ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์ผ่านกฎหมายให้ต่างชาติถือหุ้นสาธารณูปโภค 100% เวียดนามยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสตาร์ทอัป

ASEAN Roundup ฟิลิปปินส์ผ่านกฎหมายให้ต่างชาติถือหุ้นสาธารณูปโภค 100% เวียดนามยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสตาร์ทอัป

14 มีนาคม 2020


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 8-14 มีนาคม 2563

  • ฟิลิปปินส์ผ่านกฎหมายให้ต่างชาติถือหุ้นสาธารณูปโภค 100%
  • อินโดนีเซียผ่อนปรนเกณฑ์นำเข้าสินค้าลดผลกระทบโควิด-19
  • เวียดนามยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสตาร์ทอัป
  • ธนาคารกลางเมียนมาสั่งใช้ดอกเบี้ยเงินฝาก 7.50% วันที่ 16 มี.ค.
  • ฟิลิปปินส์ผ่านกฎหมายให้ต่างชาติถือ 100% ในสาธารณูปโภค

    ที่มาภาพ: https://www.rappler.com/nation/254006-house-bill-3rd-reading-allowing-full-foreign-ownership-public-utilities?
    utm_source=feedburner&utm_medium=feed&utm_campaign=Feed%3A+rappler+%28Rappler%29

    สภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ได้ผ่านร่างกฎหมายอนุญาตให้ ต่างชาติถือหุ้นในกิจการสาธารณูปโภคได้เต็ม 100% ทั้งในกิจการด้านการขนส่ง การสื่อสาร และพลังงาน

    เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2020 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับที่ 78 แยกบริการสาธารณะกับสาธารณูปโภค ตามที่กำหนดภายใต้ Commonwealth Acts ฉบับ 146 หรือกฎหมายบริการสาธารณะ (Public Service Acts) ซึ่งมีผลให้ต่างชาติสามารถลงทุนในสาธารณูปโภคได้เต็ม 100% ในฟิลิปปินส์

    ภายใต้กฎหมายฉบับที่ 78 บริการสาธารณะหมายถึง บริการที่ไม่ใช่คู่แข่ง หรือกระทบต่อผลประโยชน์ของสาธารณะ เช่น กิจการซ่อมเรือ ท่าเรือ หรืออู่เรือ คลอง ตลาด ระบบชลประทาน ก๊าซ หลอดไฟฟ้า ระบบความร้อนและพลังงาน ระบบน้ำ ปิโตรเลียม ระบบกำจัดของเสีย ระบบสื่อสาร ระบบสื่อสารแบบใช้สายหรือไร้สาย

    ร่างกฎหมายฉบับที่ 78 จำกัดความหมายของสาธารณูปโภคไว้ที่บุคคลใด หรือนิติบุคคลใด ที่บริหาร จัดการ หรือควบคุม การใช้บริการสาธารณะ ในการจัดให้มีไฟฟ้า การส่งกระแสไฟฟ้า การส่งน้ำผ่านระบบท่อ และท่อน้ำทิ้งหรือท่อของเสีย

    อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เพียงแยกคำจำกัดความของบริการสาธารณะกับสาธารณูโภคเท่านั้น แต่ยังยกเลิกข้อกำหนดการถือหุ้นสัดส่วน 60-40 ของชาวต่างชาติด้วย

    ร่างกฎหมายฉบับต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสมาชิกซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ และต้องผ่านวาระ 2 วาระ 3 ก่อนที่ประธานาธิบดีดูแตร์เตจะลงนาม

    อย่างไรก็ตาม มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยอย่างมากกับร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยผู้นำเสียงข้างน้อย เบียนเวนิโด อาบานเต จูเนียร์ และรองผู้นำเสียงข้างมาก เจซัส คริสปิน รีมุลลา ซึ่งได้ลงคะแนนไม่เห็นด้วย ให้ความเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 1987 เป็นมาตรการที่ต่อต้านชาวฟิลิปปินส์ และมีผลกระทบต่อชาวฟิลิปปินส์

    อาบานเตอ้างคำตัดสินของศาลสูงในปี 1997 ที่ตัดสินกรณีบริษัทเนชั่นแนล พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น ที่อุทธรณ์คำตัดสินศาลอุทธรณ์ธุรกิจโดยระบุว่า สาธารณูปโภคหมายถึง กิจการหรือบริการที่ผูกพันในการให้บริการสินค้าหรือบริการบางอย่างต่อสาธารณะเป็นปกติอย่างต่อเนื่อง เช่น ไฟฟ้า ก๊าซ น้ำขนส่ง โทรศัทพ์หรือโทรเลข หร้อมกับกล่าวว่า สภาไม่สามารถกลับคำตัดสินของศาลได้ การใช้บริการสาธารณะไม่เหมือนกับผลประโยชน์สาธารณะ เกณฑ์แท้จริงในการกำหนดลักษณะการใช้บริการ คือ ประชาชนใช้ได้ไม่ว่าจะใช้ตามสิทธิหรือจากการได้รับอนุญาต

    อินโดนีเซียผ่อนปรนเกณฑ์นำเข้าสินค้าลดผลกระทบโควิด-19

    ที่มาภาพ: https://www.thejakartapost.com/news/2020/03/12/indonesia-relaxes-trade-rules-to-cushion-covid-19-effects.html

    อินโดนีเซียได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การนำเข้าสินค้า ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการทางการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาทของไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจ

    ศรี มุลยานี อินทราวตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลจะลดการจำกัดการนำเข้าสินค้าลงถึง 50% เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และจะยกเลิกพิกัดสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์มากถึง 749 พิกัด

    “มาตรการนี้มีเป่าหมายที่จะผ่อนปรนการนำเข้าวัตถุดิบ ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19″ รัฐมนตรีคลังกล่าว

    รายการสินค้าที่อยู่ในบัญชีการควบคุมการนำเข้า ได้แก่ เซรามิก ถั่วเหลือง ข้าวโพด สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ วัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องมือและอุปกรณ์สื่อสาร รองเท้าและผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

    รัฐบาลยังจะผ่อนปรนหลักเหณฑ์ที่เกี่ยวข้องสำนักงานอาหารและยา (Food and Drug Monitoring Agency)

    ภาคอุตสาหกรรมได้ออกมาชี้ถึงภาวะการขาดแคลนวัตถุดิบที่มีผลกระทบต่อโรงงานทั่วประเทศ โดยทั่วไปแล้วราว 20-50% ของวัตถุดิบของอินโดนีเซียมาจากจีน คู่ค้ารายใหญ่ของอินโดนีเซีย

    รัฐมนตรีประสานงานเศรษฐกิจ (Coordinating Economic Minister) ไอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนที่จะรวมระบบซิงเกิลวินโดว์ออนไลน์โดยใช้ Inaportnet เพื่อให้ระบบโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นการดำเนินการ

    รัฐบาลได้เตรียมมาตรการกระตุ้นหลาายด้าน ซึ่งรวมถึงการเร่งรัดกระบวนการนำเข้าให้กับผู้นำเข้าที่มีประวัติดี 500 ราย และรายอื่นเพื่อลดต้นทุนขนส่งในท่าเรือทั่วประเทศ

    ก่อนหน้านี้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) คาดว่าอินโดนีเซียจะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลกมากนัก เพราะมีสัดส่วนในการค้าโลกน้อย และมีขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินอีกมาก

    “อินโดนีเซียไม่ได้มีส่วนในห่วงโซ่อุปทานของโลกมากนัก ดังนั้นจึงถือว่าโชคดีกว่าประเทศอื่น” นาย มาซัตซึกุ อาซากาวา ประธานเอดีบีกล่าว เศรษฐกิจอินโดนีเซียส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมในประเทศ จึงมีข้อได้เปรียบในช่วงที่โลกประสบภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข

    เศรษฐกิจอินโดนีเซียขึ้นอยู่ความต้องการในประเทศเป็นหลัก โดยในไตรมาสสุดท้ายปี 2019 การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น 4.97% จากระยะเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนมากกว่า 50% ในจีดีพี

    รัฐบาลได้เตรียมวงเงิน 10.3 ล้านล้านรูเปียะห์ในมาตรการการคลังเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และกระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภค เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19

    เวียดนามยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสตาร์ทอัป

    ที่มาภาพ: https://vietnamnews.vn/economy/519707/smes-needs-to-identify-their-problems-to-develop.html

    รัฐบาลเวียดนามได้มีคำสั่งยกเลิกค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้กับบริษัทเพื่อส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการและสร้างบรรยากาศทางธุรกิจ

    การยกเลิกค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจะมีผลดีต่อองค์กรที่จัดตั้งใหม่ ครัวเรือน บุคคล หรือกลุ่มที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจเป็นครั้งแรก

    คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้แก้ไขหลักเกณฑ์หลายข้อ เพื่อช่วยให้ธุรกิจที่ก่อตั้งใหม่เริ่มต้นได้

    ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเริ่มต้นจากกิจการในครัวเรือนก็จะได้รับผลดีไปด้วย โดยธุรกิจเอสเอ็มอีที่เริ่มต้นจากกิจการในครัวเรือนนี้จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง อย่างไรก็ตาม การยกเว้นใบอนุญาตนี้ไม่รวมสาขาหรือสำนักงานตัวแทน

    แต่คำสั่งนี้ยกเว้นภาษีใบอนุญาตให้กับสาขาหรือสำนักงานตัวแทน เพื่อส่งเสริมธุรกิจใหม่ และปรับเปลี่ยนกิจการในครัวเรือนเป็นบริษัท

    การยกเว้นค่าธรรมเนียมยังครอบคลุมสหกรณ์การเกษตร ซึ่งยังพัฒนาได้ไม่มาก

    กระทรวงการคลังระบุว่า คำสั่งนี้จะช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น และยกระดับประเทศในรายงาน Doing Business ของธนาคารโลก ซึ่งเวียดนามติดอันดับ 40 จาก 190 ประเทศในด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ในรายงานปี 2019 เนื่องจากการเริ่มต้นธุรกิจในเวียดนามมี 8 ขั้นตอนและใช้เวลา 17 วัน มีค่าใช้จ่าย 3.05 ล้านด่องหรือ 131 ดอลลาร์

    คำสั่งใหม่นี้ยังขยายกำหนดการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไปถึงวันที่ 30 มกราคมของปีที่ 2 หลังจากก่อตั้ง แทนที่จะเป็นวันสุดท้ายของเดือนที่เริ่มทำธุรกิจ

    ธนาคารกลางเมียนมาสั่งใช้ดอกเบี้ยเงินฝาก 7.50% วันที่ 16 มี.ค.

    ที่มาภาพ: http://www.thaibizmyanmar.com/th/news/detail.php?ID=1420
    ธนาคารกลางเมียนมาได้ขยับการใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากใหม่ ซึ่งได้ลดลง 0.50% เป็น 7.50% ในวันที่ 16 มีนาคม 2020 แทนที่จะเป็นวันที่ 1 เมษายน 2020 ตามกำหนดเดิม

    ประกาศของธนาคารกลางระบุว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากขั้นต่ำจะลดลงมาที่ 7.50% เป็น 8.0% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินสูงสุดจะลดลงไปที่ 12.5% จาก 13% สำหรับเงินกู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และ 15.5% จาก 16% สำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เกิน

    การเลื่อนใช้อัตราดอกเบี้ยใหม่เร็วจากเดิม เกิดขึ้นหลังจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ประกาศให้การระบาดของโควิด-19 เป็นการระบาดครั้งใหญ่ของโลกเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกพากันปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ยลง 0.50% มาที่ระดับ 1.0-1.25% ธนาคารกลางอังกฤษลดดอกเบี้ย 0.50% มาที่ 0.25%

    ในเมียนมายังไม่มีการรายงานพบผู้ติดเชื้อแต่การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบไปแล้ว นอกจากนี้เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวก็จะมีผลต่อการลงทุนโดยตรงในเมียนมา และชะลอการใช้จ่ายของจีนในโครงการหลักๆ ภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ซึ่งรวมถึงเขตการค้าชายแดนที่เมืองมูเซซึ่งติดกับจีน โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษจ๊อกพิ่ว และโครงการเมืองใหม่ในย่างกุ้ง

    อู ทั่น ลวิน ที่ปรึกษาธนาคารกัมโพชะ (Kanbawza Bank) กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยเป็นเวลาที่เหมาะสมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะต่างประเทศมีการลดดอกเบี้ยลงเร็ว ทันการณ์ เมียนมาเองก็ต้องลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหบือภาคธุรกิจ

    ธนาคารกลางเมียนมาถูกกดดันให้ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการเพราะอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 8.8% และเพื่อส่งเสริมการออม