตรวจติดตาม ให้คำแนะนำ และสนับสนุนการปฏิบัติตามมาตรการอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง การติดตามสถานการณ์ที่ห้าง IKEA โดยในช่วงแรกมีการดำเนินการที่ไม่เรียบร้อยเกิดจากจุดคัดกรองไม่เพียงพอ และปริมาณประชาชนมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่ได้ร่วมดำเนินการแก้ไขจนเรียบร้อย และเนื่องด้วยในสถานการณ์ปัจจุบันยังมีผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวและมั่วสุมอยู่ จึงเห็นควรให้ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุม แต่อาจพิจารณาผ่อนปรนในบางข้อ เช่น ระยะเวลาเคอร์ฟิว

    ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เผยด้วยว่า คนเข้าใจชีวิตวิถีใหม่ (new normal) มากขึ้น พร้อมชื่นชมความเสียสละของทุกภาคส่วนและทุกคน รวมถึงที่ช่วยสนับสนุนข้าวของช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบ นอกเหนือจากระเบียบราชการที่ให้การช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาเพิ่มเติมอยู่ ทั้งนี้ขอชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของทุกคนจนได้รับความชื่นชมจากหลายประเทศ
     
    อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุม ผู้สื่อข่าวถามนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ขยายประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน ใช่หรือไม่ นายสมคิดพยักหน้าพร้อมระบุว่าใช่ และให้รอฟังการแถลงข่าว

    อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่

    “บิ๊กตู่” พาการบินไทยสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ ลดหุ้นคลังขายให้กองทุนรวมวายุภักษ์

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตัดสินใจของตน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤติการบินไทย ว่า “วันนี้ ผมขอแจ้งให้ทราบถึงการตัดสินใจเรื่องการบินไทยนะครับ มันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่ทั้งนี้ ก็เป็นการตัดสินใจที่ผมรู้ว่า เราจะช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนทุกคนได้อย่างไร”

    ในส่วนของปัญหาเรื่องนี้ ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว ในเรื่องของการมีหนี้สินต่างๆ มากพอสมควรในขณะนี้ เพราะฉะนั้นมีอยู่ 3 ทางเลือก คือ (1) หาเงินให้การบินไทยดำเนินการต่อไป (2) ปล่อยให้เข้าสู่สถานการณ์ล้มละลาย และ (3) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาล

    “ที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหาการฟื้นฟูไม่ได้ประสิทธิภาพมากนัก เพราะมีข้อกฎหมายอยู่หลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.แรงงาน และ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้นวันนี้เราจำเป็นที่จะต้องหามาตรการที่เหมาะสม และเราได้มีการพิจารณาร่วมกันใน คนร. และ ครม. แล้ว พวกเราทุกคนตัดสินใจว่า เราจะเลือกหนทางแบบที่ 3 ซึ่งเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และจะต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการอีกหลายขั้นตอนต่อไป เพื่อจะแก้ปัญหาภายในขององค์กร และในเรื่องของการประกอบการเพื่อให้ฟื้นฟูขึ้นมาอย่างที่พวกเราทุกคนวาดหวังไว้”

    พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “ผมอยากให้พวกเราทุกคนได้กลับไปคิดดูว่า เรามีการบินไทยเพื่ออะไร ในช่วงที่ผ่านมา การบินไทยควรจะเป็นองค์กรที่ช่วยสร้างชื่อเสียง และรายได้ให้กับคนไทย และมีความสามารถในการแข่งขัน มีความเข้มแข็งในตัวเอง อันนี้คือพื้นฐานการตัดสินใจของผม และนำสู่การพิจารณาใน ครม. ในวันนี้ ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องกล้า ที่จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูโดยการยื่นขอเข้ากระบวนการต่อศาล ได้มีการหารือกันอย่างรัดกุมในรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมด”

    “ผมเองรู้สึกว่า การที่ผมตัดสินใจให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูนั้น โดยไม่ปล่อยให้การบินไทยต้องเข้าสู่สถานะล้มละลาย ซึ่งมันอาจจะทำให้พนักงานมากกว่า 2 หมื่นคนต้องถูกลอยแพ พวกเราทุกคนคงไม่อยากให้เหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น”

    เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็ยืนยันว่าจะสนับสนุนในการดำเนินการดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อจะให้การบินไทยยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ แม้ไม่ได้รับเงินจากรัฐบาล ผมจึงอนุญาตให้การบินไทยเข้าไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองของศาล และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งของศาล ซึ่งศาลจะแต่งตั้งมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารจัดการการฟื้นฟูการบินไทย

    “ผมเอง และพี่น้องประชาชนทุกคนก็คงคาดหวังเช่นเดียวกันว่า เมื่อมีมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารจัดการแล้ว การบินไทยจะสามารถกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยเคยภาคภูมิใจ และกลับมาเป็นองค์กรที่ช่วยสร้างความรุ่งเรืองให้กับประเทศไทยได้”

    ด้วยวิธีการเช่นนี้ เป็นวิธีการเดียวที่การบินไทยจะยังสามารถดำเนินกิจการต่อได้ พนักงานของการบินไทยก็จะยังมีงานทำต่อไป ในขณะเดียวกัน การปรับโครงสร้างของการบินไทยที่ควรจะทำสำเร็จมาตั้งนานแล้ว ก็จะเกิดขึ้นได้ด้วย ในการเข้าสู่มาตรการฟื้นฟูขณะนี้ นั่นคือการตัดสินใจของผม และเป็นทิศทางที่รัฐบาลจะยึดปฏิบัติกับกรณีของการบินไทย ส่วนในรายละเอียดต่างๆ จะเป็นไปตามที่ศาลกำหนด และคาดว่าจะสามารถแจ้งให้ทุกท่านทราบในโอกาสต่อไป ผมให้ทางกระทรวงคมนาคมและหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการแถลงข่าวในเรื่องนี้ในรายละเอียดอีกครั้ง

    “การบินไทย เราถือว่าเป็นทูตที่ดีทางวัฒนธรรมที่ช่วยโปรโมทประเทศไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน 60 ปี ผ่านการทุ่มเททำงานของคนจำนวนมาก จากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน นักบิน วิศวกร ช่าง พนักงานภาคพื้น รวมทั้งพนักงานในส่วนงานอื่นๆ ของการบินไทย ผมเองก็หวังเช่นเดียวกับคนไทยทุกคนว่า การช่วยเหลือให้การบินไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้คำสั่งศาล จะช่วยให้การบินไทยสามารถกลับมาเป็นสายการบินที่มีความแข็งแกร่งได้อีกครั้ง นี่คือการตัดสินใจของผมและคณะรัฐมนตรีในวันนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

    หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เผยแพร่คำแถลงของตน ลงบนเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut chan-o-cha

    “การบินไทย”ยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ 26 พ.ค.นี้-พ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ

    แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 กระทรวงการคลังได้ขายหุ้นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 3% ให้กับกองทุนรวมวายุภักษ์ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบ ให้กระทรวงการคลังปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทการบินไทยต่ำกว่าร้อยละ 50% เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลล้มละลาย โดยผลจากการขายหุ้นครั้งนี้ ทำให้กระทรวงการคลังคงเหลือสัดส่วนการถือครองหุ้นในบริษัทการบินไทยอยู่ที่ 48% ซึ่งจะส่งผลทำให้บริษัท การบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยทันที

    ก่อนที่กระทรวงการคลังจะตัดสินใจขายหุ้นบริษัทการบินไทยให้กองทุนรวมวายุภักษ์ ได้ทำรายงานเสนอต่อที่ประชุม ครม. ให้รับทราบถึงผลกระทบต่าง ๆ เช่น ราคาหุ้นของบริษัทการบินไทยที่กระทรวงการคลังถืออยู่มีต้นทุนประมาณ 14 บาท หากขายราคาต่ำกว่านี้ ก็ขาดทุน ซึ่งรวมไปถึงหุ้นที่ถืออยู่อีก 48% ด้วย หากเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจแล้ว ในอนาคตก็มีโอกาสที่ได้รับความเสียหายได้เช่นกัน แต่ถ้าไม่ดำเนินการตามแนวทางที่ครม.มีมติ อาจจะเกิดความเสียหายในวงกว้างมากกว่า ดังนั้นที่ประชุมครม.จึงมีมติให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทการบินไทยลง พร้อมกับเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการยื่นต่อศาลล้มละลายโดยเร็ว ตามแผนที่กำหนดไว้จะต้องยื่นคำขอและแผนฟื้นฟูกิจการส่งให้ศาลล้มลายลายกลางพิจารณาภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2563

    ในวันเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ประกาศให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)เป็นหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายระดับ 1 ที่ต้องซื้อขายด้วย Cash Balance ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ถึง วันที่ 3 กรกฎาคม 2563

    หุ้นการบินไทยปิดวันนี้ ที่ 4.90 บาท เปลี่ยนแปลง -0.35 บาทหรือ -6.67% มูลค่าการซื้อขาย 285.29 ล้านบาท

    Cash Balance หมายความว่า สมาชิก(โบรกเกอร์)ต้องดำเนินการให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์ด้วยบัญชี cash balance เท่านั้น โดยลูกค้าต้องวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนก่อนซื้อหลักทรัพย์

    หลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย คือ รายชื่อหลักทรัพย์ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศกำหนดให้ดำเนินมาตรการด้านการซื้อขาย สาเหตุจากการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เพื่อป้องกันความเสี่ยงอันอาจจะเกิดต่อนักลงทุน และระบบโดยรวมของตลาด ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ประกาศข่าวรายวันภายใต้หัวข้อข่าว Trading Alert List และ หลักทรัพย์ที่เข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขาย

    แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าในขณะนี้กำลังเร่งทำแผนฟื้นฟูกิจการอยู่เพื่อที่จะยื่นต่อศาลล้มละลายกลางในต้นสัปดาห์หน้า เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ พร้อมกับการแต่งตั้งผู้บริหารแผน ขณะนี้รัฐบาลทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมยังไม่ตัดสินใจว่าจะแต่งตั้งใครเป็นผู้ทำแผน

    “ในขณะนี้มี 4 ทางเลือกคือ 1.ผู้บริหารการบินไทยชุดปัจจุบัน 2.คณะกรรมการบริษัทการบินไทยชุดปัจจุบัน 2.กรรรมการบางส่วนกับที่แต่งตั้งใหม่ และ4.คัดเลือกจากบริษัทผู้ทำแผนตามรายชื่อของกองฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม มีเพียง2 รายที่เข้าข่าย คือบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด และ บริษัทแกรนท์ธอนตัน สเปเชียลิสท์แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด”

    แหล่งข่าวกล่าวต่อ “ปัญหาขณะนี้คือความเข้าใจร่วมกันและตรงกันของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งคลัง คมนาคม บอร์ดการบินไทย ว่าขั้นตอนจากนี้ไปหลังเป็นบริษัทจำกัด ข้อจำกัด ความเสี่ยง ความเร่งด่วนของขั้นตอนต่างๆที่ต้องเร่งดำเนินการ ในการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ หากไม่เร่งรีบ จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อาทิ หากชักช้าเจ้าหนี้อาจจะขอยื่นฟื้นฟูกิจการแทนได้ หรือหากชักช้าอาจจะมีกองทุนไปซื้อลดหนี้แล้วมาแสดงตนเป็นเจ้าหนี้ ไปฟ้องร้องขัดขวางการยื่นฟื้นฟู ก็จะผลเสียหายตามมา ดังนั้นต้องมีความเด็ดขาดจากนายกรัฐมนตรีในการสั่งการตั้งแต่การตั้งผู้ทำแผน การตั้งซีอีโอที่ต้องเป็นผู้นำ เด็ดขาด ทำตามแผนฟื้นฟูอย่างเคร่งครัด”

    แหล่งข่าวให้ความเห็นต่อว่าตัวอย่างการฟื้นฟูกิจการที่เป็นตัวอย่างที่ดีคือการฟื้นฟูกิจการบริษัทไทยออยล์ เป็นการฟื้นฟูกิจการนอกศาลล้มละลาย เป็นการเจรจาเจ้าหนี้ 153 ราย และสามารถดำเนินการได้อย่างเรียบร้อยและฟื้นฟูกิจการสำเร็จด้วยดี

    อ่านรายละเอียดทั้งหมดที่นี่

    สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับ อายุ 67 ปี

    นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล

    เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า วันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ผู้สื่อข่าวประจำพรรคเพื่อไทย รายงานว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อดีตประธานที่ปรึกษาศูนย์รักษาความสงบในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งตับ ที่โรงพยาบาลศิริราชฯ ในวัย 67 ปี

    สำหรับ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นญาติของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากสุมาลี โตวิจักษณ์ชัยกุล น้าของสุรพงษ์ แต่งงานกับเสถียร ชินวัตร อาของ นายทักษิณ ชินวัตร นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เคยสมรสกับอัญชลี โตวิจักษณ์ชัยกุล มีบุตร 2 คน คือ ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล และศุภิสรา โตวิจักษณ์ชัยกุล

    สุรพงษ์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 5 จากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น, ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยยังทาวน์สเตท รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา และปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแห่งแอเคริน รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา มีน้องชายชื่อ สุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

    ประวัติด้านการเมือง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เริ่มเข้าสู่งานการเมืองจากการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2529 สังกัดพรรคกิจสังคม แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง ต่อมาเขาได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งปี 2539 และได้รับเลือกเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2544 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดเดิม แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยแพ้ให้กับนายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทย

    เมื่อปี 2549 ภายหลังการรัฐประหารส่งผลให้พรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค จึงได้ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน และ นายสุรพงษ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปปี 2550 ในนามพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น รวมถึงได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ต่อจากนั้นได้ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในเดือนกันยายนปี 2553 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปปี 2554 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 20 ของพรรคเพื่อไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง

    ในเดือนธันวาคมปี 2556 เขาได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. แทนพลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปปี 2557 ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 4 แต่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

    วันที่ 7 พฤษภาคม2557นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

    วันที่ 19 มิถุนายน 2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา เขาได้รับการประกันตัวในวันดังกล่าวด้วยวงเงิน 5 ล้านบาท โดยศาลมีคำสั่งห้ามออกนอกประเทศ ก่อนรับการรักษาตัวเรื่อยมาด้วยโรคมะเร็ง

    ยธ. รับหนังสือ เสนอฉีดยาทำลายสมรรถภาพลงโทษข่มขืน

    เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า วันที่ 18 พ.ค. 2563 นางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ นางสาวกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กรุงเทพมหานคร นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.จังหวัดสุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญเร่งผลักดันแก้ปัญหาข่มขืน และนายฐนันดร์ศักดิ์ บวรนันทกุล ตัวแทนกลุ่มนักวิชาการด้านอาชญาวิทยา เข้าพบ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยื่นหนังสือข้อเสนอแนวทางการลงโทษผู้กระทำผิดทางเพศ ที่กระทรวงยุติธรรม

    นางสาวพัชรินทร์กล่าวว่า จากปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาปรากฏขึ้นตลอดมาในช่วงระยะเวลาหลายปี เด็กนักเรียนหญิงถูกกระทำด้วยพฤติการณ์ที่ร้ายแรง ทั้งข่มขืน และลวนลาม จนประชาชนเกิดความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน ดังนั้นจึงเดินทางมาเพื่อเสนอแนวทาง คือ คุ้มครองพยาน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์และจิตแพทย์ ไม่ให้ถูกล่วงละเมิด ด้วยการนำเสนอภาพ ข่าว หรือข้อมูลใด ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงข้อเท็จจริงไปถึงตัวผู้เสียหาย อันจะทำให้เกิดความอับอาย เสียชื่อเสียง การคุ้มครองพยาน ควรนำมาใช้อย่างเคร่งครัด เนื่องจากผู้เสียหายเป็นพยานบุคคลที่สำคัญในคดี การค้นหาความจริงในคดีที่มีผู้รู้เห็นเหตุการณ์เพียงตัวผู้เสียหายและผู้กระทำผิด จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและกระทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานในชั้นศาล

    ด้านนางสาวกานต์กนิษฐ์กล่าวว่า อยากให้มีการเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายให้ได้รับการชดเชย สนับสนุนเงินทุนในการศึกษาหรือประกอบอาชีพเพื่อสามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ และผู้เสียหายต้องสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้โดยง่าย เพื่อให้การเยียวยาเป็นไปโดยเร็วจึงจะเป็นการเยียวยาอย่างแท้จริง

    นายฐนันดร์ศักดิ์กล่าวว่า อยากให้มีระบบติดตามผู้ต้องขังคดีทางเพศหลังการปล่อย โดยการนำระบบลงทะเบียนผู้กระทำผิดคดีทางเพศมาใช้ในประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและใช้ได้ในหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และมาเลเซีย นอกจากนี้ยังอยากให้การลงโทษผู้กระทำผิดในลักษณะนี้มีโทษ แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่น การฉีดยาทำให้อวัยวะเพศฝ่อ ไม่ตื่นตัว เพื่อลดความต้องการทางเพศ, การรับประทานยาและฮอร์โมนที่มีผลทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ, การมีโทษจำคุกและห้ามประกอบอาชีพ, จำคุกตลอดชีวิตไม่มีการลดโทษ เป็นต้น

    ขณะที่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า ที่บริเวณชั้น 6 กระทรวงยุติธรรมเป็นที่ทำการของศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อติดตามผู้ต้องขังคดีรุนแรง เช่น ฆ่าต่อเนื่อง ฆ่าข่มขืน ซึ่งเวลานี้กำลังพัฒนาระบบ รวมถึงจัดทำกฎหมายในการติดตามตัวกลุ่มคนเหล่านี้ ส่วนประเด็นที่ยื่นข้อเสนอมา เช่น การคุ้มครองพยาน การเยียวยา การช่วยเหลือทางกฎหมายทางกระทรวงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเป็นเรื่องสำคัญที่ตนให้ความสำคัญเพราะเป็นเรื่องการช่วยเหลือประชาชน แต่ในข้อเสนอแนวทางการลงโทษที่เป็นประเด็นใหม่ก็ขอศึกษาก่อนว่าจะดำเนินการได้หรือไม่

    WHO เตือน การระบาดใหญ่ครั้งนี้จะดำเนินไปอีกนาน

    วันที่ 21 พ.ค. 2563 เว็บไซต์บีบีซีไทย รายงานว่า นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์การระบาดในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและปานกลางเป็นพิเศษ

    ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดให้ความเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริงนั้นน่าจะมีมากกว่าตัวเลขที่มีการรายงานมาก เพราะหลายประเทศมีอัตราการตรวจหาเชื้อน้อยต่อประชากรทั้งหมด

    “ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้รับรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 106,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาด” นายเทดรอสกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ (20 พ.ค.)

    “เกือบ 2 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ใน 4 ประเทศเท่านั้น” เขาระบุพร้อมกับส่งคำเตือนถึงทุกประเทศว่า “การระบาดใหญ่ครั้งนี้จะดำเนินไปอีกนานกว่าจะสิ้นสุด”

    คำเตือนของผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกมีขึ้นขณะที่หลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ เริ่มผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรค