ThaiPublica > เกาะกระแส > ปี 2019 อาเซียนโตต่ำกว่าคาด แต่ “เวียดนาม-กัมพูชา” โดดเด่น

ปี 2019 อาเซียนโตต่ำกว่าคาด แต่ “เวียดนาม-กัมพูชา” โดดเด่น

2 มกราคม 2020


โฮจิมินห์ ซิตี้

แม้เศรษฐกิจอาเซียนยังคงขยายตัว แต่ข้อมูลเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปี 2019 ชี้ให้เห็นว่าการเติบโตชะลอตัวกว่าที่คาด

ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank — ADB) บ่งชี้ว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ ส่งผลให้มีการปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจลงมาที่ 4.8% สำหรับปี 2019 และ 4.9% ในปี 2020 จาก 4.9% และ 5.0% ตามลำดับ ขณะเดียวกันคาดการณ์เงินเฟ้อในภูมิภาคไว้ที่ 2.4% จาก 2.6% ประมาณการณ์เดิม

เศรษฐกิจแบบเปิดของภูมิภาคกำลังประสบกับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการอ่อนตัวของวงจรของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แม้ความแข็งแกร่งของการบริโภคในประเทศจะช่วยพยุงไว้ในระดับหนึ่ง รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook — ADO) ฉบับเพิ่มเติมระบุ

รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียฉบับเพิ่มเติมระบุอีกว่า สิงคโปร์ ไทย และฟิลิปปินส์ ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2019 ลง

ส่วนประมาณการณ์เศรษฐกิจของประเทศอาเซียนที่เหลือไม่เปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ในเดือนเมษายน โดยคาดการณ์ว่าอินโดนีเซียจะขยายตัว 5.2% มาเลเซีย 4.5% เวียดนาม 6.8%

นายยาสึยูกิ ซาวาดะ หัวหน้าเศรษฐกร ADB ให้ความเห็นว่า แม้ความขัดแย้งทางการค้ายังมีอยู่ ภูมิภาคนี้ก็ยังแข็งแกร่งแม้เติบโตปานกลาง อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนก็ยังมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิ ยกเว้นทั้งสองประเทศตกลงการค้ากันได้

สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ ปรับลดคาดการณ์

การผลิตที่อ่อนตัวและการค้าระหว่างประเทศส่งผลให้จีดีพีของสิงคโปร์ปี 2019 ลดลงจาก 2.6% เป็น 2.4% แต่ภาคบริการช่วยหนุนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากภาคธุรกิจสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งขยายตัว 6.6% จากระยะเดียวกันของปีก่อนในไตรมาสแรก แม้สิงเทล ยักษ์ใหญ่ของภูมิภาคมีกำไรต่ำสุดในรอบ 16 ปี

สำหรับประเทศไทย ADB คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.5% ลดลงจากประมาณการณ์เดิม 3.9% การค้าโลกที่อ่อนตัวลงทำให้การส่งออกหดตัว 4.5% ในรอบ 5 เดือนแรกของปี 2019 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวแข็งแกร่ง รายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การว่างงานที่ต่ำ และเสถียรภาพด้านราคามีผลต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชน

ทางด้านฟิลิปปินส์ ADB ลดประมาณการณ์การเติบโตจาก 6.4% เป็น 6.2% เป็นผลจากการผ่านงบประมาณรายจ่ายที่ล่าช้า มีผลต่อการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่การส่งออกชะลอตัวเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากการค้าโลกและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลบ่งชี้ว่าการโยกย้ายการผลิต การค้า ส่งผลดีต่อประเทศอาเซียน ตัวอย่างที่เห็นชัดคือเวียดนาม ที่การส่งออกขยายตัว 6.7% ในรอบ 5 เดือนแรกของปี เป็นผลจากการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัวถึง 28%

ที่มาภาพ: https://theaseanpost.com/article/asean-growth-slower-forecasted

เวียดนาม-กัมพูชาโตเด่นสุด

เวียดนามเป็นประเทศอาเซียนที่ขยายตัวเร็วและสูงสุดในปีนี้ โดยการเติบโตในครึ่งแรกของปีอยู่ที่ 6.8% แม้ภาคเกษตรจะได้รับผลจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ยืดเยื้อ การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิต ยังคงสดใสและการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น 27% ใน 5 เดือนแรกของปี 2019 เทียบจากระยะเดียวกันของปีก่อน

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของการส่งออก เช่น เสื้อผ้า ผนวกกับความต้องการในประเทศส่งผลให้จีดีพีกัมพูชาขยายตัวจาก 6.9% ในปี 2016 เป็น 7 % ในปี 2017 และ 7.3% ในปี 2018 ส่วนปี 2019 คาดว่าจะขยายตัว 7% ซึ่งนับว่าสูงสุดในบรรดาสมาชิกอาเซียน

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund — IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ต่างประเมินว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวราว 7% เช่นกันในปี 2019

นอกเหนือจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแล้ว ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและค่าเงินที่อ่อนตัว รวมทั้งความไม่แน่นอนของการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ยังเป็นประเด็นที่มีผลต่อเศรษฐกิจอาเซียน

อีกทั้งประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ก็มีผลกระทบต่อคนจนและคนชายขอบในประเทศกำลังพัฒนาในระดับที่ไม่เท่ากัน

แม้เศรษฐกิจอาเซียนมีความยืดหยุ่นและรับมือสถานการณ์ปัจจุบันได้ แต่ภูมิภาคอาเซียนต้องระมัดระวังหากต้องการที่จะประสบความสำเร็จขณะที่การค้าและระบบการเงินมีความเชื่อมโยงกันลึกมากขึ้น

โดยรวมแล้ว การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของความต้องการในประเทศจะช่วยลดผลกระทบจากการหดตัวของการส่งออก และการบริโภคที่ขยายตัวจากรายได้ที่สูงขึ้น เงินเฟ้อที่ต่ำ และการโอนเงินกับประเทศที่ยังเติบโต ก็จะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอาเซียน