ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup สิงคโปร์เปิดตัวใบอนุญาตทำงาน Tech.Pass ดึงไอทีต่างชาติ -ติดอันดับ 9 World Talent Ranking

ASEAN Roundup สิงคโปร์เปิดตัวใบอนุญาตทำงาน Tech.Pass ดึงไอทีต่างชาติ -ติดอันดับ 9 World Talent Ranking

15 พฤศจิกายน 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 7-14 พฤศจิกายน 2563

  • สิงคโปร์เปิดตัวใบอนุญาตทำงาน Tech.Passดึงไอทีต่างชาติ
  • สิงคโปร์ขยับอันดับ 9 ของโลก World Talent Ranking
  • เวียดนามผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม 2021
  • กัมพูชาปรับเงื่อนไขเดินทางเข้าประเทศ
  • ไทยร่วมขับเคลื่อนอาเซียนให้แน่นแฟ้นและตอบสนอง
  • ไทยอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนอาเซียน+3
  • สิงคโปร์ปรับใบอนุญาตทำงานใหม่ดึงแรงงานไอทีต่างชาติ

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/jobs/singapore-moves-up-a-notch-to-rank-9th-in-world-talent-ranking

    สิงคโปร์เตรียมเปิดตัว employment pass ใบอนุญาตทำงานการจ้างงานใหม่สำหรับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจากต่างประเทศโดยจะเริ่มให้ยื่นขอในเดือนมกราคม

    คณะกรรมการเพือการพัฒนาเศรษฐกิจ(Economic Development Board:EDB) ระบุว่า ใบอนุญาตทำงานใหม่ซึ่งมีเป้าหมายไปยังผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการพัฒนาระบบนิเวศทางเทคโนโลยีของสิงคโปร์

    เอกสารข่าวของ EDB ระบุว่า ใบอนุญาตใหม่ที่เรียกว่า tech.pass นี้จะมีจำนวนทั้งหมด 500 ใบ และโครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อดึงดูด“ ผู้ก่อตั้ง ผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่มีประสบการณ์ในบริษัทเทคโนโลยีที่ดำเนินงานมานานและมีความมั่นคง หรือบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว”

    ผู้ถือใบอนุญาตนี้จะมีความยืดหยุ่น ในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น การเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจ หรือเป็นนักลงทุน พนักงาน ที่ปรึกษาหรือกรรมการในบริษัทที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ และยังสามารถรับเป็นที่ปรึกษาให้กับสตาร์ตอัพ หรือบรรยายในมหาวิทยาลัยในประเทศได้ด้วย

    ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดอย่างน้อยสองข้อต่อไปนี้:

  • มีเงินเดือนประจำงวดสุดท้ายที่เบิกในปีที่ผ่านมาอย่างน้อย 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
  • มีประสบการณ์อย่างน้อย 5 ปีในบทบาทผู้นำใน บริษัทเทคโนโลยีที่มีราคาหรือมูลค่าตลาดอย่างน้อย 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือมีเงินทุนอย่างน้อย 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  • มีประสบการณ์อย่างน้อย 5 ปีในบทบาทผู้นำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่มีผู้ใช้งานอย่างน้อย 100,000 คนต่อเดือน หรือมีรายได้อย่างน้อย 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ใบอนุญาต Tech.Pass จะมีอายุ 2 ปีและสามารถต่ออายุได้อีก 2 ปี หากมีคุณสมบัติตามที่กำหนด

    “ นี่เป็นหนึ่งของหลายแนวทางที่สิงคโปร์นำมาใช้ เพื่อการพัฒนาฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทเทคโนโลยี และบุคคลาการที่มีความสามารถเพื่อให้แน่ใจว่าสิงคโปร์ยังคงแข่งขันได้ในระดับโลก”

    โครงการนี้จะสร้างโอกาสมากขึ้น ให้กับผู้ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีในประเทศ ได้การทำงานในทีมที่มีการความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ควบคู่ไปกับบุคคลากรทีมีความสามารถด้านเทคโนโลยีชั้นนำจากทั่วโลก

    Tech.Pass เป็นการขยายต่อยอดจากโครงการ Tech @ SG ที่เปิดตัวในปี 2019 ทั้งสองโครงการอำนวยความสะดวกให้กับ บริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และผู้ที่มีความสามารถสูงด้านเทคโนโลยี ให้เข้ามาทำงานในสิงคโป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศเทคโนโลยีในประเทศด้วยประสบการณ์และเครือข่ายของพวกเขา

    สิงคโปร์ขยับอันดับ 9 ใน World Talent Ranking

    ที่มาภาพ:
    https://www.imd.org/wcc/world-competitiveness-center/

    สิงคโปร์ขยับขึ้น 1 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 9 ของ World Talent Rankingที่่จัดอันดับโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2020 ตามรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน

    World Talent Ranking เป็นการวัดความสามารถด้านการพัฒนา ดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพ (Talent) ของ 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก

    แต่อันดับของสิงคโปร์ในอนาคตอาจได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในโลกที่ต้องพึ่งพาผู้มีความสามารถจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ

    สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ติด 10 อันดับแรกในการจัดอันดับครั้งล่าสุด ซึ่งมีสวิตเซอร์แลนด์ติดอันดับ 1 ตามด้วยเดนมาร์กอันดับ 2 และลักเซมเบิร์กอันดับ 3

    การจัดอันดับประกอบด้วยการพิจารณา 3 ด้านคือ การลงทุนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Investment & Development) ความสามารถในการดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพจากภายนอกประเทศ (Appeal) และความพร้อมของบุคลากรที่มีอยู่ในประเทศ (Readiness)

    ทั้งนี้การลงทุนและการพัฒนทรัพยากรมนุษย์ จะวัดทรัพยากรที่จัดสรรเพื่อปส่งเสริมบุคคลาในประเทศ ส่วนความสามารถในการดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพจากภายนอกประเทศ ประเมินจากขอบเขตที่แต่ละเขตเศรษฐกิจดึงดูดผู้มีความสามารถจากต่างชาติและรักษาบุคลากรในประเทศ และด้านความพร้อมของบุคลากรที่มีอยู่ในประเทศวัดจากคุณภาพของทักษะ และความสามารถที่มีในกลุ่มคนมีความสามารถของประเทศ

    รายงานระบุว่า 8 ใน 10 เขตเศรษฐกิจอันดับแรกเป็นของยุโรป และสะท้อนให้เห็นถึง คุณภาพของการศึกษาและความคล่องตัว

    “โดยรวมแล้วประเทศในยุโรปตะวันตกยังคงเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุดในโลกโดยเฉลี่ย แต่เนื่องจากประชากรมีอายุมากขึ้นประเทศเหล่านี้จึงจำเป็นต้องเปิดกว้างและดึงดูดแรงงานที่มีอายุน้อยและเป็นสากล ที่มีทักษะสูง เพื่อที่จะชดเชยการขาดแคลนแรงงานในอนาคต “IMD World Competitiveness Center ระบุ

    รายงานยังระบุอีกว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกค่อนข้างทรงตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยสิงคโปร์และฟิลิปปินส์มีอันดับที่ดีขึ้น ส่วนมาเลเซีย ไทยและและอินโดนีเซียลดลงเล็กน้อย

    ในปีนี้สิงคโปร์มีการลงทุนและการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยมีโครงการริเริ่มต่างๆ เช่น โครงการฝึกงาน การฝึกอบรมพนักงาน คุณภาพการศึกษาและการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการทำงาน ส่วนในด้านความพร้อมก็ยังมีอนดับต้นๆ ด้วยความพร้อมของแรงงานที่มีทักษะและทักษะทางการเงิน

    แต่ประชากรสูงวัย ค่าครองชีพที่สูงและมลพิษอาจเป็นความท้าทายในอนาคต และอันดับของสิงคโปร์อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศอันดับต้นๆรายอื่น เพราะฐานความสามารถในการแข่งขันโดยรวมในด้านบุคคลากรที่มีความสามารถส่วนใหญ่มาจากการดึงดูดผู้มีความสามารถจากต่างประเทศ

    ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ได้แก่ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ซึ่งล้วนแต่ได้เปิดรับนักศึกษาต่างชาติเข้าร่วมทำงานมายาวนาน

    คริสทอส คาโบลิส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMD World Competitiveness Center กล่าวว่า “ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถดึงคนงานที่ดีที่สุดได้ในขณะนี้ และอาจมองหาวิธีอื่น ๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และมีมีความเสี่ยงที่ประเทศเหล่านี้จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ อาจจะไม่เปิดกว้าง และไม่ดำเนินเพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถจากต่างประเทศหรือรักษาบุคคลากรที่ความสามารถในประเทศท้องถิ่นไว้

    นอกจากนี้ยังได้ระบุว่า สำหรับสิงคโปร์ ข้อจำกัดด้านการเดินทางในขณะนี้ ไม่น่าส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่มีทักษะสูงในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีวัคซีนในปีหน้าด้วย

    “อย่างไรก็ตามผลกระทบที่ยาวนานของการระบาดในระยะกลางถึงระยะยาว อาจเป็นแนวทางที่เปิดกว้างมากขึ้นของบริษัทต่างๆในการทำงานจากที่บ้านหรือจากระยะไกล ดังนั้นจึงช่วยลดความจำเป็นของพนักงานในการย้ายไปต่างประเทศ”

    “สิงคโปร์ควรปรับปรุงในด้านที่เห็นชัดว่าดึงดูดความสนใจของคนต่างชาติ เช่น การมอบคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า การเติมเต็มโอกาสทางวิชาชีพ สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยมีอัตราอาชญากรต่ำ สภาพแวดล้อมที่ดี (มลพิษในระดับต่ำ) และเงินเดือนที่ดึงดูด”

    เวียดนามผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคม 2021

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/na-adopts-resolution-on-2021-socioeconomic-development-plan/190203.vnp

    ที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติชุดที่ 14 ได้ลงมติให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2021 ระหว่างการประชุมครั้งที่ 10 ที่กรุงฮานอยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563

    การลงมติขอสมัชชาแห่งชาติเป็นการกำหนดเป้าหมายในการต่อสู้กับโรคระบาดและปกป้องสุขภาพ ควบคู่กับการฟื้นฟูการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม

    นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพร่วมกับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สวัสดิการสังคม และการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    อีกทั้งจะเร่งดำเนินการปฏิรูปการบริหาร เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี ในขณะเดียวกันจะเสริมสร้างด้านการมีวินัยเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการต่อต้านการทุจริตและการกำจัดของเสีย

    การสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันประเทศและความมั่นคงยังเป็นหนึ่งในเป้าหมาย เช่นเดียวกับการเสริมสร้างกิจกรรมภายนอกและการรวมตัวเข้ากับโลก การปกป้องเอกราชอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน และสร้างสภาพแวดล้อมแห่งสันติภาพและเสถียรภาพในการให้บริการเพื่อการพัฒนาประเทศที่รวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งจะช่วยยกระดับสถานะของประเทศในเวทีระหว่างประเทศ

    GDP ในปีหน้าจะเติบโตราว 6% และ GDP ต่อหัวเฉลี่ย 3,700 ดอลลาร์ ดัชนีราคาผู้บริโภคจะอยู่ที่ประมาณ 4% และผลผลิตภาพทางสังคมจะเพิ่มขึ้น 4.8%

    อัตราครัวเรือนยากจนภายใต้มาตรฐานความยากจนที่วัดหลายมิติคาดว่าจะลดลง 1-1.5% ส่วนประกันสุขภาพจะครอบคลุมเกือบ 91% และมากกว่า 90% ของชาวเมืองจะสามารถเข้าถึงน้ำสะอาดผ่านเครือข่ายน้ำประปาที่หนาแน่น ขณะที่พื้นที่ป่ามีถึง 42%

    ที่ประชุมโดยทั่วไปเห็นด้วยกับภารกิจและมาตรการที่นำเสนอโดยรัฐบาล แต่ศาลประชาชนสูงสุด และสำนักงานอัยการสูงสุด และฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ขอให้รัฐบาลปล่อยให้กลไกเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยมทำงานอย่างเต็มที่ ควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพที่ควบคู่กันเพื่อกระตุ้นการส่งออกและกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ตลอดจนใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership :CPTPP) และข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป – เวียดนาม (EU-Vietnam Free Trade Agreement:EVFTA)

    รัฐบาลได้รับมอบหมายให้ดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจร่วมกับการใช้รูปแบบการเติบโตแบบเดมต่อเนื่องและปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม

    อีกภารกิจหนึ่ง คือ เร่งจัดการกับการชำระหนี้เสียต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างสถาบันสินเชื่อ ซึ่งควรทำให้มั่นใจในหลักการของการเปิดกว้างและความโปร่งใสตามกลไกตลาด

    คณะรัฐมนตรีต้องดูแลการโครงสร้างการเกษตร และพัฒนาเศรษฐกิจชนบทร่วมกับการพัฒนาพื้นที่ชนบทใหม่ โดยจะต้องดำเนินการวางแผนระดับชาติระดับภูมิภาคและระดับจังหวัดในช่วงปี 2021-2030 เพื่อเสนอต่อหน่วยงานให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการวางแผน

    ที่ประชุมสมัชชายังเรียกร้องให้ประชาชน และทหารทั้งในและต่างประเทศรักษาเจตนารมณ์ของความรักชาติ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีส่วนร่วมในการทำให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมปี 2021 เกิดขึ้น และสร้างแรงผลักดันในการพัฒนาในปี 2021-2025

    กัมพูชาปรับเงื่อนไขเดินทางเข้าประเทศ

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50782808/health-ministry-issues-new-rules-for-entering-cambodia/

    กระทรวงสาธารณสุขออก กฎใหม่ในการเดินทางเข้ากัมพูชา โดยเป็นคำสั่งที่ออกโดยรัฐมนตรีสาธารณสุข นายมาน บุน เฮง

    รัฐบาลกัมพูชาได้ปรับเปลี่ยนข้อกำหนดการเดินทางเข้าออกสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมีมาตรการที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าผู้โดยสารขาเข้าได้รับการสนับสนุน(sponsor)หรือไม่

    “นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย เวียดนาม สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีสปอนเซอร์จะต้องแสดงใบรับรองสุขภาพที่มีผลการตรวจโควิด-19 เป็นลบภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากออกเดินทาง และต้องรับการทดสอบเพิ่มเติมเมื่อเดินทางมาถึง และกักตัวอยู่ในโรงแรมจนกว่าผลการทดสอบจะออกมาและมีผลเป็นลบ”

    “ จากนั้นนักท่องเที่ยวสามารถออกโรงแรมไปได้ แต่ต้องส่งกำหนดการหรือแผนการก่อนที่จะออกไป เจ้าหน้าที่จะจัดเก็บข้อมูลนี้ไว้และพวกเขาจะยึดตามกำหนดการนั้น”

    คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขยังระบุว่า ผู้สนับสนุนผู้โดยสารจะต้องเป็นกรรมการบริหาร ผู้ถือหุ้นของบริษัท ประธานสมาคมธุรกิจ หรือเจ้าของโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดของผู้ที่ให้การรับประกัน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษา หากพวกเขามีผลทดสอบไวรัสเป็นบวกไม่ว่าระยะใด

    นอกจากนี้นักการทูตจะต้องแสดงใบรับรองเพื่อแสดงว่า ไม่ติดเชื้อไวรัสภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากออกเดินทาง และต้องรับการทดสอบเมื่อเดินทางมาถึงและรออย่างน้อย 24 ชั่วโมงที่โรงแรมหรือสถานที่กักกัน ขณะที่รอผล

    สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ หรือผู้ที่ไม่มีสปอนเซอร์จะไม่ได้รับอนุญาตให้กักกันตัวเอง แต่ต้องกักกันตัวในภาคบังคับที่โรงแรมที่รัฐบาลกำหนดเป็นเวลา 2 สัปดาห์โดยต้องวางเงินมัดจำ 2,000 ดอลลาร์และต้องทำประกันสุขภาพ

    ส่วนชาวกัมพูชาที่ถือหนังสือเดินทางกัมพูชาหรือต่างประเทศต้องกักกันตัวภายใต้การดูแลของรัฐ แต่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่ที่ศูนย์กักกันของรัฐ ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายหรือกักกันที่โรงแรมที่กำหนด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในอัตราเดียวกับชาวต่างชาติ

    ไทยร่วมขับเคลื่อนอาเซียนให้แน่นแฟ้นและตอบสนอง

    ที่มาภาพ:
    https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/6180
    วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยประธานาธิบดีเวียดนามได้กล่าวต้อนรับ และนายกรัฐมนตรีเวียดนามในฐานะประธานจัดการประชุมได้กล่าวเปิดการประชุมฯ ซึ่งได้ย้ำเจตนารมณ์ของเวียดนามที่จะขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ตามแนวคิดหลักการเป็นประธานอาเซียนปี 2563 “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” (Cohesive and Responsive)

    จากนั้นเป็นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 (Plenary) โดยมีผู้นำและผู้แทนผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจากทั้ง 10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุมด้วย

    นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวเปิดการประชุม โดยย้ำวัตถุประสงค์ของการประชุม เพื่อขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง เสริมสร้างความร่วมมือและติดตามความคืบหน้าของข้อริเริ่มต่าง ๆ ของอาเซียนในการรับมือกับผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนเพื่อหารือร่วมกันเกี่ยวกับความร่วมมือกับภาคีภายนอกของอาเซียน และแลกเปลี่ยนทัศนะต่อสถานการณ์ อันจะเป็นโอกาสในการพัฒนาที่สำคัญในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

    สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงข้อคิดเห็นและเสนอทิศทางขับเคลื่อนกลไกของอาเซียน โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

    นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของอาเซียนจะทำให้อาเซียนผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ร่วมกัน การรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบจากโควิด-19 ยังเป็นภารกิจสำคัญและเร่งด่วนที่อาเซียนต้องร่วมมือกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอ 4 ประเด็นสำคัญ คือ การร่วมเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข สร้างความมั่นคงและการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน เพื่อให้วัคซีนโควิด-19 เป็นสินค้าสาธารณะ ไทยได้ร่วมมือด้านการพัฒนาวัคซีนกับภาคส่วนต่าง ๆ และพร้อมแบ่งปันไปยังประเทศสมาชิกอาเซียน ให้ใช้ประโยชน์จากกองทุนอาเซียน เพื่อสนับสนุนการกระจายวัคซีนในภูมิภาคของเราในอนาคต ไทยยินดีสนับสนุนคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียนสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และพร้อมสมทบเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ตลอดจนพร้อมที่จะเป็นที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่

    ส่งเสริมแนวทางการฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 แบบบูรณาการ ภูมิภาคของเราจะฟื้นตัวและปรับตัวกับความปกติใหม่ New Normal พร้อมร่วมรับรองกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อาทิ SMEs เนื่องจากเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาค และสนับสนุนการจัดทำกรอบข้อตกลงระเบียงการเดินทางของอาเซียน

    เสนอให้อาเซียนควรเตรียมความพร้อมในระยะยาวเพื่อยืนหยัดและต้านทานต่อความท้าทายใหม่ ๆ สร้างความเข้มแข็งจากฐานราก ผ่านการบูรณาการระดับภูมิภาค และส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน เชื่อมโยงการทำธุรกรรมทางการค้าดิจิทัลในอาเซียนอย่างครบวงจร การสานต่อการส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ และผลักดันการใช้โมเดลเศรษฐกิจ การใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อสนับสนุนประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

    อาเซียนต้องร่วมมือรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการรับมือกับการแพร่ระบาดและการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่ทุกฝ่ายต้อง “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” เพื่อป้องกันการเผชิญหน้าในภูมิภาคและเพิ่มพูนความร่วมมือที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย (win-win cooperation)

    นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมบทบาทนำของเวียดนาม ประธานอาเซียนในปีนี้ ที่ได้เสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนภายใต้แนวคิดหลัก “แน่นแฟ้นและตอบสนอง” ผ่านข้อริเริ่มต่าง ๆ ซึ่งไทยพร้อมร่วมมืออย่างเต็มที่เพื่อความแข็งแกร่งของประชาคมอาเซียน พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนบรูไนฯ ในการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้าอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันต่อความท้าทายต่าง ๆ และขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป

    อนึ่ง นายโอน ปวนมุนีรวต รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีกัมพูชาในการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

    ไทยอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุนอาเซียน+3

    ที่มาภาพ:https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/6213
    วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมการ ประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสามกับสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก หรือ the East Asia Business Council: EABCผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำ และผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน 10 + 3 และผู้แทนสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกของญี่ปุ่น ไทย และจีน ได้แก่ นาย Nobuhiko Sasaki ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น นายไพรัช บูรพชัยศรี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นาย Zhang Shaogang รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เข้าร่วมด้วย ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการประชุมดังนี้

    นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวว่าเป็นการประชุม เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุน ซึ่งรวมถึงสถานการณ์และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมกับผู้นำภาคเอกชนของอาเซียนบวกสาม

    โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกที่ได้สนับสนุน ผลักดัน และช่วยสร้างความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนบวกสามให้ดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด–19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และระบบเศรษฐกิจการค้า รัฐบาลไทยเห็นถึงความจำเป็นของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรง ในการช่วยจัดการและแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ให้ครอบคลุมทุกมิติและมีประสิทธิภาพ

    ทั้งนี้ ผลสำรวจของสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจและยุทธศาสตร์ดิจิทัลสู่ความปกติใหม่ชี้ให้เห็นว่า ภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับตัวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจในยุค New Normal ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับภาครัฐเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการค้าดิจิทัลให้สอดรับกับกระแสการค้าโลกยุคใหม่

    สำหรับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ MSMEs นั้น ไทยขอชื่นชมที่สภาธุรกิจเอเชียตะวันออกที่ได้เผยแพร่ e-Book เรื่อง พิธีการศุลกากรของเอเชียตะวันออก และอยู่ระหว่างจัดทำ e-Book เรื่อง แนวทางการลงทุนในเอเชียตะวันออก โดยข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้ MSMEs สามารถดำเนินธุรกิจภายในภูมิภาคอาเซียนบวกสามได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น และทำให้ขยายปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างกันภายในภูมิภาคมากขึ้น

    ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอแนะของสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกที่เสนอให้ความตกลงสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม ครอบคลุมการสำรองสินค้าเกษตรอื่นๆ นอกเหนือจากข้าว โดยเห็นว่าสภาธุรกิจเอเชียตะวันออกควรหารือกับรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านการเกษตรและป่าไม้เกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวต่อไป นอกจากนี้ ไทยพร้อมที่สนับสนุน และส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนในการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงเสริมสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคให้เข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน